เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 75 76 [77]
  พิมพ์  
อ่าน: 83850 ฉากประทับใจในหนังเก่า (3)
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1140  เมื่อ 23 พ.ค. 22, 08:50

ทุกครั้งที่เอ่ยถึง Marilyn Monroe  ภาพนี้ซึ่งมาจากหนัง Some like it hot (1959)  จะปรากฏขึ้นให้เห็นเป็นประจำ




มันเป็นหนังที่เสริมชื่อเสียงของเธอที่ดังก้องโลกอยู่แล้วให้สนั่นขึ้นไปอีก  เพราะเป็นหนังที่ดังที่สุดของเธอ

ผมเห็นภาพนี้มาตั้งแต่จำความได้  รู้ว่ามาจากหนังชื่ออะไร  ใครเล่นบ้าง  แต่ไม่นึกอยากดูเพราะมันเป็นหนังขาวดำ  พอผมมีปูมหนังของ Leonard Maltin  เธอก็บอกว่าหนัง 4 ดาว  ห้ามพลาดซึ่งผมก็ไม่คิดขวนขวายไปหามาดู เพราะมันเป็นหนังขาวดำ  มายุค TCM ก็เคยเอาหนังเรื่องนี้มาฉาย  ผมก็ไม่คิดอยากดูอยู่ดี  เพราะมันเป็นหนังขาวดำ  

สรุปแล้วอย่างไร ๆ ก็ไม่ดู  ต่อให้ดังแค่ไหน  เพราะมันเป็นหนังขาวดำ (แม้ว่าในเวลาผ่านไปจะหลวมตัวดูไปหลายเรื่อง)

หนังวนเวียนผ่านเข้ามาแล้วออกไปจากชีวิตผมโดยไม่ได้รับการแยแสอยู่เนือง ๆ  ล่าสุด  เมื่อไม่นานมานี้ผมได้ดูหนัง Boeing, Boeing ที่มี Tony Curtis แสดงนำ  แล้วก็อดคิดถึงหนัง SLIH นี้ไม่ได้  อีก 2-3 วันต่อมา  ใน website โหลดหนังก็เอาหนังเรื่องนี้มาปล่อย  เอ... ชักยังไง ๆ  หนัง Casablanca ยังไม่ตามตื้อให้ผมดูมาตลอดหลายสิบปีแบบนี้  
 
เอาวะ... ดูก็ดู


เนื้อเรื่องของหนังเล่าเกี่ยวกับนักดนตรีรับจ้าง 2 คนที่ปลอมตัวเป็นผู้หญิงเพื่อหลบหนี gangster ที่กำลังออกตามล่าหมายฆ่าปิดปากเพราะพวกเขาเผอิญจับผลัดจับผลูเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่ได้รู้เห็นอาชญากรรมโหด

นักดนตรีรับจ้าง 2 คนรับบทโดย Tony Curtis กับ Jack Lemmon  โดยใช้ชื่อ Joe กับ Jerry  อาชีพของทั้ง 2 กำลังไปได้ดี   แม้ไม่มั่นคงนักเพราะงานที่กำลังทำอยู่คือเล่นดนตรีให้กับแก๊งค์ค้าเหล้าเถื่อนที่แอบเปิดบาร์ผีโดยอาศัยสถานที่ประกอบพิธีศพบังหน้า  แล้ววันหนึ่งก็เกิดการหักหลังกันระหว่างสมาชิกของแก๊งค์ทำให้ตำรวจได้เบาะแสแล้วบุกเข้ามาถล่ม



คู่หูหลบหนีออกมาได้  แต่ก็ต้องตกงาน  เลยต้องออกหางานทำใหม่  เอเย่นต์หางานบอกว่า  ตอนนี้มีงานว่างอยู่ 2 ตำแหน่งพอดี  แต่ต้องเป็นเพศหญิง  ทั้งคู่เลยแห้ว  ขณะไปเอารถที่ขอยืมเพื่อนมาขับไปหางาน  ก็เผอิญหลงเข้าไปอยู่ในวงแก้แค้นระหว่างหัวหน้าแก๊งค์กับตัวบ่อนไส้ที่เป็นสาเหตุให้บาร์ผีต้องปิด  

(หัวหน้าแก๊งค์ชื่อ Spat Colombo ตัวหักหลังชื่อ Toothpick เธอมีเอกลักษณ์คือชอบคาบไม้จิ้มฟัน  ที่ 4.00 เป็นตอนที่ SC ต้องเตะไม้จิ้มฟันที่ TP คาบอยู่  ตอนถ่ายทำนักแสดงที่สวมบท SC จด ๆ จ้อง ๆ กลัวผิดคิวแล้วไปเตะหัวนักแสดงที่สวมบท TP เข้า  ผลก็คือพลาด  พอถ่ายซ้ำก็พลาดอีก  และพลาดทุกครั้งจน ผกก. Billy Wilder ชักฉุน  ก็เลยลุกขึ้นมาแสดงให้ดูว่าต้องทำอย่างนี้  ผลก็คือเตะเอาหัว TP เข้าอย่างจัง
 
SC เลยเสนอว่าน่าจะเอาอะไรที่ใหญ่กว่ามาเปลี่ยนแทน ‘ไม้จิ้มฟัน’ จะได้กะระยะได้ง่ายขึ้น  สรุปก็คือใช้ตะปูตัวใหญ่ทาสีให้เหมือนไม้จิ้มฟันแทน  แล้วถ่ายทำใหม่ซึ่งสำเร็จลุล่วงไปได้ในครั้งแรกนี้)


พอโอกาสเหมาะมาถึงทั้ง 2 หนุ่มเปิดแนบ  แม้จะรอดตายแต่ก็ต้องหนีต่อไปอย่างสุดชีวิตเพราะแก๊งค์ฯ จำหน้าได้และต้องตามฆ่าปิดปากอย่างแน่นอน  ทางออกที่ดีที่สุดคือปลอมเป็นผู้หญิงแล้วไปรับงานที่ว่าซึ่งต้องไปเล่นที่ Miami รัฐ Florida  

Joe ใช้ชื่อ Josephine  ส่วน Jerry ใช้ชื่อ Geraldine  แต่นางเกิดไม่ชอบใจเลยเปลี่ยนเป็น Daphne (ผมว่า 2 คนนี้ปลอมเป็นผู้หญิงได้น่ารักจริง ๆ  ‘casting’ มีวิสัยทัศน์)

ฉากเปิดตัว MM อยู่ที่ 1.07  ตามสัญญาของนักแสดง MM ในยุคที่ดังสุดขีด หนังที่เธอเล่นจะต้องเป็นหนังสี  แต่พอจับนักแสดงชาย 2 คนมาแต่งหน้าแบบหญิงแล้วปรากฏในฟิล์มว่าดูไม่เนียนพอที่จะตบตาชาวบ้านได้  ผกก. จึงต้องประนีประนอมเปลี่ยนเป็นใช้ฟิล์มขาวดำแทน  มุขทั้งภาพและบทพูดใน clip นี้ล้วนน่ารัก ๆ และไม่ล้าสมัยทั้งนั้นเลย (คำว่า ‘fresh’ ที่นางDaphne ด่าในตอนท้ายของ clip เป็นแสลงโบราณแปลว่า ‘rude’)


ทั้ง 3 คนทำความรู้จักกันบนรถไฟ  MM มีปัญหาติดเหล้าพอเป็นกระษัย

(ขณะถ่ายทำเรื่องนี้ MM กำลังท้องอ่อน ๆ ซึ่งต่อมาก็แท้ง  บางฉากจึงต้องใช้ตัวแสดงแทน  มิน่า... ผมว่าเธอดูโทรม ๆ  จำได้ว่าทรวดทรงโดยเฉพาะ ‘นม’ เธอสวยและได้สัดส่วนมาก  เป็นเครื่องหมายการค้าของเธอเลยละ)


ฉากดูเพลิน ๆ บนรถไฟซึ่งกินเวลาไปกว่าครึ่งชม. ของตัวหนังที่ยาวประมาณ 2 ชม.  ปรากฏว่า นางDaphne หลงรัก MM อย่างหัวปักหัวปำ



แต่กลายเป็นว่าภาพพจน์ของหนุ่มในฝันที่ MM หลงใหลคือหนุ่มนักดนตรีที่เล่น saxophone (เผอิ้ญเผอิญไปตรงกับ Joe ในคราบนาง Joesephine) แต่ได้รับประสบการณ์ที่ไม่น่าอภิรมย์จากหนุ่มประเภทนี้  และเจ้าหล่อนยังฝันที่จะได้ผัวเป็นเศรษฐีเงินล้าน ใส่แว่น แล้วก็มีเรือยอร์ช



มีต่อ...
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1141  เมื่อ 24 พ.ค. 22, 08:10

ในที่สุดคณะนักดนตรีหญิงล้วนก็มาถึงโรงแรมที่หาด Miami  สถานที่ถ่ายทำคือ โรงแรม del Coronado Resort อยู่ที่ San Diego, California




แล้วโดยไม่คาดฝัน นางDaphne ก็กลายเป็นที่หมายปองของมหาเศรษฐีเงินล้านตัวจริงเพียงแต่ไม่หนุ่ม (1.20)  ส่วน นางJosephine เป็นที่ต้องตาของเด็กยกกระเป๋า (4.58)



พอรู้ว่าหนุ่มในฝันที่ MM หลงใหลคือนักเป่า Sax  นางJosephine ก็เริ่มสนใจและคิดจะแย่งเธอไปจาก นางDaphne ที่กำลังก้อร่อก้อติกอยู่เป็นสามารถ พอได้โอกาสเจ้าหล่อนก็แปลงโฉมเป็นมหาเศรษฐี (กำมะลอ) หนุ่มหล่อ (TC เล่าว่าการแต่งตัวเลียนแบบบุคลิกของ Cary Grant)



งานเกี้ยวพาราสีของทั้ง 2 คู่ก็เกิดขึ้น  คู่ของ MM ขลุกขลักหน่อยเพราะมหาเศรษฐีกำมะลอดันเป่าsax อยู่ใกล้ ๆ  จึงไม่สามารถปรากฏโฉมรวยทรัพย์ให้เห็นได้



ก่อนหน้านี้นางJosephine ไป blackmail นางDaphne  เพื่อให้ไปขอยืมเรือยอร์ชจากแฟนมหาเศรษฐีเงินล้านของหล่อนเพื่อมาใช้หลอกจีบสาว MM ให้สมกับฐานะที่ได้โม้ไว้ ส่วนนางDaphne เมื่อโดน blackmail เลยต้องจำยอมทำตามแล้วเปลี่ยนแผนไป date กันที่บาร์หรูแห่งหนึ่ง  ฉากน่ารักที่สุดในหนังอยู่ที่คู่ของ นางDaphne กับแฟนมหาเศรษฐีเงินล้านตัวจริง



หลังจาก date ที่น่าประทับใจ  ความรักของทั้งคู่ต่างก็งอกงาม และนางDaphne ก็ดันไปหลงรักมหาเศรษฐีเงินล้านเข้าจริง ๆ

(6.49 - Daphne has a beau, I have a beau. If we could only find somebody for you… Here I am, doll)


วันรุ่งขึ้น ที่โรงแรมเตรียมจัดงานใหญ่ใช้ชื่อว่า ‘Friends of Italian Opera’ อันเป็นชื่อแฝง  จริง ๆ แล้วเป็นงานที่จัดโดยแก๊งค์มาเฟียโดยมีจุดประสงค์จะกำจัด SC และพวกในโทษฐานที่ก่อฆาตกรรมใหญ่โดยปล่อยให้ผู้รู้เห็น ซึ่งก็คือ 2 สาวปลอม  หลุดรอดหนีไปได้  อันจะก่อให้สถานภาพของแก๊งค์คลอนแคลน

(plot หนังก็อย่างนี้แหละ จัดให้มาเจอกัน  ไม่งั้นไม่รู้ว่าเมื่อไรเรื่องจะจบ)


2 สาวก็เลยต้องลอกคราบเพื่อความคล่องตัวแล้วเผ่นหนี แต่ก็ไปไม่รอด  ดันหลงไปอยู่ใน 'แดนสังหาร'



เลยต้องกลับไปสวมคราบเดิมใหม่เพื่อตบตาต่อไป



เนื่องจากทางแก๊งค์ส่งสมุนไปดักไว้หมดทั้งที่สถานีรถไฟและรถทัวร์  ทางหนีรอดเหลืออยู่ทางเดียวคือทางน้ำ  นางJosephine จึงให้ นางDaphne ติดต่อมหาเศรษฐียอดรักของหล่อนให้ดำเนินการช่วยเหลือโดยด่วน  แต่ก่อนจะเผ่น นางJosephine ก็ต้องไปร่ำลาคนรัก MM เสียก่อน  จึงเกิดฉากสุดท้ายที่แสนจะเฮฮาและจบด้วยความน่ารัก ๆ ของ 2 คู่ชู้ชื่น  เป็นฉากจบแบบอมตะในยุคทองของฮอลลีวู้ดเลยละ





หมายเหตุ - เล่าหนังเรื่องนี้สนุกมากเพราะมีคนย่อย clip มาลง youtube มากมาย  แต่ก็ไม่ดีอย่างตรงที่  ต้องมาเสียเวลาเลือกว่า clip ไหนสมบูรณ์มากกว่ากัน

ตัวอย่างหนัง



มีต่อ...
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1142  เมื่อ 25 พ.ค. 22, 09:30

คุณโหน่งและคุณหมอ SILA น่าจะเกิดไม่ทันหนังปี 1963 เรื่องนี้  เป็นเรื่องที่ถ่ายทำในไทยหลายฉากด้วยกัน  ชื่อ The Ugly American นำแสดงโดยมาร์ลอน แบรนโด
และที่สำคัญ มีที่ปรึกษาทางฝ่ายไทยท่านหนึ่งได้รับงานนี้  แต่พอไปถึงอเมริกา ฮอลลีวู้ดก็จัดบทให้รับบทนายกรัฐมนตรีประเทศสมมุติในเรื่อง คือประเทศสารขัณฑ์
ต่อมาท่านผู้นี้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจริงๆ   คือม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1143  เมื่อ 25 พ.ค. 22, 09:31

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1144  เมื่อ 25 พ.ค. 22, 09:38

เรื่องนี้ตอนออกฉายครั้งแรก เปิดรอบปฐมทัศน์ในกรุงเทพ  มาร์ลอน แบรนโดบินมาเอง   แต่ก็น่าผิดหวังว่าหนังไม่ฮิทอย่างที่ตั้งใจ
อาจเป็นเพราะยุค 1963  หรือ พ.ศ. 2506  คนไทยในช่วงนั้นยังไม่ยุ่งกับการเมือง     แต่เมื่อกลับมาฉายอีกครั้งในปีไหนจำไม่ได้แล้ว แต่เป็นยุคคนไทยตื่นตัวทางการเมืองมาก   เรื่องนี้ก็เลยเป็นที่กล่าวขวัญกันมากในกลุ่มหนุ่มสาวยุคนั้น
จำได้ว่ามีฉากหนึ่งมาถ่ายทำที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬา  อาคารนั้นปัจจุบันคืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1145  เมื่อ 25 พ.ค. 22, 09:53

ต่อไปนี้เป็นควันหลงจากหนัง Some like it hot ...

วันที่หนังออกฉายในรอบสื่อฯ ปรากฏว่าโดนโห่ในหลาย ๆ ฉาก  แต่ ผู้กำกับ Billy Wilder ทำเฉยด้วยความมั่นใจในการตัดสินใจว่าจะไม่มีการถ่ายซ่อมใด ๆ  ในรอบฉายโชว์ครั้งที่สอง  เสียงโห่กลายเป็นเสียงตบมือสนั่นโรงฯ พร้อม Standing ovation อยู่นานหลายนาที

หลังจากหนังออกฉายต่อสาธารณชนได้ไม่นาน  ทุกคนที่ได้ดูต่างก็ยกย่องให้มันเป็นหนึ่งในหนังยอดเยี่ยมและยอดเยี่ยมตลอดกาลจากเกือบทุกสถาบันการบันเทิงเมื่อเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน

หนังได้เข้าชิง 6 รางวัล Oscar รวมทั้งสาขา ผกก. และ นักแสดงนำฝ่ายชายคือ Jack Lemmon  (เป็นการเข้าชิงครั้งที่ 2  เธอได้ไปแล้ว 1 ตัวจากการเข้าชิงในครั้งแรก  ส่วนตัวที่ 2 ได้ในยุค 70s  รวมการเข้าชิง Oscar  ทั้งหมด 8 ครั้ง)

หนังออกฉายโดยปราศจากการรับรองจาก the Motion Picture Production Code (Hays Code) ซึ่งเปรียบเสมือนกองเซ็นเซอร์ของยุคโบราณด้วยเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ‘การแปลงเพศ’ และมี ‘การแต่งตัวข้ามเพศ’  แต่ความสำเร็จในทุกด้านของหนังเรื่องนี้ทำให้การทำงานของกองเซ็นเซ่อร์ที่ว่าถึงยุคเสื่อมถอยแล้วในที่สุดก็เปลี่ยนเป็นการให้ rate หนังในปลาย 60s

ปัญหาใหญ่ของการถ่ายทำอยู่ที่ตัว Marilyn Monroe  เธอมาเข้าฉากสายเป็นประจำหรือไม่ก็ไม่โผล่มาเลย  เป็นสาเหตุหลักที่ไม่สามารถยกกองถ่ายไปถ่ายทำที่หาด Miami จริง ๆ ได้  เพราะทีมงานขี้เกียจเคี่ยวเข็ญ MM  เลยเลือกสถานที่ใกล้โรงถ่ายแทน  อีกหนึ่งปัญหาใหญ่คือเธอเริ่มติดยาทำให้ขาดสมาธิ  ผลก็คือเธอจำบทไม่ค่อยได้
  
Tony Curtis เล่าว่าแต่ละฉากที่มี MM ร่วมแสดงด้วยใช้จำนวนการถ่ายทำซ้ำหลายสิบครั้ง  บางครั้งบทของเธอมีแค่ประโยคเดียว  เช่น ฉากบทพูดสั้น ๆ แค่ "It's me, Sugar" ใช้การถ่ายทำซ้ำ 47 ครั้ง  เนื่องจากเธอเรียงลำดับคำพูดผิดตลอด เช่น "Sugar, it's me" หรือ "It's Sugar, me"  แล้วก็วนไปวนมา  หลังจากถ่ายซ้ำครั้งที่ประมาณ 30  ผกก. จึงให้คนเอาชอล์กเขียน line นี้ไว้บนกระดานแล้วตั้งไว้นอกกล้องถ่ายเพื่อให้เธออ่าน

ส่วนฉากที่เธอควานหาขวดเหล้าในลิ้นชักพร้อมบทพูดว่า "Where's that bourbon?" หลังจากถ่ายทำซ้ำไปร่วม 40 ครั้ง เพราะเธอพูดผิดประจำเป็น "Where's that whiskey?", "Where's the bottle?", or "Where's the bonbon?"  ฯลฯ ในที่สุด ผกก. ก็ให้คนเขียนบทพูดแล้วใส่ไว้ในลิ้นชักให้เธออ่าน  แต่ความที่มีหลายลิ้นชัก MM ก็จำไม่ได้ว่าลิ้นชักไหน  ผกก. เลยต้องเอาบทพูดยัดใส่ไว้ในทุกลิ้นชัก

การถ่ายซ้ำนี้จบสิ้นในครั้งที่ 59 อันเป็นครั้งที่ MM ทำได้สำเร็จ  ตอนนั้นเธอยืนหันหลังให้กล้อง  การทิ้งช่วงเวลาทำให้คนที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างคิดว่าหรือ ผกก. จะถอดใจแล้วคิดเปลี่ยนวิธีเป็นใช้คนพากย์แทน

(ฉากนี้เกิดตอนที่ นางJosephine สั่งลา MM ในครั้งแรกทางโทรศัพท์  หลังพบแก๊งค์มาเฟียแล้วตัดสินใจเผ่น  MM ซึ่งไม่ได้ระแคะระคายว่า มหาเศรษฐีเงินล้านของเธอแท้จริงแล้วคือใคร  ก็เลยตรอมตรมแล้วเข้ามาหาเหล้าที่ทิ้งไว้กับ 2 สาวปลอม)

หมายเหตุ – จากความเห็นส่วนตัว  ผมว่าจำนวนตัวเลขของการถ่ายทำซ้ำดังกล่าวถ้าไม่ใส่ไข่เพื่อเพิ่มอรรถรสในการนินทาก็น่าจะรวมการแสดงท่าทางที่ไม่เป็นไปตามที่ ผกก. นึกภาพไว้ในใจผสมกัน  อย่างไรก็ตาม ผมเช็คจากหลายแหล่ง  ต่างให้ข้อมูลตัวเลขเหมือน/ใกล้เคียงกัน

ทั้ง TC และ JM ชอบพนันกันว่าฉากที่มีเธอร่วมด้วยจะมีการถ่ายทำซ้ำกี่ครั้ง  อย่างไรก็ตามบางฉากที่กองถ่ายทำกะไว้ว่าต้องใช้เวลานาน  เช่นฉากที่หาด Miami ซึ่งกะไว้ว่าคงจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วันแต่เธอก็สามารถจัดการให้ลุล่วงไปได้ภายใน 20 นาที  แม้จะมีปัญหาเกี่ยวกับการจำบทตามเคย

ความวุ่นวายที่เกิดจาก MM ทำให้นักแสดงนำเช่น TC ไม่ค่อยพอใจเพราะการถ่ายทำซ้ำหมายความว่าเขาจะต้องแสดงบทในฉากนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า  เพื่อให้ได้ฉากที่ MM แสดงโดยไม่ผิดพลาดเพียงครั้งเดียว  ซึ่งบางครั้งฉากที่ MM ทำได้สำเร็จกลับเป็นฉากที่เขารู้สึกว่าตัวเองแสดงได้ไม่ดีพอ  นี่ยังไม่นับเรื่องที่เขาและ JL ต้องยืนหรือวิ่งด้วยความปวดเมื่อยบนรองเท้าส้นสูงนานเกินควร

Billy Wilder ผู้กำกับ (6 Oscars และได้เข้าชิงในฐานะ ผกก. จากเรื่องนี้ด้วย) เคยให้สัมภาษณ์เมื่อถูกถามว่าจะมีโอกาสได้ร่วมงานกับ MM อีกหรือไม่ว่า "I have discussed this with my doctor and my psychiatrist and they tell me I'm too old and too rich to go through this again."

เมื่อ MM ได้อ่านข่าวนี้ก็ปรี๊ดแตก  เธอรีบหมุนโทรศัพท์ไปที่บ้านของ ผกก.  เมีย ผกก. เป็นคนรับ  เธอเลยฝากด่าว่า ‘Tell him to go fuck himself’

และเมื่อพาดพิงถึงเรื่องการมาเข้าฉากสายเป็นนิจ ผกก.  BW บอกว่า "My Aunt Minnie would always be punctual and never hold up production, but who would pay to see my Aunt Minnie?"

เมื่อหนังถ่ายทำจบสิ้นโดยสมบูรณ์ ผกก. BW ที่แม้จะเคยทำงานกับ MM มาก่อน  ก็เกือบจะกลายเป็นคนติดยานอนหลับเพราะเครียดจัด  ได้จัดงานเลี้ยงลาที่บ้านของเขา  ทุกคนได้รับการ์ดเชิญ  ยกเว้นแต่ MM  เมื่อเธอปรี๊ดแตกเป็นรอบที่สอง  คนก็ช่วยกันปลอบว่ามันมีเหตุผลเพราะ  ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากเธอเช่นการมาสายมากหรือไม่โผล่มาเข้าฉากเลย  หรือไม่ยอมออกจากห้องส่วนตัวในกองถ่ายมาเข้าฉาก หรือการเป็นนักแสดงที่ขาดความเป็นมืออาชีพเหล่านี้ (*) ทำให้งานชิ้นนี้ใช้งบเกินไปกว่าครึ่งล้านดอลล่าร์ (ปี 1959)

* หมายเหตุ - เธอได้รางวัลลูกโลกทองคำ (ความสำคัญเป็นอันดับ 2 รองจากรางวัล Oscar) จากเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ด้วยความประนีประนอม:  He (BW) also stated that Monroe played her part wonderfully

ข่าวบอกว่านักแสดงได้รับค่าจ้างจากส่วนแบ่งตามเปอร์เซ็นต์ของรายได้ของหนัง  เปอร์เซ็นต์ของ MM คือ 10  ในขณะที่ TC แค่ 5 ทั้งๆ ที่บทเยอะกว่ามาก  แสดงถึงความจริงว่า  ใครแน่กว่าใคร

หลายปีผ่านไป  ครั้งหนึ่งจากการสัมภาษณ์ TC ว่าทำไมบทหญิงของเขาถึงแสดงความเป็นผู้หญิงมากกว่าบทหญิงของ JL  คำอธิบายคือ

‘I was so scared to be playing a woman (or a man pretending to be one) that my tightly wound body language could be read as demure and shy, traditionally feminine traits, whereas Lemmon, who was completely unbothered, and "ran out of his dressing room screaming like the Queen of the May," kept much more of his masculine body language’

(นี่เป็นความสังเกตของผมขณะนั่งดูหนังด้วยเช่นกัน แต่ผมนึกว่ามาจากการสั่งงานของ ผกก.)

Orrey-Kelly นักออกแบบเสื้อผ้าชาว Australia (3 Oscars รวมถึงเรื่องนี้) เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องเสื้อผ้าให้กับนักแสดงในเรื่องนี้  เขาเล่าว่าครั้งหนึ่งขณะวัดตัว MM  เขาก็ตลกว่า ก้นของ TC ได้สัดส่วนสวยกว่าของเธอ  MM ฟังแล้วเลิกเสื้อโชว์นมพร้อมสวนกลับทันทีว่า "Yeah, but he doesn't have tits like these!"


หลังจากดูหนังจบแล้วก็เข้าใจว่าทำไมมันถึงเป็นหนังยอดนิยมตลอดกาล  นี่ขนาดดูในปี 2022  ยังให้อารมณ์เพลิดเพลินไปตลอดเรื่อง  ถ้าดูในปี 1959 ที่หนังออกฉายครั้งแรก  ผมคงดูซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายรอบเป็นแน่  

เอ... ผมว่ามันต้องมาฉายในบ้านเราแน่ ๆ   ผมจำได้ตอนน้าคนสวยเล่าว่าได้ดูหนังของ MM เรื่อง Niagara  แต่จำไม่ได้ว่าเธอเอ่ยเรื่อง SLIH นี้ด้วยรึเปล่า

ยังเก็บสะสมแต้มเพื่อหวังรับประกาศนียบัตรนักดูหนังคลาสสิกมืออาชีพไปเรื่อย ๆ  แต่คงไปไม่ถึงจุดนั้นเพราะยังเหลืออีกเยอะ  อีกทั้งบางเรื่องเช่น The Birth of a Nation (1915) หรือ Casablanca (1942) ก็เลิกอยากดูไปแล้ว

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1146  เมื่อ 25 พ.ค. 22, 09:56

คุณโหน่งและคุณหมอ SILA น่าจะเกิดไม่ทันหนังปี 1963 เรื่องนี้  เป็นเรื่องที่ถ่ายทำในไทยหลายฉากด้วยกัน  ชื่อ The Ugly American นำแสดงโดยมาร์ลอน แบรนโด
และที่สำคัญ มีที่ปรึกษาทางฝ่ายไทยท่านหนึ่งได้รับงานนี้  แต่พอไปถึงอเมริกา ฮอลลีวู้ดก็จัดบทให้รับบทนายกรัฐมนตรีประเทศสมมุติในเรื่อง คือประเทศสารขัณฑ์
ต่อมาท่านผู้นี้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจริงๆ   คือม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช



จำโปสเตอร์หนังติดอยู่หน้า โรงเฉลิมไทย ได้ครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 1147  เมื่อ 25 พ.ค. 22, 09:58

หนังปี 1963 เรื่องนี้  เป็นเรื่องที่ถ่ายทำในไทยหลายฉากด้วยกัน  ชื่อ The Ugly American นำแสดงโดยมาร์ลอน แบรนโด

นัยว่าภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวถึงประเทศไทยใน 'จักรวาลคู่ขนาน' หนึ่งของ 'พหุจักรวาล' (multiverse) นามว่า  "สารขัณฑ์" (Sarkhan) ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 1148  เมื่อ 25 พ.ค. 22, 10:16

           (ข้อมูลไทยคือ) วันที่ 25 มีนาคม 2506 เสด็จฯ ทอดพระเนตรภาพยนตร์เรื่อง The Ugly American
ณ  ศาลาเฉลิมไทย ส่วนข้อมูลจากคลิป - April 1, 1963.





บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 1149  เมื่อ 25 พ.ค. 22, 10:36

         กลับมาฉายอีกครั้งที่ เอเธนส์ ช่วงที่ยังฉายหนังตะวันตก ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นหนังไทยในเวลาต่อมา
ดูรูป,อ่านเรื่อง ที่  http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/09/K9649297/K9649297.html
มีคุณ  Navarat.C เล่าถึงวันวานครั้งที่หนังเข้าฉายที่ศาลาเฉลิมไทย


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 1150  เมื่อ 25 พ.ค. 22, 10:53

กลับมาฉายอีกครั้งที่ เอเธนส์ ช่วงที่ยังฉายหนังตะวันตก ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นหนังไทยในเวลาต่อมา
ดูรูป,อ่านเรื่อง ที่  http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/09/K9649297/K9649297.html
มีคุณ  Navarat.C เล่าถึงวันวานครั้งที่หนังเข้าฉายที่ศาลาเฉลิมไทย

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/09/K9649297/K9649297.html

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1151  เมื่อ 26 พ.ค. 22, 07:45

จำได้ว่าในยุค 70s เกิดวิกฤติที่ทำให้นักดูหนังต่างประเทศชาวไทยขาดแคลนหนังดี ๆ ดู  ผมค้นดูพบว่าอยู่ในยุครัฐบาลธานินทร์  ข่าว (ไม่ได้เช็คละเอียด) อธิบายว่ารัฐบาลกำหนดมาตรการขึ้นภาษีการนำเข้าฟิล์มภาพยนตร์ต่างประเทศ จากเมตรละ 2.20 บาท เป็นเมตรละ 30 บาท  เหตุผลก็เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังไทย  Major Studios ของฮอลลีวู้ดก็เลยประท้วงด้วยการไม่ขายหนังให้เมืองไทย

รัฐบาลชุดนี้เริ่มงานเมื่อ 2519 หรือ 1976  ตัวรัฐบาลมีอายุประมาณ 1 ปี  แต่วิกฤติยืนยาวต่อไปอีกนานเท่าไรจำไม่ได้  น่าจะประมาณ 3 ปี  ช่วงนั้นนักดูหนังฝรั่งอดอยากปากแห้งกันไปตาม ๆ กัน  อย่างไรก็ตาม หนังฝรั่งก็ยังมีเข้ามาฉายเป็นปกติเพียงแต่เป็นหนังจากค่ายอิสระต่าง ๆ  ซึ่งพูดตามเนื้อผ้าก็คือหนังคุณภาพรอง  คนก็ยังไปเข้าโรงฯ ดูกันอยู่  ยกเว้นนักดูหนัง ‘hard core’ แบบพวกผมที่ไม่ดู  ผมก็ดูหนังแห้งจาก Starpics ไปเรื่อย ๆ  พลางคอยว่าเมื่อไร  พายุจะผ่านไปเสียที  

หลังจากตกลงกันได้  ตัวแทนจำหน่ายหนังของ Major Studios ที่ฮอลลีวู้ดก็ส่งหนังนำร่องมา (ถ้าจำไม่ผิด) 3 เรื่องคือ Star Wars (1977), James Bond ตอน Spy who loved me (1977) และหนังเรียกน้ำตาที่เอามาสร้างใหม่ชื่อ The Champ (1979 – ตรงนี้คือสิ่งบอกว่าวิกฤติน่าจะเกิดขึ้นประมาณ 3 ปี)

ข่าวนี้ดังมาก  ลงหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ทุกหัว  โดยเฉพาะกำหนดวันลงโรงฯ ซึ่งอยู่ในเครือสยามทั้งหมด  วันแรกที่หนังเข้าฉายเป็นวันเสาร์  ผมเหินไปที่โรงฯ ตั้งแต่เช้าตรู่  ดู Star Wars เป็นเรื่องแรกเพราะเป็นหนังดังไปทั่วโลก  ซึ่งเจ้ากรรมตอนหนังออกฉาย (1977) เราอยู่ในช่วงวิกฤติ  หนังเลยไม่มาที่เมืองไทย  

รอบเช้าของหนังคือ 10 โมง  จำได้ว่าไปถึงหน้าโรงฯ ประมาณ 9 โมงเช้า  ซึ่งในเหตุการณ์ปกติ  เช้าวันหยุดงานแบบนี้คนโหรงเหรงเพราะยังนอนกันก้นโด่งอยู่บนเตียง  แต่วันนั้นดูเหมือนจะนัดกัน  เพราะคนแน่นเหมือนงานเทกระจาด  แย่งกันซื้อตั๋ว  แย่งกันเข้าไปในโรงฯ  ฮู้ย... สารพัดจะแย่งกัน  แต่ทุกคนก็ได้ดูหนังที่รอคอยอยากดูมานานในที่สุด

สรุปผมดู Star Wars 3 รอบเอาให้สมกับการรอคอย (ไม่ใช่ในวันนั้นรวด  หมายถึงก่อนถอดหนังออกจากโรงฯ )  เกิดมาเพิ่งเคยดูหนังที่มีภาพเทคนิคพิเศษตระการตาเหมือนจริงเหมือนจังพร้อมเสียงเทคนิคพิเศษกระหึ่มรูหูขนาดนี้ก็เรื่องนี้แหละ  ... ปิ้ว ๆ ๆ ๆ ... เสียงแสงเลเซอร์ฟาดฟันกัน

ส่วนเพลงประกอบก็สะใจขนาดต้องไปหาซื้อแผ่นเสียงมาฟัง  มันไม่ใช่ soundtrack ของหนังแต่เป็นแผ่นทำพิเศษโดยเอาเพลงในหนังมายำแล้วแปลงทำนองเป็น disco  แผ่นนี้ออกวางตลาดในปี 1977 อันเป็นยุค disco  ตอนนั้นตัวหนังยังไม่มา  ผมก็เลยไม่ได้สนใจมาก  แม้แผ่น album จะดังขนาดติดอันดับ 1  รวมถึงแผ่น single ชื่อ "Star Wars Theme/Cantina Band" ก็ขึ้นถึงอันดับ 1 เช่นกัน




หนัง Star Wars นี้ก่อกำเนิดบริษัทรับจ้างทำ special effects ที่เป็นตำนานของวงการบันเทิง  คือ ILM (Industrial Light & Magic) ที่กวาด Oscar เป็นว่าเล่นในแต่ละปี

ตัวอย่างหนัง



วันต่อมาเป็นวันอาทิตย์  ผมแหกตาแล้วเหินไปที่โรงหนังอีกครั้ง   คราวนี้ไปที่อินทรา  ดู The Spy who loved me  

ผมไม่ใช่สาวกหนัง James Bond เลยไม่ได้ดูติดต่อกันทุกตอน  เท่าที่จำได้เคยดูตอน Thunderball  ไปกับผู้ปกครอง  หลังจากนั้นผมก็ได้ของเล่นเป็นรถเหล็กจาก บ. Corgi คือรถ Aston Martin ที่โผล่โฉมอยู่ในหนัง (แต่ตัวถังคนละสี)

มา James Bond ตอนนี้จำเป็นต้องดู ข้อแรกคืออดอยากหนังฮอลลีวู้ดมานาน  แต่ที่สำคัญกว่ามาก เพราะ Carly Simon เจ้าสาวของผมร้องเพลงเปิดเรื่องชื่อ Nobody does it better  (นี่เป็นธรรมเนียมของหนัง JB ทุกตอน  ต้องจ้างนักร้องดังมาร้องเพลงเปิดเรื่อง  แล้วทั้งผู้สร้าง + นักร้องก็คอยลุ้นว่าเพลงจะดังหรือแป้กในอันดับ Billboard)

เรื่อง CS จะร้องเพลงให้กับหนังตอนนี้ได้ยินมาตั้งแต่หนังเริ่มสร้างโน่น  รู้เรื่องครั้งแรกตอนไปยืนอ่านหนังสือฝรั่งเกี่ยวกับหนัง/ดาราที่ห้างเซ็นทรัลสีลม  รู้แล้วก็ตื่นเต้น  อยากฟังเพลงมากกว่าอยากดูหนัง  

พอหนังเริ่มออกฉาย (ที่เมืองนอก)  แม้จะฝ่าวิกฤติเข้ามาฉายในเมืองไทยไม่ได้ซึ่งผมก็ไม่แคร์  ผมก็เริ่มได้ยินเพลงนี้ทางวิทยุอยู่บ้าง    เพลงเพราะมากแล้วก็ดังสุดขีด (ท่ามกลางความโล่งอกของ ผู้สร้าง + นักร้อง) ที่เมืองเค้า  

แต่ที่เมืองไทยนี่หาฟังได้ไม่บ่อย  ดีเจไทยคงไม่ชอบละมัง  ไอ้ครั้นจะหาซื้อแผ่นเสียงมาฟังก็เป็นไปไม่ได้เพราะเธอไม่ได้เอาเพลงนี้มารวมในแผ่นของตัวเอง  คงติดลิขสิทธิ์  เพลงจะอยู่ในแผ่น Soundtrack ของหนังเท่านั้นซึ่งไม่มาขายในเมืองไทย (เพราะหนังไม่มา  Soundtrack จะมาทำไม)

สรุปแล้วการดูหนัง Spy who loved me นี้  จุดประสงค์หลักคือต้องการฟัง Carly Simon ร้องเพลง  และเพลงเปิดในโรงหนังซึ่งเครื่องเสียงชั้นยอดเป็นทุนอยู่แล้ว คิดดูว่าจะกระหึ่มขนาดไหน  เพลงนี้ไปดังในอันดับเพลง Billboard  โดยขึ้นถึงอันดับ 2 และได้รับแผ่นเสียงทองคำ  ส่วนบนเวที Oscar เพลงนี้รับการเสนอชื่อ  แต่ไปไม่ถึงตัวรางวัล



สรุปว่าผมดูหนังเรื่องนี้ 2 รอบ  ก็สนุกดี  ฉากรถลงน้ำตื่นตาตื่นใจ  



ตัวอย่างหนัง



อย่างที่บอกว่าในช่วงวิกฤติแม้หนังจะไม่มาแต่เพลงและของเล่นรวมถึงสินค้าล่อตังค์อื่น ๆ ยังมาเป็นปกติ  ซึ่งผมก็ซื้อ (ออกเงินซื้อเองเพราะตอนนั้นโตแล้ว) รถ Lotus Esprit ของ บ. Corgi จาก James Bond ตอนนี้มานอนเล่นนอนดูอยู่นานแล้ว  แต่เพิ่งได้เห็นมัน ‘in action’ ในวันนั้น

(คันสีขาวอยู่ในตอน You only live twice)


สำหรับเรื่องที่ 3 คือ The Champ ผมก็ไปดูเช่นกัน  แต่ดูรอบเดียวเพราะไม่ใช่แนวโปรด  ดูเพราะรู้ข่าวมาจาก starpics ว่า  ในเรื่องนี้ Faye Dunaway  กำลังท้องทั้ง ๆ ที่บทของเธอในหนังไม่เกี่ยวกับการท้อง  เลยอยากเห็นว่าเป็นยังไง (สอดรู้สอดเห็นไม่เข้าเรื่อง)



ในเรื่องนี้ คนที่ดังที่สุดคือเด็กน้อย (ในตอนนั้น) Ricky Schroder  การแสดงของพ่อหนูได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ



ตัวอย่างหนัง



พรุ่งนี้ลา 1 วัน

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1152  เมื่อ 30 พ.ค. 22, 09:32

ผมว่างานร้องเพลงให้กับหนัง James Bond นี้จุดประกายให้ Carly Simon สุดสวยของผมเริ่มสนุกสนานกับการทำเพลงให้กับหนัง  เธอทำเพลงให้หนังอีก 2-3 เรื่อง  ทั้งแต่งและร้องให้หรือร้องให้เฉย ๆ  จนมาดังสุดขีดขนาดได้รับ Oscar จากหนัง Working Girls ในปี 1988

ก่อนหน้านี้เธอแต่งและร้องเพลงให้กับหนัง Heartburn (1986)  เป็นหนังชีวิตเล่าเกี่ยวกับ 2 หญิงชายที่มาพบกันในงานแล้วพึงพอใจกันขนาดตกลงแต่งงานกัน ฝ่ายหญิงลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำหน้าที่แม่บ้าน แต่ฝ่ายชายที่มี ‘ลายพร้อย’ ไม่สามารถสลัดลายเพื่อครอบครัวได้

เพลงที่ CS ทำให้กับหนังนี้ชื่อ Coming around again  เป็นเพลงที่กู้ชื่อเสียงของเธอกลับคืนมาหลังจากซบเซาไปพักใหญ่  ตัวหนังไม่ดังเท่าไรแม้จะมีนักแสดงระดับแม่เหล็กอย่าง Meryl Streep และ Jack Nicholson  แต่เพลงของ CS ดังในวงการเพลงอย่างมาก (ตอนนั้นผมเลิกฟังเพลงฝรั่งทางวิทยุแล้วหันมาฟังเพลงจากแผ่นเสียงเต็มพิกัด  เลยไม่รู้ว่าวิทยุออกอากาศเพลงนี้บ่อยแค่ไหน)


หมายเหตุ – นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมยอมเสียเงินเพียงเพื่อเข้าไปฟัง Carly Simon ร้องเพลงในโรงหนัง  ผมไม่อินังขังขอบกับเนื้อเรื่องของหนัง เพราะไม่ชอบ MS แล้ว JN นอกจากไม่หล่อแล้วหน้าตายังดูไว้ใจไม่ได้ซึ่งเหมาะกับบทในหนังมาก ก็เลยไม่นึกอยากเล่ารายละเอียด

เพลงนี้นอกจากจะรวมอยู่ใน Soundtrack ของหนังแล้ว  CS ยังเอามารวมไว้ในแผ่นส่วนตัวของเธอด้วย  ไม่เหมือนเพลง Nobody Does It Better ในหนัง James Bond ที่ติดลิขสิทธิ์  จนป่านนี้ก็ยังไม่มีรวมอยู่ใน 'แผ่นเสียง' แผ่นไหนของเธอ  ถ้าไม่มี อตน. หรือ CD ผมก็คงยังหาเพลงฟังไม่ได้



แถม Music video เพลง You’re so vain เพลงอันดับ 1 ของเธอ  ในปี 1972 ที่เพลงนี้เริ่มออกจำหน่าย  mv ยังไม่เป็นส่วนสำคัญของการตลาด  จึงไม่มีให้ดู  40 ปีต่อมา คือปี 2012 (ดูจากเวลาที่เธอเอามาปล่อยลง youtube)  CS เอาเพลงนี้มาทำเป็น mv โดยผสมฉบับเสียงร้องในปี 1972 เข้ากับฉบับเสียงร้องในยุคปัจจุบัน ออกมาเป็นงานที่น่าทึ่ง  เธอยังดูกระฉับกระเฉง  ดูเท่อย่างมาก ... ‘so chic’


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1153  เมื่อ 30 พ.ค. 22, 10:25

ตามดูหนังเก่าเพลินไปหน่อย เพิ่งเห็นว่ากระทู้นี้ปาเข้าไปพันกว่าความเห็นแล้ว  ตกใจ ตกใจ
อยากจะขอเชิญคุณหมอ SILA มาตั้งกระทู้   ฉากประทับใจในหนังเก่า (4)  ค่ะ


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 1154  เมื่อ 30 พ.ค. 22, 14:45

เชิญ ติดตามต่อที่ กระทู้ใหม่ ครับ

           http://www.reurnthai.com/index.php?topic=7301.msg180941;topicseen#msg180941
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 75 76 [77]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.106 วินาที กับ 19 คำสั่ง