เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 5737 ทำไมถึงบอกว่าสำเนียงสุพรรณ, สำเนียงเจรจาโขน เป็นสำเนียงหลวงในสมัยกรุงศรีอยุธยา?
เขียวนเรศ
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


 เมื่อ 31 ม.ค. 18, 12:43

เห็นมาจากซีรี่ส์เรื่องนึงที่กำลังแพร่ภาพอยู่ในขณะนี้ ฉากที่ประกาศพระบรมราชโองการ พูดด้วยสำเนียงโขน ถามจริงๆ ไม่ต้องบอกว่าเกิดทันหรือไม่ทัน แค่เอาความเป็นมนุษย์ปุถุชนเข้ามาจับ เราพูดกับแบบนั้นจริงๆรึเปล่า

           เราขอแย้งด้วยหลักฐานที่มีระบุเอาไว้ชัดๆตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ตอนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 พม่ากวาดต้อนผู้คนในกรุงศรีอยุธยาไปเกือบจะหมด เหลือไว้รั้งพระนครแค่ 2 หมื่นได้มั้ง ประชากรส่วนใหญ่กรุงศรีอยุธยาในช่วงหลังจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นต้นมา ได้มาจากการกวาดต้อนหัวเมืองเหนือ หัวเมืองมอญ เขมร และจีนเข้ามาทั้งนั้น นั่นคือ หลังจากรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรเป็นต้นมา แทบจะหาคนกรุงรุ่นดั้งเดิมไม่ได้แล้ว แล้วเรายังจะสามารถสรุปแบบกำปั้นทุบดินว่า สำเนียงโขนเป็นสำเนียงหลวงดั้งเดิมของกรุงศรีอยุธยาได้อีกหรือ แน่ใจได้อย่างไรว่าไม่ใช่สำเนียงที่เกิดการควบรวมระหว่าง ไทย ลาว มอญ เขมร ในขณะนั้น ไม่ทราบว่าท่านเหล่านั้นหรือท่านทั้งหลายที่เห็นด้วยความคิดเรื่องสำเนียงเจรจาโขนนี้ พอจะตอบข้อสงสัยเราได้บ้างไหม

          แล้วที่บอกว่าสำเนียงรัตนโกสินทร์เนี่ย ผสมสำเนียงจีน สำเนียงเจ๊ก เนี่ย มันเป็นอย่างนั้นจริงๆรึเปล่า เรามีเพื่อนที่พ่อแม่เค้า จี๊นจีน คือ พูดภาษาไทยยังไม่ชัด ใช้อั๊ว ใช้ลื้อ ม่ายล่าย อะไรประมาณนี้ ถามว่าเพื่อนเรามีสำเนียงผสมระหว่างพ่อแม่เค้า กับสำเนียงไทยรึเปล่า คำตอบคือ ไม่ เค้าก็พูดชัดถ้อยชัดคำดี แล้วเอาตรรกะอะไรมาคิดว่า สำเนียงกรุงเทพฯปัจจุบันเป็นสำเนียงผสม

          โดยส่วนตัวคิดว่าเราอย่าหลงเชื่อนักวิชาการอย่างหัวปักหัวปำ เช่น กรณีที่บอกว่า สำเนียงสุพรรณหรือสำเนียงแบบเจรจาโขน เป็นสำเนียงหลวงของราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ถามว่าท่านเหล่านั้นได้คิดรอบคอบหรือยัง มีหลักฐานเพียงพอในการมารองรับหรือไม่ เท่าที่เห็นก็เพียงแต่นั่งยันนอนยันว่าถูกเฉยๆ พอพูดบ่อยๆเข้า พูดซ้ำๆ ออกสื่อบ่อยๆ กลายเป็นน่าเชื่อถือ กลายเป็นเรื่องจริงไปซะอย่างนั้น

ตรง "เอาไจยช้วย" ที่โกษาปานเขียนเนี่ย อยากเรียนถามว่า ทราบได้อย่างไรว่า "ช้วย" ของโกษาปาน ไม่ได้อ่านเหมือน "ช่วย" ในปัจจุบัน

ถ้าสมมุติว่า สมัยอยุธยา ผันแบบ
ชวย = ชวย (ปัจจุบัน)
ช่วย = ฉ่วย (ปัจจุบัน)
ช้วย = ช่วย (ปัจจุบัน)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 31 ม.ค. 18, 12:52

ขอเอาบทพากย์โขนมาประกอบกระทู้ก่อนนะคะ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 31 ม.ค. 18, 15:27

https://www.facebook.com/History.KingdomOfSiam/photos/a.104656613019804.12631.104622813023184/181916271960504/?type=1&theater

สุจิตต์ วงษ์เทศ แห่งนิตยสารรายเดือนศิลปวัฒนธรรมเคยอธิบายไว้ว่า เสียงเหน่อสุพรรณเป็นสำเนียงในราชสำนัก อย่างน้อยก็ตั้งแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา หลักฐานที่นำมายืนยัน ก็คือเสียงพากย์โขน เพราะโขนเกิดในสมัยกรุงศรีอธุยาและต้องใช้เสียงเหน่อตามแบบฉบับสุพรรณ เท่านั้นถึงจะพากย์ได้ลงตัว สำเนียงอื่นๆไม่อาจพากย์โขนได้ไพเราะอย่าง เด็ดขาด

สำเนียงท้องถิ่นในประเทศไทยมีมากมายหลายสำเนียง ผู้ที่มีภูมิลำเนาคนละจังหวัดมักมีสำเนียงพูดที่แตกต่างกัน สำเนียงสุพรรณเป็นสำเนียง หนึ่งที่รู้จักโดยทั่วไป อาจกล่าวได้ว่าบรรดาสำเนียงต่างๆในภาษาไทย สำเนียงสุพรรณเป็นสำเนียงที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุด แต่เท่าที่ผ่านมาสำเนียง สุพรรณมักถูกกล่าวถึงในทางลบเป็นส่วนใหญ่ คือคนต่างถิ่นมักเห็นว่าสำเนียงสุพรรณเหน่อ และมักหัวเราะอย่างขบขันเมื่อได้ยินสำเนียงนี้

ผศ.ดร.ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทย์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้สนใจศึกษาค้นคว้าสำเนียง ท้องถิ่นต่างๆในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำเนียงในภาคกลาง อาจารย์กัลยามีความเห็นว่าสำเนียงสุพรรณเป็น สำเนียงที่มีความไพเราะ หาสำเนียงอื่นเปรียบเทียบได้ยาก

สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เขียนถึงสำเนียงสุพรรณไว้ในหนังสือสุพรรณบุรี 400 ปี ยุทธหัตถี ในหัวข้อเรื่องว่า คนสมัยนี้ว่า "เหน่อ" แต่คนสมัยอยุธยาว่า "สำเนียงหลวง" โดยกล่าวว่าเราไม่สามารถบอกได้อย่างแน่นอนว่าคนกรุงศรีอยุธยามีสำเนียงพูดเหมือนคนกรุงเทพหรือไม่ เพราะสมัยนั้นไม่มีเครื่องบันทึกเสียงและคน กรุงศรีอยุธยา ก็มีหลายกลุ่มหลาย เผ่าพันธ์

แต่สำเนียงหลวงในราชสำนักน่าจะใกล้เคียงกับสำเนียง เหน่อ แบบสุพรรณ เพราะสังเกตได้จาก ร่องรอยพากษ์และเจรจาโขน เป็นพยานอยู่ เหตุที่เจรจาโขนมีสำเนียงเช่นนี้ ก็เพราะราชสำนักอยุธยาพูดจาในชีวิตประจำวันด้วยสำเนียงอย่างนั้น

เมื่อโขนเป็นการละเล่นศักดิ์สิทธิ์ในราชสำนัก การสืบทอดจะต้องรักษาขนบธรรมเนียมสำคัญของสมัยโบราณเอา ไว้ให้มากที่สุด ปัจจุบันกรมศิลปากรก็ยังพากษ์และเจรจาโขนด้วยสำเนียงดั้งเดิม เป็นสำเนียงหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยา

สำเนียงสุพรรณมีเสียงวรรณยุกต์ส่วนใหญ่เป็นเสียงวรรณยุกต์เปลี่ยนระดับ จึงมีเสียงขึ้นๆลงๆทำให้เสียงเด่นขึ้น บางลักษณะมีระดับเสียงอยู่ ในช่วงสูง ทำให้สำเนียงสุพรรณ อยู่ไปในช่วงสูง จากลักษณะดังกล่าวทำให้สำเนียงสุพรรณนี้มีความไพเราะ

ไม่รู้นะ แต่สำหรับผมมองว่าเสียงเหน่ออะ น่ารักดี เป็นเอกลักษณ์ในท้องถิ่นที่ควรจะอนุรักษ์ดีกว่าดูถูกดูแคลนนะ

ปล. สำเนียงบางกอก (อย่างที่พูดทั่วประเทศปัจจุบัน) เป็น “บ้านนอก” หรือ “เหน่อ” ของยุคอยุธยานะครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมประวัติศาสตร์ไทย


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 31 ม.ค. 18, 15:39

บทความจาก นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม
 
สืบสำเนียงชาวกรุงเก่า จากเสียงเจรจาโขน และ จินดามณี

https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_7915
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 31 ม.ค. 18, 15:56

ตรง "เอาไจยช้วย" ที่โกษาปานเขียนเนี่ย อยากเรียนถามว่า ทราบได้อย่างไรว่า "ช้วย" ของโกษาปาน ไม่ได้อ่านเหมือน "ช่วย" ในปัจจุบัน

ถ้าสมมุติว่า สมัยอยุธยา ผันแบบ
ชวย = ชวย (ปัจจุบัน)
ช่วย = ฉ่วย (ปัจจุบัน)
ช้วย = ช่วย (ปัจจุบัน)


ในหนังสือจินดามณีมีตัวอย่างการผันวรรณยุกต์ เอก โท ทั้งอักษรสูง กลาง ต่ำ

อักษรสูง ๑๑ แม่นั้น คำต้นอ่านสูงแล้วลดลงไปตามที่ไม้เอกไม้โทนั้น

ฉา
     ฉ่า
          ฉ้า

อักษรเสียงกลางก้องต่ำ ๒๔ ตัวนั้น คำต้นให้อ่านเป็นกลางแล้วอ่านทุ้มลงแล้ว แล้วอ่านสูงขึ้นไป ตามไม้เอกไม้โท

          ช้า
ชา
     ช่า

เขียนตามวิธีผันปัจจุบันคือ  ชา ฉ่า ช่า/ฉ้า ช้า ฉา

ในกรณีคำตัวอย่างของคุณเขียวนเรศผันได้ดังนี้  ชวย ฉ่วย ช่วย/ฉ้วย ช้วย ฉวย

คำที่มีเสียงเดียวกันคือ ช่วย และ ฉ้วย

http://www.sac.or.th/databases/manuscripts/files/article/22/article-Chindamanee%20Book%20I.pdf
บันทึกการเข้า
เขียวนเรศ
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 31 ม.ค. 18, 17:40

ขอบพระคุณ คุณเพ็ญชมพูที่กรุณาหยิบยกวิธีการผันในจินดามณี เพื่อให้ความกระจ่างครับ
บันทึกการเข้า
แพรวพิม
อสุรผัด
*
ตอบ: 19


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 31 ม.ค. 18, 18:25

ปัจจุบันนี้ สำเนียงคนอยุธยาในเกาะเมืองไม่เหน่อแล้วค่ะ บ้านดิฉันอยู่ อ. อุทัย (ตั้งอยู่ห่างจากเกาะเมืองประมาณ 15 กม.) ก็ไม่ได้พูดเหน่อกัน แต่ที่พูดติดสำเนียงเหน่อน่าจะเป็นคนที่มาจากแถบ อ. ผักไห่ อ. บางซ้าย อ. เสนา แต่ก็ไม่ได้เหน่อมากอะไร เหน่อแค่ตรงหางเสียงเท่านั้นเอง
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 02 ก.พ. 18, 09:31

ล่าสุด,คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เขียนถึง เหน่อสุพรรณ สร้างสรรค์ความเป็นไทย สมัยอยุธยา (อีก)
ในนสพ.มติชน ฉบับวานนี้

https://www.matichon.co.th/news/825264
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 07 ก.พ. 18, 10:49

ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย แต่ผมมีข้อสังเกตว่า โขน เป็นการละเล่นหรือเป็นการแสดงชนิดหนึ่ง ซึ่งผสมผสานศิลปะหลายแขนงเข้าด้วยกัน มีทั้งการรำ การเต้น การร้อง ตลอดจนศิลปะแขนงอื่นๆ ที่ใช้สร้างชุดหรืออุปกรณ์ประกอบการแสดง

ดังนั้น หากตั้งหลักการไว้ว่า วิธีการพูดแบบโขน = วิธีการพูดของคนสุพรรณในยุคนั้น ถ้าเป็นเช่นนี้ จะมิเท่ากับว่า การแต่งกายแบบโขน = การแต่งกายของคนสุพรรณในยุคนั้น หรือ ท่าทางการเดินของตัวโขน = ท่าทางการเดินของคนสุพรรณในยุคนั้น ไปด้วยหรอกหรือครับ (ถ้าผมทำละครเกี่ยวกับราชสำนักสุพรรณบุรี แล้วใช้สมมุติฐานนี้ทำละคร ก็คงโดนยำเละไม่น้อยไปกว่าหม่อมน้อยท่านหละครับ)

หันไปมองดูศาสตร์การแสดงสาขาอื่น งิ้วของชาวจีนเกิดขึ้นในยุคไหน อันนี้ผมไม่ทราบจริงๆนะครับ ผมขอสมมุติละกันครับ สมมุติเกิดในสมัยราชวงศ์ถัง เคยมีใครสงสัยไหมครับว่า คนสมัยถังเขาจะต้องพูดกันเอื้อนๆยาวๆ แบบการร้องงิ้วนั้น การแสดงโน ของญี่ปุ่นเกิดในสมัยใดครับ อันนี้ก็แสดงว่า คนญี่ปุ่นในยุคนั้น เขาพูดกันในชีวิตประจำวัดด้วยสำเนียงแบบละครโน นั้นด้วยหรืออย่างไร   

ด้วยตรรกเดียวกัน ในอนาคต อีกหลายร้อยปีข้างหน้า อาจมีคนมาศึกษาว่า คนไทยยุคปี 2500 เศษๆ พูดกันด้วยสำเนียงอย่างไร แล้วก็มีคนไปค้นพบเพลงแร็ป เขาจึงสันนิษฐานว่า คนไทยยุคนั้น คงพูดกันเร็วปรื๋อ อย่างเพลงแร็ปนั้น

ผมว่า สมมุติฐานที่ว่า เพราะมีโขนอยู่ จึงเป็นหลักฐานว่า คนยุคนั้นพูดกันด้วยสำเนียงโขน เป็นสมมุติฐานที่ยังฟังดูแปลกๆ อยู่นะครับ     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 07 ก.พ. 18, 11:17

ต่อไปนี้คือการเดา (ภาษาวิชาการเรียกว่าสันนิษฐาน) ของดิฉันเองค่ะ
คือพยายามเดาว่าสำเนียงโขนกลายเป็นสำเนียงราชสำนักบ้านพลูหลวงและเรื่อยมาถึงชาวกรุงศรีฯตอนปลายได้อย่างไร

เดาว่า การบันทึกเอกสารต่างๆในอดีตทำให้คนรุ่นหลังรู้ว่า คนรุ่นก่อนโน้นเขาใช้ภาษาอย่างไร มีคำอะไรบ้าง คำนี้แปลว่าอะไร แตกต่างจากปัจจุบันอย่างไร     ก็ทำให้สรุปได้ว่า อ้อ  เขาเขียนกันอ่านกันแบบนี้เอง
ทีนี้ เอกสารเขียน ไม่สามารถออกเสียงได้   คนรุ่นหลังก็ไม่รู้ว่าคนสมัยก่อนโน้นเขาพูดกันสำเนียงแบบไหน
การพากย์โขน เป็นวัฒนธรรมที่ตกทอดกันมาเป็นร้อยๆปี    วัฒนธรรมการแสดงของไทยมีเอกลักษณ์แบบหนึ่งคือพยายามถ่ายทอดกันมาแบบไม่ให้ผิดเพี้ยนจากครู     ดังนั้นก็ทำให้อนุมานกันได้ว่า เสียงพากย์โขนสูงๆต่ำๆออกเสียงผิดจากสำเนียงกรุงเทพในสมัยนี้ น่าจะมีมาแต่โบราณ อย่างน้อยก็ปลายอยุธยา
ก็ทำให้อนุมานกันว่า สำเนียงพากย์โขนน่าจะมาจากสำเนียงพูดจริงๆในสมัยนั้น 

ทีนี้ก็เกิดความเห็นว่า สำเนียงที่ว่านั้นคล้ายสำเนียงสุพรรณ   
ในเมื่อถือว่าโขนเป็นการแสดงระดับสูง  ราชสำนักเล่นกัน (เห็นได้จากตอนเฉลิมพระนครรัตนโกสินทร์  ก็มีการเล่นโขนรามเกียรติกันระหว่างวังหลวงกับวังหน้า) สำเนียงสุพรรณเข้าไปอยู่ในราชสำนักได้ยังไง  อ๋อ ก็มาจากพระเพทราชานั่นไง   ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวงท่านมาจากสุพรรณนี่นา
จึงได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า ใช่แล้ว สำเนียงโขนคือสำเนียงชาวราชสำนักอยุธยา   ขุนนางทั้งหลายคงจะเจริญรอยตามพระราชนิยม  พูดสำเนียงนี้กันหมด   รวมทั้งขุนนางที่ไม่มีเชื้อสายสุพรรณหรือไม่เคยไปสุพรรณบุรีมาก่อนก็ย่อมพูดตามสำเนียงนี้อยู่ดี
จึงเกิดเป็นข้อสรุปที่นานๆเข้าก็เชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริงไปแล้ว  ว่าสำเนียงโขนคือ...อย่างที่บอกไว้ในหัวข้อเรื่องนี้น่ะละค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 07 ก.พ. 18, 11:24

ทีนี้ก็เกิดคำถามว่า ถ้าสำเนียงนี้เป็นสำเนียงราชสำนัก   ข้าราชสำนักอย่างท่านทองด้วง ท่านบุญมา ท่านบุนนาค  และอีกนับร้อยนับพันท่านที่อยู่รอดมาจนถึงสมัยตั้งกรุงรัตนโกสินทร์   รวมทั้งเจ้านายฝ่ายในที่เคยเป็นนางข้าหลวงอย่างเจ้าครอกทองอยู่  ทำไมไม่รักษาสำเนียงนี้เอาไว้  ไม่ถ่ายทอดให้ลูกหลานซึ่งก็สืบตระกูลกันมาจนถึงปัจจุบัน ได้พูดตามสำเนียงนี้กันด้วย
หายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ ถึงไม่เหลือเค้าไว้เลย
เหลือแต่เพียงโขนเท่านั้นที่อนุรักษ์ไว้
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 07 ก.พ. 18, 12:01

สำเนียงสุพรรณเข้าไปอยู่ในราชสำนักได้ยังไง  อ๋อ ก็มาจากพระเพทราชานั่นไง   ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวงท่านมาจากสุพรรณนี่นา

สำเนียงสุพรรณเข้าก่อนรัชสมัยของพระเพทราชา เนื่องด้วยราชวงศ์ที่สองที่ครองกรุงศรีอยุธยาต่อจากราชวงศ์อู่ทองคือราชวงศ์สุพรรณภูมิอันมีสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ ขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งเคยครองสุพรรณบุรีเป็นต้นราชวงศ์

ราชวงศ์สุพรรณบุรี ครองอยุธยาอยู่ ๑๙๙ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๑๓ จนถึงเสียกรุงครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๑๑๒ (เว้นช่วง พ.ศ. ๑๙๓๑ - ๑๙๕๒ ซึ่งคั่นด้วยราชวงศ์อู่ทอง)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 08 ก.พ. 18, 10:16

หมายความว่า คุณเพ็ญชมพูเห็นด้วยว่า สำเนียงสุพรรณน่าจะเข้ามาอยู่ในอยุธยาตั้งแต่ขุนหลวงพะงั่ว
ถ้าราชสำนักมีอิทธิพลให้สำเนียงชาวอยุธยาทั้งเมืองเปลี่ยนเป็นสำเนียงพูดตามถิ่นฐานเดิมของกษัตริย์   ชาวอยุธยาก็คงพูดเหน่อสุพรรณมาจนถึงเปลี่ยนราชวงศ์ เช้นพอถึงราชวงศ์สุโขทัยของพระมหาธรรมราชา ก็พูดสำเนียงสุโขทัยแทน
พอราชวงศ์ปราสาททองขึ้นมา  สำเนียงก็คงเปลี่ยนไปอีก    แล้วมาเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อถึงราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ข้อสุดท้ายได้ความคิดมาจากเสียงพากย์โขน

แต่ถ้าเป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรีละก็   สำเนียงไม่เปลี่ยนเลย  ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยก็ตาม

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 08 ก.พ. 18, 10:58

ถ้าราชสำนักมีอิทธิพลให้สำเนียงชาวอยุธยาทั้งเมืองเปลี่ยนเป็นสำเนียงพูดตามถิ่นฐานเดิมของกษัตริย์   ชาวอยุธยาก็คงพูดเหน่อสุพรรณมาจนถึงเปลี่ยนราชวงศ์ เช้นพอถึงราชวงศ์สุโขทัยของพระมหาธรรมราชา ก็พูดสำเนียงสุโขทัยแทน

สันนิษฐาน (หรือเดา) ดังนี้

เมื่อผู้มีอำนาจจากเมืองหนึ่งมาครองเมืองอีกเมืองหนึ่งคงไม่ได้มาเฉพาะราชวงศ์หรือญาติพี่น้อง ขุนหลวงพะงั่วจากสุพรรณบุรีมายึดอำนาจจากพระราเมศวรผู้ครองศรีอโยธยา ต้องใช้กำลังทหารแลผู้คนมากมาย การเคลื่อนย้ายคนสุพรรณจำนวนมากจึงเกิดขึ้น เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นการเริ่มต้นของสำเนียงสุพรรณในอยุธยา ราชวงศ์สุพรรณภูมิครองอยุธยาอยู่เกือบ ๒๐๐ ปี เพียงพอที่จะกลืนสำเนียงเดิมของอยุธยาครั้งราชวงศ์อู่ทอง  ราชวงศ์ต่อมาคือราชวงศ์สุโขทัยมีอายุ ๖๐ ปี  ราชวงศ์ปราสาททองก็มีอายุพอ ๆ กัน พอมาถึงราชวงศ์สุดท้ายบ้านพลูหลวง ต้นราชวงศ์ก็เป็นคนสุพรรณอีก สำเนียงสุพรรณจึงดำรงคงอยู่ในศรีอโยธยาด้วยเหตุฉะนี้แล
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 08 ก.พ. 18, 11:13

เป็นการเดาที่น่าสนใจมาก
ถ้าสำเนียงสุพรรณยังดำรงอยู่ในราชสำนัก ในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวงมากรุงแตก      ต่อมา ขุนนางที่รวบรวมกันเป็นกำลังให้สมเด็จพระเจ้าตากสินก็มาจากราชสำนักอยุธยาเป็นส่วนใหญ๋
สำเนียงสุพรรณยังมีมาตลอดสมัยธนบุรีหรือไม่
 15 ปีหลังจากนั้น  เมื่อมีกรุงรัตนโกสินทร์  ขุนนางก็ชุดเดียวกับที่เหลือรอดจากกรุงแตกและรับราชการในธนบุรี  สำเนียงสุพรรณน่าจะติดมาถึง    มันหายไปในยุคไหนคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.072 วินาที กับ 19 คำสั่ง