เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 5415 ความอยุติธรรมของศาลพิเศษ ๒๔๘๒
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 04 เม.ย. 17, 06:29

ส่วนวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๑ ตามที่นางแวว เมียนายภูมีเบิกความระบุว่านายยันต์จัดเลี้ยงพระยาวิชิตและคนอื่นๆนั้น นายยันต์ปฏิเสธว่าตนไม่ได้อยู่บ้านเพราะนำเงินไปให้แม่ยายรับจำนองที่ดินที่นนทบุรี
นายยันต์มีหลวงศรีเขตนคร ผู้เป็นเขยใหญ่มาเบิกความเป็นพยานเรื่องที่นายยันต์นำเงินไปให้แม่ยายในวันดังกล่าว รวมทั้งนายเจริญ ผู้จำนองที่ดิน ก็ได้มาเบิกความว่า ในเช้าวันที่ ๓๐ ตุลาคม ตนได้ไปพบนายยันต์ตามนัดหมายเพื่อตกลงรายละเอียดกันเรื่องจำนองที่ดิน แล้วเห็นนายยันต์มอบเงินให้แม่ยายเป็นผู้ทำกระทำสัญญาแทน

นางเนย ภรรยานายยันต์ เบิกความเป็นคนต่อว่า เมื่อพระยาวิชิตไปหาเสียงที่ชัยนาท ตนไม่เคยเห็นนายยันต์ไปเยี่ยมพระยาวิชิต หรือไปเที่ยวไหนด้วยกัน ส่วนพระยาวิชิตมาเยี่ยมนายยันต์หรือไม่ตนลืมไปแล้ว แต่ที่บ้านไม่เคยเลี้ยงอาหารพระยาวิชิต ขุนนิพันธ์ นายแป๊ะ ส่วนนายปิ่น นายมา นายโกย นายผัด นายพุห นายแดง ตนไม่เคยรู้จักและไม่เคยเห็นไปที่บ้าน วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๑ นายยันต์เดินทางไปนนทบุรีกับตน เพื่อเอาเงินไปให้แม่ของตนเพื่อรับจำนองที่ดิน กลับถึงชัยนาทวันที่ ๓๑
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 04 เม.ย. 17, 06:30

นายยันต์ยังมีพยานจำเลยปากอื่นจำนวนพอๆกับของพระยาวิชิตมาช่วยเบิกความให้คนละค่อนหน้าครึ่งหน้า น.ส.ทับทิมน้องสาวที่อาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้าน มาเบิกความว่ารู้จักคนโน้น ไม่รู้จักคนนี้ แต่ไม่เคยเห็นนายยันต์จัดเลี้ยงคนกลุ่มดังกล่าวที่บ้าน
นายถนอม นายอำเภอวัดสิงห์ เบิกความว่านายยันต์เคยขอให้ช่วยสืบเรื่องที่นายภูมีแอบอ้างชื่อนายยันต์ ไปหลอกเอาเงินจากจำเลยเพื่อให้ชนะความ
ขุนอรุณ เพื่อนบ้าน เบิกความว่าในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ตนไม่เห็นว่านายยันต์จัดเลี้ยงใครที่บ้าน
นายชิน เพื่อนผู้พิพากษา เบิกความว่านายยันต์เคยพูดกับตนว่าไม่ชอบนายภูมี เพราะไม่มีความรู้ทางทนายความ ชอบถามความยืดยาดนอกเรื่องนอกราว
นายลือ ปลัดอำเภอหันคา เบิกความว่ารู้จักนายป้อม ว่าเป็นคนของกำนันผัด คนอื่นไม่รู้จัก
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 04 เม.ย. 17, 06:32

ขุนนิพันธ์ประศาสน์จำเลย อ้างตนเองเป็นพยาน เบิกความว่าในปี ๒๔๗๑ ขณะเป็นนายอำเภอตาคลี นครสวรรค์ ทางราชการเปิดให้ราษฎรจับจองพื้นที่ป่าแถบนั้น นายภูมีไปหาแล้วขอร้องตนอย่างให้ราษฎรจับจองทับพื้นที่ของนายภูมี ซึ่งขุนนิพันธ์ตอบไปว่าตนจะจัดการไปตามที่เห็นสมควร ต่อมาเมื่ออกใบเหยียบย่ำให้ราษฎรแล้ว นายภูมีร้องคัดค้านไปยังจังหวัดนครสวรรค์เสียดสีขุนนิพันธ์ แต่เรื่องเงียบหาย   
ตอนที่นายภูมีมาเบิกความในศาลปรักปรำจำเลย ขุนนิพันธ์แสดงความเก๋าขึ้นซักค้านประเด็นว่าเคยมีเรื่องกับตนหรือเปล่า นายภูมียอมรับว่าตนมีที่ดินที่อำเภอตาคลี ซึ่งทับซ้อนกับผู้อ้างสิทธิ์อื่นๆหลายคน เวลานั้นขุนนิพันธ์เป็นนายอำเภอ จึงมีเรื่องกัน แต่เรื่องอะไรจำไม่ได้แล้ว

ขุนนิพันธ์มีภรรยามาเบิกความเป็นพยานให้ว่า ขุนนิพันธ์เคยไปงานราชการต้องค้างคืนเหมือนกัน แต่ในระหว่างเตรียมการเลือกตั้งไม่เห็นว่าไปไหน
นายชั้นกับนายถมปัทม์ ข้าราชการอำเภอตาคลี เบิกความเรื่องนายภูมีคัดค้านการออกใบเหยียบย่ำให้ราษฎร ว่าทับที่ของนายภูมี และระหว่างการเลือกตั้ง ทางการมีคำสั่งห้ามมิให้ข้าราชการลางาน
นายโทน เบิกความเหมือนทั้งสองแต่มีแถมว่า เวลาขุนนิพันธ์ออกตรวจท้องที่จะเอาตนไปด้วยเสมอๆ แต่ไม่เคยไปจังหวัดชัยนาท
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 04 เม.ย. 17, 06:33

นายแป๊ะ แสงไชย จำเลย อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ตนไม่เคยไปรับประทานอาหารร่วมกับพระยาวิชิต นายยันต์ ขุนนิพันธ์ ไม่เคยพานายโกยไปหานายยันต์ นายภูมีกับตนนั้นเคยทะเลาะกันเรื่องนัดความ และคำร้อง คำฟ้องของนายภูมีที่มายื่นต่อศาลนั้น มีเรื่องให้ต้องติเสมอ จนทำให้ตนโดนยื่นบัตรสนเท่ห์ไปฟ้องยังกระทรวงยุติธรรม นายปิ่นกับนายมานั้นเป็นคนในบ้านนายภูมี เคยนำเรื่องมายื่นต่อศาลแทนนายภูมีหลายครั้ง นายผัดตนรู้จักเพราะเคยเป็นความที่ศาลสามครั้ง และเคยขอประกันตัวในชั้นศาลหลายครั้ง เคยมีปากเสียงกับตนเพราะนายผัดเขียนนามสกุลว่าศรีพรหมา ตนถามว่าอ่าน ศรี-พร-หมาใช่ไหม

นางสายทอง ภรรยา และนายทองย้อย บุตรเขยของนายแป๊ะมาเบิกความว่า ปกตินายแป๊ะจะทานอาหารที่บ้าน ถ้าจะไปกินที่ไหนจะสั่งคนที่บ้านก่อนเสมอ แต่ไม่เคยบอกว่าจะไปทางอาหารบ้านนายยันต์
นายฟ้อ เสมียนศาล เบิกความว่าตนเป็นคนเอาหมายศาลคดีที่นายภูมีและนายปิ่นเป็นจำเลยไปยื่นที่บ้านนายภูมี เห็นนายปิ่นอยู่ในบ้านแต่ภริยานายภูมีบอกว่าทั้งสองคนไม่อยู่และไม่ยอมรับหมายแทน
นายฟู มาเบิกความว่าเมื่อนายโกยถูกฟ้องว่าบุกรุกที่คนอื่นนั้น นายแป๊ะกับตนได้ไปสอบสวนยังพื้นที่ ปรากฏว่านายโกยผิดจริง คดีนั้นศาลตัดสินให้นายโกยแพ้ 
นายบุญมี นักการศาล และนายมลิ เสมียนศาล เบิกความว่านายผัดเคยเป็นความและมาขอประกันตนที่ศาล นายแป๊ะอ่านนามสกุลนายผัดว่า ศรี-พร-หมา และขอให้นายผัดแก้ไขให้ถูก นายผัดโกรธมาก บอกถูกต้องแล้วไม่ยอมแก้ และกล่าวว่าใครอ่าน ศรี-พร-หมา คนนั้นไม่ใช่คน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 04 เม.ย. 17, 06:43

ท่านผู้อ่านต้องเข้าใจนะครับว่า บันทึกคำพิพากษาศาลพิเศษที่รัฐบาลนำเสนอให้ประชาชนทั่วไปได้อ่านนั้น จะนำคำเบิกความของตัวโจกท์และจำเลย รวมทั้งพยานทุกคนมาลงอย่างซ้ำซาก วกวน โยงกันไปโยงกันมา จนคนอ่านสับสน ถ้าไม่มีความมานะพยายามจริงๆแล้ว จะทำความเข้าใจเรื่องราว อะไรเป็นอะไรไม่ได้เลย ในที่สุดก็จะทิ้งการคันเพราะอ่านไม่จบ ผมเองเมื่อเขียนต้นฉบับนี้จะต้องอดทนอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะคดีนี้ไม่ต่ำกว่าห้าหกเที่ยว ไม่นับครั้งที่เคยในอดีตซึ่งอ่านจบบ้างไม่จบบ้าง

การนำเสนอกระทู้นี้ ไม่ใช่นึกอยากจะเขียนก็เขียน แต่ผมกำลังเตรียมต้นฉบับที่กล่าวถึงศาลพิเศษในเรื่องกบฏพระยาทรงสุรเดชให้บริบูรณ์ ผมได้ใช้วิธีเรียบเรียงลำดับคำให้การเสียใหม่ แล้วย่อความให้อ่านง่าย เก็บเฉพาะที่เป็นสาระไว้ได้ประมาณหนึ่งในสาม ที่เหลือทิ้งหมดไม่เอามาให้รกเปลืองสมอง ผมเข้าใจว่าผู้พิพากษาเองก็คงสับสนใช่น้อย แต่ก็นึกว่าจะอยู่ในแนวที่เห็นความถูกต้องเป็นธรรมอยู่ เพราะในคำพิพากษานั้น มีตอนต้นๆเขียนว่า “ ศาลย่อมตระหนักว่า การแกล้งกล่าวป้ายความผิดอันร้ายแรงให้แก่ผู้บริสุทธิ์นั้น เป็นการน่าชังอย่างยิ่ง และศาลจะพยายามจนสุดความสามารถที่จะผดุงความยุติธรรมนี้ไว้”
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 07:23

แต่อพิโธ่เอ๋ย มันก็อีหรอบเดิมกับทุกสำนวนดคีนั่นแหละ
ของพระวิชิตสรไกรนั้น แทนที่ศาลจะเชื่อคำให้การของบุคคลระดับผู้ก่อการคณะราษฎร และส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเองหลายคนที่พระยาวิชิตใช้คุณความดีส่วนตัว ขอร้องให้คนกลุ่มนี้มาเบิกความเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของท่าน แต่ศาลกลับเทน้ำหนักความน่าเชื่อถือให้แก่อาชญากรเช่นเสือผัดกับเสือป้อม ที่สันติบาลนำมากล่าวหาว่าพระยาวิชิตใช้จะให้ไปยิงหลวงพิบูล สาเหตุจากความน้อยเนื้อต่ำใจที่โดนปลดจากราชการในปี ๒๔๗๖ โดยร่วมคบคิดกับพระวุฒิภาคภักดีและพระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์คนหัวอกเดียวกัน ที่ศาลบอกว่ามีพรรคพวกอุดหนุนให้สมัครรับเลือกตั้งเข้าสภามาเพื่อหาทางจะล้มล้างรัฐบาล

ส่วนคำเบิกความของท่านผู้มีเกียรติ ศาลกล่าวว่าเป็นแค่ถ้อยคำกว้างๆ ไม่ชี้ชัดว่าจำเลยไม่ได้ทำผิดตามกฏหมาย  เช่น กล่าวว่าไม่เคยรู้เห็นว่าพระยาวิชิตเป็นผู้ที่จะล้มล้างรัฐบาล หรือ เมื่อเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระยาวิชิตมักยกมือเห็นด้วยกับฝ่ายรัฐบาล จนสมาชิกซุบซิบกันว่าจะได้เป็นรัฐมนตรี แม้ถ้อยคำดังกล่าวอาจเป็นจริง แต่จะมีประโยชน์อันใดกับคดีเล่า เพราะความอยากเป็นรัฐมนตรีมิใช่จะประกันว่าเป็นกบฎไม่ได้

ส่วนที่พระยาวิชิตนำสืบสาเหตุที่พยานโจทก์กับท่าน แต่ละคนเคยมีเรื่องอะไรกันมานั้น ศาลบอกว่าเป็นเหตุเล็กน้อยหยุมหยิม ไม่พอฟังได้ว่าจะทำให้คนเราถึงกับอาฆาต ถึงกับมารุมกล่าวร้ายในเรื่องที่จำเลยไม่พอใจรัฐบาลขณะฟังข่าววิทยุได้ ส่วนที่นายผัดและนายป้อมเบิกความ ก็จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างแข็งแรง เป็นแต่ว่าไม่เคยพบกับบุคคลทั้งสองเท่านั้น พระวิชิตสรไกรจึงมีความผิด
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 07:28

สำหรับคดีนายยันต์ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายภูมี นางแวว และนายกระออมพ่อแม่ลูก ให้ถ้อยคำประกอบกิริยาไม่น่าไว้ใจ หนังสือที่อ้างว่าส่งให้หลวงพิบูลก็มีพิรุธ วันที่ลงในจดหมายคือ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ ก่อนหลวงพิบูลจะถูกนายลียิง แต่วันส่งไปรษณีย์ตีตราวันที่ ๒๓ ธันวาคม ห่างกันตั้งเดือนเศษ หลังวันยิงนานแล้ว เมื่อมีเหตุพิรุธ ศาลจึงตัดพยานชุดนี้ออกไป

ยังก่อนครับยัง..อย่าเพิ่งเฮ ศาลอ่านคำพิพากษาต่อว่า แม้ตัดพยานปากเอกพ่อแม่ลูกออกไป แต่หาทำให้พยานสำคัญโจทก์ในเหตุใหญ่เสียไปไม่ คำให้การของนายโกย นายปิ่นและนายมา ที่สอดคล้องกันโดยยืดยาว ถึงเรื่องที่นายยันต์จะใช้ไปยิงหลวงพิบูล ถ้ามีการซักซ้อมย้อมแปลงกันมาแล้ว ก็จะจับเท็จได้ไม่ยาก ศาลยังเห็นว่าเป็นเหตุเป็นผลน่าเชื่อถือ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 07:34

ส่วนที่นายยันต์นำสืบว่า วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๑ นายยันต์ไม่อยู่บ้าน แต่ไปนนทบุรีเพื่อเอาเงินไปให้แม่ยายรับจำนองที่ดิน จึงไม่สามารถจัดเลี้ยงใครได้นั้น ศาลบอกว่าข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะนางเนยภรรยามาให้การว่า นางเนยต่างหากที่เป็นผู้เขียนเช็คจ่ายเงินนั้น โดยเอาหลักฐานมาให้ศาลดู แต่นายยันต์ไม่ได้กล่าวถึงเช็คนี้ จะให้หักล้างพยานโจทก์ได้อย่างไร

ตรงนี้ผมตีความสำนวนศาลว่า ศาลยังคงเชื่อว่ายังมีการจัดเลี้ยงกันในวันนั้นตามคำให้การของครอบครัวนายภูมีที่ศาลบอกเองว่าได้ตัดน้ำหนักออกไปแล้ว ซึ่งแปลว่า ในการเลี้ยงวันนั้น นายปิ่นกับนายมา มิจฉาชีพทั้งสองได้ไปรับจ๊อบฆ่าหลวงพิบูลด้วย

การที่ศาลไม่เชื่อพยานหลักฐานของนายยันต์เรื่องการไปบ้านแม่ยายในวันนั้นเลย ก็เพราะคำๆเดียวของนางเนยที่บอกว่าเป็นคนจ่ายเช็ค ผมพลิกกลับไปดูที่ศาลจดคำให้การของนางเนยหลายเที่ยวกลับไม่พบข้อความที่ว่านั้น แสดงว่าศาลไม่ได้จด แต่เอามาอ่านในคำพิพากษา

สามีภรรยาทั้งสองได้เบิกความว่าไปบ้านที่นนทบุรีด้วยกัน โดยมีพยานอีกสามปากมายืนยัน ทำไมศาลไม่คิดบ้าง คำพูดที่นายยันต์กล่าวว่าได้มอบเงินให้แม่ยายเพื่อทำสัญญาแทนนั้น เงินของสามีอาจจะอยู่ในบัญชีธนาคารของภรรยา การที่จะให้ภรรยาจะเป็นผู้จ่ายแทนนั้นจะแปลกอะไร หากนางเนยเอาหลักฐานขั้วเช็คมาให้ศาลดูแล้ว ทำไมศาลถึงไม่กล่าวถึงวันที่ๆลงนามจ่ายเช็คใบนั้นด้วย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 07:37

ศาลสรุปว่า นายยันต์นำพยานส่วนใหญ่มานำสืบเรื่องสาเหตุบาดหมางกับนายภูมี ซึ่งศาลได้กล่าวไปแล้วว่าได้ตัดประเด็นเกี่ยวกับนายภูมีไปแล้ว ถือว่ายอมให้ชนะผ่าน ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยคำเบิกความของพยานนายยันต์ช่วงนั้น ช่างฉลาดแท้ในการหาทางออกที่จะไม่ต้องแสดงความเห็นของศาลต่อผู้พิพากษาศาลชัยนาททั้งหลาย ผู้ยอมเปลืองตัวมาเป็นพยานจำเลย

แต่ศาลกล่าวต่อว่าในเมื่อคำเบิกความของนายโกย(ลูกความของนายภูมี) นายปิ่น(ลูกน้องในบ้านของนายภูมี) และนายมา(ผู้อ้างว่าขุนนิพันธ์นัดให้ไปกินข้าวที่บ้านนายยันต์ในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๑) นายยันต์สืบหักล้างไม่ได้ นายยันต์จึงมีความผิด

ท่านผู้อ่านงงไหมครับว่า เมื่อศาลตัดประเด็น ไม่เชื่อนายภูมีกับลูกเมียแล้ว ทำไมศาลยังเชื่อเรื่องที่โยงออกไปจากวันที่พวกนั้นอ้างว่ามีการจัดเลี้ยงที่บ้านนายยันต์ อันเป็นเหตุให้เกิดการว่าจ้างเหล่าอสรกุ๊ยไปยิงผู้นำรัฐบาลอีกเล่า
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 10:01

งงจริงๆครับอาจารย์ครับ เนื่องจากเป็นการแอบอ่านในที่ทำงาน (แฮ่) จึงต้องอ่านแบบผ่านๆ ยังไม่ได้ลงรายละเอียดอะไรนะครับ แต่จากประสบการณ์ที่เคยพบเกี่ยวกับการเบิกความ และการสืบพยานมาบ้าง ก็ขออนุญาตมีข้อสังเกตในเบื้องต้นว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีโทษอาญา ศาลจะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน เพื่อไม่ให้เกิดการนำตัวคนบริสุทธิไปลงโทษ จนมีคำกล่าวในทางกฎหมายว่า "ปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิเพียงคนเดียว" ซึ่งคำกล่าวนี้ นักเรียนกฎหมายน่าจะต้องเคยได้ยินทุกคน

ดังนั้น การนำสืบในคดีอาญา จึงต้องสืบให้ถึงขั้นที่ว่า "สิ้นสงสัย" ไม่ใช่สืบเพียงแค่ "พอมีน้ำหนัก" เหมือนดังในคดีแพ่งครับ

คดีนี้ มีแค่พยานบุคคล ปากต่อปากยันกัน เหมือนอาจารย์ฟ้องว่า ผมไปลักทรัพย์บ้านอาจารย์ อาจารย์นำเพื่อนบ้านเป็นนายทหารมาเบิกความว่า เห็นผมปีนเข้าบ้าน ผมนำสมภารที่วัดมาเบิกความว่า วันนั้น ผมอยู่ช่วยเจ้าอาวาสนับเงินที่ได้จากงานฝังลูกนิมิตรอยู่ที่วัดทั้งวัน แบบนี้ เรียกว่า พยานปากต่อปาก ยันกัน
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 10:09

เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาลจะวินิจฉัยได้อย่างไรว่าพยานปากใดเบิกความตามความเป็นจริง ฝ่ายใดจะน่าเชื่อถือกว่ากัน ก็ต้องมีกระบวนการต่อไปอีก เช่นการถามค้านของทนายความสองฝ่าย เพื่อให้ศาลเห็นข้อพิรุธ หรือเกิดข้อสงสัยในคำเบิกความของพยานปากนั้นๆ เช่น ทนายฝ่ายผมก็อาจจะถามค้านว่า ที่ท่านบอกว่าเห็นจำเลย (คือผม) ปีนเข้าบ้านโจทก์นั้น จำเลยเข้าทางหน้าต่างใช่หรือไม่ สมมุติพยานรับว่าใช่ ทนายความก็อาจจะถานนั่นถามนี่ต่อไปอีก 2-3 คำถาม แล้วย้อนกลับมาถามว่า เอ๊ะ แล้วที่ว่า จำเลยเข้าทางประตูหลังนั้นหนะ บ้านท่านไกลขนาดนั้น ท่านจะเห็นได้ชัดเจนหรือ ถ้าพยานเผลอตอบว่า ชัดสิ เห็นชัดเลย ก็บ้านอยู่ตรงกัน ฯลฯ พยานปากนี้ ก็จะเกิดข้อสงสัยแล้ว ว่าตกลงเขาเห็นผมปีนเข้าบ้านจริงหรือ ตอนแรกบอกเห็นปีนเข้าทางหน้าต่าง เบิกความไป กลายเป็นการเข้าทางประตูหลังไปได้ อะไรเช่นนี้เป็นต้นครับ

ทีนี้ ถ้าพยานฝ่ายอาจารย์เขาเห็นจริงๆ ซักค้านอย่างไรก็ไม่หลงทาง แกก็ยืนกรานอยู่นั้นเอง ว่าเห็นผมปีนเข้าทางหน้าต่าง ไม่ใช่ประตูหลัง อย่างนี้ เรียกว่า ทนายจำเลยซักค้านพยานโจทก์ไม่แตก โจทก์ก็ได้เปรียบครับ จำเลยก็ซีดหละ เหมือนเข้าคุกไปแล้วขาหนึ่ง

พอมาถึงการซักค้านพยานจำเลยบ้าง ถ้าทนายโจทก์สามารถซักเจ้าอาวาสของฝ่ายผม จะศาลเกิดข้อสงสัยได้ อย่างนี้ก็เอวัง ศาลสิ้นสงสัย ผมโดนแน่นอนครับ แต่ถ้าพยานฝ่ายผมก็แน่นเหมือนกัน ทนายโจทก์ซักค้านไม่แตก ผลจะเป็นอย่างไร    
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 10:14

กรณีเช่นนี้ ก็ต้องย้อนกลับไปที่หลัก ปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิเพียงคนเดียวนั้นเองครับ เพราะนี่เท่ากับว่า ศาลจะไม่สามารถชี้ได้ว่า จริงๆแล้ววันนั้นผมอยู่ที่ใดกันแน่ ใครคือคนที่เห็นผมจริงๆ กันแน่ เมื่อศาลยังมีข้อสงสัยในพยานหลักฐานของโจทก์ ศาลก็อาจ "ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย"

พูดง่ายๆก็คือ เอ็งอาจจะเป็นคนร้ายก็ได้ แต่ข้ายังไม่ชัวร์ เลยต้องปล่อยเอ็งไปก่อน อะไรทำนองนี้ครับ

คดีนี้ ผมยังสงสัยว่า "ศาลนั้น" (แฮ่ ต้องชี้ชัดว่า ผมไม่ได้ตั้งข้อสังเกตการทำงานของศาลปัจจุบัน หรือศาลอื่นๆ แค่ ศาลในเรื่องนี้เท่านั้น) ถือหลัก พิสูจน์จนสิ้นสงสัย และหลักปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิเพียงคนเดียว หรือไม่ครับ 
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 10:23

มีข้อสังเกตอีกข้อหนึ่ง ที่อาจารย์บอกว่า
อ้างถึง
ศาลสรุปว่า นายยันต์นำพยานส่วนใหญ่มานำสืบเรื่องสาเหตุบาดหมางกับนายภูมี ซึ่งศาลได้กล่าวไปแล้วว่าได้ตัดประเด็นเกี่ยวกับนายภูมีไปแล้ว ถือว่ายอมให้ชนะผ่าน ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยคำเบิกความของพยานนายยันต์ช่วงนั้น ช่างฉลาดแท้ในการหาทางออกที่จะไม่ต้องแสดงความเห็นของศาลต่อผู้พิพากษาศาลชัยนาททั้งหลาย ผู้ยอมเปลืองตัวมาเป็นพยานจำเลย

แต่ศาลกล่าวต่อว่าในเมื่อคำเบิกความของนายโกย(ลูกความของนายภูมี) นายปิ่น(ลูกน้องในบ้านของนายภูมี) และนายมา(ผู้อ้างว่าขุนนิพันธ์นัดให้ไปกินข้าวที่บ้านนายยันต์ในวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๔๘๑) นายยันต์สืบหักล้างไม่ได้ นายยันต์จึงมีความผิด

ตรงนี้ โดยปกติแล้ว การเบิกความในศาล จะต้องเป็นการนำเสนอถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ในหลักของการนำเสนอพยานหลักฐาน จะไม่นำสืบถึงพยานหลักฐานที่แสดงถึงการไม่มี หรือไม่ได้เกิดขึ้นของเหตุการณ์ต่างๆ ครับ ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์ฟ้องว่า ผมขโมยนาฬิกา แล้วศาลจะสั่งให้ผมหาพยานมาแสดง ถ้าเอ็งไม่ได้ขโมยจริง ไหนลองแสดงหลักฐานที่ว่า นาฬิกาไม่ได้อยู่กับเอ็งมาซิ ถ้าเอ็งหามาไม่ได้ เอ็งแพ้คดี

ปุดโธ่ ก็ผมไม่ได้ขโมย นาฬิกามันจะไปอยู่ที่ไหน ผมจะไปรู้หรือครับ แล้วผมจะไปหาหลักฐานแสดงการไม่มีนาฬิกาอยู่ มาได้อย่างไร
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 10:29

คดีนี้ก็เช่นกันครับ ถ้าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดจริงๆ ไม่ได้เป็นธุระจัดหานักเลงหรือจัดม็อบไปช่วยฝ่ายก่อการจริงๆ ตามฟ้อง จำเลยจะไปหาหลักฐาน แสดงความไม่เกี่ยวข้อง มาจากที่ใดเล่าครับ  

เมื่อไม่มีหลักฐานอย่างที่ว่ามาแสดง จำเลยก็ต้องกำหนดแนวทางในการต่อสู้คดีเป็นแนวอื่น กล่าวคือ พยายามทำให้ศาลสงสัยในพยานโจทก์ (ตามเรื่อง พยานปากต่อปากยันกัน ที่ผมได้กล่าวไว้เมื่อครู่ครับ) ด้วยการนำสืบว่า พวกพยานโจทก์ทั้งหลายที่มาให้การเนี่ย ล้วนแล้วแต่เป็น "โจทก์เก่า" คือ มีข้อบาดหมางกับจำเลยมาก่อนทั้งสิ้น คำให้การทั้งปวงจึงไม่น่าเชื่อถือ ศาลเห็นมั๊ยเล่า

ซึ่งศาลก็บอกว่า เห็นแล้ว เชื่อละว่า พวกนี้ เป็นอริเก่ากับจำเลยจริง แต่ยังไง จำเลย ก็หาหลักฐานมาแก้ต่างว่า ไม่ได้คิดก่อการไม่ได้อยู่ดีนั่นแหละ ดังนั้น จำเลยแพ้ อุปมาเสมือนหนึ่ง นาริศหาหลักฐานไม่ได้ว่า นาฬิกาของอาจารย์ไม่ได้อยู่กับตนเองฉะนั้น

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 10:48

คุณนริศ(หวังว่าผมคงจะเขียนถูกนะครับ) คงยังไม่เห็นข้อความที่ว่า ศาลพิเศษนี้ไม่อนุญาตให้จำเลยมีทนายว่าต่าง แม้ในพ.ร.บ.จะระบุว่าเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่าจะอนุญาตให้จำเลยมีพยานได้หรือไม่ แต่ปรากฏว่าศาลไม่อนุญาตใครเลยโดยให้เหตุผลว่าไม่จำเป็นต้องมี เพราะจะมากเรื่องมากความ เสียเงินเสียทองค่าทนายสิ้นเปลืองไปเปล่าๆ ดังนั้นจำเลยจึงต้องช่วยตนเองเท่าที่จะสามารถ และมีโอกาสเพียงศาลเดียวนี้ ไม่มีอุทธรณ์ ฎีกา

ดคีนี้โชคดีที่นายยันต์เองเป็นผู้พิพากษา จึงสามารถตีข้อกล่าวหาของโจทก์สำคัญ คือนายภูมีได้จนผู้พิพากษายอมแพ้ แต่นายยันต์ก็เสียเวลาไปกับการสืบพยานหักล้างนายภูมีมาก เมื่อเทียบกับนายโกย นายปิ่นและนายมา กเฬวรากทั้งสาม แต่ก็ไม่ได้ละเลยนะครับ เพียงแต่ศาลเห็นว่า ไม่พอที่จะหักล้างคำเบิกความของพยานทั้งสามได้เท่านั้น

เช่นเดียวกับในคดีเดียวกันแต่ต่างสำนวน ที่พระยาเทพหัสดินทร์ท่านเป็นจำเลย ถูกพยานโจกท์ที่สันติบาลจัดมาซัดทอดหลายปาก ว่าเห็นท่านจัดประชุมกับคนหมู่โน้นหมู่นี้ที่บ้านของท่าน ต่างกรรมต่างวาระ แต่เมื่อท่านมั่นใจว่าพยานเท็จเหล่านี้ไม่เคยไปที่บ้านท่าน ท่านก็ตั้งป้อมซักพยานแต่ละคนว่า ในบ้านท่านเป็นอย่างไร เจออย่างนี้เข้าพยานโจกท์ก็ตอบไปคนละทางสองทาง บ้านไม้กลายเป็นบ้านตึก ทาสีฟ้าบอกทาสีเขียวบ้างขาวบ้าง เครื่องเรือน ตู้ โต๊ะ ก็บอกไม่ตรงกัน ต้นปาล์มบนสนามหน้าบ้านก็บอกเป็นต้นเต่ารั้ง ท่านจึงขอให้ศาลนำสืบที่บ้าน แต่ศาลบอกไม่จำเป็น และไม่จดให้ ในคำพิพากษาก็ไม่กล่าวถึงข้อซักค้านอันสำคัญนี้เลย

พระสิทธิเรืองเดชพล จำเลยอีกผู้หนึ่ง ซึ่งโดนพยานซัดทอดว่า นั่งสามล้อไปเอาเงินค่าจ้างจากท่านที่บ้านราชวัตร ท่านก็แน่มาก สามารถนำภรรยาของผู้พิพากษามาเป็นพยานจำเลยในศาลว่า ได้เข้าหุ้นกันหลายคนซื้อที่ๆราชวัตรนี้ ในวันเดือนปีที่พยานว่า ที่ดินยังไม่ได้แบ่งแยก และบ้านของพระสิทธิ์ยังอยู่ที่บางขุนพรหม ศาลยังแก้ตัวให้พยานว่า เป็นเวลานานมาแล้ว พยานอาจจะลืมได้  พระสิทธิเรืองเดชพลจึงมีความผิด โทษถึงประหารชีวิต
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.047 วินาที กับ 19 คำสั่ง