เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 5435 ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 02 เม.ย. 17, 17:22

จากข้างต้นเช่นกัน ทำให้ผมได้เจอเรื่องราวกันเนื่องมาจากนักโทษการเมือง ใคดดีกบฏพระยาทรง ที่ศาลพิเศษ ๒๔๘๒ พิพากษาจำคุกตลอดชีวิต
http://archive.org/details/unset0000unse_u7m2.

ภาษาของม.ร.ว.นิมิตรมงคล ไม่ว่าในโอกาสสถานการณ์ใด  เป็นภาษาที่ไพเราะสละสลวย ให้อารมณ์สะเทือนใจได้ดีเสมอ  โดยไม่ต้องพร่ำรำพันมากมาย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 02 เม.ย. 17, 17:23

เพื่อจะขยายเรื่องที่พ่อของผมเขียนไว้ให้ผู้อ่านสิ้นสงสัย ผมจะขอเล่าคดีความของนายยันต์ วินิจนัยภาค นักโทษการเมืองในคดีกบฏพระยาทรงสุรเดช ต่อจากกระทู้ที่เคยเขียนไว้ให้จบครับ

หลังจากพิจารณาคดีอยู่สักสิบเดือน ศาลพิเศษก็พิพากษาคดีทั้งหมด คำพิพากษาศาลพิเศษฉบับนี้ รัฐบาลลงทุนตีพิมพ์ออกมาเองเพื่อบำบัดความสงสัยของประชาชนว่ามันจะอะไรกันขนาดนั้น อยู่ๆก็มีการกวาดจับ มีการตั้งศาลพิเศษแล้วก็เงียบหาย อยู่ๆก็เป็นข่าวอันน่าตระหนกว่ามีการประหารชีวิตกันถึง18ศพ กบฏในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชยังไม่ฆ่าแกงอะไรกันถึงขนาดนั้น

เนื้อความในหนังสือดังกล่าว ผู้อ่านที่เป็นกลางและไม่ทราบเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรเลยก็อาจคล้อยตามได้ง่ายเพราะเห็นว่ามีพยานเยอะแยะมาให้การในศาล ผูกโยงกันไปผูกโยงกันมาสลับซับซ้อนเป็นขบวนการใหญ่ และมีจำเลยจำนวนหนึ่งที่ศาลตัดสินว่าไม่ผิดให้ปล่อยตัวไปด้วย ดังนั้น พวกที่ศาลลงโทษก็คงจะยุติธรรมสาสมดีแล้ว สำหรับพวกที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลอย่างตาบอดหูดับนั้นไม่ต้องพูดถึง ต่างแซ่ซ้องกฤษดานุภาพของท่านผู้นำกันอย่างระเบ็งเซ็งแซ่ ครอบครัวจำเลยผู้เคราะห์ร้ายทั้งหลายแทบจะอยู่ในสังคมไม่ได้ บางคนเปลี่ยนชื่อเปลี่ยนนามสกุลไปเลยเพื่อแสดงให้ชัดๆว่า ฉันไม่ใช่พวกนั้นนะจ๊ะ ท่านทั้งหลาย

http://www.reurnthai.com/index.php?action=post;quote=58091;topic=3025.75;num_replies=224;sesc=be61141a63dfa23dc14d97b32178cb9b

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 02 เม.ย. 17, 17:24

คดีนี้อัยการศาลพิเศษเป็นโจทก์  ฟ้อง พระยาวิชิตสรไกร (เอี่ยม ขัมพานนท์) จำเลยที่ ๑ นายยันต์ วินิจนัยภาค จำเลยที่ ๒  ขุนนิพันธ์ประศาสน์ (อู๊ด วงศ์ครุฑ) จำเลยที่ ๓ นายแป๊ะ แสงไชย จำเลยที่ ๔
พระยาวิชิตสรไกรเป็นอดีตข้าหลวงชัยนาทในช่วงที่เกิดกบฏบวรเดชในปี ๒๔๗๖ ได้เปิดบ้านให้ข้าราชการไปฟังวิทยุ คอยลุ้นเหตุการณ์ว่าจะออกหัวออกก้อยอย่างไร จบเรื่องแล้วโดนลูกอีช่างฟ้องคาบไปบอกคนของคณะราษฎรอย่างไรไม่แจ้ง แต่ศาลพิเศษ ๒๔๘๒ บันทึกในคำพิพากษาว่า คราวนั้นรัฐบาลลงโทษให้ปลดออกจากราชการ แต่หาได้ถูกฟ้องร้องลงโทษไม่ จะเป็นเพราะพยานหลักฐานไม่พอหรือเพราะเหตุใดไม่ปรากฏ

สำหรับนายยันต์ วินิจนัยภาคซึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดชัยนาท ศาลบันทึกคล้ายกันว่าถูกไต่สวนในเรื่องที่ต้องหาว่าได้กระทำการเกี่ยวข้องกับพวกกบฏด้วยผู้หนึ่ง ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีความเห็นว่ามีมลทินมัวหมอง ซึ่งตรงนี้ตามคำเบิกความของนายยันต์บอกว่าตนโดนตั้งกรรมการสอบสวนในข้อกล่าวหาดังกล่าว แม้กรรมการสอบสวนพบว่าไม่มีมลทิน แต่คณะรัฐมนตรีลงมติว่า ยังมีเหตุผลอันน่าสงสัยอยู่ ให้กระทรวงยุติธรรมบันทึกข้อสังเกตุไว้ประกอบในคราวพิจารณาจะให้บำเหน็จความดีความชอบ เพื่อให้โอกาสนายยันต์ทำการแก้ตัวต่อไป
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 02 เม.ย. 17, 17:31

แต่อัยการกลับนำเรื่องที่แล้วไปแล้วนี้มานำสืบใหม่ในศาล โดยใช้พยานโจกท์นับสิบคนมาให้การพันกันไปพันกันมาน่าเวียนหัวที่สุด สาระมีที่ปากนายภูมี(ขอสงวนนามสกุล) ผู้หากินเป็นทนายความในชัยนาท เบิกความว่าในครั้งใหม่ พ.ศ.๒๔๘๑ นี้ มีผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ในวังเทวเวศน์ตนขอปิดนาม ให้ข่าวแก่ตนตั้งแต่ก่อนกบฏบวรเดชแล้วว่าพระยาวิชิตสรไกรข้าหลวงชัยนาทคิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง พอกลางปี ๒๔๗๗ ก็บอกว่าคณะเจ้าจะยิงหรือใช้ระเบิดสังหารหลวงพิบูล พระยาพหล หลวงประดิษฐ์และหลวงอดุล พอปี ๒๔๘๑ หญิงคนนั้นก็บอกอีกว่าคณะเจ้าจะหาคนทำร้ายรัฐบาลซึ่งๆหน้าแบบเอาชีวิตเข้าแลก พอกลับไปชัยนาทแล้ว เจอนายแดงผู้เป็นนักเลงหัวไม้และลักโขมยได้บอกตนว่าพระยาวิชิตคิดจะหาคนไปทำร้ายหลวงพิบูลสงคราม
 
ต่อมานายภูมีป่วยจะเข้าไปรักษาตัวที่กรุงเทพ จึงสั่งให้เมียเฝ้าดูบ้านนายยันต์ไว้ เพราะทราบมาว่านายยันต์คิดจะทำร้ายบุคคลสำคัญที่กล่าวมาแล้วเหมือนกัน นายภูมีรักษาตัวอยู่สองเดือน กลับถึงบ้านแล้วเมียเล่าให้ฟังว่าเห็นพระยาวิชิตสรไกร ขุนนิพันธ์ประศาสน์ นายแป๊ะ เข้าไปกินเลี้ยงที่บ้านนายยันต์ โดยมีนายปิ่น และนายมา นักเลงหัวไม้ไปร่วมวงด้วย เมียนายภูมีเชื่อว่าคงจะคิดว่าจ้างอสรกุ๊ยทั้งสองทำร้ายคณะรัฐบาล จึงปรึกษากับลูกชาย แล้วเขียนบัตรสนเท่ห์ไปถึงหลวงพิบูล มีใจความว่าให้ระวังตัวไว้เพราะมีคนคิดจะทำร้าย ลงชื่อว่า “รักและเจ็บร้อนแทน”

หลังกลับมาจากกรุงเทพ นายภูมีเจอนายปิ่นด้วยเหตุใดจำไม่ได้ นายปิ่นบอกว่าเกือบจะได้ไปกรุงเทพด้วยเหมือนกัน แต่มีข่าวหลวงพิบูลโดนนายลียิงเสียก่อนจึงอดไป ครั้นถามว่าทำไม นายปิ่นก็เล่าให้ฟังว่าบุคคลทั้งสี่สมคบกันจะจ้างตนกับนายมาไปยิงหลวงพิบูล ถ้าสำเร็จจะให้เป็นใหญ่เป็นโตกินเงินเดือนสามสี่ร้อยบาท และมีนายโกย ลูกความอีกคนหนึ่งของนายภูมีเล่าว่า นายยันต์ได้ใช้ให้ไปตามหาเสือหว่างจะให้ไปทำร้ายหลวงพิบูลเช่นกัน  
ต่อมาราวสามสี่เดือนได้มีข้อความลงหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ให้“รักและเจ็บร้อนแทน” ไปพบได้ที่วังปารุสกวัน แต่ก็อีกหลายเดือนกว่านายภูมีจะไปที่นั่นและให้ปากคำกับ พ.ต.ต. หลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 02 เม.ย. 17, 17:44

นางแวว เมียนายภูมี กับนายประออมลูกชายก็มาเป็นพยานโจกท์ เบิกความต่อศาลสอดรับกัน ส่วนนายปิ่นกับนายมา ก็มาเบิกความทำนองเดียวกันจนศาลบันทึกรวมไป ว่านายปิ่นโดนข้อหาฉุดคร่า ถูกฟ้องที่ศาลชัยนาทได้นายภูมีเป็นทนายให้ จนศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง ส่วนนายมาเป็นนักเลงโตรู้จักกันดีกับนายปิ่น บอกว่าได้รับจดหมายจากขุนนิพันธ์ประศาสน์นายอำเภอ นัดให้ไปพบที่บ้านนายยันต์ ส่วนจดหมายนั้นตนได้ฉีกทำลายไปแล้ว รุ่งขึ้นทั้งสองจึงชวนกันไปตามนัด ก่อนจะร่ายยาวสิ้นเปลืองหลายหน้ากระดาษว่า บุคคลทั้งสี่กล่าววาจาให้ร้ายรัฐบาล แล้วจะจ้างตนให้ไปยิงหลวงพิบูลสงคราม หลวงอดุลเดชจรัส และบุคคลสำคัญอื่นๆ

จำเลยอีกสองคนในสำนวนคดีนี้นั้น นายแป๊ะ เป็นจ่าศาลจังหวัดชัยนาทรู้จักข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดทั้งสองดี แต่ไม่รู้จักขุนนิพันธ์ประศาสน์ ซึ่งเป็นนายอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ส่วนขุนนิพันธ์ก็ไม่เคยรู้จักใคร นอกจากพระยาวิชิตสรไกร ข้าหลวงชัยนาท ซึ่งพบกันในหน้าที่ราชการมานานแล้วแต่ไม่เคยไปมาหาสู่
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 02 เม.ย. 17, 17:53

พระยาวิชิตสรไกร เมื่อถูกปลดออกจากราชการ ก็ได้ลงสมัคร ส.ส. และได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนของจังหวัดชัยนาทเข้าสภา เป็นที่น่าหมั่นไส้ของผู้มีอำนาจมากนัก แต่ก็เป็นได้ไม่กี่เดือนรัฐบาลแพ้มติในสภา แทนที่ไขก๊อกตนเองกลับยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ พระยาวิชิตก็เตรียมลงสนามอีก จึงเดินทางมาหาเสียงกับคนชัยนาทพร้อมกับภรรยา โดยพักอยู่ที่บ้านคนรู้จักกัน

อัยการจัดพยานโจทก์อีกชุดหนึ่ง มีนายผัด ศรีพรหมา ผู้ใหญ่บ้านและกำนันตำบลวังไก่เถื่อน เบิกความว่าตนเคยเป็นหัวคะแนนให้พระยาวิชิตสรไกรคราวที่แล้ว ตอนมาหาเสียงครั้งใหม่พระยาวิชิตเรียกตนไปที่บ้านพัก เห็นนายยันต์กับพวกอีกสี่ห้าคน แต่พระยาวิชิตพาตนไปที่หน้าต่างเพื่อพูดเป็นการส่วนตัวให้เป็นหัวคะแนนให้อีก แล้วบอกว่าเราต้องหาพวกนักเลงมีฝีมือไว้สองสามคนเพื่อทำลายหลวงพิบูลกับคณะ ใครทำสำเร็จจะตั้งผู้นั้นให้ได้เงินเดือนๆละหลายร้อยบาท ก่อนวันเลือกตั้งสองสามวัน พระยาวิชิตถามว่าหาคนได้หรือยัง ตนบอกว่าได้คนนึงชื่อนายป้อม พระยาวิชิตถามว่าเป็นคนชนิดไหน ตนตอบว่าเป็นคนหัวไม้เคยปล้น เคยแอบยิงชิงทรัพย์เขา

นายป้อม รอดทอง พยานโจทก์คนต่อไปเบิกความว่า เมื่อก่อนนี้ตนมีอาชีพปล้น เคยยิงคน จนมีชื่อเสียงโด่งดังในอำเภอบ้านเชี่ยน ตอนพระยาวิชิตเป็นข้าหลวงเสือป้อมเคยเอานกขุนทองไปให้เลยได้รู้จักกัน เมื่อนายผัดพาไปพบพระยาวิชิตๆถามว่าอยากได้เงินเดือนๆละหลายร้อยบาทไหม เสือป้อมถามว่าจะได้อย่างไร พระยาวิชิตบอกมันเป็นเรื่องลี้ลับบอกไม่ได้ ต้องสาบานก่อนจึงจะบอกได้ พอเสือป้อมสาบานแล้วพระยาวิชิตจึงบอกว่าจะใช้ไปยิงหลวงพิบูล พระยาพหล หลวงประดิษฐ์และหลวงอดุลให้ตาย เพราะเป็นกบฏต่อเจ้า เมื่อตายแล้วจะเอากรมพระนครสวรรค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เสือป้อมบอกว่าคนเดียวคงทำไม่ได้ พระยาวิชิตถามว่าแล้วรู้จักพวกที่มีฝีมือดีๆยิงปืนแม่นๆบ้างไหม เสือป้อมตอบว่ารู้จักเสือดำกับเสือหว่างผู้ร้ายสำคัญ พระยาวิชิตจึงให้เงิน ๘ บาท ให้ตามไอ้เสือทั้งสองมาหา แต่เสือป้อมยังตามไม่พบ   
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 02 เม.ย. 17, 18:19

นายโกย เกตุเวชสุริยา เบิกความว่าตนถูกฟ้องข้อหาลักทรัพย์ จึงไปหานายแป๊ะจ่าศาลให้ช่วยเหลือ นายแป๊ะจึงพาตนไปพบนายยันต์ผู้พิพากษา นายยันต์บอกฉันจะคบกับแกไว้คนหนึ่ง ต่อมาคดีนั้นศาลพิพากษายกฟ้อง นายยันต์เรียกตนไปพบแล้วเกลี้ยกล่อมยาวกว่าหน้ากระดาษให้เกลียดพวกผู้นำรัฐบาลสี่ห้าคน ว่าเป็นกบฏต่อคณะเจ้า ให้ช่วยจัดคนมาฆ่าเสีย ถ้าทำได้จะให้เงินเดือนสี่ร้อยบาท  นายโกยบอกตนคนเดียวคงทำไม่ได้ ต้องไปตามเสือหว่างมา นายยันต์ก็ให้เงิน ๔ บาทเป็นค่าไปตาม แต่ยังไม่พบ พยานปากนี้ถูกนายยันต์ จำเลย ซักค้าน ถามว่าใครเป็นทนายในคดีที่ว่า นายโกยบอกว่านายภูมี
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 02 เม.ย. 17, 18:20

พยานโจทก์ชุดที่สามที่อัยการนำเสนอ ผมเรียกว่าชุดจับฉ่ายก็แล้วกัน คงเป็นเทคนิกที่จะหลอกล่อจำเลยให้สับสนมากกว่าที่จะเอาสาระเป็นจริงเป็นจัง

คนแรก ขุนตาคลีคณะกิจ กำนันตำบลตาคลี มาเบิกความว่าเคยพูดเย้าหยอกกับขุนประพันธ์ ผู้เป็นเพื่อนกำนันด้วยกันว่าเมื่อไหร่จะได้เป็นข้าหลวงกับเขาบ้าง ซึ่งขุนประพันธ์ตอบว่าบางทีจะได้เป็นที่เชียงใหม่ พอถามว่าทำไมไปไกลนักก็ตอบว่ามีพวกพ้องจะช่วย นี่ผมเดาว่าพยายามจะลากเรื่องไปโยงกับพระยาทรงสุรเดช ที่ไปเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนรบอยู่ที่นั่น

คนที่สอง หลวงพลกายกรีฑา พัศดีเรือนจำชัยนาทสมัยเกิดกบฏบวรเดช เบิกความว่าตนได้ร่วมฟังแถลงการณ์ของรัฐบาลทางวิทยุ อยู่ที่จวนข้าหลวง ได้ยินพระยาวิชิตสรไกร พูดว่าไม่น่าเชื่อถือ เพราะทางฝ่ายกบฏมีพระองค์เจ้าบวรเดชและพระยาศรีสิทธิสงคราม หัวนอกและตัวดีๆทั้งนั้นทำไมจะแพ้ แล้วทำกิริยาเหมือนดังว่าไม่ใคร่ถูกใจ ลุกเข้าเรือนไป ต่อมาเห็นพระยาวิชิต สั่งระดมพลที่อำเภอบ้านเชี่ยนและอำเภอบ้านกล้วย  พอถูกพระยาวิชิตซักค้าน ว่าทำไมไม่ได้ร้องเรียนหรือให้การต่อเจ้าหน้าที่มาก่อน ตั้งแต่คราวที่ท่านโดนสอบสวนครั้งนั้น ก็ตอบว่าตอนนั้นตนกลัวจะถูกพรรคพวกของพระยาวิชิตทำร้ายเอา
 
คนที่สาม หลวงชลานุสสร นายช่างกรมชลประทาน เบิกความว่าพอเกิดกบฏได้สองสามวัน ได้ยินว่าพระยาวิชิตสั่งระดมพลที่อำเภอบ้านเชี่ยนและอำเภอบ้านกล้วย  จึงถามว่าจะระดมพลไปช่วยใคร พระยาวิชิตบอกว่าจะไปช่วยคณะเจ้า แล้วพาหลวงชลาเข้าไปฟังวิทยุในห้องรับแขก แล้วพูดว่า รัฐบาลเห็นจะแย่ พระองค์เจ้าบวรเดชยกกองทัพเข้าไปใกล้กรุงเทพมาก แต่อีกสองสามครั้งต่อมา พระยาวิชิตกลับพูดใจความว่าข่าววิทยุเชื่อถือไม่ได้ ทำไมพวกกบฏแพ้เร็วนัก ส่วนการระดมพลนั้นงดไป เข้าใจว่าเป็นเพราะกบฏแตกทัพแล้ว

คนที่สี่ นายเกษร  ครูโรงเรียนประจำจังหวัดชัยนาท เบิกความครึ่งหน้ากระดาษว่าไปฟังวิทยุที่บ้านข้าหลวง ความเหมือนๆกับปากที่แล้วๆ

คนที่ห้า นายกลึง ครูโรงเรียนเดียวกับคนข้างบน ให้การเหมือนลอกข้อสอบกันมา ศาลบันทึกไว้ให้ย่อหน้านึง

คนที่หก นายผ่อง เบิกความว่าตนเคยเป็นคนรับใช้ที่บ้านพระราชญาติรักษามายี่สิบปี หัดขับรถยนต์ของท่านจนขับได้ใบอนุญาต จึงลาออกมาเป็นคนขับรถให้พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ เคยเห็นพระยาวิชิตสรไกรไปบ้านพระวุฒิภาคภักดี และเคยเห็นพระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ พระวุฒิภาคภักดี ไปที่บ้านพระยาวิชิต (ผู้ถูกพาดพิงในความตอนนี้ คืออดีตข้าหลวงจังหวัดต่างๆที่โดนให้ออกจากราชการ แล้วมาลงสมัคร ส.ส. ได้รับเลือกเข้าสภา เลยโดนลากมาเป็นจำเลยในคดีนี้ทุกคน แต่แยกสำนวนกันไป ส่วนพระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ เป็นอดีตรัฐมนตรีมหาดไทย หลังกบฏบวรเดชท่านแสดงเมตตาแก่ผู้ถูกจับกุมในคดีการเมืองมากไปหน่อย เช่นให้หาข้าวหาน้ำให้พอกินกัน และอนุญาตให้คนป่วยนอนบนเตียงผ้าใบได้ หลังปลดออกไปแล้วก็จัดข้อหาให้ท่านซะด้วย)

คนที่เจ็ด นายสอาด เบิกความว่าตนเป็นคนขับรถพระยาวิชิตสรไกร เคยขับรถพาพระยาวิชิตไปบ้านพระยาอุดมสองสามครั้ง บางครั้งเห็นคนอื่นอยู่ในบ้านแล้ว บางครั้งก็ไม่เห็น ไปบ้านพระวุฒิภาคหกเจ็ดครั้ง บางครั้งก็ไปทานอาหารร่วมกันด้วย มีรายละเอียดครึ่งหน้ากระดาษว่าไปช่วงเดือนไหน ปีอะไร แต่ยังดีที่ไม่บอกว่าได้สาระแนไปสอดรู้สอดเห็นว่า วันนั้นวันนี้นายเค้าคุยกันเรื่องอะไร

คนที่แปด เก้าและสิบเป็นนายตำรวจ ขึ้นมาเบิกความเพียงว่าตนเป็นผู้สอบสวนหลักฐานในคดีนี้ ซึ่งก็แปลกที่ศาลไม่จดบันทึกสักคำ คงกล่าวห้วนๆไว้อย่างงั้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 02 เม.ย. 17, 18:21

พักยกครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 03 เม.ย. 17, 07:39

เมื่อครบพยานโจกท์ทุกปากแล้วก็ถึงคราวจำเลยบ้าง พระยาวิชิตสรไกรอ้างตนเองเป็นพยานขึ้นเบิกความว่า เมื่อเกิดกบฏบวรเดชนั้น ท่านไม่เคยสั่งระดมพล และไม่เคยกล่าวใส่ร้ายรัฐบาล พยานโจทก์ที่กล่าวหาท่านนั้นล้วนมีเรื่องกันมาก่อน อย่างเช่นหลวงพลกายกรีฑา พัศดีเรือนจำนั้นถูกดุในหน้าที่ราชการบ่อยๆ
หลวงชลานุสสร นายช่างกรมชลประทานมีปัญหาเรื่องจ่ายค่าแรงของรัฐบาลให้แรงงานคนไทยวันละ ๕๐ สตางค์ แรงงานจีนให้ ๑ บาท มีผู้ร้องเรียนท่านจึงทำหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทย ในที่สุดต้องจ่ายค่าแรงให้เท่ากัน หลวงชลานุสสรจึงโกรธท่านแต่บัดนั้น
ครูเกสร ก็เคยเป็นหัวคะแนนให้ท่าน แต่เมื่อท่านได้เป็นผู้แทนแล้วมาขอให้ฝากงานเข้ากระทรวงมหาดไทย ท่านสงเคราะห์ให้ไม่ได้จึงโกรธ ครูกลึงก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกท่านดุบ่อยๆ
ส่วนพวกนักเลงอสรกุ๊ย นายผัด นายป้อม นายปิ่น นายมา ท่านไม่รู้จัก และไม่เคยเรียกใครไปพบเพื่อใช้ให้ไปฆ่าใครตามที่ถูกกล่าวหา

นายภูมีที่รู้จักก็ในฐานะเป็นทนายผู้กว้างขวางในจังหวัด ในการเลือกตั้งครั้งแรกจึงไปขอร้องให้ช่วยหาคะแนนเสียงให้ซึ่งนายภูมีรับปาก แต่ก็ไม่ได้พบกันอีกจนกระทั่งคราวเลือกตั้งครั้งที่สอง ครั้งนี้นายภูมีบอกว่าคราวที่แล้วควักกระเป๋าหาเสียงให้หมดเงินไปร้อยบาท แต่จะขอเบิกเพียงหกสิบบาท ท่านไม่แน่ใจเลยไม่ได้ให้

การไปหาเสียงที่ชัยนาทครั้งหลังนี้ พระนาถปริญญาผู้พิพากษาอาวุโสท่านหนึ่งได้ไปเยี่ยมที่บ้านพักแล้วพานายยันต์ เพื่อนผู้พิพากษาไปด้วย จึงได้รู้จักกัน อีกสี่ห้าวันท่านจึงไปเยี่ยมตอบ แต่ไม่เคยไปกินข้าวด้วยกันที่ไหนเลย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 03 เม.ย. 17, 07:40

อาจจะเห็นว่าตนเองเคยมีมลทินที่เคยถูกเพ่งเล็งถึงกับให้ออกจากราชการ เพราะเรื่องเปิดวิทยุให้ข้าราชการฟังข่าวปฏิวัติในบ้าน พระยาวิชิตสรไกรจึงสู้คดีในแนวที่จะให้ศาลเห็นว่าท่านไม่ใช่ศัตรูของรัฐบาล ส่วนเรื่องจะไปจ้างฆ่าใครต่อใครนั้น ผู้ปรักปรำท่านล้วนเป็นสวะสังคม ไม่น่าที่ศาลจะให้น้ำหนักต่อความน่าเชื่อถือ ท่านจึงนำเพื่อน ส.ส.มาเบิกความเป็นพยานจำเลยหลายคนด้วยกันดังนี้
หลวงคหกรรมบดี กล่าวว่าในระหว่างประชุมสภาผู้แทน ไม่เคยเห็นพระยาวิชิตมีกระทู้ถาม ไม่เคยเสนอญัตติหรืออภิปรายอะไรเลย
พระยาวิฑูรธรรมพิเนตุ เบิกความว่าเคยพบพระยาวิชิตครั้งหนึ่งหรือสองครั้งไม่แน่ใจที่บ้านพระวุฒิภาคภักดี แต่ในสภาไม่เคยเห็นอภิปรายอะไร นอกจากจะยกมือให้รัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ จนเพื่อนส.ส.ซุบซิบว่า ถ้าอย่างนี้ในไม่ช้าคงได้เป็นรัฐมนตรีแน่
พระยาโอวาทวรกิจ เบิกความว่ารู้จักพระยาวิชิตมายี่สิบกว่าปีแล้ว ไม่เคยได้ยินว่าติเตียนรัฐบาล มีแต่พูดว่าอยากจะช่วยเหลือ เวลาลงมติคราวใดก็ยกมือให้ฝ่ายรัฐบาลทุกที
พระยาชัยวิชิต เบิกความว่ารู้จักกันมาสี่สิบปีแล้ว ตั้งแต่ตนเป็นมนตรีเทศบาลกรุงเทพ  พระยาวิชิตเป็นพนักงานเทศบาลทำงานมีความตั้งใจ ไม่เห็นเคยพูดเรื่องการเมือง แต่สังเกตุว่ามีความเคารพหลวงประดิษฐ์ดี
นายวิลาศ โอสถานนท์ ผู้ก่อการคณะราษฎรสายพลเรือนคนสำคัญคนหนึ่ง เบิกความว่าตนเอาเรือไปเที่ยวปิกนิกที่ชัยนาทอยู่ พอดีได้ข่าวกบฏจากพระยาวิชิตๆปรับทุกข์ว่า เห็นจะลำบาก ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ใครเป็นผู้นำฝ่ายกบฏ เมื่อตนบอกจะต้องรีบกลับกรุงเทพ พระยาวิชิตก็ไม่ได้หน่วงเหนี่ยว

นอกจากพยานผู้มีเกียรติทั้งหมดแล้ว คุณหญิงวิชิตสรไกร ภรรยา ได้เบิกความว่า ขณะเกิดกบฎ ๒๔๗๖ ที่บ้านพระยาวิชิตเปิดวิทยุฟังข่าวตลอด ส่วนท่านไม่ได้ฟังทุกเวลา แต่ไม่เคยได้ยินสามีกล่าวให้ร้ายรัฐบาล เคยไปบ้านพระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์และพระวุฒิภาคด้วยกัน แต่สามีก็ไม่เคยพูดเรื่องการเมือง ที่บ้านไม่เคยเลี้ยงนกขุนทองหรือมีใครเอานกมาให้ เมื่อพระยาวิชิตกลับไปหาเสียงที่ชัยนาท ขณะพักอยู่ที่บ้านขุนชัยกิจบริหารนั้น นายยันต์ได้ไปเยี่ยมครั้งหนึ่ง แต่ไม่เห็นพระยาวิชิตไปกินข้าวบ้านนายยันต์ ระหว่างการหาเสียงก็ไปด้วยกันทุกแห่งทุกอำเภอ แต่การออกพื้นที่บางครั้งพระยาวิชิตก็ไปคนเดียว

พระยาวิชิตยังได้นำพยานบุคคลสองคนมาเบิกความว่า ขณะฟังวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลเรื่องกบฏ ตนไม่เคยได้ยินพระยาวิชิตแสดงกิริยาไม่พอใจหรือกล่าวร้ายต่อรัฐบาล  ไม่เคยเห็นใครเอานกมาให้ เรื่องนกขุนทองตามที่เสือป้อมอ้างว่านำมาให้พระยาวิชิตนี้ ยังมีผู้คุมนักโทษที่นำนักโทษไปทำงานโยธาที่บ้านข้าหลวงบ่อยๆมาเบิกความยืนยันว่า ไม่เคยเห็น แถมยังมีอีกห้าปากที่มาเบิกความเรื่องอื่นๆที่ไม่จำเป็นต้องเอ่ยก็ได้ นับว่าคดีนี้เป็นคดีที่มีคนนอกมาให้การเป็นพยานจำเลยมากพอๆกับพยานฝ่ายโจทก์
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 03 เม.ย. 17, 16:22

มาครับ อยู่ครับ
ถึงตรงนี้ พยานทั้งสองฝ่าย เป็นพยานบุคคลทั้งสิ้น ยังไม่ปรากฎว่ามีพยานเอกสาร หรือพยานวัตถุใดๆมาเลย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 03 เม.ย. 17, 19:01

ค่อยใจชื้นหน่อย ยังไงก็ไม่ได้อยู่คนเดียว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 03 เม.ย. 17, 19:24

ครับ คดีนี้มีแต่พยานโจกท์มากล่าวหาเท่านั้น พยานเอกสารไม่มีเลย

นายยันต์ วินิจนัยภาค จำเลย อ้างตนเองเองเป็นพยานเบิกความว่าเพิ่งรู้จักพระยาวิชิตสรไกร เมื่อย้ายมาอยู่ชัยนาทเมื่อต้นปี ๒๔๘๑ แต่ไม่ได้มีการติดต่อเพราะอัธยาสัยไม่ต้องกัน เมื่อยุบสภาและจะมีการเลือกตั้งใหม่ พระยาวิชิตไปหาเสียงที่จังหวัดชัยนาท มีคนไปเยี่ยมที่บ้านพักกันมาก พระนาถปริญญา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้ชวนตนไปเยี่ยมครั้งหนึ่ง แล้วต่อมาสามสี่วันพระยาวิชิตกับคุณหญิงได้มาแวะเยี่ยมตอบที่บ้านประมาณครึ่งชั่วโมง แต่ตนไม่ได้ช่วยใครหาเสียง

ขุนนิพันธ์ประสาท จำเลยอีกผู้หนึ่งเคยพบกันที่สโมสรจังหวัดนครสวรรค์ครั้งเดียว แล้วไม่เคยพบปะกันอีก พระยาวิชิตสรไกร ขุนนิพันธ์ประสาท นายแป๊ะ นายปิ่น นายมา ไม่เคยไปรับประทานอาหารที่บ้านตนๆไม่เคยรู้จักนายปิ่น นายมา นายโกย นายผัด นายพุก นายแดง ข้อความที่คนเหล่านั้นเบิกความมาไม่จริง

คราวที่นายภูมีทนายแสบเบิกความนั้น เมื่อถึงตอนจำเลยซักค้าน นายยันต์ถามนายภูมีว่าเคยถูกนายยันต์ดุว่าในระหว่างว่าความในศาลหรือไม่ นายภูมีบอกว่าไม่มี ประเด็นนี้นายยันต์มีพยานจำเลยมาเบิกความหลายปาก ที่สำคัญคือพระนาถปริญญาผู้พิพากษาหัวหน้าศาลที่ได้ยอมเสี่ยงตนเองมายืนยัน ว่าท่านได้ชวนนายยันต์ไปพบพระยาวิชิตที่มาหาเสียงจริง แต่เมื่อกลับออกมาแล้วนายยันต์บอกว่าไม่ค่อยต้องตาพระยาวิชิต ส่วนเรื่องที่ศาลนั้น ท่านกล่าวว่าเคยเห็นนายยันต์ดุนายภูมีระหว่างว่าความมากกว่าผู้พิพากษาคนอื่น และนายยันต์กล่าวกับท่านว่าไม่อยากพิจารณาคดีที่นายภูมีเป็นทนายความ เพราะรำคาญ มีอยู่ครั้งนึงมีเสียงเอะอะที่บัลลังก์ แล้วนายยันต์ลงมาขอให้ท่านขึ้นไปนั่งพิจารณาคดีด้วย
เรื่องนี้นายยันต์เบิกความว่านายภูมีไม่สันทัดในวิชากฏหมาย เวลาว่าความจึงถูกดุมากกว่าทนายคนอื่นๆ คดีดังกล่าวนายภูมีถูกฟ้องเป็นจำเลย และได้เป็นทนายตนเอง ขึ้นเบิกความในฐานะพยาน แต่พูดไม่ตรงประเด็น และหลีกเลี่ยงไม่ตอบให้ตรงคำถาม นายยันต์ต้องดุนายภูมีตลอดเวลาจนเกรงจะเสียจรรยา จึงบอกให้นายภูมีอยู่ก่อน แล้วนายยันต์ลงจากบัลลังก์ไปราวสิบห้ายี่สิบนาที แล้วเชิญพระนาถปริญญาขึ้นไปนั่งเป็นเพื่อน แต่คดีนี้ศาลก็ตัดสินให้นายภูมีชนะความ

นายภูมีเป็นคนชอบฟ้อง เคยช่วยลูกความของนายภูมีคดีหนึ่ง ทำหนังสือกล่าวโทษนายยันต์ไปยังกระทรวงยุติธรรม แต่กระทรวงสั่งว่าเป็นกระบวนพิจารณาของศาล จะไปก้าวก่ายไม่ได้
ต่อมามีบัตรสนเทห์ถึงกระทรวงอีก คราวนี้กล่าวหานายแป๊ะจ่าศาลว่าชอบหาคดีความให้ทนายบางคน แบบเลือกที่รักมักที่ชัง คนไหนไม่ชอบก็ไม่ให้ความสะดวก กระทรวงมีคำสั่งให้สอบสวน จำเลยกับพระนาถปริญญาจึงไปสอบถามบรรดาทนายความ ปรากฏว่านายภูมีให้ข้อความที่ใกล้หรือเกือบเหมือนความตามบัตรสนเท่ห์ แต่การที่นายภูมีไม่ได้รับความสะดวกจากจ่าศาลหรือเสมียนพนักงาน ก็เพราะไม่ชอบปฏิบัติตามกำหนดกฎหมาย และระเบียบการของศาล จึงมักถูกคืนเอกสารคำร้องต่างๆให้ไปทำใหม่

พระนาถปริญญาเองก็เบิกความว่าในปีที่ผ่านมา มีทนายความคนหนึ่งบอกท่านว่า นายภูมีเอาชื่อผู้พิพาษาไปหลอกลวงเอาเงินจากคู่ความ ท่านจึงเรียกคู่ความนั้นมาถามจนยอมรับว่าได้มอบเงินผ่านนายภูมีจริง ท่านจึงส่งเรื่องให้ทางอำเภอสอบสวนต่อเพื่อฟ้องนายภูมี แต่เรื่องเงียบไป เข้าใจว่าหลักฐานไม่พอฟ้อง  นายยันต์เบิกความเรื่องเดียวกันว่า เมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้นก็เป็นธรรมดาที่ผู้พิพากษาทั้งหลายจะต้องเข้มงวดกับนายภูมีมาก จนนายภูมีมีคดีความน้อยลง จนปลายปี ๒๔๘๑ นายภูมีไม่มีความจะว่าเลย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 03 เม.ย. 17, 19:28

พยานปากสำคัญอีกคนหนึ่งของนายยันต์ชื่อนายศิริ เป็นทนายความ เคยเห็นนายภูมีทะเลาะกับพนักงานศาลในเรื่องกำหนดวันนัดความ เมื่อต้นปี ๒๔๘๒  นายศิริเป็นทนายในคดีทำสตางค์ปลอม เห็นพยานของโจทก์มั่นคงจึงแนะให้ลูกความสารภาพเสีย แล้วญาติของลูกความมาบอกนายศิริว่าเรื่องนี้ไม่เป็นไร เพราะนายภูมีไปบอกว่าเมียเป็นคนจังหวัดเดียวกับผู้พิพากษาหัวหน้าศาล และพี่ชายเป็นเพื่อนกับนายยันต์ จะช่วยไปวิ่งเต้นกับผู้พิพากษาให้ปล่อย จึงจ่ายเงินให้นายภูมีไป โดยนายภูมีบอกว่าถ้าคดีแพ้จะคืนเงินให้ นายศิริจึงไปเล่าให้นายยันต์กับพระนารถปริญญาฟัง ปรากฏว่าศาลชั้นต้นที่นายยันต์นั่งเป็นผู้พิพากษาตัดสินลงโทษจำเลย ๑๐ ปี แต่คดียังไม่สิ้นสุดเพราะอยู่ระหว่างอุทธรณ์

ยังมีอีกคดีหนึ่ง ที่นายศิริเป็นทนายโจกท์ในคดีบุกรุกที่ดิน มีนายภูมีกับนายปิ่น คนใช้ในบ้านนายภูมีเป็นจำเลยร่วม เมื่อนายภูมีอ้างตนเป็นพยานเบิกความในศาล ได้ให้การวกวน ตอบไม่ตรงคำถามหรือเกินคำถาม ต้องโต้เถียงกันตลอด และนายภูมีถูกนายยันต์ผู้นั่งพิจารณาคดีดุมากที่สุดในวันนั้น นายยันต์เห็นนายภูมีหัวเสียจึงบอกให้พักหัว ยืนรอในคอกพยานก่อน หัวดีแล้วค่อยเบิกความต่อ แล้วนายยันต์ก็ลงจากบัลลังก์ไป ขณะนั้นคนเข้ามาดูมาก นายภูมีมีกิริยาไม่พอใจ บอกว่าถ้าเล่นกันอย่างนี้ก็แย่ หลังจากเวลาผ่านไปสิบกว่านาที นายยันต์จึงกลับมาใหม่พร้อมพระนาถปริญญาแล้วพิจารณาคดีต่อไป
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 19 คำสั่ง