เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 48425 Dramatic license กับ ข้อเท็จจริง ใน บุพเพสันนิวาส
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 07 มี.ค. 18, 14:32


ประวัติวัดมงคลบพิตร จาก wikipedia

สันนิษฐานกันว่า สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นราวแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยตามพงศาวดารวิหารพระมงคลบพิตรนั้น เดิมประดิษฐานอยู่ด้านทิศตะวันออกของ พระราชวังหลวง บางคนสันนิษฐานว่า เคยประดิษฐานอยู่กลางแจ้งที่วัดชีเชียงมาก่อน ในปี พ.ศ. 2146 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดฯ ให้ชลอมาไว้ทางด้านทิศตะวันตก แล้วให้สร้างมณฑปขึ้นครอบไว้ โดยมีหลักฐานจากภาพวาดของชาวตะวันตกที่เข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองว่าเป็นรูปร่างคล้ายๆมณฑป

ต่อมาในปี พ.ศ. 2246 สมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ ยอดมณฑปต้องอสนีบาต (ฟ้าผ่า) ไฟไหม้เครื่องบนมณฑปหักพังลงมาต้องพระเศียรหัก สมเด็จพระเจ้าเสือ จึงโปรดฯให้แปลงมณฑปเป็นวิหารแต่ยังคงส่วนยอดของมณฑปไว้ แล้วซ่อมพระเศียรพระพุทธรูปใหม่ กระทั่งในรัชกาล สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่หมด เปลี่ยนหลังคาคล้ายในปัจจุบัน เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งสุดท้ายวิหารและพระพุทธรูปถูกไฟไหม้ ชำรุดทรุดโทรม เครื่องบนวิหารหักลงมาต้องพระเมาฬี และพระกรข้างขวาหัก

ในปี พ.ศ. 2474 สมัยพระยาโบราณราชธานินทร์ ตำแหน่งสุมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา คุณหญิงอมเรศร์สมบัติกับพวก ได้ขอยื่นเรื่องซ่อมแซมวิหาร แต่รัฐบาลไม่อนุญาต เนื่องจากต้องการที่จะรักษาตามแบบอย่างทางโบราณคดี โดยจะออกแบบให้ปูชนียสถานกลางแจ้งเหมือนไดบุซึของญี่ปุ่น แต่ด้วยเวลานั้นรัฐบาลยังไม่มีงบประมาณพร้อมในการดำเนินการ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 รัฐบาลสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงได้เริ่มการบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารและองค์พระพุทธเสียใหม่ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ในคราวบูรณะพระมงคลบพิตรในปี พ.ศ. 2500 กรมศิลปากรได้พบพระพุทธรุปบรรจุไว้ในพระอุระด้านขวา เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 07 มี.ค. 18, 15:03

"บุพเพสันนิวาส" พลาดแล้วใช่ไหมออเจ้า  ยิ้มเท่ห์
 
ในปี พ.ศ. 2146 สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดฯ ให้ชลอมาไว้ทางด้านทิศตะวันตก แล้วให้สร้างมณฑปขึ้นครอบไว้ โดยมีหลักฐานจากภาพวาดของชาวตะวันตกที่เข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองว่าเป็นรูปร่างคล้ายๆมณฑป

ต่อมาในปี พ.ศ. 2246 สมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ ยอดมณฑปต้องอสนีบาต (ฟ้าผ่า) ไฟไหม้เครื่องบนมณฑปหักพังลงมาต้องพระเศียรหัก สมเด็จพระเจ้าเสือ จึงโปรดฯให้แปลงมณฑปเป็นวิหารแต่ยังคงส่วนยอดของมณฑปไว้

บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 07 มี.ค. 18, 16:17


ปืนใหญ่ที่ป้อมเพชร วางกันแบบนี้ เวลายิงจะเป็นอย่างไรหนอ   ยิ้ม


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 07 มี.ค. 18, 19:56

ไม่นะ....เรือนแพของผม ล่อซะกลางคลองเลย
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 08 มี.ค. 18, 19:44

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านสมาชิกเรือนไทยทุกท่านครับ
   หลายท่านเปิดประเด็นด้านประวัติศาสตร์แง่มุมต่างๆซึ่งเกี่ยวเนื่องมาจากละคร “บุพเพสันนิวาส” แล้ว ขออนุญาตผมยกหัวข้อเรื่องคำบางคำขึ้นมาอภิปรายบ้างนะครับ

   เมื่อก่อน ผมเองเคยเชื่อว่า ชาวกรุงศรีอยุธยา ใช้คำว่า “จัก” ในบริบทที่ปัจจุบันใช้ “จะ” ดังตัวอย่างประโยคสมมุติ: “ออกขุนท่านจักกลับเรือนเพลาใดขอรับ กระผมจักให้อ้ายผินบ่าวในเรือนตามไปส่ง”

แต่เมื่อสองสามปีที่ผ่านมานี่เอง โลกออนไลน์เปิดกว้างขึ้น ส่งผลให้ผมได้อ่านวรรณคดีไทยยุคเก่ามากกว่าก่อน ความเชื่อเกี่ยวกับการใช้คำว่า “จัก” ก็เปลี่ยนไป
   ผมคาดคิดว่า ชาวกรุงศรีอยุธยา น่าจะใช้คำ “จะ” ในการสื่อสารมาแล้วตั้งแต่ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และใช้เช่นนั้น เรื่อยมา ทั้งนี้ อนุมานจากมหาชาติคำหลวง กัณฑ์ทศพร ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นกัณฑ์เดียวที่แต่งขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๒๐๒๕) และเหลือรอดมาถึงยุครัตนโกสินทร์ ความตอนหนึ่งกล่าวไว้ดังนี้
   “ในกาลเมื่อนั้น อันว่าบ้นน พุทธพงษ์ทั้งหลาย ชุํกนนหมายในใจ ว่าเราจะไปเห็นพระไตรโลกนารถ อนนเปนพระญาตยุดมแห่งเราทงงผองน้นนแล ฯ”
และ
   “จึ่งจะเอากันพิจารณา หาสถานอันพิจิตร ที่พระสัมพุทธาทิตย์ จะสถิตสิงสำราญอยู่นั้น”
หลักฐานชิ้นที่สอง ค้นพบจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ซึ่งนักวิชาการทางวรรณคดีไทย คะเนว่าน่าจะเรียบเรียงขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือหลังจากนั้นเพียงมินาน ขอยกข้อความมาให้พิจารณากันครับ
   “ศักราช ๗๓๘ มะโรงศก (พ.ศ. ๑๙๑๙) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้นพระยาคำแหงแลท้าวผ่าคอง คิดด้วยกันว่าจะยอทัพหลวง แลจะทำมิได้ แลท้าวผ่าคองเลิกทัพหนี แลจึงเสด็จยกทัพหลวงตาม แลท้าวผ่าคองนั้นแตก แลจับได้ตัวท้าวพระยาแลเสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก แลทัพหลวงเสด็จกลับคืน”

   หลักฐานชิ้นที่สาม เขียนจากความทรงจำครับ เป็นสัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙ บทสุดท้ายในสมุทรโฆษคำฉันท์ พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
   “ตนกูตายก็จะตายผู้เดียวใครจะแลดู
โอแก้วกับตนกู
ฤเห็น”

   ครับ ที่เขียนมาแต่ต้น คือความเห็นจากคนทาสปัญญาผู้หนึ่ง หากมีข้อผิดพลาดประการใด ท่านผู้อ่านโปรดให้อภัยผมด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถือ
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

   หมายเหตุ: เว็บไซต์อ้างอิง
๑. มหาชาติคำหลวง กัณฑ์ทศพร

http://vajirayana.org/%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87/%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%9E%E0%B8%A3

๒. พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์

http://vajirayana.org/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%90%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%8C/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%B2-%E0%B8%89%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%90%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%8C


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 08 มี.ค. 18, 20:15

ขอบคุณค่ะ คุณชูพงศ์ เป็นคนช่างสังเกตและความจำดีมากด้วย
ชาวอยุธยาใช้คำว่า จะ หรือ จัก ทั้งสองคำ
ในกำสรวล ซึ่งเดิมเรียกกำสรวลศรีปราชญ์   ใช้คำว่า จัก
โฉมแม่จักฝากฟ้า              เกรงอินทร์ หยอกนา
อินทร์ท่านเทอกโฉมเอา       สู่ฟ้า
โฉมแม่จักฝากดิน              ดินท่าน แล้วแฮ
ดินฤาขัดเจ้าหล้า               สูสมสองสม

ถ้าถามว่า โอกาสไหนใช้ จะ โอกาสไหนใช้ จัก    ก็ยังตอบไม่ได้ คิดว่าสองคำนี้น่าจะเป็นคำเดียวกัน แต่มีการกร่อนเสียงจาก จัก เป็น จะ 
ในบทกวี ถ้ากำหนดวรรณยุกต์อย่างโคลงต่างๆ ก็อาจใช้ จัก ในคำที่ต้องลงด้วยวรรณยุกต์เอก ค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 08 มี.ค. 18, 20:44

ผมคาดคิดว่า ชาวกรุงศรีอยุธยา น่าจะใช้คำ “จะ” ในการสื่อสารมาแล้วตั้งแต่ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และใช้เช่นนั้น เรื่อยมา

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีใช้ทั้ง "จะ" แล "จัก" เช่นเดียวกับในปัจจุบัน แต่มีความแตกต่างกันเล็กน้อย

ท่านรอยอินอธิบายว่า

จะ : เป็นคำช่วยกริยาบอกอนาคต เช่น จะไป จะอยู่.
จัก : คำช่วยกริยาบอกกาลภายหน้า แสดงเจตจำนง เช่น จักกิน จักนอน.

อาจารย์เปลื้อง ณ นคร อธิบายว่า

จะ :  เป็นกริยานุเคราะห์สำหรับช่วยกริยาอื่น บอกเวลา ภายหน้า เช่น จะไป จะอยู่.
จัก : เป็นคำประกอบกิริยาบอกเวลาภายหน้า เช่น จักกิน จักนอน แสดงความห่างเวลาปัจจุบัน ยิ่งกว่าจะ.

เพ็ญชมพูขออธิบายบ้าง ทั้ง "จะ" แล "จัก" ใช้บอกความในอนาคตเหมือนกัน บางครั้งอาจจะใช้เหมือนกันดังที่คุณเทาชมพูว่า แต่บางครั้งก็อาจจะใช้ต่างกันได้เมื่อต้องการให้  "ยิ่งกว่าจะ" คือ "จัก" เน้นเจตจำนงของผู้พูด (หรือผู้เขียน) ว่าต้องการที่จะทำหรือเป็นเช่นนั้นแน่นอน ไม่ใช่เป็นเพียงบอกเล่าอย่าง "จะ" เช่น ไม่ว่า "จะ" มีอุปสรรคเช่นใด เรา "จัก" ฝ่าฟันให้ผ่านพ้นไปจงได้  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 08 มี.ค. 18, 21:14


ถ้างั้น
จะ​ = will
จัก​ = be​ going to
:-)​
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 09 มี.ค. 18, 08:13

นักประวัติศาสตร์ติงชุดชาวต่างชาติในละครบุพเพสันนิวาสผิดยุคไปเกือบ ๒๐๐ ปี

นักประวัติศาสตร์ด้านเครื่องแต่งกายชี้ "บุพเพสันนิวาส" ละครย้อนยุคที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ จัดเสื้อผ้าตัวละครชาวต่างชาติผิดยุคสมัยไปเกือบ ๒๐๐ ปี ด้านผู้จัดยอมรับข้อบกพร่อง แม้นพยายามค้นคว้าข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ ตามหลักฐานที่มีอยู่แล้ว

"เครื่องนุ่งห่มในเรื่องนี้ ในส่วนของชาวสยามมีการวิจัยและจัดทำได้สวยงามเหมาะสม แม้ว่าจะมีการใช้ผ้านุ่งจากประเทศราช และหัวเมืองทางเหนือมาใช้ร่วมด้วย เป็นการสื่อสารได้อย่างดีถึงความสัมพันธ์ของผู้คนและชาติพันธุ์ในสมัยนั้น ทว่าตัวละครที่ไม่ใช่คนสยามนั้นกลับพบว่ามีข้อบกพร่อง เรื่องการออกแบบ การตัดเย็บและการใช้ผ้าที่ถูกลักษณะ" ลุพธ์ อุตมะ นักออกแบบเครื่องแต่งกาย ผู้เคยเข้าชิงรางวัล Emmy Award เมื่อปี ๒๐๐๙ กับภาพยนตร์เรื่อง "The House of Saddam" บอกกับบีบีซีไทย

ลุพธ์เล่าว่าติดตามละครเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ตอนแรก และได้ตั้งข้อสังเกตเรื่องการออกแบบเครื่องแต่งกายของตัวละคร เพราะเป็นความสนใจส่วนตัว เนื่องจากเขาก็เคยมีประสบการณ์ทำงานในตำแหน่ง "ผู้ดูแลเสื้อผ้าและถ่ายทำ" ของกองถ่ายภาพยนตร์ตะวันตกชื่อดังหลายเรื่อง เช่น The Duchess (๒๐๐๘) ของบีบีซี และล่าสุดก็คือภาพยนตร์เรื่อง "Aladdin" ของค่ายวอลท์ ดิสนีย์ ที่คาดว่าจะออกฉายในปี ๒๐๑๙

"สำหรับตัวละครทั้งสอง โครงร่างเงาทั้งเสื้อผ้าและทรงผม อาจจะคล้าย ๆ สมัยวิคตอเรียตอนต้นราว ค.ศ. ๑๘๓๐-๔๐ ซึ่งผิดยุคไปเกือบ ๒๐๐ ปี และคาดว่าอาจจะเป็นปัญหาเรื่องโครงสร้างและความเข้าใจประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของยุโรป เนื่องจากวิชาประวัติศาสตร์แฟชั่นยุโรปในประเทศไทยมีการเรียนการสอนไม่กี่แห่ง" ลุพธ์อธิบายเพิ่มเติม


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 09 มี.ค. 18, 08:20

มีข้อจำกัดนะออเจ้า

ขณะที่ "กิจจา ลาโพธิ์" หัวหน้าฝ่ายออกแบบเครื่องแต่งกายในละครบุพเพสันนิวาส กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เสื้อผ้าชาวต่างชาติในละครเป็นเรื่องที่ยากที่สุดเรื่องหนึ่ง การออกแบบพัฒนาขึ้นจากข้อมูลที่ค้นคว้า และพยายามที่จะทำให้ใกล้เคียงกับความเป็นข้อเท็จจริงมากที่สุด แต่ก็ได้เพิ่มรายละเอียดเพื่อความสวยงามและให้เหมาะสมกับตัวนักแสดง

ข้อจำกัดประการหนึ่งคือ เหตุการณ์ในละครเกิดขึ้นในสมัยอยุธยา รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งไม่มีภาพถ่าย เหมือนในช่วงหลังรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ ของสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

"ดังนั้นข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่ ก็จะมาจากบันทึกต่าง ๆ เช่น "จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม" พงศาวดาร จากภาพเขียนจิตรกรรมต่างๆ สมุดข่อยสมุดไทย ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ตู้พระธรรมเขียนลายทองเก็บหนังสือใบลาน" กิจจาระบุ ในส่วนที่มีนักวิชาการติติงมาส่วนนี้ยังไม่ทราบ

สิ่งหนึ่งที่เหนือการควบคุมของฝ่ายเครื่องแต่งกายคือ ข้อจำกัดหรือความต้องการส่วนตัวของนักแสดงแต่ละคน รวมไปถึงนโยบายของสถานีที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ของตัวละครเอกให้ดูแตกต่างจากตัวละครตัวอื่น ๆ

"คุณไม่สังเกตหรือว่า ทำไมตัวละครนำในเรื่องนี้ฟันไม่ดำ ทั้ง ๆ ที่ข้าทาสบริวารแต่ละคนต่างฟันดำเพราะกินหมากกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสมัยนั้น" กิจจาเล่า


อย่างไรก็ตาม จากกระแสที่เกิดขึ้นก็ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องแต่งกายสำหรับละครย้อนยุค ที่การันตีฝีมือด้วยรางวัลนาฎราชจากละครหลายเรื่อง อาทิ ขุนศึก ลูกทาส และข้าบดินทร์ยอมรับว่า ช่วงหลังมีนักวิชาการที่รู้จริงจับจ้อง แม้จะรู้สึกกลัวว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่นึกเสมอว่านี่คือครูที่มาติชมและช่วยปรับปรุงแก้ไขในอนาคต
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 09 มี.ค. 18, 08:22

"ความถูกต้อง"ก็มีผลต่อภาพจำของคนดู

พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า เท่าที่ติดตามละคร พบเพียงข้อผิดพลาดในรายละเอียดเท่านั้น ยกตัวอย่าง ฉากที่การะเกด นางเอกของเรื่องเห็นป้อมเพชร ที่ยังคงมีสภาพสวยงาม แต่หากพิจารณาในช่วงเวลาในบทประพันธ์ และดูหลักฐานชั้นต้นทางประวัติศาสตร์ สภาพของป้อมน่าจะทรุดโทรมมาก หรือไม่ก็กำลังได้รับการปรับปรุงโดยนายช่างฝรั่งเศสชื่อ "เดอ ลามาร์"

"สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดภาพจำอีกแบบสำหรับผู้ชม ที่อาจจะทำให้รับรู้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง" นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์รายนี้กล่าว

พิพัฒน์จึงเสนอแนะเพิ่มเติมว่า หากจะทำละครย้อนยุค ควรมองอย่างครบวงจร คิดเป็นแพกเกจ เช่น หากมีประเด็นข้อสงสัยใด เกี่ยวกับเนื้อเรื่องผู้จัดละครก็ควรจะมีการจัดการเสวนา เพื่อให้มีการถ่ายทอดความรู้ให้คนในสังคม หรือไม่ก็ควรทำคู่มือทั้งออนไลน์และแบบฉบับเผยแพร่อีกครั้ง

จาก http://www.bbc.com/thai/thailand-43312574


บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 09 มี.ค. 18, 10:53


นักประวัติศาสตร์ก็มั่วได้ครับ
ในปีนั้น​ เดอ​ ลามาร์​ ยังไม่ได้เข้ามา​ครับ
บันทึกการเข้า
นางมารน้อย
พาลี
****
ตอบ: 306


ทำงานแล้วค่ะ


ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 09 มี.ค. 18, 14:23

กำลังมีการฟื้นฟูผ้าลายอย่างในเมืองไท แต่อาจารย์ประภัสสร ผู้ศึกษาผ้าลายอย่างในสยาม ได้ให้ข้อมูลว่าผ้าลายอย่างนั้นเป็นผ้าเขียนลาย ทางราชสำนักไทยออกแบบลายส่งไปให้ทางอินเดียเขียนลายตามนี้โดยส่งไปแถบโจฬะมณฑลเจ้าค่ะ ยิ้มเท่ห์ ยิ้มเท่ห์

บันทึกการเข้า

สวัสดีทุกๆท่านค่ะ
Pat
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 09 มี.ค. 18, 15:02

ว่าด้วยเรื่อง มะม่วงน้ำปลาหวาน  กุ้งเผาน้ำจิ้มซีฟู้ด

นี่เข้าใจเอาเองมาตลอดว่า คนไทยเราทานมะม่วงดิบกับน้ำปลาหวานมานาน พอๆกับทาน มะม่วงเปรี้ยวจิ้มกะปิ

ส่วนกุ้งเผากับน้ำจิ้มซีฟู้ด เข้าใจว่าน้ำจิ้มซีฟู้ดเป็นการเรียกแบบคำสมัยใหม่
ซึ่งความจริงก็คือน้ำจิ้มรสเด็ด ที่ส่วนผสมเหมือนกับการทำต้มยำแบบไทยๆ
น้ำปลา/เกลือ น้ำตาลเล็กน้อย น้ำมะนาว กระเทียม

จึงเกิดความอยากรู้ว่า แล้วเมนูต้มยำของเรา ไม่ว่าจะเป็นต้มยำปลา ต้มยำกุ้ง มีมาตั้งแต่สมัยใดคะ

เรียนถามท่านอาจารย์ช่วยเฉลยคำตอบด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 09 มี.ค. 18, 15:40

เข้าใจว่าน้ำจิ้มซีฟู้ดเป็นการเรียกแบบคำสมัยใหม่
ซึ่งความจริงก็คือน้ำจิ้มรสเด็ด ที่ส่วนผสมเหมือนกับการทำต้มยำแบบไทยๆ
น้ำปลา/เกลือ น้ำตาลเล็กน้อย น้ำมะนาว กระเทียม

จึงเกิดความอยากรู้ว่า แล้วเมนูต้มยำของเรา ไม่ว่าจะเป็นต้มยำปลา ต้มยำกุ้ง มีมาตั้งแต่สมัยใดคะ

ถ้าถือว่า "น้ำปลา" เป็นส่วนผสมสำคัญในการปรุง "ต้มยำ"  ต้มยำกุ้งตำรับปัจจุบันควรเกิดหลัง พ.ศ. ๒๔๕๖ อันเป็นปีที่เถ้าแก่ไล่เจี๊ยง แซ่ทั้ง ผู้ก่อตั้ง บริษัท ไพโรจน์ (ทั่งซังฮะ) จำกัด ผู้มีประสบการณ์ที่เคยทำงานในโรงงานน้ำปลาที่ประเทศจีนมาก่อน ได้ทดลองทำน้ำปลาออกมาขายครั้งแรกให้กับชาวบ้านในจังหวัดชลบุรี และภายในเวลาไม่กี่ปี ความหอมกลมกล่อมของน้ำปลาที่ต่างจากการใช้เกลือ ก็เป็นที่ยอมรับและเริ่มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เถ้าแก่ผลิตน้ำปลาเป็นอุตสาหกรรมในนามโรงงานผลิตน้ำปลาทั่งซังฮะ ที่ท่าเรือฮกเกี้ยน จังหวัดชลบุรี

https://www.tiparos.com/aboutUs1.php?lang=th
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.09 วินาที กับ 19 คำสั่ง