เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 48070 Dramatic license กับ ข้อเท็จจริง ใน บุพเพสันนิวาส
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 180  เมื่อ 22 มี.ค. 18, 15:46

ท่านเหล็กจากไป,ไว้ทุกข์

จาก พัฒนาการธรรมเนียมไว้ทุกข์ จากระเบียบรัฐสู่มารยาทสังคม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

           ธรรมเนียมการไว้ทุกข์ที่ปฏิบัติกันอยู่เช่น การนุ่งขาวห่มขาว การใส่ชุดดำ หรือแม้แต่การโกนผม
จะเป็นธรรมเนียมแต่ดั้งเดิมหรือไม่ ดูเหมือนว่า สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงมีพระวินิจฉัย
เป็นพระองค์แรกว่า “ธรรมเนียมการไว้ทุกข์เราเอาอย่างต่างประเทศมาทั้งนั้นของเราเองไม่มี” และ “ดั้งเดิม
เราไม่มีธรรมเนียมการนุ่งผ้าสีในการไว้ทุกข์ ขุนนางที่เข้าขบวนแห่ต่างก็นุ่งผ้าสมปักลายสีต่างๆ และ พนักงาน
ที่ชักราชรถรวมถึงพนักงานที่เชิญเครื่องสูงก็ยังแต่งแดง”.....

           หลักฐานเกี่ยวกับการไว้ทุกข์ในสมัยอยุธยา

                  จากข้อมูลขนบในการไว้ทุกข์สมัยอยุธยาเท่าที่พบคือ จดหมายเหตุโยสต์ สเคาเต็น ที่กล่าวว่า
“เมื่อคนตายไปแล้วก็โกนผมห่อศพแล้วทำบุญให้ทานไปตามความเชื่อถือและแล้วก็เอาไปเผาในบริเวณวัด
นอกจากนี้ยังมีพิธีอื่นๆ อีก เช่น มีการร้องไห้อาลัยกัน ส่วนพวกญาติสนิทจะตัดผมของตน”
(กรมศิลปากร ๒๕๓๙: ๒๗๔)
                  ส่วนบันทึกของลา ลูแบร์ กล่าวว่า ในขบวนแห่ศพบุคคลในครอบครัวผู้ตายทั้งชายและหญิงล้วนแต่งขาว
ศีรษะของคนเดินตามศพคลุมด้วยผ้าสีขาว ส่วนการไว้ทุกข์นั้นจะไว้ในช่วงที่มีความทุกข์เท่านั้น (เดอ ลา ลูแบร์
๒๕๔๘: ๓๖๗, ๓๗๒) ซึ่งการที่ลา ลูแบร์ กล่าวว่าการไว้ทุกข์นั้นจะไว้เฉพาะตอนมีทุกข์อาจจะตีความได้ว่ากำหนดการ
ไว้ทุกข์ไม่เป็นที่แน่นอน สำหรับลักษณะการเอาผ้าขาวคลุมศีรษะยังมีปรากฏในภาพถ่ายเก่าคราวงานพระเมรุสมเด็จ
พระศรีสวัสดิกรุงกัมพูชา และยังทำให้นึกถึงธรรมเนียมของไทแดงที่มีการใช้ผ้าขาวคลุมศีรษะด้วย
                  นอกจากนี้ในบันทึกนิโกลาส์ แชรแวส ก็กล่าวไปในทำนองเดียวกันว่า บิดามารดาและมิตรสหายของผู้ตาย
นุ่งขาวห่มขาว ภรรยาและญาติที่ใกล้ชิดก็นุ่งขาวและโกนศีรษะเกลี้ยง (นิโกลาส์ แชรแวส ๒๕๕๐: ๑๘๐)


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 181  เมื่อ 22 มี.ค. 18, 15:47

              แต่ปัญหาว่าการไว้ทุกข์ในจดหมายเหตุชาวตะวันตกจะเป็นธรรมเนียมไว้ทุกข์ของกลุ่มชนชั้นมูลนาย
ได้หรือไม่ ทั้งนี้เพราะวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ได้กล่าวว่า

   “พลายชุมพลนุ่งขาวใส่ลอมพอก       โปรยข้าวตอกออกหน้าหาช้าไม่
พวกพ้องพี่น้องก็ร่ำไร                       นุ่งขาวตามไปล้วนผู้ดี”
...“พวกผู้หญิงสาวสาวชาวบ้านนอก      ห่มขาวมุ้งนุ่งบัวปอกแป้งผัดหน้า”
(ขุนช้างขุนแผน ๒๕๑๓: ๘๙๐, ๘๙๒)

                จากวรรณกรรมเรื่อง ขุนช้างขุนแผน สะท้อนว่า อย่างน้อยที่สุดธรรมเนียมการแต่งกายด้วยชุดขาวใน
งานศพมีมาแต่ครั้งสมัยอยุธยาหรือตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์แล้ว สอดคล้องกับเอกสารชาวต่างชาติคนอื่นๆ สมัยอยุธยา

                 อนึ่ง การจัดการเกี่ยวกับกลิ่นศพในสมัยก่อนเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ดังนั้นการตั้งสวดศพสำหรับไพร่ทั่วไป
คงจะไม่นาน ดังนั้นจึงชวนให้สงสัยว่าการไว้ทุกข์หรือเครื่องสัญลักษณ์ของญาติและผู้เข้าร่วมจะใช้จนกว่าจัดการเผาศพ
นั้นเสร็จ หรือจะยังคงใช้ต่อมาอีกสักพัก เรื่องนี้ไม่ปรากฏหลักฐาน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 182  เมื่อ 23 มี.ค. 18, 20:22

บุพเพสันนิวาสตอนที่ ๙
https://mello.me/video/59725/ข้าเป็นห่วงคุณลุงขุนเหล็กเหลือเกินค่ะคุณพี่

บุพเพสันนิวาสตอนที่ ๑๐
https://mello.me/video/59978/ออเจ้ามีอะไรสงสัยในตัวข้าฤาเจ้า
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 183  เมื่อ 23 มี.ค. 18, 21:43

คุณจอมขวัญถาม อาจารย์รุ่งโรจน์ตอบ สารพัดคำถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของ

พระโหราธิบดี จินดามณี สมเด็จพระนารายณ์ พระเพทราชา โกษาเหล็ก ฟอลคอน และขุนศรีวิสารวาจา

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 184  เมื่อ 24 มี.ค. 18, 07:40

ตามรอยฟอลคอนบนแผ่นดินละโว้

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 185  เมื่อ 25 มี.ค. 18, 20:49

ระยะนี้ "บุพเพสันนิวาส" เป็นหัวข้อให้นักประวัติศาสตร์ถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชนไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อวานซืน (๒๓ มีนาคม ๒๕๖๑) ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อยุธยา ไปออกรายการกับคุณจอมขวัญที่ไทยรัฐ เมื่อวาน (๒๔ มีนาคม ๒๕๖๑) ก็ไปงานเสวนาเรื่อง ตามรอยออเจ้า เล่าเรื่องกรุงศรี ที่ช่างชุ่ย ร่วมกับ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ผู้เชี่ยวชาญโบราณสถานในอยุธยา และอ.ธีรพันธุ์ จันทร์จริญ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าในราชสำนัก ดำเนินรายการโดย วิกรานต์ ปอแก้ว และ เอกภัทร เชิดธรรมธร

https://www.matichon.co.th/news/889359







มีผู้ให้ความสนใจเข้ารับฟังการเสวนาอย่างคับคั่ง น่าปลื้มใจแทนผู้จัดงาน  ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 186  เมื่อ 26 มี.ค. 18, 20:49

เรื่องที่อาจารย์ประวัติศาสตร์ไทยตามรอยออเจ้า แล้วช่วยกันเล่าเรื่องกรุงศรียุคสมเด็จพระนารายณ์นั้นมีหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งที่มติชนให้ความสนใจมากคือ ความสัมพันธ์ระหว่างขุนศรวิสารวาจาและพระโหราธิบดี ถึงกับพาดหัวข้อข่าวว่า

รุ่งโรจน์ยันขุนศรีวิสารวาจา “ไม่ใช่ลูกโหราธิบดี”

ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ยังกล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับขุนศรีวิสารวาจา ซึ่งแสดงโดย โป๊ป ธนวรรธน์ว่า เป็นผู้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ โดยมีหลักฐานบันทึกว่าเป็น "ตรีทูต" เดินทางไปฝรั่งเศสพร้อมโกษาปาน อย่างไรก็ตาม ขุนศรีวิสารวาจาไม่ใช่บุตรชายของพระโหราธิบดีดังที่ปรากฏในละครแต่อย่างใด เนื่องจากมีหลักฐานได้บันทึกของชาวต่างชาติว่าเป็นบุตรชายของราชทูตคนหนึ่งที่เคยเดินทางไปยังโปรตุเกส ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่พระโหราธิบดี

บันทึกของชาวต่างชาติที่อาจารย์รุ่งโรจน์พูดถึงคืองานเขียนของ เดอ วีเซ นักเขียนชาวฝรั่งเศสในสมัยนั้น เขียนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

ท่านอัครราชทูต (คือคุณปาน ขณะนั้นเป็นที่ออกพระวิสุทธิสุนทร ภายหลังได้เป็นพระยาโกษาธิบดี) ก็เป็นน้องของเสนาบดีกระทรวงว่าการต่างประเทศ (ขณะนั้นเรียกว่า “พระคลัง” Barcalon ) อุปทูตเล่า (คือนายฉ่ำ ขณะนั้นเป็นที่ออกหลวงบวรกัลยาราชไมตรี) ได้เคยเป็นราชทูตสยามไปเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงจีนมาแต่ก่อน ได้ทำการในตำแหน่งนั้นเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้ากรุงจีนและพระเจ้ากรุงสยามด้วยกันทั้งสองฝ่าย ส่วนตรีทูต (คือออกขุนศรีวิสารวาจา) ก็เป็นบุตรของราชทูตสยามซึ่งได้ออกไปเจริญทางพระราชไมตรีในกรุงลิสบอน ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศโปรตุคัล

จาก หนังสือพระยาโกศาปานไปฝรั่งเศส แปลจาก Voyage des ambassadeurs de Siam en France 1686 ของ Jean Donneau de Visé โดย เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์

คุณรอมแพงบิดประวัติศาสตร์ให้ขุนศรีวิสารวาจาเป็นลูกของพระโหราธิบดี และทราบถึงเรื่องบันทึกนี้ดี จึงเตรียมทางหนีทีไล่ไว้โดยบิดอีกทีให้พระโหราธิบดีเป็นทูตที่เคยไปโปรตุเกสเสียเลย

จะว่าคุณรอมแพงในเรื่องนี้ก็คงไม่ได้ เพราะเป็นอภิสิทธิ์ (dramatic license) ของเธอในฐานะที่เป็นนักเขียน  ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
prasit
อสุรผัด
*
ตอบ: 35


ความคิดเห็นที่ 187  เมื่อ 27 มี.ค. 18, 10:09

อเรียนถามท่านผู้รู้ครับ ในเรื่องบุพฯ การเชื่อมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ เห็นมีทั้งราชทูต อุปทูต และตรีทูต ทั้งสามอย่าง
มันต้องมีและไปด้วยกันตลอดหรือเปล่า แล้วปัจจุบันเรามีทั้งสามอย่างไหมเวลาเชื่อมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ แล้วความหมาย
และหน้าที่ของทั้งสามท่านเป็นอย่างไร ขอบคุณล่วงหน้าครับ พอดีหาข้อมูลแล้วแต่ได้แต่คำทรัพย์ตรีทูต และมันก็ไม่เกี่ยวกับการ
เชื่อมไมตรีระหว่างประเทศ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 188  เมื่อ 27 มี.ค. 18, 12:51


ราชทูตไปโปร์ตุเกต  ตายที่อัฟริกาใต้ครับ​
พระยาโหราตามท้องเรื่องจึงตายไปก่อนแล้ว​
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 189  เมื่อ 27 มี.ค. 18, 14:58

ในเรื่องบุพฯ การเชื่อมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ เห็นมีทั้งราชทูต อุปทูต และตรีทูต ทั้งสามอย่าง  มันต้องมีและไปด้วยกันตลอดหรือเปล่า แล้วปัจจุบันเรามีทั้งสามอย่างไหมเวลาเชื่อมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ แล้วความหมายและหน้าที่ของทั้งสามท่านเป็นอย่างไร

อาจารย์รุ่งโรจน์ตอบคำถามนี้ไว้ในรายการที่ไปออกกับคุณจอมขวัญ นาทีที่ ๒๕.๑๕ - ๒๖.๓๕



โดยสรุปคือเป็นไปตามขนบเดิมที่ส่งทูตพร้อมเครื่องบรรณาการไปเมืองจีน และการที่ส่งทูตไป ๓ คนก็เพื่อการตรวจสอบกันเองว่าได้ทำตามคำสั่งที่รับมาหรือเปล่า
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 190  เมื่อ 27 มี.ค. 18, 15:00

มีคำอธิบายเพิ่มเติมจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เกี่ยวกับเรื่องนี้

ว่าด้วยยศราชทูตที่ไปเจริญทางพระราชไมตรียังต่างประเทศประเพณีฝรั่งกับประเพณีไทยในข้อนี้ก็ผิดกัน คือที่ฝรั่งถือว่าทูตเปนผู้ไปแทนพระองค์ ไทยถือว่าทูตเปนแต่ผู้เชิญพระราชสาส์นไป ตำแหน่งแลหน้าที่ ทูตของฝรั่งกับของไทยจึงต่างกัน ตำแหน่งทูตของฝรั่งมียศเปน ๓ ชั้น ชั้นสูงสุดเปนเอกอรรคราชทูต ชั้นที่ ๒ เปนอรรคราชทูต ชั้นที่ ๓ เปนราชทูต การที่ฝรั่งจะแต่งทูตไปต่างประเทศ ถือเอาการที่ไปหรือประเทศที่ไปเปนสำคัญ ถ้าสำคัญอย่างยิ่ง ทูตที่ไปก็เลือกสรรบุคคลชั้นสูงให้เปนตำแหน่งเอกอรรคราชทูต ถ้าสำคัญไม่ถึงอย่างยิ่ง ทูตที่ไปก็เปนแต่เพียงชั้นอรรคราชทูตหรือราชทูต ตามสมควรแก่การแลประเทศที่ไปนั้น จะยกตัวอย่างเช่นราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เชวะเลียเดอโชมอง ที่เข้ามาคราวแรกมียศเปนเอกอรรคราชทูต แต่มองสิเออร์ลาลุแบร์ ที่เข้ามาคราวที่ ๒ มียศเปนแต่เพียงอรรคราชทูต เพราะการที่ทูตเข้ามาครั้งที่ ๒ ไม่สำคัญเหมือนทูตที่เข้ามาคราวแรก แต่ถึงยศจะเปนชั้นใดทูตฝรั่งคงเปนตัวทูตแต่คนเดียว ผู้ที่มาด้วยเปนแต่บริวารของทูต เช่นเปนเลขานุการเปนต้น

ส่วนประเพณีทูตานุทูตไทยที่ไปจำทูลพระราชสาส์นยังต่างประเทศแต่โบราณยศราชทูตไม่มีชั้นสูงต่ำอย่างแบบฝรั่ง ทูตคงไปเปนคณะ ๓ คนเหมือนกันทุกคราว เรียกว่าราชทูตคน ๑ อุปทูตคน ๑ ตรีทูตคน ๑ นับเปนทูตด้วยกันทั้ง ๓ คน บันดาศักดิ์ราชทูตตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุครั้งกรุงก่า เปนชั้นออกพระเปนอย่างสูง เพียงบันดาศักดิ์เปนออกขุนเปนราชทูตก็มี พิเคราะห์ตามราชทินนามของทูตานุทูตที่ปรากฏ เช่น  คราวโกษาปานราชทูตเปนออกพระวิสูตรสุนทร อุปทูตเปนออกหลวงศรีวิสารวาจา ตรีทูตเปนออกขุนกัลยาณราชไมตรี ทูตไทยไปเมืองจีนในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราชทูตเปนที่ออกขุนศิริราชไมตรี ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ ราชทูตไปลังกาคราวแรกเปนที่พระสุธรรมไมตรี อุปทูตเปนขุนวาทีพิจิตร ตรีทูตเปนหมื่นพิพิธเสนหา ราชทินนามที่กล่าวมานี้เห็นได้ว่าล้วนเปนนามแต่งขึ้นสำหรับผู้เปนทูตทั้ง นั้น จึงเข้าใจว่าประเพณีเก่า เมื่อเลือกสรรผู้ที่จะเปนทูตานุทูตแล้ว จึงทรงตั้งราชทินนามสำหรับไปรับราชการในคราวนั้น เมื่อไปราชการทูตมีบำเหน็จความชอบกลับมาก็ได้เลื่อนยศบันดาศักดิ์สูงขึ้นไป ดังเช่นโกษาปานเปนที่ออกพระวิสูตรสุนทรราชทูตไปเมืองฝรั่งเศส กลับมาก็ได้เลื่อนเปนพระยาโกษาธิบดี จตุสดมภ์กรมพระคลัง เมื่อก่อนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชสวรรคตเพียงสักสองสามเดือนเท่านั้น
 
ว่าด้วยอำนาจของราชทูตที่ไปต่างประเทศ ประเพณีฝรั่งกับไทยก็ผิดกันเปนข้อสำคัญ ข้างประเพณีฝรั่ง การที่พูดจาว่าขานอย่างใดในกิจ ที่ไปนั้น มอบไปในราชทูตเสร็จ แจ้งไปในพระราชสาส์นแต่ว่าถ้าราชทูตจะพูดจาว่ากล่าวประการใด ขอให้ถือว่าเหมือนเปนพระวาจาของพระเจ้าแผ่นดินประเทศโน้นตรัส เชื่อฟังได้ดุจกัน แต่ฝ่ายประเพณีทูตของไทยกิจการอันใดที่จะว่ากล่าวกับประเทศโน้น เสนาบดีมีศุภอักษรให้ราชทูตถือไปถึงเสนาบดีประเทศโน้นในคราวเดียวกับที่ทูตเชิญพระราชสาส์น ไป ทูตเปนแต่ผู้จะพูดจาชี้แจงไขข้อความศุภอักษรนั้น ความที่กล่าวในข้อนี้จะเห็นตัวอย่างได้ในสำเนาพระราชสาส์นแลศุภอักษรเสนาบดี ซึ่งมีไปมาในระหว่างกรุงธนบุรีกับกรุงศรีสัตนาคนหุต อันพิมพ์อยู่ในหนังสือพระราชวิจารณ์นั้น

จาก  https://th.wikisource.org/wiki/อธิบายเรื่องราชทูตไทยไปยุโรป

ในรายละเอียดท่านอาจจะพลาดไปบ้าง ขอให้ถือในหลักการเป็นสำคัญ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 191  เมื่อ 27 มี.ค. 18, 15:12

ราชทูตไปโปร์ตุเกต  ตายที่อัฟริกาใต้ครับ​
พระยาโหราตามท้องเรื่องจึงตายไปก่อนแล้ว​

รายละเอียดเป็นเช่นใดฤๅ คุณพระโคราชนาคร  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 192  เมื่อ 27 มี.ค. 18, 16:08

เคยอ่านเรื่องทูตไทยไปไม่ถึงโปรตุเกสกลับต้องผจญภัยในแอฟริกา เมื่อนานมากแล้ว, พบว่ามีให้อ่านที่

https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_8713

         ออกขุนชำนาญ ได้เล่าเหตุการณ์การผจญภัยของท่านในทวีปแอฟริกาให้กับบาทหลวงตาชาร์ดฟัง
         ครั้งนั้นทูตไทยสมัยพระนารายณ์ไปโปรตุเกส ออกจากสยามราวสิ้นเดือนมีนาคม 2227 โดยสำเภาหลวง
ใช้เวลา 5 เดือนจึงไปถึงเมืองกัว แล้วต้องรอเรืออยู่นานหลายเดือนจึงจะได้ขึ้นเรือรบของพระเจ้ากรุงโปรตุเกส
ออกเดินทางอีกครั้งในวันที่ 27 มกราคม 2229
         ออกจากเมืองกัวมาได้ราว 3 เดือน เรือที่ท่านขุนทั้งหลายร่วมเดินทางมาด้วยก็เกิดอับปางลงที่แหลมแดส์ เอกียส์
แหลมที่อยู่ทางปลายสุดของทวีปแอฟริกาห่างจากแหลมกู๊ดโฮปประมาณ 100 ไมล์.....


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 193  เมื่อ 27 มี.ค. 18, 18:58

ตกลงทูตคณะนี้ไปไม่ถึงโปรตุเกส

ขอบพระคุณคุณพระศิลาเวชการสำหรับข้อมูล  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 194  เมื่อ 27 มี.ค. 18, 20:49

ใน จดหมายเหตุรายวัน การเดินทางไปสู่ประเทศสยาม ในปี ค.ศ. ๑๖๘๕ และ ค.ศ. ๑๖๘๖ แปลจาก Journal du voyage de Siam fait en 1685. & 1686. โดย บาทหลวง เดอ ชัวซีย์ (François-Timoléon, l'abbé de Choisy) แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร เขียนถึงขุนศรีวิสารวาจาไว้ตอนหนึ่งว่า "ตรีทูตเคยไปที่ประเทศโมกุลมาแล้ว"

ในคู่มือตอบคำถามสำหรับทูตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เขียนไว้ว่า "ในกรุงสยามมีโรงช้าง ๔๐๐ โรงไว้เชือกชั้นเอก นอกเมืองและตามหัวเมืองยังมีอีกหลายโรง ทุกปีไม่ขาดชาวมัวร์เข้ามาซื้อ ๒-๓ ร้อยเชือก ถวายให้โมคุล*"

* ไมเคิล ไรท์ อธิบายว่า โมคุล คือจักรวรรดิ Mogul ที่ครองอินเดียเหนือจากกรุงเดลี จักรพรรดิร่วมสมัยกับสมเด็จพระนารายณ์ คือพระเจ้าออรังเซบ (Aurangzeb) ในหนังสือ City of Djinns ของ William Dalrymple ท่านอ้างจดหมายเหตุเก่าว่า ที่ตลาดกรุงเดลี “มีนางทาสเขมรจากแดนเลยแม่น้ำอิรวดี” (Khmer girl concubines from beyond the Irrawady) หน้า ๕๔; และว่า จักรพรรดินีโมคุลเสด็จ “ประทับบนหลังช้างมหึมาจากกรุงหงสาวดี” (mounted on a stupendous Pegu elephant) หน้า ๑๙๙ ชะรอยจะเป็นนางทาสและช้างดีจากกรุงศรีอยุธยา?

https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_7424

เห็นทีที่ว่าพี่ขุนเคยไปประเทศโมกุล อาจด้วยภารกิจค้าช้าง

โมกุลก็คือ "อินเดีย" เป็นแน่แท้ หาใช่ "มองโกล" อย่างที่คุณรอมแพงตีความไม่ ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.104 วินาที กับ 20 คำสั่ง