เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5452 นกสีขาว โดย คุณหญิงอุไรวรรณ สวัสดิศานต์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 08 พ.ย. 17, 21:07

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 08 พ.ย. 17, 21:08

โอ้เจ้านกสีขาว.....
บินมาราวภาพงามในความฝัน
เจ้าไปส่งพระทรงชัยหรือไรกัน
สู่สวรรค์สูงลิบทิพย์ธานี

เมื่อไรนกจะกลับมาจากฟ้าเล่า
คนที่เขาคอยดูอยู่ที่นี่
ล้วนจดจ่ออยากรู้เรื่องภูมี
ธ อยู่ดีเพียงใดห่วงใยนัก

บนสวรรค์ใครหนอที่รออยู่
คงเป็นผู้ที่พระองค์ทรงรู้จัก
ซึ่งมาเฝ้าฯเรียงรายคอยทายทัก
ด้วยความรักและคิดถึงสุดซึ้งใจ

หรือผู้รอในนภางค์เป็นนางฟ้า
เป็นเทวาจากสวรรค์ชั้นไหนไหน
รัศมีรุ่งโรจน์โชติวิไล
เชิญ ธ ไปสู่สถานพิมานเนา

ทรงมีกล้องคู่พระทัยมิใช่หรือ
และทรงถือแผนที่ไทยไปหรือเปล่า
บนสวรรค์นั้นคงทรงเห็นเรา
อาจทรงเล่าเรื่องที่อยากฝากบอกไทย

หลายวันแล้วที่เรายังเฝ้ารอ
แต่นกหนอเจ้าไม่รู้ไปอยู่ไหน
ไปหลงเล่ห์เสน่ห์สวรรค์อยู่ชั้นใด
กลับมาเป็นสื่อใจไทยเถิดเอย.

คุณหญิงอุไรวรรณ สวัสดิศานต์
อบ.๓๘
๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 10 พ.ย. 17, 20:25

๏ถึงฤกษ์สี่ทุ่มถ้า        สิบสาม  
ยางเผือกโผผ่านผาม   โอบอ้า
ถวายจุดเพลิงยาม       พระศพ  
ยางรับเสด็จส่งฟ้า       สู่เบื้องสรวงสวรรค์๚๛


ข้าพระพุทธเจ้า นายประพันธ์ เอี่ยมวิริยะกุล
ประพันธ์ ณ วันเสาร์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๐


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 พ.ย. 17, 20:42

จากเหตุการณ์ที่นกสีฃาวบินผ่านพระเมรุมาศในช่วงหมายกำหนดการถวายเพลิงพระศพเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐ จากการให้ฅวามคิดเห็นของนักดูนกในพื้นที่ลานพิธีที่พบเห็นนกสีฃาวบินนั้น พบว่ามีสองฝูง ฝูงแรกมีสิบตัว และฝูงที่สองมีสิบสองตัว และหลายท่านให้ฅวามเห็นว่า น่าจะเป็น นกยางฅวาย ชนิดย่อยบูรพา Bubulcus ibis (Linnaeus, 1758) subspecies coromandus (Boddaert, 1783) ซึ่งพบในนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และ ทางใต้และตะวันออกของเอเชีย แต่นักชีววิทยาบางท่านจัดให้ นกยางฅวายบูรพาของไทย เป็นชนิดแยกต่างหาก จากนกยางฅวายปัจฉิม ของยุโรปและอัฟริกา เรียกว่า Eastern Cattle Egret : Bubulcus coromandus (Boddaert, 1783) โดยแยกจากขนชุดฤดูวางไข่ โดยนกยางฅวายบูรพา มีขนสีเหลืองส้ม ที่หัวและฅอและหลัง กว้างและทั่วกว่า นกยางฅวายปัจฉิม ที่มีขนสีเหลืองส้มที่น้อยกว่า นกยางชนิดนี้ เป็นนกยางที่แปลกกว่านกยางชนิดอื่น เพราะมักหากินใกล้สัตว์สี่เท้า อย่างวัวฅวาย ช้างม้า เพื่อจับแมลงที่กระโดดหนีจากการย่ำของสัตว์สี่เท้าเหล่านี้ ต่างจากนกยางอื่น ๆ ที่หากินริมน้ำ หรือแหล่งน้ำตื้นเพื่อหาปลา และสัตว์น้ำอื่น ๆ และนกยางฅวายมักหากินเวลากลางวัน และเกาะคอนนอนเวลากลางฅืน

เมื่อกลับมาพิจารณาถึงฝูงนกสีฃาวที่บินผ่านพระเมรุมาศ เวลาสามเกือบสี่ทุ่ม ถามถึงฅวามเป็นไปได้หรือไม่ ว่านกบินไปไหน และบินมาทำไมตอนนี้ มีอะไรที่ผิดปกติหรือไม่ เสียงปืนมีผลต่อนกฝูงนี้อย่างไร

สมมติฐานที่มีคนอธิบายก่อนหน้านี้ คือ เป็นยางฅวายบูรพาที่อาศัยหากินและหลับนอนในพระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน เมื่อมียิงปืนสลุตเฉลิมพระเกียรติ ทำให้นกแตกฝูงจากคอนนอน และบินมุ่งหน้ามาท้องสนามหลวง

เมื่อวิเคราะห์สมมติฐานนี้พบว่ามีจุดบกพร่องอยู่คือ หนึ่ง การยิงสลุต มีทั้งวัน ถ้านกที่อยู่พระตำหนักจิตลดา จะตกใจบินหนีไป ทำไมไม่บินตั้งแต่กลางวัน แต่อาจจะมีคนแย้งกว่า กลางวันเสียงเดินทางได้ระยะสั้นกว่า กลางคืนเสียงเดินทางได้ไกลและดังชัดเจนกว่า แต่มีข้อสงสัยมาก ๆ ที่ตอบไม่ได้คือ ถ้านกยางตกในเสียงปืนสลุต จากลานพระเมรุมาศ และตกใจบินหนี ทำไมไม่บินหนีไปทิศตรงข้ามกับเสียงปืนใหญ่นั้น แต่กลับบินเข้าหาและบินผ่านไป หรือจะบอกว่านกยางบินมาดูเสียงก็คงไม่ได้ ดังนั้น สมมติฐานนี้น่าจะตกไป
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 พ.ย. 17, 20:47

ผมตั้งสมมติฐานใหม่โดยการจำแนกชนิดตามนักดูนกที่เห็นนกด้วยตาตัวเองว่าเป็นนกยางฅวายบูรพา โดยตั้งสมมติฐานต่อว่า นกสองฝูงนี้กำลังอพยพหนีหนาวลงใต้ และเผอิญผ่านมาทางลานพระเมรุมาศพอดี

ขั้นต่อไปวิเคราะห์สมมติฐาน และหาหลักฐานและข้อมูลสนับสนุน

โดยปกตินกยางฅวายบูรพาในภาคกลางของประเทศไทย เป็นนกประจำถิ่น คือจะทำรังวางไข่เลี้ยงลูก และเจริญเติบโตอยู่ในที่ราบลุ่มภาคกลางรอบกรุงเทพมหานครนี้ ไม่ได้หนีหนาวไปไหน เพราะภูมิอากาศบ้านเราไม่ได้หนาวเย็น และไม่ได้แห้งแล้งจนไม่มีแมลงให้นกยางฅวายหากิน [อ้างอิง ๑. Lekagul & Round, (1991); ๒. Robson, (2000) และ ๓. Kushlan & Hancock, (2005)]

คำถามต่อไปคือแล้วนกยางฅวายบูรพาเหล่านี้มาจากไหน จาก Kushlan & Hancock, (2005) ให้ข้อมูลไว้ว่านกที่อพยพมาในไทย น่าจะมาจากจีนตอนกลางหรือจีนตะวันตกเฉียงใต้ แถบมณฑลยูนนานและใกล้เคียง รวมถึงตอนเหนือของพม่า และตะวันออกของรัฐอัสสัมของอินเดีย

คำถามต่อไปคือ ทำไมนกยางจึงอพยพมาช่วงนี้ จาก Kushlan & Hancock, (2005) ให้ข้อมูลว่านกยางฅวายส่วนใหญ่จะทำรังวางไข่ในช่วงหน้าฝนของพื้นที่นั้น เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหาร และให้ข้อมูลไว้ว่าอินเดียตอนเหนือ นกยางฅวายทำรังช่วงเดือนมิถุนายน ถึงสิงหาคม คำถามว่าแถบยูนนานพม่าเหนือ และอัสสัม จะเป็นช่วงเดียวกันหรือไม่ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวอยู่ห่างไกลทะเล จึงจะต้องมีพายุผ่านเข้าไปจึงจะฝนในปริมาณมากได้ ซึ่งจากรายงานข่าวในปีนี้ ก็จะเห็นว่ามีฝนเข้าจีนตอนใต้ในช่วงเดือนนั้นมากพอสมควร รวมถึงพายุจากมหาสมุทรอินเดียด้วย จึงมีความเป็นไปได้ที่นกยางฅวายในแถบยูนนานจะเริ่มทำรังวางไข่ราวเดือนกรกฎาคม ใช้เวลาฟักไข่ ๒๑ ถึง ๒๖ วัน และใช้เวลาอีก ๓๐วันก่อนจะมีขนขึ้นเต็มที่และพร้อมจะโผบินออกจากรังในช่วงปลายเดือนกันยายน ซึ่งในช่วงนี้ลูกนกยังหัดบิน และพ่อแม่ยังป้อนลูกนกอยู่ในยูนนานก่อน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 10 พ.ย. 17, 20:49

ถามว่าอะไรทำให้นกอพยพลงใต้ ก็น่าจะเป็นลมหนาวที่เริ่มพัดลงมา ซึ่งฤดูหนาวในยูนนานก็คงไม่ได้ต่างจากประเทศไทยนัก จากประกาศการเข้าสู่ฤดูหนาวของกรมอุตุนิยมวิทยาของไทยปีนี้ ที่ได้ประกาศว่าประเทศไทยได้เข้าฤดูหนาวตั้งแต่วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๐ แต่คนไทยภาคกลางหลายคนอาจจะไม่เห็นด้วยนัก แต่ในยูนนานคงจะหนาวมากแล้ว และนกน่าจะเริ่มอพยพ วันที่ ๒๓ เป็นอย่างช้า เพราะจากเอกสารอ้างอิงกล่าวว่า นกยางฅวายมักจะอพยพก่อนที่บริเวณนั้นจะเข้าฤดูหนาวเต็มตัว โดยน่าจะแวะพักรายทางเป็นระยะ ลงใต้ลงมาเรื่อย ๆ จนบังเอิญ ที่ฝูงนกยางฅวายสองฝูงนี้ได้บินผ่านกรุงเทพมหานคร มาในเขตพระเมรุมาศพอดี ในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ จากการศึกษาของ Bridgeman & Maddock (1994) พบว่านกมักจะอพยพเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ในกระแสลม ความกดอากาศสูง โดยหลีกเลี่ยงฝน และหมอก ทั้งยังพบว่านกยางฅวายมีการอพยพกลางฅืนด้วย ด้วยความเร็ว ๔๐ ถึง ๕๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยเฉลี่ย ที่ ๕๐ กม/ชม โดยที่ระยะทางจากเมืองคุนหมิง ในมณฑลยูนนาน มายัง กรุงเทพมหานคร มีระยะทางราว ๑,๒๖๐ กิโลเมตร หาร ๕๐ น่าจะต้องใช้เวลาบิน ประมาณ ๒๖ ชั่วโมง แต่นกยางฅวาย น่าจะพักกลางทางเป็นสาม หรือสี่ช่วง หรืออาจจะมากกว่า โดยช่วงเช้าถึงเที่ยงน่าจะหากินอาหาร ช่วงบ่าย ๆ จึงจะเริ่มบินลงใต้ และอาจจะบินจนฅ่ำ จนดึกหน่อยน่าจะหาคอนพักนอนจนเช้า จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมาถึงกรุงเทพมหานครพอดี ในวันที่ ๒๖ ช่วงฅ่ำ โดยอาจจะมุ่งไปหาคอนพักนอนแถว บางกระเจ้า

นกฝูงแรกมา สิบตัว น่าจะเป็นนกพ่อแม่ลูก สองครอบครัว ส่วน ฝูงสิบสองตัว อาจจะ ๒ ถึง ๓ ครอบครัว เพราะแม่นกยางฅวายมักวางไข่ ๒ ถึง ๕ ฟอง

เมื่อได้ยินเสียงปืนสลุต จากคำให้การณ์ของผู้เห็นเหตุการณ์ นกมีการบินแตกฝูง เพราะตกใจ แต่ก็ยังบินกลับมารวมฝูงกัน เพราะมีฅวามผูกพันของครอบครัวนกยางฅวาย

สุดท้ายคือต้องถามคนที่พบเห็นว่า นกทั้งสองฝูงบินมุ่งหน้าลงใต้ใช่หรือไม่ครับ

ได้คำตอบมาว่า นกบินจากทางตะวันตกเฉียงเหนือ วนมาทางลานพระเมรุมาศ และวกกลับไปทางตะวันตกเฉียงใต้ครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 10 พ.ย. 17, 20:52

เท่าที่ข้อมูลตอนนี้มี นกยางฅวายบูรพา ประชากรยูนนานและคะฉิ่น ได้มุ่งหน้าลงใต้ไปยังทิศตะวันตกเฉียงใต้ จึงน่าจะเป็นการมุ่งหน้าอพยพไป มาเลเซีย รวมถึงเกาะสุมาตรา เพราะถ้าลงใต้ตรง ๆ ก็จะลงอ่าวไทย ซึ่งการบินกลางทะเลพักไม่ได้ นกน่าจะเลือกบินผ่านชายฝั่งเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ แล้วแวะพักได้ตามใจชอบ

หนึ่งสมมติฐานที่ว่า ทำไมนกยางจึงอพยพเวลากลางคืน อาจจะเป็นไปได้ว่าเพื่อหลบเลี่ยงจากนกนักล่า พวกเหยี่ยวและนกอินทรีที่อพยพหนีหนาวในช่วงเวลาเดียวกัน มีเวลาจะลองค้นเอกสารอ้างอิงดูครับ

สมมติฐานในทางวิทยาศาสตร์มีฅวามเป็นไปได้ที่จะเกิดเรื่องบังเอิญ แต่ในมุมมองของฅวามเชื่อและโหราศาสตร์ ก็อาจจะคิดได้ว่า ฅวามสัมพันธ์ ของการโคจรของโลกและดวงดาว ที่มีผลต่อฤดูกาลและสัตว์ป่า ย่อมเป็นปรากฏการณ์ ที่เป็นอัศจรรย์แก่ผู้พบเห็น และเป็นเหมือนทูตสวรรค์ผู้นำพาดวงพระวิญญาณเสด็จกลับสู่สวรรคาลัยครับ

ขอบพระคุณภาพและข้อมูลจาก อาจารย์ทอม Tom Potisit และภาพจาก Wikipedia และอื่น ๆ ครับ

ป.ล. มีการแก้ไขเพิ่มเติม

ตัวเลขในบาทที่หนึ่งของโคลงสี่สุภาพนั้นคือฤกษ์ถวายเพลิงพระศพจริงคือเวลา ๒๒.๑๓ น.

การสะกดที่ใช้ ฃ ฅ นั้นยึดตามหลักภาษาศาสตร์เปรียบเทียบ โดย Li Fang Kuei, (1977)

มีคำถามว่าทำไมต้องเรียก นกยางฅวาย

เพราะนกยางชนิดนี้หากินแปลกแตกต่างจาก นกยางชนิดอื่นที่หากินปลากินกบเขียดตามแหล่งน้ำหนองคลองบึง แต่นกยางชนิดนี้ มักเดินตาม ช้างม้าวัวฅวายกระทิงกวางแรด เพื่อคอยดักจับแมลงที่ตกใจจากการเหยียบย่ำของกีบตีนสัตว์กินหญ้ากินไม้เหล่านี้

ชาวบ้านฅนไทยสมัยก่อนเลี้ยงฅวายและทำนา จึงมักเห็นนกยางชนิดนี้เดินตามฅวายเป็นประจำครับ จึงเป็นที่มาของชื่อ นกยางฅวายครับ

ชาวบ้านทั่ว ๆ ไปที่ไม่ใช่พรานป่าล่าสัตว์คงมีโอกาสน้อยที่จะได้เห็น นกยางเดินตามกวาง หรือเดินตามกระทิง

ภาษาอังกฤษก็เรียกว่า cattle egret ครับ

และจริงแต่โบราณมาฅวายถือเป็นผู้มีพระคุณช่วยทำไร่ไถนาให้เราได้หุงกินครับ

เอกสารอ้างอิง

1. Lekagul, B. & Round, P,D, (1991) A guide birds of Thailand. Saha Karn Bhaet
2. Robson, C. (2000) A field guide to the birds of Thailand and south-east Asia. Asia Books
3. Kushlan, J. A. & Hancock, J. A. (2005) The herons. Oxford University Press
4. Bridgeman, H. A. & Maddock, M. (1994) Meteorological conditions and cattle egret migration: an update. In Notornis 41: 189-204  
https://notornis.osnz.org.nz/sy…/files/Notornis_41_3_189.pdf
5. เวชชาชีวะ, อรรถสิทธิ์ และคณะ (๒๕๔๖) พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. ราชบัณฑิตยสถาน
6. Li, F. K. (1977) A handbook of comparative Tai. The University Press of Hawaii
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 10 พ.ย. 17, 21:01

มีฅนกล่าวว่าการพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ได้ว่านกสีฃาวที่บินผ่านพระเมรุมาศนั้น เป็นการระคายเบื้องพระยุคลบาทหรือไม่

หากเราพิจารณาให้ดี จะพบว่า

หนึ่งสมมติฐานนี้ ช่วยลบข่าวลือการปล่อยนกและการปกปิดการปล่อยนกไป

สอง แสดงให้เห็นว่าธรรมชาติเกิดขึ้นได้จริง และเกิดเหตุอัศจรรย์คือ สถานที่ เวลาพระฤกษ์ ซึ่งเหมาะเจาะพอดี เป็นฅวามบังเอิญที่พิเศษ

สาม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานทดลองวิจัย รวมถึงนวัตกรรม และสิทธิบัตรที่เป็นที่ยอมรับระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น โครงการฝนหลวง โครงการกังหันชัยพัฒนา โครงการแก้มลิง โครงการแกล้งดิน โครงการหญ้าแฝก และอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้น การอธิบายสิ่งอัศจรรย์ที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ด้วยฅวามรู้ทางวิทยาศาสตร์ จึงเป็นการเฉลิมพระเกียรติกษัตริย์นักวิทยาศาสตร์ของไทยและของโลกอย่างเหมาะสมที่สุดครับ

การที่ประเทศไทยมีพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ยาวนานที่สุดในโลก และเป็นกษัตริย์ที่ทำงานเพื่อพสกนิกร อย่างหนักและมากที่สุดในโลก นี่ก็คือ พรอันประเสริฐสูงสุดที่ประชาชนชาวไทยได้รับมาตลอดเจ็ดสิบปีครับ

จาก FB พันศาสตร์พันภาษา

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=902158376628198&id=739365786240792
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 10 พ.ย. 17, 21:51

นกส่งวิญญาณ

เห็นภาพนกบินเหนือพระเมรุมาศเมื่อไม่นานนี้ ซึ่งบางคนบอกว่าจริง ๆ แล้วมี ๒ ฝูง ฝูงแรก ๑๐ ตัว ฝูงที่สอง ๑๑ ตัว (ตัวเลขไม่แน่นอน) ทำให้นึกถึงเรื่องหนึ่งคือ เรื่องนกส่งวิญญาณตามความเชื่อของคนโบราณ (จะขอข้ามความเชื่อแบบพุทธไป) ขออธิบายตามความรู้เท่าที่มีตามนี้

ฟ้าคือสวรรค์ นกจึงเป็นสัตว์ที่สามารถส่งผีขวัญขึ้นไปบนฟ้าได้ ทำให้การทิ้งศพให้นกกินศพเป็นหนึ่งในประเพณีการปลงศพ เมื่อพัฒนาเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ นกศักดิ์สิทธิ์เช่น หงส์ จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีถวายพระเพลิง ดังปรากฏเป็นเพลงเช่นปี่พาทย์นางหงส์ หรือกลายเป็นนกหัสดิลิงค์ประกอบพระเมรุ เป็นต้น

ร่องรอยความเชื่อเรื่องนกส่งผีขวัญนี้สามารถย้อนกลับไปได้เกิน ๒,๕๐๐๐ ปี ดังปรากฏภาพนกบินบนหน้ากลองมโหระทึก สำหรับนกบนหน้ากลองนี้ ยังเป็นที่ถกเถียงว่าเป็นนกอะไรกันแน่ นักโบราณคดีจีนเสนอว่าเป็นนกกระเรียน ในขณะที่นักโบราณคดีเวียดนามเสนอว่าเป็นนกกระยาง (Han 2004) อย่างไรก็ดี ชนบางกลุ่มในเขตหมู่เกาะเช่นชาวดายัคเชื่อว่า นกเงือกสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องจักรวาล และสามารถช่วยปกป้องคุ้มครองจากวิญญาณชั่วร้าย (รัศมี ชูทรงเดช 2559: 61)

ในอดีตโลงศพของหัวหน้าเผ่าชาวโตบา (Toba) บนเกาะซาโมเซอร์ อินโดนีเซีย จะเก็บไว้ภายในอาคารที่มีรูปทรงคล้ายบ้าน เรียกอาคารนี้ว่า “โจโร” (joro) จากภาพถ่ายเก่าปี ค.ศ. ๑๙๒๐ จะเห็นได้ชัดว่าลักษณะของบ้านผีนี้มีห้องเป็นรูปสี่เหลี่ยม ยกพื้นเรือนสูง ที่น่าสนใจคือบนหลังคาบ้านมีโลงศพจำลอง และมีนกสองตัวยืน เรียกว่า “มานุก-มานุก” (manuk-manuk) มีหน้าที่ปกป้องดวงวิญญาณของผู้ตายตลอดการเดินทางไปสู่โลกหน้า บางครั้งจึงเรียกนกมานุก-มานุกว่า “นกร่วมเดินทาง” (bird companions) (Waterson 1993: 211-213) ความเชื่อนี้ดูจะสอดคล้องกับ ชาวเมรีนา (Merina) มีการเรียกโลงศพว่า “บ้านนก” เพราะว่าที่ตัวบ้านผีจะมีการแกะสลักนกไว้ด้วย (Waterson 1993: 209)

ในทิเบตมีประเพณีให้นกแร้งกินศพของผู้ตาย เรียกว่า "Sky Burial" เพราะเชื่อว่านกจะพาร่างและวิญญาณของผู้ตายขึ้นสู่สวรรค์ สมัยก่อนอนุญาตให้ทำเฉพาะลามะและชนชั้นสูง ภายหลังด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสังคมประชาชนทั่วไปก็สามารถทำได้

แต่ไม่ว่าจะเป็นนกอะไรก็ตาม แสดงว่ากลุ่มชนหลายกลุ่มทั้งในอดีตและปัจจุบันต่างเชื่อเหมือนกันว่า นกเป็นสัตว์ที่สามารถส่งผีขวัญ ส่งวิญญาณ ขึ้นสูสรวงสวรรค์ได้ ข้างต้นเป็นแค่ข้อมูลบางส่วน ยังมีอีกหลายกลุ่มชนที่เชื่อเช่นเดียวกัน ใกล้ตัวเรากีนมากที่สุดก็คือเรื่องนกแสกไงครับ

จาก FB ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

https://www.facebook.com/pipadkrajaejun2/posts/10156345229575348
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.067 วินาที กับ 19 คำสั่ง