เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 31 32 [33] 34 35 ... 37
  พิมพ์  
อ่าน: 70692 Dramatic license กับ ข้อเท็จจริง ในหนังอิงประวัติศาสตร์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 480  เมื่อ 15 ก.พ. 18, 20:50

    พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกไว้อีกตอนหนึ่ง ถึงการลงพระอาญาข้าราชบริพารว่า

    "ประการหนึ่ง ถ้าเสด็จไปประพาสมัจฉาชาติฉนากฉลามในชลมารคทางทะเลเกาะสีชังเขาสามมุข แลประเทศที่ใด ย่อมเสวยน้ำจัณฑ์พลาง ถ้าหมู่พระสนมนิกรนางในแลมหาดเล็ก ชาวที่ทำให้เรือพระที่นั่งโคลงไหวไป มิได้มีพระวิจารณะ ปราศจากพระกรุณาญาณ ลุอำนาจแก่พระโทโส ดำรัสสั่งให้เอาผู้นั้นเกี่ยวเบ็ดทิ้งลงไปกลางทะเล ให้ปลาฉนากฉลามกินเป็นอาหาร

    "ประการหนึ่ง ปราศจากพระเบญจางคิกศีล มักพอพระทัยทำอนาจารเสพสังวาสกับภรรยาขุนนาง แต่นั้นมาพระนามปรากฏเรียกว่า พระเจ้าเสือ"
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 481  เมื่อ 16 ก.พ. 18, 09:37

    ระหว่างรอตอนที่ 20 ของ ศรีอโยธยา ก็ขอขัดตาทัพด้วยการเล่าถึงราชวงศ์บ้านพลูหลวง ส่วนที่ไม่ได้ปรากฏในละคร  ตามนี้ค่ะ

     ปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์บ้านพลูหลวง  เป็นขุนนางรับราชการในสมัยสมเด็จพระนารายณ์   มีบรรดาศักดิ์เป็นพระเพทราชา ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมพระคชบาล ซึ่งมีอำนาจสูงเพราะมีกำลังพลในสังกัดหลายพัน   เดิมเป็นชาวบ้านพลูหลวง แขวงเมืองสุพรรณบุรี (ปัจจุบันคือบ้านพลูหลวงตั้งอยู่ในตำบลสนามชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี) เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วก็ทรงมีเชื้อสายสืบต่อกันครองราชย์มาจนสิ้นกรุงศรีอยุธยา  นักประวัติศาสตร์จึงนับเป็นราชวงศ์ เรียกว่า"ราชวงศ์บ้านพลูหลวง"     คำเรียกนี้ตั้งกันทีหลังสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง    เจ้านายในราชวงศ์บ้านพลูหลวงไม่มีใครรู้จักคำนี้
     พระเพทราชาขึ้นครองราชย์ด้วยการยึดอำนาจจากสมเด็จพระนารายณ์ เมื่อประชวรหนักใกล้สวรรคต    เจ้านายที่มีสิทธิ์จะครองบัลลังก์คือเจ้าฟ้าอภัยทศและเจ้าฟ้าน้อย ก็ถูกจับสำเร็จโทษไปหมด  อีกคนคือโอรสบุญธรรมของสมเด็จพระนารายณ์ชื่อหม่อมปีย์ ก็ถูกสังหาร พ้นทางไปเช่นกัน


ขอเสริมเรื่องคำว่า "ราชวงศ์บ้านพลูหลวง" หน่อยนะครับอาจารย์

จริงๆ แล้วคำนี้เห็นว่าผู้ที่กำหนดขึ้นมาใช้เรียกเป็นท่านแรกก็เห็นจะเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพนั่นเองครับ

แต่เดิมเมื่อศึกษาจากพระราชพงศาวดาร (ตั้งแต่ฉบับบริติชมิวเซียมเป็นต้นมา) จะระบุว่าพระเจ้าเสือทรงเป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์ ดังนั้นผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ในยุคแรกๆ จึงนับให้กษัตริย์อยุทธยาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือลงมาจนเสียกรุงอยู่ในราชวงศ์ปราสาททองทั้งหมด ดังที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิจารณ์เรื่องพระราชพงศาวดารกับเรื่องราชประเพณีตั้งพระมหาอุปราช ทรงแบ่งว่า

-ตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองมาถึงพระมหินทราธิราช คือราชวงศ์เชียงราย เป็นเชื้อลาวสืบมาจากทางเหนือ
-ตั้งแต่พระมหาธรรมราชามาถึงพระศรีเสาวภาค คือราชวงศ์สุโขทัย
-ตั้งแต่พระเจ้าทรงธรรมถึงพระอาทิตยวงศ์ เป็นราชวงศ์ใหม่ไม่ได้ระบุชื่อ (ในเวลานั้นยังไม่พบหลักฐานของตะวันตกที่ระบุว่าพระเจ้าทรงธรรมเป็นโอรสพระเอกาทศรถ จึงเข้าใจว่าเป็นเจ้าต่างวงศ์ที่มาแย่งราชสมบัติ)
- ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองมาจนเสียกรุง (ไม่นับพระเพทราชา) เป็นราชวงศ์ปราสาททอง


แต่ต่อมาหลังจากที่มีการศึกษาข้อมูลจากหลักฐานอื่นๆ มากขึ้น มีหลักฐานต่างประเทศให้สอบเทียบมากขึ้น ก็มีการแบ่งราชวงศ์ใหม่โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็น ๕ ราชวงศ์อย่างที่คุ้นเคยกันในปัจจุบัน ทรงจัดให้ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเพทราชาลงมาจนเสียกรุงอยู่ในราชวงศ์ที่ชื่อว่า "บ้านพลูหลวง" ดังปรากฏในพระนิพนธ์เรื่อง "ศักราชรัชกาลครั้งกรุงศรีอยุธยาตามที่สอบใหม่"

ทรงเรียกราชวงศ์ของพระเพทราชาว่าบ้านพลูหลวงเพราะ "หนังสือพระราชพงษาวดารว่าสมเด็จพระเพทราชาเปนชาวบ้านพลูหลวง จึงเรียกราชวงษ์บ้านพลูหลวง"


และทรงจัดพระเจ้าเสือไว้ในราชวงศ์บ้านพลูหลวงเพราะว่า "สมเด็จพระเจ้าเสือนี้ หนังสือพระราชพงษาวดารนับในราชวงษ์ปราสาททองด้วยยอมรับว่าเปนราชโอรสลับของสมเด็จพระนารายน์มหาราช ผู้ศึกษาโบราณคดีชั้นหลังได้ตรวจดูจดหมายเหตุครั้งสมเด็จพระนารายน์ แลพิเคราะห์เรื่องราวซึ่งปรากฏในครั้งนั้น ไม่มีเหตุอันใดที่ควรเชื่อว่าอยู่ในราชวงษ์ปราสาททอง ข้าพเจ้าเห็นควรนับในราชวงษ์บ้านพลูหลวงตลอดมาทุกพระองค์จนสิ้นกรุงเก่า อนึ่งปีสวรรคตสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือก็ลงไว้ต่างกันเปนหลายอย่าง แต่ที่ใกล้กันมากนั้นที่ว่ารัชกาล ๗ ปี ข้าพเจ้าจึงลงศักราชตามหลักนั้น"


ซึ่งเป็นตามที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ คือไม่มีหลักฐานร่วมสมัยในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ลงมาถึงรัชกาลพระเจ้าเสือชิ้นใดเลยที่บ่งชี้ว่าพระเจ้าเสือทรงเป็นโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์ แต่ล้วนระบุตรงกันว่าทรงเป็นโอรสของพระเพทราชา และในพงศาวดารฉบับที่ค่อนข้างเก่าแก่อย่างฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) หรือฉบับพันจันทุนมาศ (เจิม) ก็ไม่กล่าวเรื่องโอรสลับเช่นเดียวกันครับ


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงทรงพระนิพนธ์ไว้ใน "ไทยรบพม่า" ว่า "ประหลาดอยู่อย่าง ๑ ที่จดหมายเหตุของฝรั่งครั้งนั้นก็มีมากมายหลายฉบับ แต่ไม่มีฉบับใดที่จะปรากฏว่า ผู้แต่งรู้วี่แววว่าหลวงสรศักดิ์เป็นราชโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์ ดังว่าในหนังสือพระราชพงศาวดาร กล่าวแต่ว่าเป็นบุตรพระเพทราชาทุกๆฉบับ ข้อนี้ทำให้เห็นว่าที่อ้างว่าหลวงสรศักดิ์เป็นราชโอรสของสมเด็จพระนารายณ์ จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในรัชกาลภายหลังต่อมาเมื่อจวนจะเสียกรุงฯ หลวงสรศักดิ์เองหาได้ตั้งตัวเป็นราชโอรสลับดังกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารไม่"

บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 482  เมื่อ 16 ก.พ. 18, 09:55

   กษัตริย์ที่ขึ้นครองบัลลังก์อยุธยาต่อจากพระเพทราชา คือพระเจ้าเสือ(ในละครรับบทโดยเจมส์ เรืองศักดิ์)  เดิมเป็นขุนนางบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสรศักดิ์ บุตรชายของพระเพทราชา เมื่อบิดาขึ้นครองราชย์ ก็ได้รับการสถาปนาเป็นวังหน้า   
    พระเจ้าเสือมีพระนามเป็นทางการว่าสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือคำให้การชาวกรุงเก่าเรียกว่า สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี   ประวัติศาสตร์เล่าว่าโปรดปลอมพระองค์เป็นชาวบ้าน ไปชกมวยกับชาวบ้านเพราะโปรดปรานกีฬาชนิดนี้มาก


พระนามที่เรียกขานกันว่า "สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๘" นั้น เป็นพระนามที่เพิ่มเรียกขานกันในสมัยหลังโดยไม่พบในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นใดเลยครับ เช่นเดียวกับกษัตริย์อยุทธยาอีกหลายพระองค์ที่ถูกเรียกว่าสมเด็จสรรเพชญ์ ที่มีหลักฐานจริงๆ ว่าถูกเรียกด้วยพระนามดังกล่าวใน ๙ พระองค์นั้นมีเพียง ๓ พระองค์คือสมเด็จพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระเอกาทศรถ และสมเด็จพระเจ้าท้ายสระครับ


ที่มาของการเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยาในยุคปัจจุบันว่า “พระสรรเพชญ์” มีที่มาจากหนังสือเรื่อง “พระราชกรัณยานุสร” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ โดยพระราชประสงค์จะให้มีตำราราชประเพณีไว้สำหรับพระนคร

ซึ่งในหนังสือเล่มนี้เองพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยส่วนพระองค์ว่าพระนามกรุงศรีอยุทธยาแต่ละพระองค์น่าจะควรมีพระนามอย่างไรบ้างด้วย แต่ก็ไม่ได้ทรงระบุว่าพระนามตามพระราชวินิจฉัยเป็นพระนามที่ถูกต้อง เป็นเพียงการคาดคะเนส่วนพระองค์และไม่สามารถยืนยันได้

“ความซึ่งเพ้อเจ้อแล้วมานี้ เปนข้อสาธกยกมาให้เห็นว่าแต่ในเร็วๆนี้ ยังเลอะเทอะเปรอะเปื้อนกันมาก พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนครั้งกรุงทวาราวดี ฤๅจะไม่เลอะเทอะยิ่งกว่านี้ ผู้ใดจะทรงจำไว้ได้ยืดยาวต่อมาหลายชั่วอายุ ด้วยนิไสยชาวเราเปนดังนั้นอยู่เองแล้ว ก็แต่ถ้าจะคิดสืบเสาะค้นคว้าเอาพระนามที่แท้ที่จริง อันได้จารึกในพระสุพรรณบัตรนั้นก็เห็นจะพอได้รูปอยู่บ้าง แต่ถ้าจะให้ยืนยันแล้ว ก็ยืนยันไม่ได้ จะยกแต่เหตุอ้างอิงขึ้นตามแต่ผู้อ่านจะคิดเห็นเอาเอง ว่าจะถูกฤๅผิด ขออย่าให้ว่าอวดรู้เกินผู้ใหญ่ เปนการคาดคเนทั้งสิ้น



โดยเหตุที่ทรงวินิจฉัยว่าพระเจ้าเสือทรงใช้พระนามว่าสรรเพชญ์นั้น เพราะพระเจ้าท้ายสระที่เป็นพระโอรสทรงมีพระนามในจารึกวัดป่าโมกข์ว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ จึงทรงมีพระวินิจฉัยว่าพระเจ้าเสือที่ทรงเป็นพระราชบิดาก็น่าจะใช้พระนามแบบเดียวกัน

"ที่ ๒๙ สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี พระนามนี้ในพงษาวดารมอญว่ามีนิมิตร เมื่อราชาภิเศก แสงส่องว่างไปทั้งปราสาท จึงถวายพระนามว่าพระสุริเยนทราธิบดี แต่ที่จริงนั้น เห็นท่านจะยกย่องปู่ท่านมาก น่ากลัวจะออกจากสุรศักดิ์นั้นเอง เพราะถ้าจะคอยนิมิตรเวลาราชาภิเศกแล้วจึงจารึกพระสุพรรณบัตรเห็นจะไม่ทัน ไม่มาแต่อื่น เปนคำเรียกให้เพราะขึ้นสมควรกับที่เปนพระเจ้าแผ่นดิน เพราะในพระราชพงษาวดารนั้น ไม่ปรากฏว่าพระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรนั้นอย่างไร คนทั้งปวงก็เรียกเสียว่าพระพุทธเจ้าเสือ เพราะพระองค์ท่านดุร้ายหยาบช้านัก ราษฎรก็เรียกเอาตามที่กลัวฤๅที่ชังตามชอบใจ แต่พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรนั้น เห็นจะใช้นามอย่างเช่นพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง จะว่าด้วยเรื่องพระนามนี้ต่อไปข้างหลัง

ที่ ๓๐ สมเด็จพระภูมินทรมหาราชา พระนามนี้มาจากพงษาวดารมอญอิก ว่าเรียกพระภูมินทราชาก็เรียก พระบรรยงก์รัตนาศน์ก็เรียก แต่พระภูมินทราชานั้นเห็นจะถวายเอาเอง ในพระราชพงษาวดารเรียกว่าพระพุทธเจ้าอยู่หัวท้ายสระ อธิบายว่าท่านเสด็จอยู่ที่พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ข้างท้ายสระ ก็ตรงกันกับความที่เรียกว่าพระบรรยงก์รัตนาศน์ ไนยหนึ่งเรียกว่าขุนหลวงทรงปลา จะเปนด้วยท่านทรงโปรดตกเบ็ด แลโปรดปลาตะเพียนฤๅกระไร แต่พระนามซึ่งจารึกในพระสุพรรณบัตรนั้นไม่ปรากฏ ยังได้พบพบเห็นเปนพยานอยู่แห่งเดียวแต่วัดปากโมกข์ มีอักษรจารึกในแผ่นศิลาว่า ลุศักราช ๑๐๘๗ ฤๅ ๘๘ จำไม่ใคร่ถนัด สมเด็จพระสรรเพชญ์มีสร้อยพระนามออกไปอีกมาก ได้ทรงสถาปนาก่อกู้วัดปากโมกข์นี้ไว้มิให้เปนอันตรายด้วยอุทกไภยดังนี้เปนต้น ควรเห็นว่า พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรนั้นเปน สมเด็จพระสรรเพชญ์เปนแน่ไม่ต้องสงไสย

ก็พระพุทธเจ้าเสือนั้น ท่านจะทรงพระนามสรรเพชญ์ด้วยดอกกระมัง พระราชโอรสจึงได้ทรงพระนามดังนี้ เพราะไม่มีปรากฏในพระราชพงษาวดารเลย จะจารึกกันต่อๆมาไม่ได้ผลัดเปลี่ยน ถ้าเปนดังนั้น จะคิดต่อขึ้นไปอิกชั้นหนึ่ง ว่าพระเจ้าปราสาททองนั้น ท่านก็เปนพระไอยกาของพระพุทธเจ้าเสือ ท่านจะมิใช้พระนามสรรเพชญ์ดังนี้ก่อนฤๅ จึงได้ใช้กันมา แต่พระนารายน์นั้นท่านไม่ยอมตาม เพราะพระนามเดิมของท่านเปนพระนารายน์อยู่แล้ว เปนรามาธิบดีถูกต้องกว่า ก็ถ้าจะเถียงอิกคำหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าเสือท่านจะเปนรามาธิบดี ตามพระราชบิดามาแต่ก่อน ไม่ได้เปนนารายน์ก็มี แต่เห็นว่าถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าเสือเปนรามาธิบดีแล้ว พระพุทธเจ้าอยู่หัวท้ายสระคงเปนรามาธิบดีด้วยเปนแน่ นี่ท่านกลับเปนสรรเพชญ์ไปอย่างหนึ่ง ชรอยพระนามรามาธิบดีนั้น จะยกไว้เฉภาะพระนารายน์ดังเช่นว่ามาแล้ว ถ้าเห็นดังนี้ พระเจ้าปราสาททองต้องเปนสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๕ พระพุทธเจ้าเสือเปนสรรเพชญ์ที่ ๖ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระนี้เปนสรรเพชญ์ที่ ๗” (ในเวลานั้นยังไม่ได้นับเจ้าฟ้าไชยเป็นสรรเพชญ์ที่ ๖ และพระศรีสุธรรมราชาเป็นสรรเพชญ์ที่ ๗)



จึงเห็นได้ว่าพระนาม “พระสรรเพชญ์” แต่ละพระองค์นั้นมาจากพระวินิจฉัยส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นหลัก โดยอาศัยข้อที่ว่าผู้ที่เป็นเครือญาติก็น่าจะใช้พระนามเดียวกัน ซึ่งไม่ปรากฏว่าทรงใช้หลักฐานใดๆ ในการอ้างอิง ต่อมาปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงใช้พระนามตามพระราชวินิจฉัยของพระองค์ใน "พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวิจารณ์เรื่องพระราชพงศาวดารกับเรื่องประเพณีการตั้งพระมหาอุปราช" ซึ่งได้พระราชนิพนธ์ขึ้นใน พ.ศ.๒๔๒๐ (แต่พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๔๗๙) โดยทรงเปลี่ยนให้เจ้าฟ้าไชยเปนสรรเพชญ์ที่ ๖ พระศรีสุธรรมราชาเป็นสรรเพชญ์ที่ ๗ เป็นเหตุให้พระเจ้าเสือซึ่งเดิมเป็นสรรเพชญ์ที่ ๖ ถูกเลื่อนเป็นสรรเพชญ์ที่ ๘ และพระเจ้าท้ายสระกลายเป็นสรรเพชญ์ที่ ๙ ครับ



พระนามเหล่านี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ไม่ได้ทรงชี้ขาดว่าเป็นพระนามที่ถูกต้อง ดังที่ทรงมีพระราชนิพนธ์ไว้แล้วว่า “แต่ถ้าจะให้ยืนยันแล้ว ก็ยืนยันไม่ได้ จะยกแต่เหตุอ้างอิงขึ้นตามแต่ผู้อ่านจะคิดเห็นเอาเอง ว่าจะถูกฤๅผิด ขออย่าให้ว่าอวดรู้เกินผู้ใหญ่ เปนการคาดคเนทั้งสิ้น”

พระนามบางองค์อย่างสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ที่ทรงนับว่าเป็นพระสรรเพชญ์ที่ ๕ นั้น ก็ยังทรงเห็นด้วยว่าที่มาของพระนามที่ว่าพระองค์เป็นโอรสลับของพระเอกาทศรถ (ซึ่งขัดกับหลักฐานร่วมสมัยที่ว่าพระองค์เป็นโอรสของออกญาศรีธรรมาธิราช) จึงใช้พระนามอย่างพระบิดา “เปนเรื่องเกร็ดไป” เมื่อเทียบกับพระนามอื่นๆ ที่ทรงสันนิษฐาน

แต่สันนิษฐานว่าในสมัยหลังคงมีผู้นำพระวินิจฉัยของพระองค์ในพระราชกรัณยานุสรที่ทรงระบุว่า “คาดคะเน” ไปยึดถือว่าเป็นพระนามจริง แล้วบัญญัติใช้เป็นพระนามพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยาโดยที่ยังไม่พบหลักฐานใดๆ ยืนยันเลยครับ



และจากการศึกษาในปัจจุบัน ทำให้มีการพบหลักฐานใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการวินิจฉัยเดิมได้ อย่างเช่นการพบหลักฐานการใช้พระนามว่า “พระศรีสรรเพชญ์” ของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุทธยาพระองค์อื่น ซึ่งไม่เคยถูกนับรวมใน ๙ องค์ที่กล่าวมา ได้แก่

- สมเด็จพระรามาธิบดี (เชษฐาธิราช) พบหลักฐานคือจารึกเจ้าเถรพุทธสาคร ๒ มหาศักราช ๑๔๒๖ (พ.ศ. ๒๐๔๗) ระบุพระนามในภาษาขอมว่า "วฺรศิรสวฺวิชสตจปฺวิตฺร (พระศรีสรรเพชญบพิตร)"

- สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม พบหลักฐานคือพระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนา พ.ศ.๒๑๕๓ ระบุพระนามว่า “พระศรีสรรเพชญสมเด็จบรมบพิตร”

- สมเด็จพระนารายณ์ พบหลักฐานคือศิลาจารึกวัดจุฬามณี พ.ศ. ๒๒๒๔ ระบุพระนามว่า "พระศรีสรรเพชญสมเดจพระรามาธิบดีศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิศวรราชาธิราชเมศวรธรรมิกราชเดโชชัยบรมเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศรโลกเชษฐวิสุทธิ มกุฎพุทธางกูรบรมจักรพรรดิศวรธรรมิกราชาธิราช"

- สมเด็จพระเพทราชา พบหลักฐานคือพระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนา พ.ศ.๒๒๔๒ ระบุพระนามว่า “พระศรีสรรเพชญสํมเดจพระรามาธิบดีศรีสีนทรบรํมมหาจักรพรรดิษรวรราชาธิราชราเมศวรธรรมิกราชเดโชไชยพรรมเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศรโลกเชษฐ วิสุทธมกุฎพุทธางกุรบรมจุลจักรพรรดิษรธรธรรมิกราชาธิราช”

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พบหลักฐานคือสำเนากฎ เรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราชครั้งกรุงเก่า ออกพระนามว่า "พระบาทพระศรีสรรเพช สมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว คือองค์สมเด็จพระนารายน์เปนเจ้า พระเจ้าปราสาททอง พระเจ้าช้างเนียม พระเจ้าช้างเผือก ทรงทศพิธราชธรรม์ ราชอนันตสมภาราดิเรก เอกอุดมบรมจักรพรรดิสุนทรธรรมมิกราชบรมนารถ บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว"


จึงเห็นได้ว่าเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่เรายึดถือกันมาตลอด ในบางทีอาจจะไม่ได้เป็นสิ่งถูกต้องตายตัวเสมอไปแต่เปลี่ยนแปลงไปได้ตามหลักฐานที่ค้นพบ ซึ่งในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนักแม้จะมีหลักฐานใหม่ๆ ที่สามารถหักล้างความเชื่อเดิมได้ก็ตาม

เรื่องพระนามของพระเจ้าแผ่นดินก็เช่นเดียวกัน พระนามที่เราเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หลายๆ พระนามก็ไม่มีหลักฐานชัดเจน ในอนาคตอาจจะพบหลักฐานพระนามใหม่ๆ มากขึ้นไปอีกโดยอาจจะพบหลักฐานพระเจ้าแผ่นดินที่ใช้พระนามว่า "พระศรีสรรเพชญ์" มากขึ้น หรืออาจจะพบพระนามอื่นๆ ที่มาหักล้างก็เป็นไปได้ทั้งนั้นครับ


https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/1110226359040833:0
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 483  เมื่อ 16 ก.พ. 18, 15:09

ขอบคุณค่ะคุณศรีสรรเพชญ  กำลังรอคุณเข้ามาร่วมวงอยู่ทีเดียว
โดยส่วนตัว เชื่อว่าพระนามศรีสรรเพชญน่าจะเป็นคำยกย่องประกอบพระนามกษัตริย์อยุธยาหลายๆพระองค์  แล้วแต่จะจารึกในพระสุพรรณบัตร  หรือในพระราชสาส์น 
คำว่า ศรีสรรเพชญ ยังไม่ไดไปถามผู้เชี่ยวชาญทางภาษาบาลีว่าแปลว่าอะไร แต่เดาว่าเป็นคำยกย่องพระศาสดา ทำนองเดียวกับคำว่า พระทศพล หรือพระศรีศากยมุนี   ดังที่เห็นได้จากชื่อพระพุทธรูปและวัดที่ประดิษฐาน    คุณศรีสรรเพชญเอามาเป็นนามแฝง คงจะทราบความหมายดีกว่าดิฉัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 484  เมื่อ 16 ก.พ. 18, 15:17

ต่อ เรื่องพระเจ้าเสือ

ในละคร  พระเจ้าเสือได้รับการนำเสนอ เป็นภาพกษัตริย์ที่น่ายกย่องมาก

บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 485  เมื่อ 16 ก.พ. 18, 16:00

           royin บอกว่า

       คำว่า สรรเพชญ มาจากภาษาสันสกฤตว่า สรฺวชฺ (อ่านว่า สัร-วะ -ชญะ) ตรงกับภาษาบาลีว่า สพฺพญฺญู แปลว่า ผู้รอบรู้
ผู้รู้ทุกสิ่ง. ในภาษาสันสกฤตใช้คำว่า สรฺวชฺ เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้า พระศิวะ พระอรหันต์ในศาสนาเชน และเจ้าลัทธิอื่น ๆ ด้วย.
       ในเรื่องของพระพุทธศาสนาคำว่า สรรเพชญ เป็นคำที่ใช้กับพระพุทธเจ้าเท่านั้น เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้มีสรรเพชญดาญาณ.
แม้พระอรหันตสาวกผู้มีดวงประทีปแห่งปัญญามองเห็นความเกิดดับว่าเป็นเรื่องธรรมดาของโลก และสามารถขจัดกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว
ก็ตามก็ยังไม่บังเกิดภาวะสรรเพชญดาญาณ หรือความเป็นผู้รู้ทุกสิ่งได้ดังเช่นพระพุทธเจ้า.
       ดังนั้นจึงปรากฏอยู่เสมอที่พระอรหันต์ทูลขอให้พระองค์ทรงเล่ามูลเหตุของปรากฏการณ์ที่ตนไม่ทราบ หรือขอให้ทรงอภิปราย
ปรากฏการณ์ที่เกินกำลังความรู้ของตน. พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ไม่แตกต่างกันในเรื่องของความรู้ของตน แต่แตกต่างกันตรงที่
พระพุทธเจ้าเป็นผู้เดียวในพระพุทธศาสนาที่มีสรรเพชญดาญาณ คือ ความรู้แห่งความเป็นผู้รู้ทุกสิ่ง

https://goo.gl/vkTh3p
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 486  เมื่อ 16 ก.พ. 18, 16:05

          ในอดีต,เมื่อครั้งพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลนิพนธ์ละครเวที(ต่อมาเป็นหนังและล่าสุดซีรี่ส์ทีวีโดยม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล)
เรื่องพันท้ายนรสิงห์ ก็ได้เปลี่ยนบทบาทพระเจ้าเสือให้ต่างไปจากคำกล่าวขานที่มีมา โดยยกบทร้ายนั้นไปให้กับเสนาบดี
ผู้ใกล้ชิดที่ออกไปข่มเหงราษฎรโดยอ้างว่าเป็นพระบรมราชโองการของพระเจ้าเสือ


บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 487  เมื่อ 16 ก.พ. 18, 16:44

 บุคคลที่เป็นศูนย์กลางของเรื่อง คือพระเจ้าเอกทัศ   ถูกนำเสนอในฐานะพระเจ้าแผ่นดินที่อ่อนโยน ธรรมธัมโม  ปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้มีความสุขกายสบายใจกันถ้วนหน้า สะท้อนจากแม่ค้าขนมครก  (ที่ป้าออกเสียงว่า ขนมคก ทุกคำ) มีความรักและปรองดองกับน้องชายคือพระเจ้าอุทุมพร  เป็นอันดี  
   ทั้งๆประวัติศาสตร์ ก็มีหลักฐานถึงการคอรัปชั่นในสมัยนี้  จนราษฎรทนไม่ไหว  ต้องร้องเรียนถวายเรื่องกันตามประสาชาวบ้าน อย่างกรณีภาษีผักบุ้ง ที่นายสังพี่ชายพระสนมเอกกำหนดขึ้นมากดขี่รีดไถจากราษฎร
    หาอ่านรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ
   https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/1064455470284589:0
   ที่จริง ถ้าผู้เขียนบทตั้งใจจะสรรเสริญพระเกียรติคุณของพระเจ้าเอกทัศ   ก็สามารถดำเนินเรื่องไปตามหลักฐานข้างบนนี้ จนถึงพระเจ้าเอกทัศกริ้วและลงโทษผู้กระทำผิด  ก็น่าจะบรรลุจุดมุ่งหมายได้โดยไม่ต้องมีบทฝืนๆว่าแม่ค้าขนมครกเล่าให้ลูกค้าฟังว่าแสนจะสุขยังไงกับชีวิตบนแผ่นดินนี้      มันขัดกับธรรมชาติของคนหาเช้ากินค่ำ  เพราะต่อให้ทำมาหากินได้ไม่ผืดเคือง  พวกเขาก็แค่พอรอดไปวันๆเท่านั้น


เรื่องพระอัธยาศัยของพระเจ้าเอกทัศ เข้าใจว่าผู้สร้างจะอ้างอิงจากเอกสารประเภทคำให้การขุนหลวงหาวัดที่กล่าวถึงพระเจ้าเอกทัศในเชิงบวก ตรงกันข้ามกับพงศาวดารที่กล่าวถึงพระองค์ในเชิงลบครับ ซึ่งเมื่อดูจากคลิปเบื้องหลังแล้วผู้สร้างอาจเห็นว่าพงศาวดารสมัยหลังถูกชำระโดยมีนัยยะทางการเมืองเพื่อโจมตีกษัตริย์กรุงศรีอยุทธยาตอนปลาย ตามอย่างที่นักวิชาการบางท่านได้นำเสนอครับ

คำให้การขุนหลวงหาวัดกล่าวถึงพระเจ้าเอกทัศว่า

"ฝ่ายพระบรมเอกทัศจึ่งประพฤตดิ์ตามอย่างธรรมเนียมกระษัตริย์แต่ก่อนมา พระองค์ก็บำรุงพระสาศนาครอบครองอณาประชาราษฎร์ทั้งปวงตามประเพณีมา"

"พระองค์จึ่งบำรุงพระสาสนาแล้วครอบครองบ้านเมืองก็อยู่เยนเปนศุขมา แล้วพระองค์ก็ส้างอารามชื่อวัดลมุด แล้วส้างวัดครุธธาวัดหนึ่ง พระองค์จึ่งฉลองเลี้ยงพระสงฆ์พรรหนึ่ง จึ่งถวายเครื่องไตรจีวรแลเครื่องสังเคดพรรหนึ่ง เครื่องเตียบสิ่งละพรร ต้นกัลปพฤกษก็พรรหนึ่ง จึ่งแจกทานสารพัดสิ่งของนาๆ สิ่งละพัน แจกอนาประชาราษทั้งปวงสรรพสิ่งต่างๆ เปนการใหญ่ท่วนเจดวันแล้ว พระองค์จึ่งหลั่งน้ำทักขิโณทกให้ตกลงเหนือแผ่นพสุธา จึงแผ่กุศลให้แก่สัตว์ทั้งปวง แล้วเสดจคืนเข้ายังพระราชวงศ์ พระองค์ตั้งอยู่ในธรรมสุจริต บพิตรเสดจ์ไปถวายนมัศการพระศรีสรรเพชทุกเพลามิได้คาด พระบาทจงกรมอยู่เปนนิจ ตั้งอยู๋ในทศพิธสิบประการ แล้วครอบครองกรุงขันธสีมา ทั้งสมณพราหมณาก็ชื่นชมยินดีปรีเปนศุขนิราศทุกขไภย ด้วยเมตตาปารมีทั้งฝนก็ดีบริบูรณภูลความสุขมิได้กันดาล ทั้งเข้าปลาอาหารแลผลไม่มีรศโอชา ฝูงอนาประชาราษฎรแลชาวนิคมชนบทก็อยู่เยนเกษมสานต์ มีแต่จะชักชวนกันทำบุญให้ทานแลการมโหรศพต่างๆ ทั้งนักปราชผู้ยากผู้ดีมีแต่ความสุขทั้วของขันธเสมา"



เช่นเดียวกับคำให้การชาวกรุงเก่าซึ่งเป็นเอกสารเดียวกัน แต่ต้นฉบับเป็นภาษาพม่าที่ระบุว่า

"พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาพระองค์นี้ทรงพระราชศรัทธาอุตสาหะบำเพ็ญพระราชกุศลบริจาคพระราชทรัพย์เครื่องประดับระดาอาภรณ์ทั้งปวง พระราชทานแก่ยาจกวณิพกเปนอันมาก"



จะเห็นได้ว่าภาพของตัวละครพระเจ้าเอกทัศในศรีอโยธยานั้นถูกอ้างอิงตามข้อความที่ยกมาแทบจะทุกประการ รวมถึงเรื่องที่มักจะเดินจงกรมด้วย นอกจากนี้ตามเอกสารคำให้การทั้งสองฉบับนั้นไม่มีการกล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าเอกทัศกับพระเจ้าอุทุมพรเลย


อย่างไรก็ตามผมเองเห็นว่าผู้ชำระพงศาวดารสมัยหลังแม้จะเขียนโจมตีพระเจ้าเอกทัศก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลเสียทีเดียว เพราะว่าหลายเรื่องก็ถูกยืนยันอยู่ในหลักฐานร่วมสมัยของต่างประเทศ ทั้งฝรั่งเศสและดัตช์ ที่ระบุว่าพระเจ้าเอกทัศกับพระเจ้าอุทุมพรไม่ทรงถูกกัน มีเรื่องการล้างขั้วอำนาจทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม พระเจ้าเอกทัศทรงให้ท้ายคนสนิทให้ได้เป็นใหญ่ (ตรงกับพระยาราชมนตรี จมื่นศรีสรรักษ์ และนายสังในพงศาวดาร) รวมถึงการปล่อยให้เจ้านานฝ่ายในเข้ามามีอิทธิพลในราชสำนักจนส่งผลกระทบต่อการค้าต่างประเทศ รวมถึงการที่มีข้าราชการปิดบังพระเนตรพระกรรณในหลายๆ เรื่อง

สอดคล้องกับนิราศเพลงยาวตีเมืองพม่าของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งทรงเคยรับราชการเป็นนายสุดจินดา มหาดเล็กหุ้มแพรในรัชกาลนี้ที่วิจารณ์พระเจ้าเอกทัศว่า

"ทั้งนี้เปนต้นด้วยผลเหตุ       จะอาเภทกษัตริย์ผู้เปนใหญ่
มิได้พิจารณาข้าไทย               เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา
ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ       ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา
สุภาษิตท่านกล่าวเปนราวมา    จะตั้งแต่งเสนาธิบดี
ไม่ควรจะให้อัครฐาน               จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี
เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี       จึงเสียทีเสียวงศ์กษัตรา
เสียยศเสียศักดินัคเรศ       เสียทั้งพระนิเวศน์วงศา
เสียทั้งตระกูลนานา               เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร"


เรื่องที่พระเจ้าเอกทัศทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงใฝ่พระทัยในการพระศาสนานั้นตามคำให้การฯ มีความเป็นไปได้จริงอยู่ เพราะเป็นประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงพึงกระทำ แต่ส่วนตัวแล้วเห็นว่าการใฝ่พระทัยทางศาสนากับพระอัธยาศัยในด้านอื่นๆ และความสามารถทางการเมืองการปกครองนั้นดูจะเป็นคนละเรื่องกัน การที่พระเจ้าแผ่นดินทรงใฝ่พระทัยในศาสนาคงไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ดีหรือเข้มแข็งมีพระปรีชาสามารถ ดังที่ปรากฏในประวัติศาสตร์จีนที่มีพระเจ้าแผ่นดินที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมากเช่น พระเจ้าเหลียงอู่ตี้ (梁武帝) แต่ความศรัทธาของพระองค์กลับทำให้ราษฎรเดือดร้อน นอกจากนี้ก็ไม่ทรงมีพระปรีชาสามารถ สุดท้ายก็ทรงถูกกักบริเวณระหว่างสงครามจนสวรรคตเพราะทรงไม่ได้เสวยพระกระยาหาร

ดังที่พบว่าการเมืองการปกครองในรัชกาลนี้ปรากฏหลักฐานว่ายุ่งเหยิงและมีเรื่องฉ้อราษฎร์บังหลวงอยู่บ่อยครั้ง ไม่ค่อยตรงกับที่คำให้การขุนหลวงหาวัดบรรยายว่า "ฝูงอนาประชาราษฎรแลชาวนิคมชนบทก็อยู่เยนเกษมสานต์" สักเท่าไหร่นัก ซึ่งก็ต้องวิเคราะห์กันต่อไปด้วยว่าใครเป็นผู้บันทึกของความเหล่านี้ เพราะการมองภาพในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลได้ครับ  

พระเจ้าเอกทัศคงจะไม่ได้ทรงเลวร้ายถึงขนาดหลงสุรานารีไม่สนพระทัยราชการบ้านเมืองเลยอย่างที่บางแห่งวิจารณ์กัน ซึ่งเป็นการกล่าวที่เกินเลยจากหลักฐานไปพอสมควรเพราะมีหลักฐานว่าทรงตระเตรียมในการป้องกันพระนครรับศึกพม่าอยู่หลายครั้ง แต่ก็ไม่น่าจะเข้มแข็งถึงขนาดที่มีบางคนพยายามยกยอกันในช่วงหลังๆ นี้ว่าทรงรักษาพระนครได้ถึง ๑๔ เดือนจากพม่า (ผมมองว่าเป็นเพราะปราการธรรมชาติของกรุงมากกว่า) โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าไม่ได้ทรงเลวร้าย แต่ทรงมีความทะเยอทานที่จะครองแผ่นดินในระดับหนึ่งไม่ได้ธัมมะธรรมโมอย่างในศรีอโยธยา แต่เมื่อทรงได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วไม่ทรงมีพระปรีชาสามารถที่เพียงพอและทรงปล่อยให้เจ้านายข้าราชการปิดบังพระเนตรพระกรรณ รวมถึงใช้คนโดยไม่พิจารณาตามอย่างที่ทรงถูกวิจารณ์ไว้ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 488  เมื่อ 16 ก.พ. 18, 17:10

    เห็นด้วยค่ะ   การทะนุบำรุงศาสนาเป็นหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดินของอยุธยา ที่ทรงกระทำกันทุกรัชกาลก็ว่าได้  แต่ก็ไม่ได้พิสูจน์ว่ากษัตริย์องค์นั้นเป็นคนธัมมะธัมโมเสมอไป 
    เรื่องพระเจ้าเอกทัศ หลักฐานร่วมสมัยหลายอย่างชี้ไปในทางเดียวกันถึงข้อบกพร่องทั้งในพระอุปนิสัย และการกระทำที่มีผลต่อการเสียกรุงในอยุธยา    คุณศรีสรรเพชญแจกแจงมาละเอียดลออ  ดิฉันจะไม่กล่าวซ้ำ  แต่ขอเพิ่มอีกเรื่อง คือจดหมายของบาทหลวงชื่อมองเซนเยอร์บรีโกต์ ที่ส่งไปยังต้นสังกัดที่วาติกัน  เล่าถึงการเมืองในราชสำนักฝ่ายใน    คือเจ้านายผู้หญิงที่มีอำนาจ พากันคอรัปชั่นฉ้อราษฎร์บังหลวง    ใครที่ทำผิดถึงขั้นถูกประหาร เจ้านายสตรีเหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงเป็นแค่โทษริบทรัพย์  แล้วยึดทรัพย์มาเป็นสมบัติของตัวเองเสียดื้อๆ
    มองเซนเยอร์บรีโกต์ไม่ได้ระบุว่าเจ้านายสตรีที่ว่าคือใคร  แต่บรรยายว่ามีหลายคน   การกระทำแบบนี้ทำให้ขุนนางพากันเอาอย่าง  ฉ้อราษฎร์บังหลวงกันไม่เกรงกลัว  พระเจ้าเอกทัศเองก็ไม่ทรงทราบ   ขุนนางก็พากันเหิมเกริม ถึงขั้นขุนนางไทยที่ภูเก็ตไปปล้นเรือของอังกฤษที่ภูเก็ตแล้วซัดทอดไปยังพวกที่เข้ารีตเป็นคริสต์    ทำให้พวกเข้ารีตและบาทหลวงถูกข่มเหงรังแกสาหัส

   เรื่องเจ้านายสตรีฝายในมีอำนาจขนาดยื่นมือออกมาก้าวก่ายกับกฎหมาย ของข้าราชสำนักฝ่ายหน้า โดยพระเจ้าเอกทัศก็ไม่ทรงทราบ หรือทราบแต่ไม่จัดการ ทำให้นึกถึงเรื่องห้ามยิงปืนใหญ่เพราะหนวกหูเจ้าจอมหม่อมห้าม    มันบ่งถึงความอ่อนแอไม่เด็ดขาดในเรื่องอิสตรี     กำลังรอดูว่าตอนที่ 20 จะมีเรื่องนี้หรือไม่   
   หรือมีเจ้าจอมแขเอาไว้เป็นแพะเสียแล้ว  ก็ไม่รู้นะคะ

   ส่วนหนังสือคำให้การฯ ดิฉันไม่ค่อยให้น้ำหนักนัก   เพราะเห็นว่าคลาดเคล่ื่อนหลายเรื่องด้วยกันค่ะ    แต่ก็เป็น license ของหม่อมน้อยอีกนั่นละที่จะเลือกเชื่อเรื่องใด
     
บันทึกการเข้า
katathorn
อสุรผัด
*
ตอบ: 11


"ไปกับอนาคตได้ต้องไม่ลืมอดีต"


ความคิดเห็นที่ 489  เมื่อ 16 ก.พ. 18, 17:48

แวะพักชมสิ่งน่า...กันครับ  ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า

ภริยา ปรมา สขา
ภริยาเป็นเพื่อนสนิท, ภรรยาเป็นสหายอย่างยิ่ง
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 490  เมื่อ 16 ก.พ. 18, 17:52

ดิฉันเข้าลิ้งค์แล้วออกมาเป็นแบบนี้ค่ะ  ใครดูได้บ้างคะ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 491  เมื่อ 16 ก.พ. 18, 17:59

แวะพักชมสิ่งน่า...กันครับ   ยิงฟันยิ้ม

https://www.youtube.com/watch?v=o5QdpswPdGg

บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 492  เมื่อ 16 ก.พ. 18, 18:15

 
ส่วนเรื่องน้ำพระทัย เป็นผู้รักใคร่เมตตาห่วงใยชาวบ้านมากมายเหมือนในละครหรือไม่    พบแต่หลักฐานว่า โปรดเสวยน้ำจัณฑฺ์ และมักมากในกามคุณ     ถ้าจะพอพระทัยแค่มีพระสนมเจ้าจอมจำนวนมากก็คงไม่เป็นไร เพราะสังคมสมัยนั้นชายมีภรรยาได้หลายคนอยู่แล้ว     แต่พระองค์ทรงเป็นอย่างที่นักจิตวิทยาเรียกว่า pedophile  คือเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบมีสัมพันธ์ทางเพศกับเด็ก   ถือเป็นอาการป่วยทางจิตชนิดหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อสังคม
      พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกถึงพระอาการเช่นนี้ ว่า

     "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพอพระทัยเสวยน้ำจัณฑ์ แล้วเสพสังวาสด้วยดรุณีอิตถีสตรีเด็กอายุ 11-12 ปี ถ้าสตรีใดเสือกดิ้นโครงไป ให้ขัดเคือง จะลงพระราชอาชญาถองยอดอกตายกับที่ ถ้าสตรีใด ไม่ดิ้นเสือกโครงนิ่งอยู่ ชอบพระอัชฌาสัย พระราชทานบำเหน็จรางวัล"

    พงศาวดารสยามฉบับบริติชมิวเซียมบันทึกไว้ตรงกันว่า

      "ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชหฤทัยกักขฬะ หยาบช้า ทารุณ ร้ายกาจ ปราศจากกุศลสุจริต ทรงพระประพฤติผิดพระราชประเพณี มิได้มีหิริโอตัปปะ และพระทัยหนาไปด้วยอกุศลลามก มีวิตกในโทสโมหมูลเจือไปในพระสันดานเป็นนิรันดร์มิได้ขาด แลพระองค์เสวยน้ำจัณฑ์ขาวอยู่เป็นนิจ แล้วมักยินดีในการอันสังวาสด้วยนางกุมารีอันยังมิได้มีระดู ถ้าและนางใดอุตส่าห์อดทนได้ ก็พระราชทานรางวัลเงินทองผ้าแพรพรรณต่าง ๆ แก่นางนั้นเป็นอันมาก ถ้านางใดอดทนมิได้ไซร้ ทรงพระพิโรธ และทรงประหารลงที่ประฉิมุราประเทศให้ถึงแก่ความตาย แล้วให้เอาโลงเข้ามาใส่ศพนางนั้นออกไปทางประตูพระราชวังข้างท้ายสนมนั้นเนือง ๆ และประตูนั้นก็เรียกว่า ประตูผีออก มีมาตราบเท่าทุกวันนี้
    


   พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บันทึกไว้อีกตอนหนึ่ง ถึงการลงพระอาญาข้าราชบริพารว่า

    "ประการหนึ่ง ถ้าเสด็จไปประพาสมัจฉาชาติฉนากฉลามในชลมารคทางทะเลเกาะสีชังเขาสามมุข แลประเทศที่ใด ย่อมเสวยน้ำจัณฑ์พลาง ถ้าหมู่พระสนมนิกรนางในแลมหาดเล็ก ชาวที่ทำให้เรือพระที่นั่งโคลงไหวไป มิได้มีพระวิจารณะ ปราศจากพระกรุณาญาณ ลุอำนาจแก่พระโทโส ดำรัสสั่งให้เอาผู้นั้นเกี่ยวเบ็ดทิ้งลงไปกลางทะเล ให้ปลาฉนากฉลามกินเป็นอาหาร

    "ประการหนึ่ง ปราศจากพระเบญจางคิกศีล มักพอพระทัยทำอนาจารเสพสังวาสกับภรรยาขุนนาง แต่นั้นมาพระนามปรากฏเรียกว่า พระเจ้าเสือ"


สำหรับเรื่องพระเจ้าเสือเอง ซึ่งหากดูจากคลิปเบื้องหลังจะเห็นได้ว่าผู้สร้างแสดงความคิดเห็นไม่เชื่อถือเนื้อหาในพงศาวดารสมัยหลัง และเห็นว่าอาจจะถูกปรุงแต่งขึ้น และเข้าใจว่าผู้สร้างอ้างอิงพระอุปนิสัยจากเอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัด และคำให้การชาวกรุงเก่าที่กล่าวถึงพระองค์ในเชิงบวกเช่นเดียวกันกรณีของพระเจ้าเอกทัศครับ

คำให้การชาวกรงเก่าระบุว่าพระเจ้าสุริเยนทราธิบดี (พระเจ้าเสือ) นั้นเสด็จปลอมเป็นสามัญชนออกจากวังโปรดการทรงปืนเหมือนกันในพงศาวดาร แต่เนื้อหาเป็นการกล่าวในทางบวกเสียส่วนใหญ่ ดังนี้

"พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีนี้มีบุญญาภินิการ ละอิทธิฤทธิ์ชำนาญในทางเวทมนตรกายสิทธิ์มาก เวลากลางคืนก็ทรงกำบังพระกายเสด็จประพาสฟังกิจสุขทุกข์ของราษฎร และทรงตรวจตราโจรผู้ร้ายมิได้ขาด ทรงชุบเลี้ยงคนที่มีเวทมนตร์ให้เป็นมหาดเล็กใกล้ชิดพระองค์รับสั่งใช้ให้กำบังกายออกตรวจโจรผู้ร้ายในราตรี ถ้าทรงทราบว่าใครมีเวทมนตร์ดีแล้ว ให้มหาดเล็กลอบไปทำร้ายในเวลาหลับ ผู้ใดไม่เป็นอันตรายก็ให้พามาเลี้ยงไว้เป็นข้าราชการ ผู้ใดที่โอ่อวดทดลองไม่ได้จริงก็ให้ลงพระราชอาญา พระเจ้าสุริเยนทราธิบดีนี้ทรงปืนแม่นหาผู้เสมอยาก นกกาบินร้องมาในเวลากลางคืนก็ยิงถูก เต้าปลามัจฉาในน้ำแต่พอแลเห็นเงาก็ยิงถูก และทรงชำนาญในทางโหราศาสตร์ รู้คำนวณฤกษ์ยามชะตาบ้านเมือง..."


เช่นเดียวกับคำให้การขุนหลวงหาวัดที่ระบุว่า

"อันพระศรีสุริเยนทราธิบดีนั้น องอาจมีอำนาจหนักหนา ทั้งทรงทศพิธราชธรรม มิได้เที่ยวรบพุ่งบ้านเมืองใด จนถึงพระยาสามนต์อันเป็นใหญ่ อยู่ในกรุงศรีสตนาคนหุตก็เลื่องลือชาไปว่าพระองค์นี้ ตั้งอยู่ในธรรม ทั้งมีกฤตยาอาคม ทั้งพระเดชเดชาก็กล้าหาญนักหนา..."


เนื้อหาในเอกสารคำให้การฯ สำหรับรัชกาลที่อยู่ห่างจากการเสียกรุงนั้นน่าจะอาศัยเรื่องราวประเภทมุขปาฐะ (Oral History) ซึ่งเล่าต่อๆ กันมามากกว่าจะเป็นเรื่องที่มีการจดบันทึกเป็นบรรทัดฐานจริง ดังที่พบว่าเอกสารคำให้การนั้นมีเนื้อหาพิสดารคลาดเคลื่อนอยู่หลายตอน อย่างในกรณีนี้ที่เนื้อหาเป็นเรื่องเล่าแบบเกร็ดมีอภินิหารพอสมควร มีการระบุว่าพระเจ้าล้านช้างถวายพระธิดาให้ ซึ่งตามพงศาวดารและหลักฐานต่างประเทศระบุตรงกันว่าเกิดในรัชกาลพระเพทราชา เพิ่งจะมาค่อนข้างตรงสอดคล้องกับหลักฐานอื่นและมีรายละเอียดชัดเจนในช่วงรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศลงมา เข้าใจว่าเพราะเชลยไทยที่ถูกกวาดต้อนไปพม่ายังมีผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์อยู่มากหรืออาจมีเอกสารจดหมายเหตุติดตัวไปด้วย

อย่างไรก็ตามผมเห็นว่าเรื่องพระเจ้าเสือปลอมพระองค์ออกเสด็จประพาสนั้นต้นเพื่อฟังทุกข์สุขราษฎรก็เป็นไปได้อยู่ ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลเสียเดียว แต่ก็อาจจะตีความได้ว่าเป็นการเสด็จเพื่อการสำราญพระองค์ประการเดียวไม่เกี่ยวกับราษฎรก็อาจเป็นได้เช่นกัน


แต่ต่อให้ทรงเสด็จประพาสต้นเพื่อรับฟังทุกข์สุขของราษฎรจริง อาจจะต้องแยกเป็นคนละกรณีเรื่องพฤติกรรมมักมากในกามคุณหรือเรื่องพระอัธยาศัยในทางโหดเหี้ยมนั้นก็เป็นคนละเรื่องกันเหมือนกรณีของพระเจ้าเอกทัศครับ
บันทึกการเข้า
ศรีสรรเพชญ์
พาลี
****
ตอบ: 205



ความคิดเห็นที่ 493  เมื่อ 16 ก.พ. 18, 18:16

สำหรับเรื่องพระอัธยาศัยที่พงศาวดารระบุว่าทรงโหดร้ายและมีพฤติกรรมไม่งามนักในเรื่องสตรีก็ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลเช่นกัน เพราะมีหลักฐานร่วมสมัยของต่างประเทศยืนยันอยู่หลายชิ้น อย่างเช่นบาทหลวงเดอ แบสที่ระบุว่าเมื่อตั้งแต่ช่วงที่พระเพทราชาทรงยึดอำนาจสมเด็จพระนารายณ์ที่ทรงพระประชวรอยู่และจับฟอลคอนไปประหาร พระเจ้าเสือซึ่งยังเป็นออกหลวงสุรสักดิ์ได้ปรารถนาจะเอาท้าวทองกีบมาภรรยาของฟอลคอนมาครอบครองโดยสั่งให้ควบคุมนางอย่างเข้มงวดและทรมานนางด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้นางยอมทำตามคำขอ และยังให้ขุนนางชื่อออกหมื่นสีมันต์ชัยมาพูดกับบาทหลวงเดอ แบสเพื่อให้ไปกล่อมให้นางยอม แต่เดอ แบสปฏิเสธ

ฝ่ายออกหลวงสุรสักดิ์ก็ยังไม่กล้าทำอะไรรุนแรงเพราะเกรงว่าพวกบาทหลวงจะเอาเรื่องที่ตนทรมานท้าวทองกีบม้าไปฟ้องพระเพทราชาผู้เป็นบิดา เพราะจะเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจาก

"...เมื่อไม่นานมานี้เอง เขาได้บังอาจไปฉุดคร่าธิดาของนักบวชใหญ่ชาวมลายามา เมื่อเพทราชาได้รับคำฟ้องร้องจากนายพลแห่งชาตินั้นแล้ว ก็เอาตัว (ออกหลวงสรศักดิ์) ไปขังไว้ แล้วคาดโทษว่าจะตัดหัวเสียทีเดียวถ้าไปทำทารุณกรรมกับหญิงคนใดอีก เพราะเขารู้ดีว่าบุคคลนั้น (ออกหลวงสรศักดิ์) เป็นที่เกลียดชังของพวกขุนนางอยู่ด้วยได้ไปประกอบกรรมอันน่าบัดสี (ต่อลูกเมียของพวกเขา) อยู่เนืองๆ"


ข้อความตอนนี้ตรงกับพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่ระบุว่า "ประการหนึ่งปราศจากพระเบญจางคิกศีล มักพอพระทัยทำอนาจารเสพสังวาสกับภรรยาขุนนาง"


จนเมื่อทรงได้เป็นพระมหาอุปราชจึงมีพระราชบัณฑูรให้กุมตัวท้าวทองกีบม้ามาไว้ในวังของพระองค์ แต่นางหนีไปได้ในภายหลัง


ในรัชกาลพระเพทราชาก็ปรากฏในหลักฐานร่วมสมัยของดัตช์ว่าพระเจ้าเสือซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรฯ ทรงมีพฤติกรรมมักมากในกามคุณในตัวหญิงสาวและโปรดกระทำการทารุณกรรมต่างๆ (sadistic treatment) รวมไปถึงหญิงสาวที่อาศัยอยู่ในบริเวณห้างของบริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ (VOC) ด้วย แต่แม้ว่าบิดามารดาของพวกนางจะขอให้ทาง VOC ช่วยคุ้มครอง VOC ก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้

นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื้อฉาวกิดขึ้นในวังหน้าอีก คือใน ค.ศ. ๑๖๙๗ (พ.ศ. ๒๒๔๐) พระธิดาของกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งมีพระชนม์ได้ ๑๙ ชันษาแอบไปรวมหลับนอนกับคนชั้นล่างอย่างพวกข้ารับใช้หรือคนละคร เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ ทรงทราบทำให้กริ้วมาก โปรดให้จับพระธิดาไปจำเจ็ดประการ และเรื่องนี้ก็ทำให้สมเด็จพระเพทราชาทรงไม่พอพระทัยเช่นเดียวกัน เพราะเหตุมาเกิดขึ้นในช่วงพระราชพิธีโสกันต์โอรสของกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์หนึ่ง


เมื่อพระเจ้าเสือทรงครองราชย์แล้ว ก็ยังปรากฏในหลักฐานชั้นต้นของฝรั่งเศสว่าทรงโหดร้ายพอๆ กับพงศาวดาร ดังที่ปรากฏในจดหมายมองเซนเยอร์เดอซีเซ ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ วันที่ ๓๐ เดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๐๓ (พ.ศ. ๒๒๔๖) ความว่า

"เมื่อข้าพเจ้าได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ดำริห์การที่จะให้ฝรั่งเศสกับไทยทำการค้าขายติดต่อกันอีก และจะเอาคณะบาดหลวงเปนสายสำหรับให้การนี้ได้สำเร็จไปนั้น เปนการที่ทำให้ข้าพเจ้าไม่พอใจอย่างยิ่ง เพราะข้าพเจ้าได้เห็นแล้วว่า การที่ฝรั่งเศสกับไทยได้ มีไมตรีติดต่อกันนั้นได้ทำให้เปนผลร้ายเกิดขึ้นเพียงไร การที่ได้เปนมาแล้วในเวลาที่เกิดจลาจลครั้งพระราชบิดาของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ ก็เปนสิ่งทำให้ชาวฝรั่งเศไม่พอใจอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรไว้ใจในพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ ซึ่งปฎิบัติการแต่ตามความพอพระทัย และทั้งพระทัยก็กลับกลอกไม่แน่นอนด้วย ยิ่งข้าพเจ้ารู้จักพระองค์มากขึ้นก็ยิ่งทำให้ข้าพเจ้าเห็นว่าการต่าง ๆ ที่มีคนเล่า ถึงพระอัธยาศัยนั้นเปนความจริงนั้น ถ้าแม้ว่าจะกลับพระทัยในเวลาอันรวดเร็วเช่นนี้เปนการปลาดอย่างยิ่ง บางทีถ้าได้เดิรการปอลิติกอย่างดีก็อาจจะทำให้เปลี่ยนพระนิสัยได้บ้างกระมัง แต่ปอลิติกในเมืองชนิดนี้ ไม่แรงพอที่จะคุ้มครองเมืองซึ่งมีกษัตรย์อันมีนิสัยเต็มไปด้วยโทษะโมหะ และยิ่งมีอำนาจเด็จขาดที่จะทำตามโทษะได้ทุกอย่างแล้ว ก็เปนอันไม่ได้อยู่เอง การที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบีบคั้นพระอนุชาซึ่งเปนรัชทายาท ผู้ที่สมควรจะครองราชสมบัติโดยแท้อย่างแสนสาหัส และทรงบีบคั้นขุนนางข้าราชการที่เข้ากับพระอนุชาจนลงท้ายได้ห่าเสียหมดทุกคน ถึงพวกข้าราชการผู้ใหญ่แลพระสงฆ์จะกราบทูลทัดทานเท่าไรก็ไม่ฟังนั้น ทั้งการที่ทรงลงพระอาญาอย่างร้ายกาจแก่พระราชบุตร์ทั้ง ๒ ของพระองค์ซึ่งพระองค์ไม่ไว้พระทัยและทรงลงพระอาญาเฆี่ยนอยู่เสมอนั้น ก็ทำให้เห็นได้ชัดว่าคงมีบุคคลบางจำพวกที่จะไม่ยอมทนไปได้นานสักเท่าไร และจำเปนที่พระองค์จะต้องกลับใจเสียโดยเร็ว การทั้งปวงเหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้าหนักใจเปนอันมาก เพราะข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้มิได้รักชอบพวกเราเลย ข้าพเจ้าจึงเกรงว่าถ้าไม่มีเรือพ่อค้าฝรั่งเศสมาตามพระราชประสงค์แล้ว ก็น่ากลัวจะทรงถือว่าเปนการที่ฝรั่งเศสดูถูกและ คงจะทรงแก้แค้นกับพวกเราในโรงเรียนเปนแน่"


เรื่องเฆี่ยนเจ้าฟ้าเพชร เจ้าฟ้าพรนี้ก็ตรงกับในพงศาวดารเช่นเดียวกันครับ



และในจดหมายมองเซนเยอร์เดอซีเซ ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ วันที่ ๖ เดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๗๐๓ (พ.ศ. ๒๒๔๖) ก็ระบุว่าพระเจ้าเสือทรงมีพระอุปนิสัยกริ้วกราดอยู่เสมอ

"ตามที่ข้าพเจ้าได้เล่าถึงความเดือดร้อนของเมืองนี้ ถึงความไม่แน่นอนของรัฐบาลปัจจุบันนี้ ถึงพระนิสัยของพระจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ อันจะเชื่อพระวาจาไม่ได้นั้นเปนสิ่งที่จริงทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ต้องร้อนพระทัยด้วยยังต้องทำศึกสงครามอยู่ก็จริง แต่ถึงดังนั้นก็ยังคงโหดร้ายและทรงกริ้วกราดอยู่เสมอเท่ากับไม่มีเรื่องอะไรมากวนพระทัยเลย"



และในจดหมายฉบับเดียวกันยังระบุว่าพระเจ้าเสือทรงมีพระอุปนิสัยโปรดให้จับเด็กหญิงเด็กชายเข้าไปในพระราชวัง

"พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้โปรดนักในการที่จะไปแย่งชิงเด็กทั้งหญิงและชายเพื่อเอาไปเปนทาสสำหรับไว้ใช้ในวัง เมื่อสองสามวันนี้เองได้มีพวกญวนและไทยเข้ารีตซึ่งตั้งบ้านเรือนใกล้กับโรงเรียน ได้ตื่นตกใจวิ่งมาขอให้เราช่วย เพราะเจ้าพนักงารได้มาจดชื่อเด็กลูกของคนเหล่านี้ จึงเกรงว่าเด็กพวกนี้จะต้องถูกจับเข้าไปในวัง พวกนี้คิดจะบอกเจ้าพนักงารว่าตัวเขาและลูกเปนทาสขายตัวอยู่กับพวกบาดหลวง เพราะฉนั้นพอรุ่งขึ้นพวกนี้ก็ได้ไปทำหนังสือยอม ตัวเปนทาสของบาดหลวงตามที่คิดไว้ แล้วได้พาลูกมาขอให้เรารับไว้ ซึ่งเปนการที่เราจะไม่ยอมไม่ได้ เพราะถ้าจะคิดถึงส่วนประโยชน์ของเด็กเหล่านี้แล้ว ถ้ามาอยู่กับเราอาจที่จะหันให้นับถือสาสนาคริศเตียนได้ แต่ถ้าจะขืนปล่อยตามลำพังแล้ว เด็กพวกนี้คงจะประพฤติตามเยี่ยงอย่างของผู้ใหญ่ ส่วนเด็กผู้หญิงซึ่งจะต้องระวังมากกว่าผู้ชายนั้น เราได้เอาไปเที่ยวฝากไว้กับผู้หญิงแก่ ๆ ที่เข้ารีตและผู้หญิงเหล่านี้ได้จัดการซ่อนเด็กผู้หญิงไว้อย่างดีที่สุดที่จะซ่อนได้ แต่ถึงเราได้จัดการป้องกันเด็กเหล่านี้ไว้ก็จริง แต่เราจะอวดอ้างไม่ได้ว่าเด็กเหล่านี้จะพ้นอันตรายแล้ว ถ้าไทยยกพวกมาจับเด็กเหล่านี้แล้วเราก็จะเดือดร้อนมาก "


แม้ว่าดหมายมองเซนเยอร์เดอซีเซจะไม่ได้บอกว่าจับเด็กไปทำอะไร แต่เมื่อดูจากรายละเอียดของจดหมายแล้วก็น่าจะเดาได้อยู่ครับ


จนเมื่อพระเจ้าเสือสวรรคตและพระเจ้าท้ายสระทรงครองราชย์แทน ความโหดร้ายของพระองค์ก็ยังคงเป็นที่จดจำอยู่ ปรากฏในจดหมายมองซิเออร์เกดีถึงมองเซนเยอร์เมโกร เมืองปอนดีเชอร๊ วันที่ ๓ เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๑๑ (พ.ศ. ๒๒๕๔) ได้เรียกพระเจ้าเสือว่า "พระเจ้าแผ่นดินองค์ดุร้าย" ครับ
บันทึกการเข้า
katathorn
อสุรผัด
*
ตอบ: 11


"ไปกับอนาคตได้ต้องไม่ลืมอดีต"


ความคิดเห็นที่ 494  เมื่อ 16 ก.พ. 18, 18:24

ดิฉันเข้าลิ้งค์แล้วออกมาเป็นแบบนี้ค่ะ  ใครดูได้บ้างคะ

ขออภัยด้วยครับ ผมใส่ลิ้งค์เป็น FPT ครับ แก้ไขแล้วครับ อายจัง
บันทึกการเข้า

ภริยา ปรมา สขา
ภริยาเป็นเพื่อนสนิท, ภรรยาเป็นสหายอย่างยิ่ง
หน้า: 1 ... 31 32 [33] 34 35 ... 37
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.098 วินาที กับ 19 คำสั่ง