เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 9
  พิมพ์  
อ่าน: 13726 13 หมูป่า : วีรกรรมถ้ำหลวง
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 14 ก.ค. 18, 21:44

https://www.thairath.co.th/content/1329965
ซีล สวมประคำข้อมือ 'ครูบาบุญชุ่ม' ผนึกกำลัง นำน้องๆ ทีมหมูป่ากลับบ้าน




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 15 ก.ค. 18, 09:51

จากFBของผมเช่นกัน

ชัดเจนว่าความสำเร็จนี้มาจากฝีมือของมนุษยผู้มากด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ มีความเข้าใจปัญหาที่แท้จริงในการวางแผน ตลอดจนการฝึกเพื่อป้องกันความผิดพลาดก่อนการปฏิบัติ

ก็ถูกอยู่หากท่านจะคิดว่าท่านไม่ใช่ฮีโร่ ที่ส่วนใหญ่จะใช้ความกล้าหาญและเสียสละเป็นตัวนำ แต่ที่ท่านทำ เพราะความมั่นใจว่าจะทำได้สำเร็จโดย(แทบจะ)ไม่มีความเสี่ยง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 15 ก.ค. 18, 09:59

หาเจอไหมครับ หน้าของเขาเล็กนิดเดียว เล็กกว่าเจ้าของเรือดำน้ำที่มาเอาวันสุดท้ายเสียอีก


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 15 ก.ค. 18, 10:53

อ่านเจอใน Facebook  ของคุณ Bhanu Inkawat  แต่ไม่ทราบว่าเจ้าของข้อเขียนนี้เป็นใคร  คุณภาณุไม่ได้บอกไว้ค่ะ


Bhanu Inkawat
14 ชม. ·
อ่านคอลัมน์ข้างล่างนี้ แล้วลองคิดในมุมของการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารข่าว หรือ Operation หรือการคิด Business Solution ใดๆก็ตาม

2 สิ่งที่ผมชอบมากๆจากคอลัมน์ที่ผมขอ FWD มาแชร์ให้อ่านกัน
- บทสรุปที่ว่า Idea คือสิ่งสำคัญที่สุดในการทำให้คนเข้าใจและชนะใจคน
- ความสำคัญของการทำงานแบบสากลที่คิด วางแผน มีกลยุทธ์ เป็นมืออาชีพ อย่างที่นักข่าวคนนี้ได้วิเคราะห์ไป

************************

ถ้ำหลวงกับสื่อมวลชน จากมุมมองของคนทำงานสื่อสารคนหนึ่ง

เด็กๆ สมัยนี้คงไม่รู้ว่า สมัยที่คนรุ่นพ่อแม่กำลังเติบโตมานั้น กว่าเราจะรับรู้ข่าวจากประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นในภูมิภาคเดียวกันหรืออีกซีกโลกหนึ่ง ก็ต้องรอจนค่ำวันรุ่งขึ้นหรือวันถัดๆ ไป ถึงจะได้รับชม ‘ข่าวต่างประเทศ’ ทางจอทีวี

โลกหมุนไปไวว่อง ในวันนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น ณ วินาทีนี้ ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน โลกรับรู้ได้ทันที

โลกแห่งสื่อสารมวลชนได้เปลี่ยนไป

ช่วงนี้กำลังเตรียมเอกสารเพื่อไปเล่าสู่กันฟัง (ไม่อยากใช้คำว่าสอนหนังสือ เพราะไม่ใช่ครูอาจารย์อะไรกับใครเขา) ให้กับกลุ่มคนที่ทำงานด้านสื่อสารด้วยกันในเรื่องการวางแผนกลยุทธ์ประชาสัมพันธ์ในสัปดาห์หน้า จึงอดไม่ได้ที่จะนึกถึงปฏิบัติการพาหมูป่ากลับบ้านซึ่งเพิ่งจะผ่านพ้นไป

ในแง่ของการ PR นั้น ได้เสนอความคิดเห็นไปแล้วว่าทีมไทยแลนด์ชนะทุกประตูสำหรับงานนี้ ใครเลยจะคิดว่าเราจะได้เห็นอีลอน มัสก์ทวีตว่าเมืองไทยนั้นสวยงามหลังจากแวะมาแบบคนน้อยคนนักรู้ล่วงหน้า หรือได้เห็นสถานีโทรทัศน์ช่องข่าวชั้นนำของโลกออกอากาศสดเป็นเวลาหลายสิบนาทีต่อวัน หรือนักฟุตบอลและทีมฟุตบอลระดับโลกเอ่ยถึงทีมหมูป่าขนาดที่เรียกว่าแย่งซีนฟุตบอลโลกที่กำลังแข่งขันกันในช่วงนี้เลยก็ว่าได้

อีกมุมหนึ่งที่มีการกล่าวขวัญกันตลอดระยะเวลาเกือบ 20 วัน ก็คือมุมของสื่อ

ถ้าเปรียบการทำงานของสื่อระหว่างปฏิบัติการถ้ำหลวงเป็นการแข่งขันฟุตบอล ก็เรียกได้ว่าสื่อทีมเหย้าได้ต้อนรับสื่อทีมเยือนที่ไม่ใช่ระดับธรรมดาๆ แต่เป็นสื่อระดับมหากาฬอย่าง CNN NBC NHK ABC ฯลฯ ที่มาเยือนแบบไม่ทันตั้งตัว

ช่วงแรกๆ เห็นได้ว่าเจ้าบ้านนั้นเป๋กันไปเป็นแถบๆ ด้วยความที่ยังทำงานในรูปแบบเถิดเทิงแบบไทยๆ ที่คุ้นชิน ตั้งแต่ไปวุ่นวายอยู่บริเวณหน้าถ้ำ พยายามไล่สัมภาษณ์คนโน้นนี้นั้น จนบางครั้งก็ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงเสนอข่าวร่างทรง เรื่องผี ฤาษี เรื่องข่าวลือต่างๆ นานาหรือการตั้งคำถามสัมภาษณ์พ่อแม่ของน้องๆ ด้วยคำถามเดิมๆ ที่ผู้ฟังฟังแล้วหงุดหงิด เช่น รู้สึกอย่างไรที่ลูกหายไปยังหาไม่พบ เรียกว่าสื่อไทยนั้นโดนผู้ชมข้างสนามโห่ฮาเอาเป็นระยะๆ แถมยังมีเพจต่างๆ ในเฟซบุ๊กมาช่วยโห่ฮาจุดกระแสเข้าไปใหญ่

ในขณะที่ทีมเยือนนั้นพกประสบการณ์มาอย่างเต็มที่ เทคโนโลยีเต็มร้อย การจับประเด็นในการเสนอข่าวแบบมืออาชีพ เทคนิคสนับสนุนแพรวพราว อินโฟกราฟฟิกชัดเจน เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม

แต่ในขณะเดียวกันสื่อทีมเยือนบางรายไม่ต้องใช้เทคโนโลยีใดๆ เข้าช่วย ก็สามารถอธิบายเรื่องราวต่างๆ ได้โดนใจผู้ชม สื่อทีมเยือนที่เล่นฟุตบอลอยู่ในบ้านตนเองก็สามารถแสดงให้เห็นความแคบของถ้ำ หรือความข้นและสกปรกของน้ำในถ้ำได้ด้วยกล่องพลาสติกเพียงกล่องเดียวเท่านั้น แค่นั้นผู้ชมข้างสนามก็เป่าปากปิ๊วป๊าวอย่างถูกใจแล้ว

ผ่านไประยะหนึ่ง ทีมเหย้าเริ่มหายตกใจและตั้งตัวได้ เริ่มมีการปรับปรุงปั๊ดตะนา มีอินโฟกราฟฟิคหลากลีลาในถ้ำนอกถ้ำมานำเสนอ แต่ทีมเยือนก็ยังได้เปรียบในแง่มุมของการนำเสนอด้วยความเจนสนามมากกว่า ในขณะที่ทีมเหย้ายังเฝ้าอยู่หน้าถ้ำย้ำประเด็นเดิมๆ ทีมเยือนอย่าง BBC ก็แหวกมุมไปนำเสนอเรื่องของจิตอาสา เช่น ผู้รับซักผ้า ทำอาหาร ทำความสะอาด ฯลฯ ออกมาได้น่าประทับใจ ส่วน ABC นอกจากจะมีนักข่าวหน้าตาดีขวัญใจสาวแก่แม่หม้ายเป็นตัวชูโรงแล้ว ยังนำมุมสวยๆ ธรรมชาติของเชียงรายที่ไม่ค่อยได้เคยเห็นกันมาก่อนมานำเสนอ หรือเอาเรื่องข้าวปลาอาหาร สิ่งแปลกๆ ในสายตาของเขาแต่เป็นสิ่งที่เราคุ้นชินไปนำเสนอในมุมที่น่ารักๆ เล่นเอาแม่ยกทั้งหลายคอยยกป้ายไฟเชียร์แบบไม่มีเมื่อย

แม้งานนี้ท่านผู้ว่าฯ จะจัดระเบียบสื่ออย่างเด็ดขาดแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในเหตุการณ์ใดๆ จนกลายเป็นที่ถูกใจของผู้ชมในสนามนอกสนามยิ่งนัก แต่สื่อทีมเหย้าก็ยังผู้เล่นบางคนที่มีพฤติกรรมแหกคอก ลอบฟังวิทยุของเจ้าหน้าที่บ้าง บินโดรนตามเฮลิคอปเตอร์บ้าง หรือพยายามเปิดเผยชื่อน้องๆ ที่ไปรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ระหว่างที่ปฎิบัติการยังไม่เรียบร้อย ให้โดนโห่ฮากันต่อ

จนจบปฏิบัติการ ในขณะที่สื่อทีมเยือนสรุปภาพสวยงาม สะท้อนชัยชนะของมนุษยชาติให้ผู้ชมข้างสนามได้ชื่นใจ ผู้ชมทั้งหลายก็ยังกังวลกับพฤติกรรมของสื่อทีมเหย้า การตั้งคำถามกับพ่อแม่คนใกล้ชิดระหว่างที่น้องๆ หมูป่ายังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล และการเข้าหาทีมหมูป่าเพื่อขอสัมภาษณ์หลังออกจากโรงพยาบาล หรือพาไปออกรายการทีวีเรียกเรตติ้ง เป็นต้น

โลกเปลี่ยนไปมาก

จากยุคที่สื่อมวลชนซึ่งเป็นผู้เดียวที่เข้าถึงข้อมูลที่ตนจะเสนอต่อประชาชนผู้มีหน้าที่รับสื่ออย่างเดียว สู่ยุคที่ใครๆ เป็นสื่อได้ในปัจจุบัน หลายครั้งหลายวาระที่สื่อกระแสหลักนำข่าวที่เป็นประเด็นในโลกโซเชียลไปเสนอกันง่ายๆ เสียด้วย สื่อโซเชียลหลายแหล่งหลายเพจนั้นไปๆ มาๆ มีผู้ชอบผู้ชมมากกว่าสื่อกระแสหลักเสียอีก

ในห้วงเวลาที่ผ่านมานั้น ทวิตเตอร์เอ็มไทยร้อนแรงมาก มีคนติดตามกันอย่างมหาศาล พลิกประวัติศาสตร์โซเชียล มีเดียที่คนเชื่อถือมากกว่าสื่อกระแสหลัก หลายคนเพิ่งสมัครทวิตเตอร์เป็นครั้งแรกเพื่อติดตามเอ็มไทยอย่างเดียวเท่านั้น เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า หากสื่อเสนอข่าวอย่างมีคุณภาพ น่าเชื่อถือ ผู้ติดตามก็จะมาเอง

ในวันนี้ สื่อทั้งกระแสหลักและสื่อโซเชียลถูกจับตามองเขม็ง เพราะข้อมูลกลายเป็นของหาง่าย ใครๆ ก็เสนอได้ ดังนั้นความคาดหวังต่อสื่อมวลชนมืออาชีพจึงยิ่งมีมากขึ้น ในการที่จะนำเสนอข้อมูลนั้นๆ อย่างมืออาชีพ

เรียกได้ว่า ปฏิบัติการหมูป่านี้ ทำเอาสื่อมวลชนมืออาชีพทีมเหย้าของเราเป๋ไปไม่น้อย

แต่ก็ต้องยอมรับกันว่าเราขาดสื่อมวลชนไม่ได้ โดยเฉพาะสื่อกระแสหลัก แม้จะมีสื่อโซเชียลเข้ามาร่วมสนามด้วย เมื่อเย็นเพิ่งได้อ่านว่ามีข้อมูลจากนีลเซ็นว่าข่าว 13 หมูป่าติดถ้ำนั้นได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล โดยตลอดเวลา 17 วัน ตั้งแต่ 24 มิย.-10 กค. เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของเดือนก่อนหน้า ภาพรวมคนดูโทรทัศน์ในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 18% หรือมีคนดูเพิ่มขึ้น 1.13 ล้านคน

ในฐานะคนทำงานด้านการสื่อสาร คนที่ทำงานกับสื่อ ก็ยังอยากเห็นสื่อทีมเหย้า ใช้โอกาส 17 วันหน้าถ้ำนี้เป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้ วิธีการนำเสนอ วิธีการเลือกประเด็น วิธีการผลิตข่าว วิธีตั้งคำถาม ฯลฯ ของสื่อทีมเยือน เพื่อปรับปรุงการทำงานให้ดียิ่งขึ้น มีคุณภาพยิ่งขึ้น

เทคโนโลยีหรืออุปกรณ์แพงๆ อาจไม่จำเป็นเสมอไป ถ้ามีไอเดีย

มั่นใจว่ากล่องพลาสติกใบเดียวของรายการข่าวของญี่ปุ่นช่องนั้น จะเป็นที่ติดตราตรึงใจสื่อทีมเหย้าและผู้ชมทั้งในและนอกสนามไปอีกนาน

เป็นกำลังใจให้สื่อน้ำดี เรารู้ว่ายังมีพวกคุณอยู่อีกไม่น้อย และคุณเจ็บปวดทุกครั้งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์แบบเหมารวม

น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าฉันใด ประชาชนผู้อยากเสพข่าวก็ยังต้องพึ่งสื่อฉันนั้น ขอเพียงอย่างเดียว อย่าจับประชาชนเป็นตัวประกัน อย่าอ้างว่าเพราะประชาชนต้องการเสพข่าว สื่อจึงต้องข้ามเส้นต่างๆ เพื่อนำข่าวมาเสนอ

ปฎิบัติการถ้ำหลวงนี้ นอกจากจะเป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้แล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะได้สะท้อนบทบาทของตัวเอง พินิจพิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน หาช่องว่างสำหรับการพัฒนา เพื่อความกล้าแกร่งเช่นเดียวกับสื่อทีมเยือนในอนาคต

เราคนไทยด้วยกัน ถ้าไม่สนับสนุนกัน แล้วจะไปสนับสนุนใคร
บันทึกการเข้า
ninpaat
ชมพูพาน
***
ตอบ: 167


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 15 ก.ค. 18, 11:07

เครดิต : Twitter ของคุณ #Thinker และ retweeted โดยคุณ stephffart

เป็นเรื่องของคุณ John Vollanten สั้นๆ ครับ



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 15 ก.ค. 18, 11:16

    ถ้าวีรกรรมของนักดำน้ำทั้งเทศและไทยคือลำต้นไม้ใหญ่  ก็มีวีรกรรมเล็กๆของคนเล็กๆเป็นกิ่งใบที่ช่วยประกอบให้ไม้ใหญ่ต้นนี้ยืนหยัดอย่างสง่างาม จนหมดภารกิจ

   (5 ก.ค. 61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการปฏิบัติหน้าที่ของทีมค้นหา 13 ชีวิต ติดถ้ำหลวง ที่ต้องทำงานตลอดกว่าสัปดาห์ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีแต่ดิน โคลน และฝน ส่งผลให้เสื้อผ้าต้องเปียกตลอดทั้งวัน จึงได้มีอาสาสมัครชาวเชียงราย ประกาศรับซักผ้าให้เจ้าหน้าที่ฟรี ทราบชื่อคือ น.ส.รวินท์มาศ ลือเลิศ อายุ 38 ปี เจ้าของร้านซักอบรีด มิสไวท์ ตั้งอยู่เลขที่ 368 ม.2 ต.จันจว้าใต้ (จัน-จั้ว ใต้ ) อ.แม่จัน จ.เชียงราย หนึ่งในอาสาสมัคร ที่ประกาศรับบริการซักผ้าฟรีให้แก่ชุดปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือ 13 ชีวิต ทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวง หรือแม้กระทั่งผู้สื่อข่าวที่อยู่ในพื้นที่ ผ่านการประกาศทางเฟซบุ๊ก ซึ่งทางร้านได้บริการไปรับและส่งถึงหน้าถ้ำหลวง

น.ส.รวินท์มาศ เผยว่า เมื่อมีคนติดต่อมาให้เธอซักผ้าครั้งแรก เมื่อกลางดึกของวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา จำนวน 8 ชุด และเมื่อเห็นเสื้อผ้าที่เธอนำไปส่งสะอาดเรียบร้อย จนถึงขณะนี้จึงมีชุดปฏิบัติการในถ้ำหลวงต่างนำชุดให้เธอซักวันละ 50-60 ชุด และหลังพบตัวน้องๆ ทีมหมูป่า ทั้ง 13 คน ก็ยังคงมีเสื้อผ้าให้เธอซักวันละ 80–100 ชุด โดยตอนนี้เธอต้องขยายเวลาปิดร้านจากเวลา 21.00 น. ไปจนถึงเช้าของทุกวัน จึงมีการซักผ้าตลอด 24 ชั่วโมง

ซึ่งมีการแบ่งพนักงานทำงานในร้านเป็นสองกะ เพราะต้องรีบซักและอบให้แห้งก่อนจะนำผ้าไปส่งตั้งแต่ตี 4 ของทุกวัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีเสื้อผ้าสะอาดสวมใส่ขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งหลังรับเสื้อผ้า พนักงานจะตรวจสอบและแยกซักทีละชุด ป้องกันเสื้อผ้าของแต่ละคนสลับกัน ซึ่งซักด้วยผงซักฟอก และน้ำยาซักผ้าแบบละลายโคลน 3-4 ครั้ง ก่อนจะล้างจนสะอาด และใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม อบและฉีดน้ำหอมอย่างดี ก่อนจะนำส่งเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ น.ส.รวินท์มาศ ยังเล่าอีกว่า เธอดีใจที่ได้เป็นหนึ่งในส่วนร่วมในการช่วยเหลือน้องๆ ทั้ง 13 คน ซึ่งก่อนหน้านี้เธอและเพื่อนๆ เคยทำอาหารข้าวเหนียวหมูทอดบ้าง แต่ก็ต้องไปจ้างคนอื่นทำ เธอเห็นว่าเป็นงานที่ไม่ถนัด จึงประกาศรับซักผ้าฟรี สำหรับผ้าที่เธอรับซัก หากรับจ้างเธอจะคิดตัวละ 10-20 บาท เฉลี่ยทั้งเครื่องคิดค่าบริการ 50 บาท แต่การที่มารับซักผ้าฟรี ทำให้ต้องสูญเสียรายได้วันละ 4,000-5,000 บาท โดยเธอยังเผยอีกว่า เธอจะบริการรับซักจนทุกคนจะเสร็จสิ้นภารกิจในถ้ำหลวง หลังจากการนำน้องออกจากถ้ำ และเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความสะอาด และเก็บเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ จนเรียบร้อย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 15 ก.ค. 18, 11:21

สาวเชียงรายจิตอาสาร่วมซักผ้าฟรีในภารกิจถ้ำหลวง สุดตื่นเต้น ทหารสหรัฐฯ เรียกไปพบเพื่อแสดงความขอบคุณพร้อมมอบของที่ระลึก ก่อนกลับฐานทัพ USPACOM ที่ญี่ปุ่น

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. เฟซบุ๊ก “Aunyarat Wonghu” ซึ่งเป็นหนึ่งในจิตอาสาที่ไปช่วยซักอบรีดเสื้อผ้าร่วมกับ เปรม-น.ส.รวินธ์มาศ ลือเลิศ​ เจ้าของร้านซักผ้า “มิสไวท์คลีน” ใน อ.แม่จัน จ.เชียงราย ได้โพสต์ภาพหมู่ร่วมกับนาวิกโยธินชาวสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิก (USPACOM) ที่มาช่วยเหลือในการค้นหา น้องๆ ทีมหมูป่าทั้ง 13 คน ณ ถ้ำหลวง อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่โรงแรมเลอ เมอริเดียน เชียงราย รีสอร์ต อ.เมืองฯ จ.เชียงราย ก่อนเดินทางกลับด้วยเครื่องบินพิเศษกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ไปยังฐานทัพบนเกาะโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่น พร้อมข้อความระบุว่า

“ได้รับโทรศัพท์ตั้งแต่เมื่อคืน คือ ดีใจมาก ที่ทีมทหารสหรัฐฯ ขอนัดเจอพวกเราตอนเช้าของวันนี้ค่ะ เพื่อจะขอบคุณ พวกเรา ที่ซักผ้าให้ตั้งแต่ต้นจนจบภารกิจ ไม่รู้จะอธิบายรูปภาพว่าอะไร มันคือความภาคภูมิใจครั้งหนึ่ง ในชีวิตที่ฉันได้ของขวัญตอบแทนจากพวกคุณ ฉันจะจดจำตลอดไป พวกเราขอขอบคุณมากกว่าที่ทีมทหารสหรัฐฯ ได้เข้ามาช่วยน้องน้องทีมหมูป่าทำให้คนไทยทั้งประเทศ ที่เฝ้าติดตามข่าวรู้สึกดีใจและขอบคุณทีมงานของพวกท่านที่มาช่วยเราขอบคุณจริงๆ ค่ะ”

เจ้าของเฟซบุ๊กยังกล่าวอีกว่า ขอบคุณพี่เปรม (เจ้าของร้าน) เช่นกัน เพราะเราคือทีม จะเหนื่อแค่ไหนเมื่อเราทำด้วยใจแล้วก็ต้องทำให้สำเสร็จภารกิจ ขอบคุณมิตรภาพดีดีที่เพิ่มเข้ามาใหม่อย่างมากมาย ที่ชื่นชมกัน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 15 ก.ค. 18, 11:25

เมื่อวันที่ (9 ก.ค.) มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก “พอ วัชรดล” ได้โพสต์รูปภาพและเรื่องราวของร้าน มิสไวน์ คลีน ซัก อบ รีด อ.แม่จัน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นทีมที่ดูแลทางด้านรับซักผ้าฟรี ให้กับเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ “ทีมหมูป่า” โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ภายหลังเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบใบประกาศนียบัตรให้กับทางเจ้าของร้าน น.ส.รวินท์มาศ ลือเลิศ ที่ได้เข้ามาดูแลตลอดระยะเวลาการทำงานให้เจ้าหน้าที่ทุกนายทำงานจนจบภารกิจ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 15 ก.ค. 18, 12:41

เรื่องของวิทย์และไสยในปฏิบัติการกู้ภัยระดับโลก !!!

ท่ามกลางภาพฝนที่ตกกระหน่ำ น้ำโคลน และความมืดมิด หน่วยกู้ภัยของไทยและอาสาสมัครผู้มุ่งมั่นจากทั่วโลกทำงานตลอดยี่สิบสี่ชัวโมงเพื่ออาชนะสิ่งที่ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร แห่งวัดพระธาตุดอนเรือง เมืองพง รัฐฉาน ประเทศพม่า ได้มาทำพิธีเปิดทางเพื่อช่วยเหลือเด็กๆ และโค้ช 13 ชีวิต ที่ติดอยู่หน้าถ้ำหลวง

ปฏิบัติการช่วยเด็กติดถ้ำ วิทย์กับไสย…ไปด้วยกันได้

การหายตัวไปของทั้ง ๑๓ คนในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ได้ถูกผูกโยงเข้ากับความเชื่อว่าด้วยเรื่องศาสนา-ภูตผี-เจ้าที่เจ้าทาง-การขอขมาในทันทีที่ข่าวการหายตัวไปถูกยืนยันและเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนโดยไม่ต้องผ่านการค้นคว้าหรือพิสูจน์ตรรกะเหตุผลใดทั้งสิ้น

ในทางวิทยาศาสตร์ ได้มีการระดมกำลังผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายแขนงทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจม (หน่วยซีล) ทีมนักดำน้ำจากประเทศอังกฤษ (และนานาประเทศ-เพ็ญชมพู) ทีมช่วยเหลือทางด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาล นักภูมิศาสตร์ การอำนวยความสะดวกด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ รวมทั้งยังมีการใช้เทคโนโลยีอย่างหุ่นยนต์ดำน้ำและเครื่องโดรนตรวจจับความร้อน ฯลฯ

ส่วนฝั่งความเชื่อต่อเรื่องเหนือธรรมชาติหรือไสยศาสตร์ได้เริ่มขึ้นหลังมีการยืนยันว่าทีมหมูป่าอะคาเดมีและโค้ชหายตัวไป ซึ่งจะไล่เรียงโดยแบ่งไสยออกเป็น ๒ สาย คือ ไสยในแง่ความเชื่อเรื่องภูตผี และไสยในแง่ของพิธีกรรมทางศาสนาพุทธ

๑. ไสยในแง่ความเชื่อเรื่องภูตผี

-พิธีขอขมาเจ้าแม่นางนอน : สิ่งที่บรรดาผู้ปกครองของเด็ก ๆ ทีมหมูป่าเลือกกระทำเป็นลำดับแรก คือ การประกอบพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และขอขมาเจ้าแม่นางนอน มีการบนบานว่า หากเด็กทั้งหมดออกมาได้อย่างปลอดภัยจะให้บวช ๙ วัน

-พิธีฮ้องขวัญ : พิธีฮ้องขวัญเป็นความเชื่อตามประเพณีดั้งเดิมของคนพื้นถิ่นทางภาคเหนือ โดยมีความเชื่อว่า ปกติแล้วขวัญประจำตัวของคนเรามีทั้งหมด ๓๒ ขวัญ เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงแก่ชีวิตจะทำให้ขวัญกระเจิดกระเจิง จึงต้องทำพิธีฮ้องขวัญเพื่อเรียกขวัญที่หายไปกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์

-ร่างทรง : เป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะการมาของร่างทรงทำให้ผู้ปกครองต่างรู้สึก “ใจเสีย” กับคำพูดที่ร่างทรงบอกว่า เด็กที่ติดอยู่ในถ้ำได้สื่อสารผ่านตัวเธอว่า “หนูหิว หนูกลัว”

๒. ไสยในแง่ความเชื่อทางศาสนา

-ครูบาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา-ช่วยเปิดปากถ้ำ-สื่อสารกับเจ้าที่เจ้าทาง : ไสยในแง่นี้ได้รับความสนใจจากทั้งคนในพื้นที่และประชาชนทั่วประเทศที่ติดตามข่าวนี้ ในเวลา ๙ วันที่เด็กติดอยู่ในถ้ำมีพระเกจิอาจารย์เดินทางไปประกอบพิธีทางศาสนาช่วยเปิดปากถ้ำ ๓ รูป ได้แก่ ครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร ครูบาน้อย เตชปญโญและครูบาแสงหล้า ซึ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือครูบาบุญชุ่ม พระเกจิที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากประชาชนเป็นจำนวนมาก เนื่องจากครองตนในผ้าเหลืองมาเป็นเวลานาน และเป็นที่เลื่องลืออย่างมากในหมู่ศิษยานุศิษย์เมื่อครั้งเข้าไปนั่งวิปัสสนากรรมฐานในถ้ำตามลำพังเป็นระยะเวลา ๓ ปี ๓ เดือน ๓ วัน

ร.ศ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับข้อถกเถียงต่อปรากฏการณ์นี้ว่า วิกฤตเรื่องถ้ำสะท้อนให้เห็นว่าคนในสังคมไทยจำนวนไม่น้อยมองสิ่งที่มิใช่มนุษย์ (non-human) ในฐานะที่เป็นวัตถุที่มีชีวิต มองถ้ำเป็นเสมือนบุคคลที่มีชีวิต มีอารมณ์ และมีอำนาจ ดังนั้นเราจึงเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการพยายามหาทางช่วยชีวิตเด็กและโค้ชที่ติดอยู่ในถ้ำ คือการพยายามที่จะ “สื่อสาร” กับ “สิ่งที่มีชีวิต” ให้ “ปล่อย” เด็กและโค้ชออกมา เราจะเห็นได้ว่าบทกวี บทเพลง ถูกประพันธ์ออกมา พิธีกรรมที่ถูกประกอบขึ้นไม่ว่าจะโดยพุทธหรือโดยผี ต่างก็ต้องการสื่อสารกับเจ้าแม่นางนอนราวกับว่าเจ้าแม่ตนนี้คือตัวถ้ำหลวง ทั้งในแง่ที่เป็นอุปลักษณ์และในแง่พิธีกรรม

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ คือ ความเชื่อที่ว่าวัตถุทางกายภาพนั้นเป็นบุคคล เป็นสิ่งที่มีมานานในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และยังคงดำรงอยู่แม้ในสังคมที่รุ่งเรืองทางวิทยาศาสตร์ ความเชื่อดังกล่าวไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกับความเชื่อทางวิทยาศาสตร์เสมอไป เราจะพบการ syncretize และ hybridize (การผสมผสานความเชื่อที่มีมากกว่าหนึ่งความเชื่อเข้าด้วยกัน) ความเชื่อหลากหลายกระแสในสังคมอยู่ตลอดเวลา

เป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจของการพยายาม accommodate โลกแห่งความจริงหลายประเภท สะท้อนให้เห็นความยืดหยุ่นในวิธีคิดของคนไทยอยู่ไม่น้อย ไม่มีใครอุตริเห็นว่า เพียงนั่งสมาธิหรือประกอบพิธีกรรมสื่อสารกับเจ้าแม่นางนอนเฉย ๆ เด็ก ๆ ก็จะเดินออกจากถ้ำมาเอง

ในทางตรงกันข้ามเราจะเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหน้าถ้ำคือ ความพยายามเปิดโอกาสให้ศาสตร์และความเชื่อประเภทต่าง ๆ ได้ทำงานร่วมกันในโลกที่ตนเองเชื่อและในความถนัดที่ตนเองมี ครูบาอาจจะประกอบพิธีกรรม แต่ครูบาก็เชื่อมั่นในความสามารถของเจ้าหน้าที่ สร้างขวัญและกำลังใจให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นฝ่าฟันอุปสรรคในทางกายภาพไปจนกระทั่งพบเด็ก ๆ ได้ ทุกคนทำหน้าที่ตามความเชื่อและความเชี่ยวชาญของตนด้วยภูมิปัญญาและความสามารถทางกายภาพของผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นได้ทำให้ค้นพบเด็ก ๆ ในที่สุด

“สังคมที่เปิดกว้างและให้เสรีภาพต่อการแสดงออกทางความเชื่อ วิพากษ์วิจารณ์บนพื้นฐานของการเคารพในความต่าง ไม่เหยียด และไม่เบียดขับโลกที่ด้อยอำนาจ ควรเป็นเป้าหมายสำคัญของสังคมไทย ซึ่งจริง ๆ ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นหน้าถ้ำ ซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับโลกออนไลน์ในปัจจุบัน” ร.ศ.ปิ่นแก้วกล่าวปิดท้ายไว้อย่างน่าฉุกคิด

https://www.prachachat.net/d-life/news-187416

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 15 ก.ค. 18, 16:25

ขอพูดเรื่องนี้ก่อนคร้าบ



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 15 ก.ค. 18, 16:48

ขอเสริมอีกนิดค่ะ

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 15 ก.ค. 18, 17:24

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดทำคลิปสั้นความยาว ๓๐ วินาที ชื่อ "The World Is One" เพื่อขอบคุณประชาคมโลกที่มาร่วมช่วยเหลือเยาวชนทีมหมูป่าและผู้ฝึกสอนรวม ๑๓ คน ที่ถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย  คลิปจบลงด้วยด้วยรอยยิ้มและการไหว้ขอบคุณของคุณแม่เมื่อทราบว่าลูกอายุ ๑๑ ปีที่ติดอยู่ข้างในถ้ำปลอดภัยแล้ว ออกอากาศไปทั่วโลกโดยเริ่มจากสถานีโทรทัศน์ CNN ตั้งแต่วันนี้ (๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๑) เป็นต้นไป
 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 16 ก.ค. 18, 06:25

รายละเอียดระหว่างการปฏิบัติงานที่นักดำน้ำอังกฤษเปิดเผย ในเฟซบุคของ Sherry Sheradia ครับ
ถึงแม้จะไม่มีใครเปิดเผยว่าทำไมออกซิเจนในถังของจ่าแซมจึงหมดในขณะที่คนอื่นยังไม่หมด หากอ่านเรื่องนี้แล้วก็คงพอจะเข้าใจได้ว่าการสละชีวิตของวีรบุรุษผู้นี้เกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด

นักดำน้ำถ้ำสองคน ที่เป็นคนที่หอบหิ้วเด็กออกมาคือ คริสโตเฟอร์ จีเวลล์ และ เจสัน มัลลินสัน มีไปให้สัมภาษณ์กับ Daily Mail (https://goo.gl/AA3cty) สองคนนี้เป็นนักดำน้ำถ้ำชุดหลัง ที่สภากู้ภัยถ้ำแห่งบริติช ส่งมาช่วย จอห์น โวลันเธน กับ ริค แสตนตัน

หลังจากมาถึง แล้วได้ดำสำรวจเพื่อสร้างความคุ้นเคยกับจุดต่าง ๆ ภายในอุโมงค์น้ำของถ้ำหลวง ก็ได้รับมอบหมายภารกิจดำไปเป็นคู่ ขนข้าวของไปที่จุดที่เด็กอยู่ มีทั้งสมุดบันทึก ที่ไปให้เด็กเขียนจดหมายถึงครอบครัว และต้องไปวัดปริมาณออกซิเจนในอากาศ และปริมาณออกซิเจนในเลือดเด็ก มัลลินสันบอกว่า สภาพอากาศในจุดที่เด็กอยู่น้อยมาก ชนิดที่ขึ้นมาจากน้ำแล้วไปยังเนินดิน ยังรู้สึกหอบ เหมือนอยู่ในที่สูง

การสัมภาษณ์ของสองคนนี้ เป็นการยืนยันแบบที่ โวลันเธน ได้ให้สัมภาษณ์กับทาง BBC Points West ไปก่อนหน้า (https://goo.gl/y33UzE) คือ มีการฝึกซ้อมกับเด็กในท้องถิ่นที่สระว่ายน้ำ มีการระดมพลมาเสริมจากทาง BCRC องค์กรกู้ภัยถ้ำองค์กรอื่นในยุโรป และทีมคุณหมอจากออสเตรเลีย (https://goo.gl/xZQF51)

การอพยพ ใช้นักดำน้ำหลัก 4 คน คือ จอห์น โวลันเธน, ริค แสตนตัน, คริสโตเฟอร์ จีเวลล์ และ เจสัน มัลลินสัน หิ้วเด็กออกมา ในลักษณะ หนึ่งต่อหนึ่ง ด้านหลังเด็กมีหูหิ้ว (แบบบที่โวแลนเธน เปรียบเทียบก่อนหน้า เหมือนหิัวถุงช็อปปิ้งออกมา) บางจุดก็หิ้วด้านล่างแบบในรูป แต่จุดที่เตี้ย ก็ต้องมาสลับเอามากอดไว้ด้านข่าง หรือบางจุดคือต้องผล้กเอาเฉพาะตัวเด็กให้รอดไปก่อน ส่วนมืออีกข้างหนึ่ง ก็ต้องอาศัยคลำเชือกนำทางไปเรื่อย แล้วยังต้องระวังพวกโขดหิน ที่อาจจะกระแทรกโดนเด็กด้วย ทั้งหมดนี้ ทำงานภายใต้สภาวะที่ทัศนวิสัยที่แย่มาก มองอะไรแทบไม่เห็น แบบที่บางคนเรียกว่า zero visibility (ทัศนวิสัยเป็นศูนย์) กันทีเดียว ขนาดหน้ากากเด็ก ขณะดำ บางทีก็ไม่เห็น แต่ก็ต้องกังวลเรื่องการหายใจของเด็กยังต้องคงเป็นปกติอยู่ตลอดเวลา เลยใช้วิธีทำความคุ้นเคยกับลักษณะการหายใจของเด็ก แล้วอาศัยฟังเสียงจากฟองอากาศที่ออกมาจากท่อด้านข้างหน้ากาก เด็กบางคนก็ออกมาแบบสม่ำเสมอ บางคนออกมา แล้วเว้นช่วงไปนาน สองคนนี้ ลงทุนไม่ใส่ถุงมือ เพราะกลัวว่าจะสูญเสียประสาทสัมผัสเวลาคลำทาง แล้วทำให้เด็กไปชนกับหินได้ ดังนั้นสภาพหลังทำงานเสร็จ คือมือพังเยิน

ระหว่างแต่ละอุโมงค์น้ำ จะมีเนินดิน ที่เป็นจุดที่นักดำน้ำสนับสนุน จะช่่วยกันเรื่อถอดเปลี่ยนใส่ถังอากาศให้เด็ก และตรวจสภาพของเด็ก ก่อนที่จะดำต่อในอุโมงน้ำถัดไป

จีเวลล์ เล่าว่า ในวันที่สามของการอพยพเด็กออก เขาได้รับมอบหมายให้หอบหิ้วเด็กคนที่ลำดับเกือบสุดท้ายออกมา ระหว่างที่ออกจากโถง 4 มายังโถง 3 ดันพลาด ทำเชือกนำทางที่คลำอยู่หลุดมือ พยายามหาเท่าไร ก็ไม่เห็น เลย สุดท้ายนึกได้ว่า พื้นใต้ล่างจะมีสายไฟอยู่ เลยต้องอาศัยคลำสายไฟแทน ปรากฏว่า สุดท้าย แทนที่จะไปข้างหน้า ยังโถง 3 ดันดำวนกลับมาที่โถง 4 แล้วเห็น มัลลินสันที่รับผิดชอบ นำคนสุดท้ายออกมา กำลังจะออกดำต่อ เลยให้มัลลิสันกับเด็กที่ทีแรกว่าเป็นคนสุดท้าย ดำไปก่อน(มัลลินสัน ที่ต้องดำซ้ำสองครั้งในอุโมงน้ำแรก เพราะวันสุดท้ายแผนการอพยพ เปลี่ยนเป็น 5 คน ต่างจากสองวันก่อนหน้าที่ เป็น 4 คน ที่ โวเลนเธน สแตนตัน จีเวลล์ และมัลลิสัน จะแค่คนละรอบ ประกบเด็กแต่ละคน วันสุดท้ายเขาเลยอยู่ตำแหน่งที่ไปรับเด็กคนแรก แล้วส่งต่อให้นักดำน้ำคนอื่นที่มาช่วยเสริม แล้วจึงไปรับคิวเด็กคนสุดท้าย)

จีเวลล์กับเด็กที่เขาดูแล อยู่ที่โถง 4 เพื่อรอหมอแฮร์ริส ที่ดำตามมาท้ายสุดมาถึง แล้วส่งเด็กต่อให้หมอแฮร์ริสนำพาต่อไปข้างหน้า และจีเวลล์มาตามหลัง

เรื่องเล่าตื่นเต้นแบบนี้ เป็นวัตถุดิบมาก เหมาะนำไปสร้างหนังจริง ๆ lol

สองคนนี้ มีแอบบ่น ทีมไทย ไม่มีความรู้เรื่องการดำน้ำในถ้าเลย ตั้งแต่ขั้นตอนการปฏิบัติงาน ยันอุปกรณ์ที่ใช้ พวกเขาตกใจมากว่า ขนาดนักดำน้ำถ้้ำที่มีประสบการณ์สูง ทุกครั้งที่ทำงาน จะเตรียมตัวทุกอย่างแบบเผื่อหมด ถังอากาศไม่ต่ำกว่า 2 เรกูเลเตอร์ 2 ไฟส่องทาง 3 แต่เจอนักดำน้ำไทย ลงไปดำโดยมีถ้งอากาศแค่อันเดียว ไม่มีการคิดเผื่อว่ามีอะไรฉุกเฉินเกิดขึ้นใต้น้ำเลย แม้แต่หน่วยซีลไทยที่ไปอยู่กับเด็ก สุดท้ายไม่ได้มีการเตรียมตัวถังอากาศที่จะดำออกมาพอเพียง จนสุดท้าย ทั้ง 4 คน โวลันเธน แสตนตัน จีเวลล์ และมัลลิสัน ที่ปฏิบัติการขนเด็กออกมากันหมดแล้ว ต้องดำกันกลับเข้าไปอีกรอบ เพื่อขนถังอากาศและไฟเข้าไป เพื่อให้หน่วยซีลที่เหลือดำออกมาได้

ถ้าวิเคราะห์ตามความเป็นจริง ที่เขาบ่นเนี่ย มันก็ไม่แปลก ลักษณะการทำงานของประเทศเรา safety first แทบไม่เคยมาเป็นประเด็นแรก ดังนั้นไม่ควรไปนอยด์ จริง ๆ เราก็พอมี excuse อย่างว่า ไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องดำน้ำในถ้ำหรือกู้ภัยคนติดถ้้ำมาก่อน แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ผ่่านไป ก็ควรศึกษาหาความรู้ แล้วปรับมาตราฐานการกู้ภัยของเรา ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของคนเข้าไปกู้ภัยเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ใช่แค่ว่า อยากช่วย อยากอาสา เจตนาดีอย่างเดียว มันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร สุดท้าย มันต้องอาศัยการวางแผนการทำงานอย่างมีระบบ และใช้คนที่มีประสบการณ์และรู้งานจริง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 16 ก.ค. 18, 06:27

และผมเห็นด้วยกับ Sherry Sheradia ผู้เขียน  ว่าความสำเร็จที่เกิดไม่ใช่เรื่องของปาฏิหารย์ แต่เป็นฝีมือล้วนๆ


เครก แชลเลน สัตว์แพทย์จากเมืองเพิร์ธ ที่เป็นคู่บัดดี้ดำน้ำถ้ำของคุณหมอแฮร์ริส และอยู่ในกลุ่มนักดำน้ำถ้ำ Wet Mules (ดังที่เคยเล่ารายละเอียดใน https://goo.gl/nJfFE2) ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ประจำเมืองเพิร์ธ Sunday Times เกี่ยวกับภาระกิจการนำเด็กออกจากถ้ำหลวงฯ

คุณหมอแชลเลนและแฮร์ริส มาถึงที่ถ้ำหลวงฯ จริง ๆ คือวันพฤหัสบดีที่ 5 ก. ค. (สื่อหลายที่ทีแรกรายงานเป็นวันเสาร์ที่ 7 ก. ค. ซึ่งอันนี้น่าจะเป็นวันที่ดำเข้าไปในถ้ำเตรียมการ) แล้วก็เข้าไปพูดคุยกับทีมบริติช เรื่องแผนการนำเด็กออกจากถ้ำ ทีมบริติชมีวางแผนกันคร่าว ๆ แล้ว แต่คุณหมอทั้งสองแค่ไปช่วยออกความเห็นในพวกเครื่องมือ อุปกรณ์ แล้วก็ได้ผลสรุปในรายละเอียดของปฏิบัตการในครั้งนี้ แชลเลนให้เครดิตแผนการนำเด็กออกจากถ้ำในครั้งนี้ เป็นของทีมบริติช (They really deserve the credit for the extraction plan)

ส่วนเรื่องการปฏิบัติ ไม่ต่างกับที่โวลันเธนให้สัมภาษณ์กับทาง BBC Points West (https://goo.gl/QqPYkZ) คือเด็กแต่ละคน ถูกหอบหิ้วออกมาโดยนักดำน้ำของสภากู้ภัยถ้ำแห่งบริติช BCRC (John Volanthen, Rick Stanton, Jason Mallinson และ Chris Jewell) แบบหนึ่งต่อหนึ่ง เด็กสวมหน้ากากแบบ full- face mask ถังอากาศติดด้านหน้า มีสายยึดติดกับนักดำน้ำถ้าที่หอบหิ้วออกมา เด็กมีการให้ยา เพื่อมิให้มีการตื่นกลัว ส่วนที่ได้เพิ่มเติมจากคุณหมอแชลเลน คือ ไม่มีนักดำน้ำอีกคนตามหลัง เพราะมันไม่มีประโยชน์ เนื่องจากทัศนวิสัยของน้ำแย่มากแค่อยู่ในช่วงระยะ 10 ซม. เท่านั้น นักดำน้ำถ้ำสนับสนุน คืออยู่ประจำช่วยในจุดที่ยาก แล้วก็ประจำในจุดที่เป็นเนินผืนดิน (ถ้าใครเคยเห็นแผนที่เส้นทางจากจุดโถง 3 ถึงจุดที่เด็กอยู่ มันไม่ใช่การดำน้ำตลอด มีจุดที่ขึ้นมาเดินด้วย) เพื่อเข้าช่วยเด็กในการถอดอุปกรณ์ และใส่กลับไปเข้าไปใหม่ อย่างคุณหมอแชลเลนเองก็ประจำที่เนินหนึ่ง ร่วมกับนักดำน้ำต่างชาติอีกสองสามคน จุดที่คุณหมอแชลเลนอยู่ เด็กแต่ละคนจะขึ้นมา ห่างกันรอบละ 45 นาที

อีกประเด็นหนึ่งที่ต่างกันชนิดคนละเรื่องกับสื่อที่ออกมาก่อนหน้าว่า นำเสนอว่าคุณหมอแฮร์ริส เป็นคนจัดลำดับว่าเด็กคนไหนจะออกก่อนหลัง ปรากฏคุณหมอแชลเลนแกบอกว่า ไม่ใช่ คือพอได้บทสรุปเรื่องการนำเด็กอพยพออกจากถ้ำช้ดเจนแล้ว ก็ดำกันเข้าไปในถ้ำพูดคุยกับทีมหมูป่าและหน่วยซีลไทยที่อยู่กับเด็ก ๆ อธิบายให้เข้าใจถึงแผนการแล้วบอกพวกเขาว่า ให้ตัดสินใจจัดลำดับว่าใครจะออกก่อนหลัง ทีมหมูป่าตัดสินใจจัดลำดับของเขาเอง แล้วทีมทำงานทั้งหมด ก็ตามลำดับนั้น

(We told them what the plan was and to pick who was going first. They did all of that, it wasn't us. I don't know specfically if it was the coach, but collectively the team decided what order the boys would come out, not us. Then we just went for it.)

อีกประเด็นหนึ่งที่มีการไปแนะนำกันก่อนหน้านี้ว่า ควรให้เด็กอยู่ในนั้นไป แล้วใช้วิธีส่งสเบียงอาหารกันไป จนหมดฤดูมรสุม คุณหมอแชลเลนบอกว่า ทีมประเมินกันแล้ว เป็นไปไม่ได้ คือหลังจากนี้ จะไม่สามารถดำกันเข้าไปถึงจุดที่เด็ก ๆ อยู่เพื่อให้เสบียงได้ แล้วเด็กก็จะเริ่มติดเชื้อแล้วมีปัญหาสุขภาพ จนเสียชีวิตได้ ยังไงก็ต้องเอาเด็กออกมา

เมื่อถูกถามถึงความยากของปฏิบัติการครั้งนี้ คุณหมอแชลเลนบอกว่า การกู้ภัยในถ้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการไปค้นหา นำศพออกมา การกู้ภัยที่เอาคนมีชีวิตออกมา งานใหญ่ที่แกนึกถึงคือที่เม็กซิโกของแสตนตัน ในปี 2004 (อันนี้ขอขยายความให้ค่ะ คือ ริค แสตนตัน ที่ดำน้ำร่วมกับจอห์น โวลันเธน สองคนที่ค้นหาทีมหมูป่าจนเจอ ประวัติก่อนหน้า สแตตันเคยไปช่วยคนบริติช 6 คน ที่ติดที่ถ้ำ Cuetzalan ที่เม็กซิโก เป็นกรณีคล้ายทีมหมูป่า คือติดอยู่นานสิบวัน จนทีมช่วยเหลือเข้าไปเจอ จากนั้นมีการสอนให้ใช้อุปกรณ์ดำน้ำ แล้วนำออกมาทีละคน สแตนตันได้เครื่องราชย์ MBE (Most Excellent Order of the British Empire) จากการปฏิบัติการในครั้งนู้น) แต่เมื่อเทียบกับกรณีถ้ำหลวงฯ คุณหมอแชลเลนบอกว่า มันมีความยากกว่าในกรณี ตรงที่ระยะทางที่ต้องดำยาวกว่า และคนที่ต้องนำออกมาคือเด็ก แล้วพูดภาษาที่ต่างกันด้วย แกบอกว่านี่เป็นครั้งแรกจริง ๆ ที่แกเจออะไรแบบนี้ และขอให้เป็นครั้งสุดท้าย หรือถ้ามีเกิดขึ้นอีกครั้ง ก็ขอให้ตอนนั้นแกเลิกดำน้ำในถ้ำไปแล้ว

คุณหมอแชลเลนเนี่ยดูแล้วมาแนวสายฮา กวน ๆ ผิดกับคุณหมอแฮร์ริส ที่จะแนวร่าเริง พูดอะไรก็แนว nice ตลอด บางคำถามคุณหมอแชลเลน ตอบกวนมาก อาทิ ถามว่าดีใจไหม ที่ได้กลับถึงบ้าน แกบอกว่า รู้สึกว่า รู้งี้อยู่เมืองไทยต่อดีกว่า ถ้ารู้ว่ากลับมาเป็นจุดสนใจ แล้วเจอนักข่าวรุมล้อมไปหมดแบบนี้ หรือมีอีกคำถามที่ถามว่า จริงไหมที่จุดที่แคบที่สุดของถ้ำ กว้างเพียง 38 ซม. แกบอกว่า ไม่มีใครรู้หรอกว่ากว้างเท่าไรกันแน่ ก็เห็นว่ากัน 38 ซม. ก็ไม่รู้ใครเอาสายวัดไปวัด แต่ที่แน่ ๆ ทีมดำน้ำ ไม่มีใครพกสายวัดเข้าไป .... LOL

จะเห็นการแถลงข่าวของทางการไทย แทบไม่มีรายละเอียดของสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการอพยพเด็กในส่วนในของถ้ำ (จากเนินนมสาวถึงโถง 3) ต้องมาอาศัยอ่านแล้วประมวลผลเอง จากการสัมภาษณ์ของคนที่ทำงานอยู่ตรงนั้น ทีนี้ทาง BCRC ก็จะมีการแถลงข่าวที่เป็นลักษณะเป็นทางการ ไม่ลงรายละเอียดมาก ข้อมูลเยอะสุดตอนนี้คือที่คุณหมอแฮร์ริสเขียนในเฟซบุ๊ค แล้วเสริมด้วยบทสัมภาษณ์ของโวลันเธนกับ BBC Points West ตอนนี้ที่รอฟังคือของริค สแตนตัน ที่เป็นผู้นำหลักของการอพยพเอาเด็กออกจากถ้ำในครั้งนี้ ก็ไม่รู้เจ้าตัวจะมีการให้สัมภาษณ์แบบลงรายละเอียดหรือเปล่า เพราะสังเกตจากงานแถลงข่าวที่สนามบินฮีทโธรว์ เมื่อวันก่อน (https://goo.gl/nwiapj) จะเห็นว่าเป็นคนระวังตัวมากเรื่องการพูดให้สัมภาษณ์ ทั้ง ๆ ที่เป็นหนึ่งในคนที่รู้จริงที่สุดของงานนี้ จะเห็นว่า แทบทุกคนที่เกี่ยวข้อ จะอ้างชื่อ ริค แสตนตัน แม้แต่อีลอน มัสค์ กรณีเรื่อง mini-sub https://goo.gl/o7Cxup

แล้วขอสรุปเหมือนเดิมว่า จากข้อมูลที่แตละคนที่ทำงานจริงบริเวณส่วนในของถ้ำ ให้ออกมา จะยิ่งรู้สึกว่า มีแต่มืออาชีพจริง ๆ ที่ไปทำงานตรงนั้น รู้เรื่องจริง แล้วมีการคิด ตระเตรียม วางแผนกันมาดี และนี่คือสิ่งที่เรา ควรได้เรียนรู้ว่า ปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่า จนรอดชีวิตกันออกมาได้เนี่ย ไม่มีความบังเอิญหรือปาฏิหาริย์ อาศัยความสามารถและสติปัญญาของทีมที่เข้าไปทำงานล้วน ๆ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 16 ก.ค. 18, 06:49

บทเรียนจากปรมาจารย์ดำน้ำกู้ภัยระดับโลกนี้ทำให้หน่วยซีลของไทยได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงมากมาย วันหนึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกไม่ว่าที่ไหน นักดำน้ำไทยคงจะชำระหนี้บุญคุณโลกได้

และอีกเรื่องหนึ่งของคุณ Surakhuang Asavanich ที่สมควรบันทึกไว้

เผยเรื่องเล่าในถ้ำหลวงจากอดีตซีลของเชฟรอน ภารกิจสุดหินในถ้ำหลวงที่พลาดไม่ได้แม้นาที

สวัสดีครับ หลายคนคงจะทราบแล้วว่าเรามีอดีตซีลหรือหน่วยซีลนอกราชการ ที่ปัจจุบันเป็นพนักงานของเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ไปช่วยปฏิบัติงานสนับสนุนภารกิจดำน้ำในถ้ำหลวงถึ่ง 3 คน วันนี้เมื่อผมได้ข่าวว่าทุกๆ ท่านได้เสร็จจากภารกิจและเดินทางกลับศูนย์เศรษฐพัฒน์ของเชฟรอนที่ จ. สงขลา กันแล้ว ผมจึงติดต่อไปและได้มีโอกาสพูดคุยกับ อาจารย์ สุธน ทะวา หน่วยซีลนอกราชการ ซึ่งปัจจุบันเป็น Security Specialist ประจำที่ฐานปฏิบัติการบนฝั่ง สงขลา ขอให้ท่านแชร์ประสบการณ์ที่ถ้ำหลวงให้ฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งน่าตื่นเต้นและน่าประทับใจ แบบอินไซท์สุดๆ ผมจึงขออนุญาตอาจารย์สุธนนำประสบการณ์ของท่านมาแบ่งปันให้ชาวเพจเอราวัณ 36 ได้ฟังกันบ้าง น่าประทับใจและท้าทายขนาดไหน มาฟังกันครับ

เล่าเรื่องขวดอากาศ (หรือที่คนทั่วไปเรียกถังออกซิเจน แต่จริงๆ คือถังบรรจุอากาศเพื่อหายใจขณะดำน้ำ) ให้ฟังหน่อยได้มั้ยครับ ที่กลายเป็นข่าวไปทั่ว social media นี่ เชฟรอนเข้าไปช่วยได้ยังไงครับ

ตอนนั้นน่าจะประมาณวันที่ 30 มิถุนายนครับ ทาง ผ.บ. หน่วยซีลแจ้งมาทางอาจารย์พุก (คุณดุลยพินิจ ภู่อยู่) ว่าขวดอากาศไม่พอ จะขอสนับสนุนจากทางเชฟรอนได้ไหม เพราะต้องใช้อีกถึง 200 ขวด ผมเลยคุยกับทางแผนกจัดซื้อฯ ตอนทุ่มนึงว่าจะหาขวดอากาศให้เขาได้ยังไง ตอนแรกเราดูว่าจะเช่าได้ไหม แต่ไม่มีที่ไหนให้เช่าเลย เพราะต้องเอาไปทำงานหนัก พวกเขากลัวขวดพัง เราจึงกลับมาตรงทางเลือกว่าซื้อ และติดต่อไปทางคุณกิตติพงศ์ ที่เป็น Bangkok Incident Commander หรือหัวหน้าหน่วยบัญชาการภารกิจนี้ที่กรุงเทพฯ โดยให้ทางแผนกจัดซื้อฯ ประเมินราคาของมาประมาณเกือบ 2 ล้าน โดยถามคุณกิตติพงศ์ว่าเราจะซื้อได้ไหม รอแค่ 10 นาทีเท่านั้นครับ ก็ได้รับแจ้งมาว่าผู้บริหารอนุมัติแล้วตามที่ร้องขอ ไม่มีปัญหาอะไรเลย ผมจึงส่งข้อความไปบอกทางหน่วยซีลว่าทางเชฟรอนอนุมัติแล้ว พวกเขาก็ร้อง เย้.. ดีใจกันใหญ่เลยครับ

เรายังส่ง backpack ไปให้ด้วยครับ (เป้สะพายหลังที่ใช้ใส่ขวดอากาศ) แต่เราหาทั้งประเทศไทยมีแค่ 64 อัน ทางเชฟรอนก็เหมาส่งไปให้ทั้งหมดเลยครับ เราหาทุกอย่างเท่าที่เราหาได้ในประเทศไทยเพื่อไปสนับสนุนงานนี้

อาจารย์สุธนตามไปสมทบที่หน้าถ้ำได้ยังไงครับ

จริงๆ แล้วผมบอกอาจารย์มิ่ง (คุณมัจฉริยะ ครไชยศรี) กับอาจารย์พุกว่าผมขอเป็นฝ่ายสนับสนุนกองหลัง จะได้เป็นฝ่ายประสานงานหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆให้ เพราะกลัวไปที่หน้างานกันหมดแล้วการติดต่อสื่อสารจะไม่สะดวก พอเหตุการณ์ผ่านไปสักพักจึงคิดว่าอุปกรณ์ของเราน่าจะครบถ้วนแล้ว ผมจึงขอตามไปสมทบในพื้นที่ โดยผมได้เอา Gas Detector 5 เครื่อง (สามารถวัดระดับอ๊อกซิเจนในอากาศได้) จากศูนย์เศรษฐพัฒน์ไปด้วย เพราะทางทีมช่วยเหลือร้องขอมา เมื่อออกจากสนามบิน ผมตรงไปที่ถ้ำเลย ผมได้บรีฟเรื่องการใช้เครื่องวัดออกซิเจนในถ้ำ และข้อจำกัดเรื่องความปลอดภัยต่างๆ ให้ทีมดำน้ำฟัง โดยที่เราได้ยินข่าวที่ออกมาว่าออกซิเจนภายในถ้ำลดระดับลง ก็เป็นผลมาจากเครื่อง gas detector ที่ทางเรานำไปมอบให้ครับ

เล่าเรื่องภารกิจในการดำน้ำหน่อยได้ไหมครับ

ช่วงประมาณวันที่ 7 กรกฏา ก่อนน้องๆ หมูป่าออกจากถ้ำ ผมได้ร่วมภารกิจดำน้ำเพื่อนำอาหารและขวดอากาศเข้าไปด้านในโถง 3 การดำน้ำเข้าโถง 3 ทำงานค่อนข้างลำบาก มือขวาสาวเชือก มือซ้ายลากขวดอากาศ มุดลอดช่องหินขึ้นไปส่งของด้านในครับ ก็ได้สัมผัสประสบการณ์ตรงเลยว่ากระแสน้ำแรงมาก และต้องดำทวนน้ำตลอด จริงๆ ก่อนหน้านั้นก็มีคนมาอธิบายก่อนว่าดำน้ำไปจะเจออะไรบ้าง ต้องระวังเชือกพันคอ สายโทรศัพท์ ฯลฯ ทัศนวิสัยไม่เห็นอะไรเลยครับ เหมือนหลับตาดำน้ำ แล้วในถ้ำก็เป็นเนินชันๆ ค่อนข้างอันตราย ความน่ากลัวอีกอย่างคือ เมื่อพักเครื่องปั๊มน้ำ (จะพัก 20 นาที ทุกชั่วโมง) แค่ 10 นาที ระดับน้ำจะสูงขึ้นถึง 20 เซ็น น้ำขึ้นไวมากๆ ต้องเตือนกันล่วงหน้าเพื่อไม่ให้ตกใจ

เห็นว่ามีส่วนร่วมในการนำเด็กๆและโค้ชออกมาจากถ้ำด้วยหรอครับ

ใช่ครับ วันแรกที่นำเด็กออกมาได้เป็นวันอาทิตย์ เราแบ่งเป็นทีมละ 5 ทีม เพื่อรับเด็กจากโถงสาม ผ่านโถงสองไปที่ปากถ้ำ แต่ละทีมมีจำนวนคนน้อยมากแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ ระยะทางและลักษณะเส้นทางแคบกว้าง หน้าที่ของพวกเราคือ รับเด็กที่อยู่ในเปลสนามจากโถง 3 แล้วลำเลียงต่อกันมาเรื่อยๆกระทั่งถึงปากถ้ำด้วยความปลอดภัย โดยผมเป็นหัวหน้าทีมชุดที่ 5 พื้นที่ที่รับผิดชอบคือพื้นที่สุดท้ายก่อนออกจากถ้ำ เพื่อนร่วมทีมวันแรกมี 10 คน วันที่สองเพิ่มเป็น 12 คน วันที่สาม ขอเพิ่มเป็น 18 คน เพราะยิ่งทำยิ่งรู้ว่ามีความเสี่ยงสูงหากใช้คนน้อยๆ เราทำงานร่วมกันกับทหารบก ซีลประจำการ และซีลนอกราชการครับ ตอนนั้นต้องระวังมากๆ เพราะเส้นทางในการนำพาน้องๆ มาปากถ้ำค่อนข้างอันตรายมีทั้งทางดิ่ง มีเนินขึ้นเนินลงที่ชันมาก ทางแคบ และลื่น ก่อนเคลื่อนย้ายจากจุดรับส่งทุกจุด จะมีแพทย์ พยาบาลประจำการแต่ละจุดคอยวัดชีพจรและค่าออกซิเจนของเด็ก รวมทั้งระหว่างการเคลื่อนย้ายจะมีเจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาล ทั้งไทยและต่างประเทศคอยประกบตลอดเวลา เพื่อสังเกตุอาการเพื่อให้แน่ใจว่าสภาพร่างกายของเด็กๆ โอเคอยู่ เป็นงานที่ค่อนข้างกดดัน เราจะพลาดไม่ได้แม้แต่น้อยครับ เพราะทุกวินาทีมีชีวิตของน้องๆ ทีมหมูป่าเป็นเดิมพัน

สุดท้ายนี้มีความประทับใจอะไรเกี่ยวกับภารกิจนี้บ้างครับ

ผมว่าทุกคนภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในภารกิจนี้ครับ สำหรับผมก็เป็นโอกาสที่มีไม่บ่อยนัก ที่จะได้กลับไปร่วมงานกับหน่วยซีลที่ผมเคยสังกัดอยู่ สิ่งที่ประทับใจคือทางผู้บริหารเชฟรอนให้การสนับสนุนและตอบสนองอย่างรวดเร็วมากๆ ทีมสนับสนุนจากกรุงเทพฯ ก็ทำงานกันเต็มที่ พนักงานทั้งบริษัทฯ ก็ส่งกำลังใจมาให้อย่างท่วมท้น ส่วนตัวผมตั้งแต่ทำงานมา ไม่เคยเห็นความร่วมมือกันที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ทุกๆ คนต่างเป็นจิ๊กซอว์สู่ความสำเร็จ ตลอดภารกิจก็พบเจอแต่ผู้คนที่มีน้ำใจ หลายๆโรงแรมพอรู้ว่ามาช่วยทำภารกิจนี้ก็จะไม่คิดเงิน เสื้อผ้าก็มีคนรับซักให้ฟรี หรือแม้แต้ร้านอาหารที่แม่สาย ถ้าใครมาช่วยงานนี่ก็ทานฟรีแทบทุกร้านครับ!!
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 19 คำสั่ง