เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 32 33 [34] 35 36 37
  พิมพ์  
อ่าน: 70337 Dramatic license กับ ข้อเท็จจริง ในหนังอิงประวัติศาสตร์
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 495  เมื่อ 16 ก.พ. 18, 18:38

ขอบคุณค่ะคุณศรีสรรเพชญ  กำลังรอคุณเข้ามาร่วมวงอยู่ทีเดียว
โดยส่วนตัว เชื่อว่าพระนามศรีสรรเพชญน่าจะเป็นคำยกย่องประกอบพระนามกษัตริย์อยุธยาหลายๆพระองค์  แล้วแต่จะจารึกในพระสุพรรณบัตร  หรือในพระราชสาส์น 
คำว่า ศรีสรรเพชญ ยังไม่ไดไปถามผู้เชี่ยวชาญทางภาษาบาลีว่าแปลว่าอะไร แต่เดาว่าเป็นคำยกย่องพระศาสดา ทำนองเดียวกับคำว่า พระทศพล หรือพระศรีศากยมุนี   ดังที่เห็นได้จากชื่อพระพุทธรูปและวัดที่ประดิษฐาน    คุณศรีสรรเพชญเอามาเป็นนามแฝง คงจะทราบความหมายดีกว่าดิฉัน


จะขอขยายความเรื่องชื่อล็อกอินผมหน่อยนะครับ

ศรี แปลว่า มิ่งขวัญ ความดีงาม
สรรเพชญ์ แปลว่า ผู้รอบรู้หรือผู้มีปัญญา

สรรเพชญ์ คำนี้มาจากภาษาสันสกฤตคือ สรฺวชฺญ หรือในภาษาบาลีคือ สพฺพญฺญ ด้วยความหมายเลยใช้เรียกแทนพระพุทธเจ้าด้วย เพราะทรงตรัสรู้ทุกสิ่งอย่าง (อาจจะเคยเห็นการเรียกพระพุทธเจ้าว่า พระสัพพัญญู หรือพระสรรเพชญ์พุทธเจ้า)



ชื่อสรรเพชญ์ ก็มีคนไทยหลายๆ คนใช้ชื่อนี้กัน บางคนสะกดเป็น สรรเพชญ  สรรเพชร ก็มี ซึ่งส่วนใหญ่ก็ตั้งในความหมายว่า "ผู้มีปัญญา" มากกว่าจะไปเปรียบว่าตนเสมอพระพุทธเจ้าครับ

ในที่นี้นำมาตั้งเป็นชื่อล็อกอินเพราะเห็นว่ามีความหมายดี ไม่ได้มีชื่อตัวว่า สรรเพชญ์ ครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 496  เมื่อ 16 ก.พ. 18, 19:04

   แต่ขอเพิ่มอีกเรื่อง คือจดหมายของบาทหลวงชื่อมองเซนเยอร์บรีโกต์ ที่ส่งไปยังต้นสังกัดที่วาติกัน  เล่าถึงการเมืองในราชสำนักฝ่ายใน    คือเจ้านายผู้หญิงที่มีอำนาจ พากันคอรัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวง    ใครที่ทำผิดถึงขั้นถูกประหาร เจ้านายสตรีเหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงเป็นแค่โทษริบทรัพย์  แล้วยึดทรัพย์มาเป็นสมบัติของตัวเองเสียดื้อๆ
    มองเซนเยอร์บรีโกต์ไม่ได้ระบุว่าเจ้านายสตรีที่ว่าคือใคร  แต่บรรยายว่ามีหลายคน   การกระทำแบบนี้ทำให้ขุนนางพากันเอาอย่าง  ฉ้อราษฎร์บังหลวงกันไม่เกรงกลัว  พระเจ้าเอกทัศเองก็ไม่ทรงทราบ   ขุนนางก็พากันเหิมเกริม ถึงขั้นขุนนางไทยที่ภูเก็ตไปปล้นเรือของอังกฤษที่ภูเก็ตแล้วซัดทอดไปยังพวกที่เข้ารีตเป็นคริสต์    ทำให้พวกเข้ารีตและบาทหลวงถูกข่มเหงรังแกสาหัส

   เรื่องเจ้านายสตรีฝายในมีอำนาจขนาดยื่นมือออกมาก้าวก่ายกับกฎหมาย ของข้าราชสำนักฝ่ายหน้า โดยพระเจ้าเอกทัศก็ไม่ทรงทราบ หรือทราบแต่ไม่จัดการ ทำให้นึกถึงเรื่องห้ามยิงปืนใหญ่เพราะหนวกหูเจ้าจอมหม่อมห้าม    มันบ่งถึงความอ่อนแอไม่เด็ดขาดในเรื่องอิสตรี     กำลังรอดูว่าตอนที่ 20 จะมีเรื่องนี้หรือไม่    
   หรือมีเจ้าจอมแขเอาไว้เป็นแพะเสียแล้ว  ก็ไม่รู้นะคะ
    


สำหรับเรื่องเจ้านายสตรีฝ่ายในเหล่านี้ก็ถูกกล่าวถึงในหลักฐานชั้นต้นของดัตช์เช่นเดียวกันครับ โดยระบุชัดเจนว่าเป็นบรรดาพระพี่นางและพระน้องนางของพระเจ้าเอกทัศนั่นเอง

โดยในหลักฐานดัตช์ระบุว่าระบบราชการของราชสำนักในช่วงหลังจบสงครามพระเจ้าอลองพญานั้นไม่ค่อยเป็นปกติ หลังจากพระเจ้าอุทุมพรออกผนวชครั้งที่สอง ขั้วอำนาจของพระเจ้าเอกทัศก็กลับมามีอำนาจในขณะที่ขั้วอำนาจของพระเจ้าอุทุมพรอ่อนแอลง ข้าราชการของพระเจ้าเอกทัศไม่สนใจที่จะเคารพกฎหมายแต่สนใจเฉพาะผลประโยชน์ของตนเอง นอกจากนี้บรรดาเจ้าหญิงที่เป็นพี่น้องกับพระเจ้าเอกทัศก็ทำให้สถานการณ์วุ่นวายมากขึ้น โดยการพร้อมจะเปลี่ยนข้างอย่างรวดเร็วมาสนับสนุนพระเจ้าเอกทัศหรือพระเจ้าอุทุมพรขึ้นกับว่าพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ไหนมีอำนาจในเวลานั้น

ดัตช์ระบุว่าเจ้าหญิงเหล่านี้เลวร้ายยิ่งกว่าเสนาบดี เพราะต่างก็พยายามที่จะครอบงำพระเจ้าเอกทัศให้อยู่ในอำนาจของตน ถึงขนาดแอบอ้างใช้พระราชอำนาจเกินกว่าเหตุในบางครั้งด้วย จนดัตช์ถึงกับกล่าวว่าทั้งเจ้าหญิงและเสนาบดีว่าต่างทำหน้าที่เป็น "พวกรีดไถ (extortionists)" ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 497  เมื่อ 16 ก.พ. 18, 19:17

ขอบคุณค่ะคุณศรีสรรเพชญ์  ชัดเจนดีทุกประเด็น
ทำให้คิดว่า ความอ่อนแอในราชสำนักทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน  ไม่ใช่เป็นสาเหตุโดยตรงของการเสียกรุง   แต่เป็นตัวเร่งให้เสียกรุงง่ายขึ้น

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 498  เมื่อ 16 ก.พ. 18, 20:50

   ภาพลักษณ์ของพระเจ้าเอกทัศดีมากในหนังสือคำให้การฯ บวกกับมีความเห็นว่า พงศาวดารและหลักฐานอื่นๆอาจไม่ค่อยยุติธรรมกับท่านนัก   เพราะมีการเมืองเข้ามาผสม ทำให้ระบายสีท่านร้ายแรงเกินจริงไป      แต่มันก็มีหลักฐานบางอย่างที่เถียงไม่ได้   ดังนี้
   1 ท่านเป็นลูกคนโต ที่พ่อมองข้ามไม่ยกตำแหน่งให้  แต่ไปเลือกลูกคนรองขึ้นมาเป็นมหาอุปราชแทน    
   เอาละ  เราจะไม่นับเรื่องที่พระเจ้าบรมโกศตรัสว่าเจ้าฟ้าเอกทัศเป็นคนโฉดเขลา   จนยกราชสมบัติให้ไม่ได้    ถือว่าคำนี้ถูกใส่สีใส่ไข่เข้ามา     แต่มันก็ไม่ได้ลบล้างความจริงว่า การที่พ่อไม่ยกให้ลูกชายคนโตแต่ไปยกให้ลูกชายคนรอง ชนิดแต่งตั้งดำรงตำแหน่งวังหน้าอย่างเปิดเผย   ไม่ใช่แค่สั่งเสียไว้ลอยๆ   เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพระเจ้าบรมโกศต้องเห็นว่าเจ้าฟ้าเอกทัศด้อยความสามารถด้วยประการใดประการหนึ่งหรือหลายประการ
   ดังนั้น ต่อให้เจ้าฟ้าเอกทัศธรรมธัมโม เดินจงกรมเป็นประจำ      มีเมตตากรุณาต่อราษฎร และขุนนางโดยทั่วไป   ก็ยังไม่พอที่พระราชบืดาจะเห็นว่าเก่งพอจะปกครองบ้านเมืองอยู่ดี
   2  ท่านไม่ปรองดองกับพระเจ้าอุทุมพร  
    สมมุติว่ามีความคิดว่า คนรุ่นหลังสาดโคลนท่านต่างหากว่าขัดแย้งกับน้อง  แย่งราชสมบัติน้อง  จริงๆแล้ว ไม่มีอะไร    พระเจ้าอุทุมพรเบื่อหน่ายทางโลก อยากแสวงหาทางธรรมมากกว่าต่างหาก     พี่ชายก็เลยเสียสละครองราชย์แทน    
    แต่ก็มีข้อเท็จจริงอยู่ว่า  เมื่อเกิดศึกอลองพญาขึ้นมานั้น    พระเจ้าอุทุมพรยอมสึกออกมา   พระเจ้าเอกทัศก็มอบหมายให้บัญชาการทัพ
     คนที่มุ่งทางหลุดพ้นจะไปนิพพานแต่แรก  แม้แต่ราชสมบัติก็ไม่ไยดี    ไม่น่าจะยอมสึกออกมารบทัพจับศึก  เพราะไม่ใช่แค่อยู่อย่างผู้ครองเรือนธรรมดาทั่วไป แต่ต้องออกมารบราฆ่าฟันผลาญชีวิตคน    ศีลห้าก็ถือได้ไม่ครบด้วยซ้ำ   แต่พระเจ้าอุทุมพรก็สึกออกมา   แสดงว่าท่านเองก็ยินยอมจะกลับมาทางโลก     พอเสร็จศึก พระเจ้าเอกทัศได้ปูนบำเหน็จน้องชายอะไรบ้าง ก็ไม่มี     ตำแหน่งอะไรก็ไม่ได้  แม้เป็นวังหน้าอย่างเก่าก็ไม่ได้เป็น  พระเจ้าอุทุมพรก็ต้องกลับไปผนวชอีกครั้ง
    ที่สำคัญ คือผนวชครั้งนี้แล้วไม่ยอมสึกออกมาอีกเลย    ราษฎรไปขอร้องอ้อนวอนกี่ครั้งท่านก็ไม่ลาผนวช  จนบ้านเมืองแตกท่านก็ไม่สึก   ยอมที่จะให้พม่าอัญเชิญไปอยู่ในเมืองของเขาดีกว่าจะหนีไปตั้งหลักใหม่  แล้วค่อยกลับมากู้บ้านเมืองอย่างกรมหมื่นเทพพิพิธ
    พี่ชายที่ปฏิบัติกับน้องชายอย่างไม่มีน้ำใจ  และน้องชายที่ปฏิบัติต่อพี่ชายอย่างไม่อาลัยไยดี   จะเรียกว่ารักใคร่กลมเกลียวกันคงไม่ได้      
     เมื่อนำมาเป็นละคร สร้างให้พี่น้องรักกัน  จึงดูไม่ลงล็อคค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 499  เมื่อ 17 ก.พ. 18, 10:33

ขอบคุณคุณหมอ SILA สำหรับค.ห. 485-6 ค่ะ

อยากจะถามคุณศรีสรรเพชญและท่านอื่นๆ ถึงชื่อ "ศรีอโยธยา"
เอาละ เราก็รู้กันว่ามีอาณาจักรโบราณเคยตั้งอยู่ในบริเวณเมืองหลวงอยุธยา  ชื่อ อโยธยาศรีรามเทพนคร อยู่ทางตะวันออกของเกาะอยุธยา   ก่อนพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนาอาณาจักรอยุธยาขึ้นมา อาณาจักรใหม่นี้ใช้ชื่อคล้ายๆว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา
ชื่ออยุธยาจึงกลายเป็นชื่อเรียกทางการของอาณาจักรนี้   ฝรั่งมังค่าเรียกตามนี้ เห็นได้จากแผนที่ของลาลูแบร์ เรียกอาณาจักรว่า  AYUTTHAYA

แม้ว่าชื่ออโยธยา หรืออโยทธา ยังไม่หายไปเสียทีเดียว พบได้ประปรายในหลักฐานบางชิ้น   แต่ก็น้อยนิด ส่วนใหญ่คือคำว่า อยุธยา    มีแต่พม่าที่ออกเสียง โอ  ไม่ใช่ อุหรืออู เรียกชาวอยุธยาว่า โยเดีย

ถ้าอย่างนั้น ทำไมละครจึงใช้ชื่อว่า ศรีอโยธยา   แทนที่จะเป็น ศรีอยุธยา


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 500  เมื่อ 17 ก.พ. 18, 11:14

ถ้าอย่างนั้น ทำไมละครจึงใช้ชื่อว่า ศรีอโยธยา แทนที่จะเป็น ศรีอยุธยา

ส่วนเมืองสยามนั้น ชาวสยามเรียกว่า ศรีโยธยา (Si-yo-thi-ya) และในคำว่า โย นั้น ต้องจีบปากออกเสียงยิ่งกว่าสระ au ของเรา ลางทีพวกเขาก็เรียกเมืองสยามว่า กรุงเทพพระมหานคร (Crung-thé -paprà-maha-nacôn)

จากหนังสือ "จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม" แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 501  เมื่อ 18 ก.พ. 18, 14:38

ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ของลาลูแบร์ มีบันทึกโน้ตและเนื้อร้องเพลงไทยเพลงหนึ่งซึ่งขึ้นต้นว่า "สายสมร" ซึ่งเป็นคำเรียกชื่อเพลงนี้ในเวลาต่อมา



อาจจะด้วยคำอธิบายเรื่องชื่อเมืองของลาลูแบร์ เป็นเหตุผลที่เพลงนี้ได้ชื่อว่า "ศรีอโยธยา" อีกชื่อหนึ่ง

เพลงศรีอโยธยาหรือศรีอยุธยา  พระเจนดุริยางค์ได้นำทำนองมาจากเพลงเก่าซึ่งมีโน้ตเพลงปรากฏในหนังสือ จดหมายเหตุลาลูแบร์  สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรียกชื่อกันว่า  เพลงสายสมร  (Siamese  Song)  เป็นเพลงสยาม  บันทึกโดยเอกอัครราชทูตลาลูแบร์ชาวฝรั่งเศส  ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานเอกสารเพลงเดียวที่มีมาแต่สมัยอยุธยาและเป็นเพลงสยามเพลงเดียวที่เหลืออยู่  ส่วนเพลงอื่น ๆ  สืบทอดกันโดยการต่อเพลง  จากคนหนึ่งไปอีกช่วงคนหนึ่ง  ไม่มีเอกสารใด ๆ

แม้ว่าเสียงเพลงจะแตกต่างกัน  เมื่อบันทึกไว้ด้วยโน้ตสากล  คนส่วนใหญ่จะอ่านเป็นทำนองสากล  เล่นด้วยเครื่องดนตรีสากล  ถ้าหากว่าอ่านด้วยบันไดเสียงไทย  เล่นด้วยเครื่องดนตรีไทย  ก็จะได้สำเนียงที่แตกต่างไปจากเสียงสากล  ซึ่งเชื่อว่าเป็นทำนองเพลงเหย่ย  ซึ่งเป็นเพลงโต้ตอบระหว่างชายหญิง  ปัจจุบันนิยมเล่นแถบกาญจนบุรี

ก่อนหน้าพระเจนดุริยางค์จะนำทำนองศรีอยุธยามาเรียบเรียงใหม่  ครูฟุสโก  (M.Fusco)  ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน  สัญชาติอิตาเลี่ยน  เป็นหัวหน้าวงดนตรีของกองดุริยางค์กองทัพเรือ ได้เรียบเรียงเพลงนี้สำหรับเปียโนมาก่อนแล้ว  ชื่อว่าเพลงพระนารายณ์หรือสรรเสริญพระนารายณ์  (Pra Narai)  ปรากฏในหนังสือ “สยามอาณาจักรแห่งช้างเผือก”  ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ.  ๑๘๙๙  ตรงกับปี พ.ศ.  ๒๔๔๒  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  ๕  ซึ่งได้เสด็จประพาสยุโรป  ได้ทรงใช้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ระลึกเผยแพร่ประเทศสยามในเวลาต่อมา

ชื่อเพลงสายสมร  เพลงสรรเสริญพระนารายณ์  เพลงศรีอยุธยา  หรือเพลงศรีอโยธยา  เพลงที่มีชื่อแตกต่างกัน  แต่เป็นเพลงที่มีทำนองเดียวกัน  ทำนองอาจจะผิดแผกไปบ้าง  ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครผู้ที่นำเอาทำนองเพลงไปเรียบเรียงอย่างไร  เพื่อวงดนตรีประเภทไหน  แต่โดยทำนองเนื้อหาแล้ว  เพลงเดียวกัน

เพลงประกอบภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก" โดย พระเจนดุริยางค์



เพลงนี้ใช้ประกอบละครของหม่อมน้อย ซึ่งใช้ชื่อเรื่องว่า "ศรีอโยธยา" อันอาจมาจากชื่อของเพลงนี้ก็เป็นได้  


บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 502  เมื่อ 18 ก.พ. 18, 18:55


อยากจะถามคุณศรีสรรเพชญและท่านอื่นๆ ถึงชื่อ "ศรีอโยธยา"
เอาละ เราก็รู้กันว่ามีอาณาจักรโบราณเคยตั้งอยู่ในบริเวณเมืองหลวงอยุธยา  ชื่อ อโยธยาศรีรามเทพนคร อยู่ทางตะวันออกของเกาะอยุธยา   ก่อนพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนาอาณาจักรอยุธยาขึ้นมา อาณาจักรใหม่นี้ใช้ชื่อคล้ายๆว่า กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา
ชื่ออยุธยาจึงกลายเป็นชื่อเรียกทางการของอาณาจักรนี้   ฝรั่งมังค่าเรียกตามนี้ เห็นได้จากแผนที่ของลาลูแบร์ เรียกอาณาจักรว่า  AYUTTHAYA

แม้ว่าชื่ออโยธยา หรืออโยทธา ยังไม่หายไปเสียทีเดียว พบได้ประปรายในหลักฐานบางชิ้น   แต่ก็น้อยนิด ส่วนใหญ่คือคำว่า อยุธยา    มีแต่พม่าที่ออกเสียง โอ  ไม่ใช่ อุหรืออู เรียกชาวอยุธยาว่า โยเดีย

ถ้าอย่างนั้น ทำไมละครจึงใช้ชื่อว่า ศรีอโยธยา   แทนที่จะเป็น ศรีอยุธยา



อย่างที่อาจารย์เทาชมพูกล่าวมาครับ "ศรีอโยธยา" นั้นพบหลักฐานน้อยมาก ส่วนใหญ่พบเป็นศิลาจารึกในสมัยอยุทธยาตอนต้นหรือช่วงก่อนเสียงกรุง พ.ศ. ๒๑๑๒ เป็นหลัก แต่ในหลักฐานอื่นๆ ที่เป็นเอกราชทางราชการเช่นสนธิสัญญา กฎหมาย พงศาวดาร ล้วนแต่สะกด "ศรีอยุทธยา" เป็นหลัก

แต่ก็น่าจะยังมีเรียก อโยธยา อยู่ประปรายบ้างเช่นวรรณกรรม อย่างที่พบในแผนที่ของสมุดภาพไตรภูมิกรุงศรีอยุธยา หมายเลข ๖ ซึ่งประเมินว่าทำขึ้นราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองถึงสมเด็จพระนารายณ์ จะเรียกชื่อกรุงว่า "ศรีโยท่ญา" ใกล้เคียงกับที่ลาลูแบร์เรียกว่า Si-yo-thi-ya (น่าจะเป็น ศรีโยธิยา) ซึ่งในไตรภูมิสมัยกรุงธนบุรีเปลี่ยนมาเรียกว่า "ศรีอยุทธยา" อย่างเอกสารอื่นๆ แต่ไม่ได้ปรากฏเรียกเป็นทางการครับ


ส่วนที่ภาพยนตร์ซีรีส์ชุดนี้เลือกใช้คำว่า "ศรีอโยธยา" ในขณะที่ตัวภาพยนตร์เองก็ใช้คำว่า "อยุธยา" เกือบตลอด ส่วนตัวผมคิดว่าไม่ได้มีความหมายอะไรพิเศษนอกจากให้ฟังดูแล้วอาจจะไพเราะกว่าหรือไม่ธรรมดาจนเกินไปครับ





บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 503  เมื่อ 19 ก.พ. 18, 09:51

ขออนุญาตครับ
แผนที่นี้ ทิศเหนือคือด้านซ้ายมือใช่ไหมครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 504  เมื่อ 19 ก.พ. 18, 15:31

คืนนี้ ศรีอโยธยาจบภาคแรก      ได้ข่าวว่านำเสนอตอนความรักของเจ้าฟ้ากุ้งและเจ้าฟ้าสังวาล   
ถ้าจริง  ก็ยังไม่ถึงตอนพระเจ้ามังระเตรียมทำศึกกับอยุธยา 
ชีวิตตัวละครเอกทุกตัวก็ยังค้างอยู่      พระยาตากสินยังอยู่ที่เมืองตาก   หลวงยกกระบัตรยังอยู่ที่ราชบุรี     รักสามเส้าของพิมาน เจ้าฟ้าสุทัศน์และบุษบาบรรณก็ยังคาราคาซัง      ทั้งหมดยังอยู่ในพาร์ทอดีต  ส่วนพาร์ทปัจจุบันก็ยังไม่มีอะไรขยับเขยื้อนไปจากสามสี่ตอนที่ผ่านมา
บันทึกการเข้า
cinephile
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 505  เมื่อ 19 ก.พ. 18, 19:29

จะได้ดูภาคสองมั้ยครับคุณหญิง
ตอนสงครามเสียกรุงจะแต่งตัวงามๆ สวมมงกุฏก็คงจะดูแปลกๆ นะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 506  เมื่อ 19 ก.พ. 18, 19:42

ต้องรอดูกันค่ะ ว่าจะมีโอกาสได้ดูภาค 2 หรือไม่
ถ้ายังยึด Dramatic license จนจบเรื่อง   ก็ต้องนึกว่าพระเจ้าทรงธรรมยังสวมเครื่องทรง มีพระมหามงกุฎขณะตกปลาได้  พระเจ้าเอกทัศก็ึคงจะแต่งองค์เต็มยศตอนหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสียกรุงได้ ไม่แปลกค่ะ
บันทึกการเข้า
กงซุนต้าเหนียง
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 507  เมื่อ 19 ก.พ. 18, 22:03

สรุปคือแบ่งภาคโดยอาศัยสงครามครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2

ไม่เกี่ยวกับเนื้อหา ซึ่งภาค 1 ทั้งภาคก็ยังจับใจความไม่เป็นเรื่องเป็นราวอะไร

ป.ล. ถ้าทีมงานมาอ่านเจอ อยากจะบอกว่าดิฉันดูนะคะ ถึงบ่น  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 508  เมื่อ 19 ก.พ. 18, 22:19

จบภาค 1 แบบค้างไว้ทุกประเด็น ฮืม ฮืม ฮืม
ถ้าละครเรื่องนี้เป็นทางรถไฟ   การรถไฟฯสร้างรางให้แล่นขนานกันไปหลายสายมากค่ะ  แล้วยังไม่หยุดที่สถานีไหนสักสถานีเดียว  อย่าว่าแต่จะดูปลายทางเลยค่ะ

เจ้าฟ้าสังวาลกับเจ้าฟ้ากุ้งยังไม่ทันจะมีบทกันเลย  จบแล้ว?
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 509  เมื่อ 20 ก.พ. 18, 08:08

อวสาน  ฮืม


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 32 33 [34] 35 36 37
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.134 วินาที กับ 20 คำสั่ง