เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 48435 Dramatic license กับ ข้อเท็จจริง ใน บุพเพสันนิวาส
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 240  เมื่อ 02 เม.ย. 18, 09:16

พระเอกน่าจะโดนประหารในรัชกาลพระเพทราชา

พี่ขุนของแม่หญิงการะเกดยังรับราชการอยู่ในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา อย่างน้อยก็จนถึง พ.ศ. ๒๒๔๑ มีบันทึกว่าเป็นหัวหน้าชุดไปรับบาทหลวงตาชาร์ดที่เมืองมะริด แต่ก็คงรับราชการอยู่ด้วยความหวาดหวั่นพรั่นพรึงเป็นอย่างยิ่ง  ตกใจ

ดังความในจดหมายข้างล่าง

จดหมายมองซิเออร์โบรด์ (๑)ถึงผู้อำนวยการ คณะการต่างประเทศ กรุงศรีอยุธยา วันที่ ๙ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๖๙๙ (พ.ศ. ๒๒๔๒) เรื่องบาดหลวงตาชา(๒) กลับมาอีกครั้ง ๑ พระเจ้ากรุงสยาม(๓)ตกลงจะรับบาดหลวงตาชา เพราะเหตุที่ท่านอยากจะทราบว่าในเรื่องบาดหลวงตาชามายังเมืองไทยได้เปนอย่างไรบ้าง และพระราชสาสนที่บาดหลวงตาชาได้เชิญมาสำหรับถวายพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่สวรรคต(๔) ตั้งแต่ครั้งปี ค.ศ.๑๖๘๙ (พ.ศ. ๒๒๓๒) ไทยได้จัดการรับอย่างไรนั้น ข้าพเจ้าจึงมีความยินดี ที่จะให้ท่านทราบตามความประสงค์ และจะได้เล่าการโดยเลอียด และจะไม่ลืมเล่าถึงเรื่องแม้แต่เปนเรื่องเล็กน้อย เพื่อท่านจะได้ทราบเรื่องโดยตลอด

เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๖๙๘ (พ.ศ. ๒๒๔๑) ในกรุงศรีอยุธยาได้ทราบความจากผู้ที่ได้รู้เห็นว่า ที่ประเทศยุโรปได้ทำหนังสือสัญญาสงบศึก ซึ่งประเทศฝรั่งเศสต้องทำศึกสงครามกับประเทศใกล้เคียงหลายปีมาแล้ว พอข่าวนี้ได้มาถึงเมืองไทย ก็ได้ทำให้พระเจ้ากรุงสยามและบรรดาเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ต้องนึกตรึกตรอง เพราะเกิดร้อนใจขึ้น และเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ข่าวต่อมาอีกว่า มีเรืออังกฤษหลายลำได้มายังอินเดีย ก็ได้ทำให้ไทยร้อนใจมากขึ้นอีก คือมีนายเรือฮอลันดาคน  ๑ มาบอกข่าวว่า กองทัพเรือฝรั่งเศสได้ผ่านแหลมเคปออฟกุดโฮบ มาแล้วและว่ากองทัพเรือนี้จะมายึดเมืองปอนดีเชรี และบางทีจะมายึดเมืองมริดด้วย ข่าวนี้ได้ทำให้ไทยตกใจมากขึ้นอีก ข่าวอันนี้ได้ทำให้ข้าราชการในราชสำนักตกใจเปนอันมาก พระเจ้ากรุงสยามจึงได้ตั้งเกณฑ์คนฝึกหัดการต่าง ๆ บางทีหัดให้ปล้ำกัน บางทีหัดให้ต่อยมวย บางทีหัดกระบี่กระบอง และหัดการต่าง ๆ ชนิดนี้อีกหลายอย่าง การฝึกหัดเหล่านี้ได้ทำให้พวกขุนนางข้าราชการมีงารมากขึ้น และพระเจ้ากรุงสยามก็ทรงกริ้วกราดอยู่เปนนิตย์ ขุนนาง ข้าราชการจึงได้เดือดร้อนมาก เพราะใครจะมีความผิดอย่างใดแม้แต่เล็กน้อยก็ต้องถูกเฆี่ยน และการที่เฆี่ยนกันนี้มีทุกวันมิได้เว้นเลย ผู้ที่ถูกลงอาญานี้ไม่เลือกว่าข้าราชการผู้น้อยหรือผู้ใหญ่ ต้องถูกกันทุกคนมิได้เว้น หลังของเจ้าพระยาพระคลังและออกญาพิพัฒเนื้อขาดอยู่เสมอ จนร้านยาของเราก็ไม่มียาจะใส่แผลที่หลังของท่านทั้งสองนี้แล้ว มีเสียงพูดกันว่าข้าราชการแตกสามัคคีกันหมด และบางคนก็คิดการขบถก็มี จนที่สุดงารการอย่างใดเปนอันไม่ได้ทำกัน ดูยุ่งเหยิงจนไม่รู้ว่าใครเปนใครแล้ว การในเมืองกำลังกระสับกระส่ายวุ่นวายอยู่เช่นนี้

พอได้ข่าวมาว่าเรือฝรั่งเศสได้มาถึงเมืองมริด และได้รับหนังสือบาดหลวงตาชา มีมาถึงเจ้าพระยาพระคลังและออกญาพิพัฒ ลงวันที่ ๑๘ เดือนตุลาคม เจ้าพระยาพระคลังจึงได้ให้คนมาตามพวก เราไปยังห้องว่าราชการของเจ้าพระยาพระคลัง เพื่อให้แปลหนังสือเหล่านี้เปนภาษาไทย และในคืนวันนั้นเองเจ้าพระยาพระคลังได้นำความขึ้นกราบทูล พระเจ้ากรุงสยามจึงได้มีพระราชโองการโดยทันที ให้ตอบบาดหลวงตาชาไปว่าไทยจะได้จัดการรับรอง พวกเราได้แปล คำตอบนี้เปนภาษาฝรั่งเศส และได้มีจดหมายในส่วนพวกเราไปยัง บาดหลวงตาชาด้วยฉบับ ๑ จดหมายต่าง ๆ เหล่านี้ไทยได้มอบให้ พวกเราห่อและผนึกตามธรรมเนียมของเรา และภายหลังอีกสองวัน นักการก็ได้มารับหนังสือเหล่านี้ไปยังเมืองมริด ฝ่ายในกรุงก็เตรียมการที่จะรับบาดหลวงตาชาทุกอย่าง ไทยได้จัดให้ข้าราชการล่วงหน้าไปรับบาดหลวงตาชา คนสำคัญที่เปนหัวหน้าไปนั้น มีขุนนางที่เคยเปนราชทูตที่ ๓ ไปยังประเทศฝรั่งเศสคน ๑(๕) ขุนนางผู้น้อยซึ่งได้เคยไปฝรั่งเศสและกลับมากับบาดหลวงตาชาและเคยผ่านมาทางเมืองเบงกอลมายังเมืองไทย เมื่อ ค.ศ.๑๖๙๒ (พ.ศ.๒๒๓๕) คน ๑ กับมองซิเออร์แวงซังแปงเฮโรล่ามของเราคน ๑ รวม ๓ คนเปนหัวหน้าออกไปรับบาดหลวงตาชา คนเหล่านี้ได้ออกเดิรทางภายหลังนักการสามหรือสี่วัน ฝ่ายเจ้าเมืองตนาวศรีก็ได้แจ้งต่อบาดหลวงตาชาว่า ข้างกรุงได้มีคำสั่งมาว่าถ้าบาดหลวงตาชาได้กลับมายังเมืองมริดอีก ก็ให้เจ้าเมืองตะนาวศรีจัดการรับรอง เพราะฉนั้น บาดหลวงตาชาจึงได้ลงจากเรือขึ้นบกโดยเชื่อใจ และเจ้าเมืองตะนาวศรีได้พาบาดหลวงตาชาจากเมืองมริดไปยังเมืองตะนาวศรี โดยมีการรับรองให้เปนเกียรติยศตลอดทาง เมื่อบาดหลวงตาชาได้ขึ้นบกไปแล้ว เรือก็ได้ถอนสมอแล่นใบออกไปเข้ากองตามเดิม

(๑) บาทหลวงกาเบรียล โบรด์ (Gabriel Braud) รองประมุขมิสซังสยาม

(๒) บาทหลวงกีย์ ตาชาร์ด (Guy Tachard)

(๓) สมเด็จพระเพทราชา

(๔) สมเด็จพระนารายณ์

(๕) ราชทูตที่ ๓ (ตรีทูต) คือ ขุนศรีวิสารวาจา

จาก ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๖ เรื่อง จดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินพระเพทราชา ภาค ๓ หน้า ๒๗๘-๒๘๐

https://th.wikisource.org/wiki/ประชุมพงศาวดาร_ภาคที่_๓๖
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 241  เมื่อ 02 เม.ย. 18, 10:20

ช่วยเพิ่ม footnote ครับ  ยิงฟันยิ้ม


ฝ่ายในกรุงก็เตรียมการที่จะรับบาดหลวงตาชาทุกอย่าง ไทยได้จัดให้ข้าราชการล่วงหน้าไปรับบาดหลวงตาชา คนสำคัญที่เปนหัวหน้าไปนั้น มีขุนนางที่เคยเปนราชทูตที่ ๓ ไปยังประเทศฝรั่งเศสคน ๑(๕) ขุนนางผู้น้อยซึ่งได้เคยไปฝรั่งเศสและกลับมากับบาดหลวงตาชาและเคยผ่านมาทางเมืองเบงกอลมายังเมืองไทย เมื่อ ค.ศ.๑๖๙๒ (พ.ศ.๒๒๓๕) คน ๑(๖) กับมองซิเออร์แวงซังแปงเฮโรล่ามของเราคน ๑(๗) รวม ๓ คนเปนหัวหน้าออกไปรับบาดหลวงตาชา

(๑) บาทหลวงกาเบรียล โบรด์ (Gabriel Braud) รองประมุขมิสซังสยาม

(๒) บาทหลวงกีย์ ตาชาร์ด (Guy Tachard)

(๓) สมเด็จพระเพทราชา

(๔) สมเด็จพระนารายณ์

(๕) ราชทูตที่ ๓ (ตรีทูต) คือ ขุนศรีวิสารวาจา

จาก ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๖ เรื่อง จดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนแผ่นดินพระเพทราชา ภาค ๓ หน้า ๒๗๘-๒๘๐

https://th.wikisource.org/wiki/ประชุมพงศาวดาร_ภาคที่_๓๖


(๖) ออกขุนชำนาญ

(๗) หลวงวรวาที
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 242  เมื่อ 02 เม.ย. 18, 10:35

     ด้วยความขลังของเครื่องรางที่มีชื่อว่า Dramatic license   พี่ขุนตรีทูตของแม่การะเกดอยู่รอดปลอดภัยตลอดรัชกาลพระเพทราชา   ได้สมรสมีลูกมีเต้ากันหลายคน   มีชีวิตผาสุก เจริญรุ่งเรืองดี  ซึ่งจะพิสูจน์ให้เห็นในภาค 2  ค่ะ

     ส่วนในความเป็นจริง เป็นยังไง   กำลังรอฟังคุณหนุ่มโคราชและคุณเพ็ญชมพูเล่าต่อในกระทู้นี้

     เขารำแก้บนกันไปเรียบร้อยแล้ว  พี่ขุนอยู่ยาวนานแน่

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 243  เมื่อ 02 เม.ย. 18, 14:36

ขออนุญาตแวะเข้าเรื่อง "ภาษากับอาหาร" เล็กน้อย

หมูโสร่ง ไม่มีอยู่ในนิยายเหมือนกุ้งเผาและมะม่วงน้ำปลาหวาน ท่าทางคนเขียนบทคงอยากนำเสนอเมนูอาหารกรุงศรีฯขึ้นมาบ้าง



นาทีที่ ๕.๓๕- ๕.๕๐

คุณหญิงจำปา     :  ชื่อหมูโสร่งมีเหตุอันใด ออเจ้ารู้หรือไม่ แม่การะเกด
แม่หญิงการะเกด  :  นี่ไงเจ้าคะ ใส่โสร่งให้หมูเจ้าคะ (ที่ถูกต้องพูดว่า "เจ้าค่ะ" กระมัง แม่การะเกด)

คนเขียนบทพลาดแล้วพลอยให้แม่การะเกดพลาดไปด้วยที่ไปใส่โสร่งให้หมู ที่ถูกต้องควรเป็น "สร่ง" หรือ "หมูสร่ง" ท่านรอยอินอธิบายความหมายไว้แล้วนะ ออเจ้า ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 244  เมื่อ 02 เม.ย. 18, 15:19

ไทยรัฐสัมภาษณ์ อ.นิตยา กาญจนะวรรณ ความว่า

             คำเขียนต้องเขียนตามพจนานุกรมอันนี้คือหลัก ส่วนละครจะออกเสียงสั้นหรือยาวก็เขียนตามที่
เขาออกเสียง เหมือนปัจจุบันที่คนมักเขียนตามการออกเสียงเพราะมันได้อารมณ์ความรู้สึก เช่น คำว่า 'เวจ'
เขาไปใส่ 'ไม้ไต่คู้' (เว็จ) เพราะใส่ตามการออกเสียง แต่ในพจนานุกรมเราไม่มี

             เดี๋ยวนี้ การออกเสียงสั้น ยาว เสียงจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่รูปการเขียนที่เรากำหนดมันเป็น
ตัวกลาง บอกให้เราทราบว่า ไม่ว่าคุณจะออกเสียงสั้นยาวอย่างไร ตรงนี้พจนานุกรมจะเป็นตัวที่กำหนดรวมกัน
ว่าให้เป็นตัวแทนของคำนั้นๆ นี่คือหลักของการทำพจนานุกรม

             สุดท้ายย้ำอีกที ไม่ว่าจะออกเสียงอย่างไรไม่ผิด เขียนตามเสียงสั้นหรือยาวก็ได้ เวลาพูดจะพูดอย่างไร
ก็เรื่องของคุณ เสียงสั้นยาวกลาง แต่เวลาเขียนต้องเอาตามพจนานุกรม

https://www.thairath.co.th/content/1242367

             คุณหญิงจำปาออกเสียงยาว เป็น โสร่ง ว่าที่สะใภ้ก็เลยตามน้ำไป :)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 245  เมื่อ 02 เม.ย. 18, 15:58

คุณหญิงจำปาฝากมาบอกว่า
" ก็ข้าเกิดก่อนพจนานุกรมของออเจ้าตั้งหลายร้อยปี   ใครอาวุโสกว่า ก็ต้องให้ถือตามนั้นสิ ออกหลวงเพ็ญชมพู
สมัยข้าเขาเรียกว่า โสร่ง     เพราะหมูถูกพันม้วนเหน็บดังนุ่งโสร่ง    ไปสร่งฝังเพชรตามยุคออเจ้าได้กระไร"


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 246  เมื่อ 02 เม.ย. 18, 18:18

นาทีที่ ๔.๐๗ - ๔.๑๗

คุณหญิงจำปา :  เส้นหมี่นี้เขาเรียก "หมี่ซั่ว" พวกคนจีนนำมาขาย

รอยอินท่านให้เรียกคำนี้ว่า



"ข้าเรียกแลเขียนว่า "หมี่ซั่ว" มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว จะเป็น "มี่สั้ว" ไปได้อย่างไรหนา ออเจ้า" คุณหญิงจำปากล่าว

คำนี้เห็นด้วยกับคุณหญิงหนา  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 247  เมื่อ 02 เม.ย. 18, 19:47

" คำว่า ส้มซ่า  ข้าก็ไม่สะกดว่า ซ่มส้า  ดอกหนา  ออกหลวง"
คุณหญิงจำปาแถมมาอีกคำ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 248  เมื่อ 02 เม.ย. 18, 20:24

กลับเข้าสู่เรื่อง "ประวัติศาสตร์"

ประวัติศาสตร์เขาว่าไว้........

บุพเพสันนิวาส ตอนที่ ๑๒/๙



ประวัติศาสตร์ที่แม่หญิงการะเกดเล่าให้ผินกับแย้มฟังนี้ ได้จากการอ่านพงศาสดารฉบับราชหัตถเลขาหรือไม่ก็พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม  

นายปานกราบทูลพระกรุณา รับอาสาจะไปเมืองฝรั่งเศส สืบให้ได้ราชการตามรับสั่ง แล้วกราบบังคมลาออกไปจัดแจงการทั้งปวงในกำปั่น ให้เที่ยวสืบหาคนดีมีวิชา ก็ได้อาจารย์คนหนึ่งได้เรียนในพระกรรมฐานชำนาญญาณกระสินธุ์ และรู้วิชาการต่าง ๆ แต่เป็นนักเลงสุรา ยอมจะไปด้วย นายปานมีความยินดีนัก แล้วจัดหาพวกฝรั่งเศสเป็นล้าต้า ต้นหน คนท้าย ลูกเรือ พร้อมเสด็จ ก็ให้เจ้าพระยาโกษาพาเข้าเฝ้ากราบถวาย บังคมลา ทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้แต่งพระราชสาส์น แล้วตั้งให้ นายปานเป็นราชทูต กับข้าหลวงอื่นเป็นอุปทูตและตรีทูต ให้จำทูลพระราชสาส์น คุมเครื่องมงคลบรรณาการออกไปจำเริญทาง พระราชไมตรี ณ เมืองฝรั่งเศสตามราชประเพณี แล้วพระราชทาน รางวัลและเครื่องยศแก่ทูตานุทูตโดยควรแก่ฐานาศักดิ์

ครั้นได้ฤกษ์ นายปานราชทูต กับอุปทูต ตรีทูต ก็กราบถวายบังคมลา พาพรรคพวกบ่าวไพร่มาลงกำปั่นใหญ่ ใช้ใบออกจากพระนครไปในท้องทะเลประมาณ ๔ เดือน ก็บรรลุถึงวนใหญ่ ใกล้ปากน้ำเมืองฝรั่งเศส บังเกิดเหตุลมพายุใหญ่พัดกำปั่นไป ในกลางวนเวียนอยู่ถึง ๓ วัน บรรดาคนในกำปั่นร่ำร้องไห้รักชีวิตอื้ออึงไป ด้วยกำปั่นลำใดลงสู่วนนั้นแล้วก็จมลงสิ้นลำกำปั่นทุก ๆ ลำ ซึ่งจะรอดพ้นวนไปนั้น หามิได้มีสักลำหนึ่ง แต่นายปานราชทูตยังมีสติอยู่ จึ่งปรึกษาอาจารย์ว่ากำปั่นเราลงเวียนอยู่ในวนถึง ๒ - ๓ วันแล้ว ท่านจะคิดอ่านประการใด กำปั่นจึงจะพ้นวนได้ เราทั้งหลายจึ่งจะรอดจากความตาย ฝ่ายอาจารย์จึงเล้าโลมเอาใจราชทูตว่า ท่านอย่าตำใจ เราจะแก้ไขให้พ้นภัยจงได้ แล้วให้แต่งเครื่องสักการบูชา จุดธูปเทียน แล้วอาจารย์จึ่งนุ่งขาว ห่มขาว เข้านั่งสมาธิเจริญพระกรรมฐานทางวาโยกระสินธุ์ ณ ครู่หนึ่ง จึ่งบันดาลเกิดมหาวาตะพายุใหญ่ หวนหอบเอากำปั่นนั้น ขึ้นพ้นจากวนได้ คนทั้งหลายมีความยินดียิ่งนัก ก็แล่นใบไปถึงเมืองปากน้ำเมืองฝรั่งเศส จึ่งให้บอกแก่นายด่านและผู้รักษาเมือง กรมการว่ากำปั่นมาแต่พระมหานครศรีอยุธยา โปรดให้ทูตานุทูต จำทูลพระราชสาส์น คุมเครื่องมงคลราชบรรณาการมาจำเริญทาง พระราชไมตรีพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เจ้าเมืองกรมการก็บอกข้อราชการขึ้นไปให้กราบบังคมทูลให้ทราบ

พระเจ้าฝรั่งเศสจึ่งโปรดให้เสนาบดีจัดแจงเรือแห่ลงมารับ พระราชสาส์นกับทั้งทูตานุทูตขึ้นไปยังพระนคร ให้สำนักที่อยู่ ณ ตึกสำหรับรับแขกเมือง แล้วโปรดให้ทูตานุทูตเข้าที่เสด็จออก จึ่ง ถวายพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการ พระเจ้าฝรั่งเศสดำริพระราชปฏิสันถารให้เลี้ยงทูตตามธรรมเนียม สั่งให้ล่าม ถามทูตถึงทางอันมาในทะเลนั้น สะดวกดีหรือว่ามีเหตุประการใด บ้าง ครั้นได้ทรงทราบว่ากำปั่นตกเวียนอยู่ในวนใหญ่ถึง ๓ วัน จึ่งขึ้นจากวนได้ สงสัยพระทัยนัก ด้วยแต่ก่อนแม้นว่ากำปั่นลำใดตกลงในวนนั้นแล้ว วนก็ดูดจมลงไปสิ้น มิอาจรอดขึ้นได้แต่สักลำหนึ่ง จึงให้ล่ามซักถามทูตอีก ทูตก็ให้การยืนคำอยู่ มิได้ทรงเชื่อ จึ่งให้สืบถามบรรดาฝรั่งเศสลูกเรือ ๆ ก็ให้การสมคำราชทูตทั้งสิ้น เห็นเป็นมหัศจรรย์นัก จึ่งให้ซักถามราชทูตว่า คิดอ่านแก้ไข ประการใด กำปั่นจึ่งรอดพ้นจากวนได้ ราชทูตให้กราบทูลว่า ข้าพเจ้าคิดกระทำสัตยาธิษฐาน ขอเอาพระกฤษฎานุภาพแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองฝ่าย ซึ่งเริ่มแรกจะผูกพระราชสัมพันธมิตรแก่กัน ขอจงอย่าได้เสียสูญขาดทางพระราชไมตรีจากกันเลย เอาความสัตย์ข้อนี้เป็นที่พำนัก ด้วยพระเดชาพระคุณพระพุทธเจ้า อยู่หัวทั้งสองฝ่าย ก็บันดาลเกิดมหาวาตะพายุใหญ่ พัดหวนหอบเอากำปั่นขึ้นพ้นจากวนได้ พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟังคำราชทูต เห็นจริงด้วย พระราชดำริว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุธยามีบุญมาก เสมอด้วยพระองค์ ก็ทรงพระมหากรุณาแก่ราชทูต พระราชทานรางวัลเป็นอันมาก

จาก พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม  หน้า ๔๑๑ - ๔๑๓
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 249  เมื่อ 02 เม.ย. 18, 20:30

ต่อจากอภินิหารในทะเลก็เป็นอภินิหารบนบกเรื่องห้ามกระสุนปืนไม่ให้ต้องกาย

ตรงนี้เจษฎาจารย์ ฟ.ฮีแลร์ วิจารณ์เอาไว้ อยู่ใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕๗ โกศาปานไปฝรั่งเศส ภาค ๑ หน้า ๗๗ -  ๗๙

ข้าพเจ้าผู้แปลหวนนึกไปถึงพระราชพงศาวดารกรุงเก่าตอนหนึ่ง คือตอนที่ว่าถึงราชทูตไปดูทหารแม่นปืนนั้นเอง ขำพิลึก จะขอคัดหน่อย ใจความในพระราชพงศาวดารตอนนั้นมีว่า

"ขณะนั้นทหารฝรั่งเศสแม่นปืน ๕๐๐ คนแบ่งกันเป็นสองพวก ข้างละ ๒๕๐ แล้วต่างก็ยืนเป็นสองแถวยิงปืน ให้กระสุนข้างนี้กรอกเข้าไปในลำกล้องปืนข้างโน้น และข้างโน้น ก็ยิงตอบเข้ามาให้กระสุนกรอกเข้าไปในลำกล้องปืนข้างนี้ แล้ว ราชทูตให้อาจารย์แต่งศิษย์มาสำแดงวิชชาถวาย เมื่อทหารฝรั่งเศสระดมกันยิงปืน ไฟปากนกไม่ติดดินดำบ้าง แล้วอนุญาตให้ติด แต่ให้กระสุนตกตรงปากกระบอกบ้าง ตกห่างออกไปบ้าง แต่ไม่มีฤทธิถึงกับจะไปถูกต้องทหารไทยเลย ฯ ล ฯ "

โท่ ช่างเขียนเล่นให้คนเซอะหลงเชื่อได้ ถ้าพระเจ้าหลุยส์ ที่ ๑๔ ยังอยู่และทรงทราบเรื่องนี้คงทรงพระสรวลก๊ากใหญ่เป็นแน่ เพราะเป็นเรื่องน่าหัวเราะมิใช่น้อย แต่นึกไปนึกมาการที่จับปดเล่นในเรื่องพงศาวดารได้ถึงเพียงนี้ดูเป็นที่น่าสลดใจนัก เพราะทำให้นักเรียนเสื่อมศรัทธา คลายความเลื่อมใสในคำให้การแห่งพงศาวดาร ด้วยว่าเมื่อตนกำลังอ่านพงศาวาดารนั้น ใช่จะมีพระครูยืนกำกับคอยตักเตือนอยู่เสมอว่า "ข้อนี้จริง เชื่อได้ ข้อนี้เขียนเล่น ข้ามไปเถอะ" จริงอยู่การเขียนพงศาวดารเป็นของยาก เพราะบางข้อจับความจริงไม่ค่อยจะได้ แต่สิ่งที่รู้จริง ๆ ทำไมยังเปลี่ยนรูปให้เป็นอื่นไปได้เล่า ? ไม่มีหิริโอตตัปปะแลหรือ ? ทุกวันนี้ลวงกันยากกว่าก่อนหน่อย แต่กระนั้นก็ยังต้องระวังเมื่ออ่านเหมือนกัน เพราะยังอาจพบคนที่เขียนลวงให้ผู้ไม่รู้เท่าเชื่อถืออยู่บ้าง เช่น ข้อความใดเกี่ยวข้องกับผู้ที่ตนชอบ ข้อความเรื่องนั้นอาจกลายเป็นเรื่องงามไปหมด แต่ถ้าเกี่ยวกับผู้อื่นซึ่งตนไม่สู้จะชอบ ความดีของเขาอาจสูญหายไปหมดไม่ปรากฏให้คนเห็น หรือ ว่ากล่าวบ้างแต่พอสังเขป เพื่อกันมิให้มีข้อครหาว่าแกล้งปิดบังเท่านั้น ทุกวันนี้การที่จะปั้นลมปั้นน้ำให้เป็นตัวเหมือนสมัยก่อน ค่อนข้างยาก ๆ อยู่ เพราะนักรู้ออกจะหนาแผ่นดินอยู่แล้ว แต่พิเคราะห์ดูอาการพวกนักเขียนชนิดนั้น หากว่าโอกาสให้ดูเหมือนคนจำพวกนี้จะยังไม่สิ้นความพยายามที่จะลวงให้ผู้อื่นซึ่งไม่รู้เท่าหลงเข้าใจความผิด ๆ ถูก ๆ อยู่เสมอ



จิตร ภูมิศักดิ์ก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

ตัวพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขาเองในตอนกลาง ๆ ก็มีเรื่องอภินิหารพิลึกกึกกือเมื่อคราวโกษาปานไปฝรั่งเศสอยู่ทั้งท่อน. ซึ่งเป็นการจดด้วยความอัศจรรย์ที่คนไทยไปไกลถึงเมืองฝรั่งเศสได้ มากกว่าจะเป็นบันทึกเรื่องการติดต่อสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างสองประเทศ, จนนักศึกษาทางการทูตบางท่านถึงกับกล่าวว่า เมื่อเทียบกับจดหมายเหตุและเอกสารทางฝรั่งเศสแล้ว พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาตอนนี้นับว่าจดอย่างน่าขายหน้าเป็นที่สุด ! แต่ถึงอย่างไรก็ดี นั่นมิได้ทำให้พงศาวดารทั้งเล่มสูญค่าไปทั้งหมด เพราะตอนที่จดจากความจริงตามลำดับยุคสมัยลงมาก็ยังมีเป็นส่วนมากของพงศาวดารนั้นอยู่, อาศัยแต่ว่าเราต้องศึกษาโดยยึดพื้นฐาทางสังคมไว้ให้มั่นคงแลัวสอบทานกับหลักฐานอื่น ๆ ให้รอบด้านโดยระมัดระวังเท่านั้น.


ถ้าเป็นนิยาย  นักเขียนย่อมมีสิทธิต่อเสริมเติมแต่งเรื่องราวในประวัติศาสตร์เพื่อความน่าสนใจของเรื่อง แต่พงศาวดารไม่ใช่นิยายที่ผู้เขียนจะใช้จินตนาการเติมแต่งเรื่องตามใจนึก เมื่อคนรุ่นหลังอ่านและรู้ความจริง ผู้เขียนพงศาวดารเช่นนี้รังแต่จะถูกประณามว่าเป็น "ผู้หลอกลวง" และ"ผู้กระทำเรื่องน่าขายหน้าอย่างเป็นที่สุด" ดั่งที่นักปราชญ์ทั้ง ๒ ท่านข้างต้นกล่าว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 250  เมื่อ 02 เม.ย. 18, 21:38

ไปหาเรื่องสั้นของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชอ่านสิคะ  จะได้คำตอบจากมุมมองอีกด้านของนักปราชญ์
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 251  เมื่อ 04 เม.ย. 18, 10:47

ระหว่างการเดินทางไปฝรั่งเศส มีผู้แต่งนิราศบรรยายเรื่องราวตลอดทาง นิราศเรื่องนี้ ดร.ปรีดี พิศภูมิวิถีเป็นผู้พบต้นฉบับตัวเขียนเป็นสมุดไทยดำที่แผนกภาษาตะวันออก หอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส โดยบอกชื่อหน้าต้นว่า ต้นทางฝรงงเสษ หรือ ต้นทางฝรั่งเศส  คุณบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ (ภาษาและวรรณกรรม) สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เป็นผู้ตรวจสอบชำระ

นิราศต้นทางฝรั่งเศสแต่งด้วยคำประพันธ์ ๓  ชนิด  คือ  กาพย์ยานี ๑๑ จำนวน ๕๔  บท  กาพย์ฉบัง ๑๖  จำนวน  ๑๖ บท    และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘  จำนวน  ๑๓๑ บท

การเดินทางเริ่มจากปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘

๏ ตั้งหน้าออกมา  จากบางเจ้าพระยา  พระทวารอันใหญ่   จักไปฝรั่งเศส
 ปรเทศเมืองไกล   ข้ายกมือไหว้   อารักษ์ทั้งปวง


ผ่านเกาะต่าง ๆ อย่างเกาะสีชัง เกาะไผ่ เกาะช้าง หมู่เกาะมัน เกาะลิง จนมาถึงเกาะปังกา (บังกา - Bangka) ผ่านช่องแคบปังกาซึ่งอยู่ระหว่างเกาะปักกากับเกาะสุมาตรา เมืองปเลมัง (ปาเล็มบัง - Palembang) และได้แวะที่เมืองบันตัน (บันเติน - Banten) บนเกาะชวา

๏ เถิงเมืองบันตัน   บ้านเมืองที่นั้น   ย่อมชาวชวา
โอ่วบัดนี้เอย   เสียแก่ลันดา  ทังตัวพญา  ไม่ระพ้นมือเขา


หลังจากนั้น จึงได้ออกเดินทางต่อเข้าช่องแคบซุนดา (Sunda Strait) จนถึงเกาะพร้าว นับเดินทางได้ ๔๐ วัน จากนั้นเรือถูกลมพายุแทบจะอับปาง ต่อลมสงบก็แวะที่เมืองกาบ บนแหลมกู๊ดโฮป (Cape of Good Hope) ทวีปแอฟริกา

๏ ไปถึงเมืองกาบ  เข้าสูงยอดราบ  เป็นกำแพงกัน
ชาววิลันดา   ตั้งเมืองที่นั้น   สร้างตึกเรียงรัน   เป็นชาวค้าขาย


และต่อมา คณะราชทูตได้เดินทางถึงเกาะววยสั้ง (อวยซอง -I'ile Ouessant) ต่อไปจนถึงเมืองปาเรด (แบรสต์ - Brest) เมืองท่าทางตะวันตกของฝรั่งเศสในวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๒๒๙ รวมระยะเวลาการเดินทางราว ๕ เดือนกว่า

๏ ถึงท่าปาเรด   เป็นเมืองประเทศ   ฝรั่งเศสนคร   สำเภาเลากา  
เรือซาสลอน    ท่องเที่ยวเขจร   ไปมาค้าขาย


นิราศนี้ยังแต่งไม่สมบูรณ์เพราะกระบวนการเชิญพระราชสาส์นและพิธีการต้อนรับต่างๆทำให้กวีไม่มีเวลาเขียน ดร.ปรีดี  พิศภูมิวิถีสันนิฐานว่ากวีอาจจะราชทูตผู้ใดผู้หนึ่ง เพราะในตอนกลางเรื่องกล่าวตอนเรือสำเภาต้องพายุว่า

๏ แต่เราไปมาทุกที     บเหมือนครั้งนี้
พยุมาใหญ่หนักหนา


ซึ่งก็อาจจะเป็นออกหลวงกัลยาณราชไมตรี หรือ ออกขุนศรีวิสารวาจา เพราะทั้งสองท่านเคยเดินทางไปต่างแดน คุณหลวงคนแรกเคยไปจีน ส่วนพี่ขุนเคยไปโมกุลมาก่อน แต่ถ้าพิจารณาตามเส้นทางการเดินทาง พี่ขุนดูจะมีภาษีดีกว่า เพราะเส้นทางเริ่มต้นเป็นทางเดียวกับทางไปโมกุล อีกทั้งคุณหลวงอุปทูตซึ่งมีอายุมากแล้วก็ล้มป่วยต้องรักษาตัวอยู่นาน น่าจะไม่มีเวลาเขียน

ผู้เขียนนิราศต้นทางฝรั่งเศสนี้จึงน่าจะเป็น พี่ขุน หรือ ออกขุนศรีวิสารวาจา ของเรานั่นเอง   ยิงฟันยิ้ม

ข้อมูลจาก

https://writer.dek-d.com/zennee/story/viewlongc.php?id=1279933&chapter=116
http://ngthai.com/history/9256/่journey-to-france/
http://www.sac.or.th/databases/thailitdir/detail.php?meta_id=63


บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 252  เมื่อ 04 เม.ย. 18, 11:04

ขออนุญาตประชาสัมพันธ์ครับ

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 253  เมื่อ 04 เม.ย. 18, 11:11

แตกแขนงไปทุกสาขาเชียวหนาออเจ้า  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 254  เมื่อ 04 เม.ย. 18, 11:13

เรื่องพายุ ในพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขาเขียนไว้ว่า

ไปในท้องทะเลประมาณ ๔ เดือน ก็บรรลุถึงวนใหญ่ ใกล้ปากน้ำเมืองฝรั่งเศส บังเกิดเหตุลมพายุใหญ่พัดกำปั่นไป ในกลางวนเวียนอยู่ถึง ๓ วัน บรรดาคนในกำปั่นร่ำร้องไห้รักชีวิตอื้ออึงไป ด้วยกำปั่นลำใดลงสู่วนนั้นแล้วก็จมลงสิ้นลำกำปั่นทุก ๆ ลำ ซึ่งจะรอดพ้นวนไปนั้น หามิได้มีสักลำหนึ่ง แต่นายปานราชทูตยังมีสติอยู่ จึ่งปรึกษาอาจารย์ว่ากำปั่นเราลงเวียนอยู่ในวนถึง ๒ - ๓ วันแล้ว ท่านจะคิดอ่านประการใด กำปั่นจึงจะพ้นวนได้ เราทั้งหลายจึ่งจะรอดจากความตาย ฝ่ายอาจารย์จึงเล้าโลมเอาใจราชทูตว่า ท่านอย่าตำใจ เราจะแก้ไขให้พ้นภัยจงได้ แล้วให้แต่งเครื่องสักการบูชา จุดธูปเทียน แล้วอาจารย์จึ่งนุ่งขาว ห่มขาว เข้านั่งสมาธิเจริญพระกรรมฐานทางวาโยกระสินธุ์ ณ ครู่หนึ่ง จึ่งบันดาลเกิดมหาวาตะพายุใหญ่ หวนหอบเอากำปั่นนั้น ขึ้นพ้นจากวนได้

ในนิราศต้นทางฝรั่งเศสกล่าวถึงพายุเหมือนกัน แต่เกิดขึ้นกลางทางหลังออกจากเกาะพร้าว

๏ ครั้นลมพัดหวน   สำเภาปั่นป่วน   เรรวนนักหนา   ทั้งลมทั้งฝน
เกลื่อนกล่นกันมา   ลมพัดต้านหน้า   เพตราถอยหลัง
๏ สำเภาเภตรา   อยู่กลางคงคา   ดุจดั่งใบไม้   อันตกลอยอยู่
กลางแม่น้ำไหล   กลิ้งกลอกกลับไป  ในท้องคงคา


ไม่มีพิธีการใด ๆ จากอาจารย์ชำนาญญาณกระสินธุ์ จะมีก็เพียงแต่การกราบไหว้เทวดานพเคราะห์แลพระพาย พระสมุทร และนางมณีเมขลา

๏ ยกมือประนมไหว้    ส่วนปากไซร้ราธนา
บนบวงทุกเทวา         ขอจงข้าพ้นความตาย
๏ ข้าไหว้พระอาทิตย์   อันศักดิ์สิทธิ์รุ่งเรืองฉาย
ส่องโลกทังหลาย       ขอท่านท้าวช่วยปรานี
๏ ข้าไหว้พระจันทรา   อันโสภาทรงรัศมี
ส่ิงโลกโลกีย์            ช่วยปรานีเอ็นดูรา
๏ ข้าไหว้พระอังคาร   แสงชัชวาลงามโสภา
ช่วยห้ามพระคงคา     อย่าเปนบ้าจงสงบหาย
๏ ข้าไหว้ทังพระพุธ    อันใสสุทธิ์งามเฉิดฉาย
จงช่วยห้ามพระพาย   ให้พัดย้ายชอบทางไป
๏ ข้าไหว้ทังพระหัส    แสงไตรตรัสรุ่งเรืองใส
ช่วยห้ามพระพายไว้   ให้พัดไปตามทางดี
๏ ข้าไหว้พระศุกร์เจ้า  แสงเรืองเร้าสุกใสศรี
.....................    ......................
๏ ข้าไหว้มณีเมขลา    อันรักษาท้องนที
จงท่านช่วยปรานี       ให้นทีจงราบมา
๏ ข้าไหว้พระพายเจ้า  เอ็นดูเกล้าข้าเถิดรา
พ้นกำลังแล้วนา         ขอพัดมาแต่ตามทาง
๏ ข้าไหว้พระสมุทร     ..........................
......................    ..........................
๏ ข้าไหว้พระราหู      อันเสด็จอยู่พื้นสุนธรา
ช่วยห้ามพระคงคา     อย่าให้คลื่นซัดโยนยล
๏ ข้าไหว้ทังพระเกตุ   อันวิเศษอยู่เบื้องบน
ช่วยห้ามลมแลฝน     ให้ระงับกลับมาดี


ข้อมูลจาก

https://www.facebook.com/HorKhaoChaoPrakan/posts/1007240479433835
https://books.google.co.th/books/about/ย้อนรอยโกษาปา.html?id=AT9kAAAAMAAJ&redir_esc=y[
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 15 16 [17] 18 19 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.086 วินาที กับ 19 คำสั่ง