เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 4526 ใครเคยได้ยินชื่อ กรมเศรฐิ บ้าง
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 03 ก.ค. 18, 15:51

มีหลักฐานเพียงว่า  พระศรีวิโรจน์ เจ้ากรมเศรฐิ   ในรัชกาลที่ ๒

ใครเคยได้ยินชื่อกรมนี้บ้างคะ   ทำหน้าที่อะไร สังกัดอะไรในจตุสดมภ์?
ดิฉันเดาว่าสังกัดคลัง
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 04 ก.ค. 18, 10:22

ผมหา กรมเศรฐิ ไม่พบครับ แต่พบพระศรีวิโรจน์ ในเรื่องเกี่ยวกับการตั้งโรงหวย ดังนี้ครับ

https://guru.sanook.com/4011/

วิธีเล่นหวยเกิดขึ้นในเมืองจีนดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เกิดขึ้นแล้วไม่ช้าก็เข้ามาถึงเมืองไทยเมื่อรัชกาลที่ ๓ เรื่องมูลเหตุที่จะเกิดการเล่นหวยในประเทศนี้ มีในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแสดงไว้ดังนี้ว่า "เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีเถาะ (พ.ศ. ๒๓๗๔) น้ำมาก เมื่อปีมะโรง (พ.ศ. ๒๓๗๕) น้ำน้อยข้าวแพงถึงต้องซื้อข้าวต่างประเทศมาจ่ายขาย คนก็ไม่มีเงินจะซื้อข้าวกิน ต้องมารับจ้างทำงานคิดเอาข้าวเป็นค่าจ้าง เจ้าภาษีนายอากรก็ไม่มีเงินจะส่งต้องเอาสินค้าใช้ค่าเงินหลวง ที่สุดจนจีนผูกเบี้ยก็ไม่มีเงินจะให้ ต้องเข้ารับทำงานในกรุงฯ จึงทรงพระราชดำริลงไปว่า เงินตราบัว เงินตราครุฑ เงินตราปราสาทได้ทำใช้ออกไปก็มาก หายไปเสียหมด ทรงสงสัยว่าคนจะเอาเงินไปซื้อฝิ่นมาเก็บไว้ขายในนี้ จึงโปรดฯให้จับฝิ่นเผาฝิ่นเสียเป็นอันมาก ตัวเงินก็ไม่มีขึ้นมา และจีนหงพระศรีไชยบาน(๓) จึงกราบทูลว่าเงินนั้นตกไปอยู่ที่ราษฎรเก็บฝังดินไว้มากไม่เอาออกใช้ ถ้าอย่างนี้ที่เมืองจีนตั้งหวยขึ้นจึงมีเงินมา จึงโปรดฯให้จีนหงตั้งหวยขึ้นเป็นอากรอีกอย่าง ๑ และมาในจดหมายเหตุ(๔)ฉบับ ๑ ว่าเจ๊สัวหง แรกออกหวยเมื่อเดือนยี่ ปีมะแม ก็ต้องด้วยกระแสพระราชนิพนธ์ จึงยุติได้เป็นแน่ว่า การเล่นหวยแรกมีขึ้นในเมืองไทยในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๓๗๘

เรื่องตำนานของการอากรหวย ตามที่เล่ากันมาว่า เมื่อแรกเจ๊สัวหงทำอากรนั้น ตั้งโรงหวยที่ในกำแพงเมืองใกล้สะพานหัน แล้วเลื่อนมาอยู่ที่หน้าวังบูรพาภิรมย์เดี๋ยวนี้

เดิมเจ๊สัวหงออกหวยแต่เวลาเช้าวันละครั้ง ต่อมาไม่ช้าพระศรีวิโรจน์ดิศ เห็นเจ๊สัวหงมีกำไรมากจึงกราบบังคมทูลขอตั้งหวยขึ้นอีกโรง ๑ โรงหวยของพระศรีวิโรจน์ดิศอยู่ทางบางลำภู ออกหวยเวลาค่ำวันละครั้ง เพื่อมิให้พ้องเวลากับหวยโรงเจ๊สัวหง หวยจึงมีเป็น ๒ โรง เรียกกันว่าโรงเช้าโรง ๑ โรงค่ำโรง ๑

ต่อมาหวยโรงพระศรีวิโรจน์ทำการไม่เรียบร้อย ที่สุดอากรหวยจึงไปรวมอยู่อยู่ที่โรงเจ๊สัวหงแห่งเดียว เลยเป็นเหตุให้ออกหวยได้ ๒ เวลา แต่คงเรียกตามมูลเหตุเดิมว่า หวยโรงเช้าเวลา ๑ หวยโรงค่ำเวลา ๑ มาจนกระทั่งเลิกอากรหวย เงินอากรหวยนั้นได้ยินว่าเมื่อแรกตั้งอากรหวยในรัชกาลที่ ๓ เงินอากรราวปีละ ๒๐,๐๐๐ บาท เจ๊สัวหงจะได้ทำอยู่กี่ปี และผู้ใดจะได้ทำต่อมาหาทราบไม่ ปรากฏแต่ว่า ต่อมาจัดให้ว่าประมูลกันคราวละปีเหมือนอากรบ่อยเบี้ย เมื่อการออกหวยมีการประมูลกันเป็นอากร เงินหลวงก็เพิ่มทวีขึ้นโดยลำดับ
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 04 ก.ค. 18, 10:23

จะใช่ท่านเดียวกันหรือไม่ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 04 ก.ค. 18, 11:00

คนละคนค่ะ
ขอบคุณที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ   พระศรีวิโรจน์ดิศ น่าจะมีฐานะดีมาแต่เดิม ถึงมีทุนพอจะขอตั้งโรงหวยได้
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 05 ก.ค. 18, 14:04

น่าจะเป็นพระศรีวิโรจน์ (อ่อน) ผู้นี้

มีบันทึกอยู่ในหนังสือ "ราชินิกุลรัชกาลที่ ๓" ของ สมเด็จฯเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ ข้อมูลที่มีอยู่ในมือตอนนี้ คือ

หน้า ๙ : "ท่านทองคำ คือท้าวทรงกันดาร (ทองมอญ) เปนภรรยาหม่อมเจ้าองค์ ๑ ในราชตระกูลครั้งกรุงศรีอยุธยา …มีบุตรและธิดา ๔ คน คือ ที่ ๑ ช. ชื่อ หม่อมอ่อน เปนพระศรีวิโรจน์ ที่ ๒ ช. ชื่อ หม่อมทับ เปนพระอักษรสมบัติ ...ที่ ๔ หม่อม (ไม่ทราบชื่อ) เปนภรรยานายนาคบุตรพระชนกจัน"

ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) มีบุตรธิดารวม ๔ คน ได้แก่ หม่อมอ่อน (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ที่พระศรีวิโรจน์ รับราชการในกรมพระคลังมหาสมบัติ) หม่อมทับ (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ที่พระอักษรสมบัติ เสมียนตรากรมพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งเป็นบิดาของเจ้าจอมมารดาทรัพย์ในรัชกาลที่ ๓) หม่อมทิม (ได้เป็นเจ้าจอมมารดาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หม่อมทิมผู้นี้เองที่มีผู้สืบเชื้อสายคือหม่อมแสง หม่อมในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ต้นราชสกุลกุญชร และเป็นย่าของเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (หม่อมราชวงศ์หลาน กุญชร)) และหม่อมอีกท่านหนึ่งไม่ทราบนาม)

จาก https://www.facebook.com/HRHPrinceNaris/posts/'ห้ามกินปลาสีเสีย%EF%BF%BD/820680598072045/
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 05 ก.ค. 18, 16:02

เช่นนี้ก็แสดงว่า ตำแหน่ง พระศรีวิโรจน์ เป็นตำแหน่งในสังกัดคลัง กรมเศรฐิ ก็ต้องเป็นกรมในสังกัดคลังด้วยหนะซีครับ
แต่กรมนี้จะทำหน้าที่อะไร และอาจจะได้พัฒนามาเป็นกรมหรือส่วนราชการอะไรในปัจจุบัน ยังไม่รู้ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 05 ก.ค. 18, 17:43

ขอบคุณค่ะ  คุณเพ็ญชมพู  นึกแล้วว่าต้องหาเจอ
ไปเช็คกรมต่างๆที่สังกัดพระคลังแล้ว  ไม่มีกรมเสฏฐิ

         สมัยต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระคลังได้แบ่งการบริหารราชการออกเป็น 8 หน่วยงาน แต่ละหน่วยงานมีหน้าที่เก็บภาษีอากรต่างชนิดกันไป และมีงานที่นอกเหนือออกไปจากการเก็บภาษีอากร คือ

         1. พระคลังมหาสมบัติ มีหน้าที่เรียกเร่งพระราชทรัพย์และว่าความที่เกี่ยวข้องด้วยพระราชทรัพย์หลวง
         2. พระคลังสินค้า มีหน้าที่ผูกขาดการค้าขายของรัฐ
         3. พระคลังในซ้าย พระคลังในขวา มีหน้าที่ในการจัดซื้อของสำหรับงานโยธาเพื่อจ่ายให้แก่ทางราชการ
         4. กรมท่าซ้าย กรมท่าขวา มีหน้าที่ว่าการต่างประเทศกรมท่าซ้าย พระยาโชฏึกราชเศรษฐีเป็นหัวหน้าว่าการเกี่ยวกับเรื่องคนจีน กรมท่าขวาพระยาจุฬาราชมนตรีเป็นหัวหน้าว่าการเกี่ยวกับเรื่องคนแขก
         5. พระคลังราชการ มีหน้าที่รับส่งส่วยซึ่งมาจากหัวเมืองที่ขึ้นอยู่กับกรมท่า
         6. พระคลังวิเสศ เป็นคลังผ้าทั้งหมด ยกเว้นผ้าเหลือง
         7. พระคลังศุภรัตน์ เป็นคลังผ้าเหลืองสำหรับพระสงฆ์
         8. พระคลังสวน มีหน้าที่เก็บเงินอากรสวนตามหน้าโฉนด

        นอกจากนี้ยังมีพระคลังอีกคลังหนึ่งเป็นสาขาของพระคลังมหาสมบัติ มีท้าวทรงกันดารเป็นผู้ดูแล ทำหน้าที่รักษาเงินสำหรับใช้จ่ายในพระราชนิเวศน์

       ทีนี้ พระศรีวิโรจน์(อ่อน) อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๒  การแบ่งส่วนราชการอาจไม่เหมือนสมัยรัชกาลที่ ๕  เป๊ะๆนัก
แต่ยังไงก็ตาม กรมเสฏฐิน่าจะสังกัดพระคลัง   เพราะดูชื่อแล้วไม่น่าจะสังกัดเวียง วัง หรือนา
      หันไปถาม ท่านรอยอิน   ได้คำตอบมาว่า  คำว่าเสฏฐิ   มาจากภาษาบาลี    สันสกฤตใช้ว่า เศรษฐี  แปลว่า ประมุขพ่อค้า

      เศรษฐี
      (๑)  [เสดถี] น. คนมั่งมี (ส. ว่า ประมุขพ่อค้า; ป. เสฏฺฐิ).

      (๒) น. ชื่อหนึ่งของดาวฤกษ์ธนิษฐา มี ๔ ดวง, ดาวกา ดาวไซ ดาวศรวิษฐา หรือ ดาวธนิษฐะ ก็เรียก. (ส. ว่า ประมุขพ่อค้า; ป. เสฏฺฐิ).           

      กรมเสฏฐิ น่าจะเกี่ยวกับพ่อค้าในสยาม  มีหน้าที่เก็บภาษีจากพ่อค้า เป็นไปได้ไหมคะ? 
      คงไม่ใช่กรมที่ชุมนุมของบรรดาเถ้าแก่เจ้าสัวในสยาม

      ทีแรกคิดว่ากรมเสฏฐิ ต่อมาอาจจะพัฒนามาเป็นกระทรวงเศรษฐการ ซึ่งก็คือกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน
แต่ถ้ามีไว้เก็บภาษีพ่อค้า อาจจะกลายมาเป็นกรมสรรพากร 
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 04 ส.ค. 18, 14:11

มีตำแหน่ง "เศรษฐี" อยู่ในพระไอยการตำแหน่งนางพลเรือนดังต่อไปนี้ครับ


เศรษฐีซ้าย        พระเนาวรัชโชดธิบดินทรธรรมธาเศรษฐี  ซ้าย   นา ๓๐๐๐
                 หลวงอินทมูลบาทเศรษฐี                              นา ๑๖๐๐
                 ขุนพิบูรรณสมบัติเศรษฐี                                
                 ขุนไชยภักดีเศรษฐี               ๔ คน                นา ๖๐๐
                 ขุนชะดินวิวันเศรษฐี
                 ขุนโภชนาภานิชเศรษฐี


เศรษฐีขวา        พระศรีวิโรทเศรษฐี            ขวา         นาคล ๑๖๐๐        
                    พระศรีธรรมบาลเศรษฐี    
                 ขุนพิพิใจเศรษฐี
                 ขุนสิทสมบัดิเศรษฐี               ๓ คน       นาคล ๖๐๐
                 ขุนพัดสมบูรรเศรษฐี


(ส่วนตัวผมเห็นว่าพระไอยการน่าจะวางบรรทัดผิด "พระเนาวรัชโชดธิบดินทรธรรมธาเศรษฐี" น่าจะเป็นเจ้ากรมหรือหัวหน้าของทั้งเศรษฐีซ้ายขวา เพราะเป็นคนเดียวที่มีศักดินา ๓๐๐๐ ในขณะที่ตำแหน่งที่มีศักดินา ๑๖๐๐ ๒ คน น่าจะเป็นหัวหน้าของกรมซ้ายและกรมขวาครับ)


หน้าที่ของตำแหน่ง "เศรษฐี" นี้ไม่ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงอย่างชัดเจน ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือนก็แยกออกมาเป็นหน่วยงานต่างหาก ไม่ได้เขียนรวมไว้กับกรมคลังต่างๆ ครับ

แต่พิจารณาจากหน้าที่และชื่อตำแหน่งแล้วก็น่าเชื่อว่าเป็นตำแหน่ง "พ่อค้า" ที่รับผิดชอบทำการค้าขายให้เป็นหลักและดูแลการคลังครับ พบหลักฐานว่าในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ขุนนางชาวเปอร์เซียชื่อ อากอ มุฮัมหมัด (เป็นหลานชายของเฉกอะหมัด) ได้รับราชการมีบรรดาศักดิ์เป็น "ออกพระศรีเนาวรัตน์" ตำแหน่งเศรษฐี  เป็นขุนนางต่างประเทศคนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์ก่อนยุคของออกญาวิไชยเยนทร์ ได้รับผิดชอบกิจการต่างประเทศส่วนใหญ่ร่วมกับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) จนปรากฏว่าบางครั้งมีอำนาจเกือบจะพอๆ กัน  ออกพระศรีเนาวรัตน์ผู้นี้ยังผู้นำประชาคมอิหร่านในสยาม และมีส่วนในการชักนำให้ชาวมุสลิมอินโด-อิหร่านจำนวนมากได้รับราชการในราชสำนักในตำแหน่งสำคัญ มีการวิเคราะห์ด้วยว่าออกพระศรีเนาวรัตน์ผู้นี้น่าจะได้ว่าที่พระคลังในบางช่วง


ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อธิบายไว้ว่า "คำว่า "ศรี" เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่าดี หรือผู้เป็นใหญ่ ส่วนคำว่า "เนาวรัตน์" เดิมเขียน "เนาวรัช" ซึ่งตรงกับภาษาอิหร่านว่า "นาวาราชา" (navaraja) แปลว่า "เจ้าแห่งเรือ"  คำว่า "ศรีเนาวรัตน์" จึงน่าจะหมายถึงนายเรือผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งคล้ายกับตำแหน่งของหัวหน้าพ่อค้าหรือเจ้าแห่งพ่อค้าในภาษาอิหร่านที่เรียกว่า "ซูดาการ์ราชา" อันเป็นตำแหน่งพ่อค้าหลวงในราชสำนักอิหร่านสมัยราชวงศ์ซาฟาวี ตำแหน่ง "ศรีนาวาราชา" ยังคล้ายกับขุนนางในตำแหน่ง "ศรีโนรา" หรือ "ศรีโนราช" (Srinora หรือ Srinoraj) ของราชสำนักมลายู  หัวหน้าพ่อค้าเหล่านี้เข้าไปรับราชการอยู่ในราชสำนักของอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังที่บันทึกของ ปีเตอร์ ฟลอริส (Peter Floris) ระบุว่า โอรังกายาศรีโนราช (Orang Kaya Srinoraj) คือตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีของรายาแห่งปัตตานี มีหน้าที่ดูแลการค้าให้กับราชสำนัก
 
      ตำแหน่ง "ศรีเนาวรัตน์" คงมีใช้ตั้งแต่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมปรากฏหลักฐานตำแหน่งออกพระศรีเนาวรัตน์ในบันทึกการค้าของฮอลันดา ราชทินนาม "ศรีเนาวรัตน์" มีกล่าวถึงในเอกสารต่างชาติหลายแห่งเรียกว่า "Oya Signorat"  "Oya Signorativo"  "Oya Singorat"  "Opra Sinorat"  "Okphra Jinorat" หรือ "Opera Sicarat"  เอกสารหลายฉบับระบุว่าออกพระศรีเนาวรัตน์มีความสัมพันธ์กับกรมท่าขวาและกรมพระคลังสินค้า จากเอกสารของฮอลันดาระหว่าง พ.ศ. 2183-2184 (ค.ศ. 1640-1641) ระบุว่า ออกญาศรีเนาวรัตน์ เป็นพ่อค้าของกษัตริย์ และมีหน้าที่คุมโรงกษาปณ์ของพระเจ้าแผ่นดิน แสดงว่าขุนนางผู้นี้มีความสำคัญในพระคลังสินค้า และยังทำหน้าที่ผู้ควบคุมดูแลงานด้านการค้าที่เกี่ยวข้องกับกรมท่าขวา"


ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ วิเคราะห์ว่า ในสมัยอยุทธยา ตำแหน่ง "ศรีเนาวรัตน์" นั้นมีอำนาจสูงกว่า "จุลา" หรือ "จุฬาราชมนตรี" ด้วยเหตุที่ในสมัยพระเจ้าปราสาททองพบว่าผู้เป็น "ศรีเนาวรัตน์" ได้เป็นออกญา และมีศักดินาสูงกว่าจุฬาราชมนตรีที่เป็นเพียง "ออกพระ" แต่ในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ พบว่าอำนาจของศรีเนาวรัตน์น้อยลงกลายเป็นตำแหน่งรองจากจุฬาราชมนตรี เพราะบทบาทหน้าที่ในการดูแลการค้าลดน้อยลงไปเนื่องจากกรมท่ากลางขยายบทบาทมาดูแลพระคลังสินค้าแทน และในหลายครั้งพบว่าผู้ที่เป็นศรีเนาวรัตน์มักจะได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ขึ้นเป็นจุฬาราชมนตรี

ตำแหน่ง "ศรีเนาวรัตน์" นี้ ในสมัยอยุทธยาพบว่าเป็นขุนนางมุสลิมต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่านครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 04 ส.ค. 18, 14:57

ขอบคุณค่ะคุณศรีสรรเพชญ   
ดิฉันเห็นด้วยกับคำสันนิษฐานค่ะ   
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 04 ส.ค. 18, 20:26

มีต่างกันเล็กน้อยระหว่างข้อมูลของคุณศรีสรรเพชญ์และคุณ art47

เศรษฐีขวา     พระศรีวิโรทเศรษฐี            ขวา         นาคล ๑๖๐๐        
                 พระศรีธรรมบาลเศรษฐี    
                 ขุนพิพิใจเศรษฐี
                  ขุนสิทสมบัดิเศรษฐี           ๓ คน        นาคล ๖๐๐

                 ขุนพัดสมบูรรเศรษฐี

พระศรีวิโรทเศรษฐี  } ขวา                                           นาคล ๑๖๐๐
พระศรีธรรมบาลเศรษฐี
ขุนพินิจใจเศรษฐี   } ๓ คน                                           นาคล ๖๐๐
ขุนสิทสมบัดิเศรษฐี

ขุนพัดสมบูรรเศรษฐี
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 04 ส.ค. 18, 22:09

มีต่างกันเล็กน้อยระหว่างข้อมูลของคุณศรีสรรเพชญ์และคุณ art47

เศรษฐีขวา     พระศรีวิโรทเศรษฐี            ขวา         นาคล ๑๖๐๐        
                 พระศรีธรรมบาลเศรษฐี    
                 ขุนพิพิใจเศรษฐี
                  ขุนสิทสมบัดิเศรษฐี           ๓ คน        นาคล ๖๐๐

                 ขุนพัดสมบูรรเศรษฐี

พระศรีวิโรทเศรษฐี  } ขวา                                           นาคล ๑๖๐๐
พระศรีธรรมบาลเศรษฐี
ขุนพินิจใจเศรษฐี   } ๓ คน                                           นาคล ๖๐๐
ขุนสิทสมบัดิเศรษฐี

ขุนพัดสมบูรรเศรษฐี


ผมพิมพ์ผิดเองครับ ที่ถูกคือ ขุนพินิจใจเศรษฐี

๓ คน คือรวมขุนทั้ง ๓ ครับ จริงๆ ต้องมีปีกกาครอบทั้ง ๓ คน แต่ในคอมทำไม่ได้ครับ
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 06 ส.ค. 18, 11:26

บุคคลผู้มีตำแหน่งเหล่านี้ ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าของรัฐบาลหรือครับ หมายถึงว่า ท่านเหล่านี้ออกค้าขาย กำไรที่ได้ส่งเข้ารัฐเป็นรายได้แผ่นดิน อะไรแบบนั้น
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 07 ส.ค. 18, 11:00

ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้าขายเห็นจะเป็นหน้าที่ของกรมท่ามากกว่า

ตามพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง ๑๒๙๘ กรมท่าแบ่งเป็นขวาและซ้าย ท่านรอยอินอธิบายไว้ดังนี้

กรมท่าขวา (โบ) น. ส่วนราชการในสังกัดกรมพระคลัง ทำหน้าที่ติดต่อกับต่างชาติเรื่องการค้าขายและการต่างประเทศ กับชาติที่อยู่ทางด้านขวาหรือทางตะวันตกของอ่าวไทย เช่น อินเดีย อิหร่าน รวมทั้งชาติที่เข้ามาติดต่อทางด้านนั้น.

กรมท่าซ้าย  (โบ) น. ส่วนราชการในสังกัดกรมพระคลัง ทำหน้าที่ติดต่อกับต่างชาติเรื่องการค้าขายและการต่างประเทศกับชาติที่อยู่ทางด้านซ้ายหรือทางตะวันออกของอ่าวไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี รวมทั้งชาติที่เข้ามาติดต่อทางด้านนั้น.
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 07 ส.ค. 18, 11:01

เจ้ากรมท่าขวาคือ พระจุลาราชมนตรี

     พระจุลาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวา                                          นา ๑๔๐๐
ขุนราชเศรษฐี ปลัด ได้ว่าแขกประเทศฉวามลายูอังกฤษ                      นา ๘๐๐
หลวงราชมนตรี เจ้าท่า ได้ว่าแขกประเทษอังกฤษญวนฝรั่ง                    นา ๘๐๐
หมื่นพินิจวาที  } ล่าม ๔ คน                                                    นาคล ๓๐๐
หมื่นศรีทรงภาษา
หมื่นสัจวาที
หมื่นสำเรจ์วาที
หมื่นทิพวาจา   } ล่ามอังกฤษ ๒ คน                                            นาคล ๓๐๐
หมื่นเทพวาจา
หลวงนนทเกษ เจ้าท่า ได้ว่าพราหมณ์เทษ                                       นา ๘๐๐
หมื่นสัจะวาจา  } ล่าม ๒ คน                                                    นาคล ๓๐๐
หมื่นสัจวาที

และเจ้ากรมท่าซ้ายคือ หลวงโชดึกราชเศรษฐี

       หลวงโชดึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย                                  ถือศักดินา ๑๔๐๐
หลวงเทพภักดี เจ้าท่า ได้ว่าวิลันดา                                           นา ๖๐๐
ขุนท่องสื่อ    } จีนล่ามนายอำเพอ                                            นา ๖๐๐
ขุนท่องสมุท
ขุนวรวาที ล่ามฝรั่งเศศ                                                         นา ๓๐๐
ขุนราชาวะดี   } ล่ามกะปิตัน                                                  นา ๓๐๐
ขุนรักษาสมุท
ขุนวิสุทสาคร ล่ามแปลนายสำเภาปากนำ                                    นา ๔๐๐
นายเรือปาก ๔ วาขึ้นไป         }                                             นา ๔๐๐
จีนแขกฝรั่งอังกฤษสำเภาใหญ่
นายเรือปากกว้าง ๓ วาเศศ                                                   นา ๒๐๐
จุ่นจู๊ นายสำเภา                                                                นา ๔๐๐
ต้นหน    ดูทาง        } สำเภา ใหญ่  }                                    นา ๒๐๐
ล้าต้า     บาญชียใหญ่          น้อย                                              ๑๐๐
ปั๋นจู       ซ่อมแปลงสำเภา     }                                            นาคล ๘๐
ใต้ก๋ง      ซ้าย } ๒ นายท้าย
            ขวา
ชินเตงเถา ซ้าย } ๒ บาญชียกลาง }                                        นา ๕๐
            ขวา
อาปั๋น     กระโดงกลาง
จงกว้า    ใช้คนทังนั้น
เต๊กข้อ   ได้ว่าระวางบันทุก
อากึ่ง     ช่างไม้สำเภา
เอียวก๋ง  บูชาพระ                   }                                          นา ๓๐
ตั้วเลียว   ว่าสายเลียวกับเสาท้าย
สำปั้น     กับเสาหน้า
ชมภู่
เท่าเต้ง   ว่าสมอ
ฮู้เตี้ยว    ทอดดิ่ง
อิดเซี่ยร  } ลด                      }                                         นา ๒๕
ยิ่เซียร
สามเซี่ยร
จับกะเถา กวาดสำเภา
เบ๊ยปั้น    จ่ายกับเข้า
ชินเต๋ง ๑๘ คน ทนายจุ่นจู๊ ล้าต้า ปั๋นจู
นายรอง ๗ คน ได้รวางคนละ ๑๖
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 08 ส.ค. 18, 10:44

บุคคลผู้มีตำแหน่งเหล่านี้ ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าของรัฐบาลหรือครับ หมายถึงว่า ท่านเหล่านี้ออกค้าขาย กำไรที่ได้ส่งเข้ารัฐเป็นรายได้แผ่นดิน อะไรแบบนั้น
ยังไม่ได้คำตอบค่ะ
เดาอีกครั้งว่า กรมเศรฐิ ทำหน้าที่คล้ายหอการค้าของคนจีนในไทย เป็นไปได้ไหม
คือรวบรวมเถ้าแก่เจ้าสัวทั้งหลายมาสังกัด  สร้างคอนเนคชั่นระหว่างพ่อค้าจีนกับราชการไทย
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.065 วินาที กับ 19 คำสั่ง