เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 16 17 [18] 19 20 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 48450 Dramatic license กับ ข้อเท็จจริง ใน บุพเพสันนิวาส
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 255  เมื่อ 04 เม.ย. 18, 14:35

นิราศนี้ยังแต่งไม่สมบูรณ์เพราะกระบวนการเชิญพระราชสาส์นและพิธีการต้อนรับต่างๆทำให้กวีไม่มีเวลาเขียน ดร.ปรีดี  พิศภูมิวิถีสันนิฐานว่ากวีอาจจะราชทูตผู้ใดผู้หนึ่ง เพราะในตอนกลางเรื่องกล่าวตอนเรือสำเภาต้องพายุว่า

๏ แต่เราไปมาทุกที     บเหมือนครั้งนี้
พยุมาใหญ่หนักหนา


ซึ่งก็อาจจะเป็นออกหลวงกัลยาณราชไมตรี หรือ ออกขุนศรีวิสารวาจา เพราะทั้งสองท่านเคยเดินทางไปต่างแดน คุณหลวงคนแรกเคยไปจีน ส่วนพี่ขุนเคยไปโมกุลมาก่อน แต่ถ้าพิจารณาตามเส้นทางการเดินทาง พี่ขุนดูจะมีภาษีดีกว่า เพราะเส้นทางเริ่มต้นเป็นทางเดียวกับทางไปโมกุล อีกทั้งคุณหลวงอุปทูตซึ่งมีอายุมากแล้วก็ล้มป่วยต้องรักษาตัวอยู่นาน น่าจะไม่มีเวลาเขียน

ผู้เขียนนิราศต้นทางฝรั่งเศสนี้จึงน่าจะเป็น พี่ขุน หรือ ออกขุนศรีวิสารวาจา ของเรานั่นเอง   ยิงฟันยิ้ม



ตรงนี้ยังสรุปไม่ได้ชัดเจนครับ
แม้แต่ขุนนางเล็กๆ เช่น ล่ามชื่อ Racan ก็มีหลักฐานว่าเคยไปฝรั่งเศสสองครั้ง
การพักในเรือนเดียวกับราชทูตก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นอุปทูต หรือตรีทูต เท่านั้น

"เพราะเส้นทางเริ่มต้นเป็นทางเดียวกับทางไปโมกุล"  ตรงนี้ยิ่งผิดใหญ่
เส้นทางไปโมกุล ออกเรือจากมะริดครับ
จากอยุธยาแยกไปท่าจีนก็เป็นคนละเส้นทางแล้ว
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 256  เมื่อ 04 เม.ย. 18, 14:56

"เพราะเส้นทางเริ่มต้นเป็นทางเดียวกับทางไปโมกุล"  ตรงนี้ยิ่งผิดใหญ่
เส้นทางไปโมกุล ออกเรือจากมะริดครับ
จากอยุธยาแยกไปท่าจีนก็เป็นคนละเส้นทางแล้ว

ตรงนี้ผิดจริง ๆ เขียนเพลินไปหน่อย ขออภัย

ขอบพระคุณคุณหนุ่มโคราชมากที่กรุณาทักท้วง
 เศร้า
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 257  เมื่อ 04 เม.ย. 18, 17:24


ในนิราศต้นทางฝรั่งเศสกล่าวถึงพายุเหมือนกัน แต่เกิดขึ้นกลางทางหลังออกจากเกาะพร้าว

๏ ครั้นลมพัดหวน   สำเภาปั่นป่วน   เรรวนนักหนา   ทั้งลมทั้งฝน
เกลื่อนกล่นกันมา   ลมพัดต้านหน้า   เพตราถอยหลัง
๏ สำเภาเภตรา   อยู่กลางคงคา   ดุจดั่งใบไม้   อันตกลอยอยู่
กลางแม่น้ำไหล   กลิ้งกลอกกลับไป  ในท้องคงคา



ในการเดินทางครั้งนี้ บาทหลวงตาชารด์ บันทึกว่าผจญพายุใหญ่อยู่สองครั้ง
อ้าง: จดหมายเหตุการเดินทางสู่ประเทสสยาม ครั้งที่ 1 ของบาดหลวงตาชารด์  แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร

ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 13-16 มีนาคม 1686 ตรงกลางมหาสมุทรอินเดีย

"ตลอดเวลาการเดินทางข้ามสมุทรเป็นไปโดยเรียบร้อย จนกระทั่งเราแล่นขนานไปกับเกาะ เดอ บูร์บอง (Isle de Bourbon)
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์  จึงต้องมรสุมขนาดหนัก ตามคำยืนยันของนายทหารชั้นอาวุโสก็ว่า ยังไม่เคยเห็นพายุรุนแรงถึงเท่านั้นมาเลย
เป็นอยู่นานถึงสามวัน จนกระทั่งใบใหญ่ของเรือฟรีเกตถูกลมหอบลงทะเลไป เขาแยกทางจากเราเกือบจะเป็นตรงที่แห่งเดียวกันเมื่อตอนขาไป
และเราได้ไปพบเขาอีกครั้งหนึ่งก็ต่อเมื่อไปจอดทอดสมออยู่ที่แหลม เดอ บอนน์ แอ็สแปรังซ์ แล้วเท่านั้น โดยเขาไปถึงก่อนหน้าเราสองชั่วโมง"

๏ แต่เราไปมาทุกที     บเหมือนครั้งนี้
พยุมาใหญ่หนักหนา



เกาะ เดอ บูร์บอง (Isle de Bourbon) ปัจจุบันคือ เกาะ Réunion

ครั้งที่สอง วันที่ 11 มิถุนายน 1686 เมื่อใกล้จะถึงที่หมายแล้ว

"วันที่ 11 มิถุนายน มีมรสุมขนาดหนักให้จำเป็นต้องม้วนใบเรือ และอาศัยแล่นไปโดยใบสามเหลี่ยมท้ายเรือแต่เพียงใบเดียวเท่านั้น
มรสุมที่ว่านี้มีอยู่ไม่นาน แล้วเราก็เดินทางต่อไปยังทิศตะวันออก"


พระอาจารย์ชีปะขาวคงได้ออกโรงแสดงฝีมือในคราวที่สองนี้ครับ ทำให้ผจญมรสุมอยู่ไม่นาน
ในวันดังกล่าวจะเห็นได้ชัดว่าเรือแล่นเร็วมาก เป็นที่น่าอัศจรรย์   ยิงฟันยิ้ม



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 258  เมื่อ 04 เม.ย. 18, 17:55



ถ้าเราสมมุติว่าคนเขียนพงศาวดาร เอาสองเหตุการณ์มาผสมกัน แล้วลองแยกใจความดูแต่งคำเพิ่มเดิมแก้ไขข้อความเล็กน้อยก็อาจเป็นดังนี้ครับ

ครั้นได้ฤกษ์ นายปานราชทูต กับอุปทูต ตรีทูต ก็กราบถวายบังคมลา พาพรรคพวกบ่าวไพร่มาลงกำปั่นใหญ่
...
ใช้ใบออกจากพระนครไปในท้องทะเลประมาณ ๒ เดือน ก็บรรลุถึงวนใหญ่  บังเกิดเหตุลมพายุใหญ่พัดกำปั่นไป ในกลางวนเวียนอยู่ถึง ๓ วัน (13-16 กุมภาพันธ์)
บรรดาคนในกำปั่นร่ำร้องไห้รักชีวิตอื้ออึงไป ด้วยกำปั่นลำใดลงสู่วนนั้นแล้วก็จมลงสิ้นลำกำปั่นทุก ๆ ลำ ซึ่งจะรอดพ้นวนไปนั้น หามิได้มีสักลำหนึ่ง
แต่นายปานราชทูตยังมีสติอยู่ จึ่งปรึกษาอาจารย์ว่ากำปั่นเราลงเวียนอยู่ในวนถึง ๒ - ๓ วันแล้ว ท่านจะคิดอ่านประการใด กำปั่นจึงจะพ้นวนได้
ฝ่ายอาจารย์จึงเล้าโลมเอาใจราชทูตว่า ท่านอย่าตำใจ ครั้งนี้จะ เกิดมหาวาตะพายุใหญ่ หวนหอบเอากำปั่นนั้น ขึ้นพ้นจากวนได้
...
ใช้ใบออกจากเมืองกาปไปในท้องทะเลประมาณ ๓ เดือน  ก็บรรลุถึงวนใหญ่ (11 มิถุนายน) ใกล้ปากน้ำเมืองฝรั่งเศส
บังเกิดเหตุลมพายุใหญ่พัดกำปั่นไปในกลางวนเวียนอีกหนหนึ่ง บรรดาคนในกำปั่นร่ำร้องไห้รักชีวิตอื้ออึงไป
นายปานราชทูต จึ่งปรึกษาอาจารย์ว่ากำปั่นเราลงเวียนอยู่ในวนอีกหนหนึ่งแล้ว ท่านจะคิดอ่านประการใด กำปั่นจึงจะพ้นวนได้
เราทั้งหลายจึ่งจะรอดจากความตาย ฝ่ายอาจารย์จึงกล่าวแก่ราชทูตว่า เราจะแก้ไขให้พ้นภัยจงได้ แล้วให้แต่งเครื่องสักการบูชา จุดธูปเทียน
แล้วอาจารย์จึ่งนุ่งขาว ห่มขาว เข้านั่งสมาธิเจริญพระกรรมฐานทางวาโยกระสินธุ์ ณ ครู่หนึ่ง จึ่งบันดาลเกิดมหาวาตะพายุใหญ่
หวนหอบเอากำปั่นนั้น ขึ้นพ้นจากวนได้ คนทั้งหลายมีความยินดียิ่งนัก ก็แล่นใบไปถึงเมืองปากน้ำเมืองฝรั่งเศส


พอฟังขึ้นไหมครับ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 259  เมื่อ 04 เม.ย. 18, 19:08

แล้วให้แต่งเครื่องสักการบูชา จุดธูปเทียน แล้วอาจารย์จึ่งนุ่งขาว ห่มขาว เข้านั่งสมาธิเจริญพระกรรมฐานทางวาโยกระสินธุ์

บาทหลวงตาชารด์บันทึกถึงเรื่องนี้ไว้หรือเปล่าหนอ


แผนที่การเดินเรือขาไป (Siam -  Brest) และขากลับ (Brest - Siam)

ภาพจาก คุณวิกกี้

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 260  เมื่อ 05 เม.ย. 18, 14:27

พี่ขุนมีของฝากจากฝรั่งเศสมากแม่หญิง เป็นไดอารี่บันทึกเหตุการณ์  เริ่มต้นว่า "๑ กันยายน จ.ศ. ๑๐๔๘"

ชื่อเดือนตั้งแต่มกราคมถึงธันวาคม เพิ่งเริ่มใช้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ เองนะออเจ้า  ยิ้มเท่ห์

ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจากจันทรคติที่นับตั้งแต่เดือนอ้าย เดือนยี่...ถึง เดือนสิบสอง มาเป็นแบบสุริยคติ จึงได้มีการกำหนดชื่อเดือนขึ้นมาใหม่ โดยสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงเป็นผู้คิดปฏิทินไทยใช้ตามสุริยคติ ซึ่งนับวันและเดือนแบบสากล ขึ้นทูลเกล้าฯถวายรัชกาลที่ ๕ จากนั้นทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นประเพณีบ้านเมืองตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๒ เรียกว่า "เทวะประติทิน" ที่เป็นต้นแบบปฏิทินไทยในวันนี้

สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงคิดตั้งชื่อเดือนมกราคม ถึง ธันวาคม ที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน โดยทรงใช้ตำราจักรราศี หรือการโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์ในหนึ่งปี ประกอบด้วย ๑๒ ราศี ตามวิชาโหราศาสตร์มาใช้กำหนดชื่อเดือนทั้ง ๑๒ เดือน  ทั้งนี้ แบ่งเดือนที่มี ๓๐ วัน และเดือนที่มี ๓๑ วัน ให้ชัดเจน ด้วยการลงท้ายเดือนต่างกัน คือ คำว่า "ยน" และ "คม"  และเดือนที ๒๘ หรือ ๒๙ วัน ลงท้ายด้วย "พันธ์"

ภาพจาก บุพเพสันนิวาส ตอนที่ ๑๓/๔


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 261  เมื่อ 05 เม.ย. 18, 16:42

พี่ขุนควรจะเขียนว่า วันจันทร์ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐  ปีจอ  อะไรทำนองนี้หรือเปล่าคะ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 262  เมื่อ 05 เม.ย. 18, 17:57


บันทึกรายวันของโกษาปาน หน้า ๖๒ ครับ

 ๏ วัน ๓ ฯ๑๓ ๘ คํ่า หญิงฝรั่งชาวเมือง ๕ คน ฝีดาวู๖ คนมา
    ทัก ฯข้า ฯก็รับสงปราศรัยตามสมควรแล้วก็ลาไป
    ในวันเดียวนั้นมูสูอึนตันนัง แลบาตรีวาเสดนําฯ ข้า ฯ
    ไปดูทหารหัดยิงปืนใหญ่ ณ ป้อมนั้นแลกะปิตันนายกำปั่น
    แลนายทหารแลฝีดาวูไปด้วยฯข้า ฯ เป็นอันมาก แลปืน
    ใหญ่ทองเหลืองกระสุน ๕ นิ้ว ตั้ง ณ ป้อมนั้น ๖ บอก
    แลตั้งไกลป้อมออกไปประมาณ ๘ เส้นแลยิง ๓๗ นัด
    แลถูกวงตกนัดหนึ่ง แลกว่านั้นไปซ้ายบ้างไปข้างบ้าง
    สูงบ้างตํ่าบ้างแลฯ ข้าฯ ให้เงินแก่ผู้ยิงปืนนั้น ๕ แผน
    


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 263  เมื่อ 05 เม.ย. 18, 18:16

วัน ๓ ฯ๑๓ ๘ คํ่า

อ่านว่า วันอังคาร* ขึ้น ๑๓  เดือน ๘
                                   ๑๓
ถ้าให้เต็มยศ จะเขียนว่า วัน ๓ + ๘ ค่ำ ปีขาล อัฐศก** จุลศักราช ๑๐๔๘***

*     นับจาก วัน ๑ คือ วันอาทิตย์ จนถึง วัน ๗ คือ วันเสาร์
**   เรียกจากตัวเลขลงท้ายจุลศักราช ๑ คือ เอกศก จนถึง ๐ คือ สัมฤทธิศก
*** จุลศักราช ๑๐๔๘ คือ พุทธศักราช ๒๒๒๙ (๑๐๔๘ + ๑๑๘๑)
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 264  เมื่อ 05 เม.ย. 18, 19:06

หญิงฝรั่งชาวเมือง ๕ คน ฝีดาวู* ๖ คนมา
ทัก ฯข้า ฯก็รับสงปราศรัยตามสมควรแล้วก็ลาไป
ในวันเดียวนั้นมูสู**อึนตันนัง แลบาตรีวาเสดนําฯ

*    ฝีดาวู มาจากภาษาโปรตุเกสคือ Fidalgo หมายถึงชนชั้นผู้ดีมีตระกูล
      (อ้างอิงจาก http://siamportuguesestudy.blogspot.com/2013/04/fi-da-wu-was-not-sailor.html)
**  มูสู  มาจากภาษาฝรั่งเศสคือ Monsieur
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 265  เมื่อ 06 เม.ย. 18, 12:49

มาดูบันทึกในไดอารี่ของพี่ขุนอีกที



๑ กันยายน จ.ศ. ๑๐๕๘ กำหนดให้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ ที่ท้องพระโรงใหญ่พระราชวังแวร์ซายส์ ในห้องกระจก ห้องกระจกเป็นห้องหินอ่อนมีหน้าต่างบุด้วยกระจกเจียระไนสูงแต่พื้นจรดเพดาน ด้านละ ๑๗ บาน ระย้าแก้วเจียระไน จุดเทียนสว่างสไวห้อยย้อยจากเพดาน สวยงามแพรวพราวไปทั้งห้อง สมชื่อห้องกระจก....

พี่ขุนน่าจะเรียกพระเจ้าหลุยส์ที่สิบสี่ เช่นเดียวกับที่ท่านโกษาปานเรียกในจดหมายข้างล่าง

หนังสือออกพระวิสุทสุนทรราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรีอุปทูต ออกขุน
ศรีวิสารวาจาตรีทูต มาเถิงท่านมูสูสิงแฬร์*ผู้เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่แห่งพระมหากระ
ษัตราธิราชเจ้าลุยเลกรัง**
ด้วยอัตโน***ทั้งปวงมาเถิงถานที่นี้ แลได้รับคำนับแลนับถือ
แลเอาใจใส่พิทักษ์รักษาแห่งชาวฝรังเสดทั้งปวง ซึ่งเข้าไปส่งอัตโนถึงกรุงศรีอยุทยา


*     มูสูสิงแฬร์ คือ เมอร์สิเออร์ มาร์กีส์ เดอ เซนเญอเล (Monsieur le marquis de seignelay) อัครมหาเสนาบดีของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

**   ลุยเลกรัง คือ Louis le Grand หมายถึง พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

*** อัตโน ใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑ ข้าราชการผู้น้อยพูดกับผู้ใหญ่หรือกับชาวต่างประเทศ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 266  เมื่อ 06 เม.ย. 18, 13:12

ข้อความลงท้ายจดหมายระบุวันเดือนปี

อนึ่งท่านมีน้ำใจยินดีต่ออัตโนแต่เมื่อยังอยู่ในกรุงฝรั่งเษดนั้นประการใด ขอให้
ท่านมีน้ำใจยินดีต่ออัตโนสืบไป แลอัตโนขอพรแก่พระเป็นเจ้าสร้างฟ้า
สร้างแผ่นดิน ขอให้ช่วยบำรุงโปรดท่านให้ท่านได้สำเร็จตามความปรารถนา
ท่านจงทุกประการ หนังสือมาวันพุทเดือนแปดแรมสองค่ำ เถาะนพศก ศักราช ๒๒๓๑*


* ศักราช ๒๒๓๑ คือพุทธศักราช ๒๒๓๑ แต่ตรงกับ นพศก คือจุลศักราชที่ลงท้ายด้วยเลข ๙ สันนิษฐานว่าโกษาปานท่านใช้เกณฑ์แบบลังกาและพม่าซึ่งคำนวณจุลศักราชโดยลบพุทธศักราชด้วย ๑๑๘๒ (ปัจจุบันไทยใช้ ๑๑๘๑) พ.ศ. ๒๒๓๑ จึงตรงกับ จ.ศ. ๑๑๕๙ (๒๒๓๑ - ๑๑๘๒) (ในความเป็นจริง โกษาปานและคณะ เดินทางกลับถึงกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๒๓๐ สอดคล้องกับหลักฐานด้านเอกสารของฝรั่งเศสที่ระบุคริสต์ศักราช ๑๖๘๗ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๒๓๐)

http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/inscribe_image_detail.php?id=1174


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 267  เมื่อ 06 เม.ย. 18, 13:17

จาก  วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยศิลปากรเรื่อง บันทึกรายวันและจดหมายของโกษาปาน : เนื้อหาและกลวิธีทางภาษา ของนางสาววทัญญา เล่ห์กัน หน้า ๒๑๓ -  ๒๑๕


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 268  เมื่อ 06 เม.ย. 18, 16:44

สันนิษฐานว่าโกษาปานท่านใช้เกณฑ์แบบลังกาและพม่าซึ่งคำนวณจุลศักราชโดยลบพุทธศักราชด้วย ๑๑๘๒

มีหลักฐานให้ดูการคำนวณศักราชแบบพม่า เป็นป้ายทองเหลืองบอกวันเดือนปีที่สร้าง เจดีย์อุปปตศานติ ที่ เนปิดอ เมืองหลวงใหม่ของพม่า



บรรทัดแรก      Sāsana Era                  แสดง   พุทธศักราช ๒๕๕๒
บรรทัดที่สอง    Myanmar Calendar       แสดง   จุลศักราช ๑๓๗๐
บรรทัดที่สาม    International Calendar  แสดง   คริสต์ศักราช ๒๐๐๙

พ.ศ. - จ.ศ.  = ๒๕๕๒ - ๑๓๗๐ = ๑๑๘๒

แต่ทำไม พ.ศ. - ค.ศ.  = ๒๕๕๒ - ๒๐๐๙ = ๕๔๓ เหมือนของไทยไม่มากกว่า ๑ ปี  

โปรดสังเกตวันที่ปรากฏในแผ่นทองเหลืองคือ "วันเสาร์ที่ ๗ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๙" พม่าเปลี่ยนศักราชหลังสงกรานต์ในเดือนเมษายน ดังนั้นในพม่า พ.ศ. - ค.ศ. = ๕๔๔  ก็ต่อเมื่อหลังสงกรานต์

น่าจะพูดได้ว่า สมัยอยุธยาโดยเฉพาะในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์นับ พ.ศ. ตามอย่างพม่า คือมากกว่าในปัจจุบัน ๑ ปี
 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 269  เมื่อ 07 เม.ย. 18, 14:49

บุพเพสันนิวาส ตอนที่ ๑๓
https://mello.me/video/60733/ออเจ้าอย่าไปไหนเลยอยู่ที่นี่---อย่าจากไปไหน

บุพเพสันนิวาส ตอนที่ ๑๔
https://mello.me/video/60786/ออเจ้าเคยละเล่นโล้สำเภาหรือไม่
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 16 17 [18] 19 20 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 19 คำสั่ง