เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 22
  พิมพ์  
อ่าน: 27444 ทำงานกับช้าง
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 08 มี.ค. 17, 20:33

เมื่อคะเนระยะได้ว่าไฟฉายส่องถึงแล้วก็ส่องกันออกไป  อะฮึ เห็นหัวช้างสลอนอยู่ตามแนวทิวไม้ ยืนอยู่เป็นกลุ่มกระจายคล้ายตั้งเป็นแถวหน้ากระดาน ท่าทางกำลังคิดจะเดินหน้าลุยมากกว่าที่จะหยุดอยู่แถวๆทิวไม้  ยืนโยกหัว แกว่งงวงไปมา ขยับตัวซ้ายขวา   

ไฟฉายที่ฉายกราดออกไปนั้น โดยพื้นความคิดของเราก็คือเพื่อให้เห็นและเพื่อตรวจดูสภาพการณ์ว่าอะไรเป็นอะไรบ้าง กำลังเกิดอะไรขึ้นบ้าง ก็เพื่อจะได้จัดการตั้งรับที่เหมาะสม   แต่สำหรับช้างที่มานั้นดูจะมีความเห็นไปอีกอย่างหนึ่ง ดูจะคิดว่าลำแสงไฟฉายนั้นจะเป็นอะไรที่อันตรายต่อตนเองหรือไม่ จะด้วยเหตุนี้หรือไม่ก็ไม่ทราบที่มันจึงหยุดคิดก่อนที่จะค่อยๆคิดตกว่า น่าจะพอลุยได้
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 08 มี.ค. 17, 21:09

ช้างก็คงจะคิดเช่นนั้นกระมัง  ก็เลยเคลื่อนกองกำลังไปทางทางซ้ายบ้าง ไปทางขวาบ้าง

ทุกคนในคณะสำรวจเองต่างก็เพิ่งจะประสบกับเหตุการณ์ในสภาพนี้เป็นครั้งแรก  คิดว่าก็คงจะมีคนคิดอยู่ในใจเหมือนกันว่า จะหลบหลีกหนีไปจากสถานการณ์นี้จะดีหรือไม่   ก็น่าคิดอยู่นะครับ ฤๅจะเข้าข่ายตามคำพังเพย รวมกันตายหมู่ แยกกันอยู่ตายเดี่ยว

แต่ลำแสงไฟฉายของพวกผมก็มีมนตราอยู่เพียงช่วงสั้นๆไม่นาน แสงสว่างก็น้อยลง ระยะส่องไฟก็สั้นลง ถ่านไฟฉายมีกำลังอ่อนลงและเริ่มหมดประจุไฟ 

แล้วเราจะสู้กับช้างได้ตลอดทั้งคืนได้อย่างไร ?     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 09 มี.ค. 17, 19:07

หากจะถามว่ากลัวหรือไม่ ?  ก็มีอยู่ แต่ไม่เข้าใกล้ระดับกลัวจนลนลาน และทุกคนไม่ได้คิดถึงเรื่องโกยเลย คิดแต่ว่าจะหยุดยั้งการขยับเข้ามาของช้างได้อย่างไรบ้าง

ที่ทุกคนรู้แน่ๆก็คือ แสงไฟฉายที่ส่องออกไปนั้นพอจะช่วยหยุดยั้งการเข้ามาของช้างได้บ้าง ดังนั้นเราจะต้องถนอมการใช้ไฟฉายให้ได้มากที่สุด  ก็เลยไม่ใช้พร้อมๆกัน แล้วก็ใช้วิธีปิดไฟบ้างเปิดฉายไฟบ้างตามสมควรแก่เหตุ     ก็น่ากลัวอยู่ไม่น้อยตรงที่เมื่อไฟมืดเมื่อใดช้างเป็นต้องขยับออกมาพ้นแนวไม้ทุกครั้ง    ระยะสามสี่สิบเมตรห่างกันระหว่างเรากับช้างในเวลากลางคืนมืดๆนี้ คงจะไม่มีท่านใดคิดว่าไกลเลยนะครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 09 มี.ค. 17, 19:30

ขอขยายความหน่อยนึงครับ

ระยะยิงในการล่าสัตว์ของพรานไพรทั้งหลายนั้น  โดยทั่วๆไปแล้วจะอยู่ที่ระยะประมาณ 10-20 เมตร  ระยะห่างประมาณนี้เป็นระยะที่เป็นอันตรายทั้งของคนและของสัตว์เมื่อได้มาพบปะเจอะเจอกัน

ในความเป็นอันตรายของสัตว์ ก็คือ อาจจะถูกยิงได้ และก็เป็นระยะของการทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือการตายได้พอๆกัน    ในความเป็นอันตรายของคน ก็คือ เป็นระยะที่สัตว์สามารถชาร์จเราได้โดยที่เราอาจหลบหนีไม่ทัน   เราอาจจะได้รับบาดเจ็บมาก น้อย หรืออาจจะทำให้ถึงกับเสียชีวิตก็ได้เช่นกัน 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 09 มี.ค. 17, 20:20

ด้วยภาพที่เล่ามา ก็คงจะไม่เรื่องที่แปลกหรอกนะครับ ที่บรรดาสัตว์ใหญ่ทั้งหลายจะถูกยิงตายทางด้านข้างมากกว่าทางด้านตรงหน้า
และก็มิใช่เป็นการยิงที่บริเวณหัวแต่จะเป็นการยิงบริเวณที่เรียกว่ารักแร้แดง   

และก็คงจะเห็นภาพอีกเช่นกันว่า ด้วยเหตุใดนายพรานทั้งหลายจึงต้องใช้วิธีค่อยๆย่องเข้าไปเพื่อจะยิงสัตว์  ก็เพราะระยะหวังผลและความปลอดภัยนั่นเอง   กระนั้นก็ตาม ก็มีพรานหลายคนยังมิวายถูกกระทิงบ้าง หมูป่าบ้าง ฟัดเสียจนเป็นแผลเหวอะหวะ  โชว์แผลเป็นและเล่าเรื่องราวที่กลายเป็นความรู้และภูมิปัญญาสำหรับคนรุ่นหลัง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 09 มี.ค. 17, 20:44

ในธรรมชาติก็มีความจริงอยู่เรื่องหนึ่ง คือ ไฟ ที่มีทั้งคุณและโทษ แล้วก็ยังให้ภาพของความน่าเกรงขามกับสรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย

นึกขึ้นได้ก็เลยช่วยกันเร่งสุมกองไฟให้ติดโร่ หาเศษไม้เท่าที่พอจะคว้าหาได้รอบๆ มาวางแหย่ให้ปลายหนึ่งติดไฟเป็นถ่านแดงๆ พอช้างเข้ามาใกล้ได้ระยะพอจะขว้างไล่ให้ช้างหยุดและถอยไปได้บ้าง ก็ขว้างไป  ได้ผลดีทีเดียว   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 10 มี.ค. 17, 18:24

ก็คงพอจะนึกภาพอออกอีกเช่นกันนะครับ ว่าท่อนไม้ขนาดเล็กและสั้นนั้นเราจะขว้างไปได้ไม่ไกล เพราะมันมีน้ำหนักน้อยและไม่มีแรงจากการหมุนช่วยในการเคลื่อนที่ (ก็คือมี momentum ไม่เพียงพอ) แถมยังติดไฟได้ง่ายพอๆกับการมอดเร็ว    ขว้างไปได้ไม่กี่ชิ้นก็รู้เลยว่าขนาดที่เหมาะกับการขว้างให้ไปไกลนั้น ก็คือขนาดใหญ่ประมาณท่อนแขนของเราและยาวประมาณหนึ่งไม้บรรทัด (30 ซม.)

ภาพจริงๆที่เกิดขึ้นเมื่อเราพอจะตั้งตัวรับเหตุการณ์ได้นั้น เรามิได้ระดมขว้างไม้และระดมฉายไฟฉาย เพราะกลางคืนมืดมิดยังอยู่อีกยาวไกล เดี๋ยวเราจะหมดอาวุธสำหรับต่อกรกับช้างเสียก่อน

ปัญหามันอยู่ที่ว่า มันเป็นค่ำคืนแรกที่เรามาตั้งแคมป์และก็ยังมาถึงเอาตอนช่วงบ่ายแก่ๆ การจัดการต่างๆจึงเป็นเรื่องของการกระทำเฉพาะเพียงให้พอมีที่จะนอนและที่จะหุงหาอาหารกินเท่านั้น วันรุ่งขึ้นจึงจะค่อยปรับภาพให้ดีขึ้น   เข้าหลักว่า เริ่มด้วยสภาพ "พอมีพอกิน" และค่อยๆพัฒนาต่อไปให้เป็นสภาพ "อยู่ดีกินดี"     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 10 มี.ค. 17, 18:48

ก็เป็นเรื่องปรกติที่เมื่อใดเราไปตั้งแคมป์พักแรมอยู่ในที่ๆเคยใช้เป็นพื้นที่พักของคณะบุคคลอื่นๆ และถ้ายิ่งได้เห็นก้อนหินสามก้อนเอามาตั้งทำเป็นเตาสามขาอีกด้วยแล้วละก็   เมื่อนั้นกิ่งไม้แห้งที่จะใช้ทำฟืนในพื้นที่รอบๆใกล้ๆนั้นก็จะหายาก โดยเฉพาะที่เป็นท่อนไม้ที่มีขนาดประมาณท่อนแขนของเรา เพราะใช้เป็นไม้ฟืนได้ดีกว่าท่อนไม้ขนาดอื่นๆ กิ่งไม้หรือท่อนไม้ขนาดเล็กนั้นจะติดไฟง่าย ใหม้เป็นถ่านอยู่ประเดี๋ยวเดียวก็มอดเป็นเถ้าถ่าน 

สำหรับท่อนไม้ใหญ่ที่เป็นขอนไม้นั้น เราจะจุดให้ติดไฟแล้วทำให้เป็นถ่านไฟคุรุมๆอยู่ตลอดทั้งคืน เพื่อกันสัตว์และใช้ประโยชน์อื่นๆ

ด้วยภาพที่เล่ามานี้  ก็คงพอจะเห็นสภาพการขาดวัสดุอุปกรณ์และความทุรักทุเรสำหรับการต่อกรกับช้างในคืนแรก 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 10 มี.ค. 17, 19:50

ยื้อๆยักๆกับช้างอยู่นาน จนใกล้ๆเที่ยงคืน ช้างก็ถอยหลังกลับ เดินหายไป    เราก็รู้สึกโล่งอกโล่งใจกัน แต่ก็ยังคงต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาว่าช้างจะกลับมาอีกเมื่อใด 

เหนื่อยจากการเดินทำงานมาทั้งวัน ก็อยากพักหลับนอนกัน แต่เนื่องจากสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ เราก็เลยก็ต้องใช้วิธีผลัดกันนั่งเวรยาม  แต่เอาเข้าจริงๆทุกคนต่างก็หลับได้แต่เพียงแค่งีบสั้นๆ  ในสภาพการณ์เช่นนี้ก็คงไม่มีผู้ใดหลับนอนได้อย่างไม่มีกังวล

พอช้างไป บรรดาเขียดในห้วยก็คงจะดีใจ เริ่มเสียง เริ่มแรกก็เบาๆ นานเข้าก็เป็นการช่วยกันตะเบ็ง เสียงก็ดังพอที่จะหลับไม่ลง ดังยังกับงานวัดเลยทีเดียว   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 10 มี.ค. 17, 20:02

เคยเล่าไปในกระทู้หนึ่งแล้วนะครับว่า  เมื่อเสียงประสานดังมากจนทุกคนเริ่มทนไม่ใหว และเมื่อดูสถานการณ์ว่าน่าจะปลอดภัยดีแล้ว ลูกทีมสองหนึ่งก็คว้ากระแป๋งน้ำ เดินลงไปในห้วย จัดการอุ้มบรรดานักร้องทั้งหลาย ทำอยู่สองรอบ ได้ตัวมาประมาณครึ่งกระแป๋งเห็นจะได้ รุ่งเช้าก็เอามาจัดการทำเป็นต้มยำหมู่
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 11 มี.ค. 17, 18:59

ในระหว่างที่เฝ้าระวังแบบตื่นตัวเต็มที่  ก็ถกกัน

เริ่มตั้งแต่ว่าช้างเหล่านั้นเป็นช้างป่าหรือช้างเลี้ยง   ไฟที่ฉายออกไปก็เห็นแต่เพียงหัวและหูเท่านั้น   หากจะเป็นช้างเลี้ยง ก็ เอ.. ทำไมจึงมีหลายตัวนัก มากันเป็นกลุ่มอีกด้วย แต่ก็เป็นไปได้ที่มันจะกลับมาที่ๆมันเคยอยู่เดิม เพราะศาลช้างก็ยังตั้งอยู่ ยังไม่รื้อถอนออกไป    จะว่าเป็นช้างป่า ก็ เอ..ทำไมมันไม่อยู่นิ่งๆและกางหูผึ่ง ซึ่งเป็นการแสดงถึงการไตร่ตรองว่าอะไรเป็นอะไร และอีกประการหนึ่งมันก็น่าจะถอยหลบไปหรือไม่ก็น่าจะเดินดาหน้าบุกเข้ามาลุยพวกเราแล้ว 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 11 มี.ค. 17, 19:22

เรื่องที่ถกกันต่อมา คือ หากพวกช้างมันดาหน้าลุยเข้ามา จะทำอย่างไรดี   มีปืนพกอยู่สองสามกระบอก ยิงไปก็คงจะไม่ระคายผิวมันสักเท่าไร รังแต่จะยุให้พวกมันดุเดือดมากขึ้นเสียอีก     สรุป ตัวใครตัวมัน ห้ามปีนหนีขึ้นต้นไม้ หนีไปในทิศตามน้ำห้วยแม่สิน จุดนัดพบคือที่ด่านที่สะพานข้ามห้วยแม่สิน แล้วก็อย่าลืมไฟฉาย

ด่านนี้ตั้งอยู่บนถนนเส้นทางถนนลูกรังฝุ่นตลบสาย อ.ศรีสัชนาลัย - อ.เด่นชัย มีป้อมขนาดเล็กๆตั้งอยู่ ไม้กั้นที่บางทีก็ใช้ต้นไม้เล็กๆ บางทีก็ใช้ไม้ไผ่ บางทีก็มี จนท. บางทีก็ไม่มีคนเลย  น่าเห็นใจนะครับ อยู่อย่างโดดเดี่ยว แถมยังอยู่ในพื้นที่ๆกำลังจะเป็นสีแดงเข้ม 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 12 มี.ค. 17, 18:24

พอใกล้เที่ยงคืน ช้างเกือบทั้งหมดก็หันหลังกลับ ยกเว้นอยู่ตัวหนึ่งที่ยังโอ้เอ้อยู่อีกพักใหญ่   ตอนนั้นเราไม่มีความแน่ใจหรอกครับว่าเขาถอยไปจริงๆหรือเป็นเพียงการหลบไปปรึกษาหารือกันว่าจะกลับไปลุยต่อหรือไม่  สำหรับพวกผมนั้น ในสภาพเช่นนี้ยิ่งทำให้รู้สึกเสียวใส้มากขึ้นอีกมากๆ นั่นแหละครับถึงต้องมีการคุยกันเรื่องการหนีภัยช้างไล่เหยียบ เข้าสู่กฎ รวมกันตายหมู่ แยกอยู่ตายเดี่ยว

มันเป็นธรรมชาติของช้างที่จะทำท่าหันหลังกลับสักพักสั้นๆ ก่อนที่จะหันหน้ากลับมาพร้อมกับการวิ่งไล่  น้ำหนัก 3-4 ตันของแต่ละตัวนั้น ต้นไม้ขนาดโคนขาเราไม่เหลือหรอกครับ  ผมเคยเห็นต้นไม้ขนาดนี้ถูกช้างดันล้มหรือตะแคงเอียงกะเท่เร่อยู่บ่อยๆ   กฎข้อแรกของการวิ่งหนีช้างที่ได้รับการเสี้ยมสอนมา จึง คือ ห้ามหนีขึ้นต้นไม้   ต้นไม้ใหญ่น่ะช้างโค่นไม่ลงหรอก ได้แต่กระแทกให้สั่นไหวให้เราตกลงมา แต่เราก็ขึ้นต้นไม้ใหญ่ขนาดนั้นได้ยาก  ต้นไม้ขนาดโคนขาเรานั้นปีนขึ้นได้ง่าย แต่อันตรายมากจากการถูกช้างวิ่งชนจนต้นไม้หักล้ม หรือเขามาดันให้ล้ม หรือกระแทกให้ไหวจนเราตกลงมา 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 12 มี.ค. 17, 18:48

โดยสรุป คืนแรกก็ผ่านไปด้วยดี (แบบลุ่มๆดอนๆ)   รุ่งเช้าก็ออกไปเดินทำงานกัน ทิ้งคนเฝ้าแคมป์ไว้คนหนึ่ง  ทารุนนะครับ อยู่คนเดียวทั้งวันกลางป่าที่เมื่อคืนนี้มีกลุ่มช้างมาเยี่ยมเยียน

เดินทำงานลึกเข้าไปในป่าก็บังเอิญได้พบช้างกำลังลากซุงอยู่  คุยกับควาญช้างก็จึงได้รู้ว่า พวกเขาเพิ่งจะย้ายแคมป์ออกไปเมื่อวานนี้เอง ยังไม่ได้รื้อศาลเก่าและตั้งศาลใหม่ ช้างที่ไปหาเราเมื่อคืนนี้นั้น เป็นช้างของพวกเขาเอง พวกมันกลับไปที่ปางเดิมที่มันเคยอยู่และที่มีศาลของพวกมัน  วันนี้พวกควาญช้างก็จะถอนศาลเดิมแล้วไปตั้งศาลใหม่ที่ๆพักใหม่  ก็หวังว่าพวกช้างจะไม่กลับไปที่เดิมอีกในคืนนี้

ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นมาอย่างมากเลยครับ อย่างน้อยก็รู้ว่าเป็นกลุ่มช้างเลี้ยงนั่นเอง  คืนนี้คงนอนหลับได้สบายใจ ??   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 12 มี.ค. 17, 19:07

คุณตั้งยังไม่ได้เฉลยเลยว่า วิธีวิ่งหนีช้างให้ได้ผล ทำยังไง 
ถ้าห้ามขึ้นต้นไม้ก็ต้องวิ่งลูกเดียว  วิ่งแนวเฉียง หรือหลบซ้ายหลบขวาดีคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 22
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.104 วินาที กับ 20 คำสั่ง