เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4911 ยี่เป็ง
ดาหลา
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 06 ส.ค. 01, 06:30

อยากจะทราบประวัติ  ความเป็นมา  ตำนาน(ถ้ามี)ของประเพณียี่เป็งค่ะ และมีงานอีกเมื่อไหร่คะ   อยากทราบจริงๆค่ะ   เพราะต้องทำรายงานเรื่องนี้   ขอความกรุณาเพื่อนๆและพี่ๆชาวเรือนไทยช่วยให้ข้อมูลด้วยนะคะ
บันทึกการเข้า
ศศิศ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 02 ส.ค. 01, 20:12

ประเพณีเดือนยี่เพง-ยี่เป็ง



คือ ประเพณีในเทศกาลวันเพ็ญ  เดือน  ๑๒ ซึ่งแต่เดิมนั้นพิธีสำคัญของเทศกาลนี้อยู่ที่พิธีกรรมตั้งธรรมหลวงหรือฟังเทศน์มหาชาติ  ชาวบ้านจะมีการประดับประดาวัดวาอารามบ้านเรือน ด้วยประทีปโคมไฟ โคมระย้า ทำอุบะดอกไม้ไปถวายวัด ทำซุ้มประตูป่าด้วยต้นกล้วย อ้อยก้านมะพร้าว เตรียมข้าวปลาอาหารเป็นพิเศษ เช่น ห่อนึ่ง แกงอ่อม แกงฮังเล ลาบ และขนมต่าง ๆ ไปทำบุญ บางแห่งมีพิธีกวนข้าวมธุปายาสหรือบ้างเรียก ข้าวพระเจ้าหลวง ถวายเป็นพุทธบูชาในตอนเช้ามืดของวันเพ็ญเดือน  ๑๒  นี้ด้วย จากนั้นก็จะมีการทานขันข้าวหรือสำรับอาหารไปถึงบรรพชนคนตาย ถวายอาหารและกัณฑ์เทศน์แด่พระภิกษุสงฆ์ และมีการฟังธรรมมหาชาติตั้งแต่เช้าถึงกลางคืน บางแห่งก็จะมีการสืบชะตาด้วย   จะมีการปล่อยโคมลอย  เรียกว่า "ว่าวฮม" หรือ "ว่าวควัน" ในช่วงพลบค่ำจะมีการเทศน์ธรรมชื่อ  "อานิสงส์ผางประทีส" และชาวบ้านจะมีการจุดประทีสหรือประทีป โคมหูกระต่าย โคมแขวน  เป็นพุทธบูชากันทุกครัวเรือนสว่างไสว หนุ่มสาวก็จะมีการเล่นบอกไฟ แข่งขันบอกไฟ และปล่อยว่าวไฟ กันอย่างสนุกสนาน

 

copy จาก http://www.lannaworld.com/believe/yeepaeng.htm' target='_blank'>http://www.lannaworld.com/believe/yeepaeng.htm
บันทึกการเข้า
ศศิศ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 02 ส.ค. 01, 20:17

หมายเหตุต่อหน่อยว่า
 เดือน 12 ของไทย.. ตามปฏิทิน นั้น ตรงกับ เดือนยี่ ของทางเหนือ น่ะครับผม  เท่านี้แหละ

ในเดือน ยี่เหนือ (เดือน 12 ของภาคกลาง ) นอกจากยี่เป็ง
ในวันเดือนเพ็ญ เดือน ยี่เหนือ ( ยี่เป็ง ) ยังมี

งานประเพณีลอยโขมด

การลอยโขมดเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่มีการกล่าวถึงในอดีต  โยคกล่าวว่าคล้ายกับการลอยกระทงแบบทางภาคกลาง คือมีการจัดเครื่องสักการะและเครื่องอุปโภคบริโภคใส่ในสะเพาหรือเรือที่สร้างขึ้น แล้วปล่อยให้ล่องไปตามกระแสน้ำในวันยี่เพง คือเพ็ญเดือนสิบสอง เห็นว่าน่าจะเกิดจากความเชื่อแต่ครั้งโบราณ  ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อราวจุลศักราช ๓๐๙ หรือ พ.ศ. ๑๔๙๐ เกิดอหิวาตกโรคที่อาณาจักรหริภุญชัยซึ่งผู้คนล้มตายลงเป็นอันมาก   พวกที่ไม่ตายก็ชวนกันอพยพไปอยู่ที่เมืองสะเทิมหรือสุธัมมวดีและต่อไปยังเมืองหงสาวดีเป็นเวลาถึง ๖ ปี ซึ่งในเวลาดังกล่าวบางคนก็ได้มีครอบครัวในเมืองหงสาวดีด้วย   เมื่อทราบว่าอหิวาต์ในหริภุญชัยได้สงบลงแล้วจึงได้อพยพกลับคืน  เมื่อถึงครบรอบวันที่ได้อพยพไปนั้นจึงได้จัดธูปเทียนสักการะพร้อมทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคใส่ สะเพาคือสำเภาหรือกระทงล่องตามน้ำเพื่อระลึกถึงญาติที่มีอยู่ในเมืองหงสาวดี การกระทำดังกล่าวนี้บางท่านเรียกว่า ล่องสะเพา ต่อมาได้ได้ถือว่า เป็นการขอขมาลาโทษต่อพระแม่คงคาอันมีพระคณต่อบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และยังถือถือเป็นการลอยทุกข์ โศก โรคภัย เสนียดจัญไรต่าง ๆ เพื่อความสุขความเจริญแก่ตัวเองและครอบครัวสืบต่อไป  ต่อมามีการทำเป็นกระทงเล็ก  ๆ  อย่างภาคกลางของใครของมัน  ใส่ดอกไม้ธูปเทียน  และบางคนก็ตัดเล็บและเส้นผมใส่ลงไปเป็นการลอยเคราะห์อีกด้วย
บันทึกการเข้า
ศศิศ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 02 ส.ค. 01, 20:18

ยี่เป็ง ยังไม่จบครับ
นอกจากนั้นยังมี

ประเพณีตั้งธรรมหลวง หรือ ตั้งธัมม์หลวง

หมายถึงการฟังพระธรรมเทศนาเรื่องใหญ่ หรือเรื่องสำคัญ เพราะ ธรรมหลวงที่มักใช้เทศน์มักจะเป็นเวสสันดรชาดก อันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนจะได้มา ประสูติแล้วตรัสเป็นพระพุทธเจ้าในชาติต่อมา  มีทั้งหมด  ๑๓ กัณฑ์ คำว่า"ตั้ง"แปลว่าเริ่มต้น การตั้งธรรมหลวง ก็อาจแปลว่าการสดับพระธรรมเทศนาจากคัมภีร์ที่จารขึ้นใหม่เป็นครั้งแรกด้วย ประเพณีนี้ตรงกับงานประเพณีฟังเทศน์มหาชาติ ของภาคกลาง
การตั้งธรรมหลวงนี้ จะจัดขึ้นในเดือนยี่เพง(ยี่เป็ง) คือวันเพ็ญเดือน ๑๒ จะมีการเตรียมงานมากมาย  นับตั้งแต่การเตรียมคัมภีร์ที่ใช้เทศน์ เตรียมองค์ธรรมกถึกหรือพระนักเทศน์ การเตรียมผู้รับผิดชอบกัณฑ์เทศน์หรือเจ้าของกัณฑ์ การจัดเตรียมสถานที่ในการเทศน์ และการเตรียมตัวของผู้จะมาฟังเทศน์ ถือเป็นเป็นพิธีใหญ่คู่กับงานทานสลากภัตต์ ดังนั้นจึงมีคตินิยมว่า ในวัดหนึ่งนั้น ปีใดที่จัดงานทานสลากภัตต์ก็จะไม่จัดงานตั้งธรรมหลวง และปีใดที่จัดงานตั้งธรรมหลวงก็จะไม่จัดงานทานสลากภัตต์ นอกจากเทศน์มหาชาติหรือเวสสันดรชาดกแล้ว  ธรรมหรือคัมภีร์ที่นำมาเทศน์ในงานตั้งธรรมหลวงนี้ อาจเป็นคัมภีร์ขนาดยาวเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งทางวัดและคณะศรัทธาจะช่วยกันพิจารณา โดยอาจเป็นเรื่องในหมวด ทศชาติชาดก ปัญญาสชาดก หรือชาดกนอกนิบาตเรื่องอื่น แต่ที่นิยมกันมากคือเรื่อง"มหาชาติ"หรือเวสสันตรชาดก  ซึ่งมีความเชื่อกันว่า หากได้ฟังเทศน์มหาชาติครบ ๑๓ กัณฑ์ จะได้ไปเกิดในแผ่นดินยุคพระศรีอาริยเมตรัยในอนาคต  ซึ่งหากเป็นธัมม์ที่มิใช้เรื่องมหาชาติแล้วก็มักจะฟังกันไม่เกิน ๓ วัน แต่หากเป็นเวสสันตรชาดกหรือมหาชาติแล้วอาจมีการฟังธัมม์ต่อเนื่องกันไปถึง ๗ วัน ก่อนที่จะเทศน์มหาชาติก็จะเทศน์เรื่องอื่นไปเรื่อย  ๆ พอจะถึงวันสุดท้ายก็จะเทศน์ด้วยคัมภีร์ชื่อ มาลัยต้น มาลัยปลาย และอานิสงส์มหาชาติ  รุ่งขึ้นเวลาเช้ามืดก็จะเริ่มเทศน์มหาชาติตั้งแต่กัณฑ์ทศพรไปเรื่อย  ๆ จนครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ซึ่งมักจะไปเสร็จเอาในเวลาทุ่มเศษ  ปัจจุบันนิยมเทศน์จบภายในวันเดียว ด้วยเหตุที่เทศน์มหาชาติเป็นที่นิยม จึงมีนักปราชยญ์ฉบับล้านนาแต่งธรรมเป็นจำนวนถึงประมาณ ๑๕๐ ฉบับหรือสำนวน เช่น ฉบับวิงวอนน้อย วิงวอนหลวง วิงวอนดอนกลาง หิ่งแก้วมโนวอน ท่าแป้น ริมฅง สร้อยสังกร เป็นต้น ส่วนฉบับที่เป็นภาษาบาลีล้วนเรียกว่า"คาถาพัน"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 06 ส.ค. 01, 18:30

คุณศศิศคะ เข้าใจว่าคุณหวังดีอยากจะช่วยเหลือนักเรียนหรือนักศึกษาด้วยกัน  แต่ดิฉันตะขิดตะขวงใจทุกครั้งเวลาใครเข้ามาโพสต์กระทู้ขอทราบเรื่องนั้นเรื่องนี้เพื่อทำรายงาน  โดยไม่บอกเลยว่าตัวเองลงมือใช้ความพยายามไปแค่ไหนแล้ว  และติดขัดต่อไม่ได้ตอนไหน

ถ้าได้คำตอบอย่างละเอียด  ก็เหลือเพียง copy เอาไป paste ลงเท่านั้น  นี่ไม่ใช่วิธีค้นคว้าหาความรู้นะคะ

วิธีทำรายงานที่ถูกต้องคือควรลงแรงเองด้วย  ถ้าหากว่ายังเริ่มต้นไม่ถูกว่าจะเริ่มที่ไหน   ช่วยบอก search engine หรือแนะนำเว็บไซต์ให้ก็คงจะพอ
เช่นบอกว่า ให้ค้นหาคำว่า ยี่เป็ง จากเว็บไหน   แล้วต่อจากนั้นก็ควรไปหาเนื้อความเอาเอง  ทำแบบนั้นเจ้าตัวจะรู้วิธีsearch ด้วยค่ะ  โดยเฉพาะนักเรียนที่ทำงานนี้เพื่อเอาคะแนนเป็นของตัวเอง
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 19 คำสั่ง