เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 66 67 [68] 69 70 ... 77
  พิมพ์  
อ่าน: 83889 ฉากประทับใจในหนังเก่า (3)
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1005  เมื่อ 25 ก.พ. 22, 07:36

เมื่อต้นเดือน ก.พ. ผมได้ดูหนังสารคดียาวหนึ่งม้วนจบ  ชื่อว่า Tutankhamun in color

ปกติสารคดีเกี่ยวกับการเปิดสุสานของยุวกษัตริย์ T ที่เราเห็นมานับไม่ถ้วนจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ นั้นเราจะเห็นภาพเป็นขาวดำล้วนเพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการพัฒนาหนังสี

คราวนี้มีทีมนักวิชาการบวกกับทีมนักพัฒนาเทคโนโลยีนำ footage ที่น่าสนใจมาเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อปรับจากภาพขาวดำเป็นสี  แล้วนำมารวบรวมเสนอเป็นหนังสารคดีชุดล่าสุด  ที่จะทำให้เราได้เห็นภาพการค้นพบนี้มีสีสันเหมือนกับที่ทีมงานของ Howard Carter เห็นเมื่อปี 1922 

นับเป็นครั้งแรกของโลกเลยละ  เทคโนโลยีสมัยนี้สามารถทำอะไร ๆ ได้น่าตื่นเต้นจริง ๆ 

ตอนดูจบ  ยังไม่มีใครนำมาลง youtube  แต่ตอนนี้มีผู้ใจดีแล้ว



บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1006  เมื่อ 28 ก.พ. 22, 09:06

พอ wikiฯ ถือกำเนิด  ข้อมูลอะไร ๆ ก็หาได้ง่ายขึ้น

National Lampoon เป็นชื่อนิตยสารตลกที่ออกในอเมริกาตั้งแต่ปี 1970 – 1998 เนื้อหาภายในเป็นเรื่องตลกทุกรูปแบบ  ทั้งตลกล้อเลียน ตลกร้าย ตลกลามก ฯลฯ


[ฉบับนี้เคยเห็นมาตั้งแต่เด็ก ๆ ที่แผงหนังสือของห้างเซ็นทรัลสีลม  ตามความคิดของผม  ผมว่าเป็นห้างที่น่าเดินมาก ๆ

(ผมจำบรรยากาศของห้างไทยไดมารู ราชประสงค์ไม่ได้  จำได้แต่บันไดเลื่อน กับร้านแฮมเบอร์เกอร์ วิมปี้  ฝั่งตรงข้ามซอยเล็กข้างห้าง  แล้วก็ร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเนื้อวัว ช้างเผือก)  

บรรยากาศของห้างเซ็นทรัลสีลมดี๊ดี  ผมขลุกอยู่บนชั้นนี้ (ระดับที่ 5 ถ้าจำไม่ผิด) นานที่สุด  เพราะมีทั้งแผนกแผ่นเสียง แผนกหนังสือ (ต่างประเทศเสียส่วนใหญ่)  แล้วมุมหนึ่งของชั้นนี้เป็นห้องอาหารที่ผมลืมชื่อไปแล้ว... อ้อ... The Terrace  อาหารอร่อย ๆ ทั้งนั้น  นั่งริมหน้าต่าง  มองลงไปเห็นถนนสีลม  เป็นความทรงจำที่น่าจดจำช่วงหนึ่ง]


ความดังของนิตยสาร National Lampoon มาถึงจุดสูงสุดที่ยุค 70s  ยุคนั้นคณะผู้จัดทำแตกสาขาผลงานออกไปมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์อื่น ๆ รายการวิทยุ ละครเวที รวมทั้งสร้างหนังด้วย

หนังเรื่องแรกที่คณะผู้จัดทำผลิตออกมาชื่อ  National Lampoon’s Animal House (1978) เล่าเรื่องราวความวุ่นวายของกลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

หนังเรื่องนี้มาฉายในเมืองไทยซึ่งผมก็ได้มีโอกาสไปดู (ตอนนั้นยังไม่รู้ที่มาที่ไปของหนังว่าใครเป็นผู้ทำ)  พบว่ามันก็ตลกดี  แต่ตอนนี้จำฉากอะไรไม่ได้เลย




อีก 3-4 ปีต่อมาก็มีหนังเรื่องที่สองจากทีมผู้สร้างนี้มาฉายในไทยคือ Class Reunion (1982)  เรื่องราวเกี่ยวกับการกลับมารวมตัวกันอีกครั้งของนักศึกษามหาวิทยาลัยหลังจากเรียนจบกันไปแล้ว 10 ปี  ความตลกที่หนังเรื่องนี้มอบให้คือ ระหว่างงานก็มีการฆาตกรรมต่อเนื่อง  และมุกตลกก็ตามมาไม่หยุดยั้ง

หนังเข้าเครือสยาม  ผมก็ไปดูตามปกติ  ดูจบก็สรุปว่า  หนังตลกถูกใจ  ถูกโฉลกกว่าเรื่องแรกมากมาย  เข้าขั้น 1 ในหนังประจำใจเลยละ  มุกตลกทุกฉากประทับใจไม่ลืม  ผมหัวเราะท้องคัดท้องแข็งตลอดเรื่อง (ไม่รู้ว่าทั้งโรงมีผมหัวเราะอยู่คนเดียวรึเปล่า)  เหมือนกับครั้งได้ดู Airplane!

กาลเวลาผ่านไปหนึ่งนาน  พอได้ซื้อหนังสือของ Leonard Maltin  ผมรีบเปิดหาคำวิจารณ์ของหนังเรื่องโปรดนี้  พออ่านแล้วถึงกับอึ้ง เธอเขียนว่า “Spectacularly unfunny...If you went to school with people like this, no jury on earth would convict you for becoming a homicidal maniac."  ฮู้ย... แสบสันต์

แล้วไม่ใช่ว่า LM แกด่าของแกคนเดียว  นักวิจารณ์ทุกรายด่าเหมือนกัน  เขียนรวม ๆ ง่าย ๆ ว่า ‘งี่เง่าในทุกประการ’

กาลเวลาผ่านต่อไปอีกนานกว่านั้น  เมื่อ อตน. ถือกำเนิด  และได้อ่านเบื้องลึกเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ ก็ประหลาดใจเพิ่มขึ้นอีกคือ  ไม่ใช่แค่นักวิจารณ์แต่รวมไปถึงบรรดาคนดูทุกคนเกลียดหนังเรื่องนี้กันหมด

ข้อมูลบอกเล่าสาเหตุว่า เป็นเพราะหนังเรื่องแรกสร้างออกมาได้ถูกใจนักวิจารณ์รวมถึงตลาดมาก (ไม่จิ๊งไม่จริง)  จึงดังถล่มทลาย  ผู้จัดทำเลยมีกำลังใจสร้างเรื่องที่สองคือเรื่อง Class Reunion นี้ออกมา  ซึ่งปรากฏว่านักวิจารณ์พร้อมใจกันด่ายับว่าห่วยแตกเทียบกับเรื่องแรกไม่ติดฝุ่น  ฝ่ายคนดูก็คงเห็นด้วย  อุตส่าห์คอยเรื่องที่สอง  พอเรื่องที่สองออกมาพร้อมคำวิจารณ์ในทำนองนี้ ผลคือ หนังเจ๊งไม่เป็นท่า
 
ตอนนั้นผมมั่นใจว่าไม่มีคนไทยคนไหนรู้เรื่องลึกขนาดนี้หรอก ไม่งั้นคงไม่มีใครสั่งเข้ามาฉาย ที่สั่งมาก็คงคาดว่ามันน่าจะเรียกคนดูได้เหมือนที่สั่งเรื่องแรกมาฉาย

แต่อย่างน้อยก็มีผมคนนึงละที่คลั่งหนังเรื่องนี้  มันตลกจะตายไป  แล้วก็อดคิดไม่ได้ว่า  คนที่ชอบหนังที่ถูกวิจารณ์ว่า งี่เง่า  แสดงว่าต้องเป็นคนงี่เง่าด้วยรึเปล่าละหนอ

อย่างไรก็ตาม  ตอนนั้นไม่รู้เรื่อง  ความที่ถูกใจ  หลังจากดูหนังจบแล้ว (รวม 3 รอบ) ก็ยังคิดถึงอยู่ตลอดเวลา  อยากได้หนัง  รู้ว่าหนังต้องออกเป็น video แต่ไม่รู้จะสั่งทางไหน

เมื่อผีการท่องเที่ยวเข้าสิง  ผมไปอเมริกาครั้งแรกก็พุ่งเข้าร้านวิดีโอเพื่อซื้อหนังเรื่องนี้  ฟังเข้าใจได้แค่ไหนช่างมัน  ซื้อเอาไว้ก่อน  หลังจาก อตน. และผลพวงถือกำเนิด  พร้อมๆ กับการกำเนิดของสื่อแบบ dvd   ผมก็ตามหาเพื่อจะสั่งมาเก็บไว้อีกแต่พบว่าหาไม่ได้  ไม่มีใคร (คิด) ทำออกมาจนกระทั่งเลยปี 2000 ไปแล้วผมถึงหาได้

ฝอยประวัติมานาน  ต่อไปลองชมบางตอนของหนังเรื่องนี้ดู



บรรดามุกตลกต่าง ๆ ที่ถูกใจผมเท่าหาได้ใน youtube (ต้องดูให้ทั่วทั้งจอนะครับ  มีมุกแทรกอยู่ตรงโน้นตรงนี้)

 

ผมชอบตัวละครนี้ที่สุด Delores Salk  สมัยเรียนเธอพิการ  ตอนนี้หายแล้ว  ความว่าไปทำสัญญาแลกเปลี่ยนวิญญาณกับซาตาน





ถ้าชมตัวอย่างแล้วคิดอยากลองดู  มีคนใจบุญนำหนังทั้งเรื่องมาปล่อยด้วยครับ


(11.20) เป็นครั้งแรกที่ผมได้เห็นนักแสดง Anne Ramsey  เห็นหน้าครั้งแรก  เกิดความสับสนทางความคิด เอ... เพราะมันเป็นหนังตลกรึเปล่าจึงไปจับผู้ชายมาแต่งหญิง  เหมือนกับที่เคยเห็น ล้อต๊อกแต่งหญิงในรายการตลกตอนกลางวันวันอาทิตย์  แม้แต่ เสียง ก็ไม่ใช่ตัวช่วยในการตัดสิน  ผู้หญิงอะไรหน้าตาขี้ริ้วปานนี้ (ไม่ต้องแจงว่าเธอคือคนไหนในฉาก)
 
อย่างไรก็ตามความขี้ริ้วของเธอชนะใจผม ส่วนบทของเธอเป็นบทที่ตลกมากบทหนึ่ง  ผมติดใจจนตามงานของต่อ ๆ มาเธอ  ตามที่เคยเอ่ยถึงไปแล้ว

(19.48) ฉากตลก ๆ

(38.15/49.40) ฉากที่ Dolores Salk ทำให้ผมขำกลิ้ง  แล้วต้องกลับเข้าโรงไปดูอีก 2 รอบ  รวมเป็น 3

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1007  เมื่อ 01 มี.ค. 22, 09:49

หนัง Indiana Jones ทุกตอนสนุกหมด  แต่ตอนที่สนุกที่สุดของผมคือ ตอนที่ 3 ที่มีชื่อตอนว่า ‘… and the last crusade (1989)’  ที่สนุกเพราะคุณปู่ Sean Connery รับเล่นเป็นตัวพ่อของ IJ  ทุกฉากที่มีตัวละคร 2 พ่อลูกเป็นฉากประทับใจหมด  เข้ากันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ย

ฉากเจอหน้ากันครั้งแรกของ 2 พ่อลูก  หลังจากลูกตามหามานาน


หลังจากนั้นหนังก็สนุกขึ้นเรื่อย ๆ




ตัวอย่างหนัง



ขอเล่าควันหลงหน่อยนึง...

เมื่อราว 30 ปีก่อน  ผมไปเที่ยวอังกฤษครั้งแรก  รอนแรมไปถึงเมือง Liverpool  วันหนึ่งเข้าไปหาอาหารกินใน cafeteria  ตอนกวาดตาหาโต๊ะนั่งกินก็มีลุงป้าน้าอาเจ้าถิ่น  ซึ่งตอนนั้นคงชักชวนกันดูไอ้ตี๋ (แต่หล่อ) หาโต๊ะกินข้าวอยู่  ร้องเรียกให้ผมมานั่งกินด้วยกัน (เพื่อจะได้ซักประวัติ... ว่างั้น)

เป็นการกินข้าวที่สนุกสนานเพราะบรรดาผู้ใหญ่เจ้าถิ่นเป็นมิตรมาก  หลังจากซักประวัติความเป็นมาของผมจนพอใจแล้ว  ก็ถึงตาผมซักบ้าง  

ผมถามพวกแกถึงเรื่องเก่า ๆ ของอังกฤษ  เช่นเรื่องสงครามโลกครั้ง 2  เพราะมั่นใจว่าทุกคนที่นี่ต้องผ่านประสบการณ์นี้มาแล้ว  

โอ้โฮ... เหมือนเปิดก๊อก  ผู้ใหญ่เจ้าถิ่นต่างรำลึกแล้วแย่งกันเล่าถึงความเลวร้ายของสงครามที่ส่งผลมาถึงความลำบากลำบนของประชาชน  พวกแกบอกว่าเมือง Liverpool เสียหายหนักมาก  อย่าว่าแต่ไฟฟ้า  น้ำประปาก็ไม่มีใช้  อาหารก็ต้องปันส่วน ทางการแจกคูปองเอาไว้แลกอาหารในแต่ละวัน หนังสือก็ไม่ได้เรียน  เพราะอาคารเรียนก็โดนทำลาย ฯลฯ

โดยสรุป  ถ้าใครเคยดูหนังเกี่ยวกับสงครามโลกมาบ้าง  เรื่องที่ผู้ใหญ่เจ้าถิ่นเล่าสร้างภาพออกมาแบบนั้นไม่มีผิดเพี้ยน



พวกแกถามว่าแล้วประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง  ตอนนั้นผมยังงู ๆ ปลา ๆ ก็เลยเอาประสบการณ์ที่เคยถามพวกผู้ใหญ่ที่บ้านผมมาเล่าให้ฟัง  บอกว่ายังไง ๆ ก็คงไม่เท่าที่นี่  พวกแกบอกว่า  โชคดีนะ


จากเรื่องเลวร้าย  ผมก็ย้อนมาเรื่องบันเทิงตามถนัด  ผมบอกว่าเมืองไทยรับหนังทีวีจากทั้งฝั่งอเมริกาและฝั่งอังกฤษ  แต่ผมชอบดูหนังอังกฤษเพราะวิวสวย  แม้จะเป็นทีวีขาวดำแต่ก็สัมผัสได้ถึงความสดชื่น  ผมบอกว่าผมติดตามหนังชุด ขวัญใจสายลับ (The Avengers) ชุด The Champions (จำชื่อไทยไม่ได้) ชุด สิงห์สำอาง (The Saint) ฯลฯ  โดยเฉพาะหนังชุดหุ่นกระบอกของทีมผู้สร้าง Gerry Anderson (เช่น Stingray, Thunderbirds, Captain Scarlet ฯลฯ) ที่ผมบ้าคลั่งมาก

ผู้ใหญ่เจ้าถิ่นยิ้มละมัยแล้วบอกว่า ‘It’s the good old days’.  ทุกคนที่นี่ติดหนังพวกนี้กันถ้วนหน้าเหมือนกัน


จากหนังทีวี  ผมก็เล่าเรื่องหนังโรงจากฝั่งอังกฤษ  ผมบอกว่าคนไทยชอบ Sean Connery มาก  นักดูหนังโรงทุกคนรู้จักหมด  (ควันหลงที่บอก อยู่ตรงนี้)

เล่าถึงตอนนี้  สีหน้าป้า ๆ น้า ๆ อา ๆ ฝั่งผู้หญิงขรึมลงจนเห็นได้ชัด  ป้าคนนึงบอกว่า  คนรุ่นเดียวกันที่นี่ไม่ค่อยชอบ SC นัก  ‘He abused women’ ป้าบอก

ฟังแล้วอึ้งไปเพราะเป็นเรื่องที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อน  สิ่งที่รอนแรมมาถึงเมืองไทยให้พวกเราได้รู้ได้เห็นเป็นแค่ ‘showroom’  ข้างหลัง showroom เป็นอย่างไรต้องถามคนที่ทำงานอยู่ในนั้น


แล้วก็มาคุยเรื่องเพลง  ผมบอกว่าที่มา Liverpool เพราะจะมาดู Cavern Club ที่เป็นจุดกำเนิดของวงดนตรีคณะ The Beatles และวงดังอื่น ๆ อีกมาก

ถึงตรงนี้ป้าคนหนึ่งก็บอกว่า  กินอิ่มแล้วใช่มั้ยเดี๋ยวจะพาไปเดินชม  ผมดีใจสุดขีด  ผมกอดลาผู้ใหญ่เจ้าถิ่นคนอื่น ๆ แล้วเดินตามป้า Hazel ไป  เป็นครั้งแรกที่ได้เห็น CC (ป้าบอกว่าสมัยนั้นเรียก Pub)  
ป้าบอกว่าในยุคนั้นที่ซอยนี้เป็นที่ชุมนุมของหนุ่มสาว  ‘I was one of them’ ป้าบอกแล้วทำหน้ามีความสุข  แต่อนิจจาภาพที่เห็นในตอนนี้เป็นความแตกต่างที่ไม่น่าจดจำ






เดินสำรวจจนพอใจแล้ว  ผมบอกป้าว่า  มีเพลงฝรั่งเพลงหนึ่งที่ผมชอบเป็นชีวิตจิตใจมาตั้งแต่เด็ก ๆ คือ Ferry cross the Mersey ของวง Gerry and the Pacemakers  ผมรู้มาว่า Mersey เป็นชื่อแม่น้ำที่ไหลผ่าน Liverpool  ป้าก็ฮัมเพลงนี้ให้ฟังแล้วพาผมไปดูแม่น้ำ  สภาพรวม ๆ ยังดูสวย




ก่อนจากกัน  ป้าบอกว่าจะพาไปดูอะไรอย่างหนึ่งที่ ‘amazing’  แกพาเดินไปเรื่อย ๆ จนมาถึงอนุสาวรีย์ควีนวิคตอเรีย  ป้าบอกว่าในช่วงสงครามโลกฯ  ตรงนี้ราบเรียบยกเว้นจุดตรงอนุสาวรีย์นี้  ประชาชนพิศวงกันถ้วนหน้า  แล้วก็สรุปว่า  น่าจะเป็นเพราะรูปปั้นควีน ฯ หน้าตาน่าเกลียดมาก  มากจนลูกระเบิดต่างเมินหนีไปตกที่อื่น

แล้วป้า Hazel ก็หัวเราะเอิ๊กอ๊าก








บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1008  เมื่อ 02 มี.ค. 22, 09:31

เมื่อวานพาดพิงเรื่องสงครามไปนิด  ปกติผมไม่ดูหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสงครามโดยตรงเพราะไม่ชอบความโหดร้าย  ถ้าจะดูก็ต้องเป็นหนังที่มีบรรยากาศสงครามเป็นแค่ background  เช่นเรื่อง The Pianist (2002) อันเป็นหนังร่วมทุนสร้างระหว่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และโปแลนด์  

หนังเดินเรื่องตามบันทึกความทรงจำช่วงหนึ่งของนักเปียโนชาวโปแลนด์เชื้อสายยิว  นามว่า Wladylsaw Szpilman  เขาเป็นเหยื่อคนหนึ่งที่ตกเป็นเชลยของสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (สงครามโลกครั้งที่ 2)  และเป็นหนึ่งในจำนวนน้อยคนที่รอดชีวิตมาได้อย่างไม่คาดคิด




เรื่องเริ่มต้นในนาทีที่นาซีถล่มโปแลนด์ซึ่งขณะนั้น WS กำลังเล่นเปียโนออกอากาศทางสถานีวิทยุ  หลังจากนั้นชีวิตของเขาก็เข้าสู่แดนนรก


ขณะเดินทางไปเข้าค่ายกักกัน  ก็มีคนช่วยชีวิตไว้ (0.35 - I save your life. Now, get out. Just go. Go! .... Don't run!) ทำให้เขาสามารถหลบหนีจากการควบคุมออกมาหลบ ๆ ซ่อน ๆ ซึ่งนับว่าโชคดีมาก


วันหนึ่งเธอก็ประชันหน้ากับทหารนาซีชื่อ Wilm Hosenfeld ในบ้านร้าง (เปิดตัวได้เท่มาก  คิดในใจว่าต้องมีบทบาทสำคัญในเรื่องแหง ๆ)  เหตุการณ์แทนที่จะเลวร้ายกลับพลิกผันเมื่อ WH พบว่า WS เป็นนักเปียโน  จึงให้ WS ลองแสดงฝีมือให้ฟัง


WH ติดใจในฝีมือเดี่ยวเปียโนของ WS  และมอบความเป็นมิตรและความช่วยเหลือให้นับตั้งแต่นั้น  และตลอดมาจนกระทั่งสงครามสิ้นสุด



(2.03 ‘Why the fucking coat? (...เป็นชาวโปแลนด์ทำไมใส่เสื้อนาซี...)’ – ‘I’m cold’)

หลังสงครามสงบ  WS พบเพื่อนนักดนตรีซึ่งเล่าว่าระหว่างการเคลียร์พื้นที่  เพื่อนนักดนตรีคนนี้ได้พบกับนายทหารนาซีคนหนึ่งในค่ายกักกันซึ่งถามเขาว่ารู้จักชื่อ WS มั้ย
สองนักดนตรีจึงออกตามหานายทหารนาซีคนนั้นแต่ก็พบว่าตรงที่เคยเป็นค่ายกักกันนาซี  ตอนนี้กลายเป็นสถานที่ว่างเปล่า



หนังจบด้วยการสรุปเรื่องราวเป็นตัวหนังสือ  ซึ่งไม่ได้บอกรายละเอียดเกี่ยวกับชะตากรรมของนายทหารนาซี WH  บอกแต่ว่าตายในค่ายกักกันของโซเวียตในปี 1952


แล้วก็ตามที่คาด  ไม่นานนักก็มีคนขุดคุ้ยชีวิตของ WH มาเล่าสู่กันฟัง  รวมทั้งงานขุดของคนไทย  แต่ผมนำเสนองานของต่างประเทศ (มีบรรยายอังกฤษด้วย) เพราะมีภาพมากมายให้ชมประกอบ


Wilhelm "Wilm" Hosenfeld, the kindhearted German officer who was jailed by the Russians on trumped up charges and died in prison, along with Oskar Schindler, shares the rare distinction of receiving the Righteous Among The Nations status by the State of Israel for his sheltering of Jews who otherwise would have been sent to the death camps.


หนังเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับของ Roman Polanski ผกก. ชาวโปแลนด์-ฝรั่งเศส ตัวเธอเองเคยผ่านประสบการณ์ ‘Holocaust’ มาแล้ว  พ่อเธอรอดแต่แม่ไม่รอด (แยกไปที่ค่ายใน Auschwitz)

RP มีประวัติดังในทางอื้อฉาว ด้วยเรื่องในขณะที่มาขุดทองในอเมริกาเขาไปข่มขืนเด็กหญิงอายุเพียง 13 (1977)  แล้วหนีคดีออกนอกประเทศ  กลายเป็นผู้ร้ายข้ามแดนเลยโดนหมายหัวห้ามกลับเข้ามาในอเมริกาโดยเด็ดขาด

บนเวที Oscar หนัง The Pianist ของเธอได้รับเลือกเข้าชิงหนังยอดเยี่ยมแต่พลาด  แต่ตัวเธอเองได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม ความที่ติดคดีทำให้ไม่สามารถมาร่วมงานได้
 

(ในงาน แขกร่วม ‘standing ovation’ เป็นเวลานาน !?!)

ส่วนนักแสดงนำ Adrian Brody ที่แสดงเป็น WS ได้รางวัลดารานำฝ่ายชาย  เป็นเจ้าของสถิติดารานำฝ่ายชายที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 29 ขวบ
 
หมายเหตุ – หนังสนุกมาก

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1009  เมื่อ 03 มี.ค. 22, 08:49

ถ้าความจำยังไม่เลอะเลือนไปตามอายุ  ประมาณ 50 ปีขึ้นไป  สถานีวิทยุในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ออกอากาศทางคลื่น AM

ช่วงที่ผมเรียนอยู่ชั้น ม.ศ. 2  กำลังบ้าเพลงฝรั่งเลยละ  อาวุธคู่กายผมคือวิทยุทรานซิสเตอร์ยี่ห้อ ธานินทร์ ของคุณยาย  คุณยายจะใช้ฟังรายการ หนุ่มน้อยฝอยข่าว ทุกเช้าขณะทำอาหารเช้าให้พวกเรากิน  หลังจากช่วงเวลานั้นมันก็ตกอยู่ในความครอบครองของผม

ความจริงที่บ้านยังมีวิทยุทรานซิสเตอร์อีกเครื่อง ยี่ห้อ Schaub Lorenz  เป็นของน้าสาว  แต่เธอห้ามผมใช้  เพราะเธอมีคลื่นฟังประจำคือรายการน้ำยาซักแห้งครอสซุปเปอร์ เสนอเพลงของคณะสุนทราภรณ์  เธอจะเปิดฟังในตอนเช้าเช่นกันขณะแต่งหน้าเตรียมตัวไปทำงาน  ถ้าให้ผมร่วมใช้ด้วย  ผมจะหมุนหาคลื่นฟังเพลงฝรั่งมั่วไปหมด  ทำให้เธอต้องมาเสียเวลาหมุนหาคลื่นประจำทุกเช้า  ก่อให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด  (แต่ไม่เห็นคุณยายหงุดหงิดเลย)

ผมเคยแอบลองใช้เครื่องของเธอซึ่งมีปุ่มให้เลือกทั้ง AM และ FM  พบว่าช่อง FM มีคลื่นน้อยมาก  และดำเนินรายการโดยฝรั่งทั้งนั้น  แถมเปิดเพลงฝรั่งเพราะ ๆ ทั้งนั้นด้วย  จำได้แม่นว่ารู้จักเพลง Delta Dawn ของ Helen Reddy จากที่นี่  ผมไม่เคยได้ยินเพลงนี้ทางคลื่น AM ที่จัดโดยคนไทยเลย  ส่วนใหญ่จะเปิด Leave me alone  เพลง Delta Dawn นี่แหละชักชวนให้ผมเป็นแฟนอย่างเหนียวแน่นกับ HR  และผูกสมาชิกแผ่นเสียงของเธอทุกแผ่นที่ผลิตออกมา

และถ้าจำไม่ผิด  สมัยนั้นพอเวลา 1 ทุ่มปั๊บ  ทุกสถานีจะเปลี่ยนเป็นรายข่าวกันพร้อมเพรียง  อีกราวครึ่ง ชม. ต่อมาก็จบข่าว  กลับเข้าสู่รายการปกติ  และอีกราวครึ่ง ชม. ต่อมาก็เข้าสู่รายการข่าว 2 ทุ่มอีกครั้ง  ทำไมอย่างนั้นก็ไม่รู้

ช่วงทุ่มครึ่งผมก็มีรายการเพลงประจำของผม  ชื่อรายการกับชื่อผู้จัดจำไม่ได้แล้ว  แต่วันหนึ่ง  ผู้จัดก็นำเสนอเพลงฝรั่งร้องโดยนักร้องผู้หญิง  เสียงเธอหงุงหงิง  ไม่เหมือนนักร้องฝรั่งคนอื่น ๆ ที่เคยได้ยินมา  พอจบเพลงผู้จัดก็บอกว่าเป็นเสียงของนักร้องจากเกาะฮ่องกง ชื่อ Agnes Chan  เพลงที่เพิ่งจบไปชื่อ Sweet Dreams

ตั้งแต่คืนนั้น  เป็นประจำในทุกคืนต่อมารายการนี้จะต้องประเดิมเพลงแรกด้วยเพลงนี้  ฟังทุกวัน  ในวันหนึ่งมันก็เพราะขึ้นมาจนได้




นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของกองทัพนักร้องหญิงจากเอเชีย ทยอยกันเข้ามาโชว์เสียงเพลงฝรั่งในเมืองไทยคนแล้วคนเล่าเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง

แต่ทั้งหมดนี้ Agnes Chan ดังที่สุด  และต้องดังในฮ่องกงบ้านของเธอด้วย  เพราะเธอตอกย้ำความดังของตัวด้วยการเล่นหนังด้วย

มันเป็นหนังจากค่ายดัง Shaw Brothers เข้าฉายในเมืองไทยในปีต่อมา ที่โรงหนังรามา  ตั้งอยู่แถวหัวลำโพง  โดยใช้ชื่อว่า ‘แอ็กเนส ชาน ยอดรัก’ ชื่อภาษาอังกฤษก็ ‘Generation Gap’  ส่วนชื่อจีนไม่รู้เพราะอ่านไม่ออก  เนื้อเรื่องก็เกี่ยวกับวัยรุ่นวุ่นรักของหนุ่มสาวโดยมีผู้ใหญ่ของทั้งฝ่ายเป็นอุปสรรคขัดขวาง  เธอเล่นกับ เดวิด เจียง




ความดังของเธอถึงกับมีการเชิญตัวมาร่วมงานปฐมทัศน์หนังเรื่องนี้ด้วย


(ภาพสำเนาจากแผ่นเสียงของเธอ)




ตอนสื่อประโคมข่าวฟังแล้วอยากดูจัง แต่ทว่าชื่อโรงหนังและทำเลที่ตั้งที่เอ่ยมานี้ผมไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน  สรุปแล้วไปไม่เป็น  นี่คือข้อเสียของเด็กที่โดนเลี้ยงแบบไข่ในหิน  คือไปไหนเองไม่เป็น (แทบไม่น่าเชื่อว่า ในเวลาต่อมาจะสามารถร่อนไปตามลำพังได้ทั่วโลก)

ผมชวนพี่ ๆ น้า ๆ ก็ไม่มีใครสนใจ  พวกเธอชอบดูแต่หนังฝรั่ง  ชวนป้าสะใภ้ซึ่งชอบดูหนังไทยกับจีนแต่หนังจีนเรื่องนี้เธอบอกผ่าน  บอกว่าชอบดู หลินปอ จีบกับ หลีชิง มากกว่า

ผมเลยหันมาชวนเพื่อนที่โรงเรียน

ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง  ไม่รู้จะเรียกว่า สนิท ได้รึเปล่า  เพราะน้อยคนที่อยากเป็นเพื่อนกับเธอ  คือเธอเป็นนักเลงประจำห้อง  เธอแกล้งดะระรานไปทั่ว  แต่ยกเว้นผม  เพราะเธอรู้ว่าเรามีความชอบอย่างหนึ่งเหมือนกัน  คือชอบฟังเพลงฝรั่ง  เพียงแต่คนละแนว  ขณะผมฟังเพลง pop ทั่วไป  แต่เธอฟังเพลง hard rock, underground  ว่าไปโน่น  

แต่บางครั้งเพลงแนวผีสิงของเธอบางเพลงก็เพราะเสนาะหูผมเหมือนกันอย่าง D’yer Mak’er ของ Led Zeppelin หรือ Behind blue eyes ของ The Who   ยิ่งรู้ว่า The Park ของ Uriah Heep (ช่วงที่ยังไม่โดนผีเข้า) เป็น 1 ในเพลงโปรดของผม  เธอก็เลยมีเมตตายกเว้นไม่แกล้ง  ได้แต่แขวะ

วันหนึ่งในชั่วโมงวาดเขียน  ผมฮัมเพลง Goodbye to love ของคณะ Carpenters ด้วยอารมณ์สุนทรี  เพื่อนเธอยื่นหน้าเข้ามาขัดจังหวะ (ขออนุญาตคัดลอกคำพูดต้นฉบับที่สนับสนุนรสชาติดั้งเดิม) ‘มึงไปอกหักที่อื่นเหอะ ไป๊ กูรำคาญเพลงพวกนี้’

ผมเถียง (ในใจ) ว่า ‘ใครเค้าฮัมเพลง Highway star  ในชั่วโมงวาดเขียนกันวะ’

เพื่อนคนนี้แหละที่ผมตัดสินใจเสี่ยงเข้าไปกะลิ้มกะเหลี่ยถามเผื่อเธอจะสนใจทำหน้าที่พี่เลี้ยง

คำตอบที่ได้เป็นไปตามที่คาดไว้ ‘ไม่ไปโว้ย กูยังไม่บ้า’ เพื่อนตอบปฏิเสธอย่างสุภาพ ‘มึงหาทางไปของมึงเองเหอะ’

ผมก็เลยต้องบากหน้าไปหาที่พึ่งรายอื่น  ในที่สุดก็ได้เหยื่อมา 1 คน  เธอก็พาผมขึ้นรถเมล์ไปโรงหนังรามา  

จำได้ว่าที่หน้าโรงฯ คนมืดฟ้ามัวดิน  ดูเหมือนคนกรุงเทพฯ จะมารวมตัวกันที่นี่กันหมด  นี่ขนาดไม่ใช่วันปฐมทัศน์ที่มีการปรากฏตัวของ AC ด้วยนะ

ในที่สุดผมก็ได้ดูหนังตามที่ตั้งใจไว้  หนังก็สนุกดี  เพลงประกอบเพราะ ๆ ทั้งนั้น  ฉากที่ประทับใจก็เป็นฉากที่นำเสนอเพลงเหล่านี้

สมัยก่อนนานโพ้น  มีคนมาปล่อย clip ใน youtube มากมาย  เดี๋ยวนี้หาไม่เจอแล้ว  อยากนำเสนอฉากเปิดเรื่องที่มีเพลง Original I ซึ่งผมว่าเป็นเพลงที่เพราะเพลงหนึ่ง  แต่หาไม่เจอแล้ว


ตัวอย่างบางฉากในหนัง (เท่าที่หาได้)









หมายเหตุ – ตอนโตเป็นควายแล้ว  ผมมีเพื่อนฝรั่งเพิ่มขึ้นมาจากการมีเพื่อนคนไทย  ผมเคยเอาเพลงของ AC ไปเปิดให้ฟัง  อธิบายโหมโรงก่อนเปิดให้นิดว่าในยุคข้าเด็ก ๆ นักร้องคนนี้ดังไปทั่วประเทศไทย (หมายถึงกรุงเทพฯ)  แล้วก็เริ่มเปิดเพลงของเธอ  เพื่อนทำหน้าแบบอยากฟังจัง  แต่พอได้ยิน AC เอื้อนเสียงใส ๆ ออกมา  พวกมันก็พากันร้องเสียงหลง...  ‘What the fuck?!?’

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1010  เมื่อ 04 มี.ค. 22, 08:57

On golden pond (1981) เล่าเรื่องเกี่ยวกับ 2 ผัวเมียวัยชราที่ต้องมาพักผ่อนเป็นประจำที่ทะเลสาบ Golden Pond สำหรับปีนี้มีพิเศษคือลูกสาวที่ไม่ค่อยถูกโฉลกกับพ่อมาเยี่ยมพร้อมกับคู่หมั้นและหนุ่มน้อยลูกติดของคู่หมั้น  เรื่องของเรื่องคือ 2 หนุ่มสาวตั้งใจจะฝากหนุ่มน้อยไว้กับ 2 ผัวเมียชราเป็นการชั่วคราวระหว่างที่ตัวเองไปพักร้อนที่ยุโรป

เหตุการณ์ต่อจากนั้นก็ดำเนินไปตามเรื่องจนกระทั่งหนังจบ

หนังเรื่องนี้เป็นหนังชีวิตเบา ๆ เรียบง่ายแต่ใช้ดาราระดับตำนานของฮอลลีวู้ดคือ Henry Fonda, Katharine Hepburn และ Jane Fonda  ตอนออกฉายที่อเมริกาหนังทำเงินได้เป็นอันดับ 2 ประจำปี  รองจาก Indiana Jones ภาคแรกที่ใช้ทุนสร้างต่างกันลิบลับ  เป็นการบ่งบอกว่า ทุนกับความสำเร็จไม่จำเป็นต้องไปด้วยกัน

ส่วนบนเวที Oscar หนังไปโลด  ได้เข้าชิงถึง 10 รางวัล  รวมทั้งนักแสดงทั้ง 3  แต่ได้มา 3 ตัว  2 ตัวใน 3 คือ HF (ไม่สามารถไปรับได้เพราะป่วยหนักและเสียชีวิตในอีกไม่กี่เดือนต่อมา) และ KH (เป็นตัวที่ 4 เป็นสถิติที่ยังไม่ใครล้มล้างได้)

ประกาศนียบัตรสวยหรูแบบนี้เป็นที่แน่นอนว่าผมอยากดูตัวสั่น  แต่มันไม่มาฉายในเมืองไทย
 
เวลาผ่านไปนานแสนนาน  แล้ววันหนึ่งก็มีประกาศในหน้าบันเทิงของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่าหนังเข้ามาฉายแล้ว (นะจ๊ะ) โดยจะลงโรงที่ Century ย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ

วันเสาร์เช้าตรู่ผมก็บึ่งไปซื้อตั๋วรอบแรกทันที  ที่หน้าโรงมีคนเยอะแยะมาก บ่งบอกถึงจำนวนคนสนใจหนังคุณภาพ

พอเข้าไปนั่งข้างในโรงแป๊บนึง ก็มีการฉายหนังโฆษณาตามด้วยตัวอย่างหนังอื่น ๆ  ตามพิธีแล้วถึงเวลาฉายหนังจริง

พอหนังเริ่มฉาย  ก็เกิดเสียงพึมพำไปทั่วทั้งโรง (รวมทั้งผมด้วย  แต่ผมพึมพำในใจเพราะไปดูคนเดียว)  นั่นเป็นเพราะหนังมัว  มัวขนาดมองขอบวัตถุต่าง ๆ ที่ฉายในจอเช่น รูปหน้าคน ต้นไม้ รถรา ฯลฯ ได้ไม่ชัด

จากเสียงพึมพำเริ่มชัดเจนเป็นเสียงบ่น  ที่ออกมาทำนองเดียวกันคือ ‘เกิดอะไรขึ้น (วะ)’ บางคนรวมทั้งผมแหงนมองไปที่ห้องฉาย  ก็พบแต่เครื่องฉายส่องไฟสว่าง

เราต่างทนดูไปเรื่อย ๆ นึกว่าเดี๋ยวคงหาย  แต่ก็เปล่า  หนังดำเนินเรื่องแบบมัว ๆ ต่อไป  ระหว่างนั้นก็มีบางคนลุกขึ้นแล้วเดินออกจากโรง  ผมจำไม่ได้ว่าตัวเองลุกขึ้นหรือทนนั่งดูจนจบ  แล้วก็จำไม่ได้ว่ามีข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ในหนังสือพิมพ์ในวันต่อ ๆ มารึเปล่า  และไม่รู้ด้วยว่าหนังมัวเฉพาะรอบของผมซึ่งเป็นรอบแรกรึเปล่า ซึ่งผมก็ยังไม่บ้าพอที่จะตีตั๋วเสียเงินอีกรอบเพื่อเข้าไปพิสูจน์

นี่เป็นหนึ่งในประสบการณ์เฮงซวย  ไม่นึกว่าจะมีการเอาเปรียบผู้บริโภคได้ถึงเพียงนี้

สงสัยจังว่าในเรือนไทยนี่มีใครร่วมประสบการณ์นี้กับผมบ้าง

ตัวอย่างหนัง


บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1011  เมื่อ 07 มี.ค. 22, 08:37

Pinocchio ที่จะเอ่ยถึงเรื่องนี้เป็นฉบับใหม่สร้างในปี 2019 นี่เอง  ยุคปัจจุบันนี้เทคโนโลยีด้าน special effects ล้ำยุค  เอื้ออำนวยให้หนัง fantasy แบบนี้สร้างภาพได้ตลึงตามาก  หนังฉบับนี้ดังที่สุดบนเวทีรางวัลต่าง ๆ

ฉบับที่ผมดูใช้เสียงต้นฉบับคือ ภาษา Italian แล้วมีคำบรรยายอังกฤษด้านล่างให้อ่านประกอบ  ผมหาฉบับนี้ทาง youtube ได้ไม่ครบตามฉากที่อยากนำเสนอ  ผมว่าเสียงพูดต้นฉบับให้อารมณ์มากกว่า  

ฉากของ clip แรก (4.05) ชอบมาก  สาวใช้หอยทาก  จินตนาการถูกใจสุดขีด  เสียงต้นฉบับ Italian ของเธอน่ารักกว่ามาก





(2.58 ‘เอาละ จับให้แน่น ๆ นะ ฉันจะเร่งความเร็วแล้วนะ’ สาวใช้หอยทากเตือน  ขำกลิ้ง)

ฉากปลาพูดได้ (4.50)  โฮ้ยยย... ถูกใจ ๆ (เสียงต้นฉบับดีกว่ามากเช่นกัน)


เบื้องหลังการสร้างตัวละครบางตัว (ผมชอบหอยทากที่สุด)


ตัวอย่างหนัง

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1012  เมื่อ 07 มี.ค. 22, 08:55

Pinocchio ที่คุณโหน่งเอามาลง  ไม่ใช่ version ของ Walt Disney  แต่เป็นฉบับทำจากนิยายอิตาเลียนของเดิมของเรื่องนี้ ชื่อ The Adventures of Pinocchio  แต่งโดยนักเขียนชาวอิตาเลียนชื่อ Carlo Collodi  พิมพ์รวมเล่มจำหน่ายตั้งแต่ปี 1883  
ภายหลัง     ดิสนีย์เอามาปรับปรุงอีกทีให้เหมาะกับเด็ก

เคยอ่านนิยายเรื่องนี้ ฉบับแปลเป็นภาษาไทยโดย อ.สนิทวงศ์  จะว่าเป็นนิยายสำหรับเด็กก็ไม่เชิง  แม้ว่าตัวเอกเป็นเด็กชายตุ๊กตาไม้   เพราะเนื้อเรื่องดาร์คมาก   โหด น่ากลัว สยอง บรรยากาศแบบ thriller  ดิฉันอ่านในวัยเด็กยังจำได้ว่าไม่ชอบเลย   มันเรื่องอะไรกันน่ากลัวจนดูไม่ออกว่าน่ารักตรงไหน
แม้แต่บลูแฟรี่ของดิสนีย์ ผู้แสนสวยแสนดี  ก็ดูพิลึกน่ากลัว   ในเรื่องนี้ออกมาในรูปของ เด็กหญิงผมสีฟ้า  เปิดฉากออกมาก็ตีแสกหน้าคนอ่าน ด้วยคำพูดว่า
 "บ้านนี้ไม่มีใครอยู่  ทุกคนตายหมดแล้ว รวมทั้งฉันด้วย"


บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1013  เมื่อ 08 มี.ค. 22, 08:07

Pinocchio ที่คุณโหน่งเอามาลง  ไม่ใช่ version ของ Walt Disney  แต่เป็นฉบับทำจากนิยายอิตาเลียนของเดิมของเรื่องนี้ ชื่อ The Adventures of Pinocchio  แต่งโดยนักเขียนชาวอิตาเลียนชื่อ Carlo Collodi  พิมพ์รวมเล่มจำหน่ายตั้งแต่ปี 1883  
ภายหลัง     ดิสนีย์เอามาปรับปรุงอีกทีให้เหมาะกับเด็ก

เคยอ่านนิยายเรื่องนี้ ฉบับแปลเป็นภาษาไทยโดย อ.สนิทวงศ์  จะว่าเป็นนิยายสำหรับเด็กก็ไม่เชิง  แม้ว่าตัวเอกเป็นเด็กชายตุ๊กตาไม้   เพราะเนื้อเรื่องดาร์คมาก   โหด น่ากลัว สยอง บรรยากาศแบบ thriller  ดิฉันอ่านในวัยเด็กยังจำได้ว่าไม่ชอบเลย   มันเรื่องอะไรกันน่ากลัวจนดูไม่ออกว่าน่ารักตรงไหน
แม้แต่บลูแฟรี่ของดิสนีย์ ผู้แสนสวยแสนดี  ก็ดูพิลึกน่ากลัว   ในเรื่องนี้ออกมาในรูปของ เด็กหญิงผมสีฟ้า  เปิดฉากออกมาก็ตีแสกหน้าคนอ่าน ด้วยคำพูดว่า
 "บ้านนี้ไม่มีใครอยู่  ทุกคนตายหมดแล้ว รวมทั้งฉันด้วย"

จริงอย่างที่ 'จาร ว่าครับ  เรา (คนไทย) ไปติดกับของฉบับ WD เลยนึกว่าเป็นหนังน่ารัก  บรรยากาศของหนังเรื่องนี้หม่นหมอง (สังเกตจากสีฟิล์มก็ไม่สดใสเป็นพื้นอยู่แล้ว)  มีฉากทรมาน  บีบคั้น  ตัว Pinocฯ ก็เจอเรื่องโหด ๆ  ดูแล้วอึดอัด

หมายเหตุ - พรุ่งนี้ 'จาร แวะมาอีกนะครับ  เป็นเรื่องเก่า ๆ  'จาร อาจจะจำได้ครับ
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1014  เมื่อ 08 มี.ค. 22, 08:19

นักแสดงนำในบทพ่อในเรื่อง Pinocchio คือ Roberto Benigni  เธอเป็นศิลปินชาวอิตาเลียน  ในปี 1998 เธอเคยสร้างผลงานที่เด่นดังจนโลกแทบแตกมาแล้วคือเรื่อง Life is beautiful  เรื่องย้อนยุคไปที่อิตาลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  เล่าเกี่ยวกับชายชาวอิตาเลียนเชื้อสายยิวพนักงานเสิร์ฟอาหารกับเมียและลูกชายที่ถูกพวกนาซีจับกุมตัวไปเข้าค่ายกักกันร่วมกับชาวยิวอื่น ๆ  

ขณะที่เมียโดนแยกไปที่ค่าย ฯ อื่น  คุณพ่อต้องอยู่กับลูก 2 คน  ความเป็นคนมองโลกในแง่ดีและรักลูกมาก เธอห่วงสภาพจิตใจของลูกจึงพยายามสร้างจินตนาการครอบคลุมความคิดของลูกชายเพื่อปกป้องจิตใจลูกของตนจากความจริงอันโหดร้าย (คือเบี่ยงเบนภาพความจริงให้กลายเป็นเรื่องตลกในสายตาของเด็ก)




เป็นหนังแนวเบา ๆ ที่สดใสและออกตลก  แม้บรรยากาศของสงครามจะอบอวลอยู่โดยรอบ  แต่ก็ดูได้เพลิดเพลินจนมาถึงฉากหนึ่งตอนท้ายของเรื่อง  ซึ่งทำเอาผมอ้าปากค้าง  แม้หนังจะฉายจบแล้ว  แต่อารมณ์ยังค้างอยู่  เดินออกมาจากโรงด้วยอาการจิตตก  และพยายามลืมหนังเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด (จนกระทั่งถึงวันนี้)


ตัวหนังเป็นผลงานชิ้นเอกของ RB  เธอคุมบังเหียนงานกำกับ งานเขียนบท และนำแสดงด้วย  หนังประสบความสำเร็จในด้านรายได้ทุกที่ทุกแห่งรวมถึงเมืองไทย  

บนเวที Oscar  หนังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง 7 สาขา  รวมถึงหนังยอดเยี่ยม และหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม พร้อมกัน

RB ได้รับการเสนอชื่อครบทั้ง 3 สาขา  และได้ 1 ตัวจากสาขานักแสดงชายยอดเยี่ยม
  

(เมียจริง ๆ ของเธอเล่นเป็นเมียตัวละครในหนังด้วย  และที่ 1.29 นอกจากเธอจะขอบคุณ Helen Hunt แล้ว  เธอยังไม่ลืมขอบคุณสาวที่นำ Oscar มารอการส่งมอบด้วย  เท่าที่ดู งาน มาหลายสิบปี  เพิ่งเคยเห็น  ปกติไม่มีใครสนใจกันถึงขนาดนี้  แสดงถึงความเป็นคนน่ารักมากนะผมว่า)

เธอเป็นนักแสดงคนที่ 2 ที่ได้ Oscar จากการกำกับตัวเอง  คนแรกคือ Laurence Olivier จากเรื่อง Hamlet (1948)  และเป็นนักแสดงชาวอิตาเลียนโดยแท้คนที่ 2 ที่ได้ Oscar  คนแรกคือ Sophia Lauren



(รับ Oscar อีกตัวในสาขาหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม)


ตัวอย่างหนัง


(หมายเหตุ - เป็นหนังที่ โดยส่วนตัว ผมว่าทำออกมาได้โหดร้ายต่อจิตใจมาก  แม้จะไม่มีฉากโหดร้ายให้เห็นเลย)
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1015  เมื่อ 09 มี.ค. 22, 09:22

ไม่อยากคุย (แต่โพล่งออกไปแล้ว) ว่าผมรู้จักหนังเรื่อง The Good Earth (1937) มาตั้งแต่ยังใส่ขาสั้นไปโรงเรียน

เรื่องเริ่มมาจากวันหนึ่งแม่ใช้ให้ผมไปหยิบนิยายที่อ่านค้างไว้ มันเป็นหนังสือปกแข็งเรื่อง ทรัพย์ในดิน  ระหว่างเดินกลับไปหาแม่  ผมพลิก ๆ หนังสือดูเรื่อยเปื่อย  ก็พบว่ามันเป็นเรื่องแปล  แปลจากเรื่องต้นฉบับชื่อ The Good Earth ซึ่งไม่ว่าจะแปลเป็นภาษาไทยอย่างไรก็ไม่เห็นคำไหนแปลว่า ‘ทรัพย์’ หรือ ‘ดิน’ เลย (ก็ มีส สอนผมที่ รร. ว่า earth มันแปลว่า โลก อ้ะ)

เวลาผ่านมาหนึ่งเพลิน  ตอนนี้พี่ ๆ รับหนังสือ Starpics เป็นประจำ  มีอยู่ฉบับหนึ่งลงสถิติเกี่ยวกับรางวัล Oscar   ผมอ่านดูก็พบหนังเรื่อง The Good Earth ที่น่าจะแปลว่า ‘โลกดี’ นี้ด้วย  SP บอกคร่าว ๆ ว่าเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองจีน  เกี่ยวกับครอบครัว ๆ หนึ่งที่ต้องดิ้นรนจากสาเหตุหลายอย่างเพื่อความอยู่รอด

ผมสงสัยว่าเป็นเรื่องเดียวกันรึเปล่า  พอถามแม่  ก็ได้คำตอบว่าเรื่องเดียวกัน  แต่แม่ไม่เคยดูหนัง

ผมจำรายละเอียดจาก SP ได้อีกหน่อยว่า  ถึงหนังจะเล่าเรื่องของคนจีนก็จริงแต่ใช้ดารานำเป็นฝรั่ง ดารานำฝ่ายหญิงชื่อ Luise Rainer ได้ Oscar จากเรื่องนี้

SP เล่าต่อว่าเมื่อปีก่อนหน้า LR ก็ได้ Oscar มา 1 ตัวก่อนแล้ว  นับเป็นดาราคนแรกที่ได้ Oscar 2 ปีติดต่อกัน  และเป็นดาราหญิงคนแรกที่ได้รางวัล (นำหญิง) ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30

ความทรงจำสมัยยังเด็กมีเท่านี้

เวลาผ่านมาจนถึงยุค อตน. ผมได้มีโอกาสอ่านเรื่องราวต่าง ๆ ของหนัง/ดารามาเพิ่มพูนความรู้เดิมแต่ครั้งเด็ก ๆ  รวมถึงเกร็ดต่าง ๆ เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ด้วย  เช่น ตอนแรกผู้ผลิตต้องการใช้ดาราจีนให้สมกับท้องเรื่องและเล็งตัวไว้แล้วคือ Anna May Wong ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดาราเชื้อสายจีนคนแรกของฮอลลีวู้ด  แต่ studio เจ้าของทุนไม่อยากเสี่ยงเพราะคาดการณ์ไว้ว่าคนดูซึ่งเป็นอเมริกันยังไม่พร้อมที่จะยอมรับเลยไปหยิบ LR ที่ยังร้อนระอุมารับบทแทน  ซึ่งก็นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเพราะหนังดังถล่มทลาย  รวมถึง LR ได้ Oscar เป็นตัวที่ 2  แต่ผู้ที่น่าสงสารคือ AMW เธอหมดโอกาสที่จะดัง




ยังมีเกร็ดอีกตัวหนึ่งเล่าเกี่ยวกับ LR ว่าเป็นดาราคนแรกที่ต้องคำสาปว่า "The most extreme case of an Oscar victim in Hollywood mythology"  สืบเนื่องมาจากความที่ตัวเองได้รางวัลอันทรงเกียรติถึง 2 ปีซ้อน  จึงเป็นที่คาดหวังของ ‘ลูกค้า’  แต่ปรากฏว่าหนังเรื่องต่อ ๆ มาผลออกมาไม่เป็นที่ประทับใจ  ทั้งผู้ชม นักวิจารณ์รวมถึงตัวเธอเอง
  
ในที่สุดเมื่อสิ้นสุดสัญญาที่ทำไว้กับ studio (ยุคนั้นคือ Studio System เป็นยุคทองของฮอลลีวู้ด) เธอก็ไม่ต่อสัญญาโดยให้เหตุผลว่า ‘หมดไฟ’ แล้วอุ้ม Oscar 2 ตัวออกเดินทางกลับบ้านที่เยอรมัน

สรุปแล้ว LR เล่นหนังฮอลลีวู้ดอยู่แค่ราว 3 ปี (1935-1938) Wikiฯ บอกว่าเป็นจำนวนเพียง 8 เรื่อง  เธอมีอายุยืนยาวมาถึงปี 2014 (เกิด 1910)




จากที่ได้ยินได้อ่านมาก็ไม่แปลกใจว่าผมอยากดูหนังเรื่องนี้และอยากเห็น LR แบบเคลื่อนไหวได้เต็มกำลัง  จนกระทั่งวันหนึ่งความอยากก็สมหวังเมื่อ ช่อง TCM เป็นสปอนเซอร์นำเรื่อง The Good Earth มาฉายให้ชม



ฉากของ Luise Rainer เท่าที่หาได้ใน youtube  ผมว่าเธอเล่นได้เป็นธรรมชาติผิดกับนักแสดงในยุคนั้น (รวมถึงตัวเธอเองในหนังเรื่องก่อน) ที่จะออกท่าทางเหนือจริง (เวอร์) เพราะติดมาจากยุคหนังเงียบ





LR ใน clip พิธีซ้อมรับ Oscar (ตัวแรก) ในปี 1936 จากเรื่อง "The Great Ziegfeld" (0.24 - "I am very happy that I got it" น่ารักจัง)



บทของเธอในหนังเรื่องดังกล่าว  แตกต่างจากบทในหนัง The Good Earth ลิบลับ (ผมไม่ได้ดูหนังเรื่องนี้)



ตัวอย่างหนัง



การปรากฏตัวของเธอในปี 2011ที่ Berlin … ‘to receive a star on the Boulevard der Stars’



หมายเหตุ - หนัง The Good Earth เป็นหนังขาวดำที่ปกติผมไม่ชอบดู  แต่เรื่องนี้สนุกมาก    ผมไม่ได้อ่านหนังสือ เลยไม่รู้ว่าตรงตามเนื้อเรื่องในหนังสือมากน้อยแค่ไหน
              'จาร เคยอ่านนิยายเรื่องนี้มั้ยครับ


(มีต่อ)

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1016  เมื่อ 09 มี.ค. 22, 10:26

อ่านค่ะ  หนังก็ดู แต่ดูแล้วไม่ดูอีกเลย มันบีบคั้นจิตใจมาก

Earth แปลว่าโลกก็ได้  พื้นดินก็ได้   ผู้เขียนคงตั้งใจให้หมายถึงผืนแผ่นดินไร่นาที่หวางหลุงรักและหวงแหนยิ่งชีวิต  เพราะมันให้ทุกอย่างแก่เขา   ภาษาอังกฤษ ถ้าจะแปลว่า ผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ ก็คงเยิ่นเย้อ   สันตสิริจึงแปลว่า ทรัพย์ในดิน
เพิร์์ล เอส บั๊ค เป็นลูกสาวมิชชันนารีอเมริกันที่เติบโตในเมืองจีน  รู้จักวัฒนธรรมและชีวิตคนจีนที่รายล้อม   ตอนเขียนนิยายใหม่ๆ เรื่องของเธอไม่มีคนอ่าน เพราะคนอเมริกันไม่มีความรู้เรื่องจีนและไม่สนใจจะรู้    จนกระทั่งได้รางวัลพูลิตเซอร์ นิยายจึงเป็นที่ฮือฮาขึ้นมา   
ตัวละครในนิยายเป็นคนจริงๆ  จริงเสียจนคนอ่านที่หวังจะเห็นพระเอ๊กพระเอกนางเอ๊กนางเอกหาไม่เจอ  ไม่เหมือน Gone with the Wind  ที่มีรสชาตินิยายเต็มเปี่ยมอยู่ในพื้นหลังประวัติศาสตร์อเมริกัน   อ่านไปๆเกลียดหวางหลุง สงสารโอลันจับใจ   ตอนหวางหลุงใกล้ตายแล้วลูกชายไม่คิดจะสานต่อความฝันของเขา ยังแอบนึกว่า..เออ สมน้ำหน้า

ใจร้ายค่ะ  คุณโหน่งอย่าฟังเลย 


บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1017  เมื่อ 10 มี.ค. 22, 08:03

อ่านค่ะ  หนังก็ดู แต่ดูแล้วไม่ดูอีกเลย มันบีบคั้นจิตใจมาก

Earth แปลว่าโลกก็ได้  พื้นดินก็ได้   ผู้เขียนคงตั้งใจให้หมายถึงผืนแผ่นดินไร่นาที่หวางหลุงรักและหวงแหนยิ่งชีวิต  เพราะมันให้ทุกอย่างแก่เขา   ภาษาอังกฤษ ถ้าจะแปลว่า ผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ ก็คงเยิ่นเย้อ   สันตสิริจึงแปลว่า ทรัพย์ในดิน
เพิร์์ล เอส บั๊ค เป็นลูกสาวมิชชันนารีอเมริกันที่เติบโตในเมืองจีน  รู้จักวัฒนธรรมและชีวิตคนจีนที่รายล้อม   ตอนเขียนนิยายใหม่ๆ เรื่องของเธอไม่มีคนอ่าน เพราะคนอเมริกันไม่มีความรู้เรื่องจีนและไม่สนใจจะรู้    จนกระทั่งได้รางวัลพูลิตเซอร์ นิยายจึงเป็นที่ฮือฮาขึ้นมา   
ตัวละครในนิยายเป็นคนจริงๆ  จริงเสียจนคนอ่านที่หวังจะเห็นพระเอ๊กพระเอกนางเอ๊กนางเอกหาไม่เจอ  ไม่เหมือน Gone with the Wind  ที่มีรสชาตินิยายเต็มเปี่ยมอยู่ในพื้นหลังประวัติศาสตร์อเมริกัน   อ่านไปๆเกลียดหวางหลุง สงสารโอลันจับใจ   ตอนหวางหลุงใกล้ตายแล้วลูกชายไม่คิดจะสานต่อความฝันของเขา ยังแอบนึกว่า..เออ สมน้ำหน้า

ใจร้ายค่ะ  คุณโหน่งอย่าฟังเลย 

โอ้... แค่หนังก็หนักหัวอึ้งแล้วครับ  ตอน หวังหลุง ทำร้ายจิตใจเมียตัวเองนี่อยากจะกระโดดพุ่งเข้าไปในจอทีวีแล้ว เตะ ไอ้เวรนี่ซัก 40 ที ฮึ...
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1018  เมื่อ 10 มี.ค. 22, 08:14

เหตุการณ์ที่ฮอลลีวู้ดทำร้ายจิตใจดารานี่  นอกจากสมัย Anna Mae Wong ในยุคดึกดำบรรพ์แล้ว  ตอนเด็ก ๆ ผมเคยได้อ่านมาว่ามีอยู่อีกหลายครั้งเลยทีเดียว  ที่โด่งดังถึงขนาดเข้ามาผ่านตาผมซึ่งอยู่ไกลถึงเมืองไทยเกิดขึ้นกับหนังเรื่อง A street car named desire (1951)  เรื่องราวเกี่ยวกับสาวใหญ่ชาวใต้ที่ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความหรูหรา  วันหนึ่งชีวิตผกผันเลยต้องย้ายไปอยู่กับน้องสาวและน้องเขยในอพาร์ตเมนท์ซอมซ่อ  ต้องผจญกับความดิบเถื่อนของน้องเขย  จนกระทั่งสูญเสียจริตในที่สุด

เรื่องนี้เป็นบทละครของ Tennessee Williams แต่แรกเริ่มเป็นละครเวที  ประกอบด้วยดารานำ 4 คนคือ Jessica Tandy แสดงเป็น Blanche De Bois, Marlon Brando แสดงเป็น Stanley น้องเขย, Kim Hunter แสดงเป็น Stella น้องสาว และ Karl Malden แสดงเป็น Mitch เพื่อนสนิทของน้องเขยที่มาหลงรัก Blanche




ความดังของละครทำให้ studio ตัดสินใจเอามาสร้างเป็นหนัง  และดึงดาราละครตัวหลักมาร่วมเล่นในบทถนัดของตัวเอง  ยกเว้นบทนำสาวชาวใต้ BDB ที่ studio ดึง Vivian Leigh มาเล่นแทน JT  ด้วยสาเหตุง่าย ๆ คือ  JT ดังแค่บนเวทีละคร  แต่ VL ดังบนจอหนังซึ่งมีอาณาเขตกว้างไกลไปทั่วประเทศมากกว่า

อย่างไรก็ตาม VL ไม่ใช่หน้าใหม่สำหรับบทนี้  เธอเคยสวมบทนี้เช่นกันในละครเวทีที่อังกฤษบ้านเกิด


ปี 1949


ตัวอย่างหนัง



หนังดังถล่มทลาย  นอกจากจะกวาดเงินแล้วยังไปอาละวาดบนเวที Oscar ด้วย  ดารานำทั้ง 4 คนได้รับการเสนอชื่อและได้จับรางวัลกันครบถ้วนยกเว้นแค่ Marlon Brando ซึ่งพลาดไปอย่างน่าเสียดายทั้ง ๆ ที่บทของเธอติดหูติดตาผู้ชมมากกว่าใคร ๆ


ฉากแหกปากร้องเรียกเมีย Stella นี้เป็นฉากอมตะของวงการบันเทิงที่มักจะนำมาล้อเลียนในโอกาสต่าง ๆ เช่น

ใน sit-com ดังสุดกู่เรื่องหนึ่ง ชื่อ Modern Family  ในตอนที่ฉายนี้ Stella เป็นหมา  ผู้ชายที่แหกปากเป็นตัวละครหนึ่งในเรื่อง เธอเป็นแต๋วที่ตลกกลิ้ง



แถม clip การแข่งขันแหกปากเรียก Stella มาให้ชมแบบขำ ๆ


 
Marlon Brando เถื่อนและหล่อสุด ๆ 


 
Vivien Leigh เริ่มเข้าวัยร่วงโรยแต่ยังมีเค้าความสวย


 
ฉากสุดท้าย  ผมดูด้วยความตลึง  การแสดงของ VL สุดยอดจริง ๆ  ทำให้นึกถึง Gloria Swanson ในฉากจบของเรื่อง Sunset Boulevard ที่เคยฝอยถึงไปแล้ว


 
ความดังของหนัง ASND จนกลายเป็นอมตะนี้  ผมว่า studio คงโล่งอกที่ตัดสินใจถูก  ส่วน JT คงเสียใจอย่างบอกไม่ถูก  อย่างไรก็ตาม  วันหนึ่งเธอก็สามารถขึ้นไปโด่งดังในวงการภาพยนตร์จนได้ (ได้ Oscar จากบทในเรื่อง Driving Miss Daisy ที่เคยเล่าไปแล้ว)

หมายเหตุ – ผมจำได้ว่าเคยมีคนเอาบทละครนี้มาสร้างเป็นละครเวทีในบ้านเราโดยใช้ชื่อว่า ‘รถรางสายนั้นชื่อปรารถนา’ หรือ ‘รถรางสายปรารถนา’ อะไรทำนองนี้


(มีต่อ)

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1019  เมื่อ 10 มี.ค. 22, 08:32

"รถรางคันนั้นชื่อปรารถนา"  ค่ะ  แปลตรงตัวจาก  A street car named desire   
ดิฉันเคยเรียนเรื่องนี้กับรศ.สดใส พันธุมโกมล  ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติไปแล้ว  สอนสนุกมาก  มีการตีความสัญลักษณ์ทุกตัวอักษร ทำให้เรื่องของเทนเนสซี วิลเลียมส์ที่น่าเบื่อที่สุดในความรู้สึกของคนอายุ 18-19  กลายเป็นเรื่องน่าสนุกไปได้

นางเอกของเรื่องชื่อบลานซ์   ดูบัวส์  เป็นอดีตลูกผู้ดีชาวใต้ที่ตกต่ำลงจนกลายเป็นโสเภณี   ต้องมาอาศัยกับน้องสาว และน้องเขย ที่เป็นกรรมกรจับกัง   บลานช์ยังยึดติดกับอดีตที่เคยหรูหราเป็นผู้ดีเก่า ทำให้น้องเชยหมั่นไส้ขนาดหนัก   เขารู้สึกว่าพี่สาวเมียเป็นภัยคุกคามเขากับเมียที่อยู่กันมาด้วยดี  ผลก็คือ..อย่างที่รู้ในเรื่อง
สัญลักษณ์ในเรื่องนี้มีเยอะค่ะ ตั้งแต่ชื่อเรื่องลงมาเลยทีเดียว    ขืนอธิบายคงต้องตั้งกระทู้ใหม่ เอาไว้แค่นี้แล้วกัน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 66 67 [68] 69 70 ... 77
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.1 วินาที กับ 19 คำสั่ง