เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 10861 แหม่ๆ...เพื่อราษฎรจริงจริ้ง=ลูกชาย“คณะราษฎร์” ฟ้องพี่ชายต่างแม่แย่งมรดกกลางกรุง=
ราชปักษา
อสุรผัด
*
ตอบ: 23


 เมื่อ 12 พ.ย. 18, 09:48

อดีตรองเจ้ากรมยุทธการ ทบ. ลูกชายขุนนิรันดรชัยหนึ่งใน“คณะราษฎร์” ฟ้องพี่ชายต่างมารดาขอแบ่งมรดกที่ดินหลายหมื่นล้านใจกลางกรุงของพ่อ ศาลนัดพิจารณากลางเดือน ก.พ.ปีหน้า


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2561 เวลา 11.00 น. ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก พล.ต.สรภฎ นิรันดร อายุ 74 ปี อดีตรองเจ้ากรมยุทธการทหารบก บุตรชายขุนนิรันดรชัย หรือ พ.ต.สเหวก นิรันดร เจ้าของที่ดินย่านธุรกิจใน กทม.กว่า 90 แปลง มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายธรรมนูญ นิรันดร พี่ชายต่างมารดา , นายธรรมรัชต์ นิรันดร บุตรชายนายธรรมนูญ ,นางเยาวนี นิรันดร บุตรสาวนายธรรมนูญ และบริษัท 31 สาธร จำกัด เป็นจำเลยที่ 1-4 เรื่องขอให้เพิกถอนนิติกรรม แบ่งทรัพย์มรดก จำนวนทุนทรัพย์ 59,927,678 บาท ฯลฯ

โดยโจทก์บรรยายฟ้องสรุปความว่า โจทก์เป็นบุตรของ พ.ต.สเหวก นิรันดร หรือขุนนิรันดรชัย กับ นางแสงอรุณ สิงหะเสนี ภรรยาที่มิได้จดทะเบียนสมรส แต่โจทก์เป็นบุตรที่บิดาให้การรับรองบุตรแล้ว จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของขุนนิรันดรชัย บิดา ตามกฎหมาย โดยขุนนิรันดรชัย มีภรรยาทั้งหมด 4 คน มีบุตรรวม 13 คน แต่เดิม คุณหญิงจรูญ นิรันดร ภรรยาที่จดทะเบียนกับขุนนิรันดรชัย จะเป็นผู้จัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ดินทั้งหมด ตามคำสั่งศาลแพ่ง

แต่ต่อมาปรากฏว่าคุณหญิงจรูญ ผู้จัดการมรดกได้เสียชีวิตลง โดยก่อนเสียชีวิตคุณหญิงจรูญได้มอบหมายและแต่งตั้งให้ นายธรรมนูญ จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่เป็นผู้จัดการมรดก ทรัพย์มรดกของขุนนิรุนดรชัย บิดาโจทก์ แต่ปรากฏข้อเท็จจริงในเวลาต่อมาว่า นายธรรมนูญ จำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โดยร่วมกับบุตรชายและ บุตรสาว จำเลยที่ 2,3, และ จำเลยที่ 4 กระทำความผิดเบียดบัง ยักยอกเอาทรัพย์มรดกเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

กล่าวคือ เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2560 นายธรรมนูญ จำเลยที่ 1ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 2 แปลง ย่านถนนพระทิตย์ แขวงวัดชนะสงคราม เขตพระนคร กทม.มูลค่าประมาณ 85 ล้านบาท ซึ่งเป็นของทรัพย์มรดกที่ยังจัดการแบ่งไม่เสร็จสิ้นให้กับนายธรรมรัชต์ นางเยาวนี บุตรชายและบุตรสาวของจำเลยที่ 1 และ บริษัท 31 สาธร จำกัด จำเลยที่ 4โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยชอบธรรม ต่อมา เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2560 นายธรรมนูญ จำเลยที่ 1ได้แสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับจำเลยที่ 4 โดย นายธรรมนูญ ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินย่านสาทร เขตบางรัก กทม. จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 2 งาน 18 ตร.วา ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ยังจัดการแบ่งทไม่แล้วเสร็จให้กับจำเลยที่ 4 เพื่อชำระค่าหุ้น

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2559 นายธรรมนูญ จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 229 ย่านดอนเมือง จำนวน 187 ไร่ ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ยังแบ่งไม่แล้วเสร็จ ให้แก่บุคคลภายนอกเป็นเงินจำนวน 647,015,000 บาท ซึ่งนายธรรมนูญ จำเลยที่ 1 จึงต้องนำเงินมาแบ่งปันให้แก่โจทก์ด้วย คิดเป็นเงินจำนวน 23,107,678 บาท

การกระทำของนายธรรมนูญ นายธรรมรัชต์,นางเยาวนี จำเลยที่ 1-3 ตลอดจนกรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท 31 สาธร จำกัด จำเลยที่4 ทำให้กระทบต่อประโยชน์ของทายาทคนอื่นๆในวงศ์ตระกูลด้วย โจทก์จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้กลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกของตระกูล เพื่อแบ่งปันให้แก่โจทก์ด้วย จำนวน 1 ใน 14 ส่วนของทรัพย์มรดกทั้งหมด และมิให้พวกจำเลยได้รับมรดกของขุนนิรันดรชัย บิดาโจทก์ด้วย

ท้ายคำฟ้องโจทก์ยังระบุว่า โจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับ จำเลยที่ 1 ฐานยักยอกทรัพย์และให้ดำเนินคดีกับ จำเลยที่ 2,3,4 ฐานเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานยักยอกหรือรับของโจทก์ต่อพนักงานสอบสวน สน.พระราชวัง แล้ว ศาลแพ่งได้รับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ พ.6550/2561 และนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ในวันที่ 18 ก.พ.2562 เวลา13.30 น.

ภายหลัง พล.ต.สรภฏ กล่าวว่า ปัจจุบัน นายธรรมนูญ จำเลยที่ 1พี่ชายต่างมารดา ซึ่งเป็นผู้จัดการกองมรดกมีอายุ 87 ปีแล้ว ขณะนี้มีอาการป่วยต้องมีคนคอยช่วยเหลือดูแล ซึ่งทรัพย์มรดกของขุนนิรันดรชัย บิดาโจทก์ที่ยังไม่ได้จัดการแบ่งให้ทายาทนั้น ที่สืบพบในตอนนี้ มีราคาประเมินประมาณ 40,000 ล้านบาท ตนประสงค์ที่จะให้ทายาททุกคนได้รับการแบ่งมรดกไปตามความเหมาะสม จึงมาขอพึ่งบารมีศาลในการจัดแบ่งกองมรดกของบิดา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับขุนนิรันดรชัย หรือ พ.ต.สเหวก นิรันดร เป็นหนึ่งในคณะราษฎร์ที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2475 ด้วย

https://www.isranews.org/isranews-other-news/71009-naew_71009.html?fbclid=IwAR0i9KTZ5N64PhrsMFtF9sYa2Y9fopkCwbmqmVVa6E2yZWx6ezIU_GKB25g

แหม่ๆ วันนั้น พวกเขาอภิวัฒน์สยามด้วยปณิฎานอันมุ่งมั่น หวังให้บ้านเมืองก้าวหนา ไม่ได้หวังในลาภยศเลย แค่ขอแบ่งที่ดินเจ้านายมานิดๆหน่อยๆเป็นค่าเสี่ยงชีวิตเองนะเฟ้ย!! ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 12 พ.ย. 18, 10:17

เผยโฉม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 12 พ.ย. 18, 10:19

ขุนนิรันดรชัย เป็นผู้ก่อการคณะราษฎรรุ่นเด็ก ทำงานรับใช้ผู้ใหญ่มาตลอด ตอนหลังจอมพล ป. ไว้ใจมาก เข้านอกออกในได้พอๆกับพล.อ.ต.อดุล ทำหน้าที่ประสานระหว่างจอมพล ป. (ในนามของรัฐบาล) กับคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 8 ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยรัฐบาลให้กระทำการแทนพระเจ้าอยู่หัวที่ยังทรงพระเยาว์และศึกษาอยู่ในสวิสเซอร์แลนด์  ประกอบด้วย เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) ได้รับการแต่งตั้งหลังจากการสิ้นพระชนม์ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์) ที่ยิงพระองค์เองสิ้นพระชนม์คราวที่ถูกคณะราษฎร์บีบบังคับให้ลงนามยึดพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์มาเป็นของแผ่นดิน หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) แทนเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคชรา เมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ. 2485 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงเหลือเพียง 2 คน ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ซึ่งทรงลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 เพราะความกลัวที่ถูกจอมพล ป. โกรธเพราะไปลงพระนามแต่งตั้งให้นายควงเป็นนายกรัฐมนตรี ทรงให้การในศาลว่า “ข้าพเจ้าได้ถูกกดขี่ข่มเหงมาทำนองนี้หลายครั้ง ข้าพเจ้าสารภาพว่าข้าพเจ้ากลัว เพราะข้าพเจ้าตัวคนเดียวไม่มีพวกพ้อง”
เมื่อพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาลาออกแล้วไม่ได้แต่งตั้งผู้ใดเพิ่ม จึงมีนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว

 ตลอดเวลาดังกล่าวขุนนิรันดรชัย อยู่ในตำแหน่งในตำแหน่งเลขาธิการคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงสละราชสมบัติและรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จขึ้นมาแทนองค์พระมหากษัตริย์ไม่นาน คณะราษฎร์ได้จัดรายการ จึงบอกเพื่อน กระซิบชวนให้จับจองซื้อที่ดินแปลงหรู ทำเลเลิศ ผ่อนง่ายๆสบายๆ ไม่มีดอกเบี้ย โดยเอาที่ดินของพระคลังข้างที่ ที่ได้รับพระราชทานมา(ฟังดูเป็นศิริมงคลดีนะครับ)มาขายกันถูกๆ ที่ดินแถวสาธร วิทยุ และในเมืองอีกหลายแปลง เป็นเหตุให้ผู้แทนฝ่ายตงฉินนำมาอภิปรายในสภาถึงกับรัฐบาลพระยาพหลทนถูกด่าไม่ได้ ลาออกเปิดทางให้หลวงพิบูล(ซึ่งรีบคืนที่ดินเพิ่งจะซื้อมาเหมือนกันนั้นไปด้วยความกระดาก)
แต่ที่ดินของพระคลังข้างที่ ที่โอนขายไปแล้วถือว่าหลังเย็น ใครจะได้ไปบ้างผมไม่ทราบ ทราบแต่ที่เขากล่าวกันว่าพอยึดการปกครองได้แล้วพวกคณะราษฎรขยันทำมาหากินรวยกันใหญ่ ก็ประวัติของผู้ก่อการระดับแกนนำห้าหกคนที่ผมนำมาเสนอล้วนรวยเกียรติแต่ไม่รวยสมบัติกันทั้งนั้น แล้วใคร พวกไหนกันเล่าที่รวยเละตุ้มเป๊ะ

เปิดกรุที่ดิน หมื่นล. ตระกูล นิรันดร + ประกาศหาผู้ร่วมทุน ยันไม่ขาย/เตรียมเจรจากลุ่มอีวาแอร์ พัฒนาที
นายธรรมนูญ นิรันดร ทายาทขุนนิรันดรชัย อดีตราชเลขานุการในรัชการที่ 8 เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรณีที่มีข่าวว่าได้ประกาศขายที่ดินพื้นที่ประมาณ 6 ไร่ บนถนนวิทยุ ตรงข้ามกับโรงแรมปาร์คนายเลิศว่า เรื่องดังกล่าวอาจจะเข้าใจผิด เพราะไม่มีความคิดที่จะขายที่ดินแปลงนี้ แม้ในปัจจุบันบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) จะติดต่อขอซื้อถึงตารางวาละ 900,000 บาท ก็ตามก็บังไม่ได้ตัดสินใจขาย รวมถึงที่ดินแปลงอื่นๆด้วยการที่จะขายทรัพย์นั้นง่ายกว่าการรักษาทรัพย์

อย่างไรก็ดี ยอมรับว่ามีที่ดินสะสมค่อนข้างเยอะ โดยปัจจุบันนี้มีที่ดินอยู่ในกลางเมืองร่วม 90 แปลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นมรดกตกทอดจากขุนนิรันดรชัย ซึ่งในอดีตเป็นราชเลขานุการในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดล หรือรัชกาลที่ 8 โดยที่ดินแปลงสำคัญๆ คือที่ดินที่อยู่ตรงข้ามด้านหน้าวังสวนจิตรลดา ซึ่งเดิมรัชการที่ 8 พระราชทานพื้นที่ให้ประมาณ 1 ไร่ ต่อมาได้มีการซื้อเพิ่มเติมร่วม 6-7 แปลง ประมาณ 10 กว่าไร่ โดยซื้อมาในราคาตารางวาละ 4 บาท ส่วนบริเวณหน้าวังนั้นซื้อมาในราคาตารางวา 2.50 บาท ซึ่งในอดีตนั้นเป็นสวนผัก ปัจจุบันนี้ราคาซื้อขายที่ดินอยู่ที่ 250,000 บาท ต่อตารางวา เพราะสามารถก่อสร้างตึกสูงได้เพียง 4 ชั้น เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีที่ดินบนถนนสาทร ติดโรงแรมเอเวอร์กรีน ลอเรล พื้นที่ประมาณ 5-6 ไร่ ซื้อมาในราคา 80,000 บาท โดยขณะนี้นายซัง ลิ้ม เจ้าของสายการบินอีวาแอร์ และเจ้าของธุรกิจขนส่งสินค้าเอเวอร์กรีน ร่วมทั้งเป็นเจ้าของโรงแรมทั่วโลกได้เข้ามาขอซื้อในตารางวา 9 แสนบาท พร้อมเป็นผู้ดำเนินการออกค่าโอนและค่าภาษีให้ด้วยเพื่อที่จะลงทุนทำโรงแรม ระดับ 7 ดาว มูลค่าโครงการประมาณ 5,200 ล้านบาท แต่ไม่มีนโยบายที่จะขายที่ดินโดยได้ยื่นข้อเสนอในการขอร่วมลงทุนจะดีกว่า โดยตีราคาที่ดินเป็นเม็ดเงินในการร่วมลงทุนซึ่งที่ดินมีมูลค่าประมาณ 1,200 ล้านบาท ทั้งนี้ตนมีแนวคิดที่จะนำธุรกิจโรงแรมดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) โดยเข้าซื้อบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดมาแล้ว 5 ปี (Backdoor) แล้วสวมสิทธิ์ต่อ โดยจะเจรจาเพื่อนำเสนอแนวทางดังกล่าวต่อนายซัง ลิ้ม ภายในวันที่ 6 ก.พ.นี้ หรือที่ดินแปลงอื่น ๆ ก็มีแนวคิดที่จะร่วมทุนหากมีผู้ที่สนใจจะลงทุนบนที่ดิน

ขณะเดียวกันยังมีที่ดินตรงข้ามกับสนามบินดอนเมืองอีก พื้นที่ประมาณ 180 ไร่ ซึ่งซื้อมาเมื่อหลายสิบปีโดยซื้อมาในราคา 80,000 บาท ซึ่งเดิมมีแนวคิดที่จะทำเป็นเมืองโดยมีกลุ่มทุนจากประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจแต่ตนเห็นว่าที่ดินมีขนาดใหญ่เกินไปโดยคิดเป็นพื้นที่ใช้สอยถึง 800,000 ตารางเมตร และมีที่ดินเขาใหญ่ 400 ไร่, ที่ดินชายหาดหัวหิน 3 ไร่ และที่ดินย่านบางลำพู หัวลำโพง มหานาค ฯล รวม ๆ แล้วประมาณ 90 แปลง มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

นายธรรมนูญ ได้กล่าวถึงที่มาของการสะสมที่ดินว่า ในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 มีการแบ่งแยกความคิดออกเป็น 2 ลักษณะ กลุ่มหนึ่งคิดว่าควรจะกักตุนพันธบัตรของจีนไว้ เพราะคาดว่าจีนจะชนะสงครามเลยขายที่ดินทิ้งแล้วนำเงินมาซื้อพันธบัตรจีน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งมองว่าควรจะซื้อที่ดินเก็บไว้ดีกว่า ซึ่งบิดาของตนก็เป็นหนึ่งในผู้ที่มีแนวคิดว่าควรจะซื้อที่ดินสะสมไว้เพราะที่ดินนั้นไม่มีเพิ่มซึ่งในอนาคตก็จะกลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่ามหาศาล

อย่างไรก็ดีการที่จะขายทรัพย์สินนั้นง่ายกว่าการักษาทรัพย์ จึงต้องการหาผู้ร่วมทุนพัฒนาที่ดินตามทำเลที่กลุ่มทุนต่าง ๆสนใจมากกงว่าการจะขายขาด ส่วนรูปแบบใดที่จะดำเนินการนั้นคงจะต้องเจรจาตามแต่เงื่อนไขของนักลงทุน เรายินดีเปิดกว้างในหลาย ๆรูปแบบ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (2 กุมภาพันธ์ 2551)


http://www.thaiproperty.in.th/%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%94/%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99-%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%A5-%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B8%A5-%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%A3-%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%99-%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C-%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5/23492
บันทึกการเข้า
ราชปักษา
อสุรผัด
*
ตอบ: 23


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 12 พ.ย. 18, 10:20

ขอบพระคุณขอรับ ท่านอาจารย์ ที่เข้ามาเยี่ยมชม

หลังอภิวัฒน์มา สังเกตุว่า สมาชิกคณะราษฎร์อ้วนท้วนเป็นแถวๆเลยขอรับ ถ้าไม่ติดเรื่องมารยาท จะเอาไปประทับไว้กระทู้พระยาทรงซักหน่อย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 12 พ.ย. 18, 11:07

^
ว่ากันตรงนี้ก่อนก็แล้วกันครับ เครื่องกำลังร้อน
.
.
นายกฯคนซื่อมัวหมอง!เมื่อคนรอบข้างเห็นแก่ได้ ก่อเรื่องอัปยศ“เซ็งลี้ที่ทรัพย์สินฯ”!!

โดย: โรม บุนนาค

พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้า “คณะราษฎร” ได้ชื่อว่าเป็นคนซื่อ บริสุทธิ์ ทั้งมิตรและศัตรูเห็นพ้องต้องกันว่า “ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีมาหลายสมัย ก็ยังรักษาความยากจนไว้ได้เสมอต้นเสมอปลาย แต่ครั้งหนึ่งนายกฯคนซื่อมือสะอาดคนนี้ก็มัวหมองจนต้องลาออก เพราะคนรอบข้างซึ่งล้วนแต่เป็นคนดังๆ เกิดเห็นแก่ได้ เอาที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาชำแหละขายกันเองในราคาถูกๆ ซึ่งถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในชื่อ “เซ็งลี้ที่ทรัพย์สินฯ”

สาเหตุเรื่องนี้มาจากการที่รัฐบาลได้ออก“พระราชบัญญัติจัดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๘๐ เพื่อจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เสียใหม่ โดยจะโอนพระคลังข้างที่ซึ่งเดิมอยู่กับสำนักพระราชวัง ไปขึ้นกับกระทรวงการคลัง แต่ก่อนที่จะรับโอน กระทรวงการคลังได้ขอให้สำรวจและจัดทำบัญชีให้เรียบร้อยเสียก่อน

ในระหว่างที่สำรวจจัดทำบัญชีอยู่นี้ มีบุคคลสำคัญในวงการรัฐบาลหลายคนอยากได้ที่ดินบางแปลงไว้ปลูกบ้าน พระดุลยธารปรีชาไว รัฐมนตรีรักษาการณ์กำกับดูแลสำนักพระราชวังแทนนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือแจ้งต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งประกอบด้วย พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา พระยายมราช และ พล.อ.เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน ซึ่งคณะผู้สำเร็จราชการฯก็ไม่ขัดข้อง พระดุลยธารฯจึงนำที่ดินเหล่านั้นมาขายแบบผ่อนส่งในราคาถูกๆ ซึ่งผู้ซื้อก็ล้วนแต่อยู่ในกลุ่มพรรคพวกรัฐบาล โดยพระดุลยธารฯเองก็ซื้อที่ดินย่านสำเพ็งไว้แปลงหนึ่งในราคา ๑๔,๐๐๐ บาท
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 12 พ.ย. 18, 11:09

ขณะขายที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในราคาถูกๆ พระคลังข้างที่ก็ซื้อที่ดินของพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ประธานคณะผู้สำเร็จฯไว้ในราคาค่อนข้างสูง นายเลียง ไชยกาล ส.ส.ปากกล้าแห่งอุบลราชธานีทราบเรื่อง จึงรีบคว้ามาสร้างความดังทันที ยื่นกระทู้ด่วนถามนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน นายไต๋ ปาณิกบุตร ส.ส.พระนคร ก็ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายด้วย ทำให้ พ.อ.หลวงพิบูลสงคราม รมต.กลาโหม และ พล.ร.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รมต.มหาดไทย ซึ่งซื้อกับเขาไว้เหมือนกัน รีบเอาไปคืนทันที อ้างว่าซื้อไว้เพราะไม่รู้ เลยถูกลบชื่อออกจากรายชื่อผู้ซื้อไป

การเปิดอภิปรายเรื่องนี้ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๘๐ ต่างฝ่ายรู้ดีว่าจะต้องมีการปะทะคารมกันอย่างดุเดือด อาจถึงขั้นแตกหัก จึงมีสมาชิกมาประชุมกันเต็มอัตราศึก ส่วนรัฐมนตรีก็มากันพร้อมหน้า

นายเลียงได้ถามพระยาพหลฯ ๘ ข้อ คือ

- มีการขายอสังหาริมทรัพย์ของกรมพระคลังข้างที่ ก่อนที่จะโอนไปขึ้นกับกระทรวงการคลังถึง ๒๕ แปลง ในระหว่างวันที่ ๑-๒๐ กรกฎาคม ๒๔๘๐ ตามบัญชีที่แนบมานี้ เป็นความจริงหรือไม่

- ราคาที่ขายนั้นถูกมากหรือไม่ ทำไมไม่ประกาศให้ประชาชนรู้บ้าง ซึ่งอาจจะขายได้ในราคาที่สูงกว่านี้ ปรากฏว่าขายให้พรรคพวกกันเองเท่านั้น

- ท่านจะประกาศให้มหาชนซื้อที่ดินเหล่านี้ด้วยเงินสดได้หรือไม่ ถ้าได้ราคามากกว่านี้ให้ไล่เจ้าหน้าที่คนขายออก แต่ถ้าไม่มากกว่าที่ขายกันอยู่ ข้าพเจ้าจะขอลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่ขอสมัครอีกตลอดชีวิต

- ตามธรรมดาค่าธรรมเนียมซื้อขาย ผู้ซื้อเป็นฝ่ายออก แต่ครั้งนี้พระคลังข้างที่เป็นฝ่ายออก ใช่หรือไม่

- การสำรวจแบ่งแยกที่ดิน ธรรมดาใช้เวลา ๒ เดือน แต่คราวนี้ ๒ วันเสร็จ เหตุไรจึงเป็นเช่นนั้น

- เหตุผลในการขายที่ดินนี้มีอย่างไร ขอให้อธิบาย และเหตุใดผู้ซื้อจึงมีแต่คนในวังปารุสกวัน พระคลังข้างที่ เกษตร สมาชิกประเภท ๒ รัฐมนตรี เลขานุการนายกรัฐมนตรี และราชเลขานุการในพระองค์ ขอให้อธิบายให้หายข้องใจ

- ท่านไม่มีความสงสัยอะไรบ้างเลยหรือ เมื่อมีเสียงโจษจรรย์กันว่าในกรมพระคลังข้างที่เกิดการทุจริตกันมาก

- ท่านทราบหรือไม่ว่า ที่ดินทุกแปลงที่ขายมีรายได้จากค่าเช่าไล่เลี่ยกับที่ผ่อน อย่างรายของพระดุลยธารปรีชาไว ได้ค่าเช่าเดือนละ ๕๐ บาท แต่ขายผ่อนเดือนละ ๑๐๐ บาท และจะลงโทษผู้ทุจริตยิ่งกว่าไล่ออกหรือไม่ เพราะไล่ออกเฉยๆ เขาก็ได้ทรัพย์คุ้มพอ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 12 พ.ย. 18, 11:11

พระยาพหลฯได้ตอบกระทู้ของนายเลียงด้วยเสียงอันดังตามแบบฉบับว่า

-การซื้อขายเช่นนี้ เวลานี้ก็มี เวลาก่อนก็มี
-ให้ผ่อนชำระเป็นงวดๆไป
-บางรายจะว่าถูกก็ได้ ที่ไม่ประกาศก็เพราะไม่ตั้งใจจะขาย ที่ขายก็เป็นพระมหากรุณาธิคุณเท่านั้น
-ข้าพเจ้าไม่ทราบ
-ไม่ทราบข้อเท็จจริง
-ได้ตอบแล้วว่า ขายให้ผู้สมควรได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นรายๆไป
-ข้าพเจ้าไม่สงสัยว่าการกระทำนั้นเป็นการทุจริต เพราะเป็นการกระทำโดยเปิดเผย
-ข้อเท็จจริงไม่ทราบ และที่ดินรายที่อ้างนั้นไม่รู้

การตอบของพระยาพหลฯไม่ได้ให้ความกระจ่างชัดแต่อย่างใด นายเลียงจึงได้ซักถึงข้ออ้างของพระยาพหลฯที่ว่า การขายที่ดินเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นรายๆไป ทำไมจึงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่พระดุลยธารปรีชาไว ขุนพิชิตสุรการ ทำไมไม่มีพระมหากรุณาธิคุณแก่หลวงสินธุ์สงครามชัย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ หรือเป็นเพราะพระดุลยธารปรีชาไวมีความดีความชอบมากกว่าบุคคลทั้ง ๓ ที่ได้ออกนามมา

ถึงตอนนี้พระยาพหลฯ หน้าแดงกร่ำด้วยความโมโห และตอบด้วยเสียงดังว่า

“ข้าพเจ้าจะไปรู้ได้ยังไง มันเป็นเรื่องกระเป๋าของเขา”

หมายเหตุโดย navarat.c
คำว่า พระมหากรุณาธิคุณ เป็นการอ้างถึงองค์ยุวกษัตริย์รัชกาลที่ ๘ ซึ่งประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่มีทางที่จะทรงทราบการกระทำที่อ้างพระปรมาธิไธย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 12 พ.ย. 18, 11:12

นายเลียง ไชยการเห็นว่าสถานการณ์ไม่สู้ดีแล้ว จึงยุติไว้เพียงแค่นั้น ปล่อยให้นายไต๋ ปาณิกบุตรออกโรงต่อ

กระทู้ด่วนของนายเลียง ไชยกาลนั้น ความจริงก็แค่เกริ่นนำ แต่“ญัตติเปิดอภิปรายซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่”ของนายไต๋นั้น ถึงขั้นแตกหักกันทีเดียว
นายไต๋ได้เริ่มต้นอย่างนิ่มนวลโดยกล่าวว่า

“เราถือกันว่าทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินแผ่นดิน ไม่ใช่เป็นของส่วนพระองค์ เราต้องรักษาไว้ ฉะนั้นนโยบายจัดทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงมีว่า ต้องจัดให้คงอยู่และเจริญขึ้น มิใช่เสื่อมลง...”
และได้กล่าวถึงการขายที่ดินพระยาสุรเกษตรโสภณ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งได้จำนองที่ดินราคาหลายหมื่นบาทกับพระคลังข้างที่ แล้วขอซื้อคืนด้วยราคา ๒๐,๐๐๐ บาท แต่พระคลังไม่ขาย กลับไปขายให้บุคคลอื่นด้วยราคาเพียง ๑๐,๐๐๐ บาท และผ่อนส่งน้อยกว่าที่พระยาสุรเกษตรฯ เสนอให้ด้วย

พระยาพหลฯ ทำท่าอึดอัดไม่อยากพูดเรื่องนี้ นายไต๋ก็ย้ำอีกว่า

“จริงหรือไม่ที่ข้าพเจ้าว่า”

พระยาพหลฯ จึงถามอย่างหงุดหงิดว่า

“จะให้ข้าพเจ้าพูดจริงหรือ”

นายไต๋ลุกขึ้นยืนโค้ง เป็นการท้าให้พูด
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 12 พ.ย. 18, 11:14

พระยาพหลพลพยุหเสนาอึดอัดใจ ที่จะเอาเรื่องของบุคคลภายนอกมาตีแผ่ในสภา แต่เมื่อฝ่ายค้านตั้งข้อหาหนักว่า เอาที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปขายในราคาถูก ทั้งที่คนเช่าอยู่เดิมเสนอขอซื้อในราคาที่สูงกว่าก็ไม่ยอมขาย และท้าให้เปิดเผยข้อเท็จจริง ชายชาติทหารจึงจำต้องเอาความจริงมามาพูดกลางสภา

พระยาพหลฯ ตอบด้วยเสียงอันดังตามแบบฉบับ และด้วยอารมณ์แบบทหารว่า

“ที่ดินรายนั้น พระยาสุรเกษตรโสภณเช่าอยู่ในราคาเดือนละ ๔๐ บาท ติดค่าเช่ามาตั้งพันกว่าหรือสองพัน มาเจรจาขอซื้อด้วยเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท โดยจะยอมใช้หนี้เดือนละ ๑๒๐ บาท พระคลังเห็นว่าค่าเช่าเดือนละ ๔๐ บาทยังติดถึง ๒,๐๐๐ บาท จะมาขอซื้อให้ถึงเดือนละ ๑๒๐ บาท จะสามารถให้ได้หรือ จึงว่าเอาอย่างนี้เถอะ ผ่อนใช้เดือนละ ๔๐ บาทก่อน จนกว่าหนี้เก่าหมด เอาไหมล่ะ พระยาสุรเกษตรโสภณก็เงียบไป ต่อมามีอีกผู้หนึ่งมาขอพระมหากรุณาฯ ซื้อโดยผ่อนเดือนละ ๕๐ บาท คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พิจารณาเห็นสมควรให้ ลดราคาที่ดินลง ๑ ใน ๓ เป็นพระมหากรุณาส่วนพระองค์ ที่นั้นยังเหลือราคา ๓๐,๓๐๓ บาท สำหรับพระยาสุรเกษตรฯ แม้แต่ ๔๐ บาทก็ไม่มีจะให้ ๑๒๐ บาทจะให้ได้อย่างไร”

นายเลียง ไชยกาลได้ลุกขึ้นมาถามด้วยความข้องใจในคำ “พระมหากรุณาธิคุณ” ว่า

“มีหลักเกณฑ์อย่างไรในสิ่งที่เรียกว่า พระมหากรุณาธิคุณ ถ้าเป็นการให้โดยเสน่หาก็ขอให้เอากฎหมายมาพูดกัน ซึ่งในกรณีนี้จะไม่เข้าเกณฑ์เลย ครั้งพระยามานวราชเสวีเป็นผู้อำนวยการพระคลังข้างที่ ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า การซื้อขายที่ดินเป็นเงินตั้งแต่ ๑,๐๐๐ บาทขึ้นไป ต้องเสนอคณะกรรมการที่ปรึกษา นี่ขุนวิชิตสุรการถือบัญชีเดินส่งให้เลือกซื้อกัน ที่ดินแปลงบางลำพู ราคาหลายหมื่นบาท เอามาขายกันราคาถูกๆ อย่างนี้ ใครเป็นผู้รับผิดชอบ...”


นอกจากนี้นายเลียงยังเปิดเกมใหม่อีกว่า

“นอกจากจะขายด้วยราคาถูกๆแล้ว พระคลังยังรับซื้อที่ดินแห่งหนึ่งราคาตารางวาละ ๓๕ บาท ในเมื่อที่ใกล้ๆกันมีราคาตารางวาละ ๑๕ บาท”


นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ดาวดังจากเมืองอุบลฯอีกคน ลุกขึ้นมาเสริมนายเลียง โดยกล่าวหาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า
“อีกปัญหาหนึ่ง คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้ง ๓ ท่าน คงได้รับผลประโยชน์เป็นพิเศษส่วนตัวบ้างในกิจการคราวนี้ เพราะในเวลาที่พระคลังซื้อโรงเรียนการเรือนด้วยราคาตารางวาละ ๓๕ บาทนั้น พระคลังก็โอนขายที่ของตนโครมๆ”

นายทองอินทร์ยังอภิปรายพุ่งเป้าเข้าหาพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตรงๆ ว่า

“พฤติการณ์ที่ปรากฏในการได้รับพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้ ทำให้เข้าใจว่า คนเหล่านั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์อาทิตย์ฯ ยิ่งกว่าองค์พระมหากษัตริย์”
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 12 พ.ย. 18, 11:16

จากนั้นขุนวรสิทธิดรุณเวทย์ ส.ส.จากหนองคาย ก็อภิปรายตอกย้ำความผิดไปที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกว่า

“...มีปัญหาเดียวที่จะต้องขบกันคือ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องแล้วหรือ หน้าที่ของผู้สำเร็จราชการมีอยู่ ๒ ฐานะคือ
๑ บริหารตามรัฐธรรมนูญ
 ๒ เป็นตัวแทนจัดทรัพย์สินของผู้เยาว์
เมื่อมีข้อกล่าวหาพาดพิงไปถึง เจ้าคุณนายกฯแก้ตก ก็ทำหน้าที่ต่อไป ถ้าแก้ไม่ตก ไม่ควรไว้ใจให้ทำหน้าที่ต่อไป การที่พูดว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณส่วนพระองค์ เป็นการกล่าวแก้อย่างไม่มีเหตุผล คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทำไปอย่างไม่ควรไว้วางใจเป็นอย่างยิ่ง”

เมื่อสมาชิกสภาต่างอภิปรายพาดพิงไปถึงคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงเช่นนี้ พระยาพหลฯ จึงแอ่นอกเข้ารับ โดยกล่าวว่า

“ข้าพเจ้าคิดว่า สมาชิกทั้งหลายยังมีความเข้าใจผิดอยู่ ถึงหากข้าพเจ้าจะมอบความรับผิดชอบไปให้แต่ละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่รัฐบาลไม่มีความผิด แต่หากในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบสำนักพระราชวัง เมื่อเกิดความผิดขึ้นเช่นนี้ จึงขอให้ตั้งกรรมการมาสอบสวนข้าพเจ้า ไม่ใช่สอบสวนคนอื่น คณะผู้สำเร็จราชการมีอำนาจที่จะวินิจฉัย อันใดควรให้ อันใดจะกรุณาได้หรือไม่”

และก่อนที่จะปิดประชุม เลื่อนไปประชุมต่อในวันรุ่งขึ้น พระยาพหลฯได้กล่าวทิ้งท้ายอย่างใส่อารมณ์ว่า

“ไม่ใช่โอ้อวดหรอก ชีวิตยังให้ได้ สำมหาอะไรกับเท่านี้จะให้ไม่ได้ ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่โกรธ แต่ด้วยความจริงใจทีเดียว”
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 12 พ.ย. 18, 11:17

บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นพระยาพหลฯหงุดหงิดตลอดเวลาในการประชุม และทิ้งท้ายใส่อารมณ์อย่างที่ไม่เคยมาก่อน ก็พากันหนาวๆร้อนๆไปตามกัน คิดว่าพระยาพหลฯ ต้องยุบสภา ไม่ยอมให้สมาชิกปากกล้ามาด่าอีกเป็นวันที่สองแน่ แต่สปิริตความเป็นนักประชาธิปไตยของพระยาพหลฯมีอยู่สูง แม้ความเป็นนักการทหารจะทำให้ควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ในบางครั้งก็ตาม พระยาพหลฯก็เลือกใช้วิธีนำคณะรัฐมนตรีลาออกในวันรุ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ยื่นใบลาออกต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยประธานคณะผู้สำเร็จราชการฯให้เหตุผลว่า

“เนื่องจากได้มีการอภิปรายกันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อันเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินเมื่อวานนี้ มีท่านสมาชิกผู้แทนราษฎรบางท่าน ได้อภิปรายพาดพิงมาถึงประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือตัวข้าพเจ้า อันมีถ้อยคำรุนแรง เป็นเหตุให้ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่า เป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศและตำแหน่งหน้าที่ราชการ

ทั้งนี้ข้าพเจ้ามั่นใจในระบอบประชาธิปไตยโดยแท้ ยึดเสียงประชาชนคือสภาผู้แทนราษฎรเป็นใหญ่ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ที่กระทำการเป็นที่ข้องใจของประชาชนเช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้าขอลาออกจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 12 พ.ย. 18, 11:18

เพื่อความกระจ่างในเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต โดยนำที่ดินของตัวเองขายให้พระคลังข้างที่ในราคาแพงนั้น พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯได้มีบันทึกชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ทราบความจริงใจอย่างน่าเห็นใจว่า

ที่ดินแปลงนี้ (มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตในปัจจุบัน) เดิมเป็นของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งได้รับพระราชทานมาจากรัชกาลที่ ๕ ต่อมาได้ตกเป็นมรดกถึงพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ผู้เป็นโอรส แต่เดิมพระองค์ท่านเคยเก็บค่าเช่าได้เดือนละ ๕๐๐ บาท ต่อมากระทรวงธรรมการมาขอเช่าในอัตราเดือนละ ๔๐๐ บาทเพื่อตั้งเป็นโรงเรียนการเรือน ท่านเห็นแก่ประโยชน์การศึกษาก็ยอม เพราะขณะนั้นพระองค์ท่านรับราชการเป็นเลขานุการส่วนพระองค์ มีเงินเดือนพระราชทานพอใช้จ่ายอยู่แล้ว แต่ต่อมาสภาก็เลือกพระองค์ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมิได้สอบถามความสมัครใจก่อน ซึ่งพระองค์ท่านก็ไม่ปฏิเสธ

ครั้นดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จฯ ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มมากขึ้น เช่นช่วยเหลือในประโยชน์สาธารณะ การกุศลต่างๆดังที่ผู้แทนราษฎรทั้งหลายก็ทราบกันดี และยังมีผู้เดือดร้อนมาขอความช่วยเหลือทุกวัน ทั้งยังต้องใช้จ่ายในการรับรองข้าราชการและชาวต่างประเทศอยู่เสมอ เพื่อรักษาเกียรติ บำรุงฐานะให้สมกับหน้าที่ราชการ จนต้องเอามรดกออกขายใช้จ่ายไปจนหมดสิ้น เมื่อปีก่อนก็ได้ขายที่ดินปากคลองโอ่งอ่างไปแปลงหนึ่ง ที่ดินโรงเรียนการเรือนนี้เป็นมรดกผืนสุดท้าย แต่เป็นที่ดินพระราชทานซึ่งมีพระราชนิยมมาแต่ก่อนว่า จะโอนหรือขายให้ผู้ใดไม่ได้ จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตก่อน พระองค์จึงได้แจ้งไปตามระเบียบ ต่อมาพระคลังข้างที่เห็นสมควรรับซื้อไว้ จึงเสนอไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อขอพระบรมราชานุญาตต่อไป และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงมติให้รับซื้อไว้ พระองค์ท่านได้รับทราบก็ต่อเมื่อเรื่องได้เสร็จสิ้นแล้ว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 12 พ.ย. 18, 11:19

ในที่สุด เรื่องนี้ก็จบลงโดยผู้ซื้อไว้ต้องคืนที่ดินทั้งหมด และสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเลือกคณะผู้สำเร็จราชการชุดเดิมกลับเข้ารับตำแหน่งอีก เช่นเดียวกับที่ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ก็ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนให้กลับเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย แต่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ของนายกฯคนเก่า ไม่มีพระดุลยธารปรีชาไว คนที่ทำเรื่องมัวหมองไว้กลับมาร่วม ครม.อีก สภาเลยลงมติรับรอง ครม.ชุดใหม่เป็นเอกฉันท์

นี่ก็เป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบของฝ่ายค้าน เพื่อให้การบริหารราชการเป็นไปด้วยโปร่งใส บริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาแต่จะขัดขา โดยไม่คำนึงถึงปัญหาหนักหนาสาหัสที่ประเทศชาติกำลังเผชิญ

https://mgronline.com/onlinesection/detail/9590000061378
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 12 พ.ย. 18, 11:29

แต่เรื่องนี้จะจบแบบที่คุณโรม บุนนาคเขียนไว้หรือเปล่ายังเป็นที่สงสัย เพราะที่ดินของพระคลังข้างที่หลายแปลงแถวเพลินจิตซึ่งรู้ๆกันอยู่ว่าได้ตกทอดไปถึงบางคนในกลุ่มนี้อย่างน่าฉงน แต่ไม่ได้อยู่ในรายการที่นำมาแฉ ส่วนพวกที่ถูกแฉและรับว่าจะคืน พอเรื่องจางๆแล้วหลายคนก็ทำเป็นลืม สุดท้ายก็ไม่คืนด้วย

การอภิปรายของฝ่ายค้านจนเป็นเหตุให้ท่านต้องลาออกทั้งๆท่านไม่รู้ไม่เห็นด้วยนั้น คงยังเป็นหนามทิ่มใจท่านอยู่ ในหลังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ทายาทของท่านจึงนำเรื่องนี้มาลงไว้ด้วย


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 13 พ.ย. 18, 08:26

เพียง 3 วันที่ได้พระยาพหลฯ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง นายเลียง ไชยกาล ถูกคุมคามโดยถูกจับโยนน้ำเสียเลย

หลังการลาออก สภาก็ได้ไปขอให้พระยาพหลพยุหเสนากลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง โดยได้รับการแต่งตั้งในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2480

พอถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2480 ซึ่งมีการประชุมสภาตามปกติ  ขณะที่พักการประชุมในตอนบ่าย  จู่ ๆ ก็มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นประเภทที่มาจากการแต่งตั้ง 3 คน ได้แก่ นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัย นายเรือเอกกุหลาบ กาญนสกุล และนายวิเชียร สุวรรณทัต ได้ช่วยกันยกเก้าอี้ที่ตัวนายเลียง ไชยกาล ที่นั่งอยู่ออกไปจากสโมสรรัฐสภา โดยมีสมาชิกสภาประเภทที่ 2 คนอื่นถือถาดและส้อมช้อนเคาะเป็นจังหวะ เดินแห่กันเป็นกลุ่มไปทางหลังสโมสร  พอถึงสระน้ำหน้าพระที่นั่งอัมพรสถานก็โยนนายเลียงลงไปในสระ

ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้ง เห็นเขารุมกันจับยกตัวเพื่อนสมาชิกสภาออกไปก็พากันตามออกมาดู  นายถวิล อุดล นายเตียง ศิริขันธ์ และนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรที่มาจากภาคอิสานด้วยกันได้รีบลงไปเอาตัวนายเลียงขึ้นมาจากน้ำ แต่ก็ทำให้ชุดสากลสีขาวที่ผู้แทนราษฎรสมัยนั้นนิยมใส่สกปรกเลอะเทอะไปทั้งตัว

นายเลียง ไชยกาลได้เป็นผู้แทนราษฎรอีกทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง จนหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจในปี 2501 ก็เลิกเล่นการเมืองจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ 2 พฤษภาคม 2529

ส่วนผู้ที่ช่วยเหลือเขาในวันนั้น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ กับ นายถวิล อุดล เป็น 2 ใน 4 อดีตรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ ที่ถูกสันติบาลสมัยอธิบดีเผ่า เอาไปยิงทิ้งเสียที่หน้าวัดมหาธาตุ บางเขนในกลางดึกของคืนวันที่ 4 มีนาคม 2492 
ส่วนนายเตียง ศิริขันธ์ ถูกฆ่ารัดคอและเผาศพทิ้งที่กาญจนบุรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2495 ฝีมือหน่วยงานเดียวกัน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 19 คำสั่ง