เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 32
  พิมพ์  
อ่าน: 70754 พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 135  เมื่อ 02 พ.ย. 17, 17:05

ส่วนนายนิติ แสงวัณณ์ นักโบราณคดีผู้เชียวชาญ กล่าวว่า จากการที่ตนไปลงพื้นที่จริง และพิจารณารายงานสรุปผลการปฏิบัติงานด้านโบราณคดีที่สุสานลินซินกง พบว่าเอกสารต่างประเทศที่ทางภาคเอกชนไปขุดค้น กล่าวอ้างว่า มีการบันทึกถึงสถูปองค์นี้ว่าบรรจุพระบรมอัฐิ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งที่จริงแล้วเอกสารฉบับดังกล่าวไม่ได้บอกรายละเอียดถึงขนาดนั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลในระดับสามัญสำนึกทางโบราณคดี หากคนในพื้นที่รู้ว่าที่นี่คือ สุสานของเจ้าชายไทยจริงทำไมถึงเรียก ลินซินกง ซึ่งแปลว่า สุสานล้านช้าง ทำไมถึงไม่ เรียกโยเดียกง

ในขณะเดียวกันรายงานที่ทางกลุ่มทำงานเอกชนส่งมาให้กรมศิลปากรพิจารณา ตั้งแต่หน้าที่หนึ่งเป็นต้นมา จะกล่าวถึงหลักฐานที่ถือว่าสำคัญมากชิ้นหนึ่ง คือภาชนะทำด้วยดินเผาประดับกระจกโดยตลอด แต่พอมาหน้าสุดท้ายกลับมาเรียกภาชนะนี้ว่าบาตรแก้วมรกต ทำไมจึงไม่ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่ต้น ถือว่าเป็นการเขียนที่ไม่สุจริต เป็นการโน้มน้าวข้อมูลในสิ่งที่อยากให้คนอื่นเชื่อ โดยไม่มีการกล่าวถึงที่มาของบาตร ว่ามาได้อย่างไร ทำไมถึงต้องเป็นบาตรมรกต เพราะจะทำให้คนเข้าใจได้ว่า บาตรนี้เกี่ยวข้องกับเจ้านาย

นายนิติกล่าวต่อว่า ข้อมูลที่น่าสนใจคือ รายงานฉบับนี้นักโบราณคดีทั่วโลก ไม่ถือเป็นรายงานทางโบราณคดี เพราะไม่มีการอ้างอิงกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น ไม่บอกกำหนดอ้างอิง ไม่บอกพิกัดที่ตั้ง ไม่บอกลักษณะการขุด เป็นต้น

นอกจากนี้ เอกชนกลุ่มนี้ยังมีรายงานถึงการอ้างอิงเอกสารว่า เอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพรนั้น มาจากเอกสารโบราณพม่า ชื่อพาราไบเก ซึ่งเอกสารดังกล่าวถูกเก็บรักษาที่ห้องสมุดลอนดอน ชิ้นที่ 99/288 บันทึกถึงที่ตั้งพระสถูป

“ผมขอยืนยันว่า ข้อความนี้ไม่มีบรรจุไว้ในเอกสารพาราไบเก ไม่มีระบุขนาดนั้น แต่ถ้ามี ก็เป็นเอกสารอื่น ซึ่งรายงานนี้ไม่เคยอ้างอิงถึงเอกสารอื่นเลย จึงทำให้ข้อมูลที่กลุ่มขุดค้นส่งมาให้ ไม่มีความน่าเชื่อถือ ในเมื่อหลักฐานยังไม่มีความชัดเจน จึงไม่อยากให้ด่วนสรุปจนทำให้เกิดความเชื่อว่า เป็นพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์แห่งอยุธยา และทำให้คนไทยหรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ต้องมาเคารพสักการะโดยที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นอัฐิของใคร”
นายนิติกล่าว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 136  เมื่อ 02 พ.ย. 17, 17:14

ท่านผู้ใดมีความเห็นของอธิบดีกรมศิลปากรและผู้เชี่ยวชาญอื่นๆที่ไปกับคณะ กรุณานำมาลงด้วยครับ ผมจะขอจอดรอตรงนี้ก่อนที่จะนำไปสู่จุดจบของภาค ๒

ผมขอปรารภสักเล็กน้อย เรื่องความเป็นมาของพระสถูปพระเจ้าอุทุมพรนั้น เป็นเรื่องที่ออกจะเข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป ดังนั้นจึงมักจะต้องการข้อสรุปจากผู้ที่เชื่อถือได้
ส่วนผู้สรุปนั้นงานง่ายกว่ามาก ในทีี่สุดก็ไปจบลงที่ "เชื่อได้" หรือ "เชื่อไม่ได้"

ผมจึงต้องเสนอข้อมูลที่จะรวบรัดนักก็ไม่ได้ มันจะขาดสาระที่สำคัญ แต่หากยาวนัก ท่านก็อาจจะไม่อ่านเสียอีก ผมจึงเห็นใจคนทำงานมาก เขาทำเกือบตาย สุดท้ายคนที่ไม่ทำกลับเสียงดังกว่า

บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 137  เมื่อ 02 พ.ย. 17, 18:00


ภาพวาดจากเอกสารพาราไบเก น่าจะเป็นพระเจ้าเอกทัศน์ ไม่ใช่พระเจ้าอุทุมพรครับ
คนวาดน่าจะเคยเห็นชฎาไทยจริงๆ



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 138  เมื่อ 02 พ.ย. 17, 18:20

อักษรพม่าที่จารึกไว้ แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า
The third founder of Ratanapura  and Lord of the White Elephant, fought and won Ayodaya, together with the King.
The King was brought here. During the reign of his brother , the founder of Amarapura, the King while in monkhood, died at Amarapura. At Linzin-gon cemetery, he was entombed/cremated with great honor entitled to a monarch.
This is the image of Chaofa Ekadath

ถอดความเป็นภาษาไทยอีกที สำนวนตรงไปตรงมาได้ความดังนี้
พระผู้ทรงสถาปนารัตนปุระ(อังวะ) ผู้ทรงเป็นพระเจ้าช้างเผือก(หมายถึงพระเจ้ามังระ) ทรงรบชนะอโยธยาและกษัตริย์
กษัตริย์ได้ถูกนำมาที่นี่   ระหว่างรัชกาลของพระราชอนุชา(หมายถึงพระเจ้าปดุง) กษัตริย์ซึงทรงอยู่ในสมณเพศได้เสด็จสวรรคตในอมรปุระ  ที่ลินซิงกอง พระสรีระของพระองค์ได้รับการถวายพระเพลิงและบรรจุพระสถูปอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติในฐานะทรงเป็นกษัตริย์
นี่เป็นภาพของเจ้าฟ้าเอกทัศน์

ประโยคสุดท้ายนี้อธิบายภาพของบุรุษผู้แต่งกายแบบฆราวาสสวมชฎา ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่บรรยายในหน้าเดียวกันโดยตรง อาจจะต้องการประกอบความในหน้าอื่น

เรื่องของเรื่องที่มาที่ไปคือ ในปีพ.ศ.๒๔๒๘  พม่าเสียเอกราชให้แก่อังกฤษในรัชกาลพระเจ้าสีป่อ ทหารอังกฤษได้เข้าปล้นเอาสิ่งของต่างๆในพระราชวังมัณฑะเลย์ รวมถึงทรัพย์สมบัติในท้องพระคลังของราชวงศ์คองบองไปจนหมด  แม้กระทั่งเตวั้งรุปซุงประบุทก็ยังถูกขนไปจากหอพระสมุดที่เรียกว่าวังแก้ว แล้วนำไปเก็บไว้ที่ British Commonwealth Library, London ดังว่า  เตวั้งรุปซุงประบุท หรือ parabike ที่มีข้อความข้างบนนี้ เป็นเอกสารชิ้น ที่ ๙๙  Serial Number หมายเลข  ๒๘๘

คุณ Koratian โปรดอ่านด้วยครับ ผมเขียนไว้แล้ว
อนึ่ง พาราไบเก เป็นศัพท์ของกรมศิลป์ที่อ่านคำว่า Parabike ซึ่งคณะทำงานทั้งพม่าและไทยอ่านว่า พาราไบก์ เช่นเดียวกับคนที่ใช้อังกฤษเป็นภาษาแม่
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 139  เมื่อ 03 พ.ย. 17, 08:50

นี่จากผู้จัดการออนไลน์ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๗
ความเห็นของผู้ที่เรียกพาราไบก์ว่าพาราไบเก ผู้ที่กรมศิลปากรจ้างให้แปลเอกสารภาษาพม่า

นายวทัญญู ฟักทอง อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลันนเรศวร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญภาษาพม่า กล่าวว่า ทางกรมศิลปากร ได้มอบหมายให้ตนแปล พาราไบเก ที่ทางกลุ่มสมาคมจิตพรรณใช้อ้างอิงและจัดแสดงข้อมูลหลักฐานและการขุดค้นเกี่ยวกับสถูป ไว้ที่บริเวณศูนย์ข้อมูลใกล้ๆสถูปที่เชื่อได้ว่าบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ตนได้แปลตามหลักไวยากรณ์พม่า คำต่อคำ พบว่า เรื่องของชื่อภาพวาดนั้น ไม่ใช่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจริงๆ แต่แปลออกมาแล้วเป็น สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือ พระเจ้าเอกทัศ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 33 มีใจความว่า ภาพเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กษัตริย์โยดะยา ผู้ซึ่งตกอยู่ภายใต้เบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดี สี่น ผยู่ ฉิ่น พระผู้ทรงสถาปนากรุงรัตนปุระเป็นราชธานีนับเป็นครั้งที่ 3 ทรงตีอาณาจักรโยดะยาและสามารถยึดเอาเมืองพร้อมกับกษัตริย์ได้แล้ว ภายหลังเสด็จสวรรคต ขณะอยู่ในผ้าเหลือง ณ เมืองอมรปุระ ในรัชกาลสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดี พระอนุชา (ของกษัตริย์พระองค์นั้น) พระผู้ทรงสถาปนากรุงอมรปุระเป็นราชธานี และทรงสงเคราะห์อย่างใหญ่โต ณ สุสานลินซินโกง
โดยการ “นับเป็นครั้งที่ 3” หมายถึงการสถาปนาเมืองรัตนปุระอังวะเป็นราชธานีครั้งที่ 3 (ครั้งที่ 1 รัชกาลพระเจ้าตะโดมีงพญา ค.ศ. 1365, ครั้งที่ 2 รัชกาลพระเจ้าญาวยาน ค.ศ. 1597, ครั้งที่ 3 รัชกาลพระเจ้าสี่น ผยู่ ฉิ่น ค.ศ. 1764) และคำว่า “ทรงสงเคราะห์” คำว่า “สงเคราะห์” มาจากศัพท์ภาษาสันสกฤต ตรงกับคำไทยคือ “สงเคราะห์” ใช้ในความหมายในภาษาพม่าว่า “ปลงศพ”


เรื่องเดียวกันนี้ จากไทยรัฐออนไลน์มีข้อความเพิ่มเติมอีกว่า
นอกจากนี้ ใต้ภาพเอกสารพาราไบเก ยังใช้คำว่า ตะโจว เป็นภาษาบาลี แปลว่า สงเคราะห์ หรือปลงศพ แต่ไม่ได้ระบุว่า ปลงศพแบบไหน หากมีคำว่าพระราชทานเพลิงพระศพจริง จะต้องมีคำว่า มีตะโจว ปรากฏในเอกสารด้วย

ครับ นี่แหละผู้เชี่ยวชาญภาษาพม่าของไทย ตกลงข้อความในพาราไบก์ที่ส่งไปให้กรมศิลปากร เลยกลายเป็นพระเจ้าเอกทัศน์ ผู้ที่สวรรคตในผ้าเหลืองและได้รับการปลงพระศพที่ลินซินกอง แต่ไม่ทราบว่าปลงแบบไหน  วทัญญูไม่ได้เปิดพจนานุกรมไทยดูหรืออย่างไร  คำว่า เผาศพ  ปลงศพ  ฌาปนกิจ มีความหมายเดียวกัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 140  เมื่อ 03 พ.ย. 17, 09:20

เลยชวนให้นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้


จากกรณีที่นายสด แดงเอียด ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและอดีตอธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) ได้เปิดเผยบันทึกส่วนตัวเมื่อปี ๒๕๓๐ ครั้งเดินทางไปค้นหาหลักฐานเกี่ยวกับสถูปบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔(สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) หรือขุนหลวงหาวัด กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาและได้พบพระอินตาคา เจ้าอาวาสวัดข่ามีนเว เมืองสะกาย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ นำไปสู่การค้นพบหลักศิลาจารึก ซึ่งบ่งบอกว่ามีเจ้านายไทยในสมณะพระภิกษุมรณภาพมีการจัดพิธีปลงพระศพใหญ่โต  แต่กล่าวว่าได้นำพระบรมอัฐิมาบรรจุที่เจดีย์ของวัดข่ามีนเวนั้น

               ล่าสุดเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้พบหลักฐานสำเนาหลักศิลาจารึก ภาษามอญโบราณของนายสัญชัย หมายมั่น อดีตหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ซึ่งเป็นคณะทำงานที่ร่วมเดินทางไปกับนายสดเมื่อปี ๒๕๓๐ ซึ่งเก็บรักษาไว้ ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในประเทศไทย ขณะนี้สั่งให้คณะทำงานเร่งการตรวจสอบเอกสารและให้ผู้เชี่ยวชาญแปลออกเนื้อหาของศิลาจารึกดังกล่าวออกมา คาดว่าภายใน ๑ สัปดาห์น่าจะแปลเสร็จเรียบร้อย หากเนื้อความระบุว่ามีเจ้านายไทยในสมณะพระภิกษุ มรณภาพและนำพระบรมอัฐิมาบรรจุที่เจดีย์วัดข่ามินเวจริง ก็จะประสานกรมโบราณคดี พิพิธภัณฑ์และหอสมุด กระทรวงวัฒนธรรม เมียนมาร์ เพื่อส่งชุดคณะทำงานไปศึกษารายละเอียดร่วมกันอีกครั้งพร้อมหารือถึงแนวทางศึกษาต่อไป


๑ สัปดาห์ของนายเอนกได้ผ่านมาสามปีแล้ว ยังเงียบจ๋อย ไม่ทราบว่าผู้เชี่ยวชาญแปลออกหรือเปล่า แล้วออกมาว่าอย่างไร
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 141  เมื่อ 03 พ.ย. 17, 09:37

จากข่าวนี้ก็เช่นกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร ได้นำคณะผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ เดินทางไปยังเมืองมัณฑะเลย์ และเมืองสะกาย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ตามโครงการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เรื่อง ชาวอยุธยาในเมียนมาร์ นายเอนก เล่าว่า เมื่อปี 2555 กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้แจ้ง วธ.ว่า คณะกรรมการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์ มีแผนปรับสภาพพื้นที่สุสานลินซินกง ที่เมืองอมรปุระ ซึ่งเชื่อว่า มีสถูปบรรจุพระอัฐิสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น กต.ร่วมมือ วธ.โดยกรมศิลปากร มาศึกษาเรื่องของประวัติศาสตร์และโบราณคดีเรื่องราวของชาวอยุธยาในเมียนมาร์ เพื่อศึกษาความเป็นอยู่ ชุมชนของคนไทย ในมิติทางวัฒนธรรมระหว่าง 2 ประเทศ
       
ตนได้นำคณะมาที่โบสถ์วัดมหาเตงดอจี หมู่บ้านลินซิน ในเมืองสะกาย พบภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนภาพปราสาทและลายเส้นสินเธาว์แบบหยักฟัน โดยใช้สีแดง สีขาว สีเขียว และสีดำ ที่สำคัญยังพบภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนลายรูปพระปรางค์มียอดนภศูล แสดงถึงหลักฐานของฝีมือช่างแบบอยุธยาตอนปลายอายุกว่า 200 ปี ที่สำคัญเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเพียงแห่งเดียวที่ยังคงเหลือและบ่งชี้ถึงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาวอยุธยาที่เคยอาศัยอยู่ในเมียนมาร์
       
ดร.ม.ร.ว.รุจยา อาภากร ผู้อำนวยการศูนย์โบราณคดีและวิจิตรศิลป์ (สปาฟา) องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) ผู้ศึกษาภาพจิตรกรรมฝาหนังวัดมหาเตงดอจี กล่าวว่า เมื่อหลายปีก่อนตนได้มาศึกษาและถ่ายรูปภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดแห่งนี้ไว้ แต่วันนี้มีการนำปูนมาโบกทับภาพจิตรกรรมบริเวณด้านล่างลงมาทั้งหมด
       
อย่างไรก็ตาม ทางกรมศิลปากรจะประสานกรมโบราณคดีของเมียนมาร์ เพื่อส่งนักโบราณคดีของไทยที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปทำการบูรณะและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับภาพจิตรกรรมโดยเร็วที่สุด
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 142  เมื่อ 03 พ.ย. 17, 09:46

ข่าวหลังไมค์แจ้งว่า ท่านเจ้าอาวาสตื่นเต้นมาก ที่บุคคลระดับอธิบดีกรมศิลปากรของไทยแลนด์ได้บอกกับท่านเช่นนั้น แต่แล้วก็คอยหาย คอยหาย ทำท่าจะกลายเป็น Simese Talk อีกรูปแบบหนึ่งไป

คณะคนไทยหากไปเที่ยวแล้วพบท่าน ก็จะได้รับคำฝากมาช่วยถามไถ่ จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ คณะถ่ายทำสารคดีของ Thai PBS ได้ไปที่นั่นและได้รับฟังถ้อยความอย่างเดียวกัน ทางคณะจึงได้รับปากจะเป็นผู้ระดมเงินทุนมาดำเนินการให้เองโดยไม่ต้องไปหวังอะไรลมๆแล้งๆจากผู้ที่เคยออกปากไว้แต่เดิม



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 143  เมื่อ 03 พ.ย. 17, 10:38

ข้อความจากวิจิตร ชินาลัย ได้รับเมื่อสักครู่

ภาพที่ ๑ ๒ ๓ และ๔ เป็นการมาของอธิบดีเอนก และคณะใหญ่ของกรมศิลปากรครั้งนี้ (๑มีนาคม ๒๕๕๗) ก็ไม่รู้ว่ามาทำไม และก็ไม่ใด้แจ้งให้ผมทราบแต่ประการใด หรืออาจทราบว่าผมจัดพิธีใหญ่เพื่อประกาศชื่อโครงการอนุสรณ์สถานฯ เป็นทางการตามที่ สมาคมสถาปนิกสยาม และสมาคมจิตพรรณฯ ใด้รับอนุญาตจาก ผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์อย่างเป็นทางการโดย  และกำลังจะจัดพิธีสถาปนา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงในพระพุทธเจดีย์องค์ประธาน และพิธีบรรจุพระอัฐิ กลับคืนสู่สถูปหมายเลข ๓ ตามธรรมเนียมพม่า และจากนั้นจึงจะซ่อมแซมส่วนอื่นๆต่อไปตามจารีตการบูรณโบราณสถาน....จึงแวะมาชมหรือสาเหตุใดก็ไม่ทราบได้.

ตามภาพที่เห็น มีศาลาที่เราสร้างชั่วคราว ไว้แสดงงานและรับรองแขกที่จะมาร่วมในพิธี ซึ่งจะมีทั้งชาวพม่า ชาวพม่าโยเดีย ชาวไทยใหญ่ และแขกชาวไทยกับนักข่าว และ NGO ที่ support โครงการอนุสรณสถานฯ ของเราในพม่า

เมื่อกรมศิลปากรไป เราจึงใช้ศาลานี้ต้อนรับท่านซึ่งมีบอร์ดติตแสดงใว้เต็มหมด
โดยผมได้บรรยาย ร่วมกับ U Win Young สถาปนิกนักอนุรักษ์ผู้เชี่ยวชาญที่มีชือเสียงที่สุดของพม่า เล่าความเป็นมาโครงการให้ทราบพร้อมเหตุผลทำไมรัฐบาลมัณฑเลย์ ให้อนุญาตให้ซ่อมแซม และให้ใช้ชื่อโครงการเป็นอนุสรณสถาน ฯ ในชื่อ มหาเถระอุดุมบารา(มะเดื่อ)

ผมเองก็ถือเอกสารชุด Final report ที่ส่งให้ปลัดกระทรวง กว. และ กระทรวง กต. เมื่อ ๒๘ มีค. ๒๕๕๖ใว้ในมือ เผื่ออธิบดีจะมีข้อสงสัยใดๆ จะได้ชี้แจง แต่บรรยายสรุปไปเดี๊ยวเดียว อธิบดีท่านก็กล่าวขอบคุณ และบอกว่ามีกำหนดนัดหมายที่อื่นต้องรีบไป แต่ยังกรุณาทิ้งสื่อ(สายกรมศิลปากร.)หกเจ็ดฉบับ ไว้ถ่ายรูปและสัมภาษณ์ผมต่อ

รูปที่ ๕. ผู้เชี่ยวชาญไทย คุณชาย รุจยา อาภากร รู้จักกันดีกับ U Win Young ซึ่งเป็นผู้เชียวชาญพม่า จึงเห็นคุยกันดี ฝ่ายไทยก็ดูเสมือนว่าเข้าใจในที่มาที่ไปของโครงการ.

รูป ที่ ๖. U Win Young อุตส่าห์จะมาพาคณะท่านอธิบดีชมการบูรณซ่อมแซมด้วยตนเอง คณะท่านก็จะรีบไปต่อ ก็เลยรีบลา U Win Young และ ทิ้งนักข่าวใว้สัมภาษณ์ U Win Young แทนผู้ใหญ่ของกรมศิลปากร.

รูป ที่ ๗. นักข่าวถูกผู้ใหญ่กรมศิลปากรทิ้งใว้ที่ site เจ็ดแปดคน ก็เลยรุมสัมภาษณ์ผม พร้อมถ่ายทำ video ผมแทน ตาม รายละเอียดในคลิปที่นำมาออกทีวี ทางยูทูป







บันทึกการเข้า
Koratian
พาลี
****
ตอบ: 329


ความคิดเห็นที่ 144  เมื่อ 03 พ.ย. 17, 10:47

คราวที่สมาคมสถาปนิกจัดเสวนาโครงการอนุสรณ์สถานพระเจ้าอุทุมพร โดยมีคณะทำงานฝ่ายไทยประกอบด้วย วิจิตร ชินาลัย สถาปนิกผู้อำนวยการโครงการ ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส อุปนายกสถาปนิก ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ นักโบราณคดีอาวุโส และฝ่ายพม่า คือ มิกกี้ ฮาร์ท สถาปนิกนักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ชาวพม่า และ อู วิน หม่อง ผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์โบราณสถานชาวพม่า ผู้แสดงเหตุผล ๗ ประการที่ตนเชื่อว่าอัฐิที่พบนั้นเป็นพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร  คือ

๑ พงศาวดารพม่าฉบับคองบอง มีบันทึกไว้ว่าพระราชวงศ์อยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า เมืองหลวงในขณะนั้นคืออังวะ แต่ต่อมาก็ย้ายเมืองหลวงมาที่อมรปุระ (ดังที่ผมขยายความไปแล้ว)
๒  สุสานลินซิงกองหรือที่บางคนเรียกสุสานล้านช้าง ในยุคต้นๆ ถือเป็นสุสานสำหรับชนชั้นสูงชาวต่างชาติในพม่าเท่านั้น (คำว่าล้านช้างนั้น ครั้งโบราณพม่าใช้เรียกดินแดนที่อยู่ทางตะวันออกของตนทั้งหมด ซึ่งหมายถึงไทยด้วย) และตามประวัติศาสตร์พระเจ้าอุทุมพรเป็นเจ้านายชั้นสูงที่เป็นต่างชาติเพียงพระองค์เดียวที่พลัดถิ่นไปอยู่เมืองพม่า
๓. ตามหลักฐานบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในสมุดพาราไบก์ บันทึกว่ามีกษัตริย์ไทยเคยได้รับการพระราชทานเพลิงศพจากพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าสมัยนัน้ ที่ลินซินกอง
๔. ขนาดของอิฐที่สร้างกำแพงแก้ว พระพุทธเจดีย์องค์ประธานและพระเจดีย์ทรงกลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในกำแพงแก้วที่พบพระอัฐิ รวมทั้งบริเวณแท่นถวายพระเพลิงที่ต่อเนื่องกับกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นอิฐร่วมสมัยกับที่ใช้สร้างกำแพงเมืองอมรปุระ
๕. ภาชนะบรรจุอัฐิทรงบาตร เป็นเครื่องเคลือบดินเผายุคอมรปุระ ซึ่งเป็นช่วงที่พระเจ้าอุทุมพรสวรรคต
๖. ลักษณะภาชนะทรงบาตรตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้าประดับตกแต่งสวยงาม ซึ่งใช้กับเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์เท่านั้น
๗. พระบรมอัฐิที่พบในภาชนะทรงบาตร นอกจากกระดูกแล้วยังพบกระดุมสายรัดประคด ทั้งหมดห่ออยู่ในผ้าจีวร แสดงว่าต้องเป็นเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงเป็นพระสงฆ์หรือพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีเพียงพระองค์เดียวคือ พระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร

นอกจากนี้ข้อมูลจากการวิเคราะห์พระอัฐิที่บรรจุในภาชนะทรงบาตร โดย นายแพทย์ทิน หม่อง จี พบชิ้นส่วนบริเวณกะโหลกที่น่าจะเป็นของผู้มีอายุหกสิบปีขึ้นไป สอดคล้องกับการคำนวณพระชันษาของพระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพรว่าน่าจะสวรรคตในราวพระชนมายุ ๖๖ พรรษา นอกจากนี้ผังของเจดีย์และพระสถูป แสดงว่าเป็นวัดไทย เพราะพม่าไม่นิยมสร้างสถูปเจดีย์บรรจุอัฐิในวัด


เรียนท่านอาจารย์นวรัตน์ ผมติดตามอ่านกระทู้นี้มาโดยตลอดตั้งแต่ยังไม่แยกจากกระทู้ดั้งเดิมด้วยความสนใจเป็นอย่างยิ่งครับ
ขออภัยที่ในความเห็นที่แล้วเขียนสั้นไปหน่อยครับ

เรื่องรูปภาพวาดพระเจ้าเอกทัศน์ สวมชฎาไทย ห่มคลุมเฉียง และท่านั่งแบบพม่า
น่าจะวาดจากแบบที่ใส่เครื่องทรงอย่างไทยในภายหลัง มิใช่วาดโดยผู้ที่เคยเห็นพระองค์จริง
นอกจากนี้เอกสารอื่นๆก็มีความเป็นไปได้ที่จะสูญหายตอนที่เมืองอังวะถูกเผา ทำลาย เสียหาย ก่อนย้ายเมืองมาที่อมรปุระ
มิกกี้ ฮาร์ท เคยบอกว่านี่คือรูปพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งเป็นที่มาส่วนหนึ่งของเรื่องแต่งที่ว่าพระเจ้าอุทุมพรเคยนั่งเฝ้าในราชสำนักพม่าโดยผู้แต่งเติมข่าวรายอื่นๆ
ปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ลงความเห็นกันแล้วว่าไม่ใช่

หลักฐานการค้นพบนั้นเป็นร่องรอยของชาวสยามจริง ที่ไม่น่ามีข้อขัดแย้งใดๆ แต่ในข้อสรุป 7 ยังมีข้อสงสัย
ในข้อ 2 และ ข้อ 7 ครับ

๒  สุสานลินซิงกองหรือที่บางคนเรียกสุสานล้านช้าง ในยุคต้นๆ ถือเป็นสุสานสำหรับชนชั้นสูงชาวต่างชาติในพม่าเท่านั้น (คำว่าล้านช้างนั้น ครั้งโบราณพม่าใช้เรียกดินแดนที่อยู่ทางตะวันออกของตนทั้งหมด ซึ่งหมายถึงไทยด้วย) และตามประวัติศาสตร์พระเจ้าอุทุมพรเป็นเจ้านายชั้นสูงที่เป็นต่างชาติเพียงพระองค์เดียวที่พลัดถิ่นไปอยู่เมืองพม่า
๗. พระบรมอัฐิที่พบในภาชนะทรงบาตร นอกจากกระดูกแล้วยังพบกระดุมสายรัดประคด ทั้งหมดห่ออยู่ในผ้าจีวร แสดงว่าต้องเป็นเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงเป็นพระสงฆ์หรือพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีเพียงพระองค์เดียวคือ พระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร


ถ้าบริเวณนั้นเป็นที่ตั้งของวัดโยเดีย เจ้าอาวาสวัดโยเดียก็น่าจะเป็นบุคคลสำคัญไม่น้อยกว่าพระเจ้าอุทุมพร
พออ่านความเห็นที่ 98 ผมก็ หูผึ่ง ครับ

เรื่องนี้มีอรรถาธิบายว่า จากที่พระราชพงศาวดารพม่าฉบับคองบองระบุไว้ ในปีพ.ศ.๒๓๓๖ เมื่อพระเจ้าบะจีดอว์(หรือคนไทยเรียกพระเจ้าจักกาย(สะกาย)แมง)ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าปะดุง พระองค์ถวายพระสุพรรณบัตรให้แก่พระสงฆ์ผู้ใหญ่ในราชอาณาจักรอมรปุระหลายรูป  หนึ่งในนั้นมีเจ้าอาวาสวัดโยเดีย นามว่าพระติสรณะ ได้ฉายาใหม่ว่า พระเถระ นรินทะชะมหาธรรมราชาคุรุ  วัดโยเดียอยู่ในลำดับต่อจากวัดตองเลยลุง ซึ่งปัจจุบันตั้ง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสุสานลินซินกอง ห่างไปประมาณ ๓๐๐ เมตร การที่วัดโยเดียอยู่ในลำดับต่อจากวัดต่องเลยลุง แสดงว่า วัดทั้งสองน่าจะอยู่ใกล้เคียงในบริเวณเดียวกัน  


แก้ไข  ขออภัยครับ ด้านบน ขอแก้ มิกกี้ ฮาร์ท เป็น ดร. ทิน เมืองจี ตามความเห็นที่ 10
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 145  เมื่อ 03 พ.ย. 17, 11:08

มีใจความว่า ภาพเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กษัตริย์โยดะยา ผู้ซึ่งตกอยู่ภายใต้เบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดี สี่น ผยู่ ฉิ่น พระผู้ทรงสถาปนากรุงรัตนปุระเป็นราชธานีนับเป็นครั้งที่ 3 ทรงตีอาณาจักรโยดะยาและสามารถยึดเอาเมืองพร้อมกับกษัตริย์ได้แล้ว ภายหลังเสด็จสวรรคต ขณะอยู่ในผ้าเหลือง ณ เมืองอมรปุระ ในรัชกาลสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดี พระอนุชา (ของกษัตริย์พระองค์นั้น) พระผู้ทรงสถาปนากรุงอมรปุระเป็นราชธานี และทรงสงเคราะห์อย่างใหญ่โต ณ สุสานลินซินโกง

ผู้บันทึกได้บันทึกหลังพิธีปลงพระศพหลายสิบปี จึงอาจมีความคลาดเคลื่อนได้บ้าง ข้อความในบันทึกเป็นได้ ๒ กรณี คือ

๑. บันทึกคลาดเคลื่อนจาก ภาพพระเจ้าอุทุมพร เป็นภาพพระเจ้าเอกทัศน์

๒. เป็นภาพพระเจ้าเอกทัศน์จริง แต่ "กษัตริย์" ที่กล่าวต่อมาว่าสวรรคตในผ้าเหลืองที่อมรปุระควรเป็นพระเจ้าอุทุมพร ไม่ใช่พระเจ้าเอกทัศน์ (นอกจากจะมีหลักฐานว่าพระเจ้าเอกทัศน์สวรรคตที่พม่า)
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 146  เมื่อ 04 พ.ย. 17, 07:18

ผมคงไม่ตองกล่าวถึงภาพพระเจ้าเอกทัศน์อีกนะครับ เอาข้อใหม่ๆที่คุณคนโคราชสงสัยเลยดีกว่า

อ้างถึง
๒  สุสานลินซิงกองหรือที่บางคนเรียกสุสานล้านช้าง ในยุคต้นๆ ถือเป็นสุสานสำหรับชนชั้นสูงชาวต่างชาติในพม่าเท่านั้น (คำว่าล้านช้างนั้น ครั้งโบราณพม่าใช้เรียกดินแดนที่อยู่ทางตะวันออกของตนทั้งหมด ซึ่งหมายถึงไทยด้วย) และตามประวัติศาสตร์พระเจ้าอุทุมพรเป็นเจ้านายชั้นสูงที่เป็นต่างชาติเพียงพระองค์เดียวที่พลัดถิ่นไปอยู่เมืองพม่า
๗. พระบรมอัฐิที่พบในภาชนะทรงบาตร นอกจากกระดูกแล้วยังพบกระดุมสายรัดประคด ทั้งหมดห่ออยู่ในผ้าจีวร แสดงว่าต้องเป็นเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงเป็นพระสงฆ์หรือพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีเพียงพระองค์เดียวคือ พระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร


ถ้าบริเวณนั้นเป็นที่ตั้งของวัดโยเดีย เจ้าอาวาสวัดโยเดียก็น่าจะเป็นบุคคลสำคัญไม่น้อยกว่าพระเจ้าอุทุมพร
พออ่านความเห็นที่ 98 ผมก็ หูผึ่ง ครับ


เรื่องนี้มีอรรถาธิบายว่า จากที่พระราชพงศาวดารพม่าฉบับคองบองระบุไว้ ในปีพ.ศ.๒๓๓๖ เมื่อพระเจ้าบะจีดอว์(หรือคนไทยเรียกพระเจ้าจักกาย(สะกาย)แมง)ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าปะดุง พระองค์ถวายพระสุพรรณบัตรให้แก่พระสงฆ์ผู้ใหญ่ในราชอาณาจักรอมรปุระหลายรูป  หนึ่งในนั้นมีเจ้าอาวาสวัดโยเดีย นามว่าพระติสรณะ ได้ฉายาใหม่ว่า พระเถระ นรินทะชะมหาธรรมราชาคุรุ  วัดโยเดียอยู่ในลำดับต่อจากวัดตองเลยลุง ซึ่งปัจจุบันตั้ง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสุสานลินซินกอง ห่างไปประมาณ ๓๐๐ เมตร การที่วัดโยเดียอยู่ในลำดับต่อจากวัดต่องเลยลุง แสดงว่า วัดทั้งสองน่าจะอยู่ใกล้เคียงในบริเวณเดียวกัน  

คำว่า ถ้าบริเวณนั้นเป็นที่ตั้งของวัดโยเดีย เจ้าอาวาสวัดโยเดียก็น่าจะเป็นบุคคลสำคัญไม่น้อยกว่าพระเจ้าอุทุมพร ตรงนี้เป็นความจริงไปไม่ได้ เพราะพระเจ้าอุทุมพรทรงเป็นถึงอดีตกษัตริย์  อย่างไรเสียเจ้านายองค์อื่นจะไปสำคัญเสมอกับท่านได้อย่างไร
แล้วพระราชฐานะนี้ ก็ยังยิ่งกว่าเจ้านายชาติอื่นๆทุกพระองค์ที่พม่าเคยนำมาเป็นตัวประกันด้วย นี่ว่าตามตามประวัติศาสตร์ของเขาดังที่ผมกล่าวไปแล้ว  ซึ่งก็ระบุโดยชัดเจนอีกว่าเมื่อพระเจ้าปะดุงย้ายราชธานีมาอมรปุระ ก็โปรดให้พระเจ้าอุทุมพรตามเสด็จมาประทับในเมืองใหม่ด้วย  ตรงนี้นักประวัติศาสตร์พม่าในสมัยนี้สันนิษฐานว่าคงจะโปรดให้สร้างวัดโยเดียถวายให้เป็นที่ประทับจำพรรษา (คคห.๙๘) และเมื่อพาราไบก์ระบุทรงได้รับพระราชทานให้จัดปลงพระบรมศพที่ลินซินกอง ทรากวัดที่พบที่นั่นในทศวรรษนี่จึงน่าจะเป็นวัดโยเดียดังกล่าวที่สาบสูญ

เอาละครับ ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง สถูปบรรจุพระอัฐิ ซึ่งอยู่ในกำแพงแก้วเพียงองค์เดียว และพบบาตรประดับกระจกบนพานแว่นฟ้ารองรับ จึงน่าจะเป็นของเจ้าอาวาสองค์แรกหรือองค์ที่ ๒ ? (ซึ่งมีคุณคนโคราชคนเดียวที่ตั้งปุจฉาว่าน่าจะมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าพระเจ้าอุทุมพร)

คราวที่สมาคมสถาปนิกจัดเสวนาโครงการอนุสรณ์สถานพระเจ้าอุทุมพร โดยมีคณะทำงานฝ่ายไทยประกอบด้วย วิจิตร ชินาลัย สถาปนิกผู้อำนวยการโครงการ ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส อุปนายกสถาปนิก ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ นักโบราณคดีอาวุโส และฝ่ายพม่า คือ มิกกี้ ฮาร์ท สถาปนิกนักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ชาวพม่า และ อู วิน หม่อง ผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์โบราณสถานชาวพม่า ผู้แสดงเหตุผล ๗ ประการที่ตนเชื่อว่าอัฐิที่พบนั้นเป็นพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร  คือ

๑ พงศาวดารพม่าฉบับคองบอง มีบันทึกไว้ว่าพระราชวงศ์อยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า เมืองหลวงในขณะนั้นคืออังวะ แต่ต่อมาก็ย้ายเมืองหลวงมาที่อมรปุระ (ดังที่ผมขยายความไปแล้ว)
๒  สุสานลินซิงกองหรือที่บางคนเรียกสุสานล้านช้าง ในยุคต้นๆ ถือเป็นสุสานสำหรับชนชั้นสูงชาวต่างชาติในพม่าเท่านั้น (คำว่าล้านช้างนั้น ครั้งโบราณพม่าใช้เรียกดินแดนที่อยู่ทางตะวันออกของตนทั้งหมด ซึ่งหมายถึงไทยด้วย) และตามประวัติศาสตร์พระเจ้าอุทุมพรเป็นเจ้านายชั้นสูงที่เป็นต่างชาติเพียงพระองค์เดียวที่พลัดถิ่นไปอยู่เมืองพม่า
๓. ตามหลักฐานบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในสมุดพาราไบก์ บันทึกว่ามีกษัตริย์ไทยเคยได้รับการพระราชทานเพลิงศพจากพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าสมัยนัน้ ที่ลินซินกอง
๔. ขนาดของอิฐที่สร้างกำแพงแก้ว พระพุทธเจดีย์องค์ประธานและพระเจดีย์ทรงกลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในกำแพงแก้วที่พบพระอัฐิ รวมทั้งบริเวณแท่นถวายพระเพลิงที่ต่อเนื่องกับกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นอิฐร่วมสมัยกับที่ใช้สร้างกำแพงเมืองอมรปุระ
๕. ภาชนะบรรจุอัฐิทรงบาตร เป็นเครื่องเคลือบดินเผายุคอมรปุระ ซึ่งเป็นช่วงที่พระเจ้าอุทุมพรสวรรคต
๖. ลักษณะภาชนะทรงบาตรตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้าประดับตกแต่งสวยงาม ซึ่งใช้กับเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์เท่านั้น
๗. พระบรมอัฐิที่พบในภาชนะทรงบาตร นอกจากกระดูกแล้วยังพบกระดุมสายรัดประคด ทั้งหมดห่ออยู่ในผ้าจีวร แสดงว่าต้องเป็นเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงเป็นพระสงฆ์หรือพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีเพียงพระองค์เดียวคือ พระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร

นอกจากนี้ข้อมูลจากการวิเคราะห์พระอัฐิที่บรรจุในภาชนะทรงบาตร โดย นายแพทย์ทิน หม่อง จี พบชิ้นส่วนบริเวณกะโหลกที่น่าจะเป็นของผู้มีอายุหกสิบปีขึ้นไป สอดคล้องกับการคำนวณพระชันษาของพระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพรว่าน่าจะสวรรคตในราวพระชนมายุ ๖๖ พรรษา นอกจากนี้ผังของเจดีย์และพระสถูป แสดงว่าเป็นวัดไทย เพราะพม่าไม่นิยมสร้างสถูปเจดีย์บรรจุอัฐิในวัด

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 147  เมื่อ 04 พ.ย. 17, 09:38

บัดนี้ ผมขออนุญาตที่จะวิพากษ์วิจารณ์อธิบดีกรมศิลปากรบ้าง ในฐานะที่เป็นข้าราชการกินเงินเดือนหลวง และผมในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี

๑ ด้านนายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การเดินทางไปศึกษาข้อมูลครั้งนี้ กรมศิลปากร ได้หารือกับกรมโบราณคดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์แล้ว รับทราบข้อมูลว่า การขุดค้นดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลกลางของเมียนมาร์ เพียงแต่มีการขออนุญาตจากคณะกรรมการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์เท่านั้น  จึงถือว่า ยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศอย่างเป็นทางการ

นายเอนกก็เป็นข้าราชการระดับสูง น่าจะเข้าใจว่าเรื่องเช่นนี้รัฐบาลเนปิดอว์ต้องรับรู้ และให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือเมืองมัณฑเลย์เป็นผู้ดำเนินการ การที่บุคคลระดับรัฐมนตรีช่วยกระทรวงวัฒนธรรมของเขาได้ให้ความสนใจ เดินทางจากเมืองหลวงมาเยี่ยมโครงการเพื่อติดตามงานถึงสองครั้ง ไม่รวมข้าราชการระดับสูงอื่นๆอีกนับสิบครั้ง ย่อมบ่งบอกว่ารัฐบาลพม่าให้ความสำคัญ ในขณะที่รัฐบาลไทยไม่ใส่ใจเลย ให้เอกชนมาทำงานให้ในนามของรัฐบาล แต่ลอยแพเขาเสียตั้งแต่เริ่ม บัดนี้ยังตามไปทิ้งบอมบ์แพของเขาเสียอีกโดยพาสื่อไปแถลงว่าโครงการที่กำลังดำเนินอยู่  จนถึงขั้นจะมีพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงในพระพุทธเจดีย์อยู่แล้วนั้น ยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศอย่างเป็นทางการ
เออใช่  ก็รัฐบาลพม่าเขาจะรับรองอะไรได้ ในเมื่อรัฐบาลไทยที่เคยไปบอกว่าจะร่วมบูรณาการโครงการนี้ในระดับทวิภาคี  ยังไม่ปรากฏหน้าไปพูดอะไรต่อกับเขาสักคำ

๒ ขณะเดียวกัน รายงานการค้นของสมาคมจิตพรรณ ที่เสนอมายังกรมศิลปากร ก็มีข้อขัดแย้งหลายประการที่ทำให้มีความไม่มีความน่าเชื่อถือ และการดำเนินงานยังไม่มีนักโบราณคดีทั้งของไทยและพม่าร่วมคณะทำงานดังกล่าว จึงไม่อาจสรุปหลักฐานทางโบราณคดีว่า สถูปที่ค้นพบเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรหรือไม่ ดังนั้น จึงถือว่าทางการไทยไม่รับรองการขุดค้นดังกล่าว ซึ่งควรมีการศึกษาข้อมูลให้รอบด้านมากกว่านี้

ข้อขัดแย้งดังกล่าว อธิบดีเพียงแต่กล่าวเปิดช่องให้ลูกน้องเป็นผู้อรรถาธิบาย เดี๋ยวผมจะตามไปตอบตรงนั้น
เอาตรงที่ว่า ไม่มีนักโบราณคดีทั้งของไทยและพม่าร่วมคณะทำงานดังกล่าว ไม่ทราบว่าอธิบดีพูดได้อย่างไร ทางฝ่ายพม่านั้นมีเยอะแยะ ฝ่ายไทยมีนายปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ นักโบราณคดีอาวุโสที่เพิ่งเกษียณจากกรมศิลปากร  ฝากผลงานที่มีชื่อเสียงไว้มากมาย ไปปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นเดือนด้วยจิตอาสาร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยาม ไฉนบอกไม่มี หรือผู้เกษียณออกจากกรมแล้วไม่ถือว่าเป็นนักโบราณคดีอีกต่อไป
กรมศิลปากรสิ ได้รับคำสั่งจากปลัดกระทรวงวัฒนธรรมในที่ประชุมร่วมในครั้งปฐม ให้สนับสนุนฝ่ายเอกชนในการเข้าไปทำงานในนามรัฐบาล กลับไม่ส่งนักโบราณคดีไปเมื่อได้รับการร้องขอ ไม่ทำอะไรทั้งนั้น จนกระทั่งนาทีที่ตัวอธิบดีไปที่นั่นเองเพื่อทำ คือให้สัมภาษณ์

อีกฉบับหนึ่งมีข้อความเพิ่มเติม

๓ นายเอนก กล่าวต่อว่า กรณีที่หลายฝ่ายถามว่ามีแนวคิดประสานไปยังสมาคมจิตพรรณและทางการเมียนมาร์ เพื่อให้ชะลอการขุดค้นสถูปของพระเจ้าอุทุมพรนั้น กรมศิลปากรคงไม่ห้ามในเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องที่สมาคมดำเนินการร่วมกับเทศบาลมัณฑะเลย์

แหม…ขอโทษครับ ถ้าอยากจะห้าม ผมขอถามว่าจะใช้สิทธิ์ในฐานะอะไร  ที่นั่นมันประเทศของเขาขอรับ

๔ เพียงแต่ต้องการเปิดเผยข้อมูลทางวิชาการให้สังคมเลือกว่าข้อมูลตรงไหนน่าเชื่อถือ ตรงไหนที่ต้องศึกษาต่อ ไม่กำหนดหรือห้ามไม่ให้ใครเชื่อหรือไม่เชื่อ เพราะทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งในส่วนของข้อมูลที่กรมศิลปากรเปิดเผยได้นำข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีต่างๆ มาสรุปประเด็นเพื่อให้เห็นว่าวิธีการศึกษาจะด่วนสรุปไม่ได้ ต้องมีข้อมูลหลักฐานยืนยันทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเรื่องดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมีเอกสารสนับสนุน


เอกสารมีเยอะแยะ อธิบดีคงไม่อ่าน ฟังลูกน้องรายงานสรุปอย่างเดียว
ส่วนที่ว่า ต้องมีข้อมูลหลักฐานยืนยันทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น ในเรื่องโบราณคดี ในเมืองไทยมีกรณีย์ไหนมีบ้างที่มีหลักฐานยืนยันร้อยเปอร์เซนต์ เจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่สุพรรณหรืออยู่ที่พนมทวน แม้บัดนี้ คนสองจังหวัดก็ยังเห็นแย้งกันอยู่ ผมขอยกวลีของวลัยลักษณ์ ทรงศิริ แห่งนิตยสารเมืองโบราณที่กล่าวว่า กรณีการบูรณะโบราณสถานที่เกาะเมืองอยุธยานั้น ยังไม่สามารถจัดการพื้นที่และให้ความหมายกับเจดีย์สักองค์ได้เลย โดยเพิ่มเติมนิดเดียวว่า เจดีย์สามองค์ที่ชื่อว่าเจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา และเจ้าสามพระยา นั้น กรมศิลปากรเคยขุดเจอพระบรมอัฐิ ถูกต้องตามที่พงศาวดารกล่าวไว้หรือเปล่า เจอป้ายหรือจารึกอะไรที่บ่งบอกไหมว่าที่ทุกวันนี้บอกว่าใช่นั้นใช่จริง แต่ทำไมจึงเชื่อ

๕ ส่วนกรณีจะขอเจาะเจดีย์วัดข่ามีนเวนั้น หากข้อมูลคำแปลระบุว่ากรณีดังกล่าวจริงก็จะมีการหารือกับคณะดำเนินงานอีกครั้ง

นี่แสดงว่าที่ตอนโน้นบอกว่าจะแปลเสร็จในสิบวัน เป็นอันว่าพูดไปอย่างงั้นๆ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 148  เมื่อ 04 พ.ย. 17, 11:08

คราวนี้ถึงตาลูกน้องออกมาเล่น

นายนิติ แสงวัณณ์ นักโบราณคดีเชี่ยวชาญ กรมศิลปากร ตั้งข้อสังเกตว่า ตนลงพื้นที่จริง และได้พิจารณารายงานสรุปผลการปฏิบัติงานด้านโบราณคดีที่สุสานลินซินกง

นิดนึงก่อนเลยครับ การลงพื้นที่จริงตรงนี้เขาหมายถึงวันที่ได้ตามอธิบดีไปอยู่ที่นั้นไม่ถึงครึ่งชั่วโมงนะครับ

๑ พบว่า เอกสารต่างประเทศ ที่ทางภาคเอกชนไปขุดค้นกล่าวอ้างถึงว่า มีการบันทึกถึงสถูปองค์นี้ว่ามีการบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งทั้งที่จริงแล้วเอกสารฉบับดังกล่าว บอกว่ามีหลักฐานที่ถือว่าสำคัญมากชิ้นหนึ่ง คือ ภาชนะ ทำด้วยดินเผาประดับกระจก มาถึงหน้าสุดท้ายกลับมาเรียกภาชนะนี้ว่าบาตรแก้วมรกต ทำไมจึงไม่ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่ต้น ถือว่าเป็นการเขียนที่ไม่สุจริต เป็นการโน้มน้าวในข้อมูลอยากให้คนอื่นเข้าใจได้ว่า บาตรนี้เกี่ยวข้องกับเจ้านายที่เป็นพระสงฆ์

นี่ก็มั่วตั้งแต่ประโยคแรก
เอกสารต่างประเทศ ที่ทางภาคเอกชนไปขุดค้นกล่าวอ้างถึง ตรงนี้คงจะหมายถึงพาราไบก์ ซึ่งมีข้อความสั้นๆ ไม่ได้กล่าวถึงภาชนะทำด้วยดินเผาประดับกระจกเลยสักนิดเดียว
จริงอยู่ ในรายงานที่คณะทำงานเคยส่งให้กรมศิลปากรโดยตลอด อาจพบคำว่า ภาชนะทำด้วยดินเผาประดับกระจก หรือที่บอกมาถึงหน้าสุดท้ายกลับมาเรียกภาชนะนี้ว่าบาตรแก้วมรกต ก็เพราะเขารายงานเป็นรายงานประจำวัน วันแรกที่พบมีดินหุ้มอยู่เต็ม สังเกตุได้แต่เพียงเป็นภาชนะก็เรียกว่าภาชนะเฉยๆ พอต่อไปชำระดินออกแล้วเห็นว่าเป็นภาชนะทำด้วยดินเผาประดับกระจก หรือบาตรประดับกระจก ก็ว่าไปตามนั้น ส่วนคำว่าบาตรแก้วมรกตเป็นเพียงวลีที่อรรถาธิบายสีของแก้ว ไม่ได้ใช้มาก

เพียงแค่นี้ก็ไปกล่าวหาเขาว่าเป็นการเขียนที่ไม่สุจริต เป็นการโน้มน้าวในข้อมูลอยากให้คนอื่นเข้าใจได้ว่า บาตรนี้เกี่ยวข้องกับเจ้านายที่เป็นพระสงฆ์  
หามิได้ ภาชนะเมือเห็นว่าเป็นบาตรก็ต้องเรียกว่าบาตร และลวดลายที่ประดับกระจกเช่นนี้ เมื่อเทียบกับรูปถ่ายโบราณวัตถุของพม่าแล้ว เทียบได้ถึงขั้นที่จะใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูง เขาก็รายงานไปตามเนื้อหา มาจ้องจับผิดอะไรกับประเด็นเล็กน้อย สงสัยอะไรทำไมไม่ไปขอเขาดู
 
๒ นักโบราณคดีเชียวชาญ กล่าวอีกว่า รายงานฉบับนี้ นักโบราณคดีทั่วโลกไม่ถือเป็นรายงานทางโบราณคดี เพราะไม่มีการอ้างอิงกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ เช่น ไม่บอกกำหนดอ้างอิง ไม่บอกพิกัดที่ตั้ง ไม่บอกลักษณะการขุด เป็นต้น

ผมได้เล่าไว้แล้วตั้งแต่ คคห.๑๙-๒๒ ว่าโครงการนี้เป็นโครงการเร่งด่วนหมือนกู้ภัย เพราะแต่แรก ทางการพม่าให้เวลาเพียงเดือนเดียว ที่จะขุดค้นสถูป(หรือหลุมฝังศพ)เพื่อหาสิ่งที่ผู้ขอจะเคลื่อนย้ายไปบรรจุที่อื่น ซึ่งโชคดีที่ค้นพบสิ่งนั้นก่อนจะหมดเวลา และพอที่อาจารย์ปฏิพัฒน์จะเปิดหน้าดินเพื่อให้เห็นว่าเป็นโบราณสถาน จนทำให้ทางการพม่ายอมรับ และไม่สามารถรื้อทิ้งได้ตามกฏหมายของเขา

อย่างไรก็ดี พื้นที่ตรงนั้นก็ไม่ได้ถูกขุดค้นอย่างไร้แนวทางจนไปทำลายหลักฐานอื่นๆซึ่ง ถ้ามีการบูรณาการร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชนของทั้งสองประเทศ ก็อาจจะใช้เวลา ใช้เทคนิกที่มากขึ้นในการเปิดพื้นที่ซึ่งอาจเจอหลักฐานดีๆอีกมากมาย ที่อาจจะบ่งบอกถึงวัดและสุสานหลวงของชาวโยเดียผู้พลัดถิ่นก็เป็นได้

๓ นอกจากนี้ยังมีการรายงานถึงการอ้างอิงเอกสารว่า เอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร นั้น มาจากเอกสารโบราณพม่า ชื่อ พาราไบเก เอกสารพาราไบเกเก็บไว้ที่ ห้องสมุดลอนดอน ชิ้นที่ 99 /288 บันทึกถึงที่ตั้งพระสถูป ตนขอยืนยันว่า ข้อความนี้ไม่มีบรรจุไว้ในเอกสารพาราไบเก ไม่มีระบุขนาดนั้น

พาราไบเกตามศัพท์ของกรมศิลปากรที่ว่าบันทึกถึงที่ตั้งพระสถูป นายนิติจะยืนยันว่าข้อความนี้ไม่มีบรรจุไว้ในเอกสารพาราไบเก ไม่มีระบุขนาดนั้น ก็ใช่ ใครๆที่แปลก็แปลแต่เพียงว่า พระบรมศพของกษัตริย์โยเดีย ได้รับโปรดเกล้าให้ปลงอย่างสมพระเกียรติที่ลินซิน  ข้อความที่เกินมานั้น นายนิติชงเอง กินเอง

อีกฉบับหนึ่งเขียนว่า

๔ นายนิติ แสงวัณณ์ นักโบราณคดีเชียวชาญ กล่าวว่า จากการที่ตนไปลงพื้นที่จริง และพิจารณารายงานสรุปผลการปฏิบัติงานด้านโบราณคดีที่สุสานลินซินกง พบว่าเอกสารต่างประเทศที่ทางภาคเอกชนไปขุดค้น กล่าวอ้างว่า มีการบันทึกถึงสถูปองค์นี้ว่าบรรจุพระบรมอัฐิ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งที่จริงแล้วเอกสารฉบับดังกล่าวไม่ได้บอกรายละเอียดถึงขนาดนั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลในระดับสามัญสำนึกทางโบราณคดี หากคนในพื้นที่รู้ว่าที่นี่คือ สุสานของเจ้าชายไทยจริงทำไมถึงเรียก ลินซินกง ซึ่งแปลว่า สุสานล้านช้าง ทำไมถึงไม่ เรียกโยเดียกง

สามัญสำนึกของนายนิติ น่าจะเรียกวิสามัญสำนึกในเรื่องโยเดียกง  เพราะไปยึดติดกับคำว่าล้านช้าง ซึ่งคนไทยเข้าใจว่าหมายถึงราชอาณาจักรลาวในอดีต  แต่พม่านั้นเขาหมายถึงดินแดนฝั่งตะวันออกของราชอาณาจักรพม่าทั้งหมด ทั้งไทย ลาว เขมรและญวน อย่างไรก็ดี คำว่าลินซินในภาษาพม่าโดยศัพท์แล้วแปลว่าหอสูง ในพาราไบก์กล่าวเพียงลินซิน ที่ตรงนั้นอาจจะยังไม่เป็นสุสาน หรือเกี่ยวข้องอะไรกับล้านช้างก็ได้

๕ ในขณะเดียวกันรายงานที่ทางกลุ่มทำงานเอกชนส่งมาให้กรมศิลปากรพิจารณา ตั้งแต่หน้าที่หนึ่งเป็นต้นมา จะกล่าวถึงหลักฐานที่ถือว่าสำคัญมากชิ้นหนึ่ง คือภาชนะทำด้วยดินเผาประดับกระจกโดยตลอด แต่พอมาหน้าสุดท้ายกลับมาเรียกภาชนะนี้ว่าบาตรแก้วมรกต ทำไมจึงไม่ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่ต้น ถือว่าเป็นการเขียนที่ไม่สุจริต เป็นการโน้มน้าวข้อมูลในสิ่งที่อยากให้คนอื่นเชื่อ โดยไม่มีการกล่าวถึงที่มาของบาตร ว่ามาได้อย่างไร ทำไมถึงต้องเป็นบาตรมรกต เพราะจะทำให้คนเข้าใจได้ว่า บาตรนี้เกี่ยวข้องกับเจ้านาย

เหตุผลอันยิ่งใหญ่ในการไม่เห็นด้วยอันนี้ซ้ำกับ ๑

๖ นายนิติกล่าวต่อว่า ข้อมูลที่น่าสนใจคือ รายงานฉบับนี้นักโบราณคดีทั่วโลก ไม่ถือเป็นรายงานทางโบราณคดี เพราะไม่มีการอ้างอิงกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น ไม่บอกกำหนดอ้างอิง ไม่บอกพิกัดที่ตั้ง ไม่บอกลักษณะการขุด เป็นต้น

อันนี้ซ้ำกับ ๒

๗ นอกจากนี้ เอกชนกลุ่มนี้ยังมีรายงานถึงการอ้างอิงเอกสารว่า เอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพรนั้น มาจากเอกสารโบราณพม่า ชื่อพาราไบเก ซึ่งเอกสารดังกล่าวถูกเก็บรักษาที่ห้องสมุดลอนดอน ชิ้นที่ 99/288 บันทึกถึงที่ตั้งพระสถูป
ผมขอยืนยันว่า ข้อความนี้ไม่มีบรรจุไว้ในเอกสารพาราไบเก ไม่มีระบุขนาดนั้น แต่ถ้ามี ก็เป็นเอกสารอื่น ซึ่งรายงานนี้ไม่เคยอ้างอิงถึงเอกสารอื่นเลย จึงทำให้ข้อมูลที่กลุ่มขุดค้นส่งมาให้ ไม่มีความน่าเชื่อถือ ในเมื่อหลักฐานยังไม่มีความชัดเจน จึงไม่อยากให้ด่วนสรุปจนทำให้เกิดความเชื่อว่า เป็นพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์แห่งอยุธยา และทำให้คนไทยหรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ต้องมาเคารพสักการะโดยที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นอัฐิของใคร” นายนิติกล่าว


อันนี้ซ้ำกับ ๓ ผิดกันเฉพาะข้อความตอนท้าย ซึ่งผมเห็นว่า ถ้าไม่ใช่ระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล ก็คงไม่มีใครกล้ายืนยันว่า หลักฐานสำคัญที่ได้พบในครั้งนี้เป็นพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร
แต่การที่จะสรุปให้ได้แน่ชัดนั้น จะต้องเป็นความร่วมมือร่วมใจ และโดยบริสุทธิ์ใจของคนทั้งสองชาติ ที่จะช่วยค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีต่อ ซึ่งถ้าเป็นโครงการระดับรัฐต่อรัฐแล้ว ก็คงไม่ยากที่จะได้ดูพาราไบก์ที่อังกฤษยึดไว้ ทุกหน้าที่อาจเกี่ยวข้อง พร้อมคำแปลอย่างเป็นทางการ  
ส่วนบริเวณที่ตั้งของโครงการเอง ถ้าได้ขยายแนวสำรวจทั้งมิติลึกและกว้าง เราอาจพบหลักฐานโบราณคดีที่สำคัญในสถูปองค์อื่นๆที่ยังคงเหลือ ที่จะบ่งบอกถึงหลักฐานแวดล้อม ในขณะที่วิธีพิสูจน์ด้วยการหา DNA ไม่สามารถกระทำได้ในกรณีย์ที่กระดูกที่ค้นพบผ่านการเผาไฟแล้ว หรือหาทายาทที่จะสืบ DNA มาถึงปัจจุบันไม่ได้

แต่ทั้งหมดถ้าจะทำ จะต้องล้างวิสามัญสำนึกของคนในกรมศิลปากรให้เรียบร้อยก่อน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 149  เมื่อ 04 พ.ย. 17, 11:32

สำหรับชื่อของโครงการที่เอกชนทั้งสองชาติร่วมกันดำเนินต่อนั้น มีชื่อเต็มๆว่า “โครงการอนุสรณสถานมหาเถระอุตมบาระ” หากว่ามีคำถามว่าทำไมถึงชื่อนั้น หรือทำไมมาตั้งตรงนั้น

ถ้าถามผม ก็คงตอบว่า เพราะมีเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่ามหาเถระอุตมบาระของพม่านั้นคืออดีตพระเจ้าอุทุมพรแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่เสด็จมาประทับและสวรรคตในพม่า แล้วกษัตริย์พม่าโปรดให้กระทำพิธีปลงพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติในบริเวณลินซินกองนี้ ซึ่งอนุสรณ์สถานได้ตั้งขึ้นบนบริเวณที่ขุดพบหลักฐานสำคัญ ซึ่งเชื่อว่าเป็นบาตรที่กษัตริย์พม่าพระราชทานให้บรรจุพระบรมอัฐิ แม้นว่าอัฐิที่ค้นพบจะไม่สามารถพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ว่าเป็นพระบรมอัฐิของพระองค์ก็ตาม



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 32
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.094 วินาที กับ 20 คำสั่ง