เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 33 34 [35] 36 37
  พิมพ์  
อ่าน: 70336 Dramatic license กับ ข้อเท็จจริง ในหนังอิงประวัติศาสตร์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 510  เมื่อ 20 ก.พ. 18, 16:58





บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 511  เมื่อ 20 ก.พ. 18, 17:00





บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 512  เมื่อ 20 ก.พ. 18, 18:56

ศรีอโยธยาตอนที่ 20   มีบทเจ้าฟ้าสังวาลย์   ในละครเรียกท่านว่า "หม่อมเจ้าสังวาลย์" หรือ" ท่านหญิงสังวาลย์" ตลอด     ก่อนที่ท่านจะได้เป็นหนึ่งในพระมเหสีของพระเจ้าบรมโกศ
เลยสงสัยว่า เจ้าฟ้าสังวาลย์เป็นหม่อมเจ้ามาก่อนจริงหรือ  เพราะในพงศาวดารทุกฉบับที่มีเรื่องของท่าน เรียกตรงกันว่าเจ้าฟ้าสังวาลย์

ได้คำตอบจาก facebook คุณ วิพากษ์ประวัติศาสตร์  ตามนี้ค่ะ

https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/1679656102097853

ศรีอโยธยาตอนสุดท้ายของซีซั่นแรกตัวละครใหม่คือ “เจ้าฟ้าสังวาลย์” ซึ่งปรากฏในประวัติศาสตร์ว่าทรงเป็นพระมเหสีพระองค์หนึ่งของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แต่ถูกลงอาญาจนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๒๙๘ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าทรงลักลอบคบชู้กับเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หรือ เจ้าฟ้ากุ้ง พระราชโอรสของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งทรงเป็นพระมหาอุปราชอยู่ในเวลานั้น

มีข้อสังเกตุประการหนึ่งคือศรีอโยธยาระบุว่าเจ้าฟ้าสังวาลย์เป็น “หม่อมเจ้าสังวาลย์” และมีการเรียกขานว่าว่า “ท่านหญิงสังวาลย์” หรือ “หญิงสังวาลย์” ซึ่งคำว่า “ท่านหญิง” เป็นสรรพนามของหม่อมเจ้า สอดคล้องกับข้อมูลของเพจทางการของศรีอโยธยาที่ระบุว่าเจ้าฟ้าสังวาลย์นั้นมีฐานันดรศักดิ์เดิมเป็น “หม่อมเจ้าสังวาลย์” ก่อนจะได้เป็นมเหสีของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และระบุว่า “เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมเหสีเอก จึงจะได้รับการอวยยศเป็นเจ้าฟ้า”

เรื่องนี้ไม่เคยปรากฏในหลักฐานชิ้นใดเลย และมีความขัดแย้งกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างมากเพราะเจ้าฟ้าสังวาลย์ทรงเป็นเจ้าฟ้าแต่กำเนิด ไม่ได้ทรงเป็นหม่อมเจ้ามาก่อนตามที่ศรีอโยธยานำเสนอแต่ประการใดครับ

.

แรกสุดต้องพิจารณาก่อนว่าเจ้าฟ้าสังวาลย์ทรงเป็นใครมาจากไหน

พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน และพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาได้ให้ข้อมูลไว้ตรงกันว่า พระบิดาของเจ้าฟ้าสังวาลย์มีพระนามว่า “พระองค์เจ้าดำ” พระมารดาคือ “เจ้าฟ้าเทพ” ซึ่งเป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ เจ้าฟ้าสังวาลทรงมีพี่น้องร่วมพระบิดาและพระมารดาอีก ๒ องค์คือ เจ้าฟ้าจีด (หรือ เจ้าฟ้าจิตร) กรมขุนสุรินทรสงคราม และเจ้าฟ้านิ่ม

“ขณะนั้นจ้าวฟ้าจีดเปนบุตรพระองค์จ้าวดำ ซึ่งต้องสำเรจ์โทษครั้งจ้าวฟ้าอไภย จ้าวฟ้าปรเมศร พระมานดานั้นจ้าวฟ้าเทพเป็นราชธิดาสมเดจ์พระพุทธเจ้าหลวงแผ่นดินทรงปลา เปนพี่จ้าวฟ้านิ่ม จ้าวฟ้าสังวาร ซึ่งเปนโทษครั้งกรมพระราชวังบวรนั้น”

พระองค์เจ้าดำ หรือ เจ้าพระองค์ดำ เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาบุรุษ (พระเพทราชา) ที่ประสูติแต่พระสนม
แต่ข้อความในพงศาวดารตอนนี้ระบุว่าถูกสำเร็จโทษในช่วงสงครามกลางเมืองระหว่างพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งยังทรงเป็นพระมหาอุปราชกับพระโอรสของพระเจ้าท้ายสระคือเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศวร์ที่เกิดขึ้นหลังสมเด็จพระเจ้าท้ายสระสวรรคตน่าจะมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากปรากฏในพงศาวดารตอนอื่นว่าพระองค์เจ้าดำถูกสำเร็จโทษตั้งแต่ต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ส่วนในพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ซึ่งเชื่อว่าชำระในสมัยอยุทธยาตอนปลายระบุว่าพระองค์เจ้าดำถูกสำเร็จโทษในต้นรัชกาลพระเจ้าเสือ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 513  เมื่อ 20 ก.พ. 18, 18:58

    นอกจากนี้พงศาวดารยังระบุว่า พระองค์เจ้าดำทรงได้พระองค์เจ้าแก้ว พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าเสือเป็นบาทบริจาริกา เมื่อพระองค์เจ้าดำทรงถูกสำเร็จโทษ พระองค์เจ้าแก้วซึ่งเสด็จออกผนวชเป็นพระรูปชีอยู่ที่พระตำหนักวัดดุสิต ร่วมกับกรมพระเทพามาตย์ซึ่งเป็นสมเด็จพระพันปีหลวงของพระเจ้าเสือ ไม่ได้กล่าวว่าได้เจ้าฟ้าเทพเป็นพระชายาแต่อย่างใด
     เมื่อมาพิจารณาเนื้อหาในพงศาวดารช่วงที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศรบกับเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศวร์แล้ว พบว่ามีเจ้านายพระองค์หนึ่งที่ถูกสำเร็จโทษคือ “พระองค์เจ้าแก้ว” หรือ “เจ้าพระองค์แก้ว” (คนละองค์กับพระชายาของพระองค์เจ้าดำที่กล่าวไว้ข้างต้น)

      พระองค์เจ้าแก้วเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระมหาบุรุษที่ประสูติแต่พระสนม ซึ่งพงศาวดารระบุไว้ชัดเจนว่าเป็น “พี่เขย” ของเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศวร์ ที่ตามเสด็จเจ้าฟ้าทั้งสององค์หนีออกจากพระราชวังหลังจากที่ทรงรบแพ้พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศซึ่งยังทรงเป็นพระมหาอุปราช แต่ภายหลังทรงทิ้งเจ้าฟ้าทั้งสองแล้วเอาเครื่องยศมาถวายพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พร้อมทั้งกราบทูลเป็นอุบายต่างๆ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไม่ทรงไว้วางพระทัยจึงทรงหาเหตุสำเร็จโทษในข้อหากบฏ
.
เมื่อพิจารณาจากหลักฐานที่ระบุว่าถูกสำเร็จโทษในช่วงเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าปรเมศวร์ และทรงเป็นพี่เขยของเจ้าฟ้าทั้งสององค์ (เจ้าฟ้าเทพทรงเป็นพระพี่นางของเจ้าฟ้าทั้งสอง) จึงเข้าใจได้ว่าผู้ที่เป็นพระบิดาของเจ้าฟ้าสังวาลย์ควรจะเป็นพระองค์เจ้าแก้วมากกว่า ส่วนที่พงศาวดารระบุว่าเป็นพระองค์เจ้าดำ เข้าใจว่าน่าจะชำระคลาดเคลื่อนหรือเกิดความสับสน เนื่องจากเป็นพระโอรสของสมเด็จพระมหาบุรุษเหมือนกัน

สรุปแล้ว เจ้าฟ้าสังวาลย์ทรงมีพระบิดาเป็นพระองค์เจ้าราชโอรสของสมเด็จพระเพทราชา ในขณะที่พระมารดาทรงเป็นเจ้าฟ้าราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ

เหตุที่ศรีอโยธยานำเสนอว่าเจ้าฟ้าสังวาลย์ทรงเป็น “หม่อมเจ้าสังวาลย์” มาก่อน คงเป็นด้วยผู้สร้างจะเห็นว่าตามธรรมเนียมราชตระกูลของไทยแล้ว โอรสธิดาของพระองค์เจ้าชายต้องมีฐานันดรศักดิ์ต่ำลงมาจากชั้นบิดาเป็น “หม่อมเจ้า”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 514  เมื่อ 20 ก.พ. 18, 19:01

   เรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่องธรรมเนียมราชตระกูล เพราะตามศักดิ์แล้ว เจ้าฟ้าสังวาลย์และพี่น้องทรงเป็น “เจ้าฟ้า” แต่กำเนิด

    เอกสารความแทรก "คำให้การ"เกี่ยวกับสมัยพระนครศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การขุนหลวงหาวัดได้กล่าวถึงเจ้าฟ้าสังวาลและพี่น้องของพระองค์ว่าทรงมีฐานะเป็นเจ้าฟ้าราชนัดดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทั้ง ๓ องค์

“อันพระราชนัดดาเป็นกุมารองค์หนึ่ง ชื่อเจ้าฟ้าจิต อันเจ้ากรมชื่อกรมขุนสุรินทรสงคราม ถัดมาจึ่งเจ้าฟ้าสังวาลย์แล้วถัดมาจึ่งเจ้าฟ้านิ่ม พระนัดดาทั้งบุตรีเกณฑ์เจ้าฟ้าสามองค์ด้วยกัน”

เหตุที่พระบิดาเป็นเพียงพระองค์เจ้า แต่โอรสธิดากลับได้เป็นเจ้าฟ้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชาธิบายไว้ในประกาศพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ลงวันพฤหัสบดีเดือนยี่ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก (พ.ศ. ๒๔๐๘) ว่า หากเจ้าฟ้าหญิงทรงมีพระโอรสธิดา ก็ย่อมได้เป็นเจ้าฟ้าตามอย่างพระมารดานั้น

“สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิง เมื่อได้พระสวามีเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ก็ดี เป็นกรมพระราชวังฯ ก็ดี เป็นเจ้าต่างกรมไม่มีกรมเจ้าฟ้าหรือพระองค์เจ้าก็ดี ถ้ามีบุตรบุตรีบังเกิดก็เป็นเจ้าฟ้าตามพระมารดา แต่ศักดินาต่ำเสมอพระองค์เจ้าที่เป็นพระเจ้าหลานเธอ ดังสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ มีศักดินาเสมอเพียงพระองค์เจ้าที่เป็นพระเจ้าลูกเธอ”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชาธิบายในพระราชนิพนธ์ ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม ไว้ตรงกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

“เจ้าฟ้าหญิง ซึ่งเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ ฤๅสมเด็จพระเจ้าลูกเธอก็ดี มีพระสวามีเป็นพระเจ้าแผ่นดินฤๅเป็นเจ้าฟ้า ฤๅเป็นเจ้าต่างกรมพระองค์เจ้าอย่างใด ๆ ก็ดี เมื่อเจ้าฟ้าหญิงองค์นั้นมีพระโอรสพระธิดา ก็คงเป็นเจ้าฟ้าตามพระมารดา แต่ศักดินาลดไปตามบรรดาศักดิเจ้าซึ่งเป็นพระบิดา ได้แต่ชื่อว่าเป็นเจ้าฟ้า เหมือนสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้า ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าทั้งสองพระองค์ มีพระสวามีแต่ยังไม่ได้เป็นเจ้ามีพระโอรสพระธิดา องค์ละหลายองค์ พระโอรสพระธิดานั้น ต้องนับเป็นเจ้าฟ้าทั้งสิ้นตามพระมารดา ครั้นภายหลังมาเจ้าฟ้าหญิง ซึ่งเป็นพระธิดาสมเด็จพระเจ้าพี่นางพระองค์น้อยได้เป็นพระชายาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธออยู่ มีพระโอรสสามพระองค์เป็นเจ้าฟ้าทั้งสามพระองค์ เป็นตัวอย่างดังนี้”

เหตุที่ถือศักดิ์เจ้าฟ้าตามข้างพระมารดาเหนือกว่าบิดาคงเป็นตามพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ในราชตระกูลนั้นนับถือข้างฝ่ายมารดามาก” สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคติความเชื่อที่สืบทอดมาตั้งแต่สังคมยุคดึกดำบรรพ์ที่ถือให้เพศหญิงเป็นใหญ่
.

เจ้าฟ้าประเภทนี้ถือว่าเป็น “เจ้าฟ้าชั้นตรี” เป็นเจ้าฟ้าหลานเธอของพระเจ้าแผ่นดิน อย่างในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีเจ้าฟ้าหลานเธอที่ประสูติจากพระพี่นางเธอเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์ และเจ้าฟ้าหลานเธอที่ประสูติแต่เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) กับเจ้าฟ้าบุญรอด (สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี)

อย่างไรก็ตาม เจ้าฟ้าประเภทนี้พบไม่มากนัก เนื่องจากตามธรรมเนียมแล้วเจ้าฟ้าหญิงควรจะมีพระสวามีที่ศักดิ์เสมอกันหรือสูงกว่า อย่างเช่นในกรณีของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อยังทรงเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรที่ทรงได้เจ้าฟ้าบุญรอด (สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี) เป็นพระชายานั้นทรงศักดิ์เป็นเจ้าฟ้าเสมอกัน จึงมีพระโอรสที่เป็นเจ้าฟ้าหลานหลวงทั้ง ๓ พระองค์ นอกจากนี้แทบไม่ปรากฏว่าเจ้าฟ้าหญิงจะทรงมีพระสวามี

“แต่ผู้อ่านต้องเข้าใจว่า เจ้าฟ้าหญิงซึ่งจะได้ไปเป็นเมียพระองค์เจ้าแลพระองค์เจ้าจะไปเป็นเมียหม่อมเจ้า ฤๅเป็นเมียขุนนาง ฤๅเจ้าต่างประเทศ แลเจ้าในราชตระกูล แต่มิใช่พี่น้องสนิทกันนั้น ธรรมเนียมห้ามมีไม่ได้ เพราะฉะนั้นเจ้าฟ้าแลพระองค์เจ้า จะมีพระสวามี ต้องมีได้แต่ที่เป็นพี่น้องกันสนิท แลมียศเสมอกัน ฤๅที่ชายสูงกว่าหญิง เพราะเหตุนั้นเจ้าฟ้าแลพระองค์เจ้า จึงเป็นธรรมเนียมไม่ได้มีพระสวามีแทบทั้งนั้น ถ้าจะมีก็เป็นแต่พระราชเทวีของพระเจ้าแผ่นดินบ้าง ซึ่งจะมีพระสวามีอื่นนอกจากพระเจ้าแผ่นดินนั้นน้อยนัก เพราะมักจะเป็นที่รังเกียจกันไป จึงไม่มีเจ้าฟ้าซึ่งสืบจากตระกูลพระมารดาดังเช่นว่ามาแล้ว ซึ่งจะชี้เป็นตัวอย่าง ให้เห็นได้ในปัจจุบันนี้ มีมากอยู่ก็แต่เมื่อแรกตั้งบรมราชวงศ์ เป็นเจ้าขึ้นใหม่ๆ เจ้าฟ้าโดยพระมารดาดังนี้ ก็นับว่าเป็นไบคอกเดสซี (By courtesy)”
.

กรณีของเจ้าฟ้าเทพซึ่งได้พระสวามีเป็นพระองค์เจ้าซึ่งมีฐานันดรศักดิ์ต่ำกว่าจึงเป็นกรณีที่พิเศษ ซึ่งพบได้ยาก อย่างไรก็ตามเมื่ออภิเษกกันแล้วก็ทำให้เจ้าฟ้าสังวาลย์ทรงได้เป็นเจ้าฟ้าตามพระมารดาได้แม้ว่าพระบิดาเป็นเพียงพระองค์เจ้า ดังที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า

"พระบุตร พระบุตรี ของเจ้าฟ้าก็ดี เจ้าต่างกรมก็ดี พระองค์เจ้าก็ดี ถ้ามารดาเป็นพระองค์เจ้า ลูกก็เป็นพระองค์เจ้า ดังเช่นเจ้าฟ้าหญิงมีลูกต้องเป็นเจ้าฟ้าเสมอมารดาฉะนั้น”

เจ้าฟ้าสังวาลย์จึงมีศักดิ์เป็นเจ้าฟ้าโดยกำเนิด เมื่อได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแล้วก็คงทรงเป็นเจ้าฟ้าตามเดิม

“แต่ท่าน (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)ได้ถือว่าพระเกียรติยศท่านเหมือนพระเจ้าแผ่นดินที่ปราบข้าศึกศัตรูชนะได้แผ่นดิน จึงได้ตั้งหม่อมห้ามเดิมของท่าน ๒ คนซึ่งเป็นเชื้อวงศ์ของท่านห่าง ๆ ขึ้น เป็นกรมหลวงอภัยนุชิตองค์หนึ่ง กรมหลวงพิพิธมนตรีองค์หนึ่ง องค์แรกว่าเป็นพระอัครมเหสี องค์หลังว่าเป็นพระราชมเหสี เจ้าฟ้าสังวาลย์ น้องท่านอีกองค์หนึ่งก็คงเป็นเจ้าฟ้าตามเดิม แต่ว่าเป็นมเหสี มีพระราชโอรสธิดาถึง ๑๙-๒๐ องค์ด้วยกัน เป็นเจ้าฟ้าเหมือนกันทั้งสิ้น”

ในพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง “อธิบายว่าด้วยยศเจ้านาย” ก็ทรงอธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า เจ้าฟ้าสังวาลย์และพี่น้องทรงเป็นเจ้าฟ้าหลานเธอของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 515  เมื่อ 20 ก.พ. 18, 19:03

“เจ้าฟ้ายังมีอีกชั้นหนึ่งซึ่งเป็นพระราชนัดดา คือ ถ้าพระมารดาเป็นเจ้าฟ้า พระโอรสธิดาก็เป็นเจ้าฟ้าตามอย่างพระมารดา เจ้าฟ้าชั้นนี้ปรากฏครั้งแรกในหนังสือพงศาวดารครั้งแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระ คือเจ้าฟ้าหญิงสังวาลย์และเจ้าฟ้าชายจีด พระบิดาทรงพระนามว่า พระองค์เจ้าแก้ว ลูกเธอในสมเด็จพระเพทราชา เจ้าฟ้าเทพราชธิดาของพระเจ้าท้ายสระเป็นพระมารดา ในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เป็นเจ้าฟ้าราชนัดดามาแต่เสด็จสมภพในรัชกาลที่ ๑ เพราะสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ พระบรมราชชนนีเป็นเจ้าฟ้า”

.

“เจ้าฟ้าชั้นตรี” ถือเป็นเจ้านายชั้นพระอนุวงศ์ ไม่ใช่พระบรมวงศ์ (คือเจ้าฟ้าชั้นสูงและพระองค์เจ้าชั้นลูกหลวง) แต่เป็นพระอนุวงศ์ชั้นสูงสุด มีศักดิ์เสมอด้วยพระองค์เจ้าชั้นลูกหลวง แต่เวลาพระดำเนินตามธรรมเนียมต้องตามหลังพระองค์เจ้าชั้นลูกหลวง หากได้ทรงกรมก็มีศักดิ์เสมอพระองค์เจ้าต่างกรม ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า

“เจ้าฟ้าตามธรรมเนียมเหมือนหนึ่งเจ้าฟ้าหลานเธอนับเป็นชั้นต่ำ ด้วยถึงเป็นกรมแล้ว ก็มียศอยู่เพียงเสมอพระองค์เจ้าต่างกรม แต่ความนิยมนับถือของคนทั้งปวงนั้นเป็นตามกาลตามเวลาตามผู้ชิดผู้ห่าง แลพระมารดาบริสุทธิ์น้อยในราชตระกูล จึงปรากฏเป็นเจ้าฟ้าสืบมา ไม่ได้ขาดระหว่างเลยจนถึงบัดนี้”

.

จึงควรสรุปได้ว่า เจ้าฟ้าสังวาลย์ รวมถึงพี่น้องคือเจ้าฟ้าจีดและเจ้าฟ้านิ่ม ทรงเป็นเจ้าฟ้าหลานเธอของทั้งพระเจ้าท้ายสระและพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แม้ว่าจะทรงมีพระบิดาเป็นพระองค์เจ้าก็ทรงเป็นเจ้าฟ้าโดยกำเนิดจากข้างพระราชมารดาเป็นเกณฑ์ แต่เป็นเพียงพระอนุวงศ์ มีศักดิ์เสมอพระองค์เจ้าชั้นลูกหลวงเท่านั้น

.

ส่วนที่ผู้สร้างศรีอโยธยานำเสนอในแนวทางว่าสามารถยกหม่อมเจ้าขึ้นเป็นเจ้าฟ้าเมื่อได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน ก็ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์เลยว่ามีธรรมเนียมดังกล่าว

แม้ว่าจะมีการสถาปนาพระภรรยาเจ้าถึงชั้นพระอัครมเหสีก็ไม่ได้แปลว่าพระอัครมเหสีองค์นั้นจะได้เป็นเจ้าฟ้า เพราะตามธรรมเนียมราชตระกูลโบราณเจ้าฟ้ามีเพียง ๗ ประเภทเท่านั้นคือ

๑. เมื่อแรกตั้งพระราชวงศ์ พระเจ้าแผ่นดินสามารถตั้งพี่เธอน้องเธอร่วมชนกชนนี พระราชโอรส พระราชธิดา ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าได้

เช่น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ ทรงยกสมเด็จพระพี่นางเธอ ๒ พระองค์ แลพระเจ้าลูกเธอซึ่งเป็นพระโอรสพระธิดาสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี เป็นเจ้าฟ้าทั้ง ๔ พระองค์ จะมีที่พิเศษคือสถาปนาเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาซึ่งเป็นพระอนุชาต่างพระมารดาเป็นเจ้าฟ้าด้วย
.

๒. พระราชโอรส พระราชธิดา ที่ประสูติด้วยลูกหลวงหรือพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน

เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ซึ่งเป็นพระโอรสเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นพระราชบิดา ถือเป็นเจ้าฟ้าตามสิทธิ์ (By Right)
.

๓. พระราชโอรส พระราชธิดา ที่ประสูติด้วยหลานหลวงหรือพระราชนัดดาของพระเจ้าแผ่นดิน

เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระโอรสของพระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ พระโอรสของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นเจ้าฟ้าตามสิทธิ (By right)
.

๔. พระราชโอรส พระราชธิดา ที่ประสูติด้วยธิดาเจ้าประเทศราช

เช่น เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี แต่เดิมเป็นพระองค์เจ้าราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์กับพระธิดาเจ้าเวียงจันทน์ ก็โปรดให้ยกขึ้นเป็นเจ้าฟ้า ถือเป็นเจ้าฟ้าตามสิทธิ (By right) แต่ก็ไม่เป็นที่เคารพนับถือเท่ากับเจ้าฟ้าที่พระราชมารดาเป็นพระบรมราชวงศ์เดียวกับพระเจ้าแผ่นดิน
.

๕. เจ้าซึ่งมีพระมารดาเป็นเจ้าฟ้า สามารถเป็นเจ้าฟ้าหลานเธอได้ตามพระมารดา

เช่น เจ้าฟ้าจีด เจ้าฟ้าสังวาลย์ เจ้าฟ้านิ่ม ถือเป็นเจ้าฟ้าได้ตามธรรมเนียม (By courtesy)
.

๖. โอรสธิดาของวังหน้าซึ่งมีพระมารดาเป็นเจ้า พระเจ้าแผ่นดินสามารถตั้งเป็นเจ้าฟ้าได้

ทั้งนี้เพราะตามธรรมเนียมแล้วโอรสธิดาของวังหน้าเป็นได้แค่พระองค์เจ้า นอกจากมารดาเป็นเจ้าฟ้าจึงได้เป็นเจ้าฟ้าตามข้อ ๕ แต่มีพระองค์เจ้าบางองค์ที่เชื้อวงศ์ข้างพระมารดาอยู่พอจะยกย่องให้เป็นเจ้าฟ้า ก็โปรดยกขึ้นให้เป็นเจ้าฟ้าพอเป็นเกียรติยศ ปรากฏในประวัติศาสตร์เพียง ๒ องค์คือ เจ้าฟ้าพิกุลทอง พระธิดาของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทซึ่งทรงมีพระมารดาเป็นน้องสาวของพระเจ้ากาวิละแห่งเชียงใหม่ และเจ้าฟ้าอิศรพงศ์ พระโอรสของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ พระมารดาคือพระองค์เจ้าดาราวดี พระธิดากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เดิมก็เป็นพระองค์เจ้า แต่ทรงทำราชการมาอย่างเรียบร้อยมาโดยตลอด จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ก็ทรงได้เลื่อนเป็นเจ้าฟ้า ถือเป็นเจ้าฟ้าด้วยการแต่งตั้ง (Promotion)
.

๗. เจ้าที่เป็นพระราชบุตรพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ถ้ามารดาเป็นบุตรเสนาบดีมีความชอบ ถ้าแรกตั้งพระวงศ์พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้เป็น ก็เป็นเจ้าฟ้าได้

เช่น เจ้าฟ้าสุพันธุวงษ์ หรือ เจ้าฟ้าเหม็น พระโอรสของพระเจ้ากรุงธนบุรี พระมารดาคือพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์เมื่อยังทรงเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ทรงเป็นเจ้าฟ้าแต่กำเนิด (เข้าใจว่าเพราะยกย่องพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ มีศักดิ์เสมอเจ้าต่างกรม) เป็นเจ้าฟ้าวิเศษไม่ใช่เจ้าฟ้าตามสิทธิ (By right).

จะเห็นได้ว่าไม่มีธรรมเนียมยกหม่อมเจ้าเป็นเจ้าฟ้าเมื่อทรงยกขึ้นเป็นมเหสีเลย เต็มที่ก็พบว่าสามารถยกหม่อมเจ้าขึ้นเป็นพระองค์เจ้าเท่านั้น ดังที่ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงรับพระราชนัดดาของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒ พระองค์ คือ หม่อมเจ้าโสมนัส (สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี) และ หม่อมเจ้ารำเพย (สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) มาเป็นพระราชเทวี ก็โปรดเกล้าฯ ให้ยกย่องขึ้นเป็นพระองค์เจ้าทั้งสององค์ เพื่อที่จะให้สมพระเกียรติยศเจ้าฟ้าพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน เพราะหากถือธรรมเนียมอย่างโบราณ พระมารดาเป็นเพียงหม่อมเจ้าไม่สมควรที่จะมีโอรสธิดาเป็นเจ้าฟ้า (ต่างจากสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมาที่ไม่นิยมอภิเษกกันเองในหมู่เครือญาติใกล้ชิดแล้ว แม้เป็นพระอนุวงศ์หรือชั้นสามัญชนอย่างหม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง ก็สามารถยกย่องเป็นพระภรรยาเจ้าเพื่อให้มีพระโอรสธิดาเป็นเจ้าฟ้าได้)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 516  เมื่อ 20 ก.พ. 18, 19:04

นอกจากนี้หากเจ้าฟ้าสังวาลย์ทรงเคยเป็นหม่อมเจ้าแล้วได้เป็นเจ้าฟ้าเพราะได้เป็นมเหสีจริง แล้วเหตุใดเจ้าฟ้าจีดที่ไม่ได้เป็นมเหสีของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงเป็นเจ้าฟ้าด้วย เรื่องนี้จึงไม่มีความสมเหตุสมผลแต่ประการใด กลับกลายเป็นการลดทอนฐานันดรศักดิ์ของบุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ลงมา และยังสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนให้แก่ผู้ชมทั่วไปที่ไม่ทราบธรรมเนียมราชตระกูลด้วย

ซึ่งหากผู้สร้างยอมสละเวลาศึกษาสักเล็กน้อยมากจะใช้ความเข้าใจของตนเอง เช่นเดียวกับเรื่องเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์และธรรมเนียมราชสำนักอื่นๆ ที่ศรีอโยธยาได้นำเสนอมาแล้ว ก็น่าจะเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ชมมากกว่าที่เป็นอยู่ครับ

-----------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง
- จุลจอมเกล้า, พระบาทสมเด็จพระ. ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ปกิณกะพระนิพนธ์ เล่ม 2: พระราชประวัติกษัตริย์ไทย
- ประชุมคำให้การกรุงศรีอยุธยา รวม 3 เรื่อง.-- กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2553.
- พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ผูก ๑๗ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) มัดที่ ๑
- พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม จากฐานข้อมูลดิจิตอลของ British Libary (bl.uk/manuscripts)
- พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน
- พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัดถเลขา ภาค ๒. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พิมพ์ขึ้นเปนส่วนพระกุศลทานมัย ในงานพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ (ชั้น ๓) กรมหลวงวรเสฐสุดา พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัญญา สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎจันทร์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกย์ลักษณวดี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 517  เมื่อ 20 ก.พ. 18, 19:27

ภาพข้างล่างนี้คือคำอธิบายของเพจ  SriAyodhaya Official ซึ่งเป็นของผู้จัดทำละครเรื่องนี้   คำอธิบายความหมายของเจ้าฟ้าชั้นเอกและเจ้าฟ้าชั้นโทในเรื่องนี้ เป็นความเข้าใจผิดของผู้อธิบาย 
คุณวิพากษ์ประวัติศาสตร์ได้ชี้แจงไว้ข้างล่างนี้ค่ะ

  และนี่คือคำอธิบายของเพจ official ซึ่งเห็นได้ว่าเอาฐานันดรหม่อมเจ้า พระองค์ และเจ้าฟ้า มาปะปนกันจนผิดเพี้ยนไปหมด และยังกล่าวอ้างว่ามีการแยกนับฐานันดรเป็นฝั่งพระบิดาและพระมารดาด้วย ซึ่งไม่มีธรรมเนียมดังกล่าวแต่อย่างใดครับ

   ส่วนตัว  ดิฉันคิดว่าผู้เขียนบทคงจะตั้งใจให้เกิดความถูกต้องในยศของเจ้าฟ้าสังวาลย์   จึงไปค้นพระประวัติ  เมื่อค้นพบว่าพระบิดาของท่านเป็นพระองค์เจ้า ก็เอาความเข้าใจในยุคปัจจุบันมาปรับใช้ว่า ลูกต้องเป็นหม่อมเจ้า   ถ้าอย่างนั้นทำไมพงศาวดารจึงเรียกท่านว่าเจ้าฟ้าสังวาลย์  ก็เข้าใจต่อไปว่าคงเลื่อนขึ้นทีหลัง คือได้เป็นพระมเหสี
   ที่จริงถ้าไม่คิดมาก   พงศาวดารระบุพระยศว่าเจ้าฟ้าสังวาลย์ก็ดำเนินเรื่องไปตามนั้น  เพราะในเนื้อหาก็ไม่จำเป็นต้องมีรายละเอียดถึงต้องมีฉากพระบิดาพระมารดาของท่าน   เป็นเพียงเนื้อเรื่องสั้นๆแทรกอยู่ในละคร   ถ้าทำตามนี้ อาจไม่ผิดพลาดก็ได้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 518  เมื่อ 20 ก.พ. 18, 20:16

  ในเมื่อเจ้าฟ้าสังวาลย์ทรงเป็นเจ้าฟ้าโดยกำเนิด   จะไม่เรียกสามัญชนอย่างนางข้าหลวงราตรีว่า "พี่"   ถ้านอนห้องเดียวกันก็ไม่ได้นอนอย่างเพื่อนร่วมห้อง แบบพลอยกับช้อย  แต่จะต้องนอนอย่างเจ้านายกับนางข้าหลวงรับใช้
  ต่อให้เจ้าฟ้าสังวาลเป็นหม่อมเจ้า  ฐานะของท่านกับราตรีก็ยังแตกต่างกันอยู่ดี
  บทสนทนาระหว่างราตรีกับเจ้าฟ้าสังวาล ที่ราตรีคอยเตือนคอยห้ามเหมือนบุคคลเสมอกัน  จึงเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด

  อีกข้อหนึ่งที่เห็นจะต้องขอคุณศรีสรรเพชญ์ไขข้อข้องใจให้  คือระหว่างเจ้าสามกรมกับเจ้าฟ้าสังวาล   ฝ่ายชายเป็นพระองค์เจ้าแต่เป็นพระโอรสพระเจ้าแผ่นดิน  แม่เป็นเจ้าจอมสามัญชน ส่วนฝ่ายหญิงเป็นเจ้าฟ้าแต่เป็นพระธิดาของเจ้าฟ้าหญิงพระธิดาพระเจ้าแผ่นดิน  พระบิดาเป็นพระองค์เจ้าแต่ก็เป็นพระโอรสพระเจ้าแผ่นดิน    ฝ่ายไหนสูงกว่ากัน
  เพราะฉากที่เจ้าสามกรมพบเจ้าฟ้าสังวาล  ดูแทะโลมจนน่าเกลียดมากค่ะ 
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 519  เมื่อ 20 ก.พ. 18, 21:55


  อีกข้อหนึ่งที่เห็นจะต้องขอคุณศรีสรรเพชญ์ไขข้อข้องใจให้  คือระหว่างเจ้าสามกรมกับเจ้าฟ้าสังวาล   ฝ่ายชายเป็นพระองค์เจ้าแต่เป็นพระโอรสพระเจ้าแผ่นดิน  แม่เป็นเจ้าจอมสามัญชน ส่วนฝ่ายหญิงเป็นเจ้าฟ้าแต่เป็นพระธิดาของเจ้าฟ้าหญิงพระธิดาพระเจ้าแผ่นดิน  พระบิดาเป็นพระองค์เจ้าแต่ก็เป็นพระโอรสพระเจ้าแผ่นดิน    ฝ่ายไหนสูงกว่ากัน
  เพราะฉากที่เจ้าสามกรมพบเจ้าฟ้าสังวาล  ดูแทะโลมจนน่าเกลียดมากค่ะ 

ของคุณ อ.เทาชมพู ที่นำบทความจากเพจมาลงให้นะครับ


สำหรับเรื่องที่ถามมา จากพระบรมราชาธิบายของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ และ ๕ จะได้ข้อสรุปว่า เจ้าฟ้าหลานหลวงมีศักดิ์เสมอพระองค์เจ้าลูกหลวงครับ  แต่ธรรมเนียมที่ต้องเดินเป็นลำดับกันตามยศ เจ้าฟ้าหลานหลวงเดินตามหลังพระองค์เจ้าลูกหลวงครับ

ถ้าในกรณีที่เจ้าฟ้าสังวาลย์ยังไม่เป็นมเหสีนั้นถือว่ามีศักดิ์เสมอกัน แต่ในกรณีนี้เจ้าสามกรมนั้นเป็นเจ้าต่างกรม เจ้าฟ้าสังวาลย์ไม่ได้ทรงกรม ไม่แน่ใจว่าจะมีวัตรปฏิบัติในการทำความเคารพที่ผิดแผกไปจากปกติหรือไม่ แต่สันนิษฐานว่าแตกต่างกันเฉพาะศักดินาเท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนั้นต่างฝ่ายต่างก็น่าจะทรงเสมอกันทั้งสองฝ่าย

ถ้าเทียบเจ้าสามกรมกับเจ้ากรมขุนสุรินทรสงครามซึ่งเป็นพระเชษฐาเจ้าฟ้าสังวาลย์ ถือว่าศักดิ์เสมอกันแน่นอน เพราะเจ้าฟ้าหลานหลวงที่ทรงกรมมีศักดิ์เสมอพระองค์เจ้าต่างกรม


อย่างไรก็ตามแม้ศักดิ์อาจเสมอกัน แต่เรื่องความนับถืออาจต่างกันได้ ตามที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีพระบรมราชาธิบายว่า

"เจ้าฟ้าตามธรรมเนียมเหมือนหนึ่งเจ้าฟ้าหลานเธอนับเป็นชั้นต่ำ ด้วยถึงเป็นกรมแล้ว ก็มียศอยู่เพียงเสมอพระองค์เจ้าต่างกรม แต่ความนิยมนับถือของคนทั้งปวงนั้นเป็นตามกาลตามเวลาตามผู้ชิดผู้ห่าง แลพระมารดาบริสุทธิ์น้อยในราช​ตระกูล จึงปรากฏเป็นเจ้าฟ้าสืบมา"



แต่เมื่อเจ้าฟ้าสังวาลย์ได้เลื่อนเป็นที่พระมเหสีฝ่ายซ้ายแล้ว ย่อมมีศักดิ์สูงกว่าเดิม และควรจะสูงกว่าเจ้าสามกรมครับ
บันทึกการเข้า
katathorn
อสุรผัด
*
ตอบ: 11


"ไปกับอนาคตได้ต้องไม่ลืมอดีต"


ความคิดเห็นที่ 520  เมื่อ 21 ก.พ. 18, 10:03

การสำเร็จโทษคือ... ขยิบตา



ทำให้โทษสำเร็จไปได้ งั้นคงจะไม่ผิดถ้าการจับไปขังคุกเรียกว่าสำเร็จโทษ เพราะมีโทษแค่จำคุกแล้วการนำไปขังคือการทำโทษให้สำเร็จครับ
บันทึกการเข้า

ภริยา ปรมา สขา
ภริยาเป็นเพื่อนสนิท, ภรรยาเป็นสหายอย่างยิ่ง
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 521  เมื่อ 21 ก.พ. 18, 10:43

ขอบคุณคุณศรีสรรเพชญสำหรับคำอธิบายเรื่องศักดิ์ของเจ้าสามกรมและเจ้าฟ้าสังวาลย์ค่ะ   
ถ้าถือว่าเสมอกัน (ก่อนเจ้าฟ้าสังวาลย์ได้เป็นพระมเหสีพระเจ้าบรมโกศ) เจ้าสามกรมก็ต้องให้เกียรติเจ้าฟ้าสังวาลย์มากกว่านี้  หากมีโอกาสเจอกัน

ขอบคุณคุณคทาธรเรื่องสำเร็จโทษที่ quote มา    ตั้งใจจะนำมาลงเพื่ออธิบายอยู่แล้วพอดีเลยค่ะ

ถ้าคุณคนที่ตอบในนาม  Ayodhaya  Official  เปิดกูเกิ้ลขึ้นมา พิมพ์คำว่า "สำเร็จโทษ" ลงไป ง่ายๆแบบนี้เอง  ก็จะได้คำตอบมาอย่างถูกต้อง ว่ามันหมายถึงการประหารชีวิต เป็นศัพท์ใช้สำหรับเจ้านาย   สามัญชนไม่มีสิทธิ์ใช้  ถ้าถูกตัดสินให้ตายก็เรียกว่าถูกประหารชีวิต    จะด้วยวิธีไหนก็ตามแต่
สำเร็จโทษไม่ใช่วิธีการต้องโทษ  อย่างที่คุณเดาเอาจากศัพท์คำว่าสำเร็จ

ถ้างั้นใครสมัยอยุธยาต้องโทษถูกปรับ 5 บาท  จ่ายสตางค์ชดใช้ไปแล้วก็ถือว่าถูกสำเร็จโทษแล้วซีคะ
โทษขังคุก จำเลยถูกจับเข้าคุกไปเรียบร้อยก็ถือว่าสำเร็จโทษ อย่างที่คุณคทาธรยกมา
กลายเป็นว่าไม่ว่าโทษอะไรตั้งแต่เล็กไปจนใหญ่สุด  หมายถึงสำเร็จโทษได้หมด ถ้าได้รับโทษตามตัวบทกฎหมายนั้นแล้ว
เพจนี้ใช้คำว่า Official เสียด้วย หมายความว่าให้คำตอบโดยรับรองว่ามาจากผู้สร้างละครและทีมงาน     น่าจะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์เสียก่อน ถ้าไม่แน่ใจคำตอบ   
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 522  เมื่อ 21 ก.พ. 18, 10:51

รอยอินท่านว่า

สำเร็จโทษ  (โบ; ราชา) ก. ลงโทษเจ้านายให้สิ้นชีวิต.
บันทึกการเข้า
kui045
มัจฉานุ
**
ตอบ: 94


ความคิดเห็นที่ 523  เมื่อ 22 ก.พ. 18, 13:10

ตามอ่านตั้งแต่หน้าแรกถึงหน้าสุดท้าย
ดูละครตั้งแต่ตอนแรกถึงตอนสุดท้าย

ความคิดก็คล้ายๆกัน
สร้างเพื่อเชิดชูพระเกียรติ
แต่ผลทีออกมาได้เชิดชูจริงหรือไม่

วัฒนธรรมประเพณีทั้งในราชสำนัก หรือพื้นบ้าน
ต่างผิดเพี้ยน
หลายข้อก็รับรู้เองอยู่แล้ว
หลายเรื่องก็ได้รู้เพิ่มจากกระทู้นี้
ค่อยๆอ่าน ค่อยๆลำดับความคิดเรื่องราว ค่อยๆย่อย

สุดท้ายก็เป็นละครที่สร้างตามจิตนการผู้สร้างเอง
ใช้อ้างอิงอะไรไม่ได้สักอย่าง
บันทึกการเข้า
นางมารน้อย
พาลี
****
ตอบ: 306


ทำงานแล้วค่ะ


ความคิดเห็นที่ 524  เมื่อ 23 ก.พ. 18, 15:03

ทั้งเรื่องดิฉันรอดูคนนี้คนเดียวเลยค่ะ คุณนุ่นในบทเจ้าฟ้าสังวาลย์ โอ๊ย เธอสวยจับจิตจับใจทีเดียว สวยหวานเหมือนหลุดออกมาจากภาพวาด ต้องขอบคุณอ.เทาชมพูที่กรุณาอธิบายยศเจ้าฟ้าสังวาลย์ให้เข้าใจมากขึ้นค่ะ  ยิ้ม ยิ้ม
บันทึกการเข้า

สวัสดีทุกๆท่านค่ะ
หน้า: 1 ... 33 34 [35] 36 37
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.131 วินาที กับ 20 คำสั่ง