เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 22 23 [24] 25 26 ... 37
  พิมพ์  
อ่าน: 70711 Dramatic license กับ ข้อเท็จจริง ในหนังอิงประวัติศาสตร์
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 345  เมื่อ 22 ม.ค. 18, 09:34

อ้างถึง
แล้วเวลาท่านจะข้ามแม่น้ำลำคลอง ท่านจะทำไงครับ ทั้งราชบุรีและตาก จะขี่ม้าไปจากอยุธยาต้องข้ามหลายจุดแน่ๆครับ อันนี้ไม่ได้แซวเล่นนะครับ สงสัยจริงๆ เพราะภูมิประเทศแบบนี้ ม้าไม่น่าจะเป็นพาหนะที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางไกล ถ้าจะใช้เฉพาะเข้าประจัญบานกันก็ว่าไปอย่าง หรือจะต้องมีบ่าวไปเตรียมเรือแพรอรับไว้ล่วงหน้า

มีข้อสงสัยครับ อาจารย์ครับ ในสมัยอยุธยานั้น มีสะพานข้ามแม่น้ำหรือไม่ครับ เนื่องจากตัวเมืองอยุธยาเป็นเกาะ การเข้าออกจากเกาะเมืองเขาทำอย่างไรครับ หากใช้เรือ เวลาเคลื่อนกองทหารจำนวนมากๆ จะสะดวกหรือครับ

ขอบพระคุณครับ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 346  เมื่อ 22 ม.ค. 18, 10:20

ต้องฝากถามท่านอื่นๆ ค่ะ   เช่นคุณหนุ่มสยาม ว่าอยุธยามีสะพานข้ามแม่น้ำไปฟากตรงข้ามหรือไม่
คิดว่าสมัยนั้น การใช้เรือสะดวกง่ายดาย ใครๆก็มีเรือ    สะพานคงไม่จำเป็นเพราะไม่มีพาหนะอื่นในการสัญจรข้ามไปมา   ถ้าเดินข้ามจากอีกฝั่ง ลงสะพานก็ต้องไปต่อเรือเข้าคลองต่างๆอยู่ดี

ในกรุงเทพ สะพานพุทธก็เพิ่งจะมีในรัชกาลที่ 7 นี่เอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 347  เมื่อ 22 ม.ค. 18, 10:47

ตอนที่ 11 (4/6)  มีฉากหนึ่งที่ดิฉันตะขิดตะขวงใจไม่หาย
เมื่อสามสหายได้เลื่อนตำแหน่งใหม่ๆ  ท่านทองด้วงเป็นหลวงยกกระบัตรราชบุรี   ท่านสินเป็นพระยาตาก (จากหลวงเป็นพระยาเลย ไม่ต้องเป็นพระ) และท่านบุนนาคเป็นพระ
ก็มาฉลองกันด้วยการไปเที่ยวซ่อง     แต่งกายแบบขุนนางสวมสร้อยตัว ก็ยังดีไม่เอาเสื้อครุยกับลอมพอกมาด้วย  เดินกันเข้าไปหาแม่ผีเสื้อราตรี
ก็คงอย่างคุณ SILA ว่าคือลงทุนทำฉากสถานบันเทิง "พัฒน์พงศ์แห่งศรีอยุธยา" แล้วทั้งที  ต้องถ่ายให้คุ้ม  จึงมีฉากนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่ในละคร
ไม่ได้คำนึงว่าเป็นการเฉลิมพระเกียรติสองพระมหากษัตริย์ไทย และหนึ่งต้นสกุลขุนนางที่ใหญ่สุดในรัตนโกสินทร์  หรือไม่ อย่างไร
การเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งถือเป็นเรื่องมงคล    พ่อแม่พี่น้องลูกเมียย่อมพากันตื่นเต้นยินดีไปด้วย   ใครได้ตำแหน่งก็ควรจะทำสิ่งมงคล เช่นไปไหว้พระ ไหว้พ่อแม่ญาติผู้ใหญ่ ทำบุญทำทาน
เอาละ  ถ้าเห็นว่าการทำบุญไหว้พระไหว้พ่อแม่ ไม่ดราม่าพอ   อยากให้เห็นสีสันของอยุธยา    สามสหายก็ไปที่อื่นที่ดีกว่านี้ไม่ได้หรือ
อย่าลืมว่าอยุธยาได้เป็นเมืองมรดกโลกในทุกวันนี้ ก็ด้วยสิ่งก่อสร้างงดงามล้ำค่าที่บรรพบุรุษสร้างเอาไว้  ไม่ใช่ด้วยสถานที่อโคจรอย่างในเรื่อง  และที่สำคัญคือออกแบบมาให้เห็นเป็นจีนล้วนๆ ทั้งผู้หญิงทั้งตัวซ่อง   ราวกับอยู่ในหนังฮ่องกง  มันเป็นวัฒนธรรมอยุธยาตรงไหน
แม้จะทำให้ตอนจบเห็นว่า ท่านสินและท่านทองด้วงเดินเข้าไปแล้วกอดคอโซเซกันเดินกลับมา  บอกว่าไม่ต้องตาต้องใจนางคนไหนสักคน กลับบ้านดีกว่า    มันก็ไม่ได้ลบล้างความจริงว่า ท่านเหล่านี้ไปสถานที่อโคจรเพื่อฉลองยศตำแหน่งอันมีเกียรติ  ซึ่งพระราชทานจากพระมหากษัตริย์อยู่ดี


บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 348  เมื่อ 22 ม.ค. 18, 10:57

เห็นด้วยครับ ละครเรื่องนี้ได้โฆษณาไว้ว่า เป็นการเทิดพระเกียรติบูรพกษัตริย์ แต่ฉากเที่ยวหอโคมแดงนี้ ได้รับการกล่าวถึงหลายครั้งมาก ออกจะมากเกินไป ตอนสินมาถึงกรุงศรีครั้งแรก พาเพื่อนมาเที่ยวก็ยังพอทำใจได้ แต่หลังจากนั้นก็พูดถึงกันหรือยังมาเที่ยวอีกเสมอๆ จะออกแนวหมกมุ่นเลยครับ ขนาดกำลังจะรบอยู่แล้ว ยังชวนกันพูดถึง ผมเห็นว่ามีการนำเสนอภาพนี้เยอะเกินไป ซึ่งไม่เป็นภาพที่เฉลิมพระเกียรติแต่อย่างใดครับ
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 349  เมื่อ 22 ม.ค. 18, 11:40


ในหนังสือ จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม เขียนโดย มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร ตอนที่ ๒ บทที่ ๑๕ เขียนถึงที่มาของหญิงโสเภณีสมัยอยุธยาไว้ว่า

ถ้าบุตรีคนใดกระทำชั่ว ขุนนางผู้บิดาก็ขายบุตรีส่งให้แก่ชายผู้หนึ่งซึ่งมีความชอบธรรมที่จะเกณฑ์ให้สตรีที่ตนซื้อมานั้น เป็นหญิงแพศยาหาเงินได้ โดยชายผู้มีชื่อนั้นต้องเสียเงินภาษีถวายพระมหากษัตริย์ กล่าวกันว่าชายผู้นี้มีหญิงโสเภณีอยู่ในปกครองของตนถึง ๖๐๐ นาง ล้วนแต่เป็นบุตรีขุนนางที่ขึ้นขึ้นตาทั้งนั้น อนึ่ง บุคคลผู้นี้ยังรับซื้อภรรยาที่สามีขายส่งลงเป็นทาสี ด้วยโทษคบชู้สู่ชายอีกด้วย

และในตอนที่ ๓ บทที่ ๔ กล่าวไว้อีกว่า

บรรดาผู้ที่มีบรรดาศักดิ์สูงนั้นหาใช่เจ้าใหญ่นายโตเสมอไปไม่ เช่นเจ้ามนุษย์อัปรีย์ที่ซื้อผู้หญิง และเด็กสาวมาฝึกให้เป็นหญิงนครโสเภณีคนนั้น ก็ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ออกญา เรียกกันว่า ออกญามีน (Oc-ya Meen) เป็นบุคคลที่ได้รับการดูถูกดูแคลนมากที่สุด มีแต่พวกหนุ่มลามกเท่านั้นที่ไปติดต่อด้วย

จากหลักฐานที่คุณเพ็ญชมพูหามา  แสดงว่า
1  โสเภณีสมัยอยุธยา เป็นสาวไทย 
2  พ่อเล้าแม้ว่าหาเงินได้สูงมาก  เสียภาษีให้รัฐมากมาย จนได้เป็นขุนนางชั้นพระยา  แต่ก็เป็นที่รังเกียจของสังคม ไม่มีใครคบค้าด้วย    พวกที่ไปก็คือลูกค้าหนุ่มๆคึกคะนองเท่านั้น
ก็ไม่น่าที่พระเอกจะเดินหน้าชื่นตาบานไปเที่ยวกันหรือเล่าสู่กันฟังครั้งแล้วครั้งเล่า  ราวกับเป็นสถานที่บันเทิงอันมีเกียรติ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 350  เมื่อ 22 ม.ค. 18, 14:02

อ้างถึง
แล้วเวลาท่านจะข้ามแม่น้ำลำคลอง ท่านจะทำไงครับ ทั้งราชบุรีและตาก จะขี่ม้าไปจากอยุธยาต้องข้ามหลายจุดแน่ๆครับ อันนี้ไม่ได้แซวเล่นนะครับ สงสัยจริงๆ เพราะภูมิประเทศแบบนี้ ม้าไม่น่าจะเป็นพาหนะที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางไกล ถ้าจะใช้เฉพาะเข้าประจัญบานกันก็ว่าไปอย่าง หรือจะต้องมีบ่าวไปเตรียมเรือแพรอรับไว้ล่วงหน้า

มีข้อสงสัยครับ อาจารย์ครับ ในสมัยอยุธยานั้น มีสะพานข้ามแม่น้ำหรือไม่ครับ เนื่องจากตัวเมืองอยุธยาเป็นเกาะ การเข้าออกจากเกาะเมืองเขาทำอย่างไรครับ หากใช้เรือ เวลาเคลื่อนกองทหารจำนวนมากๆ จะสะดวกหรือครับ

ขอบพระคุณครับ  

น่าจะมีตรงหัวรอนะครับ แต่สะพานข้ามแม่น้ำในที่อื่นๆยังนึกไม่ออกว่ามีที่ไหน โดยสภาพภูมิประเทศและสภาพสังคม คนเดินทางโดยเรือกันทั้งนั้นครับ สะพานมีความจำเป็นน้อย ถ้าจะมีก็อาจจะเป็นสะพานข้ามคลองในชุมชนครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 351  เมื่อ 22 ม.ค. 18, 18:31


สะพานทำนบหัวรอ ข้ามแม่น้ำ ใกล้กับป้อมมหาชัย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองครับ
ตรงนี้เป็นจุดที่พม่ามุ่งเข้าตีเมืองครับ เพราะสามารถถมดินข้ามน้ำมาได้

ภาพแสดงแผนที่อยุธยาของหมอแกมเฟอร์


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 352  เมื่อ 23 ม.ค. 18, 08:56

จาก   หนังสือ คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม  เอกสารจากหอหลวง หน้า ๒-๓

อนึ่งกรุงศรีอยุทธยานั้นมีแม่น้ำล้อมรอบกำแพงพระมหานคร มีทำนบรอข้ามแม่น้ำมาแต่ฝั่งฟากตะวันออกเฉียงเหนือ เข้ามาที่ชานกำแพงพระนครตรงพระราชวังจันทน์บวร ริมป้อมมหาไชยใกล้ฉางวังน่า ทำนบรอนั้นกว้างสามวา มีช่องกลางแม่น้ำสำหรับเรือใหญ่น้อยไปมาได้ในระหว่างนั้น บนทำนบรอทั้งสองฝั่งมีกระดานปูเป็นพื้น มีลูกฟูกไม้ห่างศอกหนึ่งเป็นที่ลาดลงมาถึงตลิ่งทั้งสองฟาก ที่กลางนั้นปูกระดานเปนเหมือนตะพานช้าง ทำนบรอนี้สำหรับสมณพราหมณจาริยอณาประชาราษฎร และช้างม้าเกวียนต่างเดินเข้าออกในพระนครแต่ทางเดียว เรียกกันว่าหัวรอ ที่เชิงลาดตะพานทำนบนั้นมีเจ้าพนักงานกรมพระนครบาลรักษาอยู่ที่ศาลาเชิงทำนบ ห้ามไม้ให้ช้างม้าเกวียนกระบือต่างโคเดินเลยเป็นอันขาด ยกเว้นไว้แต่ราชการหลวงเท่านั้นเดินได้ แต่มีบาดหมายมาบอกก่อน


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 353  เมื่อ 23 ม.ค. 18, 09:02

ทำนบรอนี้มีขึ้นเมื่อจุลศักราช ๙๑๘ ปีมะโรงอัฐศกในแผ่นดินสมเดจพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชพระเจ้าแผ่นดินที่ ๑๖ ในกรุงศรีอยุธยาเพราะครั้งนั้นพระเจ้ากรุงหงษาวดียกกองทัพมาทำสงครามล้อมกรุง แล้วมอญเอาไม้ตาลโตนดมาปักเปนทำนบรอ ถมดินทำตะพานเรือก ข้ามแม่น้ำเข้ากรุงได้ ภายหลังต่อมาก็ไม่ได้ทำลายรื้อถอน เอาไว้ใช้เปนตะพานใหญ่ข้ามแม่น้ำเข้ากรุงได้โดยสดวก เมื่อทำนบรอเก่าของพวกมอญนั้นผุหักพังไป ไทยก็ทำซ่อมแปลงผลัดเปลี่ยนต่อมาเนือง ๆ เปนตะพานใหญ่

บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 354  เมื่อ 23 ม.ค. 18, 10:09

ตอนที่ 11 (4/6)  มีฉากหนึ่งที่ดิฉันตะขิดตะขวงใจไม่หาย
เมื่อสามสหายได้เลื่อนตำแหน่งใหม่ๆ..ก็มาฉลองกันด้วยการไปเที่ยวซ่อง..เดินกันเข้าไปหาแม่ผีเสื้อราตรี
ก็คงอย่างคุณ SILA ว่าคือลงทุนทำฉากสถานบันเทิง "พัฒน์พงศ์แห่งศรีอยุธยา" แล้วทั้งที  ต้องถ่ายให้คุ้ม 
จึงมีฉากนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่ในละคร..

            กลับไปท่องราตรีศรีอโยธยาอีกรอบ, เคยผ่านหูเสียงผกก.บอกว่า ตั้งใจเขียนบทแสดงความเป็นมนุษย์
ของตัวละคร(ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์) ดังนั้นจึงจะมองว่า
            ในฉากนี้,สามหนุ่มสามเชื้อสายในยามศึกสงครามครั้งแรกในชีวิตที่มาทีแบบใหญ่ยิ่งน่าเกรงขาม ชีวิตอยู่
ระหว่างความเป็น,ความตาย สัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์จึงได้ปรากฏสำแดงออกมา ทั้ง death instinct ที่ขับ
ให้พวกเขาออกรบอย่างยินดีตายเพื่อบ้านเมือง ในขณะที่ life instinct สัญชาตญาณการดำรงเผ่าพันธุ์ขับให้ไปท่อง
ราตรีและแวะเวียนผ่านย่านผีเสื้อราตรี ซึ่งโดยคห.ส่วนตัวก็รู้สึกว่านาน,มากไปโดยเฉพาะในซีนหลังนี้
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 355  เมื่อ 23 ม.ค. 18, 13:57

มีคำถามอีกแล้วครับ แหะๆ

อ้างถึง
ในขณะที่ life instinct สัญชาตญาณการดำรงเผ่าพันธุ์ขับให้ไปท่องราตรีและแวะเวียนผ่านย่านผีเสื้อราตรี

อันนี้ ผมเข้าใจครับ เรื่องเพศเป็นแรงขับพื้นฐานของมนุษย์อยู่แล้ว หากจะสื่อว่าสามท่านนั้นก็เป็นมนุษย์ธรรมดา ย่อมมีแรงปรารถนาไปได้ต่างๆ อย่างนี้ก็พอเข้าใจได้ครับ แต่ถึงจะมีอารมณ์เพศ แต่การแสดงออกเราก็สามารถเขียนบทให้ไปแสดงออกกับคนที่เหมาะสมกว่า เช่น ภริยาของท่านเองก็ได้นี่ครับ เขียนบทเป็นว่า เมื่อรบกลับมา ก็กลับมาบ้าน พบภริยา มีฉากแสดงอารมณ์ของฝ่ายที่ต้องอยู่เบื้องหลัง ที่ต้องชะเง้อคอยว่า สามีตนจะกลับมาเป็นตัว หรือเป็นห่อ เมื่อเห็นว่า กลับมาเป็นตัว นางก็ร้ำไห้ด้วยความปิติ น้ำตาเคล้าแสงไต้ อะไรก็ว่าไปครับ ให้ได้ภาพวิจิตรตามสไตล์ท่านผู้กำกับ แบบว่า แต่งเครื่องครบผัดหน้าคอยท่าผัว ปักเทียนเยอะๆ ให้ได้แสงวับแวมงามจับใจอย่างไรก็ว่าไป และในฉากนี้เมื่อเป็นการร่วมห้องหอกับภริยาจะจัดฉากให้หวิววาบสักหน่อย สไตล์จันดารา หรือแม่เบี้ย ก็จะไม่ผิดแต่อย่างใดครับ  

ทีนี้ ผมก็เลยสงสัยขึ้นมาว่า ในช่วงเวลานั้น ท่านสิน ท่านทองด้วง และท่านบุนนาค ตัวจริง (ถ้าในละคร ไม่ได้กล่าวไว้) ท่านสมรสมีภริยากันหรือยังครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 356  เมื่อ 23 ม.ค. 18, 16:01

ดูจากพระราชประวัติพระพุทธยอดฟ้าฯ พระพุทธเลิศหล้าฯทรงประสูติ 2310 ก่อนหน้าพระองค์ยังมีพระเชษฐาพระภคินีอีก 3 พระองค์ ก็ก้ำกึ่งนะครับว่าปี 2303 ท่านทองด้วงจะมีบุตรธิดาหรือยัง

ส่วนท่านสิน เจ้าฟ้าจุ้ยพระราชโอรสองค์แรก ประสูติปีใดไม่ทราบ แต่ 2318 ทรงกรมแล้ว ผมคิดว่าน่าจะประสูติก่อน 2303 นะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 357  เมื่อ 24 ม.ค. 18, 11:15

พ.ศ. 2303  ท่านทองด้วงอายุ 24  น่าจะมีภรรยาแล้วนะคะ  ท่านสินก็เช่นกัน   
ตามกฎหมายอยุธยา   ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคน    life instinct คงจะไม่ต้องผลักดันให้ไปถึงสำนักผีเสื้อราตรี
คนเราถ้ามีข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว ที่เลือกหามาได้ตามใจชอบ     ก็คงไม่ดิ้นรนไปใช้ของสาธารณะ

อ้างถึง
กลับไปท่องราตรีศรีอโยธยาอีกรอบ, เคยผ่านหูเสียงผกก.บอกว่า ตั้งใจเขียนบทแสดงความเป็นมนุษย์
ของตัวละคร(ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์)
อ่านที่คุณหมอ SILA บอกไว้ข้างบนเลยนึกอะไรขึ้นมาได้อีกข้อหนึ่งค่ะ
หลักปฏิบัติของการเขียนเรื่อง   มีอยู่ข้อหนึ่ง  คือ เหตุการณ์หรือฉาก หรือพฤติกรรมอะไรก็ตามของตัวละครเอก จะต้องนำเสนอเฉพาะส่วนที่มีผลต่อการดำเนินเรื่อง หรือสำคัญต่อชีวิตของพวกเขาเท่านั้น   ไม่ใช่ว่าอยากหยิบเหตุการณ์อะไรมาเสนอ ก็ทำได้ตามใจชอบ  เพราะถ้าทำตามใจชอบแบบนั้น  นักเขียนจะคุมการดำเนินเรื่องให้ต่อเนื่องกันไม่ได้

ทั้งนี้  เป็นความแตกต่างระหว่างมนุษย์จริงกับตัวละคร   

ในชีวิตจริง กิจวัตรของมนุษย์แต่ละคนเป็นสิ่งที่เว้นไม่ได้   ไม่ว่าจะอยากทำหรือไม่ ก็ต้องทำ     เช่นกิจวัตรประจำวัน   อาบน้ำ แปรงฟัน เข้าห้องน้ำ  กินอาหาร ฯลฯ อะไรพวกนี้    มันเป็นสิ่งที่ข้ามไปไม่ได้
แต่ในนิยาย หรือละครก็ตาม   ตัวละครเว้นสิ่งเหล่านี้ได้   เพราะมันไม่สำคัญกับการดำเนินเรื่อง     ไม่จำเป็นที่นักเขียนจะต้องเขียนฉากบรรยายว่าคุณชายกลางตื่นขึ้นมาแล้วไปอาบน้ำแปรงฟัน  ก่อนออกจากบ้านทรายทองไปหาพจมาน     หรือว่ามีฉากรพินทร์ ไพรวัลย์ต้องผลัดผ้านุ่งผ้าขาวม้า ซักเสื้อกางเกงอยู่ริมลำธาร   เพื่อแสดงความสมจริงของการเดินป่า
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดคำถามว่า สามสหายไปเที่ยวสำนักโคมแดง มันมีผลอะไรกับการดำเนินเรื่อง     ในเมื่อตัวละครเอกเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อแสดงวีรกรรม     ตามที่ประกาศไว้ว่าเป็นจุดมุ่งหมายของละคร
ในเมื่ออ้างว่าแสดงความเป็นมนุษย์ปุถุชน   พฤติกรรมด้านนี้สะท้อนความกล้าหาญอดทนของมนุษย์ในการต่อสู้เพื่อกอบกู้บ้านเมืองขึ้นมาบ้างไหม     หรือว่าทำให้เรามองท่านสิน ท่านทองด้วง ท่านบุนนาคด้วยความนับถืออย่างใดขึ้นมาบ้าง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 358  เมื่อ 24 ม.ค. 18, 12:15

ดูจากพระราชประวัติพระพุทธยอดฟ้าฯ พระพุทธเลิศหล้าฯทรงประสูติ 2310 ก่อนหน้าพระองค์ยังมีพระเชษฐาพระภคินีอีก 3 พระองค์ ก็ก้ำกึ่งนะครับว่าปี 2303 ท่านทองด้วงจะมีบุตรธิดาหรือยัง

พ.ศ. 2303  ท่านทองด้วงอายุ 24  น่าจะมีภรรยาแล้วนะคะ

คุณวิกกี้เธอเล่าว่าคุณทองด้วงเข้าพิธีวิวาห์กับคุณนาคเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๔  ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๓๐๓ คุณทองด้วงยังเป็นโสดอยู่

คุณนาคนั้นมีสิริโฉมงดงามเป็นกุลสตรีครองตัวเองอยู่เป็นสาวโสดมาจนอายุได้ ๒๓ ปี เพราะบิดามารดาของท่านยังมองไม่เห็นใครในละแวกนั้นที่เหมาะสมให้เป็นคู่ครองได้ จนกระทั่งมีข่าวว่า มีข้าหลวงเที่ยวไปตามหัวเมืองและตำบลใหญ่ ๆ ในชนบท สืบหาธิดาผู้มีเทือกแถวที่ดีและมีลักษณะงดงามเพื่อจะจดชื่อส่งเข้าไปถวายพระเจ้าแผ่นดินให้ทรงเลือก บิดามารดาของคุณนาคจึงต้องรีบขวนขวายจัดหาคู่ครองให้โดยเร็ว เพื่อพ้นจากการถูกส่งเข้าไปเป็นนางใน ประจวบกับหลวงยกกระบัตร (ทองด้วง)  ข้าราชการหนุ่มรูปงามจากราชบุรีนั่งเรือผ่านมา เห็นคุณนาคกำลังปีนต้นไม้ในสวนของบิดาที่ริมคลองเพื่อเก็บผลไม้ แล้วพลัดตกลงมาจุกเสียดอยู่โคนต้น หลวงยกกระบัตรจึงให้หยุดเรือลงไปช่วยแต่อาการไม่ดีขึ้นจึงอุ้มคุณนาคลงเรือนำไปส่งบ้าน อาการของคุณนาคจึงคลายเป็นปกติ

การถูกเนื้อต้องตัวกันในสมัยนั้นถือเป็นการไม่งดงามสำหรับกุลสตรี หลวงยกกระบัตรจึงต้องให้ท่านบิดาคือพระอักษรสุนทร (ทองดี) มาสู่ขอคุณนาคจากพระยาแม่กลอง ผู้เป็นญาติผู้ใหญ่ในสกุลบางช้าง ก็มีการตกลงยินยอมและได้จัดการวิวาหมงคลขึ้นราวปี พ.ศ. ๒๓๐๔ ซึ่งขณะนั้นหลวงยกกระบัตรมีอายุได้ ๒๕ ปี คุณนาค มีอายุ ๒๔ ปี


https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 359  เมื่อ 24 ม.ค. 18, 12:34

คุณชายคึกฤทธิ์เล่าถึงความขี้หึงของคุณนาคไว้ในหนังสือ "โครงกระดูกในตู้" ว่า

เหตุเกิดเมื่อครั้งกรุงธนบุรี เจ้าพระยาจักรีกลับจากราชการสงคราม คุณหญิงนาคก็นั่งคอยรับเจ้าคุณอยู่บนเฉลียงใต้พาไลเรือนหลังใหญ่ หันหน้าไปทางบันไดขึ้นเรือน

คุณนวลน้องสาวคุณหญิงซึ่งกำลังเป็นสาวเต็มตัวอุ้มคุณฉิม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ) ซึ่งยังทรงพระเยาว์ เป็นเด็กเล็ก ไปนั่งคอยรับกลางนอกชาน ให้หลานชายนั่งบนตักหันหน้าออกทางบันไดเรือนและหันหลังให้คุณหญิงพี่สาว

เจ้าพระยาจักรีขึ้นจากเรือแล้วก็เดินตรงขึ้นบันไดบ้าน เดินผ่านนอกชานมา พอถึงที่คุณนวลนั่งอยู่ก็ก้มตัวลงจับอะไรก็ไม่รู้

คุณหญิงท่านว่า เจ้าคุณจับนมน้องสาวฉัน

เจ้าคุณบอกว่า เปล่า ฉันจับแก้มลูกฉันต่างหาก

แก้มคุณฉิมกับนมคุณนวลนั้นอยู่ในระดับเดียวกัน และคุณนวลนั่งหันหลังให้คุณหญิงนาค เจ้าคุณท่านก็แก้ตัวหลุด

แต่อีกสองวันต่อมา คุณหญิงท่านก็ปรารภขึ้นว่า หม่อมบุนนาคทนายคนสนิทของเจ้าคุณนั้นเป็นพ่อหม้ายอยู่ น่าจะปลูกฝั่งเสียให้เป็นฝั่งเป็นฝา เขาก็เป็นคนมีตระกูล สืบเชื้อสายมาแต่ขุนนางกรุงเก่า ถ้ายกแม่นวลน้องสาวฉันให้เสียก็จะสมน้ำสมเนื้อกันจะได้พึ่งพาอาศัยกันต่อไป เจ้าคุณจะว่าอย่างไรคะ? ท่านเจ้าคุณท่านก็ไม่ว่า

โดยสรุปก็คือหม่อมบุนนาคหรือ “ลูกแขก” ซึ่งเป็นสหายกันมาตั้งแต่กรุงเก่าก็ได้แต่งงานกับคุณนวลซึ่งเป็น “ลูกมอญ”

คุณชายคึกฤทธิ์จบท้ายว่า “เพลงแขกมอญบางช้างก็มีกำเนิดมาจากนี้เพราะฝ่ายหนึ่งเป็นแขก อีกฝ่ายหนึ่งเป็นมอญ"


https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_6684

ฉากเหล่านี้แหละที่น่าจะบรรจุไว้ในละคร เพื่อแสดงความเป็นมนุษย์ของตัวละคร   ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 22 23 [24] 25 26 ... 37
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.084 วินาที กับ 20 คำสั่ง