เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 2723 อยากจะขอความรู้เรื่อง ความหมายที่ถูกต้องของคำว่า พระเกี้ยว ครับ
นายสัก เงินหอม
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


 เมื่อ 08 พ.ย. 17, 22:56

ผมไม่ค่อยมีความรู้ด้านนี้ครับ แต่ได้ค้นหามาพอสมควร ยังสับสนอยู่หลายเรื่อง เพราะแต่ละที่บอกไม่เหมือนกัน
คำว่า เกี้ยว คือเครื่องประดับสวมรอบจุก อันนี้คงไม่มีปัญหา
แต่คำว่า พระเกี้ยว หมายถึง พระเกี้ยวยอดด้วยหรือเปล่า? ใช้กัยเจ้าฟ้าเท่านั้น หรือ พระองค์เจ้าด้วย คนอื่นใช้อีกมั้ย?
คำว่า จุลมงกฎ เป็นอีกชื่อของ พระเกี้ยวยอด หรือเป็นชื่อเรียกเฉพาะที่หมายถึงตราพระเกี้ยวของ ร.๕
เกี้ยวดอกไม้ไหว เกี้ยวแซม เกี้ยวรักร้อย เป็นลายต่างๆขององค์พระเกี้ยวยอด หรือเป็นชนิดของเกี้ยว?
ผมสับสนเรื่อง เกี้ยว พระเกี้ยว พระเกี้ยวยอด และจุลมงกุฏครับ
ความหมายที่ถูกต้องคืออะไรแน่?

รบกวนขอความรู้และขอขอบคุณล่วงหน้าด้วยครับ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 09 พ.ย. 17, 07:42

ในระดับพระราชวงศ์นั้นมีระเบียบแบบแผนอยู่พอสมควรโดยมีการทำเครื่องประดับตามฐานะ ดังปรากฎที่ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดราชประดิษฐานที่ปรากฏว่าทรงผมสตรีไว้ผมมวยเกล้าทรงสูงแล้วรัดไว้ด้วยเกี้ยว เรียกว่า โซงขโดง หรือ โองขโดง และเกี้ยวซึ่งก็คือเครื่องรัดผมนั้นปรากฎหลักฐานเก่าสุดอย่างน้อยอยู่ในกฏมณเฑียรบาลสมัยต้นกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ระบุว่า “ใส่เศียรเพชรมวย นุ่งแพร เมียจตุสดมภ์ เกล้าหนุนยิก เกี้ยวแซม” เป็นอย่างน้อยแล้ว
.
ในส่วนของธรรมเนียมการแต่งกายของราชสำนักไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์กำหนดให้ “พระเกี้ยวยอด”  เป็นเครื่องต้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ในระดับชั้นเจ้าฟ้า หรือ พระบรมวงศ์เธอระดับพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ ให้ทำการสวมในพิธีโสกันต์ การเฉลิมพระสุพรรณบัฏ ส่วน “พระเกี้ยว” มีลักษณะทรงกลมไม่มียอด โปรดเกล้าฯ พระราชาทานสำหรับพระบรมระดับพระองค์ และหม่อมเจ้าธรรมดาใช้ในเจ้านายพระยศลำดับถัดลงมาจนถึงสุดชั้นหม่อมเจ้าต้น


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 09 พ.ย. 17, 07:47

สำหรับจุลมงกุฎนั้น เป็นคำที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียก เพื่อให้รับคู่กับ "พระมหาพิชัยมงกุฎ คือ พระจอมเกล้าฯ" และ "จุลมงกุฎ คือ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์"
บันทึกการเข้า
นายสัก เงินหอม
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 09 พ.ย. 17, 20:14

ผมจะสรุปที่คุณ siamese ได้กรุณาตอบข้างบนเป็นข้อๆแบบนี้จะถูกมั้ยครับ?
1. พระเกี้ยวยอด ใช้กับเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้า มีลักษณะเหมือนตราพระเกี้ยวของจุฬาฯ
2. พระเกี้ยว ใช้กับพระบรมวงศ์ที่ชั้นต่ำลงไปจนถึงหม่องเจ้า ลักษณะเป็นวงกลมล้อมรอบจุก ไม่มียอด
3. คำว่า "พระเกี้ยว" ที่เรียกกันโดยทั่วไปปัจจุบัน หมายถึงพระเกี้ยวยอด
4. คำว่า จุลมงกุฎ ไม่ใช่คำเรียก พระเกี้ยวยอด แต่เป็นคำที่หมายถึง ร.5 เมื่อทรงพระเยาว์
ผิดถูกประการใด ขอรบกวนด้วยครับ?
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 12 พ.ย. 17, 07:22

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ร.ศ. ๑๒๗ เนื่องในการทรงคิดผูกตราประจำพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร

พระเกี้ยวแปลว่าอะไร เดิมทีบัญญัติขึ้นใช้เปนเครื่องหมายฉเพาะพระองค์ใต้ฝ่าลอองฯ ออกจากพระนามซึ่งแปลได้ความว่า เครื่องประดับจุก ก็เหตุไฉนจึงเอามาใช้เปนตรามกุฎราชกุมารด้วย จะแปลว่าพระเกียรติยศของท่านควรทรงพระเกี้ยวยอดก็ไม่ตรง เจ้าฟ้าทุกพระองค์ได้ทรงทั้งสิ้น ตลอดถึงพระองค์เจ้าที่แห่นอกก็ได้ทรงทุกองค์ จะแปลว่าเปน พระโอรสในใต้ฝ่าลอองฯ ก็ไม่สมกับที่จะเปนตราตำแหน่งมกุฎราชกุมาร ซึ่งไม่จำต้อง เปนพระโอรสก็ได้ ยังมีเหลือที่จะแปลได้อีกอย่างเดียวแต่ว่าหลงมาจากคำที่เรียกว่าจุลมงกุฎ จึงเอามายกให้จุลราช แท้จริงคำที่เรียกพระเกี้ยว ควรจะเรียกว่าพระจุฬาลงกรณ์ จะเปนตรงด้วยพระนามแลตรงด้วยพระเกี้ยวดีทั้งสองข้าง แต่ที่ใช้คำว่าจุลมงกุฎนั้น เห็นจะให้ความว่าใต้ฝ่าลอองฯ เปนพระโอรสทูลกระหม่อมสืบสันตติวงษ์ได้ด้วย เอามาใช้เปน เครื่องหมายตำแหน่งมกุฎราชกุมารก็ผิดเท่านั้น ขนนกการเวกที่แซมไว้หลังเกี้ยวนั้นจะแปลได้ว่าอะไร ขนนกการเวกเห็นที่ใช้สองอย่าง อย่างหนึ่งนำแห่โสกันต์เจ้าฟ้า อย่างหนึ่งปักยี่ก่ามาลาต่างกรม จะเปนที่หมายตรงฉเพาะมกุฎราชกุมารอย่างใดก็หาไม่ คิดไปคิดมาก็ไม่เห็นมีอไร นอกจากผู้ผูกตราตำแหน่งมกุฎราชกุมารเก็บอะไรต่ออะไรมาประกอบกันเข้า ด้วยความตั้งใจแต่จะให้เหมือนตราปรินส์ออฟเวลเท่านั้น
 
จากจดหมายเหตุวชิราวุธ โดย คุณวีมี

http://www.vajiravudh.ac.th/VC_Annals/vc_annal65.htm
บันทึกการเข้า
นายสัก เงินหอม
อสุรผัด
*
ตอบ: 0


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 15 พ.ย. 17, 21:18

ขอบคุณมากครับ ทั้งข้อมูลและแหล่งข้อมูลน่าสนใจมากครับ แม้จะอ่านยากหน่อยเพราะผมไม่คุ้นเคยภาษาราชการโบราณเลย แต่เป็นมุมที่ไม่เคยได้อ่านจากที่ไหนมาก่อนเลย
ผมตามไปดูในลิ้งค์ไม่มีภาพตราพระเกี้ยว พอดีผมมีอยู่ ก็เลยเอามาลงไว้ในนี้

ที่น่าสนใจมากคือ ตามคำอธิบายนี้แปลว่า คำว่า พระเกี้ยว ใช้ที่หลังคำว่า จุลมงกุฏ ซึ่งหมายถึง ร.6 ไม่ใช่ ร.5 เพราะให้ความหมายว่าเป็นพระโอรสของ ร.5 ไม่ใช่หมายถึง ร.5 ตามพระนามว่า "จุลจอมเกล้า" (ผมตีความตามที่บอกว่า..แต่ที่ใช้คำว่าจุลมงกุฎนั้น เห็นจะให้ความว่าใต้ฝ่าลอองฯ เปนพระโอรสทูลกระหม่อมสืบสันตติวงษ์ได้ด้วย ซึ่งจากที่บอกว่าเป็นกราบบังคมทูล ร.6 ก็น่าจะหมายถึง ร.6 เป็นพระโอรส ร.5) ผมเข้าใจแบบนี้ถูกต้องหรือเปล่าครับ? ตอนนี้ผมเลยสับสนว่า จุลมงกฎ หมายถึง ร.5 หรือ ร.6 แน่ครับ?! หรือว่าในบทความนั้นพิมพ์ผิด ที่ถูกควรจะเป็นกรมพระนริศฯกราบบังคมทูล ร.5 หรือเปล่าครับ ไม่ใช่ ร.6?


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 16 พ.ย. 17, 07:26

พิมพ์ผิดครับ  สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนีิศฯ กราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ ครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.032 วินาที กับ 19 คำสั่ง