เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 8
  พิมพ์  
อ่าน: 20100 ฤาจะหมดแผงเข้าไปทุกทีทุกที
heha
ชมพูพาน
***
ตอบ: 174


 เมื่อ 18 พ.ย. 17, 16:32

อ่านข่าวนิตยสารขวัญเรือนจะอำลาแผงฉบับธันวาคม 2560 นี้เป็นฉบับสุดท้าย
ด้วยความใจหายและเสียดาย
สตรีสารไปนานแล้ว สกุลไทย พลอยแกมเพชร แล้วก็ขวัญเรือน

บ้านเพื่อนผมเป็นเอเย่นต์ นสพ. ประจำจังหวัด เคยขายได้วันละ 4,000 ฉบับ
คิดง่ายๆ ว่าฉบับหนึ่งกำไร 1 บาท (คิดราคาส่งให้แก่สายมอเตอร์ไซค์ที่รับไปส่งบ้านเรือนแต่ละย่าน)
ก็อยู่สบาย แต่มาระยะหลังเพื่อนเริ่มบ่นว่ายอดขายลดลง คนหันไปอ่านข่าวทางเน็ต
นิตยสารแพงๆ เช่น 70-100ื บาท ปกหนึ่งปักษ์หนึ่งสั่งไม่เกิน 2-5 เล่ม
นักอ่านอยากได้ต้องโทรสั่ง เพราะเอเย่นต์ บางปกต้องซื้อขาด คืนไม่ได้

ข้อสังเกต
1) ถ้าทยอยกันปิดตัวลงเรื่อยๆ เท่ากับว่าเวทีสำหรับนักเขียนหน้าใหม่จะค่อยๆ น้อยลง
ผมหวั่นๆ อยู่ว่าแล้วเราจะค้นพบช้างเผือกเชือกใหม่ได้ทางไหนครับ
คงต้องจัดประกวดงานเขียน เพื่อให้งานของตนเองออกไปสู่โลกภายนอกกระมังครับ

2) ผมสังเกตว่านิตยสารที่เป็นเรื่องเป็นราว อยู่ไม่ได้ (อาจเพราะราคาสูง)
แต่นิตยสารที่เล็งกลุ่มแม่บ้านและนักอ่านระดับชาวบ้านกลับอยู่ได้ (ราคาราวยี่สามสิบบาท)
ดังนั้นราคาน่าจะเป็นปัจจัยตัวหนึ่ง

3) ไม่ใช่แต่ไทยที่ประสบปัญหา ต่างประเทศก็แย่ครับ
เอาข่าวสารขึ้นเน็ต ทำให้ฉบับกระดาษยอดหด
แก้ปัญหาโดยการให้นักอ่านจ่ายค่าสมาชิก แล้วลอกอินเข้าไปอ่าน
ผลคือกร่อย คนไม่อ่าน ทำให้นักเขียนที่เคยเป็นแม่เหล็กดูด ขาดแฟนติดตาม
จนเว็บนั้นต้องเปิดให้อ่านฟรีเหมือนเดิม ใช้สปอนเซอร์ออนไลน์ช่วย แต่ก็ไม่ดีดังเดิม
บางเว็บถึงกับร้องขอให้นักอ่านช่วยจ่ายโดยสมัครใจ หากยังต้องการอ่านสิ่งดีๆ

4) เมื่อเศรษฐกิจฟื้น เราจะเห็นฉบับใหม่ (อาจทีมเดิมๆ) เปิดตัวใหม่มั้ยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 18 พ.ย. 17, 17:35

เพิ่งเขียนไว้ใน Facebook  ในเรื่องเดียวกันพอดี
เชิญอ่าน และเชิญออกความเห็นค่ะ

ฝันร้ายของคนรักหนังสือ/สิ่งพิมพ์ (๑)

นิตยสารขวัญเรือนปิดตัวลงไปอีกฉบับหนึ่งแล้ว ย้ำเตือนให้คนในสังคมไทยเห็นชัดขึ้นอีกครั้งว่า โลกหนังสือที่เรารู้จักกันมาตลอดศตวรรษที่ ๒๐ จะมาถึงจุดหักเหขนาดใหญ่ในศตวรรษที่ ๒๑ จนถึงขั้นไม่มีวันกลับคืนไปเหมือนเดิมอีก
ไม่อยากจะทำนายให้ใจฝ่อกัน เพราะตัวผู้เขียนเองก็ใจฝ่อไม่น้อยกว่าใคร แต่อดคิดไม่ได้ว่า สิ่งที่จะจากไปเป็นอันดับต่อไปคือหนังสือเล่ม เพราะคนจะไม่หยิบหนังสือขึ้นมาอ่านหน้าแล้วหน้าเล่า ตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย อย่างออกอรรถรส บางครั้งก็ดื่มด่ำจนลืมกินลืมนอน ทั้งหมดนี้ กำลังจะถูกเก็บลงหีบที่ชื่อว่า "อดีต" เช่นเดียวกัน

ถ้าอย่างนั้น คนรุ่นศตวรรษที่ ๒๑ เขาอ่านอะไร?
คำตอบก็มีให้เห็นกันอยู่แล้วตามถนนหนทาง ในรถไฟฟ้า ในลิฟต์ ในคิวรอรถตู้ ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัยฯลฯ ทุกคนก้มลงอ่านหน้าจอเล็กๆขนาดไม่เกินฝ่ามือ บรรจุถ้อยคำสั้นๆ อ่านจบได้ในหน้าเดียว หรืออย่างมากก็สองหน้า นอกนั้นเป็นภาพเสียส่วนใหญ่
หน้าจอเป็นตัวกำหนดการเขียนการอ่าน ให้คนยุคดิจิทัล ต้องอ่านอะไรสั้นๆ เขียนอะไรสั้นๆ สั้นที่สุดเท่าที่นิ้วจะจิ้มลงไปได้สะดวก บางทีก็มีสติกเกอร์สำเร็จรูปพร้อมคำเอาไว้ให้จิ้มแทนคำตอบ ไม่ยุ่งยากต้องพิมพ์

ผลก็คือ คนยุคดิจิทัล จะเรียบเรียงข้อความยาวๆไม่เป็น แม้แต่การสร้างประโยคก็กลายเป็นเรื่องยาก ไม่ต้องพูดถึงการเขียนอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เอาให้เขียนได้แค่ ๑ หน้ากระดาษ A 4 ก็เกือบจะล้มตายกันไปตามๆกัน
ในเมื่อสื่อสารกันด้วยภาษาแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว ภาษาใหม่ก็จะเกิดขึ้น เป็นภาษาคำเดียว หรือสองสามคำ โดดๆ ง่ายๆ สั้นๆ ไม่ต่อเนื่อง เอาเป็นว่าอ่านแล้วรู้กันระหว่างคนพิมพ์กับคนอ่านก็พอแล้ว ส่วนคนอื่นๆจะรู้หรือไม่ ไม่ต้องคำนึงถึง
หนังสือจะกลายเป็นของตกยุคที่คนยุคดิจิทัลไม่อ่าน นอกจากถูกบังคับให้อ่าน การสื่อสารแบบเดิมคือเขียนอย่างถูกต้องทั้งรูปประโยคและภาษาที่เหมาะสม กลายเป็นสิ่งที่ยากเย็นเกินกว่าจะทำได้ แล้วมันก็จะหมดไปเอง
โลกที่ไม่มีหนังสือ มีแต่หน้าจอแคบๆ จะทำให้หลักสูตรวิชาภาษาและวิชาที่เกี่ยวกับการสื่อสาร พลิกคว่ำถล่มทลายจนไม่เห็นเค้าเดิม

ขอตื่นจากฝันร้ายแค่นี้ก่อนค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 18 พ.ย. 17, 17:36

ฝันร้ายของคนรักหนังสือ/สิ่งพิมพ์ (๒)

ในประเทศไทย ถ้าถามถึงจำนวนคนรักหนังสือ กับคนไม่หนังสือ อย่างไหนมีมากกว่ากัน
คำตอบนี้แทบจะไม่ต้องเสียเวลาคิด เพราะคำพูดที่ว่า คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๘ บรรทัด แพร่หลายมานานแล้ว ยังไ่ม่มีใครค้านจนบัดนี้
เมื่อโลกดิจิทัลขยายตัว สถิติ ๘ บรรทัดอาจจะยิ่งน้อยลงไปอีก เพราะคนจำนวนมาก พบว่า่เฟซบุ๊ค ไลน์ และทวิตเตอร์ ก็เพียงพอแล้วสำหรับการใช้สายตาในยามว่าง นอกเวลาทำงาน
เพราะมันตอบสนองสิ่งที่หนังสือให้ไม่ได้ คือการสื่อสารสองทาง ขณะที่หนังสือเป็นการสื่อสารทางเดียว

นอกจากนี้ ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไปจากศตวรรษก่อน ทำให้ในโลกของหนุ่มสาวเต็มไปด้วยความเปลี่ยวเหงา ชนิดการสื่อสารทางเดียวไม่อาจถมให้เต็มได้
ในศตวรรษก่อน วัยรุ่นยังอยู่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว จนโตเป็นหนุ่มสาว เรียนจบแต่งงานแล้วบางคนก็ไม่แยกบ้าน หรือแยกก็ยังไปมาหาสู่กันอยู่สม่ำเสมอ การสื่อสารสองทางจึงเป็นของปกติในชีวิตประจำวัน
แต่ในยุคนี้ เด็กออกจากบ้านมาอยู่หอพักกันมากมาย ตั้งแต่มัธยมปลายจนระดับมหาวิทยาลัย เรียนจบแล้วก็ยังไม่กลับไปอยู่กับพ่อแม่ ส่วนใหญ่ต้องการชีวิตอิสระมากกว่าอยู่ในสายตาผู้ใหญ่
หนุ่มสาวเหล่านี้มีอยู่มากที่เช่าห้องอยู่ตามลำพัง ถ้าหาคู่ไม่ได้ เพราะวันๆมัวแต่ทำงาน ไม่มีโอกาสพบปะใครนอกสถานที่ทำงาน การพบผู้คนผ่านทางหน้าจอมือถือ เป็นทางออกที่ง่ายสุด
หรือไม่ บางคนมีคู่แล้ว แต่ก็อยากรู้จักคนใหม่ๆโดยไม่ต้องเหนื่อยไปแสวงหาถึงที่ไหน ก็ทำได้ผ่านมือถือนี่เอง
ระหว่างคุยกับคนใหม่ๆที่รู้จักกันง่ายดาย กับการนั่งอ่านหนังสืออยู่คนเดียวในห้องพัก อย่างไหนจะสร้างรสชาติให้ชีวิตมากกว่ากันสำหรับคนหนุ่มสาว เราก็คงได้คำตอบไม่ยาก

บทบาทของหนังสือในชีวิตประจำวันจึงหายากขึ้นทุกที ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นเล็กๆ เช่น เมื่อที่อยู่อาศัยลดขนาดลงเหลือแค่ห้องพัก เนื้อที่จำกัดจำเขี่ย การเก็บหนังสือมากๆก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว หนังสือเล่มหรือสิ่งพิมพ์ต้องหลีกทางให้ของใช้ประจำวันอยู่ดี
หนังสืออีเล็กทรอนิกส์ที่ไม่กินที่ เพราะมีอุปกรณ์อันเดียวสามารถอ่านหนังสือได้เป็นหมื่นเป็นแสนเล่ม น่าจะเป็นคำตอบสำหรับข้อนี้
บันทึกการเข้า
heha
ชมพูพาน
***
ตอบ: 174


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 18 พ.ย. 17, 19:34

เห็นด้วยกับท่านอาจารย์ทุกบรรทัดครับ


เมื่อวานเย็นวันศุกร์ ไปรับทานอาหารปิ้งย่าง ประจวบเหมาะกับทหารต่างชาติที่มาร่วมฝึกได้เบรคเสาร์อาทิตย์
ออกมารับทานเช่นกัน เด็กวัยรุ่นอายุราว 20 จำนวน 12 คน ใส่แว่นตาเสีย 10 คน
เลยสงสัยว่าเพราะเพ่งจอดิจิตัลรึเปล่า เลยทำให้สายตาไปพร้อมเพรียงกันเช่นนี้

หนังสือเล่ม นิยายฝรั่งพอคเก็ตบุคเล่มละ 3-6 ดอลลาร์ จะได้รับผลกระทบบ้างหรือเปล่า น่าคิดนะครับ
หนังสือนวนิยายแบบ 300-800 หน้าของไทย จะถูกหางเลขบ้างเปล่า
คงอีกไม่นานก็ทราบครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 18 พ.ย. 17, 20:21


หนังสือเล่ม นิยายฝรั่งพอคเก็ตบุคเล่มละ 3-6 ดอลลาร์ จะได้รับผลกระทบบ้างหรือเปล่า น่าคิดนะครับ
หนังสือนวนิยายแบบ 300-800 หน้าของไทย จะถูกหางเลขบ้างเปล่า
คงอีกไม่นานก็ทราบครับ

ความพ่ายแพ้เชิงธุรกิจของสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ Barnes & Noble ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1873   คงจะเป็นคำตอบได้ส่วนหนึ่งค่ะ
หนังสือนวนิยายไทยตอนนี้ ถ้าไม่ได้ทำละครทีวี ก็คงเกิดยากกว่าเก่ามาก   เพราะไม่มีสื่ออย่างนิตยสารเป็นสนามให้โชว์ฝีมือ และให้ผู้จัดละครมองเห็นพล็อตตั้งแต่แรกลง
บันทึกการเข้า
heha
ชมพูพาน
***
ตอบ: 174


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 19 พ.ย. 17, 09:59

Barns & Nobles ไปเสียแล้วหรือครับ ผมเพิ่งทราบนี่แหละ
แต่ก่อนเคยเป็นแฟนเมล์ออร์เดอร์  สั่งหนังสืออัตของเชอร์ชิลแ
ะบทบาทของท่านตอนสงครามโลกอย่างเพลิดเพลิน

ความช่ำชองและเชี่ยวกรากในธุรกิจการพิมพ์ ถือลิขสิทธิ์นับพันปก
ตลอดเวลากว่า 100 ปี สนพ ก็ไม่อาจต้านคลื่นซึนามิดิจิทัลที่ถาโถม
กวาดล้างสื่อสิ่งพิมพ์ให้หายวับชั่วพริบตา


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 19 พ.ย. 17, 10:59

Barnes &Noble ยังไม่ถึงกับม้วนเสื่อไปโดยสิ้นเชิง  แต่ก็ยอมรับความพ่ายแพ้เชิงธุรกิจ เพราะไปแข่งขันกับอเมซอน ในเรื่องค้าแทบเล็ตแล้วสู้ไม่ได้   ขาดทุนมากกว่า 475 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2014 
ตอนนี้ก็ปิดสาขาไปเยอะค่ะ   ไม่รู้ว่าจะต่อลมหายใจไปได้อีกนานเท่าไร  ยังหาข่าวล่าสุดไม่เจอ

บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 19 พ.ย. 17, 12:21

เดี๋ยวนี้นิยายไทยขายออนไลน์กันหมดแล้ว แต่ผมไม่รู้จะซื้อเล่มไหนอ่านดี น้องเมีย-บำเรอ-มาเฟีย-เจ้าชาย เหมือนกันไปหมด เลยกะมาเก็บของเก่าร่วมร้อยเล่มให้หมดเสียก่อน ปัญหาก็คือไม่มีเวลาจะอ่าน บร๊ะ!!


ส่วนนิยายไปเป็นละครก็มักจะมาจากสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ซึ่งยังแข็งแกร่งมาก ที่จะสอดแทรกเข้ามาได้จากนิยายเขียนออนไลน์ต้องดังระเบิดระเบ้อจริง ๆ ทางฝั่งนิยายเมืองนอกผมว่าตลาดเขาแข็งโคตร บางประเทศอ่านหนังสือกันหมดยังไงก็ขายออก ประกอบกับนักเขียนส่วนมากพยายามรักษาคุณภาพตนเอง คนก็เลยตัดสินใจจ่ายเงินได้ง่ายไม่ต้องคิดมาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 19 พ.ย. 17, 12:56

ก็เช่นเดียวกับ Barnes&Noble ละค่ะ    ร้านหนังสือในไทยจะได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์ ที่กวาดนิตยสารจมหายกันมาแล้ว
ร้านเล็กๆจะเจอศึกหนักก่อน    ต่อมาก็คือร้านใหญ่หลายสาขา เปิดตามศูนย์การค้า    ถ้าไม่ปรับรูปแบบก็อาจจะไปไม่รอดในระยะยาว
สำนักพิมพ์ ก็อยู่ในรัศมีของคลื่นเช่นกัน    สำนักพิมพ์เล็กๆจะเจอศึกหนักกว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ เพราะสายป่านสั้นกว่า  อาจจะเหนื่อยในการจัดอีเว้นท์ หรือโฆษณาผลงานในโซเชียลมิเดีย

รูปแบบของหนังสือเล่ม จะกลายมาเป็นอีบุ๊คเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีข้อสงสัย    บางที อีบุ๊คอาจจะถึงขั้นแทนที่ก็ได้  แต่คงไม่ใช่วันนี้พรุ่งนี้  ให้เวลา 5 ปี ก็จะรู้หมู่รู้จ่ากัน

ส่วนอาชีพนักเขียน.... ร้องไห้ ร้องไห้ ร้องไห้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 19 พ.ย. 17, 13:18

ในศตวรรษที่ ๒๑  โลกที่เรารู้จักจะถูกดูดกลืนเข้าไปในวัตถุอิเล็กทรอนิกส์ ขนาดเท่าฝ่ามือที่เราพกพาติดตัวอยู่    มันจะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ขนาดที่ว่าวันไหนลืมเอาติดตัวไปทำงาน หรือเครื่องช็อต หรือหาย    เราจะทำอะไรไม่ได้เลย  มีอาการยิ่งกว่าถูกลักตัวพาไปปล่อยเกาะกลางทะเลเสียอีก
ทุกอาชีพ ต้องอาศัยสมาร์ทโฟน  ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้นอาจจะพัฒนาเป็นจีเนียสโฟนไปแล้ว  เพราะมีแอ๊พอะไรต่อมิอะไรเข้ามาบันดาลทุกสิ่งในชีวิต  ให้ไม่ต้องกระดิกตัวยิ่งกว่านี้
ในโลกปัจจุบันและอนาคต  สมาร์ทโฟนช่วยให้ทำธุรกรรมการเงินโดยไม่ต้องขับรถไปธนาคาร    จะจ่ายเงิน โอนเงิน เช็คยอดเงินเข้าเงินออก ไล่ตามหาลูกหนี้ ฯลฯ ทำได้แค่ปลายนิ้ว 
มือถือมีแอ๊พตรวจสุขภาพของเราอย่างละเอียด  และบังคับได้ด้วยว่าวันนี้กินอะไรได้ กินอะไรไม่ได้บ้าง    จะทำนายทายทักโรคที่มีแนวโน้มจะเป็น และป้องกันไม่ให้เป็นด้วยวิธีไหน    จะกำหนดอาหารสุขภาพไว้ให้เสร็จรวมทั้งบังคับให้ออกกำลังกาย เดินวันละกี่พันก้าว ก็ว่ากันไป   ถ้าไม่ทำตามนั้น มันจะฟ้องไปถึงบริษัทประกันสุขภาพให้เรียกค่าประกันชีวิตเพิ่ม   และหน่วยงานควบคุมสุขภาพประชาชนของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อมีผลต่อบำเหน็จบำนาญ
สำหรับหนอนหนังสือ ถ้าอยากจะรู้ประวัติของนโปเลียน เจงกิสข่าน   หรือบูเช็กเทียน  จะละเอียดแค่ไหนก็ควานหาได้จากในมือถือนี่แหละ  เพราะมันจะโยงเข้ากับข้อมูลในห้องสมุดใหญ่ๆทั่วโลก   นอกจากนี้ถ้าอยากรู้รายละเอียดเฉพาะเรื่อง   กูเกิ้ลก็จะเนรมิตมาให้ได้ในพริบตา  ไม่ต้องเปิดหนังสืออ่านหน้าแล้วหน้าเล่า หมดไป ๒๐๐ หน้ากว่าจะหาพบ อย่างเมื่อก่อน
การศึกษานอกห้องเรียน ไม่ได้จำกัดเฉพาะจบม. ๖ อีกแล้ว  จะเรียนจนจบปริญญาเอกที่ฮาร์วาร์ดหรือออกซฟอร์ดก็ยังได้  โดยนั่งอยู่ที่บ้านในกรุงเทพนี่แหละ   เพราะยังไงเสีย ในศตวรรษที่ ๒๑ นี้  การเรียนออนไลน์จะต้องเปิดในทุกมหาวิทยาลัย   ยิ่งในประเทศใหญ่ๆที่ใครๆก็อยากไปเรียน     มหาวิทยาลัยจะมีรายได้ไหลมาเทมาจากการเรียนออนไลน์    ขอเพียงแต่มีสติปัญญาพอเรียนตามหลักสูตรเขาทัน  และมีสตางค์พอจะจ่ายค่าเทอม 
เด็กนักเรียนไม่ต้องกวดวิชาตั้งแต่เข้าเตรียมอนุบาลยันม.๖ อย่างยุคนี้  เพราะมหาวิทยาลัยมีที่ว่างมากมายไม่มีขอบเขต ให้เรียนอยู่ที่บ้าน หรือจะแวะไปคณะก็ไม่มีใครว่า    อยากเข้าที่ไหนเอานิ้วจิ้มชื่อคณะได้เลย  ส่วนจะเรียนจบไม่จบ ว่ากันอีกเรื่อง

ไว้แค่นี้ก่อนค่ะ
บันทึกการเข้า
heha
ชมพูพาน
***
ตอบ: 174


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 19 พ.ย. 17, 14:20

ต่อไปหนังสือที่ระลึกงานศพ อาจเป็นดิจิตัลไฟล์บนแผ่นซีดี เพราะถูกกว่าเปเปอร์เวอร์ชั่น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 19 พ.ย. 17, 15:08

น่าจะมีแล้วนะคะ


บันทึกการเข้า
heha
ชมพูพาน
***
ตอบ: 174


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 19 พ.ย. 17, 16:12

เศร้าครับ ร้านซีเอ็ดบุ๊ค ที่ผมทำงาน ทยอยปิดสาขา เพราะคนซื้อหนังสือน้อยลง

https://pantip.com/topic/37103499


ร้านหนังสือในร้านฮาร์ดแวร์เชนใหญ่ระดับประเทศ สาขาใกล้บ้านผม เจียนอยู่เจียนไป
ภาวนาอย่าปิดเลย เอาไว้เดินแก้เหงา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 19 พ.ย. 17, 16:33

คุณเฮฮาสังเกตไหมคะ  ว่าในกระทู้ที่คุณลิ้งค์มาให้นั้น  หนอนหนังสือที่เข้ามาตอบ เกือบทุกคนบอกว่าซื้อหนังสือน้อยลงกว่าก่อน หรือไม่ก็ไม่ได้ซื้อมาพักใหญ่แล้ว
นี่ก็คือคำตอบว่าทำไมร้านหนังสือถึงทยอยจากไป
เมื่อการอ่านฟรีเข้ามาในมือถือ    การอ่านเสียเงินก็ต้องถอยออกไป

เมื่อ 21 เมษายน 2556    เรายังจัดงาน “กรุงเทพมหานคร เมืองหนังสือโลก 2556” อยู่เลย   ผ่านมา 4 ปี  ปรากฎการณ์ในเมืองหนังสือโลก คือนิตยสารทยอยปิด ร้านหนังสือทยอยปิดกันเป็นแถวๆ    
อ่านพบข่าวทีไรก็ใจหาย

ไม่รู้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะลุกขึ้นมาทำอะไรกันบ้างหรือยัง ก่อนจะไม่เหลือหนังสือใหม่ในเมืองหนังสือโลกอีก
บันทึกการเข้า
rozicki
อสุรผัด
*
ตอบ: 4


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 20 พ.ย. 17, 11:02

สวัสดีครับ อย่างนั้นผมคงเป็นคนตกยุค ที่ยังฟังเพลงจากแผ่นเสียง กับอ่านหนังสือ pocket book อยู่อย่างมีความสุข
 วันหยุดเสาร์-อาทิตย์นี่ อ่านหนังสืออยู่บ้านทั้งวันยังได้ครับ เพลินดีด้วย นี่ก็ว่าจะพาลูกสาวไปหอสมุดแห่งชาติ สอนให้รู้จักการสืบค้นหนังสือครับ ตั้งมั่นไว้ว่าอย้างไรเสีย ก็อยากให้ลูกรักการอ่านครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.073 วินาที กับ 20 คำสั่ง