เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 22
  พิมพ์  
อ่าน: 27448 ทำงานกับช้าง
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 12 มี.ค. 17, 19:16

เดินกลับมาถึงแคมป์ตอนบ่ายแก่ๆ  อ้าว คนเฝ้าแคมป์หายไปใหน  โน่นนะครับเพิ่งเดินออกมาจากชายป่า  คุยกันก็ได้ความว่าหลังจากจัดการจัดสัมภาระจนเป็นระเบียบดีแล้ว กินข้าวกลางวันแล้ว ก็ปีนขึ้นไปอยู่บนง่ามไม้ของต้นใหญ่ที่ควาญเขาใช้กิ่งในแนวนอนพาดเครื่องแต่งตัวของช้าง แต่ปีนสูงขึ้นไปให้พ้นระดับงวงช้าง

แม้จะรู้ว่าเป็นช้างเลี้ยงและคงจะไม่มากวนในคืนนี้ เราก็ยังช่วยกันไปหาท่อนไม้ขนาดประมาณแขนของเรามาเตรียมไว้ รวมทั้งช่วยกันลากขอนไม้ขนาดเขื่องๆ เพื่อเอามาสุมไฟให้ติดได้ตลอดทั้งคืน  แถมเอาตะเกียงรั้วไปแขวนไว้ในจุดที่จะให้ความสว่างได้อย่างเหมาะสม  

เย็นนั้นก็ลงห้วยอาบน้ำไหลและขึ้นมาหุงหาอาหารกินกันอย่างมีความสุข ด้วยรู้ว่าไม่น่าจะมีช้างมากวนในคืนนี้    
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 12 มี.ค. 17, 20:06

คุณตั้งยังไม่ได้เฉลยเลยว่า วิธีวิ่งหนีช้างให้ได้ผล ทำยังไง 
ถ้าห้ามขึ้นต้นไม้ก็ต้องวิ่งลูกเดียว  วิ่งแนวเฉียง หรือหลบซ้ายหลบขวาดีคะ

พรานไพรเขาสอนมาว่า วิ่ง.. วิ่งอย่างเดียวเลยครับ แต่อย่าวิ่งเป็นเส้นตรง ให้วิ่งแบบโค้งไปโค้งมา วิ่งเข้าหาพื้นที่ที่มีต้นไม้แต่ต้องมีความโปร่งพอที่เราจะวิ่งวกวนทะแยงไปทะแยงมาได้ หากเป็นเป็นพื้นที่เนินหรือป่าเขาก็ให้วิ่งขึ้นที่สูง   นึกถึงภาพว่าเราขับรถเก๋งคันเล็กน้ำหนัก 100 กก. ขับหนีรถ 10 ล้อน้ำหนัก 10,000 กก. (10 ตัน) ก็แล้วกัน   รถเล็กทำได้หลายอย่างที่สิบล้อทำไม่ได้ ในทำนองกลับกัน รถสิบล้อก็ทำอะไรๆที่รถเล็กทำไม่ได้เช่นกัน     

เป็นมาตรฐานที่เขาสอนและบอกเล่ากันมา   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 12 มี.ค. 17, 20:34

แต่เอาเข้าจริงๆ ดูจะเป็นอีก scenario หนึ่ง จากข้อมูลและความรู้ที่ได้มาจากคุยกับชาวบ้านป่าหลากหลาย และที่ได้พบเห็นอะไรมาบ้าง ผมพอจะได้ข้อสรุปต่างๆดังนี้

ช้างในป่ามองว่าคนเป็นสิ่งที่เข้ามารบกวน เข้ามาขัดขวาง เข้ามาขัดจังหวะความสุขความสุนทรีย์ที่กำลังมีอยู่ของตน  การไล่ของช้างเกือบทั้งหมดในป่าจึงเป็นแบบการไล่ตะเพิด มิได้เป็นการไล่ล่าที่หวังผลถึงการเอาชีวิต การไล่จึงไม่นาน ยกเว้นเจ้าสีดอที่อาจจะสนุกกับการวิ่งไล่ตะเพิดแบบเอาให้จบ รู้แล้วรู้รอดกันไปเลย 

ช้างป่าที่ถูกชาวบ้านไล่ตะเพิดหรือถูกชาวบ้านแกล้ง พวกนี้จะเข้ามาตามบริเวณชายขอบหมู่บ้าน หรือตามพื้นที่หัวไร่ปลายนา เข้ามาเพื่อทำลายทรัพย์สินในลักษณะของการแก้แค้น หากพบคนก็อาจจะมุ่งไปถึงการทำร้ายถึงชีวิต

ต่อพรุ่งนี้ครับ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 13 มี.ค. 17, 18:42

ขออภัยเป็นอย่างสูงที่ต้องหยุดกระทู้เมื่อวานนี้ไปดื้อๆครับ

ต่อครับ

ช้างเกเรที่เมื่อเจอกันแล้วเรามีโอกาสถูกไล่มากที่สุด  คือช้างป่าตัวผู้ วัยหนุ่ม ที่เดินตามโขลงอยู่รอบๆ เข้ากลุ่มกับเขาไม่ได้หรือกลุ่มไม่ให้เข้าร่วม  ก็คือที่เรียกกันว่า สีดอ มีงาสั้นๆที่เรียกกันว่า ขนาย

และสุดท้ายก็คือ ช้างแม่ลูกอ่อน   พวกนี้ดุ แต่เป็นการดุเพราะหวงลูก และตามปกป้องลูก   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 13 มี.ค. 17, 19:21

ขอต่อเรื่องแคมป์ในห้วยแม่สินอีหน่อยนะครับ

พอมืดเข้าช่วงเวลาประมาณเดิม ช้างก็มาอีก แต่คราวนี้มาสองสามตัว แล้วก็มาแสดงตนอยู่ไม่นาน ใช้เพียงไฟฉาย ไม่ถึงกับขนาดต้องขว้างด้วยท่อนฟืนติดไฟเหมือนเมื่อคืนก่อน  ไม่น่าเชื่อว่าศาลช้างนั้นมีเรื่องในทางจิตวิญญาณผูกพันกับช้างของปางช้างได้มากมายเพียงนั้น เพียงถอนไปช้างก็ไม่มากวน

คืนนั้นได้นอนพอจะเต็มอิ่มกัน กบเขียดที่เคยร้องตะเบ็งเซ็งแซ่กันก็ดูจะสงบลง  ฤๅ จะเป็นเพราะถูกเรากวาดเก็บมาจนเกือบจะหมดก็ไม่รู้
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 13 มี.ค. 17, 19:35

รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง พอดีมีเรื่องทางวิชาการที่จะต้องใชเวลาขบคิด และไม่มีผู้ใดอยากจะอยู่เฝ้าแคมป์  ผมก็เลยอาสาเป็นผู้อยู่เฝ้าเอง  ไม่ได้เก่งกล้าอะไรหรอกครับ อยากจะรู้ว่าอยู่คนเดียวกลางป่านั้นเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร อยากจะทดสอบความแกร่งทางด้านจิตใจของเรา ซึ่งโดยรวมทั้งหมดก็เพื่อที่จะได้รู้และได้สัมผัสกับความเป็นจริงเพื่อใช้ในการบริหารจัดการหน่วยสำรวจต่อๆไป
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 14 มี.ค. 17, 19:34

พอพรรคพวกเดินหายหลังกันไปหมดแล้ว ความเงียบก็เข้ามาแทนที่ กวาดสายตาดูไปรอบๆว่ามีอะไรจะต้องทำบ้าง  ซึ่งหากจะทำก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน  ตั้งแต่ซักผ้า เก็บกวาดแคมป์ ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ หาฟืน สุมไฟให้กรุ่นๆไว้ ฯลฯ  เป็นงานตามปรกติของแม่บ้านทั่วๆไป

กะว่าในวันนี้จะนั่งทำงานแบบมีสมาธิ เงียบๆ ไม่ต้องมีเรื่องใดมากวน เพื่อ postulate hypothesis ต่างๆที่เป็นไปได้ในกรอบของกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติและทางธรณีวิทยาในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้พอจะได้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของสรรพสิ่งทางธรรมชาติทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่แถบนั้นที่ซึ่งมีความไม่ขัดกันหรือมีความสอดคล้องกันกับเรื่องราวทางธรณีวิทยาของภาคเหนือในองค์รวม (holistic view)     

ในช่วงเวลานั้น เป็นช่วงแรกๆของการสำรวจทำแผนที่ธรณีวิทยาของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ (Systematic Geological Mapping)  ไทยเรายังไม่เคยมีแผนที่ธรณีวิทยาแบบปูพรมทั้งประเทศใดๆมาก่อนเลย   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 14 มี.ค. 17, 20:24

วันนั้นได้เรียนรู้หลายอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของสภาพหรือสภาวะทางจิตและใจ    นั่งทำงานอยู่ได้ไม่นาน สมาธิก็กระเจิง ต้องเลิกแล้วหันไปทำอย่างอื่นแทน(งานแม่บ้าน)เพื่อฆ่าเวลา  พอใกล้เที่ยงวันแดดเริ่มร้อนจัดงานแม่บ้านก็เสร็จสิ้น ทุกอย่างดูเป็นระเบียบเรียบร้อยดี

ความเงียบในพื้นที่เปิดที่มีความก้ำกึ่งระหว่างความอันตรายกับไม่อันตรายนี้มันน่ากลัวอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวนะครับ

ช่วงประมาณบ่ายสามก็ได้ยินเสียงไม้หักแต่ไกล  ช้างมาแล้วครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 15 มี.ค. 17, 18:34

ใจตุ๋มๆต่อมๆอยู่พักหนึ่ง พร้อมๆกับลุกจากที่กำลังนั่งอยู่บนผ้าใบปูพื้นของแคมป์ ระเห็ดไปอยู่ห่างๆแถวๆริมห้วย  สักพักหนึ่ง เสียงไม้หักก็ค่อยๆขยับห่างออกไปจนเงียบหายไป   จากนั้นก็ถึงเวลารอคอยอันยาวนาน รอว่าพรรคพวกจะกลับมาถึงที่พักเมื่อใด 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 15 มี.ค. 17, 19:16

เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ทำให้เกิดความสนใจที่จะเรียนรู้ถึงพฤติกรรมต่างๆของช้างอย่างจริงจัง เพราะพอจะเห็นภาพได้ว่าในอนาคตของวิถีในการทำงานต่อๆไปนั้น คงจะต้องมีเรื่องของช้างเข้ามาเกี่ยวพันอยู่แน่ๆ

จริงๆแล้ว ในพื้นที่ป่าเขาของบ้านเรามีสัตว์อยู่ไม่กี่ชนิดที่เมื่อเจอะเจอกันก็อาจจะทำให้เราเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ก็มี ช้าง หมี งูจงอาง ต่อ(หลุม) ซึ่งพวกนี้ไม่ต้องไปเริ่มทำอะไรกับมันมันก็เริ่มโหดกับเราได้  อีกพวกหนึ่งก็คือพวกที่เราไปทำอะไรมันก่อน แล้วถูกมันตอบโต้ ก็มี หมูป่า ลิง เสือ เก้ง กระทิง    ส่วนสัตว์อื่นๆนั้นหากถูกพวกมันทำร้ายก็คงจะต้องโทษดวง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 15 มี.ค. 17, 20:04

เรื่องแคมป์ในห้วแม่สินที่เล่ามานั้น แสดงให้เห็นภาพหนึ่งของชีวิตจริงที่เกิดขึ้นของคนในเมืองที่เข้าไปแคมป์แรมอยู่ในพื้นที่ป่า ช้างเดินเขามาหา   

แต่ในอีกวิถีชีวิตหนึ่งของคนเดินป่า มันเป็นเรื่องของการเดินเข้าไปหาช้างและการใช้ช้างให้เป็นประโยชน์  ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องรู้จักช้างในแง่มุมต่างๆ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 16 มี.ค. 17, 18:47

จากประสบการณ์  ผมมีข้องสังเกตว่า ช้างป่าของไทยที่พบในพื้นที่ส่วนในของประเทศมีขนาดตัวเล็กกว่าช้างป่าที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า   

ผมเปรียบเทียบจากความสูงของคราบดินโคลนที่ติดอยู่ตามต้นไม้ในป่า ซึ่งเมื่อช้างรู้สึกคันมันก็จะเอาสีข้างถูไถกับต้นไม้ เราก็เลยเห็นคราบโคลนเหล่านั้น    อีกแบบหนึ่งก็เอาความสูงของตัวผมที่เคยยืนเปรียบเทียบกับช้างบ้านที่ถูนำมาใช้งานต่างๆ รวมทั้งช้างที่ผมจ้างทำงาน แล้วเปรียบเทียบกับระดับความสูงของโคลนที่ติดอยู่ตามต้นไม้ในป่าที่ช้างป่าเอาสีข้างมาถูไถไว้  ความสูงต่างกันของช้างในพื้นที่ทั้งสองอยู่ที่ประมาณหนึ่งศอก   

หากคิดไปไกลแบบมโน  ฤๅช้างในการศึกแต่โบราณระหว่างไทยกับพม่านั้นจะต่อกรกันแบบมีความเฉลียวฉลาดและความว่องไวของช้างเล็กกับช้างใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ภาพช้างงัดกันจนหัวอีกตัวหนึ่งยกลอยก็จึงพอมีเห็นกันอยู่
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 16 มี.ค. 17, 19:27

ช้างเป็นสัตว์สังคมหมู่ ไม่นิยมแยกอยู่แบบเดี่ยว แม้กระทั่งช้างที่เรียกว่า สีดอ หรือ ช้างโทน ก็ยังอยู่ไม่ห่างจากโขลง เดินตามและอยู่รอบๆโขลงช้างนั้นแหละ

เมื่อเห็นรอยเท้าตามด่านสัตว์หรือด่านช้างในป่า ที่ดูคล้ายๆกับมีอยู่รอยเดียวหรือมีตัวเดียวนั้น หากพิจาณารอยเท้าดีๆก็จะเห็นว่ามีอยู่หลายตัว (เมื่อช้างเดินเรียงแถวกัน มันเดินเหยียบทับรอยเดิมกัน) เป็นโขลงช้าง แต่จะเป็นโขลงเล็กหรือใหญ่นั้นดูยาก     

ช้างโขลงเล็กที่เคยเห็นก็ประมาณ 6 ตัว และโขลงใหญ่ที่ชาวบ้านเขาเห็นกันก็ว่ากันถึง 30 ตัว เช่น ในพื้นที่ๆอ่างน้ำของเขื่อนเขาแหลมที่น้ำท่วมไปแล้ว (เขตต่อระหว่าง อ.ทองผาภูมิ กับ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี)  และในพื้นที่ป่าของห้วยแม่ละมุ่นบนเส้นทางระหว่างตัวเมือง จ.กาญจนบุรี กับ อ.ศรีสวัสดิ์ (สมัยก่อนที่น้ำในอ่างของเขื่อนเจ้าเณรจะท่วม) ซึ่งเป็นโขลงช้างที่รู้จักกันว่าเป็นพวกโขลงหางด้วน (ปลายหางกุด)     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 16 มี.ค. 17, 19:37

เคยเห็นพื้นที่ๆช้างป่าในห้วยขาแข้งเดินลงมากิน(เล่น)น้ำห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่เตียนราบเลย อยู่ทางฝั่งตะวันตกของลำห้วย มองขึ้นไปบนฝั่งไกลๆเห็นภาพคล้ายเป็นถนนราบเรียบ มีขนาดกว้างพอที่รถเล็กจะวิ่งสวนแบบพอได้ ไม่รู้ว่าเป็นโขลงใหญ่ขนาดใหน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 17 มี.ค. 17, 18:30

รอยเท้าช้างนั้น หากได้เคยพบเห็นอยู่บ่อยๆในพื้นที่ๆที่มิใช่ทางด่าน ด้วยข้อสังเกตและการสร้างความคุ้นเคย เราก็พอจะบอกอะไรๆที่เกี่ยวกับเจ้าของรอยได้  ซึ่งที่เราพึงจะต้องมีความสังเกตก็เพื่อการหลบเลี่ยงอันตราย ที่สำคัญๆก็คือหลีกเจ้าสีดอและโขลงที่มีแม่ลูกอ่อน

ที่ได้เห็นและคุ้นเคยมา รอยเท้าช้างตัวเมียจะมีลักษณะกลมคล้ายกระด้ง ส่วนรอยของตัวผู้จะมีลักษณะออกไปทางเป็นวงรีนิดๆคล้ายไข่เป็ดผ่าครึ่งและมีรอยเล็บยื่นออกมาเล็กน้อยที่ส่วนยอดของวงรี รอยเท้าตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่ารอยเท้าตัวผู้ ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้ว่าเพื่อการรับและกระจายน้ำหนักเมื่อตั้งครรภ์   

ขนาดของวงรอยเท้าผนวกกับรอยลึกที่กดฝังอยู่ในดินจะบอกถึงขนาดตัวและอายุของช้าง  หากเป็นรอยคะมำหน้าก็บอกว่าน่าจะมีงายาวด้วย
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 22
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.062 วินาที กับ 19 คำสั่ง