เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
อ่าน: 7643 ผีไทย ผีเทศ
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 20 ธ.ค. 18, 14:29

นอกเรื่องในนอกเรื่อง ผมไม่ได้พูดคำว่า "หน้าปัทม์" มานานแล้วแฮะ สมัยนี้มีแต่ "หน้าจอ"

ขออนุญาตนอกเรื่องด้วยคน  ยิงฟันยิ้ม

"หน้าปัทม์" ไม่มีดอก มีแต่ "หน้าปัด"


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 20 ธ.ค. 18, 16:43

พ่อเคยเล่าว่า ตอนที่พ่อเป็นวัยรุ่น พ่อเคยถูกมือ อะไรสักอย่างจับขาจากใต้น้ำ (ท่านว่าอย่างนั้น) แต่พ่อไม่ได้ตกใจอะไร เพราะการดำน้ำไปแกล้งกัน เป็นเรื่องปกติของเด็กที่เกิดและโตริมแม่น้ำอยู่แล้ว พ่อเลยคิดว่า บรรดาลุงๆ แกล้ง แต่ก็แปลกใจนิดหน่อยตรงที่ว่า มือนั้นสากและหยาบไปหน่อย (ไม่ยักกะมีเมือกแฮะ) ตอนหลังพอขึ้นจากน้ำแล้วมาสอบถามกันว่าใครแกล้ง ก็ไม่มีใครรับ พ่อเลยบอกว่าเป็น "พรายน้ำ"

พรายน้ำที่คุณพ่อเจอ อาจเป็นเจ้าตัวนี้ก็เป็นได้  ยิงฟันยิ้ม

"งูงวงช้าง" เป็นงูน้ำขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ไม่มีพิษ งูชนิดนี้มีผิวหนังย่นและสากแบบเปลือกขนุน หัวแบนเล็ก เกล็ดที่หนังมีลักษณะเป็นตุ่ม ไม่มีเกล็ดที่ท้อง ท้องสีขาว ไม่มีลวดลาย ลำตัวป้อมอ้วนสั้น ฟันแหลมคม ถ้าอยู่พ้นน้ำจะมีสีเหลืองนวล แต่ถ้าอยู่ในน้ำจะมีสีน้ำตาลดำ มีความยาวประมาณ ๑ เมตร

งูงวงช้างเป็นงูที่อาศัยอยู่ในน้ำตลอดเวลา อาหารหลักคือ ปลา สามารถพบได้ตามแหล่งน้ำทุกภาคของประเทศไทย ในต่างประเทศพบได้ที่อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, กัมพูชา, พม่า, ลาว โดยจะขุดรูอยู่ตามริมตลิ่ง อุปนิสัยไม่ดุ ปกติมักอยู่นิ่ง ๆ ไม่ขยับเขยื้อน แต่ถ้าถูกรบกวนมักจะใช้ลำตัวรัดพัน ดังนั้นเมื่อมีคนลงไปว่ายน้ำในถิ่นที่งูงวงช้างอาศัยอยู่ มักจะถูกงูรัด ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นผีพรายมาฉุด


บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 21 ธ.ค. 18, 09:19

ขอบพระคุณครับ ผมจะได้เขียนคำว่า หน้าปัด ได้ถูกต้อง (เอ่ แล้วผมไปเห็นวิธีเขียนอย่างนั้นมาจากไหนเนี่ย)

อ้างถึง
พรายน้ำที่คุณพ่อเจอ อาจเป็นเจ้าตัวนี้ก็เป็นได้

หง่า ผมว่า อิแบบนี้ สยองกว่าเดิมอีกครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 21 ธ.ค. 18, 10:06

พาไปดูผีเทศกันบ้างค่ะ

ผีที่ขึ้นชื่อแพร่หลายที่สุดตนหนึ่งในสหรัฐอเมริกา คือผีของประธานาธิบดีอัมราฮัม ลินคอล์น  ท่านยังสิงสู่อยู่ในทำเนียบขาวจนทุกวันนี้
มีประจักษ์พยานที่เห็นท่านแวบๆบ้าง    ได้ยินเสียงฝีเท้าบ้าง    รู้สึกแต่มองไม่เห็นตัวว่าท่านอยู่ในห้องนั้นบ้าง   
ส่วนที่เฮงจัดๆ เผชิญหน้าด้วยตัวเอง ก็มีเช่นกันค่ะ   
พวกที่เจอรางวัลที่ 1 นี้มักไม่ใช่คนเล็กคนน้อย     แต่เป็นระดับผู้นำประเทศ  ท่านประธานาธิบดีถึงจะมาต้อนรับด้วยตนเอง
หนึ่งในนั้นคือพระราชินีวิลเฮล์มมิน่าแห่งเนเธอร์แลนด์  เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาเมื่อค.ศ. 1942   ก็ได้ประทับค้างคืนในทำเนียบขาวในฐานะแขกเกียรติยศเป็นผู้นำของประเทศ
พระนางได้ยินเสียงฝีเท้าเดินกุกๆนอกห้อง ตามมาด้วยเคาะประตูห้องบรรทม  ก็เสด็จออกไปเปิด 
จึงได้เห็นประธานาธิบดีลินคอล์นแต่งกายด้วยเสื้อนอกตัวยาวและสวมหมวกท็อปแฮทอันเป็นชุดพิธีรีตอง ยืนอยู่หน้าประตู  เหมือนจะมาต้อนรับ
พระนางก็เลยเป็นลมหน้ามืดลงไปตรงนั้น
 


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 21 ธ.ค. 18, 10:11

พระราชินีวิลเฮล์มมิน่าแห่งเนเธอร์แลนด์


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 21 ธ.ค. 18, 13:25

เรื่องของผีของบุคคลระดับผู้นำประเทศ ของไทยเราก็มีเล่าอยู่เหมือนกัน  ยิงฟันยิ้ม

คุณณัฐเศรษฐ์แห่ง พันทิป เขียนไว้ว่า

เรื่องที่อยากเล่าก็มีครับ


ครั้งหนึ่ง เมื่อการก่อสร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศ์ ก็เสด็จฯย้ายจากที่ประทับเดิมมาประทับที่พระที่นั่งนี้ จากนั้นก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เขียนพระบรมสาทิศลักษณ์ รัชกาลต่าง ๆ ไว้ในห้องมุกกระสัน 

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนี้ เป็นชัยภูมิอันศักดิ์สิทธิ์ อยู่ข้างพระมหามณเทียรอันเป็นที่ประทับ ที่สวรรคต พระมหากษัตริย์รัชกาลต่าง ๆ เป็นที่พระบรมราชสมภพ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ อีกทั้งยังเป็นที่ประทับสมเด็จพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่หลายพระองค์



เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ท่านยังทรงพระเยาว์มาก ท่านก็ประทับเล่นที่บริเวณห้องไปรเวต และมุกกระสัน อยู่ ๆ ท่านก็เห็นบุรุษร่างท้วมเดินผ่านแล้วเดินหายไปในบริเวณที่ประดิษฐานพระบรมสาทิศลักษณ์ รัชกาลที่ ๓ 

ด้วยความที่เป็นเจ้าฟ้า เจ้าฟ้าจักรพงษ์ท่านก็ตะโกนเรียกว่านั่นใคร ออกมาเดี๋ยวนี้ (ตามประสาเจ้าฟ้า ผู้ทรงมีบุญบารมีและอำนาจ) ปรากฏก็ไม่มีใครออกมา



ความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ท่านรับสั่งถาม ว่าบุรุษนั่นมีรูปลักษณะอย่างไร และทรงอนุมานว่า ชะรอยคงเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรากฎพระองค์ให้ทอดพระเนตร จึงทรงให้นางพระกำนัลจัดดอกไม้ธุปเทียน ไปถวายสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ เพื่อทรงไปขอขมาลาโทษที่ไปล่วงเกินสมเด็จพระบรมราชบูรพการี


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 21 ธ.ค. 18, 14:06

มีอีกเว็บ เล่าไว้ตรงกันค่ะ
https://www.sanook.com/horoscope/106913/
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 21 ธ.ค. 18, 21:22

กระทู้นี้แอบอ่านเงียบๆ นะครับ ต้องอาบน้ำเตรียมตัวนอนก่อนถึงอ่านได้ อยากโม้นิดเดียวว่าผมเขียนหน้าปัดถูก สงสัยจะเคยเขียนบ่อยเลยจำแม่น  ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 22 ธ.ค. 18, 08:58

อีกหนึ่งเรื่องเล่า คราวนี้เป็นเรื่องฝรั่งเจอพระวิญญาณรัชกาลที่ ๔ ที่วัดบวรฯ  ยิงฟันยิ้ม



http://www.dharma-gateway.com/misc/misc-thongtue/misc-099.htm
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 23 ธ.ค. 18, 18:14

ถ้าพูดถึง "ผีบุคคล" ระดับชาวบ้านของไทย เห็นจะลืมผีสาวตนนี้ไปไม่ได้

ได้ยินเสียงแว่วมาแต่ไกล

พี่มากขาาาาาาาา
  ตกใจ ตกใจ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 23 ธ.ค. 18, 19:02

แม่นาคยุคไทยแลนด์ 4.0 ร้องเรียกพี่มากเป็นโอเปร่าแล้วค่ะ

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 23 ธ.ค. 18, 19:34

เพียงเห็นชื่อ "พี่มาก" ท่านอาจารย์ใหญ่ (และคนทั่ว ๆ ไป) ก็ทราบทันทีว่าคือสามีของ นางนากพระโขนง (หรือบางท่านอาจจะคุ้นกับชื่อ แม่นาคพระโขนง)

แต่สามีของนางนาก แรกเริ่มเดิมทีหาชื่อ "พี่มาก" ไม่
 

ชื่อแรกของพี่มากคือ ชุ่ม

ก.ศ.ร. กุหลาบเขียนไว้ใน สยามประเภท ฉบับวันเสาร์ที่ ๑๐ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๘  ว่า

"..จะเปนวันเดือนปีใดจำไม่ได้เปนคำพระศรีสมโภช (บุด) วัดสุวรรณเล่าถวายสมเด็จอุปัชฌาย์ว่า ในรัชกาลที่ ๓ กรุงเทพฯ อำแดงนาก บุตรขุนศรีนายอำเภอ บ้านอยู่ปากคลองพระโขนง เปนภรรยานายชุ่ม ตัวโขนทศกรรฐ์ในพระจ้าวบรมวงศ์เธอจ้าวฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี อำแดงนากมีบุตรถึงอนิจกรรม นายชุ่มทศกรรฐ์สามีนำศพอำแดงนากภรรยาไปฝังที่ป่าช้าวัดมหาบุด... ศพอำแดงนากฝังไว้ที่นั่นไม่มีปีศาจหลอกผู้ใด เปนแต่พระศรีสมโภชเจ้าของวัดมหาบุด เล่าถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสว่า นายชุ่มทศกรรฐ์เปนคนมั่งมี.... บุตรนายชุ่มมีชายหญิงหลายคน แต่ล้วนยังไม่มีสามีภรรยาทั้งสิ้น บุตรนายชุ่มหวงทรัพย์สมบัติของบิดา เกรงว่าบิดาจะมีภรรยาใหม่...พวกลุกชายจึงทำอุบายให้คนไปขว้างปาชาวเรือ ตามลำคลองริมป่าช้าที่ฝังศพอำแดงนากมารดา กระทำกิริยาเปนผีดุร้ายหลอกคน จนถึงช่วยนายชุ่มถีบระหัดน้ำเข้านาแลวิดน้ำกู้เรือของนายชุ่มที่ล่มก็ได้ บุตรชายแต่งกายเปนหญิงให้คล้ายอำแดงนากมารดาทำกิริยาเปนผีดุร้ายให้คนกลัว ทั่วทั้งลำคลองพระโขนง... บุตรนายชุ่มทศกรรฐ์หลายคนได้เล่าถวายเสด็จอุปชฌาย์ว่า ตนได้ทำมายาเปนปีศาจอำแดงนากมารดาหลอกชาวบ้าน จริงดั่งพระศรสมโภชกราบทูลเสด็จอุปัชฌาย์ทุกประการ.."

ชื่อต่อมาคือ "โชติ"  
            
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งทรงเป็นสยามมกุฏราชกุมาร ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เรื่องสั้น "นากพระโขนงที่สอง" ไว้ใน หนังสือ"ทวีปัญญา" ฉบับแรกสุด เมื่อเดือนเมษายน ร.ศ. ๑๒๓ ทรงใช้นามแฝงว่า “นายแก้วนายขวัญ”  สมมติให้นางนากมีสามีชื่อโชติ เป็นกำนัน

ชื่อสุดท้ายคือ "มาก"

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เจ้าของโรงละครปรีดาลัยทรงนิพนธ์เรื่อง “อีนากพระโขนง” เป็นละครร้อง และตีพิมพ์บทละครเป็นหนังสือเมื่อต้นรัชกาลที่ ๖  เมื่อ ร.ศ. ๑๓๑   หน้าปกเขียนว่า “บทละครร้องเรื่องอีนากพระโขนง (ว่าเปนเรื่องจริง) หมากพญา รจนาสำหรับลครในปรีดาลัย ร.ศ. ๑๓๑”

หมากพญา เป็นนามแผงของกรมพระนราฯ ทรงกำหนดให้ตัวละครมี ๑๐ ตัว มีชื่อและอายุดังต่อไปนี้
๑.  นายมาก อายุ ๓๕ สามีอำแดงนาก เปนคนซื่อ ๆ
๒.  ทิดทุ้ย อายุ ๓๘ เกลอนายมาก ขี้เมา
๓.  ตาหมี อายุ ๖๘ เก่า ๆ เขลา ๆ
๔.  ตาเทิ่ง อายุ ๕๐ สัปเหร่อ
๕.  ขรัวเต๊ะ อายุ ๖๒ อาจาริย์วิชาอาคม
๖.  ตาปะขาวเม่น อายุ ๖๕ ผู้มีวิชาอาคม
๗.  สามเณรเผือก อายุ ๑๘ ศิษย์ขรัวเต๊ะเจ้าเวทมนต์
๘.  อำแดงนาก อายุ ๓๒ ภรรยานายมาก เปนคนดี
๙.  ยายม่วง อายุ ๖๐ ภรรยาตาหมี เท่อ ๆ
๑๐. ยายโม่ง อายุ ๕๑ หมอผดุงครรภ์

ภาพยนตร์ และละครในยุคหลัง ๆ ใช้ชื่อพี่มากตามละครกรมพระนราฯ ไม่เปลี่ยนแปรเป็นอื่นอีกเลย

เวอร์ชั่นล่าสุด พี่มากดังล้ำหน้านางนากไปเสียแล้ว  ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 24 ธ.ค. 18, 07:42

ผีนางนากปรากฎอยู่ในเสภาขุนช้างขุนแผน สำนวนครูแจ้ง วัดระฆัง (ครูเสภา ๓ แผ่นดิน รัชกาลที่ ๓ - รัชกาลที่ ๕) ตอนสร้อยฟ้าทำเสน่ห์ โดยเถรขวาดทำพิธีเรียกผีต่าง ๆ หนึ่งในนั้นก็มีผีนางนากอยู่ด้วย

อีพรายกราบเถรเฒ่าเล่าคะดี
กระผม*นี่ชื่อนากอยู่บางพระขะโหนง
เจบครรภ์วันเสาร์เข้าสี่โมง
ตายโหงไปทั้งกลมผมเปนพราย
เจ้าคุณถามสันถานประมาณเด็ก
เปนลูกเล็กของข้าเจ้าจะเล่าถวาย
มาอยู่นี่นมนานธระมานกาย
นี่แลคือลูกชายตายในครรภ์


* การใช้คำสรรพนามในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังไม่ลงตัว ดังเช่นคำว่า “ดิฉัน” ก็ใช้กับบุรุษได้

ข้อมูลจาก https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_9573

นางนากคงมีชื่อเสียงเลื่องลือกระฉ่อนมาตั้งแต่สมัยนั้น จนครูแจ้งจับเอามาเป็นตัวละครในบทเสภา แต่ครานั้นสามีของนางนากยังไม่ปรากฎนาม  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 24 ธ.ค. 18, 08:49

โหย อาจารย์ครับ ขืนแม่นาก เธอร้องว่า "พี่โชติขา...." ก็จะฟังดูแปลกๆ ไม่ลงกลอนอยู่นะครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 24 ธ.ค. 18, 20:14

ที่ญี่ปุ่นมีเรื่องผีที่ดังพอ ๆ กับแม่นากพระโขนงของเรา ชื่อว่า “โทไกโด โยะสึยะ ไคดัง” (東海道四谷怪談;Tokaidō Yotsuya Kaidan) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “โยะสึยะ ไคดัง” แปลว่า “เรื่องผีโยะสึยะ” ซึ่งมีตัวเอกเป็นหญิง ชื่อ “อิวะ” ขนบญี่ปุ่นสมัยก่อนมักเรียกชื่อผู้หญิงโดยใส่คำว่า “โอะ” ไว้ที่หน้าชื่อเพื่อให้เกียรติ ตัวละครตัวนี้จึงเป็นที่รู้จักในนาม “โอะอิวะ” (お岩;O-iwa)  

เรื่องนี้เขียนขึ้นเป็นบทละครคะบุกิ และจัดแสดงครั้งแรกเมื่อเดือนเจ็ด ปี พ.ศ. ๒๓๖๘ และต่อมาก็ยังได้รับความนิยมอย่างสูงยาวนาน โครงเรื่องเกี่ยวกับการทรยศหักหลังในครอบครัว ฆาตกรรม และการแก้แค้น ซึ่งในปัจจุบันอาจถือได้ว่าไม่ใช่พล็อตแปลกใหม่ แต่ก็คงเพราะความธรรมดาที่ใคร ๆ ก็มีอารมณ์ร่วมได้โดยง่ายกับฆาตกรรมเลือดสาดหลายศพนี่เอง “โยะสึยะ ไคดัง” จึงเป็นที่จดจำและเป็นเรื่องอมตะของญี่ปุ่น

เรื่องนี้ผ่านการดัดแปลงมามากมายหลายครั้งทั้งในฉบับภาพยนตร์และละครเวที จนถึงปัจจุบันรวมแล้วไม่ต่ำกว่า ๒๐ ครั้ง ถ้ารวมการนำมาถ่ายทอดด้วยศิลปะการเล่าเรื่องแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่เรียกว่า “ระกุโงะ” (落語;Rakugo) ด้วยละก็ คงนับครั้งไม่ถ้วน ในกรุงโตเกียว มีศาสนสถานซึ่งถือว่าเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณโอะอิวะมากกว่าหนึ่งแห่ง และเมื่อจะมีการถ่ายทำภาพยนตร์หรือละคร ก็ถือเป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งที่กองถ่ายจะไปเซ่นไหว้ดวงวิญญาณของโอะอิวะด้วย

https://mgronline.com/japan/detail/9600000082806



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.073 วินาที กับ 19 คำสั่ง