เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 26 27 [28] 29 30 ... 37
  พิมพ์  
อ่าน: 70945 Dramatic license กับ ข้อเท็จจริง ในหนังอิงประวัติศาสตร์
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 405  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 19:27

พระตำราราชาภิเษกนี้ไม่ได้กล่าวรายละเอียดไว้มากนัก แต่พิธีอุปราชาภิเษกของเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) ใน พ.ศ. ๒๓๔๙ ยังคงอ้างอิงตามรูปแบบพิธีอุปราชาภิเษกเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต เพราะพบหมายกำหนดการ เรื่อง มหาอุปราชาภิเษก จ.ศ. ๑๑๖๘ ระบุว่าจัดพิธี “ตามอย่างครั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิจเป็นกรมพระราชวังบวรฯ”

เนื่องด้วยช่วงเวลาไม่ห่างกันมากและยังมีข้าราชการกรุงเก่าที่ทันเห็นพิธีอยู่ จึงอนุมานได้ว่ารูปแบบพระราชพิธีอุปราชาภิเษกของเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตและเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรไม่มีความแตกต่างกันมากนัก และด้วยเหตุที่พระราชพิธีอุปราชาภิเษกของเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรยังมีหลักฐานเกี่ยวกับรายละเอียดพระราชพิธีที่ชัดเจนอยู่มาก จึงขอนำมาลงเพื่อให้เห็นตัวอย่างเทียบกับพระราชพิธีอุปราชาภิเษกในสมัยอยุทธยาดูนะครับ



หมายรับสั่ง เรื่อง มหาอุปราชาภิเษก จ.ศ. ๑๑๖๘ ได้ระบุถึงกำหนดการเกี่ยวกับพระราชพิธีดังนี้

            “ด้วยเจ้าพระยามหาเสนา รับสั่งใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมสั่งว่า จะได้ตั้งการพระราชพิธีพระมหาอุปราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสระสุนทร เป็นพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรฯ ตามอย่างครั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิจเป็นกรมพระราชวังบวรฯ นั้น และหลวงโลกทีปโหรมีชื่อถวายพระฤกษ์จะได้จารึกพระนามลงพระสุพรรณบัฏ ณ พระอุโบสวัดพระศรีสรรเพชญ์ ณ วัน ๔ เดือน ๒ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีขาลอัฐศก เพลาเช้า ๔ โมง ๖ บาท ครั้นถึง ณ วันเดือนยี่ ขึ้น ๗, ๘, ๙, ค่ำ จะได้ตั้งพระราชพิธีสงฆ์ พิธีพราหมณ์พร้อมกัน และพระสงฆ์ราชาคณะ อธิการพระสงฆ์สมถะ รวม ๕๐ รูป เจริญพระปริตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและเสด็จทรงเครื่อง ณ พลับพลาตรงประตูราชสำราญ ทรงพระสนับเพลาเชิงงอน พระภูษาลายจีบโจงหางหงส์ พระรัตกัมพลหนามขนุน ทรงฉลองพระองค์กรองทอง ทรงพระมาลาพระเส้าสูงสีกุหร่า ทรงพระราชยานแห่เครื่องสูง ๓ ชั้น มาถึงพลับพลาหยุดเปลื้องเครื่องทรงพระภูษาลายขาว สมปักครุยกรองทองฟังสวดพระพุทธมนต์ ทรงพระมงคลทั้ง ๓ วัน ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันเดือนยี่ ขึ้น ๘, ๙, ๑๐, ค่ำ เพลาเช้าจะเสด็จมาทรงศีลประเคนสำรับพระสงฆ์ และในวัน ๑ เดือน ๒ ขึ้น ๑๐ ค่ำนั้น พระฤกษ์เสด็จลงไปที่สร้างสหการเพลาเช้า ๔ โมง ๕ บาท ชาวพระภูษามาลาถวายเครื่องพระมุรธาภิเษก แก่พระราชาคณะ อธิการ สมถะ รดน้ำพระเต้าเงิน พระเต้าทอง พระเต้านาก พระเต้าสัมฤทธิ์ พราหมณ์ถวายน้ำกลศ น้ำสังข์ สะเดาะพระเคราะห์ แล้วทรงพระภูษาลายเขียนทองจีบโจงหางหงส์ ฉลองพระองค์กรองทอง”


นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตระเตรียมสิ่งของที่ต้องใช้ประกอบพระราชพิธีด้วย ดังที่ปรากฏในหมายรับสั่งว่า
 
         “ด้วยพระยาอภัยรณฤทธิ์รับสั่งใส่เกล้าฯ ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่าฉัตรเงิน ฉัตรทอง ฉัตรเบญจรงค์ ๕ ชั้น กับราชวัติซึ่งเกณฑ์ข้าทูลละอองทำตั้งในการอภิเษกครั้งนี้ ให้พระสัสดีหมายบอกผู้ซึ่งได้ทำให้พิทักษ์รักษาไว้อย่าให้ลายเขียนและตัวฉัตรราชวัติเศร้าหมองชำรุดได้ ห้ามอย่าให้เอาไปตั้งการศพและการสิ่งใดๆ เป็นอันขาดทีเดียว ถ้าจะเรียกเอาเมื่อใดให้ได้เมื่อนั้น อย่าให้ขัดข้องได้ ตามรับสั่ง

          ด้วยพระยารักษมณเฑียร รับสั่งใส่เกล้าฯ ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่าจะได้ผูกพระอุโบสถวัด ฤกษ์ ณ วันเดือนยี่ ข้างแรม ท่านข้างในต้องการข้าวสารเป็นตัวข้าวดีสำหรับจะได้ใส่กระจาดเลี้ยงพระสงฆ์ ขุนนาง เป็นอันมากนั้น ให้พระประชาชีพกรมนาเอาข้าวเปลือกแล้วประสกสีซ้อมให้ขาวร่อนคัดเอาที่เป็นตัวดีให้ได้ ๓ เกวียนข้าวเปลือก ให้เตรียมไว้จะได้เรียกเมื่อใดให้ได้เมื่อนั้น อย่าให้ขาดได้ ตามรับสั่ง

           ด้วยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช รับสั่งใส่เกล้าฯ ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า ท่านข้างในจะต้องการมีดแกะรูปสัตว์ประดับเครื่องบายศรี จึงให้ตัวอย่างออกมาให้หมื่นโลห์ช่างแสงเบิกเหล็กเทศที่กล้าดี ตีมีดแกะให้เหมือนตัวอย่าง ๑๒ เล่ม ตอกเหล็กสำหรับเหลาโกลนมะละกอ ฟักทอง รวม ๕ เล่ม ให้ทำตำหนิให้ด้วย แต่มีดตอกนั้นให้ทำรูปตามควร ให้มีปลอกสุดแต่ดี ให้เอาไปส่งให้เสมียนตรากรมวัง ๆ จะได้ส่งให้ผู้รับสั่ง ๆ จะได้ส่งให้ท่านข้างในให้เร่งเอามาส่งแต่ ณ วันเดือน ๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ตามรับสั่ง”




สำหรับรายละเอียดพระราชพิธีอุปราชาภิเษกเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้เรียบเรียงไว้ มีความว่า

         “ครั้นมาถึง ณ วันอาทิตย์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีขาล อัฐศก จุลศักราช ๑๑๖๘ โปรดให้ตั้งการพระราชพิธีอุปราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตั้งพลับพลาที่ประทับแรมที่โรงหล่อท้ายพระราชวังในกำแพง ซึ่งเป็นที่สวนกุหลาบในภายหลังตั้งเกยที่ข้างหลัง พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ พลับพลาเปลื้องเครื่องตั้งนอกกำแพงแก้ว พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระมณฑปที่สรงสนาน ตั้งที่ชาลาในกำแพงแก้วด้านตะวันออกพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โรงพิธีพราหมณ์ตั้งหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ

         ในการพระราชพิธีนั้น พระสงฆ์ พระราชาคณะ คามวาสี ๓๒ อรัญวาสี ๒ พระองค์เจ้า ๑ ฐานานุกรม ๑๒ อาจารย์ในกรุง ๓ อาจารย์นอกกรุง ๓ รวม ๕๓ รูป เจริญพระพุทธมนต์ ตั้งแต่ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ ไป ๓ วัน เวลาบ่าย ๒ โมง ๕ บาท ตั้งกระบวนแห่มีข้าราชการ ฝ่ายทหารพลเรือน และมหาดเล็กในพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรฯ และตำรวจซึ่งต้องเกณฑ์ ในกระบวนแห่นั้นนุ่งถมปักลาย สวมเสื้อครุยขาว ขัดดาบขัดกระบี่ สะพายแล่งตามกระบวนบรรดาศักดิ์เป็นคู่ ๆ นั่งหน้าหลัง แห่เป็น ๔ สายแล้วถึงข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหารพลเรือนในพระบรมมหาราชวัง และพระราชวังบวรฯ นุ่งถมปักลายสวมเสื้อครุยขาวตามเสด็จท้ายกระบวนหลังอีก ๑๓๔ คู่ รวม ๒๖๘ คน แห่ตั้งแต่เกยที่ประทับมาโดยราชวิถี มีราชวัติฉัตรเบญจรงค์รายเป็นระยะตลอดมา เข้าประตูสุวรรณบริบาล หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว วงมาตามแนวกำแพงแก้วเสด็จขึ้นพลับพลา เปลื้องพระวิภูษิตาภรณ์ เครื่องที่ทรงมานั้นแล้ว ทรงพระภูษาลาย พื้นขาวโจงหางหงส์รัดพระองค์ปั้นเหน่งประดับเพชร ทรงพระธำมรงค์เพชรครบนิ้ว พระหัตถ์ขวาพระหัตถ์ซ้าย ทรงฉลองพระองค์ครุยกรองทอง แล้วทรงพระเสลี่ยงน้อยไปถึงที่ เสด็จขึ้นทางมุขหลังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เสด็จอยู่ข้างในพระฉาก ทรงสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จนจบทั้ง ๓ วันแล้ว เสด็จลงทางมุขหลังมาประทับที่พลับพลา เปลื้องเครื่องทรงผลัดเครื่องแต่งพระองค์ทรงพระมาลาเสร้าสูง ตั้งกระบวนแห่ เสด็จกลับทางประตูพิมานไชยศรีทั้ง ๓ วัน เวลาเช้าในวันที่ ๑ วันที่ ๒ นั้น ทรงพระเสลี่ยงน้อยเสด็จมาทรงปฏิบัติพระสงฆ์ฉันแล้วเสด็จทางประตูพิมานไชยศรี กับพระราชวงศานุวงศ์ทั้งปวง ไปประทับอยู่ ณ ทิมสงฆ์ ดำรัสให้ทิ้งทาน ณ ต้นกัลปพฤกษ์ทั้ง ๔ ต้น ซึ่งตั้งอยู่หว่างโรงละครนอกพระระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เฟื้องทอง เฟื้องเงิน ไว้ในผลมะกรูดในผลมะนาว รวมทั้ง ๓ วัน เป็นทอง ๑๘ ตำลึง เงิน ๒๔ ชั่ง

         ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีขาล อัฐศก เวลาเข้าทรงเครื่องต้น ทรงพระมหากฐินน้อย เสด็จโดยกระบวนแห่ล้วน สวมพอกขาวมีเกี้ยวมาตามทาง เข้าประตูสุวรรณบริบาล ประทับพลับพลา เปลื้องเครื่องแล้ว ทรงพระภูษาลายพื้นขาวโจงหางหงส์ รัดพระองค์ปั้นเหน่งประดับเพชร ทรงพระธำมรงค์ครบนิ้ว พระหัตถ์ขวาพระหัตถ์ซ้าย ทรงฉลองพระองค์ครุย เสด็จขึ้นบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทโดยมุขหลัง ถวายนมัสการพระศรีรัตนตรัย จึงมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมา ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททรงศีลและทรงพระราชอุทิศถวายสังฆภัตตานิสงส์ครบตติยวารแล้ว ทรงประเคนสำรับพระสงฆ์ราชาคณะรับพระราชทานฉัน

         ครั้นได้เวลามหามงคลฤกษ์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรจึงเสด็จลงมาที่สรงสนานริมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านตะวันออก พระราชโกษาถวายพระภูษาขาวเครื่องถอดเสด็จประทับเหนือตั่งตั้งบนถาดทองแดง บ่ายพระพักตร์ต่อบูรพทิศแล้ว หลวงพิพิธภูษาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระเครื่องมุรธาภิเษก สรงสนานเสร็จแล้ว พระราชาคณะคามวาสี ๙ พระราชาคณะอรัญวาสี ๒ พระอาจารย์วัดบางช้าง ๓ รวม ๑๔ รูป ถวายน้ำพระพุทธมนต์จึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเต้าเบญจครรภและพระมหาสังข์ทักขิณาวัฏ พระสังข์ทองคำ พระสังข์เงิน อันเต็มด้วยน้ำปัญจสุทธินทีทรงรดพระราชทานเสร็จ และพระครูพราหมณ์ผู้ใหญ่ถวายน้ำสังข์น้ำกลศต่อพระหัตถ์แล้ว ถวายใบเวฬุ ทรงรับ พราหมณ์ผู้ใหญ่จึงร่ายพระเวทอิศวรมนตร์ พระพิษณุมนตร์ พระพรหมมนตร์ ถวายไชยมงคลเสร็จแล้ว ผลัดพระภูษาขาว ทรงพระภูษาลายเทศ พื้นแดง เขียนทอง ทรงสะพักกรองขาว เสด็จขึ้นพลับพลาเปลื้องพระเครื่องคอยพระฤกษ์

        ครั้นได้ศุภวารมหุรติฤกษ์แล้ว เสด็จทรงพระเสลี่ยงน้อย จมื่นมหาดเล็กจึงเชิญธูปเทียนดอกไม้ตามเสด็จไปพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เสด็จลงจากพระเสลี่ยงเข้าไปประทับอยู่ในท้องพระโรง ขุนมหาสิทธิโวหารอาลักษณ์เชิญพานพระสุพรรณบัฏมาจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไว้ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานข้างใน จึงมีพระราชโองการดำรัสใช้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ให้ออกมาเชิญเสด็จ ๆ เข้าไปในพระที่นั่งข้างใน พระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าหลานเธอหลายพระองค์ทรงเชิญพานดอกไม้ธูปเทียนตามเสด็จเข้าไป จึงทูลเกล้าฯ ถวายดอกไม้ธูปเทียนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วมีพระราชโองการดำรัสใช้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอรุโณทัยให้ออกมาเชิญพานพระสุพรรณบัฏเข้าไปในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

         ครั้นเวลาเช้า ๔ โมง ๕ บาท ได้พระสิริราชาฤกษ์ หลวงโลกทีป ขุนโชติพรหมา ขุนเทพากร โหรทั้ง ๓ สั่งให้ประโคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระสุพรรณบัฏ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว พระราชทานพระแสงดาบญี่ปุ่นฝักมะขามสีแดง จึงดำรัสฝากพระบวรพุทธศาสนา และพระราชทานพระราโชวาท ให้ตั้งอยู่ในสุจริตธรรมโดยราชประเพณีแล้ว พระราชทานพระพรไชยให้ทรงเจริญพระสิริสวัสดิ์วัฒนายุยั่งยืนสืบไป

         เสร็จการพระราชพิธีแล้ว กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบยาว ๑๓ วา พลพาย ๓๓ ซึ่งประทับ ณ ฉนวนประจำท่าเหนือตำหนักแพ มีเรือดั้งคู่ชัก ๓ คู่ เรือนำและเรือกลองแขก เรือตำรวจ เรือข้าราชการตามเสด็จ ๒๓ ลำ เสด็จข้ามไปพระราชวังเดิม มิได้โปรดให้เสด็จไปสถิตในพระราชวังบวรฯ”



รูปแบบพระราชพิธีหลักมีความใกล้เคียงกับพระราชพิธีอุปราชาภิเษกเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต คือจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ๓ วัน แล้วทรงเข้าพิธีมูรธาภิเษก จากนั้นจึงเสด็จไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวเพื่อรับพระราชทานพระแสงดาบญี่ปุ่นและรับพระราชทานอภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล แล้วจึงแห่เสด็จกลับไปยังพระตำหนักที่ประทับ โดยประกอบพิธีที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแทนพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท และที่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานแทนพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 406  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 19:30

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงวินิจฉัยว่า พระราชพิธีอุปราชาภิเษกของเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต น่าจะต่างจากพระราชพิธีอุปราชาภิเษกสมัยกรุงศรีอยุทธยาในอดีต เพราะเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตไม่ได้เสด็จไปประทับที่วังหน้าอย่างพระมหาอุปราชในอดีต แต่ประทับที่พระตำหนักสวนกระต่ายในวังหลวงซึ่งเป็นที่ประทับเดิม จึงไม่มีการเฉลิมพระราชมณเฑียรในวังหน้า

เช่นเดียวกับพระราชพิธีอุปราชาภิเษกของเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ไม่โปรดจะให้เสด็จไปประทับที่วังหน้า จึงยังทรงประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม (พระราชวังกรุงธนบุรี) ซึ่งเป็นที่ประทับมาแต่ก่อน จึงมีการปลูกตำหนักขึ้นชั่วคราวที่สวนกุหลาบแทนตำหนักสวนกระต่าย แล้วเชิญเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรเสด็จเข้ามาประทับแรมอยู่ที่พระตำหนักนั้นตลอดเวลางาน



ในสมัยรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเษกสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ พระบัณฑูรน้อยขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็ยังมีร่างหมายรับสั่งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชแต่งไว้ว่า “ทำพิธีตามแบบอย่างครั้งอุปราชาภิเศกเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตเปนพระมหาอุปราช เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐครั้งกรุงเก่า” แต่รูปแบบพระราชพิธีผิดไปจากสมัยรัชกาลที่ ๑

เพราะเจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ เมื่ออุปราชาภิเษกแล้วจะเสด็จไปประทับอยู่พระราชวังบวรสถานมงคล จึงต้องทำพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรด้วย จึงมีการปรับแก้รูปแบบพระราชพิธีให้เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์เข้ามาประทับแรมอยู่ในวังหลวง แล้วแห่เสด็จขึ้นไปทรงสดับพระพุทธมนต์และรับอุปราชาภิเษกที่วังหน้า เมื่ออุปราชาภิเษกแล้วจึงเสด็จลงมารับพระราชทานพระสุพรรณบัฏในพระราชวังหลวง แล้วเสด็จกลับขึ้นไปเฉลิมพระราชมณเฑียรในวังหน้า ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยว่าน่าจะอ้างอิงจากรูปแบบพิธีอุปราชาภิเษกของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศหรือเก่าแก่กว่านั้น


ปรากฎในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ว่า

          “ณวันศุกร เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีมเสงเอกศก ฤกษ์เวลาเช้าโมง ๑ กับ ๓ บาท จาฤกพระสุพรรณบัตรที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทำนองการพิธีเหมือนจาฤกพระสุพรรณบัตรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระสุพรรณบัตรจาฤกว่า :-

            สมเด็จบรมนารถบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ เปนกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทีฆายุศมศิริสวัสดิ

            เมื่อจาฤกแลเวียนเทียนสมโภชพระสุพรรณบัตรแล้ว ตั้งพระสุพรรณบัตรไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึงวันเริ่มงานจึงเชิญขึ้นพระเสลี่ยงแห่ไปตั้งในพระแท่นมณฑลที่พระราชวังบวรฯ


            ที่พระราชวังบวรฯ นั้น จัดที่ทำพระราชพิธี ๒ แห่ง คือ ที่พระที่นั่งพรหม...ในห้องที่พระบรรธมจัดตั้งเตียงสำหรับพระสงฆ์ คือ สมเด็จพระพนรัตนนั่งปรกรูป ๑ พระวัดพลับ ๔ รูป สวดมหาไชย

            ที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ จัดเปนที่ตั้งพระแท่นมณฑลตั้งเทียนไชย แลเปนที่พระสงฆ์ ๔๕ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชเปนประธานเจริญพระพุทธมนต์ พระแท่นมณฑลนั้น ในหมายรับสั่งกล่าวว่า จัดเหมือนพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ สิ่งของตั้งพระแท่นมณฑลตามซึ่งกล่าวไว้ในหมายรับสั่ง มีดังนี้ คือ :-

            พระบรมธาตุ พระไชย พระห้ามสมุท พระอุณาโลมทำแท่ง พระสุพรรณบัตร ดวงพระชัณษา พระมหามงกุฎ พระภูษารัตกัมพล พระมาลาเบี่ยง พระชฎา พระนพ พระมหาสังวาลสร้อยอ่อน พระมหาสังวาลพรามหมณ์ พระธำรงค์ ฉลองพระองค์เกราะ ฉลองพระองค์นวม พระมหามงคลย่น เครื่องพระพิไชยสงคราม เครื่องพระมุรธาภิเศก พระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ พระมหาสังข์ทอง พระมหาสังข์เงิน พระเต้าเบญจครรภ พระเต้าปทุมนิมิตรทอง พระเต้าปทุมนิมิตรนาก พระเต้าปทุมนิมิตรเงิน พระเต้าปทุมนิมิตรสำริด (ใส่น้ำปัญจมหานที ทั้ง ๔ พระเต้า)

              พระแสงที่เข้าพระแท่นมณฑลนั้นคือ :-  พระแสงขรรค์ไชยศรี ๑ พระแสงดาบยี่ปุ่น ๑ พระแสงจักร ๑ พระแสงหอกไชย ๑ พระแสงตรีศูล ๑ พระแสงธนู ๑ พระแสงเขน ๔ พระแสงง้าว ๒ พระแสงทวน ๒ พระแสงหอกคู่ ๑ พระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย ๑ พระแสงขอตีช้างล้ม ๑ พระแสงชนักต้น ๑ พระกลด ๑ พระเสมาธิปัต ๑ พระฉัตรไชย ๑ พระเกาวพ่าย ๑ ธงไชยกระบี่ธุช ๑ ธงไชยพระครุธพ่าห์ ๑ ตรงมุขท้ายพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ปลูกพลับพลาเปลื้องเครื่องหลัง ๑ ข้างพระที่นั่งตั้งพระแท่นที่สรงมีเสาดาดเพดาน บนพระแท่นตั้งถาดทองแดง ในนั้นตั้งตั่งไม้มะเดื่อที่ประทับสรงมุรธาภิเศก ตั้งราชวัตรฉัตรทอง, ฉัตรนาก, ฉัตรเงิน ๗ ชั้น รายรอบที่สรง

              น่าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ปลูกโรงพิธีพราหมณ์ แลตั้งพนมบัดพลีสำหรับโหรบูชาเทวดา ในโรงพิธีพราหมณ์ตั้งเทวรูป พระอิศวร พระนารายน์ เปนต้น เหมือนพิธีบรมราชาภิเศก แลเครื่องพลีกรรมทำพิธีตามไสยสาตร ทั่วทุกสถานการพระราชพิธีวงสายสิญจน์ล่ามตลอดถึงกัน แลตั้งราชวัตรปักฉัตรเบญจรงค์ ๕ ชั้น รายรอบพระราชมณเฑียร แลราย ๒ ข้างถนนแต่พระราชวังบวรฯ ลงมาจนพระบรมมหาราชวัง ในเวลาทำการพระราชพิธีนั้น เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ เข้ามาประทับแรมอยู่ที่โรงลครริมพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านตวันตก

              ถึงณวันอังคาร เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ เวลาบ่าย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ เสด็จไปทรงเครื่องที่พระนั่งดุสิดาภิรมย์ แต่งพระองค์ทรงสนับเพลาเชิงงอน ทรงพระภูษาจีบโจงหางหงษ์ รัดพระองค์หนามขนุน ทรงฉลองพระองค์กรองทอง ทรงพระมาลาเส้าสูงสีกุหร่า เสด็จขึ้นพระราชยานที่เกยพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ มีกระบวนแห่เสด็จ คือ :-

              ตำรวจเลวหรือหวายนำริ้ว ๑๐ คู่ ตำรวจเดินสายนอก ๒ สาย ๘๔ คน มหาดเล็กวังหลวงเดินสายใน ๒ สาย ๘๔ คน กลองชนะ ๒๐ คู่ แตรฝรั่ง ๖ คู่ แตรงอน ๖ คู่ สังข์ ๒ คู่ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ สารวัด ๒ เครื่องสูงน่า สามชั้น ๕ คู่ ห้าชั้นคู่ ๑ บังแทรก ๔ มหาดเล็กเชิญพระแสงหว่างเครื่องน่า พระแสงดาบใจเพ็ชร ๑ พระแสงดาบคาบค่าย ๑ พระแสงเขน ๒ พระแสงหอก ๒ พระแสงหอกคู่ ๒ พระราชยานมีพนักงานถวายอยู่งานพระกลด ๑ บังสูรย์ ๑ พัดโบก ๑ พระทวย ๑

             คู่เคียง ๔ คู่ คือ :- คู่ที่ ๑ พระยากำแพงเพ็ชร พระยาโชฎึก คู่ที่ ๒ พระยาพิศณุโลก พระยาพิพิธโภไคย คู่ที่ ๓ พระยานรินทร จมื่นเสมอใจราช คู่ที่ ๔ พระยานครสวรรค์ พระยาเทพมณเฑียร

             กระบวนหลัง มหาดเล็กเชิญเครื่อง ธารพระกร ๑ พัชนีท้ายพระที่นั่ง ๑ ฉลองพระบาท ๑ เชิญตามเสด็จ พานพระขันหมาก ๑ พระสุพรรณศรี ๑ พระเต้าพระสุธารศ ๑ เครื่องสูง ห้าชั้นคู่ ๑ สามชั้น ๕ คู่ บังแทรก ๔ มหาดเล็กเชิญพระแสงหว่างเครื่อง พระแสงง้าว ๑ พระแสงตรี ๑ พระแสงหอกง่าม ๑ มหาดเล็กวังน่าเดินสายใน ๖๐ คน ตำรวจเดินสายนอก ๔๐ คน ม้าจูง ๔ (หัวพัน) มหาดไทย กลาโหม เปนผู้ตรวจ รวมกระบวนแห่ ๒๖๘ คน

             แห่เสด็จไปจากพระบรมมหาราชวัง จนถึงพระราชวังบวรฯ ประทับเกยพลับพลาเปลื้องเครื่องที่มุขท้ายพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เปลื้องเครื่องผลัดทรงพระภูษาลายพื้นทอง ทรงสพักฉลองพระองค์ครุยกรองทอง เสด็จเข้าในพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ทรงนมัสการพระศรีรัตนไตรย สมเด็จพระสังฆราชจุดเทียนไชยแลถวายศีลแล้ว ทรงพระมหามงคลประทับสดับพระปริตจนจบแล้ว จึงแห่เสด็จกลับคืนมายังพระบรมมหาราชวัง

             รุ่งขึ้นณวันพุฒ เดือน ๑๐ แรม ๔ ค่ำ เวลาเช้า สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ เสด็จทรงพระเสลี่ยง มีแต่ตำรวจนำไม่มีกระบวนแห่ เสด็จขึ้นไปทรงประเคนเลี้ยงพระสงฆ์ที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เวลาบ่ายวันนั้นแลวันรุ่งขึ้น แห่เสด็จขึ้นไปทรงสดับพระปริตเหมือนวันแรก เวลาเช้าในวันคำรบ ๒ ก็เสด็จขึ้นไปทรงประเคนเลี้ยงพระเหมือนวันแรก

            ครั้นณวันศุกร เดือน ๑๐ แรม ๖ ค่ำ เวลาเช้า เสด็จโดยกระบวนแห่ขึ้นไปยังพระราชวังบวรฯ เสด็จเข้าที่สรงสนานเวลาเช้าโมงกับบาทหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระพนรัตน พระธรรมราชา พระญาณสังวร ถวายน้ำพระพุทธมนต์ด้วยพระเต้าปทุมนิมิตร พราหมณ์ถวายน้ำกรดน้ำสังข์แลใบมะตูม แล้วทรงเครื่องเสด็จมาทรงประเคนเลี้ยงพระสงฆ์

           ครั้นเลี้ยงพระแล้ว เสด็จยังพลับพลาทรงเครื่องพระภูษาลายเขียนทองจีบโจงหางหงษ์ ทรงฉลองพระองค์กรองทอง ทรงพระมาลาเส้าสูงสีแสด [ทรงเครื่องเหมือนครั้งเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต-ผู้เขียน] ขึ้นทรงพระราชยานแห่ลงมาพระบรมมหาราชวัง เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวณพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน รับพระราชทานพระสุพรรณบัตร และทูลเกล้าฯ ถวายเทียนทองธูปเงินเข้าตอกดอกไม้ (แล้วแห่เสด็จกลับขึ้นไปยังพระราชวังบวรฯ) ครั้นเวลาบ่าย เจ้าพนักงานตั้งบายศรีเวียนเทียนสมโภชพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรฯ เปนเสร็จการพระราชพิธีอุปราชาภิเศกตามโบราณประเพณี”


https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/1658511220879008
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 407  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 19:43

ถ้าสมมติว่าเราจะเชื่อตามพระวินิจฉัยของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่าพระราชพิธีอุปราชาภิเษกในสมัยรัชกาลที่ ๒ อ้างอิงตามแบบพิธียุคก่อนเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต พิธีของตัวละครเจ้าฟ้าสุทัศน์ก็น่าจะจัดในรูปแบบเดียวกัน คือจัดพิธีหลักๆ ที่วังหน้า แล้วค่อยมารับพระราชทานสุพรรณบัตรและรับพระราชทานอภิเษกที่พระราชวังหลวง แล้วจึงเสด็จกลับไปเฉลิมพระราชมณเฑียรในวังหน้าครับ


สำหรับภาพยนตร์แล้ว คงคาดหวังไม่ได้ว่าจะทำตามอย่างรายละเอียดพระราชพิธีครบถ้วนทุกขั้นตอน ในที่นี้จึงกล่าวถึงรายละเอียดพระราชพิธีให้ผู้อ่านได้เห็นภาพเท่านั้น นอกจากนี้ก็มีข้อที่ควรกล่าวเสริม เพราะมีสิ่งที่คลาดเคลื่อนไปจากหลักฐานและธรรมเนียมปฏิบัติอยู่มากพอสมควร ยกตัวอย่างดังนี้ครับ


- พระแสงของกรมพระราชวังบวรฯ ค้องเป็นดาบญี่ปุ่น ไม่ใช่ดาบไทย


- มีฉากเจิมและรดน้ำพระมหาสังข์ในขณะที่เจ้าฟ้าสุทัศน์ทรงพระชฎาอยู่โดยรดไปบนชฎา ซึ่งโดยปกติแล้วจะรดที่ศีรษะ และตามหลักฐานในพิธีอุปราชาภิเษกเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตและเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เวลาที่ขึ้นเฝ้าเพื่อรับพระราชทานอุปราชาภิเษกต้องเปลื้องเครื่องต้นออกก่อน จึงไม่มีการทรงพระชฎาขึ้นไปด้วย (เช่นเดียวกับฉากขึ้นพระพุทธบาท ความจริงต้องมีพลับพลาเปลื้องเครื่องทรงก่อนเสด็จขึ้นพระพุทธบาท ไม่ใช่เปลื้องในมณฑปพระพุทธบาท)


- มีฉากให้ขุนนางขึ้นไปยืนบนฐานของพระที่นั่งบุษบกมาลาอันเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน และเหยียบอยู่เหนือแท่นรูปครุฑแบก ซึ่งผู้ที่จะอยุ่เหนือครุฑได้มีแต่พระเจ้าแผ่นดินซึ่งถูกเปรียบเปรยว่าเป็นพระนารายณ์อวตารเท่านั้น เพราะครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์


- มีฉากสถาปนาขุนนางในวันเดียวกับที่มีพระราชพิธี


- มีการโปรยดอกพิกุลเงินพิกุลทอง ปกติจะโปรยในพระราชบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีลงสรง ด้วยความเชื่อที่ว่าเจ้านายผู้เป็นองค์ประธานนั้นอยู่ในสภาวะสมมติเทพที่ได้อุบัติลงมาจากสวรรค์ การโปรยดอกพิกุลจึงเสมือนกับการที่องค์สมมติเทพทรงโปรยดอกไม้จากสวรรค์ลงมาให้มนุษย์ได้ชื่นชม

ถ้าเป็นพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระเจ้าแผ่นดินจะทรงโปรยดอกพิกุลสองครั้ง ครั้งแรกหลังจากเสด็จขึ้นบนพระที่นั่งภัทรบิฐ เมื่อพราหมณ์ถวายชัยถวายพรจบ พระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งแก่พระมหาราชครูผู้ใหญ่แล้ว จะทรงโปรยดอกพิกุลเงิน ดอกพิกุลทองแก่พราหมณ์ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเฉพาะหน้าพระที่นั่ง จะทรงโปรยอีกครั้งหนึ่งตามทางเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระมหามณเฑียร ส่วนในสมัยรัชกาลที่ ๓ ระบุว่าทรงโปรยตามทางเสด็จพระราชดำเนินไปพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อทรงสดัปกรณ์พระบรมศพแล้ว จึงโปรยตามทางเมื่อเสด็จกลับจะขึ้นพระมหามณเฑียร

แต่ไม่เคยมีบันทึกว่ามีการโปรยดอกพิกุลในพระราชพิธีอุปราชาภิเษก ไม่ว่าในรัชกาลใดก็ตาม

สมมติว่าจะมีการโปรยดอกพิกุลในพระราชพิธีอุปราชาภิเษก ก็ควรโปรยระหว่างทางเสด็จไปเฉลิมพระราชมณเฑียร ไม่มีเหตุผลที่จะมาโปรยให้เจ้านายฝ่ายในที่พระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาท เพราะทรงเป็นวังหน้า ไม่ได้จะเฉลิมพระราชมณเฑียรในวังหลวง


- ศิราภรณ์ที่เจ้านายฝ่ายในทรงได้แบบมาจากมงกุฎทองถักที่พบในกรุวัดราชบูรณะซึ่งสร้างสมัยอยุทธยาตอนต้น ไม่พบหลักฐานว่าเจ้านายฝ่ายในสมัยอยุทธยาตอนปลายทรงศิราภรณ์ลักษณะนี้


- ผู้ที่ตามเสด็จพระราชดำเนินเฉลิมพระราชมณเฑียรซึ่งเป็นช่วงที่โปรยดอกพิกุล จะมีนางชำระพระบาท ๒ นางเชิญเครื่องราชูปโภค นางเชื้อพระวงศ์ ๖ นางอุ้มวิฬาร์ (แมว) ๑ อุ้มศิลาบด ๑ อุ้มฟักเขียว ๑ ถือขันข้าวเปลือก ๑ ถือขันงา ๑ ไม่ใช่ข้าราชการฝ่ายหน้าถือพระแสงศัสตราวุธ


- มีฉากให้สมเด็จพระพันปีหลวงและพระราชวงศ์ฝ่ายในก้มกราบข้าราชการฝ่ายหน้าที่เดินตามเสด็จ


- ผู้ที่อัญเชิญดอกพิกุลเป็นข้าราชการฝ่ายใน อย่างในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้คุณปลัดเสงี่ยมพระพี่เลี้ยงเป็นผู้เชิญขันดอกพิกุลทองพิกุลเงิน แต่ศรีอโยธยากลับให้พระเจ้าอยู่หัวมาเป็นผู้เชิญพานดอกพิกุลให้โปรยเสียเอง


- ฉากพระราชวังจันทรเกษม ให้พระมหาอุปราชประทับอยู่ใต้นพปฎลมหาเศวตรฉัตร (ฉัตร ๙ ชั้น) ซึ่งเป็นฉัตรของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 408  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 19:55

ต้อนรับคุณศรีสรรเพชญ์ด้วยความยินดีค่ะ     อยากไปเชิญมาร่วมวงอยู่พอดี  เกรงใจว่าไปลอกเพจมาแล้วยังไม่ได้เชิญเจ้าของเพจมาเป็นกิจจลักษณะ

ขอบคุณสำหรับความรู้ที่ให้มาอย่างละเอียดลออ หายากมาก   จะได้เป็นที่ค้นคว้าอ้างอิงของผู้สนใจประวัติศาสตร์ต่อไปค่ะ

ดิฉันเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคุณทั้งหมด   มีบางข้อที่รู้สึกตะขิดตะขวงใจอยู่แล้วแต่ยังไม่ได้หยิบยกขึ้นมา   เช่นให้เจ้านายฝ่ายใน อย่างพระพันวัสสา (ซึ่งก็คือแม่ของพระเจ้าแผ่นดิน) มาคอยเฝ้ารับเสด็จ  หมอบกราบหลานย่าที่จะได้เป็นพระมหาอุปราช (ซึ่งก็ยังไม่ทันทำพิธีจะเป็น)  แล้วก็เลยเท่ากับหมอบกราบขุนนางที่ตามเสด็จเจ้าฟ้าสุทัศน์ไปด้วย     ไม่เฉลียวใจเลยหรือว่าเป็นการลดพระเกียรติยศลงไปมาก     
ทีเจ้าจอมราตรี กลับให้นั่งเสลี่ยงเท่ากับเจ้าฟ้าสุทัศน์   เท่ากับยกเจ้าจอมขึ้นมาเสียสูงลิ่ว

นี่ก็ข้อหนึ่งละนะ ในพิธีอันประดักประเดิดนี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 409  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 20:06

 
อ้างถึง
มีฉากให้ขุนนางขึ้นไปยืนบนฐานของพระที่นั่งบุษบกมาลาอันเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน และเหยียบอยู่เหนือแท่นรูปครุฑแบก ซึ่งผู้ที่จะอยุ่เหนือครุฑได้มีแต่พระเจ้าแผ่นดินซึ่งถูกเปรียบเปรยว่าเป็นพระนารายณ์อวตารเท่านั้น เพราะครุฑเป็นพาหนะของพระนารายณ์
นี่ก็ข้อที่สอง

ฉากให้ขุนนางนั่งเสมอพระเจ้าแผ่นดินมีมาตั้งแต่แรกแล้ว      ไม่รู้ว่าทำไมผู้กำกับถึงไม่สังเกตข้อนี้   รวมทั้งมีบทมหาดเล็กเอามือไปช่วยถอดพระมหาพิชัยมงกุฎให้พระเจ้าเอกทัศ   ถูกหัวถูกหูพระเจ้าเอกทัศกันไม่สะทกสะท้านเลย
ฉากที่ขุนนางขึ้นไปยืนบนฐานพระที่นั่งบุษบกนี่ก็อีก     ไม่รู้ว่าคิดอย่างไร หรือจะมองด้านศิลปะว่าต้องใส่ลงไปให้เต็ม ไม่มีช่องว่างในฉาก  
พร็อพที่เข้าฉากอย่างพระที่นั่งบุษบกมาลา ถึงเป็นของทำขึ้นใหม่ แต่ถ้ามีรายละเอียดเหมือนจริงมากๆ  ดิฉันดูแล้วก็ไม่ค่อยสบายใจนัก  เป็นห่วงนักแสดง
อยากพูดถึงเรื่องที่มีผู้ท้วงมาเรื่องพระมหาเศวตฉัตรที่เป็นของจริง   แม้ว่าผู้สร้างละครจะให้นักแสดงนั่งอยู่ข้างหน้า ไม่ได้นั่งใต้พระมหาเศวตฉัตรก็ตาม     แต่คนที่จะเฉียดเข้าไปได้ใกล้ขนาดนั้น แล้วยังไปนั่งวางท่าตามบทบาทการแสดงอยู่ตรงนั้น  ไม่รู้ว่าทำพิธีขอขมาลาโทษสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ครบถ้วนแล้วหรือยัง    
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 410  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 20:07

ภาพจาก FB คุณ Pat Hemasuk ค่ะ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 411  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 20:10

จาก FB  คุณ Pat Hemasuk


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12602



ความคิดเห็นที่ 412  เมื่อ 30 ม.ค. 18, 20:20

คิดถึงคุณศรีสรรเพชญ์ น่าจะเข้ามาร่วมวงอีกคน

ยินดีต้อนรับคุณศรีสรรเพชญ์ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 413  เมื่อ 31 ม.ค. 18, 08:45

คิดถึงคุณศรีสรรเพชญ์ น่าจะเข้ามาร่วมวงอีกคน

ยินดีต้อนรับคุณศรีสรรเพชญ์ ยิงฟันยิ้ม

ขอบคุณครับ ดีใจที่คุณเพ็ญชมพูคิดถึงนะครับ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 414  เมื่อ 31 ม.ค. 18, 08:51


รวมทั้งมีบทมหาดเล็กเอามือไปช่วยถอดพระมหาพิชัยมงกุฎให้พระเจ้าเอกทัศ   ถูกหัวถูกหูพระเจ้าเอกทัศกันไม่สะทกสะท้านเลย



ข้อนี้ผมเองก็ติดใจตั้งแต่ตอนแรกที่มีฉากตัวละครคุณทองด้วงไปถอดพระมหาพิชัยมงกุฎให้พระเจ้าเอกทัศแล้วครับ

แต่ว่าเมื่ออาทิตย์ก่อนผมลองไปอ่านในจดหมายเหตุร่วมสมัยของชาวฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ถ้าจำไม่ผิดเป็นหนังสือเรื่อง "ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมือง แห่งราชอาณาจักรสยาม" ของ นิโกลาส์ แชร์แวส (Nicolas Gervaise) ได้อ้างว่ามีบุคคลกลุ่มเดียวที่สามารถแตะต้องพระวรกายของพระเจ้าแผ่นดินได้อย่างใกล้ชิด นั่นคือภูษามาลาที่ทำหน้าที่แต่งฉลองพระองค์ ซึ่งยังระบุด้วยว่ามีสิทธิพิเศษสามารถแตะต้องพระเศียรของพระเจ้าแผ่นดินได้ครับ

ถ้าตัวผู้บันทึกไม่ได้เข้าใจคลาดเคลื่อน อาจเป็นไปได้ว่าธรรมเนียมเมื่อครั้งกรุงเก่าอาจมีข้อปฏิบัติบางอย่างที่แตกต่างจากในปัจจุบันครับ

พอดีตอนนี้หนังสือไม่ได้อยู่ที่ตัว เดี๋ยวพอได้มาแล้วจะคัดลอกเนื้อหาเต็มๆ มาให้อ่านกันนะครับ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 415  เมื่อ 31 ม.ค. 18, 09:41

          ฉากพระเจ้าเอกทัศสวมเสื้อครุยทับชุดทรงพระบรรทมนั้นคงเพราะจะเรียกให้นางกำนัลนารีมาเข้าเฝ้า
แต่ที่รู้สึกติดขัดคือเมื่อพระองค์ประทับลงบนแท่นหน้าเตียงนั้น แม่นางแขยังคงนั่งหลังตรงอยู่เหนือพระองค์บนเตียง

          เรื่อง การจับต้อง ศีรษะของพระมหากษัตริย์นั้นมีข้อมูลที่นี่โดยอ.คึกฤทธิ์กล่าวว่า

http://www.fwdder.com/topic/15307

          ...ห้ามจับต้ององค์พระมหากษัตริย์อย่างเด็ดขาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งศีรษะและเส้นผมของพระมหากษัตริย์
ศีรษะของพระมหากษัตริย์เรียกว่า "พระเจ้า"  และเส้นผมของพระมหากษัตริย์เรียกว่า “เส้นพระเจ้า”...

             เรื่องที่พระองค์จะทรงเครื่องใหญ่(ตัดผม)นี้ก็จะต้องมีเจ้าหน้าที่ของทางราชการเกิดขึ้นเป็นกรมกรมหนึ่ง
เรียกว่า “กรมภูษามาลา”....
         
              เจ้าพนักงานภูษามาลาซึ่งแรกเริ่มเดิมทีก็คงจะได้มาจากผู้ที่มีสกุลสูง คือผู้ที่มีเลือดกษัตริย์ หรือผู้ที่เป็น
พราหมณ์ เมื่อตั้งแล้วก็สืบตระกูลกันเรื่อยมาอาจจะเรียกได้ว่าจนถึงปัจจุบันนี้ มีสิทธิจับต้ององค์พระมหากษัตริย์ได้....
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 416  เมื่อ 31 ม.ค. 18, 10:31

          ฉากพระเจ้าเอกทัศสวมเสื้อครุยทับชุดทรงพระบรรทมนั้นคงเพราะจะเรียกให้นางกำนัลนารีมาเข้าเฝ้า
แต่ที่รู้สึกติดขัดคือเมื่อพระองค์ประทับลงบนแท่นหน้าเตียงนั้น แม่นางแขยังคงนั่งหลังตรงอยู่เหนือพระองค์บนเตียง     .
   
       ถ้างั้นพระเจ้าเอกทัศคงถือธรรมเนียมผู้ดีฝรั่งอังกฤษ ว่าจะต้องสวมเสื้อคลุมทับชุดนอนให้เรียบร้อย เมื่อบัตเลอร์เปิดประตูเข้ามาในห้องนอน เพื่อยกถาดอาหารเช้าหรือเพื่อรับคำสั่งอะไรสักอย่าง  ยิ้มเท่ห์ ยิ้มเท่ห์ ยิ้มเท่ห์
       ที่น่าฉงนสนเท่ห์อีกอย่างก็คือ  เรื่องภูมิอากาศในศรีอโยธยา    ว่าทำไมแต่ละจุดแม้ห่างกันไม่กี่ก้าว อุณหภูมิถึงแตกต่างกันนัก 
       พิสูจน์ได้จากพระที่นั่งที่พระเจ้าเอกทัศบรรทมอยู่  อากาศหนาวจัด   แม้ว่านอนในพระแท่นแบบจีนที่มีม่านปิดมิดชิด พระองค์ก็ยังต้องสวมเสื้อคอปิดและภูษายาวถึงเท้า  คาดเข็มขัดรัดกุม(มีปั้นเหน่งอีกด้วย) เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น  ทับด้วยเสื้อครุยอีกตัวก็ยังไม่ร้อน   
       แต่ห่างออกมาไม่กี่ร้อยเมตร ในวังของเจ้าฟ้าสุทัศน์  อากาศร้อนอบอ้าวเสียจนเจ้าของวังต้องถอดเสื้อนอน   ร้อนกว่าสวนด้านนอกวังเสียอีก  เห็นได้จากพระพิมานไปนั่งเป่าขลุ่ยยังต้องสวมเสื้อแขนยาว  ถอดเสื้อไม่ได้ เพราะคงจะได้ไอหนาวมาจากพระที่นั่ง
      เลยไม่แน่ใจว่าอโยธยายุคนั้นมีฮีทเตอร์ที่พ่อค้าวาณิชส่งขึ้นมาถวายเจ้าฟ้าสุทัศน์ หรือติดตั้งแอร์ให้พระเจ้าเอกทัศเย็นเป็นพิเศษ   เครื่องไฟฟ้าน่ะมีแน่ เพราะมีปลั๊กมีโคมไฟฟ้าริมถนน  แอร์กับฮีทเตอร์ก็น่าจะมีได้เหมือนกัน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 417  เมื่อ 31 ม.ค. 18, 10:38

  เรื่องภูษามาลาจับต้องพระวรกายได้นั้น   น่าจะเป็นได้ตามความจำเป็น  เช่นเมื่อช่วยแต่งพระองค์ก็คงต้องสัมผัสพระกรบ้าง พระชงฆ์บ้าง เวลาสวมฉลองพระองค์  หลีกเลี่ยงไม่ได้      อีกอย่างคือเวลาทรงเครื่องใหญ่หรือตัดพระเกศา ช่างก็ต้องแตะต้องเส้นพระเจ้าตามความจำเป็นอีกเช่นกัน
   นิโกลาส์  แชร์แวส คงหมายถึงในลักษณะนี้    แต่ไม่ใช่ว่าจับพร่ำเพรื่อโดยมหาดเล็กทั่วไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 418  เมื่อ 31 ม.ค. 18, 10:42

เรื่องพระมหาเศวตฉัตร   หม่อมน้อยชี้แจงมาแล้วค่ะ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 419  เมื่อ 31 ม.ค. 18, 10:55

        ถ้างั้นพระเจ้าเอกทัศคงถือธรรมเนียมผู้ดีฝรั่งอังกฤษ ว่าจะต้องสวมเสื้อคลุมทับชุดนอนให้เรียบร้อย
เมื่อบัตเลอร์เปิดประตูเข้ามาในห้องนอน เพื่อยกถาดอาหารเช้าหรือเพื่อรับคำสั่งอะไรสักอย่าง       

        ยังดีที่ผกก.ไม่เลือกให้พระเจ้าเอกทัศสวมทับด้วยชุดยูกะตะ(ที่นางกำนัลนารีอาจจะนำมาทูลเกล้าถวายด้วย)
ไม่งั้นมีเฮไปกว่านี้
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 26 27 [28] 29 30 ... 37
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.056 วินาที กับ 20 คำสั่ง