เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 1631 ขออนุญาตเรียนถามเพื่อตามหากาพย์ชนิดหนึ่งครับ
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 10 เม.ย. 18, 19:10

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ ณ เรือนไทยทุกท่านครับ

   เทศกาลงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ผ่านมา ตำรา “จินดามณี” ของท่านพระโหราธิบดีกำลังมาแรง สร้างประวัติการณ์ให้แก่สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หนังสือขายดียิ่งกว่าเทน้ำเทท่าเทมหาสมุทร ดังนั้น ผมเลยถือโอกาสตั้งกระทู้ขอความรู้เสียเลยครับ

   จากการกลับไปอ่านทบทวนจินดามณีฉบับนี้อีกครั้ง ผมพบฉันทลักษณ์ชนิดหนึ่งซึ่งยังตรวจไม่เจอว่าชื่ออะไร อยู่ถัดจาก “ประทุมรัตนฉันท์ ๓๕” ขอนำเสนอต่อท่านผู้อ่านครับ

ประทุมรัตนฉันท ๓๕ กลอน ๕ ฯ ทำนุก ฯ

   “แต่อาทิยังมี
ราชาธิบดี
ธิบดินทรมหา
กษัตราธิกชาติ
ธิกชัยเชษฐา
ทรงนามสมยา
พรหมทัตภูมี
•   ท้าวนั้นเฉลียวฉลาด
รู้ศิลปะศาตร
ธนูศรศรี
หมู่ขัตติยพรรค
กลัวเดชฤทธี
ทั่วท้องธาษตรี
เลื่องฦๅฤทธิไกร ฯ
•   กูเห็นคนเฒ่า
แกถือไม้เท้า
ชรรุดชรเชรบัดสี
เห็นทั้งคนไข้
•   ------* (ตรงนี้ ข้อความขาดหาย)
•   เห็นคนแบกผี
ไต่เต้าเดอรโดยรัถยา
•   กูเห็นกูคิด
ตัวกูบผิด
บแผกแก่กายอาตมา
แห่งกูกูคิด
อนิตย์ในอนัตตา
บำเพ็ญภูตา
เกิดมาแล้วจักประไลย ฯ”

สำนวน “แต่อาทิยังมี ฯลฯ” นั้น ผมพอจะไขออกแล้วครับว่าเป็นกาพย์สุรางคนางค์ ๓๕ บทหนึ่งมี ๗ วรรค วรรคละ ๕ คำ ส่วน “กูเห็นคนเฒ่า ฯลฯ” แม้ยังไม่รู้ชื่อ ก็พอสรุปได้คร่าวๆว่า เป็นกาพย์ผสมชนิดหนึ่ง ประกอบสร้างขึ้นจากกาพย์สุรางคนางค์บวกกาพย์ฉบัง ด้วยเหตุที่ลีลาต่างกัน จึงมิน่าจะเป็นร้อยกรองรูปแบบเดียวกันไปได้ กวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์อย่างท่านเปโมรา ก็เคยนำกาพย์ ๓๕ ชนิดนี้ไปใช้นิพนธ์งานชุด “ฉันท์เยาวพจน์” ของท่าน ปรากฏอยู่ในเรื่อง “เสือข้ามฟาก” ท่านเขียนเลข ๓๕ เอาไว้ก่อนเริ่มคำประพันธ์ แต่ก็ไม่ระบุนามฉันทลักษณ์ ไม่แปลกหรอกครับสำหรับยุคนั้น เพราะนักปราชญ์แหละคนอ่านคนฟังร่วมสมัยคงจะรู้จักดี ทว่าพอเวลาผ่านมาหลายทศวรรษ คนรุ่นหลังอย่างผมตามไม่ทันจริงๆ ขออนุญาตเขียนข้อความทั้งหมดจากความทรงจำของผมให้ท่านอ่านนะครับ

   “ครานั้นเสือเฒ่า
โดดน้ำตามเขา
ละล้าละลังลอยไป
ว่ายน้ำข้ามฟาก
ก็ลุตลิ่งทันใด
หิวหอบบอบใจ
จะจับจิงโจ้ก็โจนหาย
   เที่ยวเดินซ่องแซ่ง
หิวหอบท้องแห้ง
ซระทรุดซระเซทรงกาย
อดเหนียวเปรี้ยวปาก
ประดุจเจียนจวนตาย
หมากพลูเคี้ยวคาย
ถึงปักกะตูก็แลมอง
   ตั้งตาชำเลือง
พบพลูใบเหลือง
จะกละจะกลามกินลอง
เสือหิวบัดสี
บคิดแก่กายลำพอง
พบภักษ์พอครอง
ก็ร้องระแรกกระหึมครึม เอย”

เหตุที่กาพย์ดังกล่าวใช้ตัวเลข ๓๕ กำกับ ก็เพราะบทหนึ่งกำหนด ๗ วรรค โดยแต่ละวรรคบรรจุถ้อยคำดังนี้
วรรคแรก ๔ คำ
วรรค ๒ ๔ คำ
วรรค ๓ ๖ คำ
วรรค ๔ ๔ คำ
วรรค ๕ ๖ คำ
วรรค ๖ ๔ คำ
วรรค ๗ ๗ คำ
๔+๔+๖+๔+๖+๔+๗ = ๓๕

   ครับ แม้ผมยังมิได้รับความกระจ่างจากจินดามณีของท่านพระโหราธิบดีก็ยังไม่หมดหวังง่ายๆ เพราะยุคดิจิทัลเช่นปัจจุบัน มีหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (อีบุ๊ค) นับมิถ้วน โชคร้ายอยู่สักหน่อยก็ตรง อีบุ๊คซึ่งมีให้ดาวน์โหลดกันส่วนใหญ่นั้น จัดเก็บในแบบอักษรภาพ (กราฟิก) โปรแกรมสังเคราะห์เสียงสำหรับช่วยเหลือคนตาบอดอ่านหน้าจอในการใช้คอมพิวเตอร์ที่ผมพึ่งพาอยู่ยังไม่มีศักยภาพมากพอจะอ่านออกครับ ผมจึงตั้งกระทู้ เผื่อว่าเหล่าท่านผู้สายตาปรกติทั้งหลาย ท่านใดมีหนังสือกระดาษ มีอีบุ๊คจินดามณีฉบับอื่นๆ อีกทั้งตำราแต่งร้อยกรองหลากหลายเล่มไว้ในครอบครอง จะสามารถช่วยเหลือผมได้บ้าง ท่านใดพอจะทราบว่า กาพย์ ๓๕ อันโบราณาจารย์กวีท่านสรรค์สร้างผสมผสานกาพย์สุรางคนางค์กับกาพย์ฉบังเข้าด้วยกัน มีชื่อเรียกจำเพาะเจาะจงว่าอะไร โปรดการุณเอื้อวิทยาทานให้ผมด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถือ
นายชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
๑.   หนังสือจินดามณี เล่ม ๑ และจินดามณีฉบับใหญ่บริบูรณ์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร จัดพิมพ์ ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๖๑
๒.   ฉันท์เยาวพจน์ของท่านเปโมรา บทเสือข้ามฟาก จากเว็บไซต์ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ

http://vajirayana.org/%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9E%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B9%8C/%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9E%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B9%8C
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 เม.ย. 18, 20:26

ใครพอจะช่วยคุณชูพงศ์ได้บ้างคะ  ฝากด้วย
ดิฉันไม่มีจินดามณีอยู่ในมือตอนนี้
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 10 เม.ย. 18, 20:51

จินดามณี เล่ม ๑-๒ กับ บันทึกเรื่องจินดามณี และ จินดามณี ฉบับสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ

http://www.car.chula.ac.th/rarebook/book/54_265/mobile/index.html
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 เม.ย. 18, 21:17

ขอบคุณคุณเพ็ญชมพู
ไหนๆก็ช่วยเร่ิ่มต้นให้แล้ว  ช่วยถึงตอนจบเลยได้ไหมคะ
คุณชูพงศ์รออยู่
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 เม.ย. 18, 21:25

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูครับ

   ข้อความในจินดามณีที่ผมกล่าวถึงนั้น คุณน้าบอกผมพิมพ์ครับ เมื่อสอบทานเนื้อหากับหนังสือ (เสียง) วรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม ๒ ที่กรมศิลปากรจัดพิมพ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยหนังสือดังกล่าว มีจินดามณีฉบับพระโหราธิบดีเป็นหนึ่งในวรรณคดีหลายเรื่อง ปรากฏว่าตรงกันเป๊ะๆ ผมเลยไปไม่ถูกครับ

   ขอบพระคุณท่านอาจารย์เพ็ญชมพูครับ สำหรับลิงก์หนังสืออ้างอิงอันทรงคุณค่า แต่ เจ้าโปรแกรมสังเคราะห์เสียงมันไม่ยอมอ่านให้ฟังน่ะซีครับ แย่จัง (ฮือ) คงต้องรบกวนคนตาดีเมตตาปริวรรต พิมพ์กาพย์ ๓๕ ในความสงสัยของผมให้อ่านแล้วหละครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 11 เม.ย. 18, 06:33

จากหน้า ๗๐-๗๑

     ประทุมรัตนฉันท ๓๕ กลอน ๕ ฯ ทำนุก ฯ

     ๏ แต่อาทิยังมี   ราชาธิบดี   ธิบดินทรมหา   กษัตราธิกชาติ   ธิกไชยเชษฐา    ทรงนามสมญา   พรหมทัตภูมี  
     ๏ ท้าวนั้นเฉลียวฉลาด   รู้ศิลปศาตร  ธนูศรศรี   หมู่ขัตติยพรรค   กลัวเดชฤทธี    ทั่วทั้งธาษตรี   เลื่องฦๅฤทธิไกร ๓๕ ฯ
     ๏ กูเห็นคนเถ้า  แกถือไม้เท้า   ชรรุดชรเชรบัดสี   เห็นทั้งคนไข้   (อุบัดดิโรคราวี)*   เห็นคนแบกผี  ไต่เต้าเดอรโดยรัถยา
     ๏ กูเห็นกูคิด  ตัวกูบผิด   บแผกแก่กายอาตมา   แห่งกูกูคิด   อนิตย์โดยอนัตตา   บำเพ็ญภูตา  เกิดมาแล้วจักประไลย ฯ
     ๏ สกลรตนธาตุนาคเตยาคเหต๎วา   ปวรสุคตเวสํ    ปาฏิเหรํกริต๎วา


* ความในหนังสือที่คัดลอกมานี้น่าจะตกหล่น วรรคนี้นำมาจาก http://synergyjapan.com/จินดามณี/



บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 11 เม.ย. 18, 07:14

ขอบพระคุณท่านอาจารย์เพ็ญชมพูเป็นอเนกอนันต์ครับ สำหรับข้อมูลกาพย์ ๓๕  “กูเห็นคนเฒ่า ฯลฯ” ฉบับเต็ม มีครบ ๗ วรรค ทั้งสองบท แม้ตอนนี้ยังคลุมเครือในชื่อคำประพันธ์ แต่ผมเชื่อมั่นว่า ด้วยแรงแห่งความเพียร ใฝ่เรียนใฝ่รู้สม่ำเสมอ (ถ้ามิท้อถอยเสียก่อน) คงมีวาสนา พบนามของฉันทลักษณ์ชนิดนี้เข้าสักวันครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.046 วินาที กับ 19 คำสั่ง