เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 26
  พิมพ์  
อ่าน: 48477 Dramatic license กับ ข้อเท็จจริง ใน บุพเพสันนิวาส
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 150  เมื่อ 15 มี.ค. 18, 13:46

เมื่อคืน โกษาเหล็ก หารือกับขุนปานน้องชาย เกี่ยวกับการส่ง "คนไทย" ไปเปมืองฝรั่งเศส ด้วยนะครับ
บันทึกการเข้า
Pat
อสุรผัด
*
ตอบ: 7


ความคิดเห็นที่ 151  เมื่อ 15 มี.ค. 18, 15:34

ในรัชสมัยสมเด็พระนารายณ์
ทรงเสด็จไปประทับที่เมืองลพบุรีทีละนานหลายเดือน ตั้งลพบุรีเป็นราชธานีสำรองอีกที่หนึ่ง

ด้วยสาเหตุเพียงความปลอดภัยจากพวกเรือรบต่างชาติเพราะลพบุรีเป็นที่ดอน เรือกำปั่นรบของฝรั่งขึ้นไปไม่ถึงลพบุรี ดังนี้ จริงหรือไม่คะ หรืออาจมีเหตุผลอื่นใดอีก

เวลาที่ทรงมีกิจสำคัญๆก็ต้องทรงเสด็จกลับมาอยุธยา อย่างเช่น เหตุการณ์บาทหลวง เข้าเฝ้าและถวายพระราชสาส์นแด่สมเด็จพระนารายร์มหาราช ณ พระที่นั่งสรรเพชญ์มหาปราสาท กรุงศรีอยุธยา แล้วระยะทางจากอยุธยาถึงลพบุรี (ทางบก) ก็มิใช่น้อย น่าจะเกือบๆ 80 ถึง 90 กิโลเมตร ไม่มีความสะดวกใๆทั้งสิ้น

เกิดคำถามในใจว่า …แล้วการที่เสด็จไปประทับที่ลพบุรีนั้นเป็นความมั่นคงของประเทศอย่างไรคะ เพราะเท่ากับเราต้องแบ่งกำลังดูแลทั้งสองเมือง อยุธยาและลพบุรี …สมมุติว่าถ้าพวกฝรั่งคิดไม่ซื่อทำการยืดเมืองอยุธยาในขณะที่สมเด็จพระนารายณ์เสด็จทรงประทับ ณ ลพบุรี ละคะ อย่างนี้มิถือเป็นการเสียเอกราชด้วยหรือไม่

บันทึกการเข้า
prasit
อสุรผัด
*
ตอบ: 35


ความคิดเห็นที่ 152  เมื่อ 16 มี.ค. 18, 04:26

ส่วนตัวผมใคร่เรียนว่าละครบุพเพสันนิวาสเป็นแนวละครที่ดีนะ ถึงแม้ว่าจะไม่เหมือนในประวัติศาสตร์ตามพงศาวดาร หรือแม้กระทั่งมีฉากหลุดมาให้เห็น สาระผมว่าอยู่ที่คนจะมองมากกว่า แต่ก็ถือว่าเป็นปฐมบทที่จะต่อยอด
ให้กับคนที่สนใจอยากรู้ว่าคนในละครมีอยู่จริงใหม ถ้าอยากรู้ก็ต้องไปค้นคว้าเอา อย่างผมอยากรู้เรื่องพระนเรศวรตามที่ตัวเองเรียนตอนเด็กๆ ท่านทำไมเก่งจัง สามารถกู้กรุงศรีได้ ผ่านแล้วผ่านเลยจนกระทั่งมีหนังสุริโยทัยและ
เลยค้นคว้าหาข้อมูล ประจวบกับปรางค์ 3 องค์วัดพระศรีสรรเพชญ์ที่ผมได้ไปยลมา ทำให้รู้อีกว่าเป็นที่เก็บอัฐิของกษัตริย์ในหนังสุริโยทัยด้วย ทำให้ศึกษาปรางค์องค์อื่นๆอีก แม้กระทั้งวัดไชยฯ ที่มีมาเกี่ยวเนื่องกับละครตอนนี้
สุดแล้วแต่ว่าจินตนาการของแต่ละคนเป็นแบบใหน เพราะละครหรือหนังสือแนวนิยายก็คือเรื่องจินตนาการของเจ้าของเรื่อง แต่ถ้ามันทำให้เด็กรุ่นๆ สนใจประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์แล้วผมยกมือให้ผลิตออกมาเรื่อยๆ
ดีกว่าละครเมียหลวงตบเมียน้อย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 153  เมื่อ 16 มี.ค. 18, 10:44

ละครที่อิงกับประวัติศาสตร์ไทย  มีหลายแบบค่ะ  บางแบบก็แทบไม่สนใจข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์  มโนขึ้นมาเองเป็นส่วนใหญ่    บางแบบอย่างบุพเพสันนิวาส เดินรอยตามหลักฐานข้อมูล มีการค้นคว้ามากมาย  แสดงให้เห็นความตั้งใจของผู้ประพันธ์ ผู้เขียนบท และผู้สร้างละคร     แม้ว่าจะมีข้อผิดพลาดบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา     
ในเรือนไทย ผู้ตั้งกระทู้ขึ้นมาไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อจับผิดละครเสียจนกระทั่งลืมไปว่านี่คือละคร ที่มุ่งให้ความบันเทิงเป็นหลัก   แต่ข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนบางข้อที่ชี้ให้เห็นก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างสำหรับผู้ที่รักจะเขียน หรือรักจะทำละคร ได้มองเห็น จะได้ไม่ทำผิดในเรื่องเหล่านี้
นอกจากนี้การชี้ข้อผิดพลาด ก็คือการสนใจไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม แบบเดียวกับที่คุณประสิทธิ์ทำนั่นเอง    ต่างกันแต่ว่าคุณประสิทธิ์ประทับใจจนไปติดตามดูของจริง   ส่วนกระทู้นี้ประทับใจจนเอาหลักฐานที่พบมาเปรียบเทียบให้อ่านกัน
ถือว่าสนุกกันไปคนละแบบ    ไม่ควรมีใครคัดค้านใครในแบบไหน  เพราะต่างคนต่างก็มีวิธีดูละครตามแบบของตัวเอง

ดิฉันหวังว่าคุณคงจะเข้ามาร่วมวงสนทนากันอีกนะคะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 154  เมื่อ 16 มี.ค. 18, 11:32

ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทรงเสด็จไปประทับที่เมืองลพบุรีทีละนานหลายเดือน ตั้งลพบุรีเป็นราชธานีสำรองอีกที่หนึ่ง ด้วยสาเหตุเพียงความปลอดภัยจากพวกเรือรบต่างชาติเพราะลพบุรีเป็นที่ดอน เรือกำปั่นรบของฝรั่งขึ้นไปไม่ถึงลพบุรี ดังนี้ จริงหรือไม่คะ หรืออาจมีเหตุผลอื่นใดอีก

การตั้งลพบุรีเป็นราชธานีสำรองเพื่อความปลอดภัยจากการคุกคามของต่างชาติ โดยเฉพาะฮอลันดาที่เคยนำเรือรบมาปิดอ่าวไทยเมื่อ พ.ศ.๒๒๐๗ เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญด้วยมีหลักฐานของราชทูตฝรั่งเศสที่ว่าสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาก็มากพอที่จะกีดขวางเรือรบของฝรั่งไม่ให้เข้าไปถึงอยุธยาแล้ว

เชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง นายทหารเรือฝรั่งเศสที่ร่วมเดินทางมาในคณะราชทูต เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๘ บรรยายถึงสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยาความว่า
 
“...เราเดินทางต่อไปเรียบร้อยจนถึงสันดอน (ปากแม่น้ำเจ้าพระยา) ได้ทอดสมอลงเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๒๒๘ นับตั้งแต่วันออกจากท่าเรือเมืองเบรสต์ เราเดินทางมารวมเวลาหกเดือนเศษ
 
สันดอนนี้ไม่ใช่อื่นไกล คือ เนินดินและโคลนที่กระแสน้ำซัดลงมาทิ้งไว้ห่างจากปากน้ำประมาณสองร้อยเส้น ที่ตรงเส้นนี้น้ำตื้นมากเวลามีน้ำขึ้นก็ไม่ลึกเกินกว่าสองวาครึ่ง เหตุฉะนั้นเรือขนาดใหญ่จึงข้ามสันดอนไปไม่ได้...”
(๑)

เรื่องที่น่าจะเป็นไปได้คือสมเด็จพระนารายณ์เสด็จไปประทับที่ลพบุรีเพื่อความมั่นคงทางการเมืองของพระองค์เอง เพราะในอยุธยามีขุนนางคิดจะทำรัฐประหารยึดอำนาจอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ก็เพื่อพักผ่อนอิริยาบทและความสำราญในพระราชหฤทัย

ในคู่มือตอบคำถามสำหรับทูตในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีแนวทางการตอบคำถามข้อหนึ่งว่า

หากถามว่า พระเจ้าแผ่นดินไปอยู่ละโว้ทำไม และเมืองนั้นเป็นอย่างไร

ให้ตอบว่า เมื่อ ๓๐๐ ปีที่แล้วเมืองนี้เป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินแต่แล้วถูกทิ้งให้ร้าง องค์ปัจจุบันให้บูรณะขึ้นใหม่และสร้างวังที่พระองค์โปรดประทับเป็นส่วนใหญ่ เมืองนี้ยังอยู่ใกล้ป่าที่ท่านโปรดไปคล้องช้าง, ล่าเสือและสัตว์อื่น
(๒)

และลาลูแบร์เล่าไว้ในหนังสือของท่านว่า

ถ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามเสด็จออกสำแดงพระองค์ในพระมหานคร ก็เพื่อบำเพ็ญพระราชพิธีในทางศาสนาเท่านั้น ที่เมืองละโว้ซึ่งไม่ค่อยมีพระราชพิธีทางศาสนาเท่าใดนักพระองค์จึงเสด็จประพาส ไปในที่ต่าง ๆ ได้บ่อย ๆ เช่นเสด็จประพาสล่าเสือหรือโพนช้างหรือไม่ก็เสด็จประพาสเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถและไม่มีพิธีรีตองอะไรมากนัก

(๑) http://www.catholichaab.com/main/index.php/research-and-study/research-and-study/1263-2016-09-07-04-35-39
(๒) https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_742
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 155  เมื่อ 16 มี.ค. 18, 12:41

แล้วระยะทางจากอยุธยาถึงลพบุรี (ทางบก) ก็มิใช่น้อย น่าจะเกือบๆ 80 ถึง 90 กิโลเมตร ไม่มีความสะดวกใด ๆ ทั้งสิ้น

ในสมัยนั้น การเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปละโว้ (ลพบุรี) นิยมไปทางน้ำมากกว่า คุณหญิงจำปาก็คงเดินทางไปละโว้โดยใช้แม่น้ำลพบุรีเป็นทางสัญจรนี่แหละ  ยิงฟันยิ้ม



บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 156  เมื่อ 16 มี.ค. 18, 13:59

             เมื่อคืนพี่ขุนเปิดประเด็นเรื่อง ละครนอก และ ละครใน

ในส่วนของ ละครใน, คัดเรียบเรียงจาก ตำนานละครอิเหนา กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ความว่า
             
            ละครรำของไทยเราเป็น ๓ อย่าง คือ ละครชาตรีอย่าง ๑ ละครนอกอย่าง ๑ ละครในอย่าง ๑ มีมาแต่
ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และได้อธิบายความสันนิษฐานตามเค้าเงื่อนที่ปรากฏว่า
            ละครชาตรีเป็นละครเดิม ละครนอกเป็นของเกิดขึ้นโดยแก้ไขละครชาตรี แต่ละครในคือละครผู้หญิงนั้น
เมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยังหาปรากฏมีไม่
 
            โขนก็ดี ละครก็ดี ชั้นเดิมเป็นของผู้ชายเล่น การฟ้อนรำที่ผู้หญิงเล่นนั้นชั้นเดิมปรากฏแต่ว่าเป็นนางรำ
เมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มองสิเออ เดอ ลา ลุแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาเมืองไทย ก็ว่าได้ดู
ทั้งโขนทั้งละครและระบำ กล่าวว่า โขนและละครนั้นผู้ชายเล่น
            ความอันนี้เป็นเค้าเงื่อนว่า ในสมัยนั้นละครผู้หญิงยังไม่มี ถ้ามีก็เห็นจะเล่นให้แขกเมืองดู จึงสันนิษฐานว่า
ละครในเป็นของเกิดมีขึ้นเมื่อภายหลังแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 157  เมื่อ 16 มี.ค. 18, 14:01

             อันมูลเหตุที่จะมีละครผู้หญิงขึ้นในสยามประเทศนี้ ยังไม่พบเรื่องราวกล่าวไว้ ณ ที่ใด จึงได้แต่พิเคราะห์ดู
             สันนิษฐานว่าชั้นเดิมเห็นจะเป็นด้วยพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดพระองค์หนึ่งซึ่งครองกรุงศรีอยุธยา (บางที
จะเป็นในชั้นก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์) ทรงพระราชดำริให้นางรำเล่นระบำเข้ากับเรื่องไสยศาสตร์ เช่นให้แต่ง
เป็นเทพบุตร เทพธิดาจับระบำเข้ากับรามสูรเป็นต้น เห็นจะเล่นระบำเช่นกล่าวนี้ในพระราชพิธีอันใดอันหนึ่งในพระราชนิเวศน์
บางทีจะเป็นระบำเรื่องนี้เองที่เป็นต้นตำรับละครใน
             ครั้นต่อมาจะเล่นระบำให้เรื่องแปลกออกไป จึงเลือกเอาเรื่องโขนบางตอนที่เหมาะแก่กระบวนฟ้อนรำ เช่น
ตอนอุณรุท ในเรื่องกฤษณาวตารเป็นต้น มาคิดปรุงกับกระบวนละคร ฝึกซ้อมให้พวกนางรำของหลวงเล่น ครั้นเล่นก็เห็น
ว่าดี จึงให้มีละครผู้หญิงของหลวงขึ้นแต่นั้นมา
            ต้นเดิมของละครผู้หญิงน่าจะเป็นเช่นว่ามานี้ ชั้นแรกเห็นจะเล่นแต่เรื่องอุณรุท แล้วจึงได้หัดเล่นเรื่องรามเกียรติ์
อีกเรื่อง ๑ บางทีจะเป็นเพราะเหตุที่เอาเรื่องอุณรุทไปให้นางรำของหลวงเล่นนั้นเอง โขนจึงมิได้เล่นเรื่องกฤษณาวตารต่อมา
            คำที่เรียกว่า “ละครใน” เข้าใจว่าจะมาแต่เรียกกันในชั้นแรกว่า “ละครนางใน” หรือ “ละครข้างใน” แล้วจึงเลย
เรียกแต่โดยย่อว่า “ละครใน” เมื่อมีละครในขึ้นอีกอย่างหนึ่งฉะนี้ คนทั้งหลายก็เรียกละครเดิมว่า “ละครนอก”  จึงมีชื่อเป็น
ละคร ๒ อย่างต่างกัน
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 158  เมื่อ 16 มี.ค. 18, 14:05

            ปรากฏว่า มีละครผู้หญิงในหนังสือบุรโณวาทคำฉันท์ ซึ่งแต่งในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเป็นทีแรก
เพราะฉะนั้น ละครผู้หญิงคงเกิดขึ้นเมื่อสมัยในระหว่างรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา มาจนรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
หรือในระหว่าง พ.ศ. ๒๒๓๑ จน พ.ศ. ๒๓๑๐
           ก็แลในระหว่างเวลา ๗๐ ปีนี้ รัชกาลของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเป็นเวลาช้านานยิ่งกว่า ๓ รัชกาลแต่ก่อนมา
บ้านเมืองก็ปราศจากศึกสงคราม ด้วยนานาประเทศ ทั้งพม่า มอญ ตลอดจนลังกาทวีปต่างมาขอเป็นทางไมตรี จึงยกย่อง
พระเกียรติยศกัน
           .....คำยอพระเกียรติทั้งนี้ กับข้อที่ปรากฏว่า ละครผู้หญิงของหลวงเริ่มเล่นเรื่องอิเหนาเมื่อในรัชกาลสมเด็จ
พระเจ้าบรมโกศดังได้กล่าวมา ดูก็ยุติเป็นนัยอันเดียวกัน เพราะฉะนั้น น่าลงเนื้อเห็นว่า ละครผู้หญิงซึ่งเรียกว่า ละครใน นั้น
จะเป็นของมีขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศนั้นเอง

            ...ครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเสวยราชย์ มีพระราชธิดาทรงพระนามว่า เจ้าฟ้ากุณฑลพระองค์ ๑ เจ้าฟ้ามงกุฎ
พระองค์ ๑ ทั้ง ๒ พระองค์นี้ มีข้าหลวงเป็นหญิงแขกมลายู เชื้อสายพวกเชลยที่ได้มาแต่เมืองปัตตานี
            พวกข้าหลวงแขกเล่านิทานเรื่องอิเหนาถวายให้ทรงฟัง เจ้าฟ้าทั้ง ๒ พระองค์ชอบพระหฤทัยจึงทรงแต่งเรื่อง
อิเหนาเป็นบทละครขึ้นพระองค์ละเรื่อง เรียกว่า ดาหลังเรื่อง ๑ อิเหนาเรื่อง ๑ แต่เป็นเรื่องอิเหนาด้วยกัน คนมักเรียกว่า
อิเหนาใหญ่เรื่อง ๑ อิเหนาเล็กเรื่อง ๑(เห็นจะหมายความกันในครั้งกรุงเก่า ว่าอิเหนาของพระองค์ใหญ่เรื่อง ๑ อิเหนาของ
พระองค์เล็กเรื่อง ๑ จะหาได้หมายความอย่างอื่นไม่)
            การเล่นละครใน เห็นจะฝึกหัดทำนุบำรุงเมื่อในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศยิ่งกว่าในรัชกาลก่อนๆ บางทีเจ้าฟ้า
ราชธิดาทั้ง ๒ พระองค์นั้นจะมีหน้าที่เกี่ยวข้องในการควบคุมฝึกซ้อมละครหลวงอย่างใดอย่างหนึ่งด้วย คงได้ทรงทราบจาก
พวกข้าหลวงว่า ละครมายงของแขกที่เมืองมลายู เขามักเล่นเรื่องอิเหนา เพราะเป็นเรื่องที่พวกชวามลายูนับถือกันมาก มีรับสั่ง
ให้ข้าหลวงเล่าเรื่องถวาย เห็นเป็นเรื่องน่าเล่นละคร จึงลองทรงนิพนธ์เป็นบทละครไทยขึ้น ครั้นสมเด็จพระเจ้าบรมโกศได้ทอด
พระเนตรเห็นบทละครนั้น ชอบพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ละครในเล่นเรื่องอิเหนาเรื่อง ๑ ทั้งเรื่องดาหลังอิเหนาใหญ่และ
เรื่องอิเหนาเล็ก


บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 159  เมื่อ 16 มี.ค. 18, 14:21

ผมเห็นด้วยกับคุณ prasit ครับ

โดยส่วนตัว ผมมีความเห็นว่า อันว่าละคร โขน หนัง เป็นมหรสพ ที่จัดขึ้นเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่จะชี้วัดว่าละครดีหรือไม่ดี ก็ควรจะอยู่ที่ว่า ดูแล้วผู้ชมเกิดความบันเทิงหรือไม่ ซึ่งถ้าดูแล้วไม่สนุก ไม่บันเทิง ก็จบกัน แต่ถ้าบันเทิงด้วย แล้วยังมีรายละเอียดที่ดีด้วย ก็ยิ่งเป็นละครที่ดียิ่งขึ้นไปอีก

ละคร บุพเพสันนิวาสนี้ ตอบโจทย์เรื่องความบันเทิงได้ดียิ่ง แต่ของเขายังดีขึ้นไปอีกเพราะมีการสอดแทรกรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติมขึ้นมา คนจึงชอบกันมาก อย่างไรก็ดี เมื่อเป็นละคร ก็ย่อมต้องมีแต่งเติมเสริมขึ้นมาบ้าง เพราะไม่มีใครรู้ว่า เหตุการณ์จริงเป็นแบบไหน ถ้าไม่แต่งเพิ่ม จะร้อยเรียงเนื้อเรื่องให้เป็นละครไม่ได้ และเมื่อมีการแต่งเพิ่ม ก็ต้องมีผิดบ้าง พลาดบ้างเป็นธรรมดาและครับ

แต่ความผิดพลาดนี้ ผมก็เห็นด้วยกับคุณ prasit อีกว่า กลับกลายเป็นของดี คือ ทำให้ผู้คนหันกลับมาค้นคว้าต่อยอด อย่างเรื่องเครื่องกรองน้ำนี่ ก็มีคนไปค้นต่อว่า ของจริงในสมัยอยุธยาหน้าตาอย่างไร แม้แต่ในกระทู้นี้ ก็มีการพูดคุยต่อยอดกันเยอะเลยครับ     
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 160  เมื่อ 16 มี.ค. 18, 15:10

บุพเพสันนิวาส ตอนที่ ๑
https://mello.me/video/56932/ถ้าเป็นบุพเพสันนิวาสก็ต้องคู่กัน-แต่ถ้าไม่ใช่แล้วก็ต้องแคล้วกัน

บุพเพสันนิวาส ตอนที่ ๒
https://mello.me/video/56949/คุณหมื่นคะ-ข้าไม่ใช่ผี-ข้าคือการะเกดค่ะ

บุพเพสันนิวาส ตอนที่ ๓
https://mello.me/video/57052/จะต้องรออีกนานแค่ไหนเนี่ย

บุพเพสันนิวาส ตอนที่ ๔
https://mello.me/video/57104/ข้าฟังไม่ทัน-ไอ้ที่พอฟังทันก็ฟังไม่รู้เรื่อง

บุพเพสันนิวาส ตอนที่ ๕
https://mello.me/video/57459/ช่วยชีวิตแบบฝรั่ง---ไม่เคยเห็นหรือไง-Mouth-to-Mouth-น่ะ

บุพเพสันนิวาส ตอนที่ ๖
https://mello.me/video/57590/ข้าคิดจะออกเรือนขอรับ

บุพเพสันนิวาส ตอนที่ ๗
https://mello.me/video/59063/ไปส่องคันฉ่องดูทีฤๅ

บุพเพสันนิวาส ตอนที่ ๘
https://mello.me/video/59155/หางตาข้าไม่เคยแลผู้ใด---เพราะข้ามีไว้สำหรับคนผู้เดียว
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 161  เมื่อ 16 มี.ค. 18, 16:12

ครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเสวยราชย์ มีพระราชธิดาทรงพระนามว่า เจ้าฟ้ากุณฑลพระองค์ ๑ เจ้าฟ้ามงกุฎพระองค์ ๑ ทั้ง ๒ พระองค์นี้ มีข้าหลวงเป็นหญิงแขกมลายู เชื้อสายพวกเชลยที่ได้มาแต่เมืองปัตตานี
          
พวกข้าหลวงแขกเล่านิทานเรื่องอิเหนาถวายให้ทรงฟัง เจ้าฟ้าทั้ง ๒ พระองค์ชอบพระหฤทัยจึงทรงแต่งเรื่องอิเหนาเป็นบทละครขึ้นพระองค์ละเรื่อง เรียกว่า ดาหลังเรื่อง ๑ อิเหนาเรื่อง ๑ แต่เป็นเรื่องอิเหนาด้วยกัน คนมักเรียกว่าอิเหนาใหญ่เรื่อง ๑ อิเหนาเล็กเรื่อง ๑ (เห็นจะหมายความกันในครั้งกรุงเก่า ว่าอิเหนาของพระองค์ใหญ่เรื่อง ๑ อิเหนาของพระองค์เล็กเรื่อง ๑ จะหาได้หมายความอย่างอื่นไม่)
           
ในตอนที่ ๘/๒ นาทีที่ ๓.๒๕ - ๓.๕๐ พี่ขุนอธิบายเรื่องละครให้แม่หญิงฟังว่า  "ละครนอกวังผู้ชายเล่นทั้งหมด ถ้าละครในผู้หญิงเล่นทั้งหมด ห้ามเล่นบางเรื่องด้วย อย่างรามเกียรติ์ อิเหนา อุณรุท ห้ามเล่นอย่างเด็ดขาด"

เรื่องห้ามเล่นเป็นของละครนอก พี่ขุนพูดตกหล่นไป  ส่วนอิเหนา พี่ขุนไปเอามาจากไหน ล้ำสมัยไปหน่อยกระมัง
 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 162  เมื่อ 16 มี.ค. 18, 17:56


ในสมัยนั้น การเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาไปละโว้ (ลพบุรี) นิยมไปทางน้ำมากกว่า คุณหญิงจำปาก็คงเดินทางไปละโว้โดยใช้แม่น้ำลพบุรีเป็นทางสัญจรนี่แหละ  ยิงฟันยิ้ม


ภาพประกอบในวิดีโอไม่ค่อยถูกต้องครับ
สมัยนั้นแม่น้ำลพบุรีแถว ๆ อยุธยา เป็นคนละสายกับแม่น้ำลพบุรีในปัจจุบันครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 163  เมื่อ 16 มี.ค. 18, 18:51

สมัยนั้นแม่น้ำลพบุรีแถว ๆ อยุธยา เป็นคนละสายกับแม่น้ำลพบุรีในปัจจุบันครับ

แม่น้ำลพบุรีสมัยแม่หญิงการะเกดจะไหลโอบเกาะเมืองทางทิศเหนือไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตก



ต่อมามีการขุดลอกคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำลพบุรีกับแม่น้ำป่าสักที่อยู่ทางทิศตะวันออกเรียกว่า "คูขื่อหน้า" แม่น้ำลพบุรีจึงไหลลงแม่น้ำป่าสักมากขึ้นเพราะระยะทางใกล้กว่า ส่วนแม่น้ำลพบุรีสายเดิมที่ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาก็ตื้นเขินและแคบลงเรียกกันว่า "คลองเมือง"

แม่น้ำลพบุรีสมัยนั้นกับสมัยนี้ก็สายเดียวกันนี่แหละ เพียงแต่ส่วนที่ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนสภาพจากแม่น้ำเป็นคลองเท่านั้นเอง  ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 164  เมื่อ 16 มี.ค. 18, 21:04

แม่น้ำลพบุรีสมัยนั้นกับสมัยนี้ก็สายเดียวกันนี่แหละ เพียงแต่ส่วนที่ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาเปลี่ยนสภาพจากแม่น้ำเป็นคลองเท่านั้นเอง  ยิงฟันยิ้ม

ตรงนี้ผิดครับ​ แม่น้ำที่ไปลพบุรีสมัยนั้นคือแม่น้ำโพธ์สามต้นในแผนที่ที่อาจารย์เพ็ญยกมาครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 26
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.052 วินาที กับ 19 คำสั่ง