เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
อ่าน: 5429 ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 11:27

ขอบพระคุณครับ นริศครับ

อันที่จริงใครจะเสียค่าจ้างทนายเท่าใด ไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับศาลเลยนะครับ ศาลนี้ใจดีมากที่กลัวจำเลยจะหมดเปลืองเลยห้ามมีทนายไปเสียเลย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 11:58

คือคดีนี้มันเป็นคดีการเมืองครับ ศาลพิเศษก็คือศาลที่จัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมืองที่จะพิจารณาโทษผู้กระทำความผิด ผิดในที่นี้ไม่ใช่ผิดในทางแพ่งหรืออาญา แต่ผิดในเรื่องที่มึงไม่ใช่พวกกู ฉะนั้นอะไรที่สงสัยว่ามึงจะไม่ใช่พวกกูแล้ว มึงต้องมีความผิดแน่นอน
ความรู้สึกแบ่งแยกพวกเขาพวกเราในทางการเมืองนี้ พวกเราทุกคนในสมัยนี้คงเข้าใจ ไม่ต้องอธิบายให้มากความ และสมัยโน้นถึงแม้จะไม่ใส่เสื้อสีแสดงสัญญลักษณ์ แต่ความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างคณะราษฎร์กับคณะเจ้าก็ชัดเจน และในบรรดาคณะราษฎร์ด้วยกัน ยังมีพวกกูกับไม่ใช่พวกกู ละเอียดลงไปอีก บ้านเมืองแตกแยกมาก เมื่อแย่งชิงอำนาจมาอยู่ในกำมือได้แล้ว ถึงเวลาที่ใครที่ไม่ใช่พวกกูจะต้องถูกกำจัด มิฉะนั้น คงนำพาบ้านเมืองให้เดินต่อไปข้างหน้าไม่ได้

ศาลมีธงที่นักการเมืองตั้งให้โดยชัดเจน ใครจะไม่ไว้ชีวิต ใครจะขังลืมไว้ก่อน และใครจะปล่อยไปให้เห็นว่า ศาลใช้พิจารณาญานเหมือนกันว่าใครผิดใครถูก
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 12:02

ทีนายแป๊ะและขุนนิพันธ์ ศาลกล่าวว่าโจกท์มีพยานตอนเดียวแค่เฉพาะคราวที่ไปกินเลี้ยงที่บ้านนายยันต์
ส่วนนายแป๊ะมีพยานคือภรรยาและบุตรเขยมาให้การว่านายแป๊ะไม่เคยไปกินข้าวที่ไหนโดยไม่ได้บอกตน  ศาลบอกทั้งสามอยู่บ้านเดียวกันย่อมต้องรู้ความเป็นไปของนายแป๊ะ พระนาถปริญญาหัวหน้าศาลจังหวัดชัยนาทซึ่งเป็นนายของนายแป๊ะ ก็กล่าวว่านายแป๊ะเป็นผู้ประพฤติเรียบร้อย ไม่เอาเรื่องเอาราวกับใคร
ขุนนิพันธ์ประศาสน์ ก็มีพยานมาเบิกความว่า ระหว่างการเลือกตั้ง ทางราชการมีคำสั่งห้ามลา ขุนนิพันธ์จึงไม่เคยไปจังหวัดชัยนาท

ไม่ยักมีใครซักค้านพยานจำเลยด้วยคำถามคลาสสิกดังเช่นที่ถามในทุกๆสำนวนคดี ว่าพยานอยู่กับนายแป๊ะหรือขุนนิพัทธ์ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงทุกวันหรือเปล่า จึงได้ไปรับรองว่าเขาไปได้แอบไปกระทำความผิด

แต่จะถามหรือถามแล้วศาลไม่จดให้ก็ตาม ศาลกล่าวในคำพิพากษาว่าจะลงโทษไม่ถนัด จึงยกประโยชน์ให้เป็นคุณต่อจำเลยทั้งสอง
ที่สุดของคดีนี้ ศาลพร้อมใจกันพิพากษา ให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต พระวิชิตสรไกร และนายยันต์ วินิจนัยภาค ส่วนขุนนิพันธ์ประศาสน์ และนายแป๊ะ แสงไชย ให้ปล่อยตัวไป 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 15:54

มาต่อให้จบเรื่องไปเลย

เมื่อวานนี้ผมไปหอสมุดแห่งชาติเพื่อหาหนังสือพิมพ์เก่า สมัย ๒๔๗๕ ถึง ๒๔๘๒ มาอ่านข่าวการเมือง แม้จะได้อ่านไม่มากฉบับนักเพราะไม่ทราบว่าทำไมถึงไม่มีให้บริการ แต่ก็พบข่าวที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
บรรดาผู้ที่ถูกจับในคราวกวาดล้างคราวนี้เยอะมาก ส่วนใหญ่ชื่อไม่เคยผ่านตา ผมไม่ได้ถ่ายมาหมด เอามาให้ดูพอเป็นตัวอย่าง
คิดว่าคนพวกนี้คงถูกขังไว้ระยะหนึ่งเป็นการสั่งสอน ก่อนจะปล่อยตัวไป คงเหลือให้ศาลพิเศษตัดสินแค่ห้าสิบกว่าคนเท่านั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 15:56

ลงข่าวว่าจับ โดยไม่ระบุชื่อก็มี ที่น่าสังเกตุ ต้องจับตอนทหารเรือออกทะเลไปฝึกกันเสียด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 15:58

ความรู้สึกของหนังสือพิมพ์ก็ดูจะเชื่อว่าคนที่ถูกจับเหล่านั้นได้กระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งจริง และเป็นเรื่องฟลุ๊กแท้ๆที่ผมเจอข่าวพ่อผม ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน ถูกจับ โดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ฉบับวันที่ ๒๓ กุมภาพันธุ์ ๒๔๘๑ พาดหัวบนว่า “ตำรวจเปิดเผยเอกสารนายทหารอากาศครั้งกบฏบวรเดชที่มีไปอาสาธิดากรมนครสวรรค์” แล้วนำจดหมายดังกล่าวมาลงทั้งฉบับ แสดงทุกบรรทัดที่สันติบาลขีดเส้นใต้  “ว่ากระทำความผิด” ซึ่งการนำเสนอของหนังสือพิมพ์ก็เหมือนกับพิพากษาว่าความผิดนั้นได้ถูกกระทำสำเร็จแล้วด้วยการไปอาสาพระธิดาของกรมพระนครสวรรค์ โดยมิได้ดูเนื้อหาว่าอาสาเรื่องอะไร ม.ร.ว. นิมิตรมงคลเขียนไปทูลโฆษณาดิกชันนารีที่ สอ เสถบุตร เขียนขึ้นในคุกซึ่งตนมีส่วนได้ช่วยทำด้วย ฉะนั้นหากทรงสนพระทัยจะซื้อแล้ว ตนอาสาจะจัดการให้สมประสงค์ทุกอย่าง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 16:02

ท่อนแรก ลายน้ำที่เห็นไม่ได้เกิดจากกระดาษที่มีมีลวดลาย แต่เป็นโลโก้ของหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ทำให้ดูรกไปหมด


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 16:03

ท่อนจบครับ เส้นใต้ในทุกประโยคที่ขีด เป็นฝีมือของสันติบาล


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 16:08

คนสมัยนั้นก็คงจะตัดสินความที่อ่านไปตามความยึดมั่นถือมั่นทางการเมืองของแต่ละฝ่าย ผู้ที่เป็นฝ่ายเดียวกับรัฐบาลก็คงจะสมน้ำหน้า และสะใจเมื่อผู้เขียนจดหมายนี้ถูกศาลพิเศษลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่พูดก็พูดเถอะ ความผิดที่ “มึงไม่ใช่พวกกู” ซึ่งม.ร.ว. นิมิตรมงคลกระทำลงไปยังมีอะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจน แต่ในกรณีย์ของนายยันต์ วินิจนัยภาค ความผิด”มึงไม่ใช่พวกกู” คืออะไร ตำรวจจึงต้องหาพยานมาใส่ร้าย เพื่อจะเอาโทษถึงจำคุกตลอดชีวิตเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 06 เม.ย. 17, 07:32

การติดคุกตลอดชีวิตแม้จะถือว่าโชคดีที่ไม่ตายเพราะโทษประหาร แต่ก็เป็นความสาหัสสากรรจ์ที่ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในที่คุก โดยไม่ทราบว่าเมื่อไรจะได้รับอิสรภาพอีกครั้ง ถ้าไม่ตายเสียก่อน และถึงตนจะไม่ตายเมื่อถึงวันนั้น ผู้ที่ตนรักและรอคอยที่จะได้พบกันอีก ก็อาจจะไม่อยู่แล้ว นายยันต์ วินิจนัยภาค จึงกล่าวเชิงปรารภแก่มิตรสหายของเขาอยู่เนืองนิตย์ว่า

"ภรรยาของผมต้องเสียชีวิต ก็เพราะผมถูกติดคุกด้วยอำนาจเผด็จการอันอธรรม"


   เชิญพิจารณาเอง เพื่อประจักษ์แก่ใจท่านว่ายันต์พูดผิดหรือถูก จากเรื่องราวของผู้ล่วงลับ ซึ่งข้าพเจ้าได้รวบรวมมาดังนี้
   เมื่อประมาณ ๔๕ ปีมาแล้ว คือใน พ.ศ. ๒๔๔๕ นายกิ๊ต คฤหบดีผู้มีถิ่นที่อยู่ในตำบลตลาดขวัญ นนทบุรี ได้รับความปลาบปลื้มใจด้วยนางโหมด ภรรยาคลอดบุตรหญิงหน้าตาหมดจดงดงาม สามีภรรยาตั้งชื่อบุตรหญิงว่า เนย
   ล่วงเวลามา ๒๕ ปี บุพเพสันนิวาสจึงนำมาพบคู่ครอง และได้ประกอบพิธีสมรสอันควรแก่เกียรติของเจ้าบ่าว คือ นายยันต์ วินิจนัยภาค ซึ่งเวลานั้นสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต และต่อมาได้เป็นผู้พิพากษา หลังจากสมรสแล้วมิเนิ่นนานเธอก็ได้ให้กำเนิดแก่เด็กชายถึง ๕ คนโดยลำดับคือ วินิจ, วินัย, วิภาค, ทวีวงศ์ และดำรง
   ครอบครัวอันกอปร์ด้วยสมาชิกทั้ง ๗ นี้ น่าจะมีอนาคตอันแจ่มใส เพราะว่ามีความรักผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น บุตรทั้ง ๕ รักมารดาดังชีวิต และนับถือบิดาดังพระเจ้า มารดาเป็นผู้มีสมรรถภาพในงานเรือน รู้จักทั้งที่จะปฏิบัติสามีและอบรมบุตร ฝ่ายสามีก็รู้จักทนุถนอมน้ำใจภรรยา และเป็นหลักชัยแห่งชีวิตของบุตร พร้อมด้วยความสามารถในราชการ ก็น่าจะมีความเจริญยิ่งยง แต่โชคชะตาบันดาลให้ชีวิตของนายยันต์เข้าไปอยู่ในกระแสร์การเมือง ซึ่งเวลานั้นกำลังปั่นป่วนเป็นมรสุมจนได้ชื่อว่าเป็นยุคทมิฬ ชีวิตของเธอก็พลอยไร้สุขตามสามี และเป็นวาระตั้งต้นแห่งการต่อสู้อันทรหด อดทนของเธอต่อโชคเคราะห์ ซึ่งคุกคามจะประหารเธอลง

   ระหว่างนั้นสามีของเธอรับราชการอยู่ที่จังหวัดชัยนาท ในตำแหน่งผู้พิพากษา ตำรวจสันติบาลเข้าค้นบ้าน จับกุม แล้วนำตัวเขามาคุมขังไว้ที่สถานีตำรวจศาลาแดงในกรุงเทพฯ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในเวลาที่เธอเผอิญลงมาเยี่ยมบ้านที่ตลาดขวัญ นนทบุรี พอได้ทราบข่าวร้ายเธอก็รีบนำของไปเยี่ยมสามี ณ ที่คุมขังด้วยความตื่นเต้นตกใจ แต่ถูกตำรวจยามถือปืนไล่ต้อนให้ออกไปนอกถนน ไม่ยอมให้เข้าในบริเวณที่คุมขัง แม้แต่ห้องขับสามีจะอยู่ที่ไหนก็ไม่แลเห็น เธอจำต้องกลับบ้านด้วยอาการระทดระทวย เธอคงจะหนักใจมาเป็นแน่ เพราะหน้าที่ของเธอเฝ้าจ้องปองโอกาสที่จะช่วยเหลือสามี โดยมิละทิ้งเข้าไป แต่หน้าที่ของเธอในฐานะเป็นมารดากลับเรียกร้องให้เธอรีบกลับไปหาบุตรเล็กๆ ที่จังหวัดชัยนาท ซึ่งถูกเขาพรากเอาพ่อไป ทิ้งไว้ให้อยู่อนาถตามลำดับดุจดังลูกไก่ น่าหวั่นภัยจากพาล เธอจำเป็นต้องรีบกลับไปบุตร เพื่อให้ความคุ้มครองโดยเร็วพลัน การเดินทางกลับชัยนาทครั้งนั้นสุดแสนจะรู้สึกห่วงหน้าห่วงหลัง
   อาศัยมารดาของเธอเป็นผู้แบ่งเบาทุกข์ โดยรับหน้าที่ติดต่อให้เธอทราบข่าวสามี ทุกๆ วันเธอเพิ่งคอยรับข่าว และเธอหวังว่าจะเป็นข่าวดี สามีของเธอจะต้องพันภัยได้กลับบ้านมาอยู่ร่วมชีวิตกับลูกและเมียรักที่ชัยนาทอีกต่อไป เพราะเขาไม่มีความผิด ประหนึ่งว่าเธอยืนชีวิตอยู่แต่ละวันด้วยความคาดคอย และเธอได้คอยมานานแล้ว ๑ เดือนกับ ๒ วันก็ได้รับโทรเลขเป็นข่าวร้ายเพิ่มเติมมาอีกว่า มารดาของเธอถึงแก่กรรม

   เธอรีบเดินทางมานนทบุรีพร้อมด้วยบุตร หวังจะให้ทันอาบน้ำศพ แต่ไม่ทัน เธอได้ทราบจากพี่ๆ ว่ามารดาพลอยทุกข์โศรกในเรื่องของเธอจนไม่เป็นอันกินอันนอน เพียงเวลา ๑ เดือนสังขารก็ทรุดโทรมสิ้นกำลัง เลยเป็นลมปัตยุบันสิ้นชีพลงเมื่อ ๒๕ มิ.ย. ๒๔๘๒ เธอจัดการทำบุญสตมวารศพมารดาเสร็จแล้ว ความพยายามพบปะสามีก็มีได้ผล พอดีได้รับจดหมายจากสามี (ผ่านสันติบาล) ให้รีบอพยพขนของจากชัยนาทกลับกรุงเทพฯ เธอจึงอพยพมาอยู่บ้านตลาดขวัญ นนทุบรี ซึ่งหมู่ญาติของเธอเรียกว่าบ้านบน เพราะเธอยังมีบ้านอีกแห่งหนึ่งที่ถนนตะนาวในพระนคร ซึ่งเรียกว่าบ้านล่าง
   เมื่อย้ายมาอยู่บ้านบนแล้ว เธอก็ค่อยคลายความวิตกทุกร้อนลงบ้าง เพราะมีโอกาสปฏิบัติบำรุงสามีซึ่งขณะนี้ต้องขังระหว่างคดีอยู่ที่เรือนจำลหุโทษ ด้วยการนำเอาหารไปส่ง และจัดหาสิ่งของที่เขาต้องการใช้ในเรือนจำส่งเข้าไปให้ มันเป็นความสุขที่สามารถทำธุระเล็กๆ น้อยๆ ให้เขาได้ และยังมีทางจะสืบทราบความเป็นไปของเขาจากเจ้าหน้าที่เรือนจำ ซึ่งแม้จะไม่ยอมเปิดเผยข้อความเกินกว่าเขตต์ความรับผิดชอบของตน ก็ยังแสดงความเอื้อเฟื้อพอสมควร นอกจากปฏิบัติหน้าที่เพื่อสามีแล้ว ที่มาแห่งความชื่นใจของเธอก็คือ ได้ชื่นชมบุตร วินิจและวินัยกำลังทำให้แม่ชื่นใจด้วยความขยันหมั่นเพียรในการเรียน วิภาคบุตรคนที่ ๓ นั้นช่างฉอเลาะ เฉลียวฉลาด ใครเห็นใครรัก เคยเป็นหัวแก้วหัวแหวนของยาย และกำลังเป็นหัวใจของเธอ ครั้นวันหนึ่งในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ ขณะเตรียมการทำบุญออกพรรษา และเตรียมอาหารกับสิ่งของไปส่งสามี วิภาคซึ่งอายุเพียง ๕ ขวบได้พลัดตกน้ำ น้ำพัดเข้าไปขัดกับพื้นชานเรือนโผล่ขึ้นไม่ได้ กว่าเธอจะรู้และค้นหาตัวพบ วิภาคก็ขาดใจตามยายไปเสียแล้ว เธอไม่มีกำลังใจพอจะทนดูสถานที่ๆ ล้างผลาญชีวิตบุตร และซึ่งเป็นที่ตายของมารดาต่อไปได้ เมื่อทำบุญศพบุตรเสร็จแล้ว ได้พาบุตรที่เหลืออยู่อพยพไปอยู่บ้านที่ถนนตะนาว

   การขนย้ายสิ่งของจากบ้านบนมาบ้านถนนตะนาว ยังไม่ทันเรียบร้อยก็ไดรับข่าวร้ายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ ๒๓ พฤศจิกายน ๘๒ ว่าศาลพิเศษตัดสินจำคุกสามีเธอไว้ตลอดชีวิต
   จำคุกตลอดชีวิต! เธอแทบไม่เชื่อว่ามันเป็นความจริง ระหว่างเวลาที่ศาลพิเศษกำลังพิจารณาคดีของสามี เธอพยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยเขาในการพิศูจน์ตนให้พ้นจากความผิด เธอได้ค้นหาหลักฐานเพื่อหักล้างคำกล่าวหาของโจทก์ ยิ่งได้สืบค้นเรื่องราวของสามีถี่ถ้วนดังนี้แล้ว เธอก็ยิ่งแน่ใจว่าสามีของเธอมิได้กระทำความผิดดังข้อกล่าวหาของโจทก์นั้นเลย เธอไม่สามารถจะเข้าใจอย่างอื่นนอกจากว่า การที่สามีถูกตัดสินเช่นนั้นก็เพราะถูกแกล้ง แม้ว่าบัดนี้ไม่ได้รับความยุติธรรมจากศาลพิเศษ แต่ในโลกนี้ย่อมต้องมีความยุติธรรม และในประเทศนี้ควรมีความยุติธรรม เธอตั้งใจจะเปิดเผยความจริงทั้งหมดเท่าที่เธอรู้เพื่อให้คนที่แกล้งใส่ร้ายสามีต้องได้รับอาญา เธอจึงนำหลักฐานทั้งหมดไปหาทนาย ขอร้องให้ยื่นฟ้อง แต่ทนายเห็นว่าการฟ้องร้องน่าจะไร้ผลในเมื่อรัฐเป็นจำเลยหรือมีส่วนเป็นจำเลย จึงชี้แจงห้ามปรามจนเธอใจอ่อน จำใจระงับเรื่องไว้ด้วยความขมขื่น
   นับแต่วันที่สามีถูกจับในคดีกบฏ ความขมขื่นเกิดขึ้นแก่เธอในด้านการสมาคม มิได้น้อยกว่าความขมขื่นที่รู้ว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ผู้ที่เคยคบหาสมาคมกับเธอพากันตีตัวออกห่าง แม้แต่ญาติมิตรบางคนก็หันหน้าหนี เขาเกรงกันว่า ถ้าติดต่อไปมาหาสู่กับเธอก็จะทำให้ตำรวจสันติบาลเห็นว่าเป็นผู้ใกล้ชิดกัน อาจจะปั้นเรื่องใส่ร้ายหาว่าเป็นกบฏร่วมกันสามีของเธอด้วย ฉะนั้นญาติและมิตรสหายแม้จะมีมาเยี่ยมเยือนบ้าง โดยมาก็เพื่อหวังประโยชน์มิอะไรก็อะไรจากเธอ มิฉะนั้นก็หามีใครระลึกถึงเธอไม่ แม้แต่ทำศพมารดาเพียงแต่จะลงนามสกุลของสามีท้ายชื่อเธอในบัตรเชิญ ก็มีการถกเถียงกัน โดยเกรงจะมีมีใครไปในงาน เธอยืนยันไม่ยอมลงชื่อโดยไม่มีนามสกุลวินิจนัยภาค จึงจัดพิมพ์บัตรเชิญขึ้นต่างหาก มีนามสกุลของสามีต่อชื่อเธออย่างเปิดเผย มิใจใครจะมาหรือไม่ก็ตามใจ

   ด้วยความขมขื่นดังกล่าวมาแล้ว ทำให้เธอเกิดทิษฐิมานะในการครองชีพ โดยเห็นอยู่แล้วว่าเป็นการยากเพียงใดที่จะพึ่งพาอาศัยผู้อื่น การประหยัดตัดรายจ่ายให้เหลือน้อยที่สุดเป็นสิ่งจำเป็นและต้องกระทำด้วยความเด็ดขาดอดทน ดังนั้น คนใช้และคนอาศัยอยู่ในบ้านจึงต้องระบายออกหมด คงเหลือแต่ตัวเธอกับบุตรเล็ก ๆ ๔ คน อายุเพียง ๑๒ – ๑๐ -๔ – ๒ ปีโดยลำดับ บุตรคนที่ ๑ และที่ ๒ ต้องทำหน้าที่ช่วยเหลือการงานในบ้าน เพื่อให้เธอมีเวลาปลีกตนไปทำธุระนอกบ้านเกี่ยวกับทรัพย์สินและการค้างบางอย่าง ซึ่งแต่ก่อนงานเหล่านี้เป็นหน้าที่ของสามีเธอ แต่การที่จะไปทำธุระนอกบ้านโดยปราศจากกังวล เช่นที่เป็นภาวะของสามีนั้นหากระทำได้ไม่ เพราะหน้าที่แม่เรือนยังผูกพันอยู่ บุตรคนโดยที่พอจะอาศัยแรงได้บ้างก็ต้องไปโรงเรียน บางครั้งเธอก็จำเป็นต้องทิ้งบุตรอายุ ๔ ขวบ ไว้ให้เป็นผู้เฝ้าบ้านและเลี้ยงน้อง การที่ภาระของพ่อบ้าน, แม่บ้าน, มารดา, นายจ้าง, ลูกจ้าง ประดังมาตกอยู่ที่เธอผู้เดียว ย่อมเป็นภาวะอันแทบจะเหลือทน อาจกล่าวได้ว่า ด้วยเหตุสามีต้องถูกจำคุกเธอจึงตกทุกข์ได้ยากแสนลำบากกรากกรำยิ่งกว่าสามีขึ้นไปอีก และมิใช่แต่เพียงหาเลี้ยงบุตรอย่างเดียว ยังจะต้องทำอาหารคาวหวานส่งสามีที่คุกบางบวางอีกอาทิตย์ละครั้งมิได้ขาด
   ดูประหนึ่งความทุกข์ยากในเวลาบ้านเมืองปกติยังไม่เพียงพอที่จะโชคชาตาจะใช้เป็นเครื่องวัดความทรหดของเธอ จึงบันดาลให้เธอต้องได้พบเคราะห์กรรมในเวลาที่ประเทศอยู่ในสภาพสงครามและวิกฤติกาลต่างๆ โดยฐานะและความสวบสุขของเธอต้องถูกทำลายลงอีกเรื่อยๆ ไป ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ขณะเตรียมจะทำศพมารดา เกิดหตุพิพาทไทย-อินโดจีนของฝรั่งเศส เป็นประเดิมเริ่มแรกที่ชาวไทยจะถูกสอนให้รู้สึกหวั่นภัยทางอากาศด้วยการพรางไฟ ดับไฟ และเสียงสัญญาณ “หวอ” เธอต้องเลื่อนงานศพไปทำเมื่อเสร็จศึก ครั้นวันที่ ๘ ธ.ค. ๒๔๘๔ญี่ปุ่น ยกกองทหารเข้าประเทศสยาม ประชาชนพากันแตกตื่นหนีออกนอกพระนคร เธอเองก็พากันแตกตื่นหนีออกนอกพระนคร พาบุตรหนีขึ้นไปอยู่บ้านบนจนปี พ.ศ. ๒๔๘๖ เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ต้องโกลาหลขนของหนีน้ำทั้งบ้านบนและบ้านล่าง ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ ภัยทางอากาศเริ่มมีมาบ่อยๆ เธอก็ต้องพาบุตรขึ้นๆ ล่องๆ อยู่ระหว่างบ้านบนกับบ้านล่าง และในที่สุดเห็นว่าการอยู่กรุงเทพฯ น่าจะไม่พันภัยแน่แล้ว เธอจึงตัดสินใจอพยพขนสิ่งของทั้งปวงจากบ้านล่างซึ่งซ่อมเสร็จใหม่ๆ มาอยู่บ้านบนเป็นประจำ

   ยังจัดของเข้าที่ไม่เรียบร้อย ความกรากกรำทั้งทางกายทางใจก็ทำให้เธอล้มเจ็บลง เริ่มในเดือนมกราคมด้วยการเป็นไข้ กินไม่ได้นอนไม่หลับ กำลังกายลดน้อยถอยลงและสังขารทรุดโทรมลงโดยลำดับ จนถึงเดือนมิถุนายนก็อยู่ในอาการเพียบหนักถึงลุกไม่ขึ้น และต่อๆ มาอาการก็มีแต่ทรงกับทรุด แล้วก็สิ้นใจเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๘๗ เวลา ๐๔.๐๐ น. คำนวณอายุได้ ๔๒ ปี
   ความทุกข์ร้อนเศร้าโศกต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว เธอพยายามปกปิดสามีมิให้รู้ด้วยเกรงใจสามีจะพลอยเกิดความทุกข์ เพิ่มทุกข์ที่มีอยู่แล้วในฐานะของนักโทษ เธอปลอบขวัญบรรเทาทุกข์ของสามีด้วยการเล่าเรื่องข่าวดีไปให้เขาทราบอยู่เสมอ อาการป่วยไข้ของเธอตั้งแต่ต้นจนถึงวันตายเธอพยายามปิดบังมิให้เขาทราบ ญาติพี่น้องของเธอซึ่งได้เฝ้าพยาบาลอยู่ ได้ให้ถ้อยคำแก่สามีของเธอในภายหลังว่า เธอตายด้วยความกรากกรำ ซึ่งร่างกายทนสู้ไม่ได้ ขณะสิ้นใจก็เต็มไปด้วยความอาลัยโศกสลดที่ไม่ได้เห็นหน้าและสั่งเสียสามี และด้วยความเป็นห่วงสามีที่อยู่ในคุก ทั้งห่วงบุตรเล็ก ๆที่ถูกทิ้งไว้ให้ว้าเหว่อยู่กับป้าๆ ซึ่งต่างก็รอคอยบิดาด้วยความหวังอันยังมืดมัว ว่าจะได้ออกมาอุปการะเลี้ยงดุตนแทนมารดาผู้ล่วงลับ

   ข้าพเจ้าผู้บันทึกนี้เป็นเพียงเพื่อนผู้หนึ่งของนายยันต์ วินิจนัยภาค เป็นฐานะอันดูยังไม่เพียงพอแก่เกียรติยศที่ได้รับมอบงาน แต่สิ่งที่เพียงพอแก่การขวนขวายของข้าพเจ้าที่จะบรรยายเรื่องของผู้ตายให้ได้ความดีที่สุด ก็คือประวัติของผู้ตายเอง ประวัติเช่นนี้แม้ว่าเจ้าของเองมิใช่ผู้เรืองนามเมื่อยังมีชีวิต ก็อาจเรืองนามขึ้นได้เมื่อหาชีวิตไม่แล้ว เพราะอนุชนชั้นหลัง แม้เป็นเพียงผู้บังเอิญมาได้ทราบประวัติโดยขาดความสนใจอยู่เดิม ก็คงมิวายเห็นว่าเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์อันดีแห่งชีวิต โดยเตือนให้รู้ถึงการบำเพ็ญกรณีกิจที่เคยมีผู้ปฏิบัติมาแล้วโดยเต็ม ซึ่งกอบด้วยคติธรรมโดยนิยม เช่นความเสียสละตนเพื่อสามีและบุตร โดยเยี่ยงนี้ยอดนารีของไทยหลายคนได้ประพฤติมา ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงมีความรู้สึกในขณะเขียนว่า วิญญาณที่ล่วงลับดวงนี้เป็นวิญญาณของวีรสตรี

                        นิมิตรมงคล
                        ๒๐ ม.ค. ๙๐


จากหนังสืออนุสรณ์งานศพ นางเนย วินิจนัยภาค ๒ เมษายน ๒๔๙๐

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 06 เม.ย. 17, 07:35

.


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 06 เม.ย. 17, 07:41

.


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 06 เม.ย. 17, 07:43

คำนำ
(เขียนตั้งแต่ยังต้องโทษอยู่ในเรือนจำ)

   ข้าพเจ้าสามีผู้ตาย ถูกขังเดี่ยวในห้องกรงเหล็กตั้งแต่วันถูกจับจนถึงวันเธอสิ้นใจ เป็นเวลา ๕ ปี ๑ เดือน ๘ วัน แลยังจะต้องถูกขังต่อไป อีกช้านานเท่าไรไม่ทราบ ทางการห้ามเด็ดขาดนอกจากผู้คุมแล้วไม่ให้พูดจากติดต่อกับผู้ใด การส่งข่าวสารไปมาก็เข้มงวด ส่งได้เดือนละครั้ง และก็ต้องผ่านการตรวจหลายชั้น ถ้ามีถ้อยคำที่เขานึกว่าเสียดสี ก็ถูกกักเอาไว้เป็นหลักฐาน ที่ให้ผ่านได้ก็กินเวลาถึง ๖ เดือนจึงได้รับตอบ บางครั้ง ๘ เดือนก็มี ถ้ามีเรื่องจำเป็นแลรีบร้อน ต้องใช้วิธีสื่อสารกันทางลับ เรียกว่าเรือใต้น้ำ แม้ค่าธรรมเนียมจะมากก็ต้องทนสู้บ้างบางครั้ง ด้วยเหตุเหล่านี้ ข้าพเจ้าจึงมีโอกาสสื่อสารกับเธอได้น้อย ส่วนการพบปะเห็นหน้าตากันไม่ต้องกล่าวถึง เพราะอยู่ในห้องขังทั้งกลางวันและกลางคืนตลอดมา แม้แต่เจ็บเป็นลมเกือบจะเอาชีวิตไว้ไม่ได้ เขาก็ไม่อนุญาตให้พบสั่งเสียภริยาและบุตร จึงไม่มีโอกาสจะเห็นหน้าเธอก่อนสิ้นใจ จะเห็นก็แต่คุณงามความดีที่เธอได้สร้างสมไว้อวดสามีคือ ซื่อสัตย์สุจริตต่อสามีตลอดมาจนสิ้นลมหายใจ รักษามาตรฐานแห่งการครองชีพไว้ได้เป็นอย่างดี มานะอดทนต่อการงานเพื่อความเจริญอย่างที่เรียกว่ารักงานยิ่งกว่าชีวิต จัดการดูแลปกครองทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนวินาศภัยครั้งนี้ เหมาะสมกับเหตุการณ์อย่างน่าชมเชย ปกครองอบรมบุตรให้ได้รับการศึกษาเป็นที่น่าพึงพอใจ ส่งเสียสามีอยู่ในคุกตลอดมาจนวาระสุดท้าย คือลุกไม่ขึ้น
   เมื่อข้าพเจ้าได้รับข่าวการตายของเธอ และระงับจิตต์ใจไว้ได้แล้ว มาคิดเห็นว่าในภาวะที่ถูกขังเหมือนสัตว์ในกรงเช่นนี้ ไม่มีทางอื่นที่จะสนองคุณงามความดีของเธอได้ นอกจากจะเขียนหนังสือที่พอจะเป็นสาธารณประโยชน์ เท่าที่สามารถจะทำได้ จึงได้พยายามเขียนเรื่อง “ศาสนาเป็นที่มาของกฎหมาย” การเขียนครั้งนี้ ไม่มีตำหรับตำราพอที่จะอ้างอิง เท่าที่หาได้ก็เป็นไปด้วยกิริยาลอบลัก เพราะทางการเขาไม่ต้องการให้นักโทษประเภทพวกข้าพเจ้าได้รับการศึกษา ฉะนั้นจึงต้องมีการบกพร่องบ้างเป็นธรรมดา แต่ขอเอาความหวังดีแลความขัดข้องต่างๆ เป็นข้ออ้างขออภัยท่านผู้อ่านไว้ ณ ที่นี้ด้วย
   การเขียนเรื่อง “ศาสนาเป็นที่มีของกฎหมาย” นี้ได้รับความกรุณาจาก น.ช. หอมจันทร์ สรวงสมบูรณ์ (พระวุฑติกาคภักดี) เพื่อนร่วมนรกมนุษย์ด้วยกัน ช่วยตรวจแก้หลักการเกี่ยวกับศาสนาให้จึงละเว้นเสียซึ่งความขอบคุณท่านมิได้



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 15 เม.ย. 17, 08:58

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1416388065091554&id=1174884455908584&substory_index=0
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 15 เม.ย. 17, 08:59

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1417459504984410&id=1174884455908584
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.066 วินาที กับ 19 คำสั่ง