เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 ... 37
  พิมพ์  
อ่าน: 70643 Dramatic license กับ ข้อเท็จจริง ในหนังอิงประวัติศาสตร์
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 180  เมื่อ 20 ธ.ค. 17, 14:59

เอ๋า !!! ผมก็ดันกระต่ายตื่นตูมเกินเหตุ +_+ แม่ของพลอยมีบทสามีใหม่นิดเดียวจริง ๆ ด้วย นี่ผมกำลังหาหนังสือหม่อมศรีพรหมาอยู่ (รู้สึกว่าตนเองชอบสมัย ร.5ถึง ร.7 เป็นพิเศษ) แต่ยังหาอ่านตอนกลับจากรัสเซียไม่ได้

ให้ท่านนริสดูละครไปพลาง ๆ ก่อนแล้วกัน เดี๋ยวค่อยเร่งสปีดตามท้ายขบวน ฮ่า ฮ่า  ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 181  เมื่อ 20 ธ.ค. 17, 15:13

ในละครตอนที่สาม ตอนที่ทั้งสามท่านวิ่งแข่งกันนั้น ท่านวิ่งจากด้านในกำแพงครับ เหตุผลเพราะตัวละครทั้งสาม สามารถวิ่งขึ้นบันใด ขึ้นไปบนเชิงเทิน และวิ่งต่อขึ้นไปบนตัวป้อมได้ทันทีครับ ฉะนั้น ตลาดที่มีโรงละครโสเภณีในละคร จึงต้องอยู่ภายในกำแพงเมืองครับ

ข้อสันนิษฐานของคุณนริศก็อาจเป็นไปได้

ในหนังสือ จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม เขียนโดย มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร ตอนที่ ๒ บทที่ ๑๕ เขียนถึงที่มาของหญิงโสเภณีสมัยอยุธยาไว้ว่า

ถ้าบุตรีคนใดกระทำชั่ว ขุนนางผู้บิดาก็ขายบุตรีส่งให้แก่ชายผู้หนึ่งซึ่งมีความชอบธรรมที่จะเกณฑ์ให้สตรีที่ตนซื้อมานั้น เป็นหญิงแพศยาหาเงินได้ โดยชายผู้มีชื่อนั้นต้องเสียเงินภาษีถวายพระมหากษัตริย์ กล่าวกันว่าชายผู้นี้มีหญิงโสเภณีอยู่ในปกครองของตนถึง ๖๐๐ นาง ล้วนแต่เป็นบุตรีขุนนางที่ขึ้นขึ้นตาทั้งนั้น อนึ่ง บุคคลผู้นี้ยังรับซื้อภรรยาที่สามีขายส่งลงเป็นทาสี ด้วยโทษคบชู้สู่ชายอีกด้วย

และในตอนที่ ๓ บทที่ ๔ กล่าวไว้อีกว่า

บรรดาผู้ที่มีบรรดาศักดิ์สูงนั้นหาใช่เจ้าใหญ่นายโตเสมอไปไม่ เช่นเจ้ามนุษย์อัปรีย์ที่ซื้อผู้หญิง และเด็กสาวมาฝึกให้เป็นหญิงนครโสเภณีคนนั้น ก็ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น ออกญา เรียกกันว่า ออกญามีน (Oc-ya Meen) เป็นบุคคลที่ได้รับการดูถูกดูแคลนมากที่สุด มีแต่พวกหนุ่มลามกเท่านั้นที่ไปติดต่อด้วย

ออกญามีนน่าจะตั้งโรงรับจ้างทำชำเราแก่บุรุษหลายโรง คงมีตั้งอยู่ในกำแพงเมืองบ้างหรอก   ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 182  เมื่อ 21 ธ.ค. 17, 17:33



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 183  เมื่อ 21 ธ.ค. 17, 17:47

คลิปข้างบนนี้เป็นตอนสามสหายไปเที่ยวชมราตรีกรุงศรีอยุธยากันตามประสาชายหนุ่ม     ดิฉันพยายามคิดว่าทำไมถึงเลือกฉากละแวกซ่องโสเภณีมาเป็นตัวอย่างความเจริญของกรุงศรี  ก็ยังหาคำตอบไม่ได้    ได้แต่เดาว่าฉากตลาดก็มีแล้ว  ฉากวังก็มีแล้ว  ฉากบ้านก็มีแล้ว  ก็คงจะต้องมีฉากอื่นที่ไม่ซ้ำกัน  เลยได้ตรอกโคมแดงมาเป็นตัวอย่าง

ที่่จริงแล้ว  ความบันเทิงยามค่ำคืนของชาวเมือง ยังพอจะหาตัวอย่างได้จากสมัยรัตนโกสินทร์ 3 แผ่นดินแรก   การสืบเนื่องวัฒนธรรมยังคงต่อกันมาจากอยุธยาก่อนอิทธิพลตะวันตกจะเข้ามาในรัชกาลที่ 4     กลางค่ำกลางคืนของกรุงรัตนโกสินทร์ครื้นเครงกันยังไงแบบไหน  หาอ่านได้จากนิราศสุพรรณ ของสุนทรภู่

แซ่เสียงเวียงราชก้อง   กังสดาน
เหง่งหงั่งระฆังขาน           แข่งฆ้อง
สังข์แตรแซ่เสียงประสาร   สังคีด ดีดเอย
ยามดึกครึกครื้นก้อง          ปี่แก้วแจ้วเสียง

ความบันเทิงของบ้านเมืองในยามราตรี คือเสียงดนตรี   ตามบ้านช่องขุนนางมีการหัดมโหรี หัดละครซึ่งซบเซาจากในวังหลวงมาอยู่ตามบ้านขุนนางแทน   ในสมัยอยุธยา ละครในวังเฟื่องฟู  ขนาดบรรดานางละครได้ดิบได้ดีเป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามกันหลายคน    ส่วนข้างนอกวังนั้นมีได้ก็คือละครนอก  ละครชาตรี และอะไรอีกหลายอย่างที่เป็นความบันเทิงแบบชาวบ้าน   ทั้งหมดนี้เป็นวัฒนธรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจมากกว่าฉากตรอกโคมแดง     
จึงมีความเห็นว่า ถ้าทำละครเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระมหาบูรพกษัตริย์  แล้วมีฉากที่สองพระองค์กับหนึ่งบรรพบุรุษของตระกูลขุนนางใหญ่สุดของรัตนโกสินทร์มาเดินเที่ยวเตร็ดเตร่ตามสถานที่ อันเรียกได้ว่า "อโคจร"  แม้จะมีการออกตัวให้ตัวละครพูดว่าไม่มีอารมณ์เพราะห่วงบ้านเมือง  มันก็ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกดิฉันดีขึ้น   แต่นี่ก็เป็นความเห็นส่วนตัว  ท่านอื่นอาจจะไม่รู้สึกอะไรก็ได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 184  เมื่อ 21 ธ.ค. 17, 18:44

      ข้อเท็จจริงอีกอย่าง ที่ตรงข้ามกับในฉากนี้ คือเมื่อตัวละครหลวงยกกระบัตร(สิน) มหาดเล็กทองด้วงและมหาดเล็กบุนนาคพูดกันว่าเป็นสหายรักของกันและกัน    ตรงกันข้ามกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันตรงกันว่า ตลอดสมัยธนบุรี  นายบุนนาคไม่สมัครใจเข้ารับราชการกับพระเจ้าตากสินตลอด 15 ปี  คงอยู่นอกวังในฐานะทนายหรือคนรับใช้ประจำตัวของเจ้าพระยาจักรี  ซึ่งจะว่าไปก็ไม่สมศักดิ์ศรีของเชื้อสายเจ้าพระยาเฉกอะหมัดเสียเลย
      ต่อให้เราไม่เชื่อเรื่องโครงกระดูกในตู้ และไม่เชื่อประวัติของต้นสกุลบุนนาค    ้เราก็คงต้องเชื่ออย่างน้อยหนึ่งเรื่องที่เป็นข้อเท็จจริง คือเมื่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์  นายบุนนาคได้เป็นเจ้าพระยามหาเสนา เสนาบดีกลาโหม     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดผู้รบทัพจับศึกเก่ง  ท่านคงไม่ตั้งใครขึ้นมาว่าการกลาโหมง่ายๆเพียงเพราะเคยรับใช้กันมาในบ้าน     เจ้าพระยามหาเสนาจะต้องแสดงฝีไม้ลายมือให้ท่านเห็นตลอด 15 ปี ว่าเก่งด้านการศึก   ถ้าไม่รบเก่งก็ต้องเก่งด้านยุทธศาสตร์  ไม่งั้นคงนั่งเก้าอี้เสนาบดีปกครองกองทัพไม่ได้
      ถ้าอย่างนั้นทำไมนายบุนนาคถึงต้องปกปิดตัวเองอยู่ตลอด 15 ปี      คำตอบก็คือ ท่านกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน นอกจากห่างไกลจากความเป็นสหายรัก  น่าจะมีเรื่องบาดหมางกันอยู่ไม่น้อยตั้งแต่สมัยปลายอยุธยา     ท่านจึงไม่สมัครเข้ารับราชการ    สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ต้องทรงทราบดี   แต่ทรงทำไม่รู้ไม่ชี้เสีย    เจ้าพระยาจักรีซึ่งเป็น"คนกลาง" ระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ไม่อาจสมานรอยร้าวได้   แสดงว่าเรื่องบาดหมางนั้นแม้ไม่ถึงขั้นคอขาดบาดตาย เพราะนายบุนนาคยังอยู่รอดปลอดภัยสบายดีมาตลอดรัชสมัยธนบุรี   แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเล็กชนิดที่เจ้าพระยาจักรีจะทูลขอพระราชทานอภัยโทษได้
     ในละคร ถ้าจะมีสหายรักจริงๆ ที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์     ก็สมควรเป็นหลวงยกกระบัตรสิน  หลวงยกกระบัตรราชบุรี(ทองด้วง) และนายสุดจินดา(บุญมา) น้องชาย     คิดขึ้นมาก็น่าเสียดายอีกแล้วค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 185  เมื่อ 21 ธ.ค. 17, 19:01

ในฉากตอนที่ 4/1 ข้างบนนี้    หลวงยกกระบัตรเมืองตากตอบคำถามนายบุนนาคที่ถามว่า เมื่อไรเราสามคนจะมีโอกาสพบกันอีก   คุณหลวงก็ตอบว่า "พบกันเมื่อชาติต้องการ"
ฟังแล้วนึกถึงคุณหลวงวิจิตรวาทการและจอมพล ป. ขึ้นมาทันที
เพราะทัศนะเรื่องชาติ(นิยม) เป็นนโยบายของท่านจอมพล ที่มีคุณหลวงเป็นแกนนำในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้คนไทยรู้จัก ในยุค "วัธนธัม" ช่วงก่อนญี่ปุ่นบุกไทยนิดเดียว
สมัยอยุธยา ไม่มีนโยบายชาตินิยม   แม้แต่มาถึงรัตนโกสินทร์  สุนทรภู่ก็ไม่เคยแต่งว่า "ขอรักชาติจนตัวตายวายชีวา"   กวีเอกของเราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคำว่าชาตินั้นมีความหมายอย่างอื่นนอกไปจากแปลว่า "กำเนิด"    ความหมายนี้ยังหลงเหลืออยู่ในคำว่า "ชาติกำเนิด"  หรือชื่อ "สุชาติ" ที่แปลว่ากำเนิดดี  คือเป็นลูกผู้ดีมีสกุล   ถ้าเป็นผู้หญิงก็ชื่อสุชาดา   
และอีกคำที่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว คือคำว่า อุภโตสุชาติ  ใช้สำหรับเจ้าฟ้าที่ทรงมีพระชาติกำเนิดประเสริฐทั้งฝ่ายพระชนกชนนี  คือพระมารดาเป็นพระองค์เจ้า   
ถ้าเกิดสงสัยว่า ถ้าไม่มีคำว่าชาติ สมัยอยุธยา  งั้นคนอยุธยาก็ไม่รู้จักรักชาติน่ะซิ   ก็ไม่ใช่อีก    คนอยุธยาหรือคนบ้านเมืองไหนๆเขาก็ย่อมผูกพันกับถิ่นกำเนิดและบ้านช่องที่เขาอยู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ    ใครจะมารุกรานก็ต้องต่อสู้กันให้แพ้ชนะ ไม่ใช่ยกให้ง่ายๆ  ดังจะเห็นได้จากวีรกรรมของชาวบ้านบางระจัน    แต่เขาไม่พูดคำว่า"ชาติ" เท่านั้น   เพราะสมัยนั้นยังไม่มีชาติ มีแต่อาณาจักร  มีแต่บ้านเมือง  บนผืนแผ่นดินแหลมทองสมัยนั้นก็มีหลายอาณาจักร เช่นล้านนาอยู่ทางเหนือ  ไทรบุรีอยู่ทางใต้ เป็นต้น   
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 186  เมื่อ 21 ธ.ค. 17, 19:06


เมื่อพิจารณาดูมุมมองที่สามสหายยืนบนป้อมแล้วหันกลับไปมองดูตัวเมืองศรีอโยธยาอีกครั้งหนึ่ง
เราอาจเปรียบเทียบทิศทางมองกับแบบจำลองได้ตามแนวเส้นสีส้ม

ปัญหาคือจากมุมมองดังกล่าว ไม่มีป้อมอยู่ในทิศทางนั้นจนกระทั่งข้ามแม่น้ำไปแล้ว
อีกประการถ้ามีป้อมอยู่ ตำแหน่งย่านโคมแดงก็ต้องติดกับกำแพงวังพอดี ซึ่งค่อนข้างประหลาด


บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 187  เมื่อ 21 ธ.ค. 17, 19:13


ดูจากด้านบนทิศทางของมุมมองเหมือนกับว่า มองผ่านกล้องส่องทางไกล
จากจุดสังเกตการณ์ เจดีย์วัดภูเขาทอง

ผมเดาว่า ตอนที่ทัพอลองพญามาล้อมกรุง
จะใช้ฉากเดียวกันนี้มา recycle เป็นภาพกรุงศรีอโยธยาที่กษัตริย์พม่ามองเห็นครับ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 188  เมื่อ 22 ธ.ค. 17, 09:46

กรุงศรีอโยธยา ของหม่อมน้อย มุมมองจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง ในสมัยนั้นจะเห็นว่า มีเสาโคมไฟฟ้าประดับถนนใช้กันอย่างทั่วถึงในเขตเมืองแล้ว



โอ้ ! โคมไฟแลแสงจันทร์คงมิอาจส่องศรีอโยธยาได้สว่างไสวปานนั้น    ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 189  เมื่อ 22 ธ.ค. 17, 10:40

อ้างถึง
จึงมีความเห็นว่า ถ้าทำละครเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระมหาบูรพกษัตริย์  แล้วมีฉากที่สองพระองค์กับหนึ่งบรรพบุรุษของตระกูลขุนนางใหญ่สุดของรัตนโกสินทร์มาเดินเที่ยวเตร็ดเตร่ตามสถานที่ อันเรียกได้ว่า "อโคจร"  แม้จะมีการออกตัวให้ตัวละครพูดว่าไม่มีอารมณ์เพราะห่วงบ้านเมือง  มันก็ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกดิฉันดีขึ้น   แต่นี่ก็เป็นความเห็นส่วนตัว  ท่านอื่นอาจจะไม่รู้สึกอะไรก็ได้

ผมรู้สึกครับ เนื่องจากฉากเที่ยวหอโคมแดงครั้งแรกนั้น อยู่ถัดจากฉากการเข้าเฝ้าพระภิกษุพระเจ้าอุทุมพร เพื่อกราบบังคมทูลว่าพระเจ้าเอกทัศน์ ให้เข้าเฝ้าเวลายามหนึ่งวันนี้

ผมก็มานึกถึงตัวผมเองว่า ถ้าผมอยู่ในเหตุการณ์อย่างนี้ กล่าวคือ มีราชการสำคัญอะไรสักอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรื่องสำคัญนั้น ตัวผมเองเป็นเจ้าของเรื่องด้วย แล้วผมเป็นผู้ไปเรียนให้รัฐมนตรีทราบ ท่านรัฐมนตรีบอก "เออ สำคัญจริงๆด้วย นริศ คุณไปเชิญท่านอธิบดีมาพบผมทีซิ" กรณีอย่างนี้ต่อให้ท่านรัฐมนตรีไม่ได้บอกว่า เวลาท่านจะคุยกับอธิบดีผมจะต้องเข้าไปด้วยหรือไม่ต้องเข้าไปด้วยก็ตาม แต่ผมก็ควรต้องอยู่รอแถวๆ นั้นเผื่อท่านเรียก จะได้นำเสนอข้อมูลหรือตอบคำถามในที่ประชุมได้ทันที และที่แน่นอนก็คือ ผมไม่กล้าชวนเพื่อนไปเที่ยวในเวลาเช่นนั้นแหงๆ

ก็เหมือนเรื่องนี้ ที่หลวงยกระบัตรเมืองตากเป็นปฐมเหตุขี่ม้าคาดดาบเข้าไปกราบบังคมทูลราชการศึก จึงเป็นที่มาที่พระเจ้าเอกทัศน์เรียกหาพระเจ้าอุทุมพรให้มาประชุมข้อราชการกัน แต่เมื่อถึงเวลาประชุม ท่านดันไปเที่ยวหอโคมแดงซะงั้นอ่ะครับนี่ถ้าเกิดประชุมๆกันอยู่แล้วตรัสเรียกหา "เอ้า สิน ไหนเจ้าลองเล่าให้พระเจ้าอุทุมพรฟังซิ พวกอุปนิกขิตมันรายงานมาว่าอย่างไร เอ้า เฮ้ย สินไปไหน" ฉากต่อมาก็ ....บรื๋อ...   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 190  เมื่อ 22 ธ.ค. 17, 11:47

โอ้ ! โคมไฟแลแสงจันทร์คงมิอาจส่องศรีอโยธยาได้สว่างไสวปานนั้น   ยิ้มเท่ห์

(ปุจฉา)   โคมฤๅจันทร์แจ่มแจ้ง         กรุงศรี
จึงสว่างทั่วปฐพี                            เช่นนั้น
แสงใดเล่าอาจมี                           ถึงขนาด
(วิสัชนา) แสงสปอตไลต์ไม่อั้น           ส่องจ้าถึงใจ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 191  เมื่อ 22 ธ.ค. 17, 12:55

ฟังอาจารย์ใหญ่ชี้             แนวทาง
แสงสปอร์ตไลต์สว่าง         เจิดจ้า
ศรีอโยธยาต่าง               จากก่อน
มีปลั๊กมีไฟฟ้า                 หม่อมน้อยตีความ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 192  เมื่อ 22 ธ.ค. 17, 13:13

   รบทัพจับศึกกันคึกคัก                ไม่หยุดพักเลยสักทีหนึ่งปีกว่า
ล้วนเปิดไฟไสวสว่างทั้งพารา           สปอตไลท์แจ่มจ้าทุกปราการ
จนสายไฟทนไม่ไหวก็ไหม้มอด        เหตุไม่ถอดปลั๊กออกมาน่าสงสาร
เข้าใจผิดกันทุกหน้าพงศาวดาร         โทษพม่าว่าเผาผลาญอยุธยา

อิอิ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 193  เมื่อ 22 ธ.ค. 17, 17:40

โอ้ ! ศรีอโยธยาในเอกภพคู่ขนานเป็นแน่แท้  ยิ้มเท่ห์

นึกถึงศรีอโยธยาอีกแห่งหนึ่งใน "แดนดาว" ของ "แก้วเก้า"

อิอิ
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 194  เมื่อ 22 ธ.ค. 17, 18:32


ขอสนับสนุนว่า ศรีอโยธยานั้นทันสมัยกว่าที่คิด




บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 ... 37
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.079 วินาที กับ 20 คำสั่ง