เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5
  พิมพ์  
อ่าน: 13540 หากพระเจ้ามังระไม่สวรรคต กรุงธนบุรีจะสามารถต้านทานกองทัพพม่าได้หรือไม่
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 28 พ.ค. 18, 17:50

ส่วนคนไทยจากกรุงศรี ถ้าถูกเกณฑ์ไปรบ คงน่าจะเอาไปสู้กับจีนที่รัฐฉาน  หรือสู้กับแขกอินเดียทางยะไข่มากกว่า


     มองเห็นชะตากรรมของเจ้านายอยุธยาที่ถูกจับเป็นเชลยไปอยู่พม่าได้ชัดขึ้น    เจ้านายฝ่ายหญิงอย่างพระองค์เจ้าประทีป ก็ได้ไปเป็นพระมเหสี    ทำให้คิดต่อไปว่าเจ้านายสตรีอื่นๆก็คงจะไปเป็นฝ่ายในของกษัตริย์พม่า หรือเป็นบำเหน็จความดีความชอบของแม่ทัพพม่าคนอื่นๆ
      ส่วนเจ้านายชาย  คงจะไปเป็นนายทหารในกองทัพไว้สู้ศึกด้านอื่นๆของพม่า

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 28 พ.ค. 18, 18:28

ตามนั้นเลยครับ

ถึงตรงนี้ได้โอกาสไถลเข้าซอยอีกหน่อย

ที่เห็นนี้เป็นกลุ่มเจดีย์ทรงไทยทั้งหมด ตั้งอยู่ ณ เมืองเจ้าเซ ใต้เมืองอังวะซึ่งเป็นเขตที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว จากโบราณสถานแห่งนี้ นักประวัติศาสตร์และโบราณดดีของพม่ากล่าวว่า ณ ที่นี้น่าจะเป็นชุมชนไทยในอดีต ที่พม่าใช้มาปลูกข้าวส่งเสบียงบำรุงกองทัพ

กลุ่มเจดีย์ที่ว่าเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิ สันนิฐานว่าเป็นของตระกูลใหญ่ อาจจะเป็นทหารม้า เพราะพม่ายอมรับนับถือทหารม้าของไทยมาก จึงส่งมาคุมคนไทยด้วยกันให้ทำงาน ดีกว่าจะใช้ทหารพม่ามาบังคับขับไส

ดังนั้น นอกจากถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารแล้ว คนที่เหลือก็ต้องทำนาทำสวนตามอาชีพถนัด มะม่วงที่นี่อร่อยมาก รสชาติเหมือนพันธุ์ขายตึกของดีเมืองฉะเชิงเทรา
คนไทยอีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นพวกศิลปิน ทั้งช่างเขียนและช่างแกะสลัก พม่าจะให้คนไทยมาอยู่ใกล้กับวัด มีหน้าที่เป็นทายกดูแลพระและซ่อมสร้างวัดตามแต่พระจะใช้


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 28 พ.ค. 18, 18:48

ต่อท่อนสุดท้าย

ในเวลานั้น ที่เมืองเชียงใหม่ มีผู้ว่าราชการเมืองเป็นพม่าชื่อสโตเมงถิน  ของไทยว่าชื่อ โปมะยุง่วน เจ้าเมืองเชียงใหม่ ความจริงแล้วโปมะยุง่วน  เป็นชื่อตำแหน่ง  อ่านตามสำเนียงภาษาพม่าแท้ๆว่า โบมโยวน (โบ  แปลว่านายพล  มโย แปลว่า เมือง วน แปลว่า ผู้ว่าราชการ )  ได้เกิดพิพาทกับเจ้าเมืองเชียงใหม่ เจ้าฉาปัน กับ พระยาสามล้าน พระยาแสงหลวง ผู้เป็นอำมาตย์ และเจ้ากาวิละซึ่งเป็นเจ้าเมืองลคอน (ลำปาง) จึงได้เดินทางไปกรุงอังวะ ขอเข้าเฝ้าพระเจ้าอังวะ ฟ้องสโตเมงถิงว่ากดขี่ชาวเชียงใหม่ พระเจ้าอังวะจึงโปรดให้มีพระราชสาส์นแจ้งว่า ให้เจ้าฉาปัน พระยาสามล้าน พระยาแสงหลวง และเจ้ากาวิละ ปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมต่อไป และให้สโตเมงเถินปฏิบัติตามกฎหมายและจารีตประเพณี ศีลธรรมท้องถิ่น อย่าให้ราษฎรต้องลำบากอีก

ถึงเชียงใหม่แล้ว เจ้าฉาปันให้น้องชายอัญเชิญพระราชสาส์นนั้นไปส่งให้ผู้ว่าเมืองที่ศาลากลาง  สโตเมงถินไม่พอใจอย่างยิ่งส่งทนายไปบอกเจ้าฉาปันว่า พระราชสาส์นสำคัญเช่นนี้สมควรนำมาส่งด้วยตัวเอง แต่เจ้าฉาปันก็ไม่ยอมไป   สโตเมงถินโกรธมาก ส่งทหารไปจับ แต่เจ้าฉาปันหนีไปก่อนแล้ว โดยมุ่งหน้าไปยังค่ายของทัพเนมโยสิงหะปิ ซึ่งตั้งอยู่อยู่เมืองเวียงจันท์

เมื่อกองทัพพม่าพร้อมจะลงไปตีกรุงธนบุรี ก็เดินทัพเข้ามาทางเชียงใหม่ แล้วหยุดจัดทัพ  เนมโยสิงหะปติแม่ทัพใหญ่สั่งให้เจ้าฉาปันเมืองเชียงใหม่กับเจ้ากาวิละเมืองลคอนเป็นทัพหน้า สโตเมงถินไม่พอใจที่แม่ทัพใหญ่มอบภารกิจสำคัญให้เจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงสั่งให้ทหารของตนเองตามไปจับเจ้าทั้งสอง โดยอ้างว่า พระอยู่หัวมีพระราชบัญชาลงมาว่าให้นำเจ้าฉาปันและเจ้ากาวิลาเข้าเฝ้า แต่เจ้าทั้งสองไม่ยอมให้จับ ผู้ว่าเมืองจึงให้ทหารไปจับครอบครัวของเจ้าทั้งสอง ส่งไปยังกรุงอังวะ เจ้าฉาปันเมื่อรู้ข่าวก็หยุดทัพ มุ่งหน้ากลับไปชิงครอบครัวคืนระหว่างทางแทน  แล้วหนีไปอยู่กับพระเจ้ากรุงธนบุรี

พระกรุงธนบุรีทรงใช้โอกาสนี้นำทัพขึ้นเหนือ เข้ายึดพิจิตรและพิษณุโลกอย่างง่ายดาย ก่อนจะเผชิญหน้ากับกองทัพพม่าซึ่งมีเนมโยสิงหะปติเป็นแม่ทัพที่เมืองระแหง ทัพพม่าต้านไม่อยู่ ถอยทัพไปตั้ง ณ เมืองนาย ทัพไทยเคลื่อนเข้าโจมตีพม่าที่เชียงใหม่ทันที ทัพสโตเมงถินที่ถูกสั่งให้เฝ้าเมือง แตกพ่ายหนีออกจากเชียงใหม่ไปอยู่ที่เชียงแสน ครั้นพระเจ้ากรุงธนบุรีเข้ายึดเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว ก็ได้ทรงจัดระเบียบบ้านเมืองให้เรียบร้อยก่อนแล้วยกทัพกลับ

ฝ่ายกรุงอังวะนั้น พระเจ้ามังระ เชงพยูชิน (พระเจ้าช้างเผือก) เสด็จสวรรคตเมื่อวันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๓๑๙ พระเจ้าเซ่งกูผู้เป็นพระโอรสจึงทรงขึ้นครองราชย์สืบต่อ และมีรับสั่งให้กองทัพทั้งหมด เช่น ทัพของพระมหาสิงหะสูระ (ฉบับพระราชหัตถเลขาเรียกว่า อะแซหวุ่นกี้) จากระแหงหนึ่งทัพ ทัพของพระเนมโยสิงหะปกติให้ไปตั้งอยู่ที่จันทบุรีหนึ่งทัพ และทัพของผู้ว่าเมืองเชียงใหม่ที่พระบิดามีรับสั่งให้ไปตีกรุงบางกอกธนบุรีอีกหนึ่งทัพ เดินทัพกลับเข้ากรุงอังวะทั้งหมด
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 28 พ.ค. 18, 18:50

ว่ามาซะยืดยาวเพื่อจะส่งลูกกลับให้คุณหมอเพ็ญ เรื่องอะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวพระยาจักรี

อ้อขอโทษที และเป็นการตอบกระทู้ในคำถามของเจ้าของด้วยครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 28 พ.ค. 18, 20:12

ว่ามาซะยืดยาวเพื่อจะส่งลูกกลับให้คุณหมอเพ็ญ เรื่องอะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวพระยาจักรี


เรื่องขอดูตัว นาทีที่ ๕๑.๕๐ - ๕๗.๑๐



"อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี" ภาพประกอบในหนังสือเรียนภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ เล่ม ๒


บันทึกการเข้า
แสงดาวฝั่งทะเล
อสุรผัด
*
ตอบ: 8


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 28 พ.ค. 18, 22:17

ขอบพระคุณท่านอาจารย์นวรัตน  ที่กรุณามาตอบกระทู้และเล่าเรื่องของเจ้านายและชาวพระนครที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 
รวมทั้งผู้ที่สมัครใจเดินทางหนีราชภัยไปสมทบเมื่อครั้งต้นกรุงธนบุรีด้วย  ทำให้เห็นภาพชีวิตความเป็นอยู่ของท่านเหล่านั้นได้ชัดเจนขึ้น  และสบายใจว่าพม่าก็มิได้โหดร้ายดังที่เคยเห็นในภาพยนตร์และละครย้อนยุคบางเรื่อง  คงจะปฏิบัติต่อชาวสยามด้วยดีพอสมควรแก่อัตภาพ  มิฉะนั้นคงไม่มีชาวไทยหนีร้อนไปพึ่งเย็น

ขอบพระคุณคุณหมอเพ็ญ  ที่กรุณานำข้อมูลช่วงอะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี และข้อมูลที่น่าสนใจส่วนอื่นด้วยค่ะ

 
บันทึกการเข้า
ราชปักษา
อสุรผัด
*
ตอบ: 23


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 29 พ.ค. 18, 00:22

ระหว่าง รอท่านอาจารย์อื่นมาต่อ ขอเล่าเกร็ดตำนานฆ่าเวลานิดหนึ่งละกัน ซึ่งก็เป็นเหตุการณ์ในหัวเรื่องกระทู้นี้ด้วย

ม่านเจ็ดตน

กว่าวคือ แนวรบทางเหนือ เมืองเชียงใหม่นั้น ภายหลังจากที่ทัพไทยของเจ้าพระยาจักรีได้ถอยกลับไปนั้น  ทัพพม่าอีกทัพซึ่งไม่ได้ถูกบันทึกในพงศาวดารไทย จำนวน 10,000 นาย นำโดยแลทอโป่คะแมหวุ่น ได้ทำการเข้าประชิดเชียงใหม่ในช่วงปลายปี 2518

ซึ่งเวลานั้น เมืองเชียงใหม่เองไม่พร้อมรับศึกเท่าใด เนื่องจากพึ่ง"ฟื้นม่าน"ไปไม่นาน ไร่นาก็ไม่ได้เพาะปลูกดี เมื่อถูกพม่าปิดล้อมเป็นแรมเดือน ทำให้เสบียงกรังขาดแคลนมาก ฝ่ายพม่าเห็นเชียงใหม่อิดโรยเพราะขาดเสบียง ก็กระหยิ่มใจว่าต้องชนะแน่ พวกเขาจึงระดมกำลังบุกเข้าทางแจ่ง
(มุมกำแพงเมือง) ศรีภูมิ สามารถตีแตกโดยง่ายจริงๆ

หน่วยทะลวงฟันพม่าที่เข้าเมืองได้เจ็ดคนแรกพากันรุกไล่ชาวเชียงใหม่อย่างสนุกสนาน แต่อยู่ๆพวกเขาก็พบว่าถูกล้อมไว้ทั้งหน้าหลัง คล้ายศัตรูจงใจล่อเฉพาะพวกตนให้เข้ามาในเมือง

แต่พวกมันทำแบบนี้ทำไม?

...ทะลวงฟันพม่าเห็นชาวเมืองผอมกระหร่องมากมายกำลังจ้องพวกตนตาวาว พร้อมกับน้ำลายไหล... ...!? คงเดาฉากต่อไปได้ไม่ยากนัก ส่วนพม่าที่เหลือเห็นศัตรูป่าเถื่อนเพียงนี้ก็พากันเสียขวัญจนพ่ายแพ้ศึกดังกล่าวในที่สุด


เรื่องนี้มาจากหนังสือ "ตำนานสิบห้าราชวงศ์" ซึ่งเป็นคัมภีร์ใบลานโบราณ บันทึกเรื่องประวัติศาสตร์ล้านนานะครับ

ต้นฉบับจะเขียนประมาณว่า
ชาวเชียงใหม่ถูกพม่าล้อมไว้หิวมากจน "ช้าง ม้า งัว ควาย เป็ด ไก่ หมู หมา หัวบุก หัวหอม หัวกล้วย ก็พากันกินกันบ่ค้าง บ่หลอ" และ "แม่นจั๊กก่า จั๊กกิ้ม ตั๊กแตน ก็บ่ค้าง"

คือกินทุกหมดอย่างแล้ว หิวหน้ามืด ทนไม่ไหวจริงๆ จนนำไปสู่ "ยังมีในวันนึง ม่านปีนเข้าแจ่งสรีภูมิ เจ้าพระยาจ่าบ้านขับกันต้อนรบ ม่านถอยคืน ม่านสลำเข้ามาเจ็ดคน ฆ่าตายแล้วพากันกินชิ้นม่านขับเสี้ยง"

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 29 พ.ค. 18, 07:55

การเมาตัวเลขพ.ศ.ของผม เลยทำให้นักเรียนหลังห้อง(ซึ่งถือว่าเป็นแถวหน้าเพราะทั้งห้องมีอยู่แถวเดียว)เมาตามไปด้วย คุณราชปักษาเลยหลุดว่าแลทอโป่คะแมหวุ่น นำทัพพม่าเข้าประชิดเชียงใหม่ในช่วงปลายปี ๒๕๑๘

เรื่องคนเชียงใหม่รุมฆ่าพม่า ๗ คนไปทำหลู้แบ่งกันกินนั้น ดูจะสยองเกิน แต่เรื่องทั้งเรื่องถ้าตัดฝอยออกก็มีเค้าว่า ครั้นทัพไทยถอยลงไปแล้ว โปมะยุง่วนก็ส่งทัพไปยึดคืนได้อีก เป็นการเปิดศึกพิษณุโลก ซึ่งเป็นศึกใหญ่ศึกสำคัญในประวัติศาสตร์ช่วงสมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี

เมื่อคืนนอนฟังอาจารย์สุเนตรตามที่คุณหมอเพ็ญโยงให้จนจบ ความจริงผมเป็นแฟนติดตามฟังท่านอยู่เสมอ แต่ตอนศึกอะแซหวุ่นกี้นี่ จำไม่ได้ว่าเคยผ่านหูหรือเปล่า หรือหากเคยได้ฟังก็ไม่ใช่ในอารมณ์นี้
อาจารย์สุเนตรพูดในตอนหนึ่งว่า เมื่อกองทัพธนบุรีขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ พม่าต้านได้สักพัก โปมะยุง่วนก็สั่งทิ้งเมือง นำทัพหนีไปตั้งหลักอยู่เชียงแสน พอทัพไทยเตรียมตัวจะตามไปตีต่อ ก็ได้ข่าวศึกอะแซหวุ่นกี้โผล่มาทางเมืองระแหง ชะรอยจะเป็นกลศึกล่อเสือออกจากถ้ำ ให้กองทัพของไทยบุ่มบ่ามไปติดมุมกระดาน แล้วตัดกลางเข้าโอบล้อมทำลาย เจ้าพระยาจักรีจึงได้รีบถอยทัพกลับมาป้องกันพิษณุโลกตามแผน

เป็นไปได้ทีเดียว จากหลักฐานของไทย ทั้งฉบับหลวงและพงศาวดารล้านนา ศึกอะแซหวุ่นกี้ที่พิษณุโลกเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะตกหล่นไปจากพงศาวดารฉบับมหาราชวงศ์คองบอง โดยรวบรัดให้จบดังย่อหน้าสุดท้ายของคคห.ก่อนหน้าของผม ราชบัณฑิตของพม่าทำเช่นนั้นทำไม? การฟังอาจารย์สุเนตรคราวนี้ผมคิดว่ามีคำตอบ

ตามชีวประวัติของอะแซหวุ่นกี้นั้นจบไม่สวย  สุดท้ายถูกพระเจ้าปดุงสั่งริบราชบาทว์และประหารชีวิตฐานเป็นกบฏ คนเยี่ยงนี้จึงไม่สมควรเป็นพระเอกในประวัติศาสตร์พม่าตามความเห็นของราชสำนักคองบอง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 29 พ.ค. 18, 09:13

ความจริงที่เป็นเบื้องหลังความรีบร้อนตรงนี้ก็คือ อะแซหวุ่นกี้นั้นมีธิดาคนหนึ่ง ซึ่งได้เป็นพระมเหษีของพระเจ้าเซงกูเมง พระราชโอรสของพระเจ้ามังระ ผู้เสด็จขึ้นผ่านพิภพท่ามกลางความขัดแย้งในบรรดาราชสกุล อะแซหวุ่นกี้ต้องการรีบกลับไปคุ้มกันลูกเขยและลูกสาวของตน

ตามธรรมเนียมการสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์คองบองนั้น พระเจ้าอลองพญาออกกฏเกณฑ์ไว้ว่า หากสิ้นพระองค์ ก็ให้พระราชโอรสองค์ใหญ่ขึ้นครองราชย์ เมื่อพระราชโอรสองค์นั้นหาไม่แล้ว ก็ให้พระราชโอรสองค์รองๆขึ้นครองต่อ ตามลำดับ ดังนั้นหลังจากพระเจ้าอลองพญาสวรรคต พระเจ้ามังลอกขึ้นเป็นกษัตริย์ แล้วจึงมาถึงพระเจ้ามังระ ซึ่งต้องการเปลี่ยนคำสั่งของพระราชบิดา โดยต้องการให้เซงกูเมง พระราชโอรสของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ต่อแทนที่จะเป็นพระราชอนุชา จนมีการวางแผนกันขึ้น โดยอแซหวุ่นกี้ก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ร่วมอยู่ในขบวนการครั้งนั้น

ตอนปลายรัชกาลของพระเจ้ามังระ ทรงพระประชวรกระเสาะกระแสะเจียนอยู่เจียนไปมานาน จึงเป็นไปได้ว่าอะแซหวุ่นกี้ได้ข่าวก่อนการสวรรคตเล็กน้อย แต่คลุมเครือว่าเสด็จสวรรคตแล้วตามข้อนินทา การถอนทัพอย่างฉุกละหุกทำให้ม้าเร็วที่อะแซหวุ่นกี้จัดไปส่งข่าว ถึงมือเพียงของเนเมียวสีหบดี แม่ทัพทางภาคเหนือเท่านั้น ส่วนภาคใต้ไปไม่ถึง ทำให้พม่าทัพนั้นเดินทางเข้ามาถูกฝ่ายไทยขยี้ละลายไปทั้งกองทัพ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 29 พ.ค. 18, 10:39

พระเจ้าเซงกูเมง มีอีกพระนามหนึ่งที่คนไทยเรียกคือพระเจ้าจิงกูจา เมื่อทรงตั้งหลักได้มั่นคงดีแล้ว พระราชกรณียกิจที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ออกพระราชโองการให้ถอดยศอะแซหวุ่นกี้ ข้อหาว่ามีอำนาจบารมีเกินไป หรืออาจจะชอบถวายคำปรึกษาที่ไม่ใช่แนวชอบของพระองค์ก็ได้ หลังหมดตำแหน่งหน้าที่แล้ว พระเจ้าเซงกูเมงก็เนรเทศพ่อตาไปอยู่เมืองสะกาย (ห่างจากอังวะประมาณ ๕ ก.ม. แต่อยู่คนละฝั่งกับแม่น้ำอิระวดี)
 
แต่แล้วความประมาทของพระเจ้าเซงกูเมงก็ทำให้พระองค์ถูกรัฐประหารโดยเจ้าชายแห่งเมืองปดุงกับพวกขุนศึกเฒ่าระดับบิ๊กๆที่ถูกปลดหรือถูกลดอำนาจหลายคน อาศัยจังหวะที่พระองค์เสด็จไปนมัสการพระสถูปสำคัญต่างเมือง คณะรัฐประหารได้สถาปนาเจ้าชายหม่องหม่อง พระราชโอรสของมังลอกขึ้นเป็นพระเจ้าอังวะพระองค์ใหม่แทน

แต่พระเจ้าหม่องหม่องทรงครองราชย์อยู่ได้เพียงหกราตรี ก็สิ้นวาสนา

เรื่องนี้คุณศรีสรรเพชญ์เคยเขียนไว้ว่า ตามพระราชโองการของพระเจ้าอลองพญา ระบุให้พระราชโอรสของพระองค์ขึ้นครองราชย์ไปตามลำดับ ดังนั้นในเมื่อพระเจ้ามังลอก พระเจ้ามังระ กับพระเจ้าอะมยิงโอรสที่อายุมากตามลำดับสามองค์สิ้นไปแล้ว พระเจ้าปดุงซึ่งเป็นโอรสองค์ที่ ๔  ย่อมมีความชอบธรรมที่จะได้ครองราชย์ต่อตามพระราชโองการดังกล่าว

อาจจะเป็นไปได้ ที่ว่าพระเจ้าปดุงอยากจะมีอำนาจตั้งแต่แรก เลยร่วมกับกลุ่มขุนทหารเฒ่าล้มพระเจ้าเซงกูเมง แล้วยกพระเจ้าหม่องหม่อง ขึ้นมาเชิดชั่วคราว หรืออาจจะเพื่อให้หม่องหม่องตายใจ  เพียงแค่ ๖ วันหลังจากนั้น อะตวิงหวุ่นหัวหน้าคณะรัฐประหารก็ล้มหม่องหม่อง ด้วยข้ออ้างว่าควรจะยึดตามพระราชโองการพระเจ้าอลองพญา แล้วเชิญพระเจ้าปดุงมาเป็นกษัตริย์ สำเร็จเสร็จสรรพแล้ว พระเจ้าปดุงกลับสั่งจับอะตวิงหวุ่นกับพรรคพวกไปประหารชีวิต อาจจะเพื่อไม่ต้องการให้มีขุนนางที่เป็น King Maker มามีอิทธิพลเหนือพระองค์ก็เป็นได้ครับ มหาสีหสูระ(อะแซหวุ่นกี้)เองก็คงเห็นว่าพระเจ้าปดุงยากจะเชิดไว้เลยหนุนให้พระเจ้าสิตาน้องพระเจ้าปดุงกบฏ แต่ไม่สำเร็จเลยถูกประหารไปอีกคนหลังจากพระเจ้าปดุงครองราชย์ได้เพียง ๑๒ วันครับ

หลังจากนั้นพระเจ้าปดุงก็ปราบพระเจ้าเซงกูเมงที่ย้อนกลับมาทวงราชสมบัติ รวมทั้งพระราชอนุชาหลายพระองค์และขุนนาง นายทหารที่ต่อต้านพระองค์จำนวนมากอย่างเหี้ยมโหด จนไม่มีใครกล้ากบฏต่อพระองค์
ฟังอาจารย์สุเนตรเมื่อคืนเล่าว่า พระเจ้าปดุงระแวงคนจะลอบทำร้ายพระองค์มาก ขนาดต้องย้ายที่บรรทมทุกคืน ในที่สุดก็อยู่เมืองอังวะไม่เป็นสุข ทรงหาว่าเมืองอังวะเป็นอุบาทว์แก่พระองค์จึงมีพระราชบัญชาให้ย้ายเมืองหลวงใหม่ ไปสร้างพระราชวังที่อมระปุระ ซึ่งความจริงก็ไม่ได้ไกลอะไร อยู่ห่างขึ้นไปทางทิศเหนือเพียงสิบกว่ากิโลเมตรเท่านั้น

เมื่อกษัตริย์ไป ทุกคนก็ต้องโดยเสด็จไปหมด รวมทั้งพระมหาเถระเจ้าอุทุมพรซึ่งทรงพระชราแล้ว ต้องทรงย้ายจากวัดมะเดื่อไปอยู่ที่วัดโยเดีย ซึ่งตั้งอยู่ที่ดอนลินซิน หรือดอนล้านช้างตามชื่อเรียกของชุมชนในอดีต แม้จะไม่มีหลักฐานว่าพระองค์เสด็จสวรรคตที่นั่น แต่มีความชัดเจนว่า พระเจ้าปดุงได้พระราชทานเพลิงพระบรมศพพระองค์ ณ ดอนลินซินแน่นอน
บันทึกการเข้า
ราชปักษา
อสุรผัด
*
ตอบ: 23


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 29 พ.ค. 18, 15:17

เข้ามาเช็กชื่อ

ลับ ลวง พรางแท้ อ่านแบบนี้เข้าไป ทำเอาการชิงบัลลังค์สมัยพระเจ้าปราสาททอง หรือ พระเจ้าบรมโกศกลายเป็น การเล่นของอนุบาลแย่งเก้าอี้กันเลย
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 29 พ.ค. 18, 19:01


พระเจ้าปดุง​โดนพระเจ้าจิงกูจาจับมาไว้ที่เมืองสะกายก่อนครับ
ถ้าไม่ยึดอำนาจต่อก็เตรียมโดนกำจัดต่อไปครับ
บันทึกการเข้า
ราชปักษา
อสุรผัด
*
ตอบ: 23


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 30 พ.ค. 18, 00:16

ต่อท่อนสุดท้าย

ฝ่ายกรุงอังวะนั้น พระเจ้ามังระ เชงพยูชิน (พระเจ้าช้างเผือก) เสด็จสวรรคตเมื่อวันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๓๑๙ พระเจ้าเซ่งกูผู้เป็นพระโอรสจึงทรงขึ้นครองราชย์สืบต่อ และมีรับสั่งให้กองทัพทั้งหมด เช่น ทัพของพระมหาสิงหะสูระ (ฉบับพระราชหัตถเลขาเรียกว่า อะแซหวุ่นกี้) จากระแหงหนึ่งทัพ ทัพของพระเนมโยสิงหะปกติให้ไปตั้งอยู่ที่จันทบุรีหนึ่งทัพ และทัพของผู้ว่าเมืองเชียงใหม่ที่พระบิดามีรับสั่งให้ไปตีกรุงบางกอกธนบุรีอีกหนึ่งทัพ เดินทัพกลับเข้ากรุงอังวะทั้งหมด


พงศาวดารตรงนี้ มีประเด็นให้คิดเล็กน้อย  ทัพของเนเมียวสีหบดีที่จันทรบุรี (ใช้ชื่อที่คุ้นหูดีกว่า เดี๋ยวเป็นภาระให้ท่านอาจารย์ต้องอธิบาย)

ไมต้องขยายความ นักเรียนนิสิตที่เข้าลงทะเบียนห้องเรียนนี้ รู้กันหมดแล้ว นามนี้ คือ บรรดาศักดิ์ ไม่ใช่ชื่อบุคคล แต่มีปัญหาให้คิด 2 เรื่อง

1. เนเมียวสีหบดีคนนี้มีที่มายังไงปรากฎตัวมาตอนไหน  แต่ที่แน่นอนคือ เขาต้องเป็นนายทหารคนละคนกับ เนเมียวสีหบดีผู้มีมารดาเป็นลาวและตีอยุธยาแตก ซึ่งในทีนี้ขอกำหนดว่า เนเมียวสีหบดี ก.
ถ้านับตามไทม์ไลน์ เนเมียวสีหบดี ก.คนนี้หลังจากพ่ายศึกเชียงใหม่ ก็ได้หลบหนีพระราชอาญาของมังระไปซ่อนอยู่ละแวกตองอู และ ไม่ได้เข้าร่วมในสงครามนี้ ฉนั้น เนเมียวฯรายนี้น่าจะเป็นคนอื่นที่ตั้งตำแหน่งมาใหม่


2. พงศาวดารพม่าระบุว่าตั้งทัพอยู่ที่จันทรบุรี  แต่ๆๆ จากหลักฐานต่างๆนั้น ไม่เคยพบว่า มีทหารพม่ากองไหนฝ่าด่านค่ายของพระเจ้ากรุงธนฯล่วงล้ำมาเกินเขตจังหวัดไชยนาทได้  คงเป็นไปไม่ได้ที่ทหารกองนี้จะดำดินไปโผล่ที่จันทบุรี นอกเสียจากเดินทัพเข้าจากเส้นทางสายอีสานทะลุนครราชสีมา แล้วก็ผ่าลงไปทีจันทบุรี  แต่หากเป็นการบันทึกคลาดเคลื่อน มันน่าจะเป็นเมืองไหน หรือ จะบันทึกผิดเป็นเวียงจันทน์  ซึ่งเวลานั้น สิริบุญสารก็ยังสวามิภักดิ์พม่าอยู่

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 30 พ.ค. 18, 07:00

หนังสือเรื่อง "โยเดียกับราชวงศ์พม่า" ซึ่งผมซื้อมาแล้วนำไปให้คุณมิคกี้ ฮาร์ท ผู้เขียนลงนามให้เป็นที่ระลึกเล่มนี้ ได้เปิดหูเปิดตาผมจากมุมมองของพม่าที่มองไทยมาก ประวัติศาสตร์พม่าบันทึกแทบจะเป็นคนละเรื่องเดียวกันกับของไทย โดยภาพรวมแล้ว ผู้อ่านจะเห็นการแย่งชิงอำนาจระหว่างกษัตริย์ต่อกษัตริย์ราชธานีต่างๆเพื่อชิงความเป็นใหญ่ในอนุชมพูทวีป ส่วนเมืองเล็กๆก็ได้แต่มองทิศทางลม ศึกนี้จะเข้ากับฝ่ายใดจึงจะรอดตัว ไม่ได้มีความคิดในเรื่องชาติและประเทศตามนิยามในปัจจุบันเลย มิน่าเล่า คนพม่าจึงไม่เคยนึกเกลียดคนไทย เหมือนกับที่เราที่เคยได้รับการฝังหัวว่าพม่าเป็นศัตรูของประเทศชาติตลอดกาล

แต่ก็อย่างว่า ก็ในอดีตเราเป็นฝ่ายถูกกระทำ เหมือนลาว เขมร และมลายูที่ทุกวันนี้เกลียดคนไทยนั่นเอง

ก่อนที่จะออกนอกประเด็นไปกันใหญ่ ขอกลับมาที่กระทู้ หากพระเจ้ามังระไม่สวรรคต  ไม่มีการเรียกกองทัพพม่ากลับ  การศึกระหว่างไทยกับพม่ายังคงดำเนินต่อไป  กรุงธนบุรีจะสามารถต้านทานกองทัพพม่าได้หรือไม่  หรือไทยจะต้องเสียกรุงครั้งที่ ๓ ซึ่งคุณราชปักษาก็ตอบแบบตรงคำถามไปแล้ว ผมไม่มีข้อขัดแย้งแต่ประการใด ส่วนที่ทิ้งปริศนาไว้ว่า เกี่ยวกับเรื่องถอนทัพ ก็มีเรื่องไม่กันอยู่คือ พงศาวดารฝ่ายเราจะบันทึกว่า พระเจ้ามังระสวรรคตกะทันหัน การถอยทัพเป็นแบบฉับพลัน แต่ทางพม่าบอกว่า ราชสาส์นนี้ถูกส่งมาก่อนที่พระเจ้ามังระสวรรคต เนืองจากทรงเห็นว่า รบต่ออาจจะแพ้ ก็เป็นเรื่องต้องศึกษาต่อไปนั้น มิคกี้ ฮาร์ท ซึ่งอ้างอิงพงศาวดารกุงบองเชกมหาราชวงศ์หลวง (กุงบองก็คือคองบองที่เรียกแบบไทย) เขียนไว้ว่า

"ฝ่ายกรุงอังวะนั้น  พระเจ้าเชงพยูชิน (พระเจ้าช้างเผือก (มังระ)) เสด็จสวรรคตเมื่อวันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๓๑๙ พระเจ้าเซ่งกูพระราชโอรสจึงทรงขึ้นครองราชย์สืบต่อ และมีรับสั่งให้กองทัพทั้งหมด เช่น ทัพของมหาสิงหะสูระ (ฉบับพระราชหัตถเลขาของไทยเรียกอะแซหวุ่นกี้) จากระแหงหนึ่งทัพ ทัพของพเนมโยสิงหะปติ(เนเมียวสีหะบดี)ที่ไปตั้งอยู่ที่จันทบุรี(เวียงจันท์)หนึ่งทัพ และทัพของผู้สำเร็จราชการเมืองเชียงใหม่ที่พระบิดามีรับสั่งให้ไปตีบางกอกธนบุรีอีกหนึ่งทัพ เดินทัพกลับเข้ากรุงอังวะทั้งหมด"

รายละเอียดก่อนหน้าตามที่คุณราชปักษาแยกแยะไว้เป็นข้อๆนั้น มีทั้งที่ตรงกันและไม่ตรง ผมจะทะยอยนำมาลงไว้ให้เพื่อเป็นการเปรียบเทียบด้วย

ผมเอาความท่อนจบนี้ไปอยู่ในบทนำตั้งแต่แรก ซึ่งตอนนั้นได้วงเล็บชื่อเมืองที่พม่าเรียกว่าจันทบุรีไว้ ซึ่งคนละเมืองกับที่พระยาตากเคยหนีพม่าไปตั้งหลักที่นั่นนะครับ ตอนแรกที่อ่านของมิคกี้ผมก็สับสนอยู่ยกใหญ่
ส่วนเนเมียวสิงหะบดีในพงศาวดารไทย กับพเนมโยสิงหะปติในความข้างบนจะเป็นคนเดียวกันหรือไม่ ยังไม่ได้ไปค้นหาครับ ขณะนี้ไม่อยากเดา
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 30 พ.ค. 18, 07:11


พระเจ้าปดุง​โดนพระเจ้าจิงกูจาจับมาไว้ที่เมืองสะกายก่อนครับ
ถ้าไม่ยึดอำนาจต่อก็เตรียมโดนกำจัดต่อไปครับ


ในเทปของอาจารย์สุเนตรดูเหมือนท่านจะเอ่ยไว้ มีเจ้านายหลายคน น่าจะเอ่ยชื่อพระเจ้าปดุงด้วย รวมถึงขุนทหารที่ปลดชรา พระเจ้าเจงกูจาสั่งเนรเทศไปอยู่ที่สะกายหมด ไม่นานพวกนี้ก็สมาคมกันจนก่อเกิดเป็นคณะรัฐประหาร ย้อนกลับไปจัดการตั้งกษัตริย์พระองค์ใหม่ขึ้นแทน

สะกายอยู่ใกล้อังวะนิดเดียว หากไม่นับที่ต้องนั่งเรือข้ามอิระวดีแล้ว ขี่ม้าไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็ถึงพระราชวัง จะเนรเทศทั้งทีทำไมขยักขย่อนอย่างนั้นก็ไม่รู้ ต้องให้ไปโน่น แม่ฮ่องสอน ปลอดภัยแน่นอน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 20 คำสั่ง