เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 7644 ผีไทย ผีเทศ
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 18 ธ.ค. 18, 11:01

บ้านผมที่พิจิตร อยู่ริมแม่น้ำน่านครับ

ในยุคปู่ ยุคพ่อ ครอบครัวผมมีอาชีพแจวเรือข้ามฟากครับ (มาถึงยุคผม พ่อไม่ได้สอนครับ เลยแจวเรือไม่เป็น) การมีเรือข้ามฟากก็หมายถึงการต้องมีแพ เอาไว้สำหรับให้เรือเทียบท่า ซึ่งแพที่ว่านี้ ก็มีเพิงพัก สำหรับให้คนแจวเรือให้นั่งหลบแดด หลบฝน แน่นอนว่าใช้นอนเฝ้าเรือในตอนกลางคืนด้วย (ปู่มีลูกชาย 5 คน พ่อเล่าว่า ต้องสลับเวรกันมานอนเฝ้าแพ)

เรื่องเล่าของคนนอนเฝ้าแพก็คือ ในบางคืน คืนที่พระจันทร์สว่างๆ ตอนดึกสงัด (ดึกสงัดสมัยก่อน ยุคที่ไฟฟ้าก็ไม่มีนั้น มันสงัดจริงๆครับ) ลุงผมนอนเฝ้าแพอยู่ก็ตื่นขึ้นมากลางดึก พอลืมตาขึ้นมายังไม่ทันได้ลุกขึ้นนั่ง พลันสายตาก็มองไปเห็น ใครสักคนนั่งหวีผมอยู่ที่ปลายลูกบวบ (ลำไม้ไผ่ที่เขาใส่ไว้ใต้เรือนแพ เพื่อให้เรือนแพลอยอยู่ได้)

ลุง อยากเห็นให้ชัดๆว่า ใคร เลยลุกขึ้นนั่ง พอแพขยับมีเสียงดัง ใครหรืออะไรนั่น ก็กระโดดลงน้ำหายไปเลย พอลุงเอาเรื่องนี้มาเล่าให้ปู่ให้พ่อฟัง ปู่ก็บอกว่า นั่นหละคือเงือกแม่น้ำ พวกคนเรือสมัยนั้นรู้จักกันดีทั้งนั้นแหละ

มายุคผม เรือนแพที่ว่ายังมีอยู่ แต่คนเฝ้าแพ กลายเป็นชาวบ้านที่มารับจ้าง ต่อมาก็เลิกไปเพราะมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำในบริเวณใกล้ๆ ท่าเรือจ้างจึงหมดความจำเป็นลง ตอนนี้ เงือกแม่น้ำจะยังอยู่หรือหนีหายไปที่ใด ก็ไม่รู้แล้วครับ    
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 18 ธ.ค. 18, 20:25

https://www.tnews.co.th/contents/401539
“ตำนานนางเงือก” เรื่องเล่ารุ่นตายาย เมื่อเงือกสาวไม่ได้สวยอย่างในจิตนาการ เรื่องสยองขวัญในคืนเดือนหงาย #ประสบการณ์ในคลองบางกอกน้อย

น่าจะเครือญาติหรือเผ่าพันธุ์เดียวกับที่คุณลุงคุณนริศเห็นค่ะ   เพียงแต่แม่น้ำคนละสายกัน 
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 18 ธ.ค. 18, 23:02

ทำไมนางเงือกต้องนั่งหวีผมด้วยครับ พอจะมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนเรื่องไสยศาสตร์บ้างไหม ผมว่าเธอคงพกหวีลำบากพอตัว และไม่น่าใช่หวีพลาสติกจากร้านโชว์ห่วยด้วย กระเป๋าสะพายสักใบก็ไม่มี ไหนจะต้องคอยเอาผมยาวๆ มาปิดหน้าอกตัวเอง มันวุ่นวายไปหมดเลยนะนั่น  ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 19 ธ.ค. 18, 08:38

ทางล้านนาเชื่อว่าผีเงือกเป็นผีรักษาแม่น้ำใหญ่คอยเอาชีวิตผู้คนที่กระทำขึ้ดทำลายแม่น้ำหรือเป็นผู้ไม่อยู่ในศีลธรรม

ลักษณะเงือกผู้คนล้านนาก็มีเล่าหลายสาย แต่ที่จะเล่าต่อไปนี้ก็เป็นสายหนึ่งว่ากันดังนี้

...อันว่าผีเงือกมันตั๋วยาวเหมือนดั่งป๋าเหยี่ยน (ปลาไหล) ผิวหนังมีเมือกมื่น (ลื่น) หลืด ๆ หลาด ๆ จับยับมันบ่ได้เมือกไคลมันหนายับก็หลูด...ยับก็หลูด...ส่วนหัวมันเหมือนมุ่มเหมือนงูมีหงอน   มันชอบอยู่ในเงิ้มถืบถ้ำวังน้ำเลิ้ก (ลึก) มันชอบกิ๋นคนที่ไปเปลี่ยนกระแสแม่น้ำ  เยี๊ยะขึ้ดจา (อาถรรพ์) กับแม่น้ำกว๊านใหญ่  ด้วยเหตุที่มันมีเมือกและอยู่ในเงิบนี้เองผู้คนจึงเอาลักษณะเมือกกับเงิบมาผสมกั๋นฮ้อง (เรียก) มันว่า เงือก บ่งบอกลักษณะผีร้ายที่มีเมือกอยู่ในเงิบฝั่งวังน้ำ

วันเดือนดับเดือนเป็ง (วันแรม/วันเพ็ญ ๑๔ หรือ  ๑๕  ค่ำ) ผีเงือกจะออกมาหาเหยื่อตะแหลง (แปลงร่าง) เป็นปลาตัวใหญ่บ้าง  บางครั้งตะแหลงเป็นคนเดินตามหาดทรายบ้างตรวจตราท้องน้ำ  หากมันเกิดอารมณ์อยากเล่นน้ำมันจะเล่นน้ำดีดน้ำเสียงดัง..โต้มต้าม....โต้มต้าม..สายน้ำฟ้งกระจายดั่งถูกก้อนหินใหญ่ทุ่มลง   หากผู้คนได้ยินเสียงน้ำจะรีบขึ้นจากแม่น้ำทันทีพร้อมกับสงบปากเงี้ยบ..เงียบไม่ส่งเสียงดังเอะอะโวยวายเพราะกลัวว่าผีเงือกจำเสียงได้หากกลับลงน้ำเมื่อใดผีเงือกก็จะมาลากเอาตัวไป

ในการกระทำพิธีเกี่ยวกับสายน้ำพ่อปู่อาจารย์(พิธีกร)  จะต้องกล่าวโองการถึงเทพยดาทุกหมู่เหล่าและต้องกล่าวอัญเชิญวิญญาณผีเงือกมาร่วมด้วย  เช่นว่า "   โอก๋าสะ......นาคฅรุฑปรมัยไอศวรย์เงือกน้ำวังใหญ่ จุ่งมา...."  เป็นต้น


ผีเงือกน้ำเถื่อนถ้ำถืบผา  อยู่เงิบฝั่งนา   จักจ๋าไขแจ้ง
ผิวหนังมัน    มีเมือกบ่แห้ง ลื่นไหลหลูดหลุดลุ่ยหลุ้ย
ตั๋วเหมือนเหยี่ยน ยาวไหว-วก-วุ้ย  ฮักษากว๊านอั้นคงคา
เวลาลงน้ำ   อย่าเข้าไปหา    มันจักบีฑา  จีวาต๋ายอ้อง...ฮื้ย...กั๋วแต๊..แต๊


ได้ความรู้อีกเรื่องหนึ่งว่า เงือกมาจาก เงิบ + เมือก


 ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 19 ธ.ค. 18, 08:40

ตำนานเงือกทำให้ผู้ใหญ่เล่าสู่ลูกหลาน เพื่อป้องกันลูกหลานไปเล่นน้ำลึกโดยเฉพาะช่วงที่มีการชักลากไม้ซุงปล่อยลงน้ำเพื่อส่งท่อนซุงเป็นสินค้าลงเจ้าพระยา ตามแม่น้ำสายต่าง ๆ ไม่ว่าปิง วัง ยม  น่าน ล้วนมีไม้ซุงนับหมื่น ๆ ท่อนไหลตามน้ำยามนี้เองซุงบางท่อนติดรากไม้ใกล้ฝั่งกระแสน้ำดันด้านเหนือใต้สลับกันทำให้ไม้ซุงกระดกหัวท้ายเหมือนไม้กระดานหกตามสนามเด็กเล่น  เด็ก ๆ ที่เห็นไม้กระดกด้วยกระแสน้ำจึงพากันไปนั่งเล่น  ด้วยเกรงจะเกิดอันตรายผู้ใหญ่จะห้ามปรามว่า "ระวังเน้อผีเงือกไม้ทุงจะเอาไปกิ๋น" ทำให้เด็กกลัวแม้แต่ผู้เขียนก็ต้องหยุดได้แต่พากันนั่งบนฝั่งมองและช่วยกันนับจำนวนที่มันหกขึ้นลงหัวไม้ซุงฟาดน้ำทุ่ม..ท่าม...ทุ่ม...ท่าม ด้วยความสนุกสนาน ส่วนในหน้าแล้งแม้น้ำจะมีระดับตื้นอยู่บ้างแต่ตามวังน้ำยังลึก มีเงิบเงื้อมฝั่งน้ำเป็นโพรงถืบถ้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพวกปลาไหลไฟฟ้าหากไม่ระวังตัวจับหรือถูกตัวมันก็จะเกิดอาการเหมือนไฟฟ้าดูดเพราะพิษของมันนั่นเอง

ข้อมูลจาก ผีเงือกน้ำล้านนาของคุณนิคม
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 19 ธ.ค. 18, 10:34

น่าจะเป็นไปอย่างที่ท่านอาจารย์เพ็ญชมพูว่าแหละครับ สมัยยุคปู่ ยุคพ่อ เด็กยุคนั้นเห็นแม่น้ำเป็นดั่งสวนสนุกครับ หรือแม้แต่ยุคผมตอนเด็กๆ ผมยังเคยเห็นขบวนแพซุง เรือมอญขายเกลือ ขายเครื่องปั้นดินเผาอยู่นะครับ เด็กที่เกิดริมแม่น้ำ ไม่เคยกลัวแม่น้ำ ลูกมะพร้าวผูกติดกันสองลูก ก็ลอยคอข้ามแม่น้ำเล่นกันได้แล้ว การว่ายไปเกาะแพซุง หรือเกาะเรือมอญนี่ยิ่งของชอบ เด็กแม่น้ำสามารถกระโดดลงน้ำกันได้ทุกที่ทุกเวลา พ่อเคยเล่าว่า บางคืนหนีย่าไปแอบลอยคอสูบบุหรี่กลางแม่น้ำน่านก็มี

แต่คนที่อยู่ริมน้ำ จะสอนกันให้ดูแลแม่น้ำ และไม่ลบหลู่แม่น้ำ ถือว่าอยู่ด้วยกันก็ต้องเคารพให้เกียรติกัน เมื่อเป็นดังนี้ เทวาอารักษ์ที่ดูแลแม่น้ำก็จะช่วยปกปักษ์คุ้มครอง กรณีที่ไปที่อื่น ลงน้ำในลำน้ำสายอื่น จะต้องทำด้วยความเคารพ เพราะผู้ดูแลลำน้ำสายนั้นไม่คุ้นกับเรา

ผมก็ฟังมาอย่างนั้น แต่พอมาถึงวันนี้ ผมก็ขอเดาว่า นี่คงเป็นกุศโลบาย ผู้ใหญ่เขาคงเตือนว่า เวลาลงไปในน้ำที่เราไม่คุ้นเคย กระแสน้ำจะเป็นอย่างไร มีตะพัก (หลุมลึกใต้น้ำ) มีสัตว์อันตราย มีเหล็ก มีเศษแก้วมีคม มีกิ่งไม้อะไรอยู่ใต้น้ำหรือไม่ เราไม่รู้ ดังนั้น จึงไม่ควรโดดลงในน้ำแบบสุ่มสี่สุ่มห้า ก่อนลงน้ำต้องใช้ความระมัดระวังให้มากนั่นเองครับ 
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 19 ธ.ค. 18, 10:47

นึกขึ้นได้ว่า เคยมีเรื่องน่าแปลกที่พบมากับตัวเองอยู่เรื่องหนึ่งครับ

คือแม่น้ำที่อยู่ตรงหน้าบ้านผม เป็นที่เล่นน้ำของเด็กๆ ในละแวกนั้นเป็นปกติอยู่แล้ว หน้าแล้งน้ำลงเมื่อไหร่ ต้องโดดกันทุกเย็น พวกลุงๆ ก็มีกิจกรรมเอาเรือจ้างขึ้นพลิกหงายท้อง แล้ววางบนคานไว้ชั่วคราวที่ปักไว้ในแม่น้ำนั่นแหละ เอาเกรียงขูดท้องเรือ แล้วลงชันยาท้องเรือใหม่ ก็เรียกได้ว่า พื้นที่ตรงนั้น มีคนลงน้ำเล่นกันตลอด

มีปีหนึ่ง ตรงกับช่วงเทศกาลงานงี้วประจำปี ก็เลยมีคนจากที่อื่นๆ เข้ามาในชุมชนกันเยอะ ส่วนใหญ่ก็เป็นพ่อค้าแม่ขาย หรือไม่ก็เป็นคณะงี้ว เมื่อมาเห็นว่าที่ตรงนี้เราลงเล่นน้ำกันน่าสนุก ก็มักจะร่วมแจมลงน้ำเล่นด้วยกัน (ตอนเด็กๆนี่ เข้ากันง๊าย ง่ายครับ มาจากได้ก็ไม่รู้ แต่เล่นด้วยกันได้หมด) ทีนี้ พอเล่นน้ำได้ไม่นาน เด็กที่มาจากที่อื่น แกเหยียบโดนของมีคมใต้น้ำ ไม่รู้ว่าเป็นอะไร นิ้วโป้งเป็นแผลใหญ่เชียวแหละครับ พวกผู้ใหญ๋ต้องอุ้มไปหาหมอกัน

หลังจากนั้น ก็มานั่งคุยกันว่า เออ พวกเราก็เล่นตรงนี้กันอยู่โครมๆ ทุกวัน ไหงไม่โดนหละ 

มาถึงตอนนี้ ก็ไม่รู้ว่า แค่บังเอิญหละมั๊ง หรือเป็นเพราะอารักษ์ไม่คุ้นกับคนต่างถิ่นอย่างที่ผู้ใหญ่เขาว่ากันจริงๆ ก็ไม่รู้ครับ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 19 ธ.ค. 18, 16:03

รู้ไว้ไม่ “เงือก”
เมื่อพูดถึง “เงือก” ในภาษาไทย ตามความหมายที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตให้ไว้ สรุปได้ ๓ ความหมายดังนี้คือ

๑. “งู” โบราณอย่างในสมัยอยุธยาใช้ความหมายนี้
๒. สัตว์นํ้าในนิยาย ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นปลา
๓. นกในวงศ์ Bucerotidae

(ไม่นับคำสแลง ที่หมายถึง หน้าตาไม่สวย เช่น หน้าเงือก ใครที่เพื่อนชมว่า เหมือน “เงือก” ควรระแวง)

ในยุคปัจจุบัน พอพูดถึง “เงือก” ก็คงไม่ค่อยมีใครนึกถึงความหมายว่า “งู” ภาพในจินตนาการของคนก็อาจจะเป็น นางเงือก (Mermaid) ที่ท่อนบนเป็นหญิงสาวสวยงาม อย่างในเรื่องพระอภัยมณี หรือ นางสุพรรณมัจฉา ธิดาของทศกัณฑ์กับนางปลา ในรามเกียรติ์ของเรา หรือไม่ก็ นางเงือกจากเรื่อง Little Mermaid การ์ตูนของดิสนีย์ ไม่ใช่ภาพของสัตว์ประหลาดน่าเกลียดน่ากลัว อย่างความหมายที่ ๒ ข้างต้น ถ้าไม่สวย พระอภัยคงไม่เอา

หลายคนอาจจะสงสัยเหมือนผู้เขียนว่า “นางเงือก” นี้ ไทยเราไปรับมาจากอินเดียหรือไม่ ผู้เขียนจึงลองไปค้นคว้าและ พบว่า นางเงือก แบบ Mermaid อย่างในเทพนิยายตะวันตกนั้น อินเดียโบราณไม่รู้จักเลย ในภาษาสันสกฤตไม่มีคำเรียก นางเงือก แบบ Mermaid อีกทั้งในเรื่องรามายณะ ของอินเดียตอนจองถนน (อินเดียเรียก ผูกสะพาน “เสตุพันธะ”) ก็ไม่มีกล่าวถึง นางเงือกสุพรรณมัจฉา มีกล่าวถึงเพียงพระรามตั้งพิธีบูชาพระสมุทร เพื่อขอให้ตนและเสนาได้ข้ามไปยังลังกาทวีป แต่ ๓ วันล่วงแล้วพระสมุทรยังไม่หือไม่อือ พระรามเลยกริ้วจะยิงศรให้มหาสมุทรแห้ง พระสมุทรเลยต้องรีบขึ้นมาขอโทษ และสัญญาว่าจะไม่ให้สัตว์น้ำมารบกวน ตรงที่ที่พระรามและเหล่าเสนาสามารถถมทะเลสร้างสะพานข้ามไป

เมื่อค้นไป “นางเงือก” ในภาษาอินโด-อารยันปัจจุบัน เป็นคำที่สร้างใหม่ทั้งสิ้น เช่น ภาษาฮินดี ปัญจาบี เป็นต้น เรียกว่า ชลปารี ภาษาเนปาลี เรียกว่า มัตสยกันยา หรือภาษาเบงคลีเรียก มัตสกันยา เป็นต้น
ในวรรณคดีโบราณ อมนุษย์ที่ปรากฏมีลักษณะครึ่งบนเป็นมนุษย์ และครึ่งล่างเป็นงู อย่างน้อยที่พบในงานศิลปะ ก็คือ พวก “นาค” และ “นาคกันยา” อย่างในงานภาพสลักนูนต่ำของพุทธ ก็มีให้เห็นหลายชิ้น ในวรรณคดีบาลีสันสกฤตก็เช่น ในชาดก หรือ นางอุลูปี ในมหาภารตะ

สิ่งที่น่าสนใจและควรค้นต่อไปก็คือ ไทยเราเริ่มรับรู้เรื่อง “เงือก” แบบสวยงาม ตั้งแต่เมื่อไหร่ เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะรับรู้ผ่านต่างชาติ อย่างฝรั่งมังค่าที่เข้ามาติดต่อกับสยามในสมัยก่อน

ในรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ อธิบายว่า เงือกเป็นอมนุษย์ที่ท่อนบนเป็นหญิง มีใบหน้าเล็กเท่างบน้ำอ้อย โผล่จากน้ำมาครึ่งเดียว ส่วนท่อนล่างอยู่ในน้ำ คาดว่าน่าหางน่าจะเป็นปลา พระยาอนุมานราชธนค้นคำว่า เงือก ในภาษาไทต่าง ๆ พบว่าภาษาไทอาหม เงือกแปลว่าสัตว์น้ำในนิยาย นาคน้ำ ในภาษาไทใหญ่ เงือกแปลว่าจระเข้. ในภาษาไทขาว เงือกแปลว่างูที่ปรากฏในนิยายว่าอยู่ตามห้วย

จากหลักฐานที่พบ นอกจากวรรณคดียุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในสัพะพะจะนะพาสาไท ก็เก็บความหมายทั้งสามนี้ไว้แล้ว คำที่น่าสนใจคือ “เงือกน้ำ” ที่พจนานุกรมให้ความหมายว่า Sirene fabulosa cujus pars superior est mulieris et inferior piscis หมายถึงสัตว์ในเทพนิยาย (ในที่นี้เทียบกับ เงือกฝรั่งที่เรียกว่า ไซเรน) ร่างกายส่วนบนเป็นหญิงและส่วนล่างเป็นปลา เราไม่ได้ว่า หางของพวกนี้เป็น “งู” ดังความหมายของคำว่า “เงือก” แต่โบราณ

น่าค้นต่อไปว่า “นางนาค” “นาคกันยา” นี้ จะเป็นที่มาของ “นางเงือก” ได้หรือไม่ เพียงแต่ภายหลัง “หางงู” มากลายเป็น “หางปลา” แทน

เรื่องนี้ รู้ไว้ รับรองไม่ “เงือก” (ความหมายแบบสแลง)

ผศ. ดร. ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว
สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

https://www.facebook.com/southasianlanguageschula/posts/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%A7%E0%B9%89%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88-%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81-%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%94%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87-%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81-%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%9E%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B8%B4%E0%B8%95/1477587945636127/


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 19 ธ.ค. 18, 16:10

จากลิลิตโองการแช่งน้ำ

โอมบรเมศวราย ผายผาหลวงอะคร้าว ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทร์เป็นปิ่น ทรงอินทรชฎา สามตามพระแพร่ง แกว่งเพชรกล้า ฆ่าพิฆนจัญไรฯ
(แทงพระแสงศรอัคนิวาต)
ในสมัยอยุธยาตอนต้น  เงือก แปลว่า งู 
ข้างบนนี้เป็นบทสรรเสริญพระศิวะหรือพระอิศวร  ที่ทรงสังวาลทำด้วยงูใหญ่ ค่ะ
ก็เลยไม่เชื่อว่า เงือก มาจากเมือก + เงิบ   คิดว่าลากเข้าความมากกว่า


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 19 ธ.ค. 18, 16:14

ส่วนคำถามคุณนริศ ที่ข้องใจว่าทำไมเงือกต้องขึ้นมาหวีผม  ขอเดาว่า ว่ายน้ำอยู่ไปมา  นานๆเข้าผมคงพันกันยุ่ง   เลยต้องขึ้นมาหวีให้หายเป็นสังกะตัง (ศัพท์นี้หายไปหรือยัง?)  แล้วค่อยลงน้ำ ค่ะ
เมื่อสางผมแล้ว อยากรู้ว่าผมเข้ารูปทรงเรียบร้อยดีแล้วหรือไม่   ก็ต้องส่งกระจกมองอีกที
ส่วนเงือกไปหาหวีกับกระจกมาจากร้านไหน    เดาว่ามาจากเรือใหญ่ๆที่ล่มจมลงก้นสมุทร    เงือกว่ายน้ำเข้าไปตามห้องพักผู้โดยสาร    คงได้ของใช้ที่ใช้ประโยชน์ได้มาบ้างไม่มากก็น้อย

เห็นไหมคะ    ถูๆไถๆ ไปจนได้เหมือนกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 19 ธ.ค. 18, 16:32

ตัวอะไรที่คุณลุงคุณนริศเห็น   ถ้าไม่มีท่อนล่างเป็นปลา  น่าจะจัดอยู่ในประเภทที่ฝรั่งเรียกว่า water spirit  แปลตามตัวว่าผีน้ำ   จะแปลงให้ฟังไพเราะกว่านี้หน่อยก็คือ พรายน้ำ
เงือกก็เป็นผีน้ำชนิดหนึ่ง  สิงสู่อยู่ในน้ำ  สำรวจสำมะโนครัวแล้วว่า เป็นผี แต่ไม่ใช่ผีประเภทต้องตายเสียก่อยถึงจะเป็นผี  แต่เป็นผีมาแต่เริ่มแรก    ทำอันตรายคนก็ได้ ไม่ทำก็ได้ 
ส่วนใหญ่คนมักเห็นนางเงือกมากกว่านายเงือก  ทั้งๆมีทั้ง 2 เพศ    แต่นายเงือกดูจะไม่มีบทบาทเท่านางเงือก
ภาษาอังกฤษของเงือก คือ mer people   แบ่งเป็น mermaid นางเงือก และ merman นายเงือก    mer แปลตามตัวว่าทะเล  mermaid  คือสาวทะเลหรือนางทะเล     

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 19 ธ.ค. 18, 20:30


เข้าที่ลิงก์นี้น่าจะดีกว่า  ยิงฟันยิ้ม

https://www.facebook.com/541034832624781/posts/1477587945636127/
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 19 ธ.ค. 18, 20:32

พระยาอนุมานราชธนค้นคำว่า เงือก ในภาษาไทต่าง ๆ พบว่าภาษาไทอาหม เงือกแปลว่าสัตว์น้ำในนิยาย นาคน้ำ ในภาษาไทใหญ่ เงือกแปลว่าจระเข้. ในภาษาไทขาว เงือกแปลว่างูที่ปรากฏในนิยายว่าอยู่ตามห้วย

จาก เทพนิยายสงเคราะห์ ภาค ๓ ของเสฐียรโกเศศ หน้า ๓๙

https://issuu.com/volunteerspirit/docs/satienbook127/55?ff


บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 20 ธ.ค. 18, 09:34

อ้างถึง
ตัวอะไรที่คุณลุงคุณนริศเห็น   ถ้าไม่มีท่อนล่างเป็นปลา  น่าจะจัดอยู่ในประเภทที่ฝรั่งเรียกว่า water spirit  แปลตามตัวว่าผีน้ำ   จะแปลงให้ฟังไพเราะกว่านี้หน่อยก็คือ พรายน้ำ

กระตุ้นความทรงจำขึ้นมาเลยครับ ผมลืมไปแล้วว่า บางทีพ่อก็เรียกอะไรในน้ำนั่นว่า "พรายน้ำ"

พ่อเคยเล่าว่า ตอนที่พ่อเป็นวัยรุ่น พ่อเคยถูกมือ อะไรสักอย่างจับขาจากใต้น้ำ (ท่านว่าอย่างนั้น) แต่พ่อไม่ได้ตกใจอะไร เพราะการดำน้ำไปแกล้งกัน เป็นเรื่องปกติของเด็กที่เกิดและโตริมแม่น้ำอยู่แล้ว พ่อเลยคิดว่า บรรดาลุงๆ แกล้ง แต่ก็แปลกใจนิดหน่อยตรงที่ว่า มือนั้นสากและหยาบไปหน่อย (ไม่ยักกะมีเมือกแฮะ) ตอนหลังพอขึ้นจากน้ำแล้วมาสอบถามกันว่าใครแกล้ง ก็ไม่มีใครรับ พ่อเลยบอกว่าเป็น "พรายน้ำ"   

อ่อ นอกประเด็นผี จำได้ว่า สารเรืองแสงที่มักใช้ในตัวเลขหน้าปัทม์ (นอกเรื่องในนอกเรื่อง ผมไม่ได้พูดคำว่า "หน้าปัทม์" มานานแล้วแฮะ สมัยนี้มีแต่ "หน้าจอ") ก็เรียกว่า "พรายน้ำ" เหมือนกันครับ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 20 ธ.ค. 18, 12:52

มาต่อเรื่องพรายน้ำ

ความคิดเห็นที่ 5
พรายน้ำตัวเป็น ๆ ผมเคยเห็นกับตามาเมื่อครั้งสมัยยังเด็ก ๆ อยู่    ตอนเย็น ๆ ผมเห็นพรายน้ำมานั่งหวีขนที่ริมตลิ่ง พอผมวิ่งไปดูใกล้ๆ พรายน้ำก็กระโดดลงคลองหายไป  ตอนแรกผมเข้าใจว่าเป็นลิง  เพราะรูปร่างลักษณะคล้ายลิงหรือชะนีมาก    ผมเห็นหวีเสนียดพลาสติคสีน้ำตาล รูปร่างโค้ง ๆวางไว้ริมตลิ่ง   ผมก็เลยหยิบมาดูแล้วโยนทิ้งคลองลงไป   รุ่งขึ้นตอนเย็น ๆ บริเวณที่เดิม  ผมเจอพรายน้ำแบบชัด ๆ ห่างกันไม่เกิน 5 เมตร  พรายน้ำเดินมาหาผมตรง ๆ  เหมือนกับจะมาทวงถามอะไรผม  ผมรู้สึกกลัวมาก แล้วในใจกฉุกคิดเรื่องหวี    ผมก็เลยตะโกนไปว่า โยนทิ้งน้ำไปแล้ว   พรายน้ำก็กระโดดลงคลองหายไป       ตอนกลางคืนบริเวณริมตลิ่งจะมืดมาก  แต่ก็มีไฟติดแต่ไม่ค่อยได้เปิด  ผมก็เคยเปิดไฟดูตอนกลางคืน  แล้วก็เห็นพรายน้ำมานั่งริมตลิ่ง  พอเปิดไฟก็กระโดดลงคลองหายไป     ตอนแรก ๆ สมัยนั้น ผมคิดว่าเป็นลิงมากกว่า   แต่พอโดขึ้นแล้วนึกถึงเรื่องราวเก่า ๆ ก็เรื่มพิจารณาได้ว่า ลิงชะนีที่ไหน มันจะกระโดดน้ำดำน้ำได้นานขนาดนั้น    พรายน้ำ   เป็นพวกโอปาติกะ เกิดขึ้นเอง  กินดินเลนเป็นอาหาร  อยู่ในภพภูมิของอสูรกาย ชนิดหนึ่ง       ซึ่งในสมัย ร.6  ก็ยังมีเรื่องบันทึก ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จประพาสหัวเมือง ต่างจังหวัด ระหว่างพักแรม ใกล้บึงน้ำ อสูรกายก็ปรากฏร่างให้เห็น น้ำเดือดพลุ่งพล่านเป็นฟอง  แล้วปรากฏอสูรกายหัวเท่าเข่งโผล่หัวขึ้นมาใต้น้ำ  ทั้งข้าราชบริพารทั้งหลายต่างก็เห็นเป็นประจักษ์พยานโดยทั่ว
brownberry1   
13 มกราคม 2560 เวลา 14:06 น.

https://pantip.com/topic/35984923

ถ้าคุณ V_Mee เข้ามาอ่าน   ขอถามว่าเรื่องพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเห็นอสูรกาย มีอยู่ในจเหมายเหตุ หรือพระราชนิพนธ์เรื่องใดเรื่องหนึ่งจริงไหมคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.087 วินาที กับ 20 คำสั่ง