เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 32
  พิมพ์  
อ่าน: 70421 พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 11 ต.ค. 17, 22:18

คำขอร้อง

เพื่อมิให้เกิดความสับสน  ผมจึงขอเรียบเรียงเรื่องตามลำดับเวลา หรือที่เรียกเป็นภาษาวิชาการของนักประวัติศาสตร์ว่า Timeline เพราะหากว่าเราจะว่ากันถึงเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว โดยละเลยไม่คำนึงว่าอะไรเกิดก่อนเกิดหลัง  ก็จะหลงทางได้ง่ายๆ

ผมจะแบ่งเหตุการณ์เหล่านั้นออกเป็นช่วงๆ

ช่วงที่ ๑ คือช่วงที่ก่อนจะปรากฏข่าวว่ามีสถูปบรรจุพระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพรในพม่าในปี ๒๕๓๘ จนถึง…
ช่วงที่ ๒ คือช่วงที่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ในปี ๒๕๓๘ ไปจนถึงช่วงที่องค์การท้องถิ่นของพม่าประกาศในปี ๒๕๕๕  ว่าจะไถเกรดสุสานล้านช้างที่พระสถูปตั้งอยู่ เพื่อพัฒนาเป็นที่ท่องเที่ยว จนถึง…
ช่วงที่ ๓ คือช่วงที่ องค์กรเอกชนไทยร่วมกับพม่า ได้ร่วมอนุรักษ์โบราณสถานสำคัญนี้ได้สำเร็จในปี ๒๕๕๗ แต่ถูกรัฐบาลพม่าสั่งระงับโครงการไว้ชั่วคราว จนถึง…
ช่วงที่ ๔ งานดำเนินต่อจนถึงช่วงปัจจุบัน ที่งานด้านอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเสร็จแล้ว แต่ยังบรรจุพระบรมอัฐิเข้าที่เดิมยังไม่ได้ เพราะ….

ผมต้องขอความกรุณาท่านที่เข้ามาเสนอข้อคิดเห็นด้วยว่า อย่ายกประเด็นใดที่กระโดดข้ามช่วงไปมากับไทม์ไลน์ที่กำหนด  มิฉะนั้นก็จะเหมือนกับกระทู้ก่อนแหละครับ ที่อ่านแล้วงุนงงไปหมด
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 11 ต.ค. 17, 22:20

วินาทีแรกที่วิจิตร ชินาลัย ย่างก้าวเข้าไปในสุสานลินซินกอนนั้น เขาต้องชะงักงันอยู่ชั่วครู่  ลำพังสภาพป่าช้าที่รกชัฏเพราะถูกทิ้งร้างให้ธรรมชาติดิบปกคลุม เสียงแมลงประสานเสียงหรีดหริ่งเรไร ที่กระทบจักษุและโสตประสาทก็น่าสพรึงพออยู่แล้ว  แต่ยังมีกองขยะที่ชาวบ้านชาวเมืองนำมาทิ้งสุมๆไว้ส่งกลิ่นเน่าเหม็นฟุ้งกระจาย ลอยมารบกวนฆานประสาทอีกด้วย ทำให้เพิ่มความสยองยิ่งขึ้นไปอีก

ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวธรรมดาอาจถอยแล้วด่าไกด์ที่พาไปดู  วิจิตรอยู่ในภาวะที่จะไปต่อหรือยั้งอยู่เพื่อตั้งหลักใหม่เหมือนกัน  แต่พลังลึกลับที่สัมผัสได้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นได้นำเขาให้ก้าวออกไปข้างหน้า สู่สถูปจุดหมายที่แลเห็นส่วนยอดทะลุเหนือพุ่มไม้ไกลๆ  หลังจากลุยต้นไม้ใบหญ้า หลบหลีกกิ่งไม้ที่ทอดขวางพลาง สอดส่ายสายตาไม่ให้เผลอไปสะดุดเอาหลุมศพแบบพม่าที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วอาณาบริเวณ  ในที่สุดเขาก็ได้มาถึงโคกเนินแห่งหนึ่ง  เบื้องหน้าคือสถาปัตยกรรมก่อด้วยอิฐโบราณเป็นแท่ง รูปทรงกระบอกมียอดบัวปลายแหลม แม้ส่วนฐานจะถูกความชื้นจากดินซึมขึ้นมากัดกร่อนทำลายไปโข  แต่ยังทิ้งร่องรอยว่ายังมีส่วนที่อยู่ใต้ดินอีก  และดินนั้นเป็นดินใหม่ที่เกิดจากขยะลอยน้ำในฤดูที่ทะเลสาบตองตะมาน เอ่อล้นฝั่ง แล้วพัดพามาสุมไว้นับร้อยครั้ง  

ไม่แปลกที่สภาพของลินซินกอนจะเป็นอย่างที่เห็นในรูป  ทรากสถาปัตยกรรมองค์ประกอบอื่นๆนอกจากจะอยู่ใต้ดินแล้ว ยังมีสุมทุมพุ่มไม้บดบังเสียสนิท


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 11 ต.ค. 17, 22:22

วิจิตรเป็นสถาปนิก จบจากคณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร สมัยที่ศาสตราจารย์ พระพรหมพิจิตร เป็นคณบดี ภายหลังคณบดีคนใหม่ได้ปรับปรุงหลักสูตร แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เพื่อความเป็นสากล

เมื่อจบปริญญาตรีแล้ว เขาได้ไปทำปริญญาโทที่ Pratt Institute  นิวยอร์ก  แล้วทำงานหาประสบการณ์ที่นั่นพักหนึ่งก่อนกลับมาเปิดบริษัทสถาปนิกชื่อ Seven Associates มีผลงานออกแบบอาคารและงานตกแต่งภายในเยอะมาก งานส่วนหนึ่งจะเป็นงานอนุรักษ์ ที่เจ้าของโครงการ ทั้งวัดหรือบุคคล ต้องการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารเก่าที่ใช้งานไม่ได้แล้ว ให้นำมาใช้ได้ใหม่สมสมัย โดยไม่ทิ้งรูปลักษณ์เดิม งานลักษณะนี้มีทั้งอนุรักษ์(Conservation)และปฏิสังขรณ์ ( Restoration) บางงานวัดยังขาดปัจจัยอยู่  วิจิตรก็จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการระดมทุนมาเกื้อหนุน ความกว้างขวางในสังคมทำให้วิจิตรสามารถรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติไว้ได้เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นงานอาชีพและงานกุศล  กระทั่งเป็นที่ยอมรับของวงการสถาปนิกในประเทศนี้ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์จึงเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นประเภทบุคคล ประจำปี ๒๕๕๖ เข้ารับพระราชทานจากพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  

สถาปนิกน้อยคนนักที่จะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 11 ต.ค. 17, 22:26

โดยส่วนตัว ผมรู้จักพี่วิจิตรเมื่อเรียนจบและตั้งสำนักงานได้ไม่นาน  แล้วถูกรุ่นพี่จุฬาอาวุโสชวนแบบสั่งให้ไปช่วยงานสมาคมสถาปนิกสยาม โดยเป็นคณะกรรมาธิการปฏิบัติวิชาชีพสถาปนิก เลยได้รู้จักพี่วิจิตร ได้นั่งอยู่ก่อนแล้ว  

หลังจากทำอยู่ได้ปีสองปีก็เบื่อหน่ายเต็มกำลัง เพราะกรรมาธิการมีแต่เรื่องพิจารณาข้อขัดแย้งระหว่างเจ้าของอาคารกับสถาปนิก ส่งมาให้เราพิจารณาเหมือนศาล  จนไม่มีเวลาจะคิดเรื่องปัญหาของวิชาชีพจริงๆ  พอพี่วิจิตร ซึ่งเป็นกรรมาธิการอนุรักษ์อยู่ด้วยชวนให้ไปนั่งฟังการประชุมทางโน้นบ้าง  ผมก็ติดใจในรสชาติของการสนทนา  ครั้นไปร่วมหลายครั้งเข้า ผู้ใหญ่ก็ชวนให้ผมเข้าเป็นกรรมาธิการในคณะด้วย

ก่อนที่สมาคมสถาปนิกสยามจะร่ำรวยทุนรอนจากการจัดงานแสดงสินค้าวัตถุก่อสร้างในแต่ละปีนั้น  กรรมาธิการทุกคณะต่างทำงานกันแบบจิตอาษา ส่วนใหญ่ผู้เป็นประธานจะจัดประชุมที่สำนักงานหรือบ้านของตนเอง เพราะสมาคมเป็นตึกแถวห้องเดียวอยู่ปากซอยอารี พหลโยธิน  การประชุมแต่ละครั้งที่ยาวมากจึงมักจะคาบเกี่ยวกับเวลาอาหาร ประธานจึงต้องแบกภาระในการควักกระเป๋าจัดเลี้ยงข้าวปลาอาหารง่ายๆให้ผู้ร่วมประชุม(ครั้งหนึ่งๆประมาณเจ็ดแปดคน)ด้วย  กรรมาธิการอนุรักษ์นั้น ส่วนใหญ่จะประชุมตอนเย็นหลังผู้หลักผู้ใหญ่เลิกงาน แล้ว กินข้าวคุยกันยาวถึงสามสี่ทุ่ม  ผมได้ฟังจุใจแล้วก็รู้สึกว่าตนมาถูกที่ถูกทางแล้ว  จนเกือบยี่สิบปีจึงถึงคราวผมจำต้องเป็นประธานบ้าง  หมดสมัยแล้วรุ่นน้องๆก็ว่ากันต่อ

กรรมาธิการอนุรักษ์เป็นคณะเดียวของสมาคมที่มีผลงานเป็นรูปธรรม เพราะกรรมาธิการจ้างผู้จัดการไว้คนหนึ่งให้ทำงานเต็มเวลา โดยกรรมาธิการต้องหารายได้มาจ่ายเงินเดือนให้ ด้วยการพิมพ์หนังสือจำหน่ายบ้าง  จัดทัวร์ศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม พาสมาชิกไปเที่ยวทั้งในและนอกประเทศใกล้ๆเช่นพม่าและเขมรบ้าง   กรรมาธิการสมัยพี่วิจิตรมีผลงานโดดเด่นเรื่องการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังของวัดเปาวโรหิต โดยสกุลของผู้สร้างวัดเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้   เพื่อว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเรื่องการนี้โดยเฉพาะเป็นผู้ทำ หลังจากนั้น ก็ มีบริษัทและองค์กรใหญ่ๆให้การสนับสนุนด้านการเงินให้ทำที่วัดอื่นๆด้วย ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด  แต่งานหลักจริงๆของกรรมาธิการคือการคัดเลือกอาคารเก่าให้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี   สมัยผมเป็นประธานนั้น โชคดีได้คุณวรชาติ มีชูบทหรือ V-Mee (รุ่นน้องที่วชิราวุธ อาชีพนักกฏหมาย) มาเป็นผู้จัดการให้กรรมาธิการจนสิ้นสมัย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 11 ต.ค. 17, 22:27

ครั้งแรกที่กรรมาธิการจัดทัวร์สถาปนิกไปพม่าหลังเปิดประเทศใหม่ๆราวสี่สิบปีที่แล้วนั้น  ผมได้ร่วมคณะไปด้วย แต่ไม่ได้ไปเที่ยวอมรปุระ ภายหลังได้ทราบจากพี่วิจิตรว่า ส่วนตัวได้พาคณะบุคคลภายนอกเช่นกลุ่มเพื่อนมาแตร์ เพื่อนราชินี และกลุ่มเพื่อนอื่นๆไปเที่ยวอีกหลายครั้งโดยพี่วิจิตรเป็นแขกรับเชิญไปช่วยให้ความรู้  บางกลุ่มเป็นวิศวกรที่ต้องการไปดูงานเรียงอิฐของสถาปัตยกรรมมอญพม่าในสมัยพุกาม ว่าใช้เทคนิกเช่นไรที่ไม่พึ่งปูนสอ แต่ยังอยู่ยงคงกระพันมาได้จนถึงทุกวันนี้  

ต่อมาองค์การท่องเที่ยวแห่งประเทศพม่าได้โปรโมตเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมต่อจากมัณฑเลย์  โดยภาคเช้าไปดูสะพานอูเบ็ง ซึ่งพระเจ้าปดุงโปรดให้รื้อเสาไม้สักในพระราชวังเดิม ไปทำสะพานยาวที่สุดของพม่าเพื่อข้ามทะเลสาบตองตะมาน  แล้วไปดูวัดวาอารามในอมรบุระ ซึ่งเป็นเมืองหลวงก่อนหน้า ส่วนภาคบ่ายเลยไปอังวะที่อยู่ห่างออกไปเพียงเจ็ดแปดกิโล นั่งรถม้าชมเมืองโบราณ ก่อนจะกลับไปพักคืนที่มัณฑเลย์  จึงได้ทราบจากไกด์ชาวท้องถิ่นว่าไม่ไกลจากเชิงสะพานอูเบ็งฝั่งอมรปุระแต่ไม่ถึงร้อยเมตร มีสถูปที่ชาวเมืองบริเวณนั้น ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายโยเดีย  เชื่อว่าเป็นสถูปที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร   จึงสนใจที่จะไปดู

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  ทุกคณะที่พี่วิจิตรพาไปจึงเพิ่มรายการไปสุสานลินซินกอนด้วย ซึ่งบางครั้งก็เข้าถึงองค์สถูป บางครั้งก็เข้าไปถึง เพราะรกเกินบ้าง น้ำท่วมบ้าง แต่เรื่องรกนี้ภายหลังไม่มีปัญหาเพราะพี่ท่านได้สั่งการให้บริษัทนำเที่ยวจ้างคนไปถางทางไว้ล่วงหน้า  รวมจำนวนครั้งที่พี่วิจิตรไป ณ สถานที่นั้นก่อนที่เรื่องนี้จะเป็นข่าว นับได้ ๒๕ ครั้งด้วยกัน  จนรายการมาตรฐานทัวร์ของพม่าที่จัดให้คนไทยทุกคณะที่มาเที่ยวสะพานอูเบ็ง ต้องเพิ่มรายการให้ลูกทัวร์ไปกราบไหว้ถึงพระสถูป และเมื่อไปอังวะ ก็จะต้องไปดูวัดดอกเดื่อ ซึ่งพระมหาเถระเจ้าอุทุมพรเคยประทับอยู่ เป็นพิเศษกว่าทัวร์ชาติอื่นๆ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 11 ต.ค. 17, 22:30

พระพุทธรูปที่วัดจิตพรรณ ( Yethaphan Monastery)  วัดนี้สันนิษฐานว่าเมื่อพระภิกษุพระเจ้าอุทุมพรถูกพม่านำเสด็จจากกรุงศรีอยุธยามาถึงอังวะแล้วนั้น ได้จัดให้พระองค์ประทับอยู่ที่วัดนี้   Yethaphan  ภาษาพม่าแปลว่ามะเดื่อ เช่นเดียวกับพระนามอุทุมพร ซึ่งในบาลก็มีความหมายว่ามะเดื่อด้วย
ที่ใต้ฐานพระพุทธรูปนี้มีจารึกเป็นภาษาพม่า อ่านทับศัพท์ว่าพระพุทธมะเดื่อ (Phra Pood Maduea)

เดิมองค์พระเป็นไม้แกะสลักศิลปะแบบอยุธยา  ต่อมาชำรุดผุพัง จึงถูกพอกด้วยปูน แล้วปั้นองค์ขึ้นใหม่เป็นศิลปะพระบัวเข็มของพม่า  ทว่าการที่พระพุทธรูปแบบพม่าทั้งหลายทั้งปวงไม่มีการทำซุ้ม  แต่องค์นี้มีซุ้มเรือนแก้วชัดเจนเช่นเดียวกับพระพุทธชินราช  จึงเป็นที่มาของข้อสันนิฐานดังกล่าว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 11 ต.ค. 17, 22:33

ต่อมาเมื่อพระเจ้าปดุงได้ย้ายราชธานีจากอังวะ มาสร้างใหม่ที่อมระปุระ ซึ่งความจริงก็ห่างจากราชธานีเก่าแค่มีแควน้ำขวางกั้น จดหมายเหตุราชวงศ์คองบองมีบันทึกว่า ได้เชิญเสด็จพระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พม่าเรียก พระเจ้าฟ้าดอก สะกดด้วยอักษรโรมันปนอังกฤษว่า King Kyao Bwa Htauk ซึ่งคนพม่าเท่านั้นในโลกนี้ที่จะอ่านแล้วออกเสียงว่าพระเจ้าฟ้าดอก  ซึ่งถึงแม้จะไม่มีคำว่าเดื่อ ก็หมายความถึง เจ้าฟ้าดอกเดื่อ  ให้ไปประทับอยู่ในราชธานีใหม่ด้วย หลักฐานพม่าระบุชื่อวัดที่ทรงจำพรรษาไว้ชื่อว่าวัดปากป่า  สุดท้ายพระองค์ได้เสด็จสวรรคตที่เมืองนี้ หลังจากทรงประทับอยู่ในพม่านานถึง ๒๙ ปี

พระเจ้าปดุงรับสั่งให้จัดพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ณ สุสาน(ล้านช้าง)ลินซินกอน ซึ่งเป็นที่ตั้งพระสถูปบรรจุพระอัฐิของเจ้านายประเทศราช ที่มาสิ้นพระชนม์ในพม่า ลักษณะคล้ายๆกับสุสานหลวงวัดราชบพิธ สมัยที่พม่าตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษนั้น สุสานนี้ได้กลายเป็นสุสานนานาชาติทั้งพม่าฝรั่งจีน ปะปนไปหมด พระสถูปต่างๆถูกทิ้งร้างทลายไป เหลือที่มีขนาดใหญ่โดดเด่นเป็นสง่าอยู่องค์เดียว ซึ่งมีรูปทรงคล้ายโกศของเจ้านายสยาม


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 12 ต.ค. 17, 05:09

มาถึงยุคนี้ คนพม่าไม่ได้ให้ความสนใจกับสถานที่แห่งนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นระดับปัญญาชนหรือคนระดับล่าง อดีตสุสานหลวงของเจ้านายต่างชาติได้กลายสภาพมาเป็นป่าช้าแออัดและที่ทิ้งขยะชุมชนดังภาพ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 12 ต.ค. 17, 05:12

ภาพในฤดูที่น้ำในทะเลสาบล้นตลิ่ง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 12 ต.ค. 17, 05:13

และกองขยะที่น้ำนำมาปรากฏให้เห็นเมื่อระดับน้ำลด ผสมปนเปไปกับขยะที่เทศบาลนำรถเก็บขยะในเมืองมาดัมพ์ใส่


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 12 ต.ค. 17, 05:41

มีนาคม ๒๕๓๘ 

นิตยสาร Today นำเสนอบทความ เขียนโดย (นายแพทย์)  ดร. ทิน เมืองจี เรื่อง “ภาพวาดกษัตริย์สยาม” มีคนพม่าไปพบในสมุดพับ(Parabike) ของพม่าที่อังกฤษขนจากพระราชวังมัณฑเลย์ไปเก็บไว้ยังจาก British Commonwealth Library มีฉบับหนึ่งที่กล่าวถึงพระนามเจ้านายประเทศราชทั้งหมดที่กษัตริย์พม่านำมาพำนักในเมืองหลวง มีพระนามเป็นร้อยๆ  แต่ที่แปลกคือมีเล่มเดียวที่เล่าความถึงกษัตริย์ในเพศบรรพชิตของโยเดียที่ถูกพระเจ้ามังระโปรดให้เสด็จมาเมืองอังวะด้วย และมีรูปวาดแต่ระบุพระนามว่าพระเจ้าเอกทัศ ซึ่งคุณหมอบอกว่าเรื่องถูก แต่บรรยายภาพผิด เพราะหลักฐานของพม่าเองก็ยืนยันว่าพระเจ้าเอกทัศสวรรคตในพระราชวัง และกษัตริย์พม่าโปรดให้ถวายพระเพลิงพระบรมศพไปแล้ว

ส่วนกษัตริย์พระที่เสด็จมาทรงพระนามว่าพระเจ้าอุทุมพร บทความได้กล่าวต่อถึงสถูปแห่งหนึ่ง พร้อมแสดงภาพวาดองค์สถูป ในสุสานลินซินกอน (Linzingong  ซึ่งแปลว่าสุสานล้านช้าง) โดยคาดว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระองค์ 


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 12 ต.ค. 17, 05:57

หนังสือที่ตีพิมพ์เรื่องนี้เป็นนิตยสารด้านการท่องเที่ยวเล็กๆ ซึ่งเข้าไม่ถึงกลุ่มนักประวัติศาสตร์และโบราณคดีชาวพม่า ทว่ามีนักท่องเที่ยวเอากลับมาให้หนังสือพิมพ์ในเมืองไทย ซึ่งก็ได้นำเรื่องราวนั้นไปนำเสนอ และส.ส.ท่านหนึ่งได้นำไปอภิปรายในสภา ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลว่า ไม่สนใจในเรื่องนี้บ้างหรือ

นั่นจึงเป็นเหตุให้กรมศิลปากรได้ส่งคณะนักสำรวจทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ไปดูสถานที่สีห้าคน   แต่แล้วก็เงียบหายไปโดยไม่มีบทสรุปที่เป็นทางการ (รึว่าคุณเพ็ญชมพูจะใช้อินทรเนตรไปค้นหามาได้ ?)

สิงหาคม ๒๕๔๕  เมื่อมีคนพูดถึงเรื่องนี้หนาหูขึ้นว่าทำไมรัฐบาลไทยจึงไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้เลย นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม จึงได้ลงบทความของพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ หนึ่งในคณะของกรมศิลปากรที่เดินทางไปสำรวจในครั้งนั้น  และเมื่อปี ๒๕๓๘ ขณะดำรงตำแหน่งรักษาการตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรได้เป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้โดยตรง

ทั้งที่คณะของกรมศิลปากรไปอยู่ที่อมรปุระสามสี่วันก็จริง  แต่ไม่สามารถเข้าถึงตัวสถูปได้ครบทุกหลักฐาน เพราะสภาพที่หนาแน่นของกิ่งไม้ใบหญ้า(ผมได้เอาสภาพของพื้นที่มาลงซ้ำให้ดูข้างล่าง) แต่พิเศษได้วิพากษ์วิจารณ์ หลักฐานที่ ดร. ทินเมืองจีนำเสนอ ในประเด็นว่า
๑   ดร. ทินเมืองจีเป็น เป็นนายแพทย์  ถือเป็นนักประวัติศาสตร์สมัครเล่น ที่พยายามปะติดปะต่อเรื่องที่นักวิชาการอื่นๆ เขียนขึ้น แล้วนำลงในนิตยสารส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวของพม่า เป็นนัยว่ามีวัตถุประสงค์แอบแฝง
๒   เป็นสถูปที่สร้างขึ้นในแบบศิลปะพม่า มิใช่ศิลปะไทย
๓   ยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สนับสนุนเพียงพอว่าจะเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 12 ต.ค. 17, 06:05

เอาละครับ ผมจะหยุดพักตรงนี้ก่อน เช้านี้จะไปขึ้นเครื่อง กว่าจะได้กลับเข้ามาตอบคงช่วงกลางคืน หลังหมดกิจกรรมอื่นๆแล้ว

อย่าลืมนะครับ ผมขอไว้แล้วว่า อย่าเอาเรื่องหรือภาพที่เกิดหลังจากจุดนี้มาลง มิฉะนั้นจะโดนผมเป่าออฟไซด์แน่นอน แต่จะย้อนหลังยาวอย่างไรก็ได้ เช่น ผมไม่ได้กล่าวถึงพระราชประวัติของพระเจ้าอุทุมพรเลย พอจะแยกเข้าซอยได้หลายสายอยู่
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 12 ต.ค. 17, 07:15

อ้างถึงกระทู้เดิมไว้ แต่ลืมใส่ระโยงครับ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5567.
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 12 ต.ค. 17, 14:38

เผมไม่ได้กล่าวถึงพระราชประวัติของพระเจ้าอุทุมพรเลย พอจะแยกเข้าซอยได้หลายสายอยู่

เชิญเข้าสู่ซอยแยก  ระหว่างเจ้าของกระทู้ไม่อยู่ค่ะ

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร มีพระนามเดิมเมื่อประสูติว่าเจ้าฟ้าอุทุมพร ราษฎรเรียกว่าเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ   ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมถึงเรียกต่างกันไปจนไม่เหลือเค้าเดิม    ทั้งนี้เพราะคำว่า อุทุมพร แปลว่า มะเดื่อ
พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ อันประสูติแต่พระมเหสี กรมหลวงพิพิธมนตรี (พระพันวัสสาน้อย)
ในคำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าพระองค์มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดา 7 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าประชาวดี เจ้าฟ้าประภาวดี เจ้าฟ้าพินทวดี เจ้าฟ้ากษัตรีย์ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) เจ้าฟ้าจันทรวดี และเจ้าฟ้านุ่ม
5 พระองค์เป็นหญิง มี 2 พระองค์เท่านั้นเป็นชาย 

บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 32
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.083 วินาที กับ 19 คำสั่ง