เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 32
  พิมพ์  
อ่าน: 70690 พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 02 พ.ย. 17, 06:35

คราวที่สมาคมสถาปนิกจัดเสวนาโครงการอนุสรณ์สถานพระเจ้าอุทุมพร โดยมีคณะทำงานฝ่ายไทยประกอบด้วย วิจิตร ชินาลัย สถาปนิกผู้อำนวยการโครงการ ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส อุปนายกสถาปนิก ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ นักโบราณคดีอาวุโส และฝ่ายพม่า คือ มิกกี้ ฮาร์ท สถาปนิกนักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ชาวพม่า และ อู วิน หม่อง ผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์โบราณสถานชาวพม่า ผู้แสดงเหตุผล ๗ ประการที่ตนเชื่อว่าอัฐิที่พบนั้นเป็นพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร  คือ

๑ พงศาวดารพม่าฉบับคองบอง มีบันทึกไว้ว่าพระราชวงศ์อยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า เมืองหลวงในขณะนั้นคืออังวะ แต่ต่อมาก็ย้ายเมืองหลวงมาที่อมรปุระ (ดังที่ผมขยายความไปแล้ว)
๒  สุสานลินซิงกองหรือที่บางคนเรียกสุสานล้านช้าง ในยุคต้นๆ ถือเป็นสุสานสำหรับชนชั้นสูงชาวต่างชาติในพม่าเท่านั้น (คำว่าล้านช้างนั้น ครั้งโบราณพม่าใช้เรียกดินแดนที่อยู่ทางตะวันออกของตนทั้งหมด ซึ่งหมายถึงไทยด้วย) และตามประวัติศาสตร์พระเจ้าอุทุมพรเป็นเจ้านายชั้นสูงที่เป็นต่างชาติเพียงพระองค์เดียวที่พลัดถิ่นไปอยู่เมืองพม่า
๓. ตามหลักฐานบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในสมุดพาราไบก์ บันทึกว่ามีกษัตริย์ไทยเคยได้รับการพระราชทานเพลิงศพจากพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าสมัยนัน้ ที่ลินซินกอง
๔. ขนาดของอิฐที่สร้างกำแพงแก้ว พระพุทธเจดีย์องค์ประธานและพระเจดีย์ทรงกลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในกำแพงแก้วที่พบพระอัฐิ รวมทั้งบริเวณแท่นถวายพระเพลิงที่ต่อเนื่องกับกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นอิฐร่วมสมัยกับที่ใช้สร้างกำแพงเมืองอมรปุระ
๕. ภาชนะบรรจุอัฐิทรงบาตร เป็นเครื่องเคลือบดินเผายุคอมรปุระ ซึ่งเป็นช่วงที่พระเจ้าอุทุมพรสวรรคต
๖. ลักษณะภาชนะทรงบาตรตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้าประดับตกแต่งสวยงาม ซึ่งใช้กับเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์เท่านั้น
๗. พระบรมอัฐิที่พบในภาชนะทรงบาตร นอกจากกระดูกแล้วยังพบกระดุมสายรัดประคด ทั้งหมดห่ออยู่ในผ้าจีวร แสดงว่าต้องเป็นเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงเป็นพระสงฆ์หรือพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีเพียงพระองค์เดียวคือ พระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร

นอกจากนี้ข้อมูลจากการวิเคราะห์พระอัฐิที่บรรจุในภาชนะทรงบาตร โดย นายแพทย์ทิน หม่อง จี พบชิ้นส่วนบริเวณกะโหลกที่น่าจะเป็นของผู้มีอายุหกสิบปีขึ้นไป สอดคล้องกับการคำนวณพระชันษาของพระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพรว่าน่าจะสวรรคตในราวพระชนมายุ ๖๖ พรรษา นอกจากนี้ผังของเจดีย์และพระสถูป แสดงว่าเป็นวัดไทย เพราะพม่าไม่นิยมสร้างสถูปเจดีย์บรรจุอัฐิในวัด
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 02 พ.ย. 17, 07:26

บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ  เรียบเรียงเมื่อ ๑ เม.ย. ๒๕๕๖, ๑๓:๕๐ น.แล้วนำลงในข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ พาดหัวว่า ข้อสังเกตจากการไปฟังเสวนาเรื่อง "ตามรอยสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร ในอมรปุระ เมียนมาร์"  กล่าวถึงเรื่องเล่าจากวงเสวนาเนื่องในงานสถาปนิก’๕๖จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ผมยังงงอยู่ว่าเธอเขียนเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้าหรือเปล่า เพราะเขียนเรื่องในอดีตที่ตนเคยลงไว้ตั้งแต่ฉบับที่ ๙๖ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๕) ก่อนที่จะมีการไปขุดค้นที่อมรปุระโดยคณะอาสาสมัครราวเดือนหรือสองเดือน ซึ่งมีความว่า

 ๑. มีข้อมูลน้อยมากเรื่องพระเจ้าอุทุมพรเมื่อไปพม่า โดยเฉพาะเรื่องคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมที่คาดว่าได้ต้นฉบับที่แปลเป็นภาษามอญไปแล้วอีกทีก่อนแปลเป็นไทย แถมข้อมูลอื่นๆ ที่มีก็กล่าวถึงการไปอยู่เมืองสะกายน์มากกว่าอมรปุระด้วย ส่วนเอกสารที่แปลจากภาษาพม่าโบราณ กล่าวถึงการถวายพระเพลิงพระบรมศพก็ไปเขียนถึงเจ้าฟ้าเอกทัศน์ไม่ใช่เจ้าฟ้าดอกเดื่อ นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทยเลยยังคลางแคลงใจที่จะเชื่อถือเสียทั้งหมด จนถึงไม่นำข้อมูลส่วนนี้มาใช้เลย

 ๒. ไม่เชื่อถือ คุณหมอทิน มอง จี เพราะคิดว่าไม่รู้ภาษาไทยและมีลักษณะการผูกเรื่องเองสูง โดยมีประเด็นซ่อนเร้น เช่น ความต้องการให้คนไทยไปเที่ยวกันมากๆ เป็นต้น เมื่อมีโอกาสมารู้จัก คุณหมอ เห็นว่าเป็นคนที่ตื่นเต้นเป็นธรรมดาเวลาเจอเรื่องที่น่าสนใจและฝักใฝ่ในการแสวงหาความรู้ แม้ว่าจะอายุเจ็ดสิบกว่าปีก็ตาม การผูกเรื่องให้เชื่อมโยงกันมีเป็นธรรมดาของนักวิชาการที่ข้ามสาขา แต่ก็เป็นคนรับฟังเวลาเห็นข้อมูลใหม่ๆ ไม่เข้าข้างตัวเองแบบที่ว่า คุณหมอมีข้อมูลน่าสนใจในทาง Ethnography อยู่มาก โดยเฉพาะการเป็นลูกหลานของครอบครัวโขนละครจากโยดะยาหรืออยุธยา และยังสนใจในดนตรีและนาฏศิลป์ งานของคุณหมอมาถูกทางหลายเรื่อง งานจะน่าสนใจมากถ้ามีการปรับเติมและค้นคว้าเพิ่มเติม แต่ก็ยังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยังไม่สามารถทำได้โดยสะดวกนักจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา

(อย่างไรก็ดี วลัยลักษณ์คงได้ไปฟังการเสวนาจริง เพราะข้อต่อไปเป็นเรื่องที่เขาพูดกันในวันนั้น)
๓. สำหรับการศึกษาทางโบราณคดี ถ้าเน้นดูเรื่องอิฐ เรื่องขนาด ความหนา ความยาว และเรื่องรูปแบบเจดีย์คงงงมากถ้าใช้วิธีนี้ บางท่านเห็นว่าเอารูปแบบเจดีย์แบบเมืองไทยไปเปรียบเทียบอีก ซึ่งน่าจะอยู่ต่างพื้นที่ต่างวัฒนธรรม คุณมิคกี้ ฮาร์ท ก็พยายามทำอะไรแบบนี้เหมือนกัน แต่อยู่ในบริบทของโบราณสถานในเมืองอมรปุระ ฟังจากวงพูดคุยคาดว่านักโบราณคดีพม่า ก็มาทำนองนี้ ดังนั้นการจะไปเห็นด้วยว่าเจดีย์ที่พบใหม่และพบโบราณวัตถุสำคัญคือสถูปพระเจ้าอุทุมพรอย่างเต็มที่คงไม่ใช่เรื่อง จึงเลี่ยงไปพูดเสียว่าการพบภาชนะบรรจุอัฐิของบุคคลชั้นสูงในเจดีย์องค์หนึ่ง แต่ไม่มีอะไรบ่งบอกว่า "ใช่" อย่างแน่นอน เพราะอาจจะเป็นเจ้านายในวงศ์อื่นๆ ก็ได้

๔. วิธีที่ทางหัวหน้ากลุ่มศึกษาและอาสาสมัครฯ บอกว่าจะนำชิ้นส่วนกระดูกอัฐิไปพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น ตรวจดีเอ็นเอ เพื่อสืบเชื้อสายโดยหากลุ่มตัวอย่างจากคนที่ว่าเขาเป็นเชื้อสายและอพยพไปอยู่อเมริกา หรือหาคนที่อยู่อมรปุระหลายชั่วคนไม่ย้ายไปไหน หรือคนอยุธยาที่เกาะเมืองอยุธยา น่าจะเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรที่จะค้นพบ
 
๕. มาถึงหลักฐานสำคัญที่ทำให้ชาวคณะภาคภูมิ เพราะดูจะ มีเป้าประสงค์ในใจอยู่แล้วว่า นี่คือการค้นหาหลักฐานของพระเจ้าอุทุมพร ก่อนกลับก็ได้ค้นพบภาชนะที่ทางกลุ่มเรียกว่า “บาตร” มีฝาปิด แม้อาจสันนิษฐานว่าเป็นภาชนะอื่นๆ ได้เช่นกัน ในวงเสวนาบอกกันว่าทางคณะพม่าเชื่อสนิทใจร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเชื่อว่าเป็นรูปแบบภาชนะสำหรับคนสำคัญ เป็นของพระราชทานแน่นอน ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ คนทางฝั่งพม่ารวมทั้งนักวิชาการต่างๆ คงต้องค้นหาข้อมูลมาเพิ่มให้มีความชัดเจน ซึ่งคิดว่าไม่น่ายาก เพราะคนทางพม่านั้นนิยมการบันทึกอยู่มาก ถึงแม้ระบบกษัตริย์จะสิ้นไปแล้วก็ตาม ภาชนะแบบนี้เป็นบาตรหรือไม่ในวัฒนธรรมพม่าก็ไม่น่ายาก การหาข้อมูลและศึกษาก่อนสรุปน่าจะดีกว่า

(ถึงตรงนี้เธอคงทราบแล้วว่าภาชนะดังกล่าวนั้นเป็นบาตร(สำหรับใส่อัฐิของคนชั้นสูง)อย่างแน่ชัดแล้ว ส่วนข้อต่อๆไปเป็นความเห็นของเธอเอง ผมไม่ประสงค์จะก้าวล่วง)

๖. เป้าหมายในใจของทั้งสองฝั่งเป็นเรื่องสำคัญ ฝ่ายคณะไทยไม่ต้องพูดถึง เพราะเรื่องแบบนี้จะออกแนวซาบซึ้งได้ง่ายมาก (ประเด็นเรื่องการพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนเป็นเรื่องสะเทือนใจในสังคมแบบพุทธศาสนาเสมอ) และพร้อมจะปฏิบัติการเพื่อทำให้ตรงนี้เป็นอนุสรณ์สถานอยู่แล้ว ฝั่งพม่าเมื่อนโยบายทางการเมืองเปลี่ยนทุกวันนี้ ในวงเสวนากล่าวว่าข้าราชการของ เมืองมัณฑะเลย์วิ่งเข้าไปที่เมืองหลวงใหม่เนปิดอว์บ่อยๆ จากที่ให้ขุดเฉยๆ มาเป็นให้ปรับปรุงสุสานทั้งหมดของพื้นที่เลย แล้วบูรณะเป็นแหล่งท่องเที่ยวอนุสรณ์สถานตามที่ทางฝั่งไทยอยากทำก็ควรทำ นับเป็นความชาญฉลาดของเจ้าของพื้นที่อย่างชัดเจน บางท่านเห็นว่าคล้ายๆ กับการอธิบายเรื่องวังของพระนางสุพรรณกัลยาในพระราชวังวังบุเรงนองที่หงสาวดี

๗. สรุปว่าคณะฝั่งไทย(หรือรัฐบาลไทย)ต้องกลับไปบูรณะปรับแต่ง ฯลฯ ซึ่งก็ขึ้นกับระดับผู้นำในรัฐแล้ว ในความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่า ยังมีความรู้เรื่องคนสยามหรือคนโยดะยาในเขต Upper Myanma ทั้งสองฝั่งแม่น้ำอิรวดีไปจนถึงแม่น้ำชินดวินอีกมากที่สามารถอธิบายเรื่องราวของคนสยามที่ถูกกวาดต้อนไปในคราวสงครามกับพม่าครั้งต่างๆ ก็คงเช่นเดียวกับผู้คนจากทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง คนมอญ คนมลายูที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเมืองสยามในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตที่ราบลุ่มภาคกลาง

ในบทความ วลัยลักษณ์เขียนว่า โดยสรุปก็คือมีโอกาสอย่างมากที่บริเวณนี้จะเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ ทั้งจากประวัติศาสตร์บอกเล่าและข้อมูลแวดล้อมที่เป็นเรื่องน่าสนใจซึ่งมาจากการบอกเล่าหรือข้อมูลมุขปาฐะจากลูกหลานที่ถือว่าตนเองคือเชื้อสายชาวโยดะยาที่รวมทั้งประเพณี พิธีกรรม และโบราณสถานบางส่วน แต่จะบ่งบอกว่าสถูปองค์ใดคือสถูปของเจ้าฟ้าอุทุมพรคงยาก จนถึงอาจจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบ่งบอก แต่การจัดการเพื่อเป็นสถานที่อนุสรณ์สถาน ไม่ว่าจะมีอยู่จริงหรือไม่ก็ควรทำ กรณีการบูรณะโบราณสถานที่เกาะเมืองอยุธยานั้น ยังไม่สามารถจัดการพื้นที่และให้ความหมายกับเจดีย์สักองค์ได้เลย การบูรณะหรืออนุรักษ์โดยแสดงข้อมูลการศึกษาอย่างชัดเจนก็น่าจะสร้างความรู้และความเข้าใจตลอดจนความสัมพันธ์ในระหว่างรัฐยุคใหม่ทุกวันนี้ได้มากกว่าอยู่กันเฉยๆ แต่กรณีนี้นักโบราณคดีไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยเชื่อเพราะเหตุผล ๗ ข้อดังที่ได้กล่าวมาแล้วของเธอ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 02 พ.ย. 17, 07:28

อ่าน๗พม่ากับ๗ไทย แล้วคิดไปพลางๆก่อนนะครับ ผมจะพักทำธุระสักหน่อย
บันทึกการเข้า
superboy
พาลี
****
ตอบ: 222


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 02 พ.ย. 17, 07:38

ผู้ชายพม่ายังนุ่งโสร่งกันเป็นปรกตินะครับ ดีจัง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 02 พ.ย. 17, 09:40

อู วิน หม่อง เป็นผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์โบราณสถาน ซึ่งทางพม่าตั้งใจจะให้มาอธิบายข้อสงสัยของนักโบราณคดีไทย เพราะเชื่อว่าคนไทยไม่ได้มีความรู้ในเรื่องราวต่างๆของพม่าดีเท่าคนพม่า แต่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ไม่มีนักโบราณคดีของกรมศิลปากรไปซักถาม หรือจะนัดหมายให้ไปปรึกษาหารือกันเป็นการภายในโดยเฉพาะ แต่เวลาพวกนี้ออกมาแสดงความเห็นทีไรก็จะกล่าวเป็นแผ่นเสียงตกร่อง ว่าข้อมูลของไทย(ที่พวกตนถือเป็นสรณะ)ไม่เหมือนกัน ของพม่าไม่น่าเชื่อถือ.....
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 02 พ.ย. 17, 10:11

ข้ออ้างที่คนไทย ตั้งแต่ระดับคอลัมนิสต์ ผู้เชี่ยวชาญ และอธิบดี ขยันนำมาค้านพม่าก็คือ  ไม่มีหลักฐานว่าคนไทยถูกนำไปอยู่กรุงอมรปุระ

หนังสือคัมภีร์ต่างๆของเขาก็อ่านไม่ออก ที่เขาเอามาบอกมาเล่าก็หาว่าเขาไม่มีหลักฐาน ดังนั้น ระหว่างที่คณะทำงานทำการขุดหาหลักฐานพบบาตรบรรจุอัฐิแล้ว อยู่ดีๆเจดีย์แห่งหนึ่งในวัดยาดานายินซู ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือของลินซินกองประมาณหนึ่งกิโลเมตรเกิดพังลง ภาษาไทยเรียกกรุแตก เพราะเจอพระบูชาขนาดเล็กในนั้นมากมาย บางองค์ทำด้วยทองคำและเงินแท้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 02 พ.ย. 17, 10:14

พระเหล่านี้ คนพม่ายืนยันว่าไม่ใช่พุทธศิลป์ของพม่า ในขณะที่คนไทยบางคนที่ไปเห็นก็บอกว่าไม่ใช่พุทธศิลป์แบบอยุธยา ก็ว่ากานปาย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 02 พ.ย. 17, 10:20

ก็ให้บังเอิญมีองค์หนึ่ง ไม่บอกก็ไม่มีใครรู้ ที่ข้างหลังพระมีสลักจารึกว่า "ลูกป่สก มี บานพราม" แปลความว่า ลูกของข้าพเจ้า(ประสก)ชื่อมี (อยู่)บ้านพระราม

หลักฐานนี้ยืนยันความที่เคยมีอยู่ของชุมชนชาวไทยที่นั่น แต่ป่านฉนี้ ท่านทั้งหลายในกรมศิลปากรก็ยังไม่เปลี่ยนความคิด


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 02 พ.ย. 17, 10:31

ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือได้พบพระทันตธาตุชิ้นหนึ่งบรรจุรวมอยู่ด้วย ชวนให้สงสัยต่อว่าเป็นฟันของใคร

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้อาจจะเป็นคำตอบของการที่มีวัดหลายแห่งในเมืองพม่าแถบนั้น ที่อ้างว่ามีเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิของพระมหาสมณะเจ้าอุทุมพรอยู่ บางแห่งมีแผ่นจารึกเป็นหินอ่อนไว้ด้วย ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่แปลกตามคติไทย ที่จะมีผู้ขอแบ่งอัฐิของผู้ที่เคารพนับถือไปเก็บบูชาแยกกันตามสถานที่ต่างๆ พระมหาสมณะเจ้าอุทุมพรทรงได้รับความเชื่อถือกันว่าทรงเป็นพระอรหันต์ ย่อมมีสานุศิษย์ขอแบ่งพระบรมอัฐิไปสร้างพระสถูปบูชาบ้าง

และอาจจะแก้สงสัยได้ว่าทำไมพระทันตธาตุที่ค้นพบในสถูปที่ลินซินกองจึงมีเพียงองค์เดียว


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 02 พ.ย. 17, 10:53

ข้ออ้างที่คนไทย ตั้งแต่ระดับคอลัมนิสต์ ผู้เชี่ยวชาญ และอธิบดี ขยันนำมาค้านพม่าก็คือ  ไม่มีหลักฐานว่าคนไทยถูกนำไปอยู่กรุงอมรปุระ

อู วิน หม่อง บรรยายในงานสัมมนา “ตามรอยพระบาทพระมหาเถระ พระเจ้าอุทุมพรในอมรปุระ (ภาค ๒)” เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗

https://www.facebook.com/permalink.php?id=691343580936586&story_fbid=694385677299043

ในเบื้องต้นผมต้องการเรียนให้ทราบถึงสถานที่ในพม่าที่มีร่องรอยของคนไทยหรืออิทธิพลของศิลปะไทยก่อน ในแผนที่ภาคกลางของพม่าที่นำเสนอนี้ประกอบไปด้วยพื้นที่ของภาคมัณฑะเลย์, ภาคสะกาย และภาคมะเกว ถ้าเราถือเอามัณฑะเลย์ เมืองหลวงสุดท้ายของพม่าเป็นศูนย์กลางแล้วเราจะเห็นว่าทางเหนือมีเมืองดาบายิน เมืองมินบูอยู่ทางทิศใต้ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเอยาวดีในพื้นที่ประมาณ ๔๐ ตารางไมล์ เราพบร่องรอยของคนไทยมากมาย

ร่องรอยของคนไทยมีอยู่ทั่วไปเช่นในมัณฑะเลย์มีเจดีย์ทราย อมรปุระมีศาลยามะ (รามเกียรติ์) ที่เจ้าก์เซมีกลุ่มเจดีย์ที่ไม่ใช่แบบพม่าคิดว่าน่าจะเป็นแบบไทยชื่อ Shan Gyan Kon คำว่า Shan (ฉาน) ก็คือ สยาม ตามการออกเสียงของพม่า ที่อังวะมีวัดมะเดื่อ ที่ซึ่งพระเจ้าอุทุมพรมาจำพรรษาอยู่หลายพรรษาในรัชสมัยของพระเจ้าช้างเผือก (มังระ)

และที่เมืองมินบูทางตอนใต้ของพุกามบนฝั่งขวาของแม่น้ำอิระวดี มีวัด Wut Kyi Gu Phaya ที่มีภาพจิตรกรรมอยู่ภายใน และมีอักษรไทย ๗-๘ ตัวเขียนบรรยายอยู่ใต้ภาพ (สังคา_ต_รก น่าจะหมายถึงสังฆาฏนรก นรกใหญ่ขุมที่ ๓ ในจำนวนนรกทั้งหมด ๘ ขุม) เขียนอยู่ใต้ภาพนรก
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 02 พ.ย. 17, 15:42

ความเคลื่อนไหวทางฝั่งพม่าหลังจากสมาคมสถาปนิกสยามถอนตัวจากการที่ถูกหลอกให้เป็นตัวแทนรัฐบาล เพื่อร่วมบูรณาการในการค้นหาหลักฐานทางโบราณคดีของสถานที่สงสัยว่าจะบรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรแล้ว ฝ่ายเอกชนพม่าได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมจิตพรรณ (Yethaphanpwint Association) ขึ้น  คำว่า Yethaphanpwintนี้ ภาษาพม่าแปลว่าดอกมะเดื่อ ตรงกับพระนามที่คนพม่าเรียกพระเจ้าอุทุมพร แต่ชื่อในภาษาไทยของสมาคมนี้ถูกสะกดเพื่อให้ฟังดูเป็นไทยๆ

เมื่อตั้งขึ้นแล้ว จึงเชิญให้ฝ่ายไทยเข้าร่วม จึงได้เกิดสมาคมมิตรภาพไทย-จิตพรรณขึ้น เพื่อจะขออนุญาตทางราชการพม่าเข้าดำเนินการอนุรักษ์ปฎิสังขรณ์โบราณสถานที่ค้นพบในสุสานลินซินกองต่อ ผมเห็นชื่อสมาคมจิตพรรณแต่แรกนึกว่าเป็นสมาคมที่เศรษฐีนีชาวไทยผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้อุทิศเงินสนับสนุน ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังจริงๆคือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

การยืนหยัดให้การสนับสนุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องเลิศประเสริฐศรี ที่ทำให้ทางราชการพม่ายังเชื่อน้ำหน้าคนไทยที่บากหน้าไปทำงานที่นั่นอยู่  และได้ออกใบอนุญาตให้สมาคมมิตรภาพไทย-จิตพรรณดำเนินการก่อสร้างได้ ตามแบบแผนที่สมาคมสถาปนิกสยามเป็นผู้ทำไป


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 02 พ.ย. 17, 15:48

ข่าวท้องถิ่นที่ออกมาทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในสังคมของชาวพม่ามุสลิมทันที  เมื่อทางราชการจะใช้แทรกเตอร์เข้าไปไถดะกุโบร์ของพวกเขา  จึงก่อการประท้วงขึ้น

๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ ขณะที่ผู้รับเหมากำลังก่อสร้างสำนักงานสนามในบริเวณพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต   รัฐบาลทหารได้มีคำสั่ง ขอให้สมาคมหยุดดำเนินการชั่วคราว จนกว่าทางราชการจะสามารถเจรจาขอเข้ารื้อถอนสุสานมุสลิมโบราณได้
เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว วันที่ ๒๘ ก.ย. ๒๕๕๖ นาย ตาน ส่วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐบาลสหภาพเมียนมาร์ ได้เดินทางจากเนย์ปิดอว์มาเยี่ยมชมสถานที่ก่อสร้างโครงการ

สมาคมได้รับอนุญาตให้ดำเนินงานต่อ  และได้เข้าร่วมประชุมชี้แจงแผนการดำเนินการโครงการที่จะกระทำกับคณะมนตรีแห่งรัฐมัณฑะเลย์เมื่อวันที่ ๑๔ ต.ค. ๒๕๕๖  และวันที่ ๑๗ มนตรีวัฒนธรรมแห่งรัฐมัณฑะเลย์ ดร. มิ้น ขยู เดินทางมาเยี่ยมชมความคืบหน้าการปฏิบัติงานของคณะทำงาน

ที่ผมเอารายละเอียดถึงขนาดนี้มาให้ท่านอ่าน ก็เพื่อจะให้เห็นความเอาไหนของฝ่ายรัฐของพม่า ที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการนี้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ แม้มีปัญหาก็มิได้ละทิ้งเอาตัวรอด



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 02 พ.ย. 17, 16:28

สมาคมมิตรภาพไทย-จิตพรรณได้ดำเนินโครงการต่อ  มีความก้าวหน้าด้วยดี จนวันที่ ๙ ธ.ค. ๒๕๕๖ คณะจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นำโดยท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ได้เดินทางมาเยี่ยมชมความคืบหน้าการปฏิบัติงานของคณะทำงานบริเวณสุสานลินซินกอง
ข่าวหลังไมค์จากน้องที่นำท่านผู้หญิง ปลีกตัวจากคณะไปยังสถูปองค์ที่ขุดพบบาตร  เล่าให้ผมฟังว่า ท่านผู้หญิงได้ใช้โทรศัพท์ถ่ายวีดีโอแล้วส่งภาพสดกลับมายังท่านผู้หนึ่งที่อยู่เมืองไทย  แล้วถามว่าที่นี่เป็นอะไรคะ เสียงที่ตอบมาฟังได้ว่า เป็นที่บรรจุอัฐิของพระนะ แต่พระองค์นี้ไม่ใช่พระธรรมดาๆ ท่านเป็นเจ้านายชั้นสูงด้วย  น้องบอกว่าท่านผู้หญิงมีท่าทียินดีมาก

ผมตัดสินใจอยู่นานที่จะเล่าเรื่องนี้ดีหรือไม่  กลัวคนจะไปพูดไม่ดีต่อท่านผู้หญิงในเรื่องความเชื่อส่วนตัวของท่าน  ซึ่งอันที่จริง กรมศิลปากรเองจะไปทำอะไรที่ไหนก็เห็นตั้งเครื่องสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งนั้น  ไม่เห็นอ้างเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่จะเพิกเฉยเลย  แต่ใครอย่ามาถามผมนะครับว่าน้องผู้หญิงที่เล่าให้ผมฟังเป็นใคร

วันรุ่งขึ้น ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ จึงได้ไปถวายสักการะสิ่งที่เชื่อว่าเป็นพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร ณ ที่ทำการของเมืองมัณฑะเลย์


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 02 พ.ย. 17, 16:49

สมาคมมิตรภาพไทย-จิตพรรณ ได้อาราธนาพระสงฆ์ผู้ใหญ่ทั้งสองชาติ ให้ร่วมกันเป็นประธานในการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุยังพระพุทธเจดีย์ที่บรูณะปฏิสังขรณ์ใกล้จะแล้วเสร็จ  มีการออกข่าวนี้ทั้งที่เมืองไทยและพม่า

จึงวันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๕๗ คณะจากกรมศิลปากรไทยนำโดยนายเอนก สีหามาตย์ อธิบดี ได้นำข้าราชการหลายสิบคนและนักข่าวหนังสือพิมพ์มาทัศนศึกษาวัดที่เชื่อว่าคนไทยสร้างไว้ในเมืองต่างๆของพม่า ทั้งที่สะกาย อังวะ และมัณฑเลย์  จึงได้เดินทางมาเยี่ยมชมความคืบหน้าการปฏิบัติงานของคณะทำงานบริเวณสุสานลินซินกอง หลังจากใช้เวลาที่นั่นประมาณครึ่งชั่วโมง ก็ตัดบทขณะนั่งฟังบรรยาย ว่าจะต้องรีบไปที่อื่นต่อ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 02 พ.ย. 17, 17:02

จะยังอยู่ที่นี่นหรือกลับมาถึงเมืองไทยแล้วไม่ทราบ วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๗ นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร ก็ให้สัมภาษณ์ทันทีว่า การเดินทางไปศึกษาข้อมูลครั้งนี้ กรมศิลปากร ได้หารือกับกรมโบราณคดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์แล้ว รับทราบข้อมูลว่า การขุดค้นดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลกลางของเมียนมาร์ เพียงแต่มีการขออนุญาตจากคณะกรรมการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์เท่านั้น จึงถือว่า ยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลของทั้ง ๒ ประเทศอย่างเป็นทางการ
 
ขณะเดียวกัน รายงานการค้นของสมาคมจิตพรรณ ที่เสนอมายังกรมศิลปากร ก็มีข้อขัดแย้งหลายประการที่ทำให้มีความไม่มีความน่าเชื่อถือ และการดำเนินงานยังไม่มีนักโบราณคดีทั้งของไทยและพม่าร่วมคณะทำงานดังกล่าว จึงไม่อาจสรุปหลักฐานทางโบราณคดีว่า สถูปที่ค้นพบเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรหรือไม่ ดังนั้น จึงถือว่าทางการไทยไม่รับรองการขุดค้นดังกล่าว ซึ่งควรมีการศึกษาข้อมูลให้รอบด้านมากกว่านี้
       
นายเอนก กล่าวต่อว่า กรณีที่หลายฝ่ายถามว่ามีแนวคิดประสานไปยังสมาคมจิตพรรณและทางการเมียนมาร์ เพื่อให้ชะลอการขุดค้นสถูปของพระเจ้าอุทุมพรนั้น กรมศิลปากรคงไม่ห้ามในเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องที่สมาคมดำเนินการร่วมกับเทศบาลมัณฑะเลย์ เพียงแต่ต้องการเปิดเผยข้อมูลทางวิชาการให้สังคมเลือกว่าข้อมูลตรงไหนน่าเชื่อถือ ตรงไหนที่ต้องศึกษาต่อ ไม่กำหนดหรือห้ามไม่ให้ใครเชื่อหรือไม่เชื่อ เพราะทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งในส่วนของข้อมูลที่กรมศิลปากรเปิดเผยได้นำข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีต่างๆ มาสรุปประเด็นเพื่อให้เห็นว่าวิธีการศึกษาจะด่วนสรุปไม่ได้ ต้องมีข้อมูลหลักฐานยืนยันทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเรื่องดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมีเอกสารสนับสนุน ส่วนกรณีจะขอเจาะเจดีย์วัดข่ามีนเวนั้น หากข้อมูลคำแปลระบุว่ากรณีดังกล่าวจริงก็จะมีการหารือกับคณะดำเนินงานอีกครั้ง


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 32
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.066 วินาที กับ 19 คำสั่ง