เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 13 14 [15] 16 17 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 48400 Dramatic license กับ ข้อเท็จจริง ใน บุพเพสันนิวาส
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 210  เมื่อ 29 มี.ค. 18, 19:31

พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงแต่งคณะทูตชุดแรกมายังกรุงศรีอยุทธยาใน พ.ศ.๒๒๒๘ ผู้นำคณะเป็นผู้บังคับการทหารเรือนามว่า อาแล็กซ็องดร์ เดอ โชมงต์ (Alexandre de Chaumont) ขุนนางบรรดาศักดิ์เชอวาลิเยร์ (Chevalier เทียบเท่า Knight หรืออัศวิน) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตวิสามัญ (Ambassadeur Extraordinaire) ผู้มีอำนาจเต็มแทนพระองค์พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

อย่างไรก็ตามเกิดความไม่ลงรอยกันในเรื่องพระราชพิธีรับราชทูตในครั้งนี้ ซึ่งเกิดมาจากธรรมเนียมปฏิบัติต่อตัวราชทูตระหว่างสองชาตินั้นแตกต่างกัน

ตามธรรมเนียมตะวันตกถือว่าราชทูตเป็นผู้แทนพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน มีสิทธิขาดอำนาจเต็มในการเจรจาดำเนินการต่างองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งตัวโชมงต์ได้รับโปรดเกล้าให้มีสถานะดังกล่าว  

แต่ธรรมเนียมไทยนั้นถือว่าสิ่งแทนองค์พระมหากษัตริย์คือพระราชสาส์น ส่วนตัวราชทูตนั้นเป็นเพียงผู้ที่อัญเชิญพระราชสาส์นเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจใด ๆ


และคงเป็นด้วยเหตุนี้ทำให้ปกติคณะทูตไม่ว่าจะมาจากชาติใด ๆ เมื่อได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินจะต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมไทยคือต้องหมอบคลานและกราบถวายบังคม ไม่เว้นแม้แต่ราชทูตจากอาณาจักรใหญ่อย่างจีน เปอร์เซีย หรือโมกุล

เชอวาลิเยร์ เดอ โชมงต์ได้ทราบธรรมเนียมปฏิบัติของไทยก็ไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามเนื่องจากเห็นว่าไม่สมเกียรติ เพราะตนเป็นอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแทนพระองค์พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จึงได้ขอร้องให้ราชสำนักอยุทธยาจัดขุนนางมาทำความตกลงเรื่องพระราชพิธีเพื่อให้เป็นที่สมเกียรติทั้งสองฝ่าย สมเด็จพระนารายณ์จึงโปรดให้ คอนสตันซ์ ฟอลคอน (Constans Phaulkon) ขุนนางชาวกรีกซึ่งเป็นที่โปรดปราน ในเวลานั้นมีบรรดาศักดิ์เป็น “ออกพระฤทธิกำแหงภักดี” เป็นผู้ทำความตกลงกับฝรั่งเศส

ในเรื่องการถวายพระราชสาส์น เดิมฟอลคอนตั้งใจว่าจะอัญเชิญพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ลงเรือพระที่นั่ง จากนั้นแล้วจึงมอบให้ขุนนางชั้นผู้ใหญ่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่โชมงต์ไม่ยอมเด็ดขาด และต้องการจะถวายพระราชสาส์นให้ถึงพระหัตถ์สมเด็จพระนารายณ์โดยตรงตามอย่างธรรมเนียมยุโรป และเรียกร้องให้ลดพระราชบัลลังก์ที่ประทับลงมาหรือทำยกพื้นให้สูงขึ้นเพื่อให้ถวายพระราชสาส์นต่อพระหัตถ์ได้ ซึ่งฟอลคอนเองได้ให้สัญญาว่าจะปฏิบัติตามนั้น

วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๒๒๘ คณะทูตฝรั่งเศสได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นต่อสมเด็จพระนารายณ์ที่พระราชวังหลวงกรุงศรีอยุทธยา เชอวาลิเยร์ เดอ โชมงต์และชาวฝรั่งเศสทั้งปวงได้รับเกียรติให้สวมหมวกและรองเท้าเวลาเข้าเฝ้าได้ตามธรรมเนียมฝรั่งเศส และมีเก้าอี้ให้โชมงต์ได้นั่งรอ

แต่เมื่อโชมงต์ได้เข้าเฝ้าแล้วกลับพบว่าฟอลคอนผิดสัญญาที่ให้ไว้ เพราะสมเด็จพระนารายณ์ประทับอยู่บนสีหบัญชรที่สูงมากจนไม่สามารถถวายพระราชสาส์นต่อพระหัตถ์ได้ และฟอลคอนกลับเอาพานซึ่งมีด้ามจับยาวสามฟุตมาให้โชมงต์วางพระราชสาส์นสำหรับชูถวายขึ้นไปแทน

ข้อมูลจาก "วิพากษ์ประวัติศาสตร์" ของคุณศรีสรรเพชญ์
https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/1263837597013041

เหตุการณ์ที่เห็นในภาพพิมพ์แกะไม้และในละครจึงเกิดขึ้น


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 211  เมื่อ 29 มี.ค. 18, 20:22

เดอ โชมองต์ได้เขียนบันทึกถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

บรรดาขุนนางได้เข้าไปในท้องพระโรงอยู่ตามตำแหน่งก่อน พระเจ้าแผ่นดินสยามเสด็จออกบนพระที่นั่งโธรน แลเมื่อข้าพเจ้าได้เข้าไปนั้น เจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีพระคลังเสนาบดีได้เข้าไปกับข้าพเจ้า แลบาดหลวงเแอปเบเดอชวยซีนั้นเชิญพระราชสาส์น ข้าพเจ้ามีความแปลกใจที่ได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินสยามประทับอยู่บนพระที่นั่งยกชั้นสูง ด้วยเจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีได้สัญญายอมไว้กับข้าพเจ้า ว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามจะเสด็จออกบนพระที่นั่งที่ยกชั้นมิให้สูงกว่าชั่วสูงของคน แลพระราชสาส์นนั้นควรจะได้ถวายต่อพระหัตถ์ เหตุดังนี้ข้าพเจ้าจึงได้ว่ากับบาดหลวงแอปเบเดอชวยซีว่าคำที่สัญญาให้ข้าพเจ้า นั้นได้ลืมเสียแล้ว แต่ข้าพเจ้าคงจะตั้งใจโดยแท้ที่จะถวายพระราชสาส์นกับด้วยมือของข้าพเจ้าเอง พานทองซึ่งใส่พระราชสาส์นนั้น มีที่จับใหญ่ยาวกว่า ๓ ฟิต ด้วยเขาคิดว่าข้าพเจ้าจะจับปลายที่มือจับยกพานชูขึ้นไปให้สูงถึงพระที่นั่ง แต่ข้าพเจ้าได้ตั้งใจในทันทีนั้นจะถวายพระราชสาส์นต่อพระหัตถ์เอง จึงได้ถือพานทองนั้นในมือข้าพเจ้า ครั้นได้มาถึงพระทวาร ข้าพเจ้าก้มศีศะถวายคำนับที ๑ แล้วเดินไปได้ครึ่งทางที่ในท้องพระโรง จึงได้ถวายคำนับอิกครั้งหนึ่ง แล้วเดินไปที่ใกล้ ที่ข้าพเจ้าจะนั่งนั้น ข้าพเจ้าได้พูดแอดเดรศถวายสองสามคำแล้ว ข้าพเจ้าใส่หมวกแล้วจึงนั่งลงเฝ้าแลคอยฟังทรงปราไส แลทูลตอบในคำสปิชนั้น.....

คำสปิชนี้ เจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีแปลถวายแล้ว ข้าพเจ้าได้ทูลพระเจ้าแผ่นดินสยามว่า พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเปนเจ้าของข้าพเจ้าได้โปรดให้บาดหลวง แอปเบเดอ ชวยซี มาด้วยกับข้าพเจ้ากับผู้ดีด้วย ๑๒ นาย แล้วข้าพเจ้าทูลถวายตัวเขาทั้งนั้น ข้าพเจ้าได้เชิญพระราชสาส์นจากมือบาดหลวงแอปเบเดอ ชวยซี คิดจะถวายดังเช่นข้าพเจ้าได้พูดตกลงไว้ เจ้าพระยาวิชาเยนทราธิบดีซึ่งไปเฝ้าด้วยข้าพเจ้าคลานเข้าไปด้วยมือกับเข่า เรียกข้าพเจ้าแล้วบุ้ยชี้ให้ข้าพเจ้ายกแขนเชิญพระราชสาส์นขึ้นให้ถึงพระเจ้าแผ่นดิน แต่ข้าพเจ้าทำเปนไม่ได้ยินนิ่งเสีย อยู่ทีหลังพระเจ้าแผ่นดินทรงพระสรวล แลทรงลุกขึ้นก้มพระองค์ลงมารับพระราชสาส์นที่อยู่บนพานทอง แล้วก็ทรงประทับอิงให้เห็นทั่วทั้งพระองค์ เมื่อทรงหยิบพระราชสาส์นแล้ว ข้าพเจ้าก้มศีศะลงถวายคำนับอย่างต่ำ แล้วกลับมายังที่นั่ง

จาก จดหมายเหตุทูตฝรั่งเศสและโปรตุเกตเข้ามาเมืองไทยในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  แปลโดยเจ้าพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) จากฉบับภาษาอังกฤษซึ่งพระยาสยามมานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ (เซอร์จอห์น เบาว์ริง) แปลจากฉบับภาษาฝรั่งเศส  Relation de l'ambassade de Mr. le Chevalier de Chaumont a la cour du roy de Siam ของเชอวาเลีย เดอ โชมองต์
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 212  เมื่อ 30 มี.ค. 18, 10:10

บุพเพสันนิวาส ตอนที่ ๑๑
https://mello.me/video/60569/อยากรู้จริงๆเหรอคะ-ไปส่องคันฉ่องดูสิคะ

บุพเพสันนิวาส ตอนที่ ๑๒
https://mello.me/video/60594/ข้าจะรักษาเนื้อรักษาตัวรอคอยคุณพี่กลับมาเจ้าค่ะ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 213  เมื่อ 30 มี.ค. 18, 13:28


สนับสนุนภาพประกอบครับ

ภาพร่วมสมัยนี้มีพระนารายณ์ ฟอลคอน และ พระเพทราชา ในรูปเดียวกันครับ
พระเพทราชาไม่ได้นั่งแท่น เหมือนอย่างในละคร


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 214  เมื่อ 30 มี.ค. 18, 14:58

ภาพวาดสีน้ำที่บาทหลวงปูโช (Pouchot) คณะเยสุอิตมอบให้หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๕ ภาพดังกล่าวถูกเก็บรักษาอยู่ ณ หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

เป็นภาพสมเด็จพระนารายณ์ทรงสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๒๓๑ ณ พระที่นั่งเย็น ริมทะเลชุบศร กรุงละโว้ ร่วมกับบาทหลวงคณะเยสุอิต นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศส (ชุดเสื้อคลุมดำ) บุคคลที่นั่งขัดสมาธิสวมเสื้อสีแดงตรงกลางคือ “ออกญาวิชาเยนทร์” ส่วนผู้ที่นั่งในท่าคลานและมองไปยังท้ายกล้องโทรทรรศน์คือ “พระเพทราชา” สำหรับกล้องโทรทรรศน์ที่ใช้ในการสังเกตการณ์สุริยุปราคาบางส่วนเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ มอบหมายให้ราชทูตฝรั่งเศส เชวาเลีย เดอ โชมอง ถวายเป็นเครื่องมงคลราชบรรณาการ ในโอกาสเดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม นอกจากนี้พระองค์ทรงชื่นชมประสิทธิภาพเครื่องมือวัดมุมแพรัลแลกซ์ของดวงอาทิตย์ ซึ่งช่วยให้สามารถรับภาพดวงอาทิตย์มาปรากฏบนฉากกระดาษสีขาว พระองค์ยังได้ทรงประจักษ์ถึงความแม่นยำของการคำนวณเวลาการเกิดและระยะต่าง ๆ ของสุริยุปราคาจากบันทึกที่บาทหลวงริโชถวายให้ทอดพระเนตรอีกด้วย

https://www.facebook.com/NARITpage/posts/1772771139453159

ส่วนผู้ที่นั่งในท่าคลานและมองไปยังท้ายกล้องโทรทรรศน์คือ “พระเพทราชา" ใช่ฤๅ   ฮืม
บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 215  เมื่อ 30 มี.ค. 18, 15:27

ไม่ได้ดูทุกตอน ได้ดูบ้างเป็นบางครั้งถ้ามีเวลา สงสัยจังค่ะ ทำไมพระเพทราชาถึงได้ใหญ่โตจังเลยละคะ มีอยู่ตอนหนึ่งที่เข้าเฝ้าพระนารายณ์ พระนารายณ์พูดยังไม่ทันจะจบเลย แต่พระเพทราชาลุกไปดื้อๆไม่อยู่ฟังแล้ว       
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 216  เมื่อ 30 มี.ค. 18, 15:29

ตามข้อสงสัยของคุณแอนนา รวมทั้งภาพพระเพทราชาเกล้าผมมวยสูงเหมือนสมเด็จพระนารายณ์ ห้อยสังวาลย์ ได้นั่งแท่นไม่ต้องหมอบกราบเหมือนขุนนางอื่น

คุณศรีสรรเพชญ์ให้ความเห็นว่า เพื่อต้องการจะสื่อถึงความเป็น "เจ้า" ของพระเพทราชาโดยพิจารณาจากหลักฐานร่วมสมัยหลายชิ้น ดังเช่น

จดหมายเหตุราชอาณาจักรสยาม (Du Royaume de Siam) ของ ซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de la Loubère) ราชทูตพิเศษชาวฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุทธยาใน ค.ศ. ๑๖๘๗ (พ.ศ. ๒๒๓๐) ปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ได้กล่าวถึงพระเพทราชาว่า

“ออกพระพิพิธราชา ซึ่งเรียกกันให้เพี้ยนไปว่า เพทราชา (Petratcha) เป็นผู้บังคับบัญชาเหล่าช้างเหล่าม้าทั้งปวงอยู่ และนับว่าเป็นกรมใหญ่โตกรมหนึ่งแห่งราชอาณาจักร ด้วยว่าช้างนั้นเป็นตัวกำลังสำคัญของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม...ตระกูลของท่านได้รับราชการสืบกันมาช้านานในตำแหน่งอันสูงส่ง และมีความสัมพันธ์กับราชบัลลังก์อยู่เนือง ๆ และมีผู้คนได้โจษขานกันอย่างเปิดเผยว่า ตัวท่านเองหรือออกหลวงสุรศักดิ์ (Oc-Loüang Sourasac) บุตรของท่านอาจอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ได้อยู่ หากว่าคนใดคนหนึ่งยังมีชีวิตอยู่ เมื่อพระมหากษัตริย์ซึ่งผ่านพิภพ อยู่ในปัจจุบันนี้เสด็จสวรรคตแล้วมารดาของออกพระพิพิธราชานั้น เป็นพระนมของพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน”

ลาลูแบร์บ่งชี้ว่าตระกูลของพระองค์มีฐานะสูงและมีความใกล้ชิดกับราชสำนักมาก นอกจากนี้พระมารดาของพระองค์ก็เป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งผู้เป็นพระนมของพระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดินก็ควรจะเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจ รวมถึงมีสถานะใกล้ชิดกับพระราชวงศ์พอสมควร เป็นไปได้ยากมากที่ราชสำนักจะคัดเลือกชาวบ้านธรรมดาที่ไม่มีเชื้อสายมาเป็นพระนมได้ ที่สำคัญ การที่คนทั่วไปกล่าวกันอย่าง “เปิดเผย” ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ว่าพระเพทราชาหรือโอรสของพระองค์มีโอกาสได้ครอบราชสมบัติสืบต่อ นับว่าสถานะของพระองค์ไม่ธรรมดาเลย

แต่ตามความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่คิดว่าพระเพทราชาจะมีศักดิ์สูงอย่างที่ละครนำเสนอ แม้จะเป็นเชื้อพระวงศ์หรือราชนิกุล แต่เข้าใจว่ามีฐานะไม่ได้ต่างจากขุนนางอื่น ๆ และไม่น่าจะมีศักดิ์สูงกว่าเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ที่เป็นลูกพระนมเหมือนกันและมีมารดาคือเจ้าแม่วัดดุสิตที่มีข้อบ่งชี้ว่าเป็นเชื้อสายราชนิกุลไม่ต่างกัน นอกจากนี้พิจารณาตามหลักฐานของลาลูแบร์แล้ว มีขุนนางคนเดียวที่สามารถนั่งเฝ้าได้โดยไม่ต้องหมอบกราบคือเจ้าพระยามหาอุปราช อัครมหาเสนาบดีผู้เป็นประธานของขุนนางทั้งปวงเท่านั้น

ดังนั้น พระเพทราชาก็น่าจะหมอบกราบไม่ต่างจากขุนนางอื่น ๆ ครับ


จาก "วิพากษ์ประวัติศาสตร์" ของคุณศรีสรรเพชญ์
https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/1717679641628832
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 217  เมื่อ 30 มี.ค. 18, 16:41

ส่วนผู้ที่นั่งในท่าคลานและมองไปยังท้ายกล้องโทรทรรศน์คือ “พระเพทราชา" ใช่ฤๅ   ฮืม

ภาษาฝรั่งเศสบรรยายภาพ เขียนไว้ชัดครับ  (โปรดอ่านสองบรรทัดสุดท้าย) ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 218  เมื่อ 31 มี.ค. 18, 11:37

The eclipse of the sun at Siam in 1688 in the month of April’,

This was viewed by the Missionary and Mathematician Jesuits sent by the King to the East Indies in 1687.  It was at Louvo in the King’s palace that it was observed in the presence of this prince who was at a window of a large Hall of His Palace seated in an armchair, and the Jesuits with Mr Constance who acted as interpreter for them were seated with their legs crossed on a large Turkish carpet. One saw on both sides a row of prostrate mandarins with their heads bowed down to the ground. On this occasion a fine parallactic machine, which is a kind of clock to which is attached a telescope that follows the Movement of the Sun, was used. There can be seen the mandarin Opra Pitratcha who came to see this machine close to. It is he who seized the Kingdom of Siam and chased out the French.

คำแปลจากบทความเรื่อง Eclipses in Siam, 1685 and 1688, and Their Representation โดย Michael Smithies. Journal of the Siam Society 2003 Vol. 91 หน้า ๑๙๘

http://www.siamese-heritage.org/jsspdf/2001/JSS_091_0e_Smithies_EclipsesIn1685And1686.pdf


บันทึกการเข้า
นิ่มนวล
อสุรผัด
*
ตอบ: 1


ความคิดเห็นที่ 219  เมื่อ 31 มี.ค. 18, 12:49

พระเพทราชาเป็นลูกของพระนม( โท ) สถานะคงไม่แตกต่างกับท่านโกษาเหล็กที่เป็นลูกพระนม( เอก ) น่าจะเป็นขุนนางจากตระกูลขุนนางใหญ่ เพราะพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่คงไม่ส่งภรรยาตัวเองมาเป็นแม่นมแน่ๆ มันดูข้ามระดับชั้นทางสังคมไปมาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 220  เมื่อ 31 มี.ค. 18, 19:10

แม่นม ที่รู้จักกันในประวัติศาสตร์มี 3 คน (เท่าที่นึกออกตอนนี้นะคะ)
๑  เจ้าแม่วัดดุสิต  มารดาของเจ้าพระยาโกษา(เหล็ก)และโกษา(ปาน) แม่นมของสมเด็จพระนารายณ์    ประวัติของท่านค่อนข้างคลุมเครือ มีแต่คำบอกเล่าว่า เดิมเป็นเจ้าชื่อหม่อมเจ้าหญิงบัว    มีเชื้อสายราชวงศ์สุโขทัย 
   ดิฉันมีข้อสงสัยที่ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า ถ้าเจ้าแม่วัดดุสิตเป็นเจ้า  เหตุใดจึงมีสามีเป็นสามัญชน  เห็นได้จากบุตรทั้งสองเป็นสามัญชน  ธรรมเนียมที่เจ้านายสตรีชั้นหลานหลวง(คือเป็นหม่อมเจ้า)สมรสอย่างเปิดเผยกับสามัญชนมีมาตั้งแต่อยุธยาตอนกลางทีเดียวหรือ
  ในพระราชหัตถเลขาที่สมเด็จพระจอมเกล้าฯมีไปยังเซอร์จอห์น เบาริง  ทรงเล่าว่าบรรพบุรุษของพระองค์เป็นนายทหารเชื้อสายมอญที่ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมาจากพม่า     จึงมีคนโยงข้อมูลว่า ท่านผู้นั้นคือสามีเจ้าแม่วัดดุสิต
ตอนนี้ยังไม่ได้นับพ.ศ. ว่าตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับจากพม่า เมื่อสิ้นรัชกาลของบุเรงนอง มาจนถึงสมเด็จพระนารายณ์ประสูติ กินเวลากี่ปี    ถ้าเจ้าแม่วัดดุสิตเป็นสาวพอจะแต่งงานกับนายทหารมอญในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรหรืออย่างช้าก็สมเด็จพระเอกาทศรถ  ท่านจะยังเป็นสาวอยู่ในสมัยพระเจ้าปราสาททองเมื่อสมเด็จพระนารายณ์ประสูติได้หรือไม่    ต้องฝากคุณเพ็ญชมพูช่วยบวกลบพ.ศ.ให้ด้วยได้ไหมคะ   
   แต่ถ้าเจ้าแม่วัดดุสิตเป็นสามัญชน  ปัญหาเรื่องเจ้าก็ตกไป
๒   มารดาของสุนทรภู่   เป็นแม่นมของพระธิดากรมพระราชวังหลัง
    ตระกูลของสุนทรภู่เป็นสามัญชน  บิดาลาออกจากราชการไปบวชอยู่ที่ระยอง   มีผู้อ้างชื่อว่าชื่อขุนศรีสังหาร    ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ไม่ใช่ขุนนางระดับใหญ่โตอะไรนัก แต่อย่างน้อยมารดาของสุนทรภู่ก็เป็นภรรยาขุนนาง ไม่ใช่ภรรยาชาวบ้านธรรมดา
๓  พระนมทัด   พระนมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  มารดาของเจ้าพระยารามราฆพ และพระยาอนิรุทธเทวา    ดิฉันไม่ทราบว่าท่านมาจากสกุลไหน   แต่ท่านคือคุณหญิงประสิทธิ์ศุภการ ภรรยาของพระยาประสิทธิ์ศุภการ(ม.ร.ว.ลม้าย พึ่งบุญ)

ทั้งสามท่านมีบางอย่างตรงกัน คือเป็นภรรยาของขุนนาง   ก็พอจะนำไปสู่การสันนิษฐานได้ว่า มารดาของพระเพทราชาก็น่าจะเข้าข่ายนี้ คือเป็นภรรยาขุนนางเช่นกัน
บันทึกการเข้า
นิ่มนวล
อสุรผัด
*
ตอบ: 1


ความคิดเห็นที่ 221  เมื่อ 31 มี.ค. 18, 19:36

นึกถึงข้อเท็จจริงอีกอย่าง โรคบางอย่างติดทางน้ำนมมารดาได้อย่างทารกสมัยนี้ไม่ดื่มนมคนอื่นที่ไม่ใช่แม่แต่ไปดื่มนมวัวแทน แล้วเด็กเล็กๆที่ต้องตื่นมากินนมทุกๆไม่กี่ชม. สมัยที่ไม่มีตู้เย็นเก็บน้ำนม เป็นงานที่ต้องการความไว้วางใจอย่างมากแล้วก็ต้องอดหลับอดนอน ย้ายบ้านย้ายช่องไปค้างคืนในวัง เสี่ยงต่อสุขภาพทรุดโทรม ห่วงบ้านช่อง

คิดแล้วไม่น่าเป็นเจ้านายฝ่ายหญิงหรือหม่อมห้ามที่หน้าที่หลักก็ต้องทะนุบำรุงลูกของตัวที่ก็เป็นเจ้าได้ น่าจะเป็นเชื้อสายขุนนางใกล้ชิด ถึงจะได้รับความไว้วางใจสูงสุดไปจนถึงด้านสุขอนามัยว่าแข็งแรงไม่มีโรคติดต่อ

ยิ่งรู้สึกว่าพระเพทราชาท่านคงเป็นขุนนาง ไม่ใช่เจ้าค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 222  เมื่อ 31 มี.ค. 18, 20:52

อิเหนาฉบับใครเป็นใคร

                เมื่อตอนอิเหนาเกิด      
                กุเรปันจัดนางนมจัดภรรยาของเสนีไว้ให้แล้ว  แต่ไม่ได้บอกจำนวน
                คุณสมบัติของแม่นมนั้นในอิเหนาบอกว่ามี ๖๔ ข้อ    คือไม่สูงไม่เตี้ย ไม่มีกลิ่นตัว  น้ำนมหวานมันไม่เปรี้ยว
                เป็นผู้มีสกุล  คือรู้จักการที่ควรหรือไม่ควรประพฤติ

                พระนมนี่ในวรรณคดีบางเรื่องได้ดีเพราะเจ้าชายมีกตัญญู    เรื่องจริงในรัตนโกสินทร์ก็มีจ้ะ   ลูกพระนมได้รับราชการเป็นเจ้าพระยา
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 223  เมื่อ 01 เม.ย. 18, 07:18

ในพระราชหัตถเลขาที่สมเด็จพระจอมเกล้าฯมีไปยังเซอร์จอห์น เบาริง*  ทรงเล่าว่าบรรพบุรุษของพระองค์เป็นนายทหารเชื้อสายมอญที่ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมาจากพม่า จึงมีคนโยงข้อมูลว่า ท่านผู้นั้นคือสามีเจ้าแม่วัดดุสิต

ตอนนี้ยังไม่ได้นับพ.ศ. ว่าตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับจากพม่า เมื่อสิ้นรัชกาลของบุเรงนอง มาจนถึงสมเด็จพระนารายณ์ประสูติ กินเวลากี่ปี    ถ้าเจ้าแม่วัดดุสิตเป็นสาวพอจะแต่งงานกับนายทหารมอญในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรหรืออย่างช้าก็สมเด็จพระเอกาทศรถ  ท่านจะยังเป็นสาวอยู่ในสมัยพระเจ้าปราสาททองเมื่อสมเด็จพระนารายณ์ประสูติได้หรือไม่    ต้องฝากคุณเพ็ญชมพูช่วยบวกลบพ.ศ.ให้ด้วยได้ไหมคะ

นายทหารเชื้อสายมอญที่ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมาจากพม่า  อาจหมายถึง พระยาเกียรติ หรือ พระยาราม หรือนายทหารมอญท่านอื่นที่ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๗  สมเด็จพระนารายณ์ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๔ บวกลบคูณหารแล้วห่างกัน ๔๗ ปี นายทหารมอญรุ่นนี้จึงไม่น่าจะใช่สามีของเจ้าแม่วัดดุสิต น่าจะเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากนายทหารรุ่นนี้สัก ๒ รุ่น

เอกสารของ ม.ล.มานิจ ชุมสาย ที่กล่าวว่าเป็น “บันทึกของบรรพบุรุษ” ตกทอดมายังท่าน มีเรื่องราวของเจ้าแม่วัดดุสิตโดยพิสดารอีกสายหนึ่งคือ แม้จะไม่ทราบชื่อท่าน แต่ก็ทราบนามของชาวมอญต้นสกุลจักรีที่ตามสมเด็จพระนเรศวรมายังกรุงศรีอยุธยา

แม่ทัพมอญคนหนึ่งมีนามว่า พระยาเกียรติ ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรเข้ามารับราชการกับไทย ลูกหลานคนหนึ่งของพระยาเกียรติ (ไม่ได้บอกว่ามีชื่อว่าอะไร) ได้แต่งงานกับเจ้าแม่วัดดุสิต (ไม่ได้บอกชื่อเดิมอีกเหมือนกัน) ซึ่งเป็นพระนาง มีตำแหน่งสูงในพระราชวัง

(ประวัติโกษาปานและบันทึกการเดินทางไปฝรั่งเศส. คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์, ๒๕๓๐, น. ๑๓.)

ข้อมูลจากบทความเรื่อง ปริศนาเจ้าแม่วัดดุสิต ต้นราชวงศ์จักรี “เจ้า” หรือ “สามัญชน”??? โดย คุณปรามินทร์ เครือทอง นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน ๒๕๔๘

* อ่านรายละเอียดได้ที่ ปฐมวงศ์ของราชวงศ์จักรี: พระราชหัตถเลขาถึงเซอร์จอห์น เบาริง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 224  เมื่อ 01 เม.ย. 18, 10:57

หลักฐานชี้ แม่การะเกดมีตัวตนจริง

จากละครโทรทัศน์ที่ภรรยาและเพื่อนฝูงชักชวนให้ดู ได้จุดประกายข้อสันนิษฐานบางอย่างแก่ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งปัจจุบันประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยในเยอรมนีว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ตัวละครสมมุติอาจมีตัวตนอยู่จริง เมื่อหลักฐานใหม่จากเอกสารเก่าระบุถึงหญิงสาวที่มีความเฉลียวฉลาดและความสามารถเกินผู้คนในยุคสมัยเดียวกัน หากเป็นเช่นนั้นจริง รายงานการค้นพบนี้เตรียมตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสาร Scientific Reports ภายในปีนี้

จุดเริ่มต้นมันมาจากการที่ภรรยาผมติดละครบุพเพสันนิวาสมากครับ” เอ็มมานูแอล เนย์บาร์ท ศาสตราจารย์ด้านโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก ในเยอรมนี ผู้มีภรรยาชาวไทยกล่าว เนย์บาร์ทเล่าว่าหลังจากนั้นตัวเขาก็กลายเป็นแฟนละครด้วยเมื่อกลุ่มเพื่อนของเขาที่มีภรรยาชาวไทยเช่นกันพากันพูดถึงแต่ละครเรื่องนี้ “มันสนุกมากเลยครับ ในเยอรมันเราไม่มีรายการโทรทัศน์ที่บันเทิงแบบนี้”

เมื่อได้ชมละครบุพเพสันนิวาสในฐานะของนักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว เนย์บาร์ทนึกย้อนไปถึงเอกสารเก่าที่ตัวเขาเคยอ่านเมื่อหลายปีก่อนมันเป็นบันทึกเกี่ยวกับอาณาจักรอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดย บาทหลวง เดอ ลิยอน หนึ่งในสมาชิกของคณะราชทูตที่เดินทางกลับจากอยุธยามายังฝรั่งเศสพร้อมกับคณะทูตชาวไทยของโกษาปาน ภายในเอกสารดังกล่าวบันทึกรายละเอียด สภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอยุธยาเอาไว้ ในช่วงเวลาที่คณะทูตฝรั่งเศสอาศัยอยู่ในอยุธยา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี ช่วงปี พ.ศ. ๒๒๒๓ – ๒๒๒๘ แต่ส่วนที่น่าประหลาดใจก็คือ ในบันทึกมีการระบุถึงหญิงสาวที่มีความเฉลียวฉลาดผิดกับผู้หญิงทั่วไปของอยุธยาในสมัยนั้น

เนย์บาร์ทตัดสินใจเดินทางกลับไปยังกรุงปารีส ในฝรั่งเศสบ้านเกิดเพื่อค้นหาเอกสารเก่าชิ้นนั้น  ซึ่งถูกเก็บเอาไว้ในหอสมุดแห่งชาติ (Bibliotheque Naionale) หลังการวิเคราะห์และถอดความลายมือของเอกสารหลายหน้าที่ยังไม่ได้รับการบูรณะอีกครั้ง เขาเริ่มตั้งข้อสันนิษฐานว่า หญิงสาวลึกลับที่ปรากฏในบันทึกเก่าแก่ดังกล่าว อาจเป็นหญิงสาวคนเดียวกันกับในละครที่เขาชมพร้อมกับภรรยา

“กากรงเป็นหญิงสาวโสด เธอฉลาดกว่าผู้หญิงอยุธยาทั่วไปและพูดจาด้วยภาษาที่ต่างจากคนอยุธยาพูด เธอเล่าถึงเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น และทำนายอนาคตราวกับคนบ้า…” เนย์บาร์ทอ่านบางช่างบางตอนของบันทึกให้ฟัง “ยังมีอีกหลายช่วงของบันทึกที่เล่าว่าหญิงสาวประหลาดผู้นี้มีความรู้และวิทยาการมากกว่าคนทั่วไป เธอรู้จักการใช้สมุนไพรรักษาโรค มีความสามารถด้านภาษา ซึ่งมีส่วนช่วยเหลือคณะทูตอย่างมาก ไปจนถึงประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่ผู้คนสมัยนั้นทำไม่ได้” ดังนั้นเนย์บาร์ทจึงค่อนข้างเชื่อว่าหญิงสาวลึกลับในบันทึกของบาทหลวง เดอ ลิยอน ต้องไม่ใช่คนที่อยู่ในยุคสมัยนั้น เป็นไปได้ว่าเธออาจข้ามเวลามาจากอนาคต แต่จะด้วยวิธีใดหรือเดินทางกลับไปยังปัจจุบันได้อย่างไรยังคงเป็นปริศนา ส่วน “กากรง” ก็น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “การะเกด”

เรื่องนี้พ้องกับกรณีที่ เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เคยพูดคุยกับลูกสาวของเอไลซา ซิดมอร์ ช่างภาพหญิงผู้พลิกโฉมหน้านิตยสารด้วยความสามารถในการถ่ายภาพจากหลากหลายสถานที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในญี่ปุ่น หรือบนเกาะชวา แอนเน่ ลูกสาวของเธอเล่าถึงประสบการณ์แปลกในช่วงทศวรรษ ๑๙๒๐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แม่ของเธอเดินทางไปเก็บภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นมีสถานะเป็นหัวเมืองทางตอนเหนือของประเทศไทย

“แม่เล่าว่าระหว่างการเดินทางเธอพบกับหญิงประหลาดที่มีสำเนียงการพูดต่างจากคนเชียงใหม่” แอนเน่กล่าว “ที่แปลกก็คือพอเธอรู้ว่าแม่เป็นอเมริกัน เธอก็เล่าถึงเหตุการณ์เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ในตอนนั้นแม่ยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร มันน่าขนลุกมากที่สิ่งที่เธอพูดเกิดขึ้นจริงในอีกร้อยปีต่อมา” แอนเน่เองเชื่อว่าหญิงลึกลับคนดังกล่าวน่าจะเดินทางมาจากอนาคตเช่นกัน แต่น่าเสียดายที่ซิดมอร์ไม่มีภาพถ่ายชัด ๆ ของเธอเก็บเอาไว้ มีเพียงแค่ภาพถ่ายด้านหลังจากระยะไกลเท่านั้น



ด้านเนย์บาร์ทพอได้ทราบข่าวนี้ ตัวเขาเองเชื่อว่าการเดินทางข้ามเวลาต้องไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดกับใครสักคนแค่คนเดียว “มันเหมือนกับฟอสซิลเลยครับ พอเราพบชิ้นที่หนึ่งแล้ว ชิ้นที่สอง สาม สี่ก็จะตามมา” เขากล่าว อย่างไรก็ตามด้วยหลักฐานที่มียังไม่มากพอที่จะทำให้บรรดานักฟิสิกส์ปักใจเชื่อ เพราะหากมนุษย์สามารถย้อนเวลาได้จริง ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม การค้นพบใหม่นี้จะเปลี่ยนโฉมหน้าขององค์ความรู้ปัจจุบันที่เรามีเกี่ยวกับกาลเวลาและอวกาศไปโดยสิ้นเชิง

“ยังมีอะไรอีกมากให้ค้นคว้าครับนอกเหนือจากการะเกดแล้วในอนาคตผมมีแผนที่จะตามหาแม่มณีจันทร์ด้วย ถ้าการะเกดมีตัวตนอยู่จริง ผมเชื่อว่ามณีจันทร์ก็ต้องมีจริงเช่นกัน” เนย์บาร์ทกล่าวอย่างมุ่งมั่น เขาหมายถึงตัวละครจากนิยายชื่อดังเรื่อง “ทวิภพ” มณีจันทร์เป็นหญิงสาวที่ย้อนเวลากลับไปในสมัยรัชกาลที่ ๕ "ในนิยายมณีจันทร์ย้อนเวลาผ่านกระจก ไม่แน่ว่ากระบวนการย้อนเวลาจริง ๆ อาจง่ายหรือซับซ้อนกว่านั้นก็ได้ ต้องรอดูกันต่อไปครับ”

เรื่อง มิชิมาล โชตาห์
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 13 14 [15] 16 17 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.059 วินาที กับ 19 คำสั่ง