เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 10576 ขออนุญาตเรียนถามความรู้เกี่ยวกับ "วรรณกรรมหลงมิติ" ครับผม
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 05 มี.ค. 18, 19:10

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูและคุณศิลาครับ
   ผมเคยได้ยินชื่อท่านอาจารย์สันต์ เทวรักษ์ อยู่บ้างเหมือนกันครับ แต่ไม่ทราบเลยว่าท่านเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ด้วย รู้จักจำเพาะชื่อนิยายเริงรมย์ประโลมโลกอย่าง “แหวนประดับก้อย” เท่านั้น ขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูอย่างยิ่งครับ ที่กรุณาเพิ่มรายชื่อหนังสือในคลังสมองให้ผม

   นวนิยาย “ทวิภพ” ของท่านอาจารย์ทมยันตี ผมชอบสำนวนภาษาละเมียดละไม และการสร้างตัวละครที่มีชีวิตชีวา แต่ แอบหงุดหงิดเล็กน้อยครับ เพราะเนื้อหาในตอนแรกๆ มณีจันทร์ตั้งปณิธานไว้นักหนาว่า ในฐานะลูกสาวทูตไทยคนหนึ่ง ถ้าย้อนเวลากลับไปสมัย ร.ศ. ๑๑๒ อีก จะพยายามแก้ไขสถานการณ์ของสยามซึ่งเสียเปรียบฝรั่งเศสอย่างสุดความสามารถ แต่พอเรื่องดำเนินต่อไป ท่านผู้ประพันธ์กลับเน้นน้ำหนักเกี่ยวกับความรักใคร่ใกล้ชิดระหว่างแม่มณีกับคุณหลวงเทพฯ เสียอย่างนั้น ไม่มีฉากสงครามวาจาปะทะคารมชนิดถึงพริกถึงขิงระหว่างสองประเทศให้อ่านแบบดุเด็ดเผ็ดมัน ทำให้มิทราบว่านางเอกของเราในฐานะผู้ช่วยทูตฝ่ายสยามมีทักษะวาทศิลป์เพียงใด และมีกุศโลบาย วิเทโศบายมากน้อยแค่ไหน นี่เป็นเหตุผลสำคัญทำให้ผมฟังนวนิยายเรื่องนี้เพียงรอบเดียวครับ

ผมเคยได้ยินว่า คุณหญิงวิมล สิริไพบูลย์ ท่านเขียนนวนิยายแนววิทยาศาสตร์ไว้เรื่องหนึ่ง ชื่อ “ทิพย์” แต่ยังไม่เคยฟังสักครั้งเดียว  ท่านใดอ่านมาแล้ว ช่วยแบ่งปันความรู้สึกให้ฟังสักหน่อยเถิดครับ

   สมัยยังเด็กๆ ผมเคยติดตามผลงานของท่านอาจารย์จินตวีร์ วิวัธน์ ผ่านละครวิทยุคณะ สยาม๘๑ ของคุณอาทร พาทีพัฒนะ ครับ เพื่อนแนะนำให้ฟังก็ฟังตามเขา ครั้นเวลาผ่านไป โลกการอ่านของคนตาบอดกว้างขวางมากกว่าแต่ก่อน บรรดาผู้ดวงตาพิการหลากเพศหลายวัยก็ซื้อหนังสือที่ท่านเขียนไปให้ห้องสมุดสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยผลิตเป็นซีดีหนังสือเสียงออกมาประมาณยี่สิบกว่าเรื่องครับ  ผลตอบรับดีมาก มีคนมายืมฟังเสมอๆ พอๆกับผลงานของท่านอาจารย์ตรี อภิรุม (ไม่รู้ทำไม คนตาบอดจำนวนมิน้อยถึงชอบฟังบันเทิงคดีแนวลึกลับตื่นเต้นสยองขวัญกันนัก)  ส่วนผม เสพเรื่องพรรค์นี้มานานเกือบยี่สิบปี เห็นทีจะใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้วกระมังครับ พอได้ยินข่าวหนังสือนวนิยายแนวสั่นประสาทชวนหวาดผวาเล่มใหม่เข้ามาสู่ห้องสมุด จะค้นหาข้อมูลทางอินทรเนตรก่อน ถ้าเรื่องย่อจากหลายเว็บไซต์ถูกจริต กล่าวคือ เนื้อหาหนักๆ เรื่องรักน้อยๆ ให้ความรู้แขนงต่างๆมากพอสมควร จินตนาการล้ำยุค หรือมิฉะนั้นก็เขียนเพื่อสะท้อนสังคมด้วยชั้นเชิงเสียดสีประชดประชัน จึงจะตกลงปลงใจฟังครับ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 05 มี.ค. 18, 19:38

ทิพย์ เคยอ่านนานมากแล้ว  เกี่ยวกับมนุษย์ต่างดาว  นางเอกมาจากโลกอนาคต พบกับพระเอกที่เป็นชาวโลก  เป็นเรื่องของพลังจิตที่ฮิทกันอยู่ในยุค 1970s หรือราว 40 ปีมาแล้วค่ะ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 06 มี.ค. 18, 09:50

          คุณ chupong ลองฟังหนัง(โรง) ทวิภพ เวอร์ชั่น การเดินทางครั้งใหม่ของมณีจันทร์ หรือยัง
อาจจะชอบในแง่ ไม่เน้นความรักหนุ่มสาวแต่เน้นการเมืองเรื่องเครียดๆ ในสมัย ร.๔ จนทำให้หนังไม่
ประสบความสำเร็จ,โดนแฟนานุแฟนทวิภพต่อต้าน แต่แฟนหนังที่ไม่ยึดติดชอบกันมากและตัวหนังได้
รับการคัดเลือกให้เป็น ๑ ใน ๑๐๐ หนังไทยที่ควรดูในปีแรกของหอภาพยนตร์แห่งชาติด้วย
          หากจะฟังควรมีคนบรรยายภาพในหนังประกอบด้วยเพราะงานภาพสวยงามและสื่อความหมาย,
เล่าเรื่อง(โดยไม่มีการบรรยายแบบอ่านหนังสือ)  
          เรื่อง ทิพย์ ก็เคยอ่านแล้ว ไม่ค่อยมีอะไรติดใจ,จำได้แค่โครงเรื่อง นางเอกเป็นมนุษย์ต่างดาวมา
เยือนโลก,พบพระเอกแล้วก็ต้องจากไป คล้ายๆ นางเอกแบบเรื่อง พิษสวาท - เธอมาจากไหน,เธอเป็นใคร
ทำไมช่างลึกลับและมีอำนาจพิเศษ  ยิ้ม
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 06 มี.ค. 18, 11:57

ภาพยนตร์เรื่องทวิภพเวอร์ชั่นที่คุณศิลากล่าวถึง ผมยังไม่ได้ชื่นชมครับ เหตุก็เพราะกลัวเสียเส้น ไปเจอเรื่องโรแมนติกกุ๊กกิ๊กหวานเจี๊ยบจนแสบทรวง ความประหวั่นลักษณะนี้ทำเอาผมพลาด “ทวิภพ เดอะมิวสิคัล” ไปด้วย แต่พออ่านใจความสำคัญโดยการสรุปของคุณศิลาแล้ว ก็ปรารถนาดูหนังขึ้นมาโดยพลัน อยากศึกษาชั้นเชิงกลยุทธ์ระหว่างเราชาวสยามสมัยกระโน้นกับฝรั่งเศสมากครับ   
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 06 มี.ค. 18, 12:05

        คุณ chupong ลองอ่านกระทู้ ทวิภพ เวอร์ชันนี้ในเรือนไทยได้ที่

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5041.0
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 06 มี.ค. 18, 20:11

ขอบพระคุณลิงก์กระทู้ดีๆจากคุณศิลามากๆครับ  ทัศนะส่วนตัวของผมภายหลังอ่าน (แม้จะไม่เข้าใจรายละเอียดเนื้อหาส่วนที่เป็นภาพก็ตาม) ผู้สร้างภาพยนตร์ครั้งนั้น ถึงจะนอกบทประพันธ์ไปบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับนอกลู่นอกทางเสียทั้งหมด ผิดกับทวิภพซึ่งสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งนำกลับมาสร้างใหม่เมื่อประมาณหกปีที่ผ่านมา ผู้คนเขาวิจารณ์ บ่นกันสนั่นหวั่นไหว  ขนาดผมซึ่งไม่ดูละครหลังข่าวมานานยังรู้เรื่องนี้เลยครับ เพราะเพื่อนๆมาคุยให้ฟัง     
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 07 มี.ค. 18, 09:19

           จากย้อนกลับไปดูกระทู้เก่าเรื่อง ทวิภพ คุณติบอ ที่หายไปในมิติไหนไม่ปรากฏ
ได้เคยกล่าวถึงเรื่องวรรณกรรมข้ามภพว่า

อ้างถึง
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วในแวดวงนักอ่าน
ว่าโครงเรื่องของทวิภพไม่ได้แปลกประหลาดอะไร
เรื่องการย้อนเวลากลับไปในอดีตแล้วทำนั่น นี่ โน่น
มีเพื่อนอยู่ในอดีต หรือตกหลุมรักกับคนในอดีต
นักประพันธ์ระดับโลกเขาเล่นกันมานานแล้ว
อย่างน้อยทั้ง Philippa Pearce และ E Nesbit
ก็เคยใช้มาก่อนใน Tom's Midnight Garden และ The Story of Amulet
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 07 มี.ค. 18, 11:12

     แนวคิดการเดินทางข้ามเวลา (Time travel) กำเนิดขึ้นในวรรณกรรมของอังกฤษตั้งแต่ศตวรรษที่ 19   นวนิยายที่ถือกันว่านำร่องในด้านนี้คือ  The Time Machine ของ H.G. Wells    แม้ว่ามีเรื่องที่เขียนมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ก็ไม่ดังเท่า     เรื่องของเวลส์มีอยู่ว่าพระเอกเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้คิดค้นพาหนะที่เข้าไปนั่งแล้ว พาเขาเดินทางถอยกลับไปในอดีต หรือเดินทางล้ำไปในอนาคตได้
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 07 มี.ค. 18, 12:01

ขอบพระคุณข้อมูลจากท่านอาจารย์เทาชมพูเป็นอย่างยิ่งครับ ผมเข้าใจผิดมาตั้งนานว่า Time Machine กำเนิดขึ้นโดยการ์ตูนโดราเอมอน พอทราบว่าท่าน h.G. wells เป็นผู้ริเริ่ม รู้สึกทั้งทึ่ง ทั้งมหัศจรรย์ นี่คืออีกหนึ่งใน “ผู้มาก่อนกาล” โดยแท้ ขอคารวะภูมิปัญญาอันทรงพลัง ก้าวล้ำนำยุคของท่านครับ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 07 มี.ค. 18, 14:59

พบบทความน่าสนใจเรื่อง

               นิยายวิทยาศาสตร์ แนวเรื่อง “เวลา” และ “การเดินทางไปกับเวลา” ตอน 1

https://goo.gl/MzdThw

ตัดตอนมาเป็นส่วนที่เกี่ยวกับวรรณกรรมข้ามเวลา

.........   แนวเรื่อง “การเดินทางไปกับเวลา” ก็มิใช่ของใหม่แต่ประการใด เนื่องจากมนุษย์เรานั้นผูกพัน
อยู่กับเวลามาโดยตลอดตั้งแต่แรกเริ่ม
            การเดินทางไปกับความทรงจำ (Memory Travel) ไม่ว่าจะเฝ้าฝัน ถึง “เวลาที่ผ่านเลย”
ของเหตุการณ์ในอดีต หรือจะ ใฝ่ฝัน ถึง “เวลาที่ยังมาไม่ถึง” ของเหตุการณ์ในอนาคต การเดินทางไปกับ
ความทรงจำทั้ง 2 ประการดังกล่าวต่างก็เป็นกลวิธีอันเก่าแก่ของมนุษยชาติ
            เห็นได้เสมอในผลงานทางวรรณคดีทั้งโบราณและปัจจุบัน อาทิเช่น “พระมาลัย” ใน ไตรภูมิพระร่วง
“ต้นปาริชาติ” และการระลึกชาติใน กามนิต – วาสิฏฐี 
            “ผี” ที่ปรากฎตัวในบทละครเรื่อง Hamlet ของ วิลเลียม เชคสเปียร์ เสนอให้ผู้อ่านรับรู้การเดินทาง
ไปกับ “ความทรงจำ” อันทุกข์ทนของแฮมเล็ต, อีเบเนเซอร์ สกูร์จ มหาเศรษฐีขี้เหนียว ตัวละครเอกในนวนิยาย
เรื่อง A Christmas Carol (1843) ของชาร์ล ดิกเกนส์ ที่เดินทางย้อนกลับไปดูอดีตของตนเองด้วยการชี้นำ
ของ “วิญญาณแห่งความเมตตา” และเดินทางไปดูหลุมฝังศพของตนในอนาคตด้วยการชักพาของ “วิญญาณแห่งบาป”


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 07 มี.ค. 18, 15:00

        ผลงานเรื่องแรกเกี่ยวกับ “การเดินทางไปกับเวลา” ประวัตินิยายวิทยาศาสตร์ในโลกตะวันตก ได้ยกให้
กับผลงานของ “นักเขียนนิรนาม” ชาวอังกฤษ ผู้เขียนผลงานเรื่อง Missing One’s Coach มาตั้งแต่ ค.ศ.1838
        5 ปีต่อมา เอดการ์ อัลแลน โพ ก็เขียนผลงานเรื่อง A Tale of the Ragged Mountain (1843)
เล่าถึงการเดินทางกลับสู่อดีตในปี 1780 ด้วยวิธีการอันเป็นผลเนื่องมาจากตัวละครในเรื่องติดมอร์ฟีนเกินขนาด
เป็นไปในแง่ “แฟนตาซี” ของอาการทางประสาทหลอน แต่วงการก็จัดให้เป็นแนวเรื่องว่าด้วย “การเดินทางไป
กับเวลา” ในยุคแรกเช่นกัน

        เจ้าของความคิดริเริ่มว่าด้วย “การนอนหลับ” แล้วตื่นขึ้นมาพบว่า “โลกเปลี่ยนแปลงไป” นี้ เห็นทีผู้เริ่มต้น
จะต้องยกให้กับตาเฒ่า ริบ แวน วิงเกิล จากเรื่อง Rip Van Winkel ของวอชิงตัน เออร์วิง เมื่อปี 1819
         ค.ศ.1889 การเดินทางไปกับเวลาโดยกลวิธีการนอนหลับก็มี Connecticut Yankee in King Arthur’s Court
ของมาร์ค ทเวน เล่าถึงตัวละครซึ่งใฝ่ฝันจะมีเครื่องมือเดินทางกลับสู่อดีต วันหนึ่งจึงนอนหลับแล้วไปตื่นขึ้นใน
ยุคสมัยของกษัตริย์อาเธอร์
         กลวิธีการนอนหลับเพื่อการท่องเวลาใน “นิยายวิทยาศาสตร์” อีกเรื่องหนึ่ง The Sleeper Awakes
เขียนโดย เอช.จี.เวลส์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1899 เล่าถึง “แกรม” ตัวเอกของเรื่องนอนหลับไปนานกว่า 200 ปี


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 07 มี.ค. 18, 15:02

        “ยานเวลา” เป็นเครื่องมือในนิยายวิทยาศาสตร์ ที่มีผู้เขียนครั้งแรกมาตั้งแต่ ค.ศ.1881 เริ่มต้นจากนิยาย
วิทยาศาสตร์เรื่อง The Clock That Went Backward ของ เอ็ดวาร์ด เพจ มิตเชลล์ ชาวอเมริกัน เล่าถึง
การใช้ “ยานเวลา” ในรูปของนาฬิกาที่ดูเหมือนชำรุดแล้ว แต่เมื่อเด็กสองคนนำมาไขลาน นาฬิกาเรือนนี้จะเดิน
ย้อนหลังนำคนไขกลับไปสู่อดีตสมัยคริสตศตวรรษที่ 16
        “ยานเวลา” ในนิยายวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ที่ได้ชื่อว่าเป็นลักษณะ “แบบฉบับ” มากที่สุด เพราะสามารถ
เดินทางไปกับเวลาทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แล้วแต่ใจผู้เป็นเจ้าของยาน ก็เห็นจะได้แก่ผลงานเรื่อง Time Machine
ของ เอช. จี. เวลล์ ที่เขียนขึ้นเมื่อ ค.ศ.1895

         อิทธิพลของ เอช. จี. เวลล์ ในการให้ลักษณะ “แบบฉบับ” เกี่ยวกับ “ยานเวลา” มีส่วนบันดาลใจให้นักเขียน
นิยายวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ แสดงผลงานของตนออกมาแตกต่างกันไปแล้วแต่ “กลวิธี” ที่กำหนดขึ้น บางเรื่องก็ใช้
วิธีการอื่นแล้วแต่จะจินตนาการ มิได้ใช้ “ยานเวลา” เป็นเครื่องมือเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ดี การเติบโตของแนวเรื่อง
“การเดินทางไปกับเวลา” ได้เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น

น่าเสียดาย,ไม่พบตอนที่ 2


บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 07 มี.ค. 18, 16:40

ผมก็เสียดายเช่นกันครับคุณศิลา กำลังอ่านเพลิดเพลินเลย ผลงานของนักประพันธ์นวนิยายวิทยาศาสตร์ในแนวท่องไปกับเวลาแต่ละท่าน สร้างจินตนาการได้กว้างไกลไพศาลดีเหลือเกิน
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 07 มี.ค. 18, 17:13

นอกจาก Time travel ใน wikipedia แล้ว  https://en.wikipedia.org/wiki/Time_travel

ยังมี การเดินทางข้ามเวลา เวอร์ชั่นวิกกี้ไทยด้วย https://goo.gl/YMkMcN
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 07 มี.ค. 18, 20:20

ตะลึงลาน! ผมตื่นใจเป็นอเนกครับคุณศิลา เมื่อได้อ่านวรรณกรรมแนวข้ามกาลผ่านสมัยหลายเรื่อง แม้จะเพียงย่อๆพอสังเขป พลังทางความคิดอันพิสดารพันลึก ท้าทายต่อการพิสูจน์ก็ยังคงเขย่าพิภพจนสัมผัสได้ถึงแรงสะเทือน และคงจะเป็นเช่นนี้อีกนานแสนนาน ดุจเดียวกับความพยายามของมวลมนุษย์ผู้มิหยุดศึกษาแสวงหาความจริง
ว่าแต่ สมมุติ ถ้าสักวัน (อาจอีกหนึ่งสหัสวรรษข้างหน้า) มนุษย์สามารถเดินทางไปยังอนาคต และกลับคืนสู่อดีตได้จริง โลกทั้งใบจะอลวนอลเวงสักเพียงไหนหนอ?   
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.053 วินาที กับ 19 คำสั่ง