เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 4964 สถานที่ประดิษฐานพระอัฐิเจ้านายวังหน้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 13 ม.ค. 19, 08:56

พระอัฐิเจ้านายระดับพระองค์เจ้าขึ้นไปทางฝ่ายพระบวรราชวัง หรือวังหน้าของรัตนโกสินทร์ทุกรัชกาล ซึ่งได้ถูกจัดเก็บไว้ในจรณัม(ห้องหลังพระประธาน)ในพระอุโบสถวัดชนะสงคราม  วัดนี้แต่เดิมสร้างสมัยอยุธยา ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าทรงย้ายราชธานีมาฝั่งพระนคร  มีชื่อว่าวัดกลางนา  เมื่อโปรดเกล้าให้ชาวมอญมาตั้งบ้านเรือนแถวนั้นแล้วก็โปรดให้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดตองปุ  มีความหมายในภาษามอญว่าเป็นที่ขุมนุมพลก่อนออกรบ  วัดและชุมชนนี้อยู่ในเขตปกครองของวังหน้า
ในปลายรัชสมัย การศึกสงครามว่างเว้นลงแล้ว กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาจทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดตองปุใหม่หมดถวายเป็นพุทธบูชา  แล้วทรงขนานนามวัดใหม่ว่าวัดชนะสงคราม

ในอดีตก่อนหน้าจรณัมดังกล่าวเคยถูกวัดปล่อยปละละเลย  ใช้เป็นห้องเก็บของสารพัดจะสกปรกรกรุงรัง  เมื่อบรรดาลูกหลานในราชสกุลต่างๆมาทำบุญคราวใด เห็นเข้าแล้วก็สลดใจ ช่วยกันร้องเรียนทั้งวาจาและหนังสือไปยังที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนจะไม่มีการสนองรับ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 13 ม.ค. 19, 08:58

จนกระทั่งสองสามปีที่แล้ว สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้เข้าไปดำเนินการปฏิสังขรณ์ห้องนี้ใหม่ ซุ้มปูนปั้นลายกนกอันเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิพระราชโอรสและพระราชธิดาในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้ง 5 ซุ้ม ได้รับการบรูณะ โดยรักษาสภาพเดิมที่มีแผ่นอ่อนจารึกพระนามติดอยู่ไว้เป็นอย่างดี



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 13 ม.ค. 19, 08:59

หลังจากแล้วเสร็จให้ชื่นใจอยู่ได้เพียงปีเดียว ก็เอาอีกแล้ว (โปรดดูภาพ) คนของวัดคงไม่ได้รับการเรียนรู้เลยว่า ห้องดังกล่าวพึงได้รับการบำรุงรักษาให้สะอาด มีบรรยากาศสมกับเป็นที่เก็บพระบวรราชสรีรางคาร และพระอัฐิเจ้านาย ซึ่งในอดีตคือผู้ปฎิสังขรณ์และผู้บำรุงอุปปัฏฐากวัดและพระภิกษุในวัดมาจวบจนทุกวันนี้


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 13 ม.ค. 19, 09:01

สิ่งสกปรกที่ก่อเกิดท้ศนียภาพอุจาดฝีมือคนของวัด โดยไม่คำนึงถึงการควรมิควรอันพึงเคารพต่อสถานที่แม้น้อย


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 13 ม.ค. 19, 09:04

สายราชสกุลวังหน้าที่พระอัฐิขององค์ปฐมวงศ์อยู่ ณ ที่นั้น มีดังนี้
.
ราชสกุลในสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ 1 ยังดำรงอยู่ 4 ราชสกุล คือ

นีรสิงห์ – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเณร
ปัทมสิงห์ – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบัว
สังขทัต – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสังกะทัต กรมขุนนรานุชิต
อสุนี – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอสุนี กรมหมื่นเสนีเทพ
.
ราชสกุลในสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ในรัชกาลที่ 2 ยังดำรงอยู่ 10 ราชสกุล คือ

บรรยงกะเสนา – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประยงค์ กรมขุนธิเบศร์บวร
พยัคฆเสนา – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเสือ
ภุมรินทร – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภุมริน
ยุคันธร – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายุคันธร กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์
รองทรง – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารองทรง กรมหมื่นสิทธิสุขุมการ
รังสิเสนา – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าใย
รัชนิกร – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนิกร
สหาวุธ – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมแสง
สีสังข์ – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสีสังข์
อิศรเสนา – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพงศ์อิศเรศ กรมหมื่นกษัตริย์ศรีศักดิเดช
.
ราชสกุลในสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ ในรัชกาลที่ 3 ยังดำรงอยู่ 5 ราชสกุล คือ

เกสรา – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเกสรา กรมหมื่นอานุภาพพิศาลศักดิ
กำภู – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากำภู
นันทิศักดิ์ – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเริงคนอง
อนุชะศักดิ์ – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านุช
อิศรศักดิ์ – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์
.
ราชสกุลในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 4 ดำรงอยู่ 11 ราชสกุล คือ

สุธารส – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุธารส
วรรัตน์ – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิศาลบวรศักดิ
ภาณุมาศ – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุมาศ
หัสดินทร – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหัสดินทร์ กรมหมื่นบริรักษ์นรินทรฤทธิ์
นวรัตน – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเนาวรัตน์ กรมหมื่นสถิตยธำรงสวัสดิ์
ยุคนธรานนท์ – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายุคนธร
โตษะณีย์ – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโตสินี
นันทวัน – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านันทวัน
พรหเมศ – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรหเมศ
จรูญโรจน์ – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญโรจน์เรืองศรี กรมหมื่นจรัสพรปฏิภาณ
สายสนั่น – สืบสายจาก พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสนั่น
.
ราชสกุลในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ในรัชกาลที่ 5 ดำรงอยู่ 9 ราชสกุล คือ

วิไลยวงศ์ – สืบสายจาก พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาส
กาญจนะวิชัย – สืบสายจาก พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากาญจโนภาสรัศมี กรมหมื่นชาญไชยบวรยศ
สุทัศนีย์ – สืบสายจาก พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทัศนนิภาธร
วรวุฒิ – สืบสายจาก พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวุฒิอาภรณ์
รุจจวิชัย – สืบสายจาก พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารุจาวรฉวี
วิบูลยพรรณ – สืบสายจาก พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิบูลยพรรณรังษี
กัลยาณะวงศ์ – สืบสายจาก พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณประวัติ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา
รัชนี – สืบสายจาก พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์
วิสุทธิ – สืบสายจาก พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรวิสุทธิ์


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 13 ม.ค. 19, 09:05

.


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 13 ม.ค. 19, 09:05

ส่วนภายในช่องที่ปรากฏป้ายจารึกพระนามพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบวรราชเจ้า 3 พระองค์ และกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญนั้น เนื่องจากพระโกศพระบวรอัฐิของทุกพระองค์ประดิษฐานอยู่บนพระวิมาน ณ หอพระนาค จึงสัณนิฐานว่าที่จรณัม น่าจะเป็นพระบวรราชสรีรางคารที่เคยอัญเชิญมาบรรจุไว้แต่เดิมบนผนังภายในท้ายจรณัมนี้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 13 ม.ค. 19, 09:07

.


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 13 ม.ค. 19, 09:08

พระโกศดังกล่าวเป็นพระโกศทองคำฝีมือช่างโบราณ ขนาดใหญ่กว่ามาตรฐานทั่วไป นอกจากนั้นก็เป็นไปตามธรรมเนียมว่า หากเป็นงานพระศพเจ้านายที่รับราชการจนได้ทรงกรม จะโปรดเกล้าให้จัดเป็นงานหลวง ทางกระทรวงวังก็จะจัดพระโกศทองคำลงยาพระราชทาน สำหรับบรรจุพระอัฐิ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 13 ม.ค. 19, 09:11

ส่วนพระศพของเจ้านายองค์อื่นนอกจากนั้น ทายาทในราชสกุลมีหน้าที่จัดหาจัดสร้างพระโกศบรรจุพระอัฐิเอง จึงปรากฏว่า พวกพระองค์เจ้าชายที่ยังไม่ได้ออกวัง ยังไม่มีทายาท หรือพระองค์เจ้าหญิงซึ่งเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนๆที่ยังประทับอยู่ฝ่ายใน หาญาติพี่น้องไม่แล้ว หรือมีฐานะขัดสน ไม่อาจจัดพระโกศทองคำตามพระฐานันดรศักดิ์ถวายได้ เจ้าพนักงานภูษามาลาก็จะนำพระอัฐิห่อไว้ในผ้าขาว จารึกพระนามลงในใบลานผูกไว้ หากเป็นเจ้านายฝ่ายวังหลวง ก็จะเชิญไปใส่พานประดิษฐานไว้รวมกันในหอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือสำหรับเจ้านายฝ่ายวังหน้า ก็จะนำไปที่ท้ายจรณัมในพระอุโบสถวัดชนะสงครามดังกล่าว

เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี เป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศพระราชทานเจ้านายผู้ล่วงลับไปแล้ว ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระอัฐิของเจ้านายจากวังต่างๆ มาประกอบพิธีสงฆ์ร่วมกันที่หอพระนาก ทว่าบางครั้งเมื่อเสร็จงานแล้วทายาทก็ไม่ขอรับกลับบ้าง หรือในกรณีย์ที่ทายาทไม่สามารถจะรักษาพระโกศพระอัฐิในที่อันควรแก่พระเกียรติได้ต่อไป ก็จะอัญเชิญมาถวายพระเจ้าอยู่หัว บางรายมีแบบขอรับพระราชทานโกศทองคำไว้ ถวายเฉพาะพระอัฐิก็มี ซึ่งจะทรงรับไว้ทุกรูปแบบ และโปรดให้เก็บรักษาไว้ในหอพระนากเต็มไปหมด

ในรัชกาลที่ 5 ก่อนที่จะฉลองพระนครครบรอบ100ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าให้สร้างพระโกศทองคำลงยาบรรจุพระอัฐิเจ้านายชั้นสูงบางพระองค์ที่ยังไม่มีโกศ และสร้างตู้กระจกไม้สลักลาย ลงรักปิดทองแบ่งเป็นชั้นๆ สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิในห่อผ้าขาว แต่ด้วยจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนล่วงมาถึงรัชกาลที่ 7 ใกล้ฉลองพระนครครบ 150 ปี ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้เสด็จไปทอดพระเนตรทั้งที่หอพระนากและท้ายจรณัมวัดชนะสงครามด้วยพระเอง เห็นห่อพระอัฐิเจ้านายวางเต็มไปหมดก็ทรงสลดพระทัย จึงมีพระบรมราชโองการให้กระทรวงวังจัดทำโกศของหลวงสำหรับพระอัฐิของเจ้านายทั้งฝ่ายพระบรมมหาราชวัง และฝ่ายพระราชวังบวรให้ครบถ้วนทุกพระองค์

แต่พระโกศที่ต้องทำด้วยทองคำตามขนบประเพณีเกินร้อยโกศนั้นจะสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์มหาศาลในภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ กระทรวงวังจึงถวายความเห็นว่า หากใช้ดีบุกปิดทองทำนองเดียวการทำช่อฟ้าใบระกาของหลังคาพระมหาปราสาทราชมณเฑียร ตามกรรมวิธีโบราณ ก็ไม่น่าจะเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติแต่อย่างใด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเห็นด้วย และพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามนั้น

แล้วโปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์หอพระนาก โดยให้สร้างพระวิมานประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบวรอัฐิสมเด็จพระบวรราชเจ้าทั้งสามพระองค์ ข้างหน้าพระวิมานมีพระเบญจาแบบย่อเก็จด้านหน้า ด้านหลังติดผนัง อยู่ภายใต้พระวิมาน สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิพระราชวงศ์ โดยมีพระราชกระแสรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิ์วัดนวิศิษฏ์ เป็นพระธุระอำนวยการทั้งการสร้างที่ประดิษฐาน และการเชิญพระบรมอัฐิ พระอัฐิ ขึ้นจัดตั้งบนพระวิมานและพระเบญจาโดยเรียบร้อยทุกประการ



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 13 ม.ค. 19, 09:20

ที่เห็นในหอพระนาก บนที่ประดิษฐานของพระวิมานทั้ง 4 พระโกศนั้น คือ

1 พระบวรราชเจ้า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ในรัชกาลที่ 1
2 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ในรัชกาลที่ 2
3 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ในรัชกาลที่ 3
4 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 4

ประดิษฐานบนกี๋

1 กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (เจ้าฟ้าทองอิน) วังหลังในรัชกาลที่ 1
2 กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ (พระองค์เจ้าชายยอดยิ่งยศ) วังหน้าในรัชกาลที่ 5
และ พระปฐมวงศ์ รวม 15 พระโกศ

เรียงลงมาตามลำดับชั้นเบญจา

พระมเหสีในรัชกาลที่หก 3 พระโกศ
พระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่หนึ่ง 23 พระโกศ
พระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่สอง 43 พระโกศ
พระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่สาม 36 พระโกศ
พระราชโอรสธิดาในรัชกาลที่สี่ 61 พระโกศ
พระราชโอสรธิดาในรัชกาลที่ห้า 44 พระโกศ
พระสัมพันธวงศ์เธอ 16 พระโกศ
พระโกศของชั้นหลานหลวงในวังหลวง วังหน้า วังหลัง อีกจำนวนหนึ่ง




คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 13 ม.ค. 19, 09:22

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เปิดหอพระนาคในระหว่างเทศกาลสงกรานต์ สำหรับพิธีสงฆ์และให้ลูกหลานในราชสกุลต่างๆ ตลอดจนบุคคลทั่วไปได้เข้าไปสักการะ เป็นประเพณีประจำทุกปีสืบต่อมาจนรัชกาลปัจจุบัน


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 13 ม.ค. 19, 11:35

เคยไปทำบุญที่วัดชนะสงครามเมื่อหลายปีมาแล้ว   เดินอ้อมไปทางด้านหลัง  เห็นความรกรุงรังยิ่งกว่าในภาพ 3 อีกค่ะ ตอนนั้นยังไม่ได้บูรณะ
ขนาดบูรณะตกแต่งให้งดงามแล้ว ก็เป็นได้เพียงระยะเดียว  หลังจากนั้นกลายเป็นสถานที่เก็บของ หรือแก้บนอะไรก็ไม่รู้
น่าเกลียดมาก
เจ้าอาวาสท่านน่าจะลงมาดูแลมากกว่านี้  
ร้องเรียนไปที่ผู้ช่วยเจ้าอาวาสรูปใหม่ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้ง พระมหาปกรณ์ กิตติวโร ป.ธ. 9  จะได้ผลดีขึ้นไหมคะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 13 ม.ค. 19, 16:54

ขอบคุณครับ

เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ปีนี้ พี่น้องต่างราชสกุลได้ไปพบกันในงานพระบวรราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่บริเวณวังหน้าดังเคยเช่นทุกปี
ครั้งนี้ มีการพูดคุยกันในเรื่องดังกล่าว ผู้ที่เพิ่งไปเห็นสภาพมาเมื่อไม่กี่วันก่อนบอกว่าสกปรกมาก และได้ขอให้แม่ชีที่ดูแลในพระอุโบสถช่วยแก้ไขแล้ว ครั้นทราบว่าพวกนวรัตนจะไปทำบุญที่นั่นในอันดับต่อไป ก็ฝากให้ผมไปดูว่าสภาพจะเป็นเช่นไร

ผมก็ส่งภาพถ่ายรายงานสภาพที่ได้เห็นให้ ซึ่งผู้ใหญ่ท่านหนึ่งขอรับไปทำหนังสือร้องเรียนในนามราชสกุลทั้งปวงด้วยครับ ท่านเจ้าอาวาสคงจะได้รับฉบับหนึ่งแน่นอน
บันทึกการเข้า
นโม ตสฺส
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 14 ม.ค. 19, 22:01

พระอัฐิเมื่อครั้งอยู่ในพระบวรราชวัง ประดิษฐานรักษาไว้ในสองที่

ที่แรกคือหอพระอัฐิหลังพระที่นั่งสนามจันทร์วังหน้า ข้างพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย (เก๋งจีนตรงกลาง หลังพระที่นั่งสนามจันทร์วังหน้า เก๋งจีนด้านขวาคือหอพระเจ้าวังหน้า) เดิมเก็บรักษาพระอัฐิกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ และเจ้านายทั้งหลาย ต่อมา เมื่อเชิญพระอัฐิเจ้าวังหน้าออกไปแล้ว ก็ได้เชิญพระอัฐิพระชนกสมเด็จพระศรีสุริเยนทร พระอัฐิเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ มาประดิษฐานที่หอนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว ก็ได้เชิญพระอัฐิพระชนกสมเด็จพระศรีสุริเยนทรกลับมายังพระบรมหาราชวัง ส่วนพระอัฐิเจ้าฟ้า3พระองค์ ยังคงไว้ที่หอพระอัฐิวังหน้า จนหอชำรุด รื้อในรัชกาลที่5 จึงได้เชิญพระอัฐิมาไว้ในหอพระนาค วัดพระศรีรัตนศาสดาราม



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.046 วินาที กับ 19 คำสั่ง