เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 28 29 [30] 31 32 ... 37
  พิมพ์  
อ่าน: 70940 Dramatic license กับ ข้อเท็จจริง ในหนังอิงประวัติศาสตร์
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 435  เมื่อ 31 ม.ค. 18, 18:06


ศรีอโยธยา ของหม่อมน้อย ทันสมัยจริงๆ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 436  เมื่อ 31 ม.ค. 18, 19:47

หากลองเทียบกับการเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทในรัชสมัยพระเจ้าเสือเมื่อจุลศักราช ๑๐๖๙ (พ.ศ. ๒๒๕๐) ซึ่งปรากฏเป็นจดหมายเหตุอยู่ในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่ชำระในสมัยรัชกาลที่ ๑ น่าจะเห็นรายละเอียดของประเพณีการนมัสการพระพุทธบาทในสมัยกรุงเก่าได้ชัดเจนซึ่งมีความแตกต่างกับศรีอโยธยาพอสมควร ดังนี้ครับ (ที่ตัวหนาไว้เป็นช่วงที่ตรงกับเหตุการณ์ในศรีอโยธยา)


        "ครั้นณวันพฤหัสบดีเดือน ๓ แรม ๕ ค่ำ ปีขาลนพศกเพลาตี ๑๑ ทุ่ม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรือพระที่นั่งกิ่ง เรือพยุหยาตราข้าละอองทั้งปวงพร้อมตามอย่าง เสด็จประทับพระตำหนักท่าเจ้าสนุก ดารัสสั่งให้ปลูกสะพานเรือกข้ามแม่น้ำสำหรับให้ช้างม้าเดินได้ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จประทับพระตำหนักโคกมะนาว

         ครั้นเพลาตี ๑๑ ทุ่มได้มหาพิชัยดิถีศุภวารฤกษ์ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงราชวิภูษณาลังกาภรณ์ ประกอบแก้วกาญจนมณีศรีอร่ามเรืองวิโรจน์ระยับ พระองค์เสด็จทรงพระที่นั่งกระโจมทองสองแถววิถี มีจามรมาศดาษดาไปด้วยบังสุริยมยุรฉัตร เครื่องสูง เชรงแซรงไสว พลดาบดั้งตั้งตาริ้วประกวดกาย พลพยุหขยายระยะธงชัยฉาน เสียงก้องโกลาหล ทั้งเสียงพลรถาชาติพาชีราชบรพล ก็ขี่ขับกุญชรมโนมัยไปหน้า แล้วอยู่หลัง คับคั่งพนัสเนินแนววิถี ธุลีเคลื่อนคลบตลบอรัญวาส เสด็จพยุหยาตรา

         พอรุ่งสว่างแสง ทินกรโอภาส ถึงพระตำหนักท้ายสระยอ เสด็จประทับเกย จึงทรงพระกุญชรพลายจอมจักรพาฬ ติดน้ำมันหน้าหลัง พระมหานุภาพ ทำท้ายพระคชธาร เสด็จทรงคอ พระหัตถ์ทรงพระแสงขอพลพ่าย พระคชาธารกระหึ่มมันปั่นป่วน เดินส่ายหงายหน้าขวางตัวไปมา ช้างม้าแลพลเดินทั้งนั้นมิอาจเข้าใกล้ได้ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็ทรงขับพระคชาธารมาเถิงตรงหน้าลานพระเจ้า ทรงรำแสง ๓ เที่ยวเป็นพุทธบูชาแล้ว ตรัสเรียกนายช้างเข้ามาผัดพานบูชาพระพุทธบาทลักษณ์เจ้าถ้วน ๓ กลับแล้วยอพระกรประชุมทศนัขสโมธานกับพระเศียร กราบถวายนมัสการลงเหนือตระพองพระคชาธาร ถวายวันทนะประณามแล้วก็ขับพระคชาธารไปสู่พระตำหนักธารเกษม ฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จประทับพระตำหนักสวนมะลิทางประเทียบ ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานทำราชวิถีทางเสด็จ แต่พระตำหนักธารเกษมจนถึงลานพระพุทธบาท ให้ปราศจากหลักตอลุ่มดอน แล้วให้เอาน้ำประพรมทุบตีมิให้ผงธุลีละอองฟุ้งขึ้นได้ กรมพระนครบาลกับขุนโขลนก็ทำตามรับสั่ง ครั้นเพลาเช้าให้เครื่องเล่นสรัพทุกสิ่งกรม สมโภชขึ้น พร้อมกันเป็นพุทธชา

        ครั้นเพลาบ่าย ๓ โมง เสด็จทรงช้างพระที่นั่งจำลองพุดตาลทอง นายทรงบาศควาญท้ายพระที่นั่ง อภิรม กันภิรม ๗ ชั้น หน้า ๕ คู่ หลัง ๕ คู่ บังพระสุริย แลพัชนีทองโบกกันผงลี แต่บรรดาเกณฑ์แห่ในเครื่องสูงกระบวนต้นเชือก ใส่กางเกงสนับเพลา เสื้อสักกระหลาดหักทองขวาง บ้างก็ปักทองประดับกระจก บ้างนุ่งผ้า ปักลายต่างๆ กัน ใส่เสื้อครุย ใส่พอกเกี้ยวปักดอกไม้ไหวทองคำ

        แลพระมหาเทพ พระมหามนตรี สะพายแล่งกระบี่บั้งทอง ยุดช้างพระที่นั่ง แห่ซ้ายแห่ขวา แลหลวงราชรินทร์ หลวงอินทรเดช ขัด แล่งดาบแห่ช้างเท้าหลังช้างพระที่นั่งซ้ายขวา มีจหมื่นมหาดเล็ก หุ้มแพรตัวสีระ ขัดแสงดาบด้ามงาซ่นทองปลอกทอง ฝักดาบนั้น หุ้มแพรกำมะหยี่ฝักงอนกระบี่ เดินเป็นคู่กันทั้งซ้ายขวา แห่หน้าช้าง ในเครื่องสูง ๕ คู่ ตำรวจวังซ้ายขวา ขัดแล่งดาบซ่นทองแห่ใน เครื่องสูง ๕ คู่ แห่หน้าเครื่องสูงออกไปนั้น พระอินทรเทพ พระพิเรนทรเทพ ตำรวจใหญ่ พระวิสูตรโยธามาตย์ พระราชโยธาเทพทหารในหลวง พระนพบริรักษ์ พระสุริยภักดี สนม หมื่นราชธน หมื่นราชมาศ ตำรวจหน้า หมื่นทิพรักษา หมื่นทิพเสนา ตำรวจหลังขนัดแตรคช แตรงอน สังข์ ขนัดบุดาษ ตำรวจใน ตำรวจใหญ่ แขนลายถือทวนขัดแล่งดาบทิพบั้งทอง บั้งนาก บั้งเงิน ขนัดแล่งใน ถือปืนคาบศิลา แห่ซ้ายเป็นคู่ ๑๐ คู่ ขวาเป็นคู่ ๑๐ คู่ มีธงชายประจำหน้าหมวด ๑ ขนัดหอกคอทอง ทหารกองในซ้าย ๑๐ คู่ ขวา ๑๐ คู่ มีธงชายประจำหน้าหมวด ๑ ขนัดอาษามะลายู โพกผ้าครีบครุยทอง นุ่งผ้าลอยชาย ใส่เสื้อศรีบางเพียงบั้นเอว คาดปั้น เหน่งทองเหน็บกฤชแบกหอกคู่ แห่ซ้าย ๑๐ คู่ ขวา ๑๐ คู่ มีธงชายประจำหน้าหมวด ๑ ขนัดอาษาจามใส่หมวก รูปกรลาปักทอง นุ่งผ้าลอยชาย ใส่เสื้อคาดปั้นเหน่งเหน็บกฤช แบกหอกซัดคนละคู่ ซ้าย ๑๐ ขวา ๑๐ มีธงชายแห่ประจำหน้าหมวด ซ้าย ๑ ขวา ๑ ขนัด อาษาญี่ปุ่น ห่มเสื้อลายพิมพ์กรอมหัวเข้าง้าว ซ้าย ๑๐ คู่ ขวา ๑๐ คู่ มีธงชายประจำหน้าหมวด ซ้าย ๑ ขวา ๑ ขนัดมอญอาษาถือดาบ ๒ มือ ซ้าย ๑๐ คู่ ขวา ๑๐ คู มีธงชายประจำหน้าหมวดซ้าย ๑ ขวา ๑ ขนัดปี่กลองชะนะ ๒๐ คู่ แลขนัดใส่เสื้อแดงหมวกลายนำาทอง ถือแล่นซัดกับเขนทอง แหลนซัดกับเขนทอง ซ้าย ๑๐ คู่ ขวา ๑๐ คู่ มีธงชายแห่หน้าประจำหมวด ซ้าย ๑ ขวา ๑ ขนัดทวนจามจุรี กับโล่ห์ทอง ซ้าย ๑๐ คู่ ขวา ๑๐ คู่ มีธงแห่ประจำหมวดซ้าย ๑ ขวา ๑ ขนัดธนูหางไก่คอนกระบอกลายทองใส่ลูกธนู ซ้าย ๑๐ คู่ ขวา ๑๐ คู่ มีธงแห่ประจำหน้าหมวด ซ้าย ๑ ขวา ๑ ขนัด ดาบดั้งทอง ซ้าย ๑๐ คู่ ขวา ๑๐ คู่ มีธงชายแห่ประจำหน้าหมวดซ้าย ๑ ขวา ๑ ขนัด ปืนนกโพรก ซ้าย ๑๐ คู่ ขวา ๑๐ คู่ มีธงแห่ประจำหน้าหมวด ซ้าย ๑ ขวา ๑ ถึงปี่กลองไทยใหญ่สำรับ ๑ และขนัดช้างตั้ง ๑๐ ช้างพังอธิคชแทรก ๑๒ เชือก ช้างดั้งตั้งสัประคับจำลองแดง มีกระจังท้าย มีแล้ว ซ้ายชวา ปักหางนกยูงซ้ายขวา กรมช้างนั้นใส่เสื้อสักกระหลาดแดง ขวา ๕ เชือก ใส่เสื้อสักกระหลาดเขียว ซ้าย ๕ เชือก ใส่หมวกเสนากุฎนั่งบนสัประคับ ถือธงชาย แขวนโคมดวงยง แลคอช้างดั้งทั้ง ๑๐ ตัวนั้น ผูกกระดิ่งแขวนคอ ทุกตัว แลช้างพังเป็นช้างกันนั้น เชือกบาศผูกห้อยหลังข้างละขด ทุกตัว หมู่ทนายปืนกลางช้าง ถือปืนนั่งบนหลังช้างกันทุกตัว แห่ ไปหน้าช้างดั้งหลังช้างกัน สลับกันไปจนสุดช้างดั้งทอง ขนัดม้าแซง โรงใน ขัดแล่งดาบขี่ม้าถือทวนทอง ซ้าย ๑๐ คู่ ขวา ๑๐ คู่ ถือ ธงชายบนหลังม้าประจำหน้าหมวด ๑ ขนัดม้าแซงจีนฮ่อ นุ่งกางเกงห่ม เสื้อแพรแดงแพรเขียวต่างกัน แพรราชคดหนังไก่แดง โพกศีร์ษะถือเกาทัณฑ์ขี่ม้า ซ้าย ๑๐ ขวา ๑๐ ถือธงบนหลังม้าประจำหมวด ๑ ปี่กลองมะลายู ขนัดแขกเทศ โพกหัวนุ่งกางเกงใส่เสื้อขาวเหน็บตรี ถือปืนสั้นขี่ม้า ซ้าย ๑๐ ขวา ๑๐ ถือธงบนหลังม้าประจำหมวด ๑๒ สำรับแลแซงนอกขัดแล่งดาบ ถือธงแห่สุดปลายเชือก เลี้ยว เต้าปูนจะมาหน้าพระลานพระ ซ้าย ๕ ขวา ๕ ตัวขุนโขลนไขน้ำ อ่างแก้วบนเชิงเขา ลงมาพุขึ้นในอ่างแก้วน้อย หน้าเกณฑ์แห่รับพระราชทาน อนึ่งทองพระบรมโกศ ทำรูปเงิน ๒ ไพใส่ลูกมะนาวแขวนต้นกัลปพฤกษ์ ๔ ต้น หน้าลานพระ

         ครั้นเสด็จลงมาถึงลานพระแล้ว เสด็จลงจากช้างพระที่นั่งเข้าพลับพลาเปลื้องเครื่องทรง ฝ่ายประเทียบสมเด็จพระมเหษีทรงพระวอทองปิดทองเครื่องสูง ๕ ชั้น แห่หน้าแห่หลัง พระวอซ้ายพระวอขวาคู่ แลเจ้ากรมปลัดกรมนายเวรปลัดเวรขอเฝ้า ใส่กางเกงสนับเพลา นุ่งสมปักลาย ใส่พอก เสื้อครุย ขัดแล่งดาบแห่ซ้ายขวาหน้าพระวอ ๔๐ คู่ บอโทนฝีพาย แบกหอกถือคบเพลิง แห่ปลายเชือกซ้าย ๕๐ คู่ ขวา ๕๐ คู่ พระประเทียบเสด็จมาทางสวนมะลิ ถึงลานพระแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นบันไดนากหน้าพระพุทธบาท เถิงชั้นสุดปลายบันไดแล้วโบกพระหัตถ์ แลขุนหมื่นพนักงานซึ่งอยู่ บนต้นกัลปพฤกษ์ต้นละ ๔ คนนั้น กราบถวายบังคมลุกขึ้นทิ้งทาน

         ครั้นเพลาย่ำฆ้องค่ำ จุดพะเยียมาศแจ่มดวงผะกาถวายพระพุทธบาทและธาดอกไม้เพลิง ๘ สธา ๒ จีนแลพลุ ปะทัด ไฟพะเนียงน้อย ไฟพะเนียงใหญ่ ครั้นจุดพะเยียบูชาแล้ว เสด็จทรงพระที่นั่ง สุวรรณปฤษฎางค์กระโจมทอง แลทนายคบจุดคบเพลิง ทนายโคม ดวงบนหลังช้าง แห่เสด็จกลับขึ้นพระตำหนักท่าเกษม และครั้นเพลาบ่ายโมงหนึ่ง พนักงานไขน้ำธารทองแดงไหลเข้ามาตามท้องธาร ระยะทางแต่ธารทองแดงเข้ามาถึงวังธารในระเนียดพระตำหนัก ท่าเกดนั้น ๕๐ เส้น ครั้นสั่งแล้ว บ่าย ๓ โมงเสด็จมานมัสการทำพุทธบูชาพระพุทธทุกบาทวัน

     ครั้นสมโภชครบ ๗ วัน ๗ คืน เสด็จ มานมัสการลาพระพุทธบาทแล้ว เสด็จกลับยังกรุงเทพมหานคร"



โดยปกติแล้วการเสด็จขึ้นพระพุทธบาทของพระเจ้าแผ่นดิน จะมีการสร้างพลับพลาเปลื้องเครื่องทรงก่อนเสด็จขึ้นมณฑปพระพุทธบาทให้เรียบร้อบก่อนจึงจะเสด็จขึ้น แต่ในศรีอโยธยากลับเปลื้องเครื่องทรงภายในมณฑปพระพุทธบาทเลย ซึ่งน่าจะไม่เป็นการเหมาะสมเท่าไหร่นัก รู้สึกเหมือนกับเป็นการไม่เคารพสถานที่ครับ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 437  เมื่อ 31 ม.ค. 18, 21:24

เดาว่าในเมืองโบราณ มีมณฑปพระพุทธบาท  แต่ไม่มีพลับพลาเปลื้องเครื่องทรง    จะสร้างใหม่ก็ทำไม่ได้ ณ สถานที่นั้น  จะแยกฉากต่างหาก  ก็คงไม่สะดวกที่จะสร้างใหม่
เลยให้เปลื้องกันบนมณฑปเสียเลย

ขอเพิ่มอีกข้อก็คือ  ดูมาถึงตอนนี้   เจ้าฟ้าสุทัศน์กลายเป็นตัวละครเอกไปแล้ว    ถูกเติมเสริมแต่งบทจากพระองค์เจ้าสุทัศน์ที่ไม่มีบทบาทอะไรในอยุธยาตอนปลาย มาเป็นบุคคลสำคัญในราชวงศ์บ้านพลูหลวง กลายเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลองค์สุดท้าย  ไม่ใช่เจ้าฟ้าอุทุมพรตามหลักฐานที่มีมา
ในเมื่อขยายใหญ่ ก็พลอยทำให้ต้องมีฉากหลายฉากตามมาเช่นนั่งใต้พระมหาเศวตฉัตรและฉากพระพุทธบาท  นอกจากมีข้อผิดผลาดให้วิจารณ์ได้อีกหลายข้อ  ยังไม่ได้มีผลต่อแกนหลักของเรื่องที่อ้างคือเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ในอดีตที่มีพระองค์จริง
พระยาตากและหลวงยกกระบัตรนั้นหายไปเลย   ไม่รู้จะได้กลับมามีบทบาทอีกในตอนที่เท่าไหร่

เจ้าฟ้าสุทัศน์ในละคร เดาว่าตายไปตั้งแต่เสียกรุง   แล้วกลับชาติมาเกิดเป็นดารานักร้อง    ชิงรักหักสวาทกับพระเอก เป็นกรณีหนึ่งหญิงสองชายทั้งชาติก่อนชาตินี้
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 438  เมื่อ 02 ก.พ. 18, 17:50


ถึงเวลาจะผ่านไป ประตูชัยแห่งศรีอโยธยา ยังเหมือนเดิม

ปล. ในวันเดียวกันถ่ายทำ ตอนที่ 14 ก่อนตอนที่ 4


บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 439  เมื่อ 02 ก.พ. 18, 18:20


ใช้ดาราฝรั่งคุ้มค่า



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12602



ความคิดเห็นที่ 440  เมื่อ 02 ก.พ. 18, 18:21

^
เดจาวูของเจ้าฟ้าสุทัศน์  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 441  เมื่อ 02 ก.พ. 18, 18:33

เห็นภาพพระเจ้าเอกทัศน์ทรงพระมหามงกุฎทรงพระดำเนินดังในภาพข้างบนแล้ว  ยิ่งตอกย้ำความไม่รู้ของซีรีย์นี้จริงๆ  เพราะตามพระราชประเพณี
พระมหากษัตริย์จะทรงพระมหามงกุฎเฉพาะแต่เวลาเสด็จสถิตเหนือพระราชบัลลังก์เท่านั้น  เพราะพระมหาพิชัยมงกุฎนั้นน้ำหนักมาก  เวลาเสด็จ
โดยพระราชยานทั้งทางสถลมารคและชลมารคจะทรงพระมหากฐิน (พระมหามงกุฎมียี่ก่าประดับ) ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่า  เมื่อเสด็จลงจากพระราชบัลลังก์
หรือจากพระราชยานก็จะทรงเปลื้องพระมหามงกุฎไม่ทรงพระมหามงกุฎเวลาทรงพระดำเนิน  หากจะทรงค้องพระดำเนินต่อไปก็จะทรงพระมาลาเส้าสูงหรือ
พระมาลาเส้าสะเทิ้น  และเวลาเสด็จพระราชดำเนินไปที่ใดๆ นอกจากเขตพระราชฐานชั้นในหรือในพระอาราม  มีพระราชประเพณีเสด็จโดยพระราชยาน
หรือพระราชพาหนะอื่นๆ เช่น ช้าง ม้า หรือเรือพระที่นั่ง  จะทรงพระดำเนินด้วยพระบาทก็แต่เฉพาะในเขตพระราชฐานชั้นในหรือในพระอารามเท่านั้น 
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 442  เมื่อ 02 ก.พ. 18, 20:07

อันนี้ของร่วมบ่นนิดหนึ่ง คือไม่อยากจะว่าอะไรคนออกแบบเสื้อผ้าหรอกนะดอกนะ แต่ฉากนี้ ดูดู๋นางสังข์แต่งตัวอะไรมาเข้าเฝ้า เอาเสื้อคลุมพวกญี่ปุ่นมาคลุมข้าพอทำเนา แต่เอาชุดชั้นในแบบคนจีนมาใส่อวดนะเหลือจะรับ

ชุดแบบนี้ภาษาจีนหลวงเขาเรียกตู้โต่ว 肚兜(dù dōu )บ้างก็เรียกโต่วตู้ มีแค่เด็กเล็กกับผู้หญิงสาวจึงจะใส่กัน เด็กเล็กทารกก็ใส่พอปิดที่อาย โตมาก็ใส่เสื้อผ้า ปักลายเสื้อ
เป็นรูปเสือ รูปนิทาน เป็นทำนองลายมงคลให้คุ้มกันเด็ก

ส่วนพวกสาวๆเขาใส่กันเป็นชุดชั้นในก่อนจะห่มเสื้อกันอีกที ปรกติก็มีสีแดงเป็นพื้น ลายปักถ้าไม่ใช่ดอกไม้มงคล ก็เป็นพวกเรื่องงิ้วรักๆใคร่ๆ หรือลายของมงคลแทนความรัก ความหมายก็คือให้คุ้มครองตน มีลูกมีหลานมากๆ และให้สมหวังในรัก สามีรักหลง

แล้วรู้ไหม หญิงจีนเขาเขาปักลายนี้เขาเอาให้ใครดู มีแต่สามีเขานั้นแหละให้ดูได้ ปรกติใส่เสื้อคลุมทับมิดชิดตลอด มีแค่สามีหรือลูกอ่อนเท่านั้นจะเห็นหญิงใส่ชุดชั้นในได้

แล้วนี้พระกำนัลนารีใส่เข้าเฝ้า ลายดอกบัว(莲花)ที่หมายความว่ามีลูกมากๆ (连生贵子)

รึนางสังข์จะคิดสมบัติบ้าอะไร


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 443  เมื่อ 02 ก.พ. 18, 20:47


รวมทั้งมีบทมหาดเล็กเอามือไปช่วยถอดพระมหาพิชัยมงกุฎให้พระเจ้าเอกทัศ   ถูกหัวถูกหูพระเจ้าเอกทัศกันไม่สะทกสะท้านเลย



ข้อนี้ผมเองก็ติดใจตั้งแต่ตอนแรกที่มีฉากตัวละครคุณทองด้วงไปถอดพระมหาพิชัยมงกุฎให้พระเจ้าเอกทัศแล้วครับ

แต่ว่าเมื่ออาทิตย์ก่อนผมลองไปอ่านในจดหมายเหตุร่วมสมัยของชาวฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ถ้าจำไม่ผิดเป็นหนังสือเรื่อง "ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมือง แห่งราชอาณาจักรสยาม" ของ นิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise) ได้อ้างว่ามีบุคคลกลุ่มเดียวที่สามารถแตะต้องพระวรกายของพระเจ้าแผ่นดินได้อย่างใกล้ชิด นั่นคือภูษามาลาที่ทำหน้าที่แต่งฉลองพระองค์ ซึ่งยังระบุด้วยว่ามีสิทธิพิเศษสามารถแตะต้องพระเศียรของพระเจ้าแผ่นดินได้ครับ

ถ้าตัวผู้บันทึกไม่ได้เข้าใจคลาดเคลื่อน อาจเป็นไปได้ว่าธรรมเนียมเมื่อครั้งกรุงเก่าอาจมีข้อปฏิบัติบางอย่างที่แตกต่างจากในปัจจุบันครับ

พอดีตอนนี้หนังสือไม่ได้อยู่ที่ตัว เดี๋ยวพอได้มาแล้วจะคัดลอกเนื้อหาเต็มๆ มาให้อ่านกันนะครับ


ขอแก้ข้อมูลนิดหน่อยนะครับ พอดีกลับมาเช็คแล้ว พบว่าจำผิด จริงๆ แล้วเรื่องข้อมูลนี้หนังสือ "จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม" ไม่ใช่จดหมายของนิโกลาส์ แชรแวส และเนื้อหาระบุว่าสัมผัสได้แต่พระมาลาเท่านั้น ไม่สามารถสวมพระเศียรให้พระเจ้าแผ่นดินได้ ต้องขออภัยในความผิดพลาดด้วยนะครับ

ลา ลูแบร์ ได้บรรยายไว้ดังต่อไปนี้


"๑๑. ว่าด้วยกรมภูษามาลา

       ข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วว่า พนักงานผู้หญิงในพระบรมมหาราชวังเป็นผู้แต่งพระองค์ทรงเครื่องให้แก่พระมหากษัตริย์ แต่พวกนางไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับเครื่องภูษามาลา มีเจ้าพนักงานในการนี้โดยเฉพาะต่างหาก (ที่เป็นผู้ชาย) คนที่มีความสำคัญที่สุดคือผู้ที่จับต้องพระมาลาได้ แม้จะมิได้รับพระบรมราชานุญาติให้เป็นผู้สวมพระเศียรให้แก่พระมหากษัตริย์เจ้านายของตนก็ตาม บุคคลผู้นี้เป็นเจ้าชายเชื้อกษัตริย์กรุงกัมพูชา โดยเหตุที่สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามอ้างพระองค์ว่ามีพระชาติสืบมาจากราชสกุลนั้น ในเมื่อไม่มีทางที่จะสามารถอ้างได้ว่าพระองค์สืบราชสกุลมาจากพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนๆ นามยศเจ้ากรมภูษามาลานั้นคือ ออกญาอุไทยธรรม์ (Oc-yà Outhayathanne) อันแสดงให้เห็นได้ชัดว่า ยศ พระยา นั้นหาได้แปลว่า เจ้า ไม่และเจ้าองค์นี้ก็มิได้ใช้ฐานันดรศักดิ์ว่าเป็นเจ้า ตำแหน่งรองจากเขามาคือ ออกพระราชวงศา (Oc-Pra Raja Vounsà) เป็นพนักงานพระภูษา."



โดยสรุปก็คือในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ แม้แต่ออกญาอุไทยธรรม์ที่เป็นเจ้ากรมภูษามาลามีหน้าที่ดูแลฉลองพระองค์โดยตรงก็ยังไม่สามารถแตะต้องพระเศียรของพระเจ้าแผ่นดินได้ สามารถสัมผัสได้แต่พระมาลาเท่านั้น โดยคงจะส่งต่อให้พระเจ้าแผ่นดินทรงสวมด้วยพระองค์เอง


ดังนั้นเรื่องที่จะให้มหาดเล็กทั่วไปมาถอดพระมหาพิชัยมงกุฎได้คงไม่ต้องกล่าวถึงครับ



แต่ถ้าเป็นศิราภรณ์ที่อาจจะทรงสวมยากอย่างพระมหาพิชัยมงกุฎหรือพระชฎาที่มีกรรเจียกจอน ภูษามาลาน่าจะพอช่วยทรงได้ เห็นจากคลิปวิดีโอพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ แต่จะเห็นได้จากวิดีโอว่าภูษามาลาที่ช่วยทรงก็ไม่ได้แตะต้องพระเศียรโดยตรงครับ นาทีที่ 26.18

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12602



ความคิดเห็นที่ 444  เมื่อ 03 ก.พ. 18, 07:56

นามยศเจ้ากรมภูษามาลานั้นคือ ออกญาอุไทยธรรม์ (Oc-yà Outhayathanne)

นามสกุลพระราชทานหมายเลข ๐๐๗๙ วัชโรทัย Vajrodaya
พระราชทาน พระยาอุทัยธรรม (หรุ่น) จางวางกรมภูษามาลา* กับพระยาเทพาภรณ (รื่น) เจ้ากรมภูษามาลา
ปู่คือพระยาอุทัยธรรม (เพชร์) บิดาพระยาอุทัยธรรม (หรุ่น) คือพระยาราชโกษา (จัน)
บิดาพระยาเทพาภรณ์ คือพระยาวงษา (สุ่น) 22/6/13  อธิบดีกรมภูษามาลา

พระยาอุไทยธรรม (หรุ่น)  เป็นบุตรของ พระยาราชโกษา (จัน)

พระยาราชโกษา (จัน) เป็นบุตรของพระยาอุไทยธรรม(เพ็ชร์ )  (รักษาตัวสะกดเดืม)

บิดาของพระยาอุไทยธรรม (เพ็ชร์) คือ พระรัตนวงศา (แจ่ม)

ต้นสกุลของวัชโรทัย  คือ พระยาอุไทยธรรม(ทอง) มีบุตรคนเดียวคือ พระรัตนวงศา (แจ่ม)


ราชทินนาม "อุทัยธรรม" สืบมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ แลได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "วัชโรทัย"

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2456/D/648.PDF


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12602



ความคิดเห็นที่ 445  เมื่อ 03 ก.พ. 18, 08:20

จากหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (ก๊าด วัชโรทัย) บิดาคุณแก้วขวัญ และ คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย

ท่านผู้หญิงพัว  เล่าไว้ในชีวิตสมรส  หน้า ๓๗   ว่า

ภายหลังที่ได้รับพระราชทานน้ำสังข์แล้ว   ก็ไปไหว้ผู้ใหญ่ผู้เป็นประมุขของฝ่ายสุจริตกุลในขณะนั้น  คือ สมเด็จกรมพระสวัสดิ์ ฯ   ได้รับสั่งเล่าให้ฟังต่อหน้าท่านเจ้าคุณอุไทยธรรมว่า    

"สกุลวัชโรทัยเขาสูงกว่าสุจริตกุลนะ"   เพราะเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกหลบหนีพม่ามา  โดยคว่ำเรือสำปั้นลอยคอกันมาสามคนนั้น มีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า   สมเด็จพระอนุชา  กับตระกูลวัชโรทัยหนึ่งคน   จึงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระมหากษัตริย์ ทรงใช้สอยใกล้ชิด ทรงมอบหมายให้ทำหน้าที่พนักงานภูษามาลา   ถวายพระเครื่องใหญ่ (ตัดผม)   สนองพระเดชพระคุณในงานพระราชพิธีน้อยใหญ่      ตลอดจนพระบรมศพ  พระศพ    ได้ทรงมอบหมายให้ตระกูลนี้รับผิดชอบ   และปฎิบัติสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้"
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 446  เมื่อ 04 ก.พ. 18, 10:26


ขอแทรกคุณศรีสรรเพชญ์ เพื่อตอบคุณเขียวเนรศ อย่างเล็กน้อยก่อนนะครับ

ผมอ้าง wikipedia ก่อนก็แล้วกันครับ ยังไม่ได้ตรวจสอบกับรอยอิน

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%89%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A3


พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร (นพ; เก้า, ปฎล; ชั้น, เศวต; สีขาว) เป็นฉัตร 9 ชั้น สำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระราชพิธีบรมราชภิเษกตามโบราณราชประเพณีแล้ว ฉัตรแบบนี้เรียกโดยย่อว่า "พระมหาเศวตฉัตร" เป็นฉัตรผ้าขาว 9 ชั้น มีระบาย 3 ชั้น ขลิบทอง แผ่ลวด และมียอด เป็นราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ที่สำคัญที่สุด มีที่ใช้คือ ปักที่พระแท่นราชอาสน์ราชบัลลังก์ กางกั้นเหนือพระแท่นที่บรรทม ปักพระยานมาศ และแขวนกางกั้นพระโกศทรงพระบรมศพ เป็นต้น แต่โบราณมาไทยถือเศวตฉัตร เป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เศวตฉัตร หมายถึง ความเป็นพระราชามหากษัตริย์เช่นเดียวกับมงกุฎของชาวยุโรป ตามประเพณีของพราหมณ์แต่เดิม เป็นเศวตฉัตร 6 ชั้น อันหมายถึง สวรรค์ 6 ชั้น ตั้งแต่ชั้นจตุมหาราชิกาจนถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ความหมายของฉัตร 9 ชั้นที่ใช้ในปัจจุบันหมายถึง ผู้ที่ชนะทั้ง 8 ทิศ ชั้นล่างสุด หมายถึงพระมหากษัตริย์ที่จะต้องทรงแบกภาระอันใหญ่หลวงในการดูแลประชาชนทั้ง 8 ทิศ ปัจจุบันมีพระมหาเศวตฉัตรแห่อยู่จำนวน 6 องค์ ได้แก่
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (ท้องพระโรงกลางเหนือพระที่นั่งพุดตานถม)
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (ท้องพระโรงเหนือพระแท่นราชบัลลังก์ประดับมุก)
พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน (เหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ท้องพระโรง)
พระที่นั่งไพศาลทักษิณ (เหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ท้องพระโรง)
พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน (มี 2 องค์ คือ เหนือพระแท่นราชบรรจถรณ์และเหนือพระแท่นเครื่องพระสำอาง)
พระที่นั่งอนันตสมาคม (ท้องพระโรงกลางเหนือพระแท่นราชบัลลังก์)


เพิ่มเติม เพิ่งเห็นว่าคุณศรีสรรเพชญ์ ช่วยตอบเรื่องฉัตรไปแล้วนะครับ เห็นตามคุณศรีฯ ครับ



เรื่องเศวตรฉัตรมีความสำคัญที่สุด ไปค้นพบข้อมูลจากหนังสือ "เรื่องราชูปโภคและพระราชสถาน" แต่งโดย หม่อมราชวงศ์เทวาธิราช ป. มาลากุล หรือ มหาเสวกตรี พระยาเทวาธิราช อดีตสมุหพระราชพิธีในสมัยรัชกาลที่ ๗-๙ นอกจากนี้ยังเป็นนัดดาของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ซึ่งปรากฏว่าทรงเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่รอบรู้ในพระราชพิธีและธรรมเนียมราชสำนักมาแต่ก่อน ข้อมูลนี้จึงควรมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากพอสมควร


ในตอน ราชูปโภคและเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ของหนังสือได้ระบุว่า เครื่องราชกกุธภัณฑ์นั้นมี ๒ แบบ แบบแรกอ้างอิงตามคัมภีร์อภิธานปปทีปิกาและธรรมบท แบบที่สองอ้างจากบานหน้าต่างพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร (เขียนในสมัยรัชกาลที่ ๔)

           "สองแบบนี้ต่างกันด้วยมีฉัตรและธารพระกร ซึ่งที่จริงก็เป็นการถูกด้วยกันทั้งสองแบบ คือ ถ้ามีฉัตรแล้วไม่ควรมีธารพระกร หรือถ้ามีธารพระกรแล้วก็ไม่ควรมีฉัตร เพราะฉัตรคือร่ม คนเราในขณะเดียวกันจะถือทั้งร่มทั้งไม้เท้าด้วยนั้นเป็นการไม่ควร

            ราชกกุธภัณฑ์จึงมี ๒ แบบ แบบ ๑ มี ๕ อย่าง คือ

แบบ ก.  ๑) ฉัตร
           ๒) มงกุฎ
           ๓) พระแสงขรรค์
           ๔) พัดหรือแส้
           ๕) ฉลองพระบาท

แบบ ข.  ๑) มงกุฎ
           ๒) พระแสงขรรค์
           ๓) ธารพระกร
           ๔) พัดหรือแส้
           ๕) ฉลองพระบาท

          งานพระราชพิธีราชาภิเษก เจ้าพนักงานทูลถวายดังนี้

ชุดแรก - ๑) มงกุฎ
           ๒) พระแสงขรรค์
           ๓) ธารพระกร
           ๔) พัดหรือแส้
           ๕) ฉลองพระบาท

ชุดหลัง - พระมหาเศวตรฉัตร"


ที่สำคัญคือได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "โบราณถือเศวตฉัตรเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าราชกกุธภัณฑ์อื่น เศวตฉัตรมีความหมายเท่ากับความเป็นพระราชามหากษัตริย์"

อีกครั้งหนึ่งก็ได้กล่าวเปรียบเปรยไว้กับพระมหาพิชัยมงกุฎว่า "โบราณคือว่ามงกุฎเท่ากับราชกกุธภัณฑ์อันเป็นราชศิราภรณ์เท่านั้น หาได้ถือเป็นยอดแห่งความสำคัญเช่นมหาเศวตฉัตรไม่ แม้ในงานพระราชพิธีราชาภิเษกก็เป็นแต่เจ้าพนักงานทูลถวาย..."

ดังนั้นจึงควรสรุปได้ว่า เศวตฉัตรเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดครับ

ส่วนพระแสงขรรค์ชัยศรี ปรากฏหลักฐานว่าอยู่ในฐานะ "พระแสงศัสตราวุธ" ที่สำคัญที่สุด และปรากฏว่าเป็นพระแสงของผู้มีบุญบารมีที่สืบมาตั้งแต่บรรพกษัตริย์ครั้งพระยาแกรกบ้าง พระยาปทุมสุริยวงศ์บ้าง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าถูกยกย่องว่ามีความพิเศษเหนือราชกกุธภัณฑ์อื่นๆ และไม่ปรากฏว่ามีความสำคัญเทียบเท่าเศวตฉัตรซึ่งเป็นสิ่งบ่งบอกสถานะหรือเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพระมหากษัตริย์โดยตรงครับ



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12602



ความคิดเห็นที่ 447  เมื่อ 04 ก.พ. 18, 11:50

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีพระวินิจฉัยเรื่อง "ฉัตร" และ "มงกุฎ" ในสาส์นสมเด็จ กราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ ๑๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๐ ความว่า

ธรรมเนียมไทยย่อมถือเอาฉัตรเป็นหลักอันใหญ่ แม้จะพูดถึงพระเจ้าแผ่นดินก็อ้างเอาเศวตฉัตรเป็นที่ตั้ง หาได้อ้างเอามงกุฎไม่ ที่มาอ้างเอามงกุฎนั้นเป็นของใหม่เอาอย่างฝรั่ง เช่นมงกุฎราชกุมารเป็นต้น ข้อนี้ได้กราบทูลด้วยปากแล้ว แต่เพื่อจะไม่ให้หายไปเสีย จึงกราบทูลด้วยหนังสือซ้ำไว้อีกครั้งหนึ่ง

ทรงมีพระวินิจฉัยต่อไปอีกว่า

ตามที่เข้าใจกันว่า พระเจ้าแผ่นดินแล้วพระยศจะต้องกั้นฉัตร ๙ ชั้นนั้นก็เห็นจะเข้าใจกันผิดอีก ความหมายจะมีเป็นว่าทรงกั้นได้ตั้งแต่ชั้นเดียวจนถึง ๙ ชั้นเป็นที่สุด ดังจะเห็นได้จากพระกลดนั่นเป็นชั้นเดียว ชุมสายเป็นฉัตร ๓ ชั้น เครื่องพระอภิรุมเป็นฉัตร ๕ ชั้น ฉัตรพระคชาธารเป็นฉัตร ๗ ชั้น ฉัตรพระแท่นเศวตฉัตรเป็นฉัตร ๙ ชั้น ควรพึงสังเกตว่าฉัตร ๙ ชั้นนั้น ไม่มีใช้ถวายอยู่งานเดินหน มีแต่ปักประจำพระแท่น ด้วยจะเป็นของใหญ่โตเกินที่จะถืออยู่งาน ตามแนวนี้ก็พอจะลงกันได้ เช่นพระมหาอุปราชกำหนดพระยศใช้ฉัตร ๗ ชั้นแปลว่าจะใช้ได้ไม่เกิน ๗ ชั้น เจ้านายใช้ฉัตร ๕ ชั้น แปลว่าจะใช้ไม่เกิน ๕ ชั้น ส่วนเกินขึ้นไปนั้น แม้โปรดเกล้าพระราชทานเป็นพิเศษจึงใช้ได้ มูลเดิมทีจะเป็นดังนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 448  เมื่อ 05 ก.พ. 18, 21:56

ดูละคร  เห็นฉากนี้แล้วก็อดท้วงติงไม่ได้
ผู้สร้างไม่รู้กันจริงๆหรือว่า คนไทยเขาถือเรื่องที่ต่ำที่สูง     ผู้น้อยจะนั่งสูงกว่าผู้ใหญ่ไม่ได้
เด็กชายทองหยิบนี่เป็นลูกของหลวงไกรไม่ใช่หรือ    ทำไมในฉากนี้พ่อแม่และอาของทองหยิบ นั่งบนพื้นเรือน   ลูกดันไปนั่งบนตั่งสูงกว่าพ่อกว่าแม่เฉยเลย  แล้วก็ยังนั่งท่าขุนนางเสียอีก
แม่ก็ไม่เห็นเดือดร้อนที่จะสั่งสอนลูกว่าลงมาเดี๋ยวนี้ ต้องคลานเข้ามานั่งพับเพียบอยู่ข้างหลังแม่   แม้แต่เสนอหน้าเข้ามาร่วมวงกับผู้ใหญ่ก็ทำไม่ได้   เด็กต้องอยู่ส่วนเด็ก

เปลี่ยนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไปหลายอย่างแล้ว   ตอนนี้ก็รู้แล้วว่าเปลี่ยนขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ไม่น้อยไปกว่ากัน


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12602



ความคิดเห็นที่ 449  เมื่อ 06 ก.พ. 18, 13:28

ตำหนัก ที่ประทับของเจ้านาย เช่น ตำหนักปลายเนิน หรือของสมเด็จพระสังฆราช เช่น ตำหนักเพชร, ถ้าเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรียกว่า พระตำหนัก เช่น พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระตำหนักวาสุกรี. (ข. ฎํณาก่).

เจ้าจอมหาใช่เจ้าไม่ เรียกว่า "เรือนเจ้าจอมแข" จะเหมาะสมกว่ากระมัง  ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 28 29 [30] 31 32 ... 37
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.104 วินาที กับ 20 คำสั่ง