เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 37
  พิมพ์  
อ่าน: 70328 Dramatic license กับ ข้อเท็จจริง ในหนังอิงประวัติศาสตร์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 150  เมื่อ 15 ธ.ค. 17, 20:38

คุณม้ากับดิฉันน่าจะสงสัยตรงกันเรื่องอภินิหารบรรพบุรุษและปฐมวงศ์    คิดว่าข้อมูลน่าจะแต่งขึ้น ไม่หมดก็เกือบหมด
ส่วนการรับราชการกับพระเจ้าตาก  นายสุดจินดาไปก่อน แล้วพี่ชายตามไปทีหลัง  แต่รายละเอียดข้างบนนี้ถ้าจริงก็แสดงว่าพี่น้องพร้อมใจกันไปอยู่กับพระเจ้าตาก ไม่ใช่ในฐานะเพื่อน แต่ในฐานะผู้มอบตัวเป็นนายทหารบริวาร
ส่วนเรื่องที่ว่าหลวงยกกระบัตรรู้ได้ยังไง  ก็ทีท่านนกเอี้ยงอยู่ไหนยังรู้เลย  ไปเชิญตัวมาก็มาโดยดี   ก็แสดงว่าสองท่านกับพระเจ้าตากน่าจะมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกันพอสมควร

พูดถึงหลักฐานทางจีนทำให้นึกได้อีกเรื่อง ว่าประวัติศาสตร์จีนบันทึกไว้ว่า พระเจ้าตากเป็นสามัญชนและเคยรับราชการอยู่อยุธยา  เมื่อไปขอเป็นไมตรีกับจีน  ยังถูกฮ่องเต้ปฎิเสธในตอนแรกและตำหนิว่า ไม่กตัญญูต่อเจ้านาย(หมายถึงกรมหมื่นเทพพิพิธ)  ในการตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้นมาเอง แทนที่จะไปสวามิภักดิ์และเชิดชูเจ้านายขึ้นเป็นใหญ่อีกครั้ง
ข้อนี้ก็ยืนยันชาติกำเนิดได้ว่าท่านเป็นสามัญชน เป็นขุนนางอยุธยามาก่อนแน่นอน   ส่วนบิดาท่านทางจีนก็ระบุว่าเป็นจีนชาวบ้านธรรมดา แซ่แต้(สำเนียงแต่จิ๋ว)เดินทางมาตั้งถิ่นฐานในอยุธยา 

ก็เลยยิ่งทำให้สับสนขึ้นไปอีกค่ะ ว่าภูมิหลังของพระองค์ท่าน อยู่ในระดับใดกันแน่
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 151  เมื่อ 15 ธ.ค. 17, 23:28

เรื่องจีนไม่รับเพราะไม่กตัญญูต่อเจ้านาย จีนไม่ได้เจาะจงถึงแค่กรมหมื่นเทพพิพิธหรอกครับ อันที่จริงทางจีนไม่รู้ใครเป็นใคร แม้แต่ว่ากรุงศรีอยุธยาแตกจริงหรือเปล่ายังไม่แน่ใจ ต้องส่งคนมาสืบข่าว

เหตุผลที่จีนว่าอย่างนั้น ต้องย้อนกลับไปดูว่าคนที่มาสืบข่าวเรื่องอยุธยานั้นมายังไง ต้องไปดูที่นี่ครับ คคห. 42 http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4452.30

จะเห็นว่าตอนนั้นเจ้านายที่ทางจีนรู้จักดีที่สุดเห็นจะเป็นเจ้าจุ้ยนี่แหละครับ (ถ้าเอาชื่อนี้มาถามฝ่ายไทย ต้องถามกลับว่า Who?) เพราะหมักเทียนตื๊อหวังจะเชิดเจ้าจุ้ยแย่งอำนาจในสยามกับก๊กอื่นด้วย เป็นเหตุให้ก๊กพระเจ้าตากต้องรีบยกไปตีเขมรทั้งๆ ที่ก๊กอื่นยังปราบไม่หมด ถ้าไปตีความว่าเป็นการตีเขมรก็เท่ากับรบขยายอาณาจักร (ซึ่งไม่สมเหตุสมผลอย่างแรง) แต่เห็นชัดเลยว่านี่คือการปราบก๊กที่ร่วมชิงอำนาจสยามกันอยู่ และเป็นก๊กคู่แข่งสำคัญเสียด้วย เพราะนอกจากก๊กพุทไธมาศที่ได้เจ้าจุ้ยไว้ ยังมีเจ้าศรีสังข์ที่ไปอาศัยกษัตริย์เขมรอีกพระองค์หนึ่งด้วย ยกทัพไปครั้งเดียวจัดการคู่แข่งได้ถึงสองกลุ่มพร้อมๆกัน

แต่ผมไม่คิดว่านี่เป็นสาเหตุที่แท้จริงที่จีนไม่ยอมรับพระเจ้าตาก สาเหตุหลักคือพระเจ้าตากในเวลานั้นยังไม่สามารถปราบก๊กอื่นได้ราบคาบ ยิ่งไปกว่านั้นความสามารถในการผลิตข้าว อันเป็นสินค้าสำคัญที่จีนต้องการยังไม่กลับสู่สภาพเดิม กรุงธนบุรีนอกจากไม่สามารถขายข้าวให้จีนได้ ยังเป็นฝ่ายนำเข้าข้าวอีกต่างหาก จนเมื่อการเมืองภายในสยามสงบ กำลังการผลิตข้าวกลับสู่สภาพเดิม จีนถึงได้เปลี่ยนท่าทีต่อพระเจ้าตากครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 152  เมื่อ 15 ธ.ค. 17, 23:48

ส่วนเรื่องชาติกำเนิดพระเจ้าตาก ผมยังยืนยันเรื่องเดิม ตากเป็นเมืองเล็กอยู่ชายแดน ผมไม่คิดว่าพระองค์จะอยู่เกิดในตระกูลขุนนางชั้นสูง ร่องรอยเรื่องที่ทรงตรัสเป็นภาษาจีนได้ ทั้งมีส่วนในวรรณคดียุคกรุงธนบุรี ชี้ว่าควรเป็นลูกครึ่งจีนไทยที่มีความเป็นไทยไม่น้อย เมื่อพิจารณาบรรดาศักดิ์ที่เป็นถึงพระยา (ซึ่งช่วงปลายอยุธยาบรรดาศักดิ์ขุนนาง"ฝืด"เต็มทน เจ้าพระยาหายาก ชั้นพระยาถือว่าใหญ่โตมากแล้ว) มันขัดกันชอบกลนะครับ น่าสงสัยว่าเมื่อเป็นเจ้าเมืองตากพระองค์จะมีบรรดาศักดิ์ในชั้นที่ต่ำกว่านี้ แต่อาจจะได้ปูนบำเหน็จเมื่อพยายามรับศึกพม่า ก่อนที่จะถอยครัวจากตากลงมาที่อยุธยาแบบไม่บอบช้ำมาก

เป็นไปได้มากว่านายสุดจินดาจะมารู้จักพระยาตากในช่วงเวลานั้นเอง ส่วนหลวงยกกระบัตร ผมคิดว่าไม่น่าจะเคยรู้จักกับพระยาตากมาก่อนครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 153  เมื่อ 16 ธ.ค. 17, 06:06

ปุจฉา-วิสัชนา จากพันทิป

พระเจ้าตากสินเป็นโอรสของพระเจ้าท้ายสระใช่หรือไม่

https://pantip.com/topic/35371202


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 154  เมื่อ 16 ธ.ค. 17, 11:49

มีอีกเรื่องหนึ่งที่ควรจะนำมาพิจารณาด้วย   คือความสามารถในการแต่งวรรณคดี
ทั้งๆสมัยธนบุรีมีแต่ศึกไม่ว่างเว้น   พระเจ้าตากสินก็ยังทรงแบ่งเวลาไปทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม   ถ้าทรงให้กวีอื่นๆแต่งวรรณคดีขึ้นมาในโอกาสสำคัญต่างๆ ก็ไม่น่าแปลก   ที่น่าสังเกตคือทรงพระราชนิพนธ์ "รามเกียรติ์" ถึง 4 ตอนด้วยพระองค์เอง  ใช้เวลาเพียง 2 เดือน คือ
    เล่ม 1 ตอนพระมงกุฎ
    เล่ม 2 ตอนหนุมานเกี้ยววานรินจนท้าวมาลีวราชมา
    เล่ม 3 ตอนท้าวมาลีวราชพิพากษา จนทศกรรฐ์เข้าเมือง
    เล่ม 4 ตอนทศกรรฐ์ตั้งพิธีทรายกรด, พระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัสตร์ จนผูกผมทศกรรฐ์กับนางมณโฑ
    ถ้าใครอ่านรามเกียรติจะรู้วา่ทั้ง 4 ตอนนี้เป็นเหตุการณ์คนละตอนกัน    ตัวละครเอกก็คนละตัว  บางเล่มก็โดดข้ามตอนอื่นๆไปเลยเช่นตอนพระมงกุฎซึ่งเป็นโอรสพระราม  มาเกิดตอนศึกทศกัณฐ์จบไปนานแล้ว
    คนที่แต่ง 4 ตอนนี้ได้ ต้องรู้เรื่องรามเกียรติ์ตั้งแต่ต้นจนจบ     แล้วหยิบขึ้นมาเฉพาะบางตอนที่ตัวเองอาจจะชอบหรือสนใจเป็นพิเศษ   ถ้าไม่รู้เรื่องรามเกียรติ์ทั้งหมดก็แต่งไม่ได้ เพราะจะไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ ที่มาที่ไปของเหตุการณ์และตัวละคร
    นอกจากนี้ยังต้องรู้วิธีการแต่งกลอนบทละครอีกด้วย โดยเฉพาะละครใน ซึ่งมีความประณีตพิถีพิถันกว่าละครนอก  คนแต่งต้องรู้จักละครชั้นสูงของราชสำนักมาก่อนหน้า

    ลูกจีนอาชีพพ่อค้า เดินทางไปค้าขายตามเมืองต่างๆ จนสบช่องทางได้ไปรับราชการอยู่ในหัวเมืองไกลปืนเที่ยง  ย่อมจะมีชีวิตที่ไม่เกี่ยวกับวัฒนธรรมเมืองหลวง    แม้ว่าพูดได้หลายภาษาเช่นจีนแต้จิ๋ว จีบกวางตุ้ง  และภาษาลาว   ก็เป็นได้ว่ามีประสบการณ์ติดต่อค้าขายกับเจ้าของภาษา   แต่พูดภาษาต่างๆกับแต่งวรรณคดีไทย มันคนละเรื่อง ห่างไกลกันมาก
    ลูกผู้ชายไทยมีโอกาสศึกษาเล่าเรียนเขียนอ่านในวัด   แต่ถ้าเป็นวัดในหัวเมืองไกลๆ โอกาสที่จะเขียนได้ในระดับสูงเกือบจะเป็น 0%  เพราะหาพระมหาเปรียญมาสอนได้ยาก    การอ่านออกเขียนได้กับการแต่งวรรณคดีได้ ต่างกันเหมือนเรียนประถมกับมหาวิทยาลัย
    คำถามคือพระเจ้าตากท่านไปเรียนมาจากไหน   จึงรู้จักรามเกียรติ์อย่างดีจนเลือกหยิบเฉพาะตอนที่ต้องพระทัยมาแต่งใหม่  เพื่อใช้เล่นละครในวัง  และมีพื้นฐานทางภาษาอย่างดีจนกระทั่งแต่งได้แบบมั่นพระทัย ไม่อายนักปราชญ์ราชบัณฑิตในธนบุรี 
    ระยะเวลาแค่ถูกเรียกตัวมาอยู่ในเมืองหลวง ในช่วงศึกตอนปลายอยุธยา   ไม่พอที่ท่านจะฝึกปรือฝีมือด้านนี้แน่นอน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 155  เมื่อ 17 ธ.ค. 17, 11:09

ทีนี้ ลองพิจารณาจาก " ผล" ย้อนกลับไปหา "เหตุ"
ผลมีอยู่ตามนี้
๑ มีขุนนางสมัยปลายอยุธยาคนหนึ่ง   พ่อเป็นจีน  มีตำแหน่งเป็นขุนนางระดับเล็ก
๒ เป็นเจ้าเมืองเล็กๆทางเหนือชื่อเมืองตาก    
๒ ตอนเกิดศึกกับพม่า ท่านมาประจำอยู่ในเมืองหลวง  ได้ติดตามแม่ทัพออกไปรบกับพม่าหลายครั้ง
๓ ไม่กี่วันก่อนกรุงแตก  ท่านพาสมัครพรรคพวกจำนวนหนึ่ง ตีฝ่าพม่าหนีออกไปได้สำเร็จ
๔  ท่านตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ ทั้งๆเป็นก๊กเล็กสุด   และมีภูมิหลังที่ด้อยกว่าก๊กใหญ่ๆอีกหลายก๊ก เช่นก๊กพระยาพิษณุโลกนั่นก็ขุนนางใหญ่ในเมืองใหญ่   เจ้าพระฝางก็เป็นพระสงฆ์ที่มีผู้คนนับถือกันมากมาย   ก๊กกรมหมื่นเทพพิพิธก็พระราชโอรสกษัตริย์
    แต่ทุกก๊กแพ้ฝีมือรบของท่านราบคาบ  ทั้งๆแต่ละก๊กก็น่าจะมีแม่ทัพนายกองชั้นผู้ใหญ่กว่าท่านเป็นกำลังรบ   ส่วนท่านมีแต่ขุนนางระดับกลางๆและข่าราชการหนุ่มๆที่ยังไม่เคยกรำศึก
๕  เป็นคนที่รู้เส้นทางจากอยุธยาไปจันทบุรีดี  ตลอดจนเส้นทางเมืองต่างๆในภาคกลางทางใต้ของอยุธยา   วางแผนยุทธศาสตร์เป็น  ติดต่อขอความร่วมมือกับพ่อค้าชาวจีนเป็น
๖  เป็นคนไม่ยึดติดขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเจ้านายอยุธยา   ติดดิน คลุกคลีกับราษฎรได้   แต่ก็รู้จักวัฒนธรรมระดับสูงของราชสำนัก  ถึงขั้นแต่งวรรณคดีได้อย่างมั่นใจ
เหตุ  =  ขุนนางเช่นนี้ควรจะมีภูมิหลังแบบไหน?
๑  น่าจะเป็นคนที่เคยอยู่เมืองหลวงมาก่อน  
๒  รู้จักความเป็นไปในราชสำนัก เช่นละครในซึ่งนิยมกันมากในสมัยนั้น
๓  เรียนรู้หนังสือสูงกว่าชาวบ้านทั่วไป   ถึงขั้นเรียนวิชาของกุลบุตร คือการแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอน
๔  ชาติกำเนิดไม่ใหญ่โต   มิฉะนั้นคงมีเส้นสายให้ไปประจำในหัวเมืองใกล้ๆ หรือเมืองใหญ่ที่มีความพร้อม  ไม่ใช่เมืองไกลปืนเที่ยงอย่างตาก  แต่จะว่าไม่มีชาติกำเนิดเสียเลยก็ไม่ใช่   ไม่งั้นคงไม่สามารถก้าวขึ้นมาถึงขั้นพระยา
๕  เคยเดินทางไปหลายเมืองทั้งในภาคกลางและภาคเหนือ  พอจะวางแผนเส้นทางการรบได้ไม้ผิดพลาด
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 156  เมื่อ 18 ธ.ค. 17, 00:11

เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ พื้นฐานพระเจ้าตากต้องเป็นคนเติบโตในอยุธยา มีความเป็นไทยไม่น้อยกว่าเป็นจีน ทั้งเรื่องวรรณคดีและการบวชพระไม่ใช่เรื่องที่ลูกจีนแท้ๆจะทำแน่ๆครับ

แต่มีบางประเด็นที่ผมขอเพิ่มเติมนะครับ

อ้างถึง
ตอนเกิดศึกกับพม่า ท่านมาประจำอยู่ในเมืองหลวง  ได้ติดตามแม่ทัพออกไปรบกับพม่าหลายครั้ง ไม่กี่วันก่อนกรุงแตก  ท่านพาสมัครพรรคพวกจำนวนหนึ่ง ตีฝ่าพม่าหนีออกไปได้สำเร็จ

ผมคิดว่าพระยาตากน่าจะใช้เวลาอยู่นอกกำแพงพระนครเป็นส่วนใหญ่ด้วยครับ ช่วงที่เริ่มถูกปิดล้อมรับหน้าที่ลาดตระเวณในแม่น้ำเจ้าพระยาทางใต้ของบางกะจะลงไป จนพระยาเพชรบุรีที่ออกรบด้วยการเสียชีวิตในการศึก หลังจากนั้นพระยาตากมาลาดตระเวณป้องกันพม่าในลำน้ำแถบคูขื่อหน้าทางตะวันออกของเกาะเมือง เชื่อว่าเวลานั้นพม่าคุมลำน้ำเจ้าพระยาใต้กรุงศรีอยุธยาลงไปได้แล้ว ปิดล้อมไม่ให้อยุธยาติดต่อกับต่างชาติได้

หลังน้ำลด พม่ายิ่งกระชับวงล้อมเข้ามา เชื่อว่าแม่ทัพที่รับศึกพม่าอยู่นอกกำแพงพระนครหลายคนเริ่มคิดว่างานนี้เอาไม่อยู่แน่ กลางดึกวันที่ 3 มกราคม ก่อนเสียกรุงสี่เดือนเศษ พระยาตากพาไพร่พล 1,000 ตีฝ่าวงล้อมพม่ามุ่งไปทางตะวันออก ซึ่งสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เพราะอยู่ตรงข้ามกับทิศทางที่กองทัพพม่ายกมา และทัพของพระยาตากเองก็ลาดตระเวณอยู่ทางด้านตะวันออกอยู่แล้ว

น่าสังเกตว่าถึงเดือนเมษา พม่าส่งคนข้ามแม่น้ำมาขุดอุโมงค์ใต้กำแพงที่หัวรอ สุมไฟใต้กำแพงเผาจนกำแพงทรุด เปิดช่องให้พม่ายกเข้าเมืองอยุธยาได้ ตำแหน่งหัวรออยู่ตรงตอนเหนือของคูขื่อหน้าพื้นที่รับผิดชอบของพระยาตากนี่แหละครับ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าในเวลานั้น เป็นไปได้สูงว่าทัพที่ลาดตระเวณในลำน้ำนอกกำแพงพระนครถ้ายังเหลืออยู่ก็ต้องมีน้อยจนไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง พม่าถึงได้ยกข้ามมาทำการได้สำเร็จครับ

อ้างถึง
ท่านตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ ทั้งๆเป็นก๊กเล็กสุด   และมีภูมิหลังที่ด้อยกว่าก๊กใหญ่ๆอีกหลายก๊ก เช่นก๊กพระยาพิษณุโลกนั่นก็ขุนนางใหญ่ในเมืองใหญ่   เจ้าพระฝางก็เป็นพระสงฆ์ที่มีผู้คนนับถือกันมากมาย   ก๊กกรมหมื่นเทพพิพิธก็พระราชโอรสกษัตริย์
    แต่ทุกก๊กแพ้ฝีมือรบของท่านราบคาบ  ทั้งๆแต่ละก๊กก็น่าจะมีแม่ทัพนายกองชั้นผู้ใหญ่กว่าท่านเป็นกำลังรบ   ส่วนท่านมีแต่ขุนนางระดับกลางๆและข่าราชการหนุ่มๆที่ยังไม่เคยกรำศึก

ก๊กพระเจ้าตากเมื่อแรกตั้งเป็นก๊กเล็ก แต่เชื่อว่าประสบการณ์กรำศึกโชกโชน ก๊กพระยาพิษณุโลกเป็นขุนนางใหญ่ น่าจะมีคนมียุทโธปกรณ์ครบครันกว่าแน่ แต่เรื่องประสบการณ์นั้น ไม่แน่นักว่าจะมีมากสักเท่าไหร่ เพราะระหว่างที่พม่ายกมาล้อมอยุธยา พิษณุโลกเป็นเมืองที่พม่าไม่ยุ่งด้วย ไม่ใช่เป้าหมายหลัก เชื่อว่าที่ก๊กพระเจ้าตากยกไปปราบเป็นก๊กแรกนั้นก็เพราะเหตุผลนี้ แต่เมื่อเกิดเหตุปืนถูกพระชงฆ์ จึงต้องถอยทัพ เรื่องปืนถูกพระชงฆ์นี้ไม่แน่ว่าจะเป็นสาเหตุที่แท้จริง ถ้าตัดเรื่องนี้ไป สรุปง่ายๆคือพระเจ้าตากตีพิษณุโลกไม่สำเร็จ ต้องหันไปปราบก๊กอื่นๆก่อน

ก๊กพระยาพิษณุโลกชนะศึกนี้ พระยาพิษณุโลกตั้งตัวเป็นกษัตริย์ แต่พงศาวดารว่าเป็นได้ 7 วัน ประชวรถึงแก่พิราลัยเพราะบุญญาธิการไม่ถึง เจ้าพระฝางเห็นเป็นโอกาสจึงยกมาตีได้เมืองพิษณุโลก ตัดรายละเอียดอื่นๆออกไปให้หมด สรุปง่ายๆว่าวันนั้นก๊กเจ้าพระฝางแข็งแกร่งกว่าก๊กพระยาพิษณุโลก ส่วนก๊กพระยาพิษณุโลกนั้นก็ยังเหนือกว่าก๊กพระเจ้าตาก แต่สงครามในสมัยนั้น ยิ่งรบก็ยิ่งได้คนได้อาวุธมากขึ้น พระเจ้าตากหันไปปราบชุมนุมอื่นๆ (ก๊กพิมาย ก๊กนครศรีธรรมราช แถมทั้งเขมร และพุทไธมาศ) หลังจากนั้นกลับขึ้นไปปราบก๊กเจ้าพระฝางด้วยกองกำลังที่ใหญ่กว่าครั้งยกไปรบพระยาพิษณุโลกหลายเท่า คราวนี้เจ้าพระฝางพ่ายแพ้ขาดลอย

การสะสมกำลังโดยการรบของพระเจ้าตากไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดในภูมิภาคนี้ ราชวงศ์โกนบ่องของพม่าก็มาแบบเดียวกันนี้เหมือนกัน เริ่มต้นจากเจ้าเมืองเล็กในอาณาจักรพม่าที่ถูกทัพมอญจากหงสาวดียกมาตีอังวะแตกจนอาณาจักรพม่าสลายตัวเกิดศูญญากาศทางอำนาจ พระเจ้าอลองพญาไล่ตีไปทั่วจนในที่สุดก็ยกมาถึงอยุธยา สยามในยุคของพระเจ้าตากก็เช่นเดียวกัน ช่วงหลังของรัชกาลพระเจ้าตาก สยามได้ลาวเป็นเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 157  เมื่อ 18 ธ.ค. 17, 14:57

คืนนี้รอชมตอนต่อไปครับ
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 158  เมื่อ 19 ธ.ค. 17, 11:40

ผ่านไป 4 ตอน ตอนนี้ เน้นเรื่องราวในยุคปัจจุบัน ซึ่งปรากฎว่า มีเรือนในมิติลับแลอยู่ด้วยครับ
สรุปได้ว่า ในเรื่องนี้ มีตัวละครอยู่ 4 แบบ หรือ 4 ลักษณะได้แก่
1. บุคคลในยุคปัจจุบัน
2. บุคคลในอดีตโดยแท้
3. บุคคลในอดีตที่อยู่มาจนถึงยุคปัจจุบัน
4. ผี
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 159  เมื่อ 19 ธ.ค. 17, 11:43

ฟังคุณนริศสรุปแล้วนึกถึง "เรือนมยุรา" ของแก้วเก้า  ยิงฟันยิ้ม





เจ้าส้มฉุนกับคุณทองหยิบ ชื่อก็เป็นของหวานเหมือนกัน เกิดสมัยเดียวกัน และก็แสนซนเหมือนกัน  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 160  เมื่อ 19 ธ.ค. 17, 14:04


กรุงศรีอโยธยา ของหม่อมน้อย มุมมองจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระบรมมหาราชวัง
ในสมัยนั้นจะเห็นว่า มีเสาโคมไฟฟ้าประดับถนนใช้กันอย่างทั่วถึงในเขตเมืองแล้ว
ในตอนต่อๆ ไป อลองพญาจะมายืนชมวิวเดียวกันที่จุดนี้ด้วย

ผมยังนึกไม่ออกว่าวัดที่เจดีย์สีทอง ทางซ้ายของภาพคือวัดอะไร


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 161  เมื่อ 19 ธ.ค. 17, 15:08

ถ้าผมกล่าวถึงเนื่อหาจะได้ไหมครับ (คือในบางที่การเปิดเผยเนื้อหา หรือการ Spoil นี่จะถูกต่อว่าอย่างร้ายแรงเลยแหละครับ)
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 162  เมื่อ 19 ธ.ค. 17, 16:00

             ซีรี่ส์เรื่องนี้ดูแล้วนึกถึงหนังละครเรื่องอื่นๆ หลายเรื่อง ตั้งแต่ เรื่องราวที่ร่วมสมัยและมีตัวละครเอก
เป็นทหารสหายสนิทสามคนเหมือนใน "ฟ้าใหม่" ส่วนตัวละครพระพันวัสสาที่เป็นสตรีเข้มแข็งเป็นหลักให้ลูก
หลานและมีความรู้โหราศาสตร์ก็ทำให้นึกถึง ย่านิ่ม ใน "สายโลหิต"  ส่วนซีน เพื่อนรักสามคน ท่องไปตาม
ถนนยามราตรีรำพึงถึงวันหลังและวันข้างหน้ายามสงครามนั้นคล้ายๆ กับเพื่อนกลุ่มคนล่ากวางในหนังเรื่อง
The Deer Hunter ก่อนเดินทางไป(สงคราม)เวียตนาม
             และท้ายที่สุด ตั้งแต่ตอนก่อนที่มี ทองหยิบ ผลุบโผล่ออกมาจนถึงตอนล่าสุดนี้ที่มีเรือนลับแลของ
แม่บุษบาบรรณ ผู้รอวันกลับมาของพี่พิมาน ก็ยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นว่า ศรีอโยธยา คือ เรือนมยุรา ฉบับดัดแปลงของ
หม่อมน้อย
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 163  เมื่อ 19 ธ.ค. 17, 16:26

นั้นก็ประเด็นหนึ่งครับ
กลุ่มตัวละคร 3 คน คุยกันเรื่องชะตากรรมของบ้านเมือง หน้าเครียดเชียวครับ แต่เอ่อ พี่ยืนกันอยู่หน้าสำนักโคมแดงไม่ใช่หรือครับ
คืนถัดมา กลุ่มตัวละคร 3 คนเดิม ยืนคุยกันเกี่ยวกับความร่าเริงที่หายไป และบ่นว่าเหตุใดจึงต้องมีสงครามด้วย หน้าสำนักโคมแดงสำนักเดิม
นี่ตกลงพี่มากันทุกคืนเลยใช่ไหมครับ (ฮ่า)

ว่าแต่ ผมฟังไม่ทันครับ พื้นที่ตรงนั้นคือส่วนใดของอโยธยาหรือครับ เพราะในตอนที่ 3 ตัวละคร 3 คน เขาท้ากันวิ่ง แล้วก็วิ่งขึ้นไปบนป้อมบนกำแพงเมือง และได้เห็นภาพที่คุณ Koratian นำมาหนะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 164  เมื่อ 19 ธ.ค. 17, 16:45

           และท้ายที่สุด ตั้งแต่ตอนก่อนที่มี ทองหยิบ ผลุบโผล่ออกมาจนถึงตอนล่าสุดนี้ที่มีเรือนลับแลของ
แม่บุษบาบรรณ ผู้รอวันกลับมาของพี่พิมาน ก็ยิ่งเห็นได้ชัดขึ้นว่า ศรีอโยธยา คือ เรือนมยุรา ฉบับดัดแปลงของ
หม่อมน้อย

ไขข้อข้องใจของคุณหมอ SILA ค่ะ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 9 10 [11] 12 13 ... 37
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.883 วินาที กับ 20 คำสั่ง