เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 19 20 [21] 22
  พิมพ์  
อ่าน: 27428 ทำงานกับช้าง
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 300  เมื่อ 05 มิ.ย. 17, 18:36

การนั่งในแหย่งบนหลังช้างเพื่อเดินทางไปใหนมาใหนนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สนุกเอาเสียเลย   

ครั้งหนึ่ง ก็มีเหตุให้ผมต้องเดินข้ามเขาลูกหนึ่งไปยังหมู่บ้านหนึ่งบนเส้นทางที่ได้ทำการสำรวจแล้ว ก็เลยนึกสนุกจะลองนั่งในแหย่งบนหลังช้างในการเดินทางตามเส้นทางในป่าส่วนหนึ่งและบนถนนที่ใช้ลากไม้ส่วนหนึ่ง ระยะทางไกลนิดหน่อย เพื่อจะดูซิว่ามันจะสนุกและสบายเป็นเช่นไร   แทบตายเลยครับ

ท่านทั้งหลายที่เคยนั่งในแหย่งช้างตามสวนสนุกหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่ให้บริการนั่งช้าง คงจะได้เคยสัมผัสกับอาการโยกโคลงต่างๆ      อาการโยกโคลงบนทางราบที่ช้างเดินนั้นจะหนักไปทางเด้งหน้าเด้งหลัง อาการเอียงซ้ายเอียงขวาก็มีร่วมอยู่ด้วย แต่มีน้อย   แต่ในเส้นทางในป่าที่ต้องขึ้นลงเขาและห้วยนั้น อาการโยกหน้าโยกหลังกับอาการเอียงซ้ายเอียงขวาจะรุนแรงมากกว่ามาก   แถมด้วยอาการในลักษณะเหวี่ยงช้ายเหวี่ยงขวาและก้มหน้าหงายหลัง ไม่ต่างไปมากนักจากสภาพของการนั่งอยู่ในเรือที่จอดลอยลำอยู่ในขณะที่มีคลื่นลมแรง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 301  เมื่อ 05 มิ.ย. 17, 19:07

บนเส้นทางขาขึ้นหรือลงในจุดที่มีความชันมาก ก็แทบจะคะมำหรือหงายหลังร่วงลงมาจากแหย่งได้เลยทีเดียว ต้องจับแหย่งให้ดีๆ บริเวณเส้นทางที่มีความชันนี้ก็มักจะมีความแคบและมีกิ่งไม้ระลงมาต่ำ เราก็ต้องคอยหลบหรือปัดกิ่งไม้ต่างๆให้ดีๆ มิฉะนั้นก็อาจจะถูกกวาดตกลงมาได้อีกเช่นกัน

ก็คงพอจะนึกออกนะครับว่า การขึ้นลงในพื้นที่ๆมีความลาดชันมากๆนั้น เราจะไม่เดินตัดขึ้นหรือเดินลงตรงๆ แต่เราจะใช้วิธีค่อยๆเดินขึ้นหรือลงเฉียงๆไปตามลาดเอียงนั้นๆ ทางด่าน(สัตว์)ทั้งหลายก็เป็นในลักษณะนี้เช่นกัน
   
เส้นทางที่เฉียงๆไปตามลาดเอียงนี้จะทำให้มีข้างหนึ่งของเส้นทางเป็นด้านของผนังและอีกข้างหนึ่งเป็นด้านของเหวลึกลงไป ซึ่งคนและสัตว์จะมีวิธีการเดินไปบนเส้นทางเช่นนี้ต่างกัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 302  เมื่อ 06 มิ.ย. 17, 18:45

คนจะเลือกเดินชิดใน คือชิดด้านผนังของลาดเอียง (เดินชิดด้าน slope wall)  สัตว์จะเดินเกาะขอบเหวหรือหน้าผา (เดินเกาะขอบ escarpment)    ซึ่งสำหรับคนนั้น เหตุผลก็น่าจะเป็นในเรื่องของความน่ากลัวและกลัวจะพลาดตกลงไป  สำหรับสัตว์นั้น รู้จากชาวบ้านว่าสัตว์กลัวสิ่งที่มองไม่เห็น คือกลัวอันตรายจากจะเข้าถึงตัวโดยไม่ทันระวังตัว มันจึงต้องเดินไต่ขอบเหวหรือหน้าผาเพื่อจะได้เห็นภาพทั้งหมด

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 303  เมื่อ 06 มิ.ย. 17, 19:38

ก็คงจะนึกภาพออกนะครับ ว่านั่งอยู่ในแหย่งบนหลังช้างที่เดินไปตามทางด่านสัตว์ที่เลาะอยู่ข้างลาดเอียงเขาจะรู้สึกเสียวใส้เช่นใด   และยิ่งรู้ว่าแหย่งนั้นเขาผูกติดกับหลังช้างกันอย่างไร ก็อาจจะเสียวใส้มากขึ้นไปอีก

การใช้ช้างเพื่อการเดินทางไปใหนมาใหนด้วยการนั่งในแหย่งนั้นเป็นการใช้กันในการเดินทางในพื้นที่ๆค่อนข้างราบ (พื้นที่ราบลอนคลื่น_ undulating terrain) เกือบจะไม่มีการใช้กันในพื้นที่ๆเป็นป่าเขาสูงชัน ยกเว้นเฉพาะในกรณีการเคลื่อนย้ายคนป่วยเท่านั้น

แหย่งบนหลังช้างนั้นวางคล่อมอยู่บนสันหลังของช้าง ถูกล๊อคไม่ให้ขยับไปทางซ้ายหรือขวาด้วยกระดูกสันหลังของช้าง และถูกผูกให้ติดกับตัวช้างด้วยเชือกเส้นเดียวหรือแถบเชือกสานที่รัดผ่านใต้ท้องช้างที่บริเวณรักแร้   สำหรับการผูกเพื่อไม่ให้แหย่งเคลื่อนที่ไปข้างหน้าหรือไปข้างหลังนั้น ด้านหน้าจะใช้เชือกเส้นเดียวหรือแถบเชือกสานห้อยรัดผ่านใต้คอตรงบริเวณใหล่ ส่วนด้านหลังจะเป็นเชือกเส้นเดียวที่ร้อยผ่านโคนหางของช้างหรือร้อยผ่านแป้นไม้ที่โคนหาง     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 304  เมื่อ 06 มิ.ย. 17, 20:18

ด้วยข้อจำกัดของการผูกแหย่ง เส้นหนึ่งรัดคอ เส้นหนึ่งรัดรักแร้ เส้นหนึ่งรัดโคนหาง เหนือรูทวารไปนิดเดียว  การจะผูกรัดให้แน่นๆๆมากๆ ช้างก็คงจะไม่ไหว  การผูกรัดก็จะทำได้แต่ในลักษณะของการประคองเพียงเท่านั้น    เมื่อช้างตื่นวิ่งอะไรๆก็จึงเกิดขึ้นได้   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 305  เมื่อ 07 มิ.ย. 17, 17:51

ก็ด้วยการนั่งในแหย่งนั้นไม่ได้มีความสบายเอาเลย เราจึงเห็นชาวบ้านที่เอาช้างเดินไปรับจ้างทำงานในที่ต่างๆจึงใช้วิธีเดินไปกับช้าง ไม่ขึ้นไปนั่งอยู่ในแหย่งบนหลังช้าง แต่กลับเอาข้าวของเครื่องใช้ไปใส่ในแหย่งแทน แม้กระทั่งบนคอช้างเองเราก็อาจจะไม่เห็นมีควาญช้างนั่งอยู่บนนั้นเลย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 306  เมื่อ 07 มิ.ย. 17, 18:23

นั่งอยู่บนคอช้างก็ใช่ว่าจะสบายนะครับ  เคยลองนั่งแล้วเช่นกันทั้งในลักษณะเป็นควาญช้างและนั่งหลังถัดไปจากควาญช้าง

ที่รู้สึกนั่งไม่สบายก็เพราะถูกขนของช้างทิ่มแทงเอา  ขนของมันยาวและแข็งพอที่จะทิ่มทะลุกระสอบป่าน(กระสอบข้าว)และทะลุกางเกงจนถึงเนื้อของเรา แต่ขนของมันก็ไม่ได้แข็งมากจนสามารถแทงเข้าไปในผิวหนังของเราได้อย่างง่ายๆ  จึงรู้สึกเจ็บๆคันๆคล้ายกับการเอาหลังมือของเราไปถูกับหนวดเคราสั้นๆของคนที่ยังไม่ได้โกนหนวดโกนเครา
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 307  เมื่อ 07 มิ.ย. 17, 18:52

เมื่อนั่งอยู่บนคอช้างในตำแหน่งของควาญช้าง นอกจากจะรู้เจ็บๆคันๆกับขนช้างแล้ว ก็ยังจะรู้สึกร้อนเท้าและแข้งอีกด้วย เพราะเราจะต้องห้อยเท้าลงไปในพับหูช้างเพื่อบังคับเขาให้เดินหน้าตรงไป หรือเลี้ยวซ้าย หรือเลี้ยวขวา 

แม้ว่าใบหูของช้างจะต้องพัดวีเพื่อการระบายความร้อนในตัวของมัน (ด้วยการไหลเวียนของเลือดผ่านพื้นที่ของใบหู) แต่ช้างก็จะพัดวีใบหูบ่อยๆเมื่ออยู่ในความรู้สึกที่มีความผ่อนคลาย  ต่างกับในช่วงที่ต้องทำงาน ช้างจะพัดวีใบหูค่อนข้างน้อย ยิ่งเมื่อต้องออกกำลัง มันก็แทบจะพับใบหูแนบคอเกือบจะไม่พัดวีเลย   ดังนั้น เมื่อเราต้องใช้เท้าสั่งการอยู่ที่ข้างใบหูของมัน เราก็ย่อมได้รับไอร้อนจากตัวของช้าง ก็จึงรู้สึกร้อนแข้งร้อนเท้าไม่น้อยเลยทีเดียว   ยิ่งเมื่อช้างรู้สึกไม่พอใจหรือหงุดหงิด มันก็จะแกล้งเราด้วยการพับใบหูให้แนบแน่นกับคอ ซึ่งก็แน่นมากพอที่ทำให้เราชักเท้าออกได้ไม่ง่าย    ช่วงที่มันหุบใบหูแกล้งเรานั้น จะรู้สึกร้อนแข้งขาเอามากๆเลยทีเดียว
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 308  เมื่อ 07 มิ.ย. 17, 19:19

เมื่อนั่งอยู่ในตำแหน่งถัดหลังควาญช้าง (นั่งเรียง)   แม้จะรู้สึกสบายกว่าการนั่งในแหย่ง แต่ก็ไม่เท่ากับการนั่งในตำแหน่งของควาญช้าง   ที่ตำแหน่งหลังควาญนี้ ขนของช้างจะยาวมากกว่าจุดที่ควาญนั่ง ..ก็คงจะไม่ต้องบรรยายนะครับว่าจะรู้สึกเช่นไร..

อีกเรื่องนึงก็คือ ที่ตำแหน่งนี้ จุดที่นั่งมันจะไปอยู่ที่บริเวณสะบักใหล่ของช้าง เมื่อช้างเดิน เราก็จะมีสภาพเหมือนถูกนวดที่ก้น ก้นซ้ายยกที ก้นขวายกที ทำให้รู้สึกปวดเมื่อยไปทั้งตัว 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 309  เมื่อ 07 มิ.ย. 17, 19:33

ก็คงพอจะเห็นภาพนะครับว่า ที่ว่าว่าจ้างช้างทำงานนั้น เป็นการจ้างเพื่อการขนของเท่านั้น ก็คงจะไม่มีผู้ใดจะจ้างเพื่อเป็นพาหนะสำหรับใช้นั่งแทนการเดินเข้าไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 310  เมื่อ 08 มิ.ย. 17, 18:48

อ้อ ลืมไปว่า ที่จริงก็มีการจ้างช้างเพื่อนั่งในแหย่งสำหรับงานในบางกิจกรรม แต่เป็นงานที่ไม่มีความไม่ชอบทางสังคมหรือผิดกฎหมาย ก็คือการนั่งช้างเข้าไปล่าสัตว์ ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่ทำกันในเวลากลางคืนที่เรียกว่า ไปส่องสัตว์  ก็จะทำกันในช่วงเวลาที่มีแสงจันทร์สว่างพอที่จะมองเห็นอะไรต่อมิอะไรได้พอสมควร  เป็นการใช้กลิ่นสาบของสัตว์เพื่อแฝงตัวเข้าไปให้ใกล้กับตัวสัตว์ป่าที่จะล่า  ลักษณะของพื้นที่ๆใช้วิธีการล่าสัตว์ด้วยการนั่งบนหลังช้างนี้ นิยมทำกันในบริเวณที่เป็นพื้นที่โล่งหรือโปร่งมากๆที่เรียกกันว่า ทุ่ง

ทุ่ง ก็คือพื้นที่ในผืนป่าใหญ่ที่โล่งโปร่งเกือบจะไม่มีต้นไม้ยืนต้นใดๆ มีขนาดเนื้อที่ได้ตั้งแต่ประมาณ 1 ไร่ ไปจนถึงเป็นร้อยไร่ บางทุ่งก็มีห้วยเล็กๆตัดผ่าน  พื้นดินของทุ่งโดยส่วนมากจะมีความชุ่มชื้นสูง ทำให้มีหญ้าขึ้นได้ดี จึงทำให้เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า เป็นสถานที่ๆมีสัตว์ป่าลงมาหากิน ในเวลากลางวันก็มี ในเวลากลางคืนก็มี สุดแท้แต่ลักษณะนิสัยของสัตว์แต่ละชนิด     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 311  เมื่อ 08 มิ.ย. 17, 19:25

เมื่อบรรดาสัตว์ที่เป็นอาหารของพวกสัตว์กินเนื้อ (รวมทั้งมนุษย์นั้น) เกือบทั้งหมดจะเป็นพวกสัตว์กินพืช   ทุ่ง ในภาพหนึ่งก็จึงคล้ายกับเป็นพื้นที่สังหาร ต่างกับโป่งที่เป็นพื้นที่ๆใช้ร่วมกันแต่ต้องมีการระวังหลัง   

ในการเดินในป่าใหญ่นั้น หากเมื่อใดได้ไปถึงพื้นที่ๆเป็นทุ่ง ก็จะต้องระวังตัวเพิ่มขึ้นอีกหน่อยโดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นชายป่า/ชายทุ่ง  อาจจะได้จ๊ะเอ๋กับสัตว์นักล่าหรือสัตว์ที่จะถูกล่า

เมื่อจะเดินเข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติที่ยังเป็นธรรมชาติจริงๆในป่าลึก ก็อย่าเลือกที่จะไปตั้งเต๊นท์นอนอยู่ในทุ่งหรือชายทุ่งนะครับ แม้ว่ามันเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่มีความสวยงามมากๆ มีความสงบ แต่ก็มีอันตรายแฝงอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 312  เมื่อ 08 มิ.ย. 17, 20:05

ก็คงจะเป็นเพราะว่า ด้วยความที่ทุ่งมีความสมบูรณ์ในเชิงของความเป็นแหล่งอาหาร สภาพของผืนดิน ภูมิประเทศ พืช และสัตว์     สถานที่ต่างๆเป็นจำนวนมากมายในปัจจุบันจึงมีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า ทุ่ง...  (ซึ่งได้แปรสภาพจากพัฒนาการของพื้นที่ป่า มาเป็นพื้นที่ไร่นา มาเป็นที่ตั้งชุมชน จนกลายเป็นชุมชนเมืองในปัจจุบัน)   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 313  เมื่อ 09 มิ.ย. 17, 17:53

จะนั่งในแหย่งช้างก็ต้องมีความอดทนในเรื่องของการถ่ายเบา   สำหรับผู้หญิงนั้น แน่นอนว่าจะต้องลงมาจากหลังช้าง  แต่สำหรับผู้ชายที่หลายท่านคิดว่ายืนอยู่ในแหย่งแล้วถ่ายเบาก็ได้นั้น เอาเข้าจริงๆแล้วทำไม่ได้ในเกือบจะทุกคนแม้ว่าช้างจะหยุดยืนให้เราทำภารกิจนั้นก็ตาม  ผมคิดว่าคงจะเนื่องมาจากพื้นที่เรายืนเหยียบอยู่นั้นมันไม่เสถียรและการยืนอยู่สูงจากพื้นดินโดยไม่มีอะไรให้จับเกาะนั้นมันทำให้รู้สึกเสียวและกลัวว่าจะตกลงมา เป็นเรื่องของทั้งสองเรื่องนี้รวมกันที่มีผลต่อจิตใจเป็นอย่างมาก  ก็แปลกดีที่เราทำภารกิจนี้ได้ในเรือ ในรถไฟ ในรถบัส 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 314  เมื่อ 09 มิ.ย. 17, 18:35

ขอทำความกระจ่างเล็กน้อยว่า  ในการส่องสัตว์ด้วยการเดินนั้น เขาจะเลือกกระทำกันในคืนเดือนมืด หรือในช่วงเวลาที่ดวงจันทร์ยังไม่ขึ้นหรือลับขอบฟ้าไปแล้ว เหตุผลสำคัญก็คือ สัตว์ป่ามองไม่เห็นเรา แต่เรามองเห็นเขาด้วยแสงจากไฟที่เราฉายส่องไป   

ไฟที่ใช้ส่องสัตว์นั้น ที่มีใช้กันก็มีอยู่ 3 แบบ คือ ไฟจากการจุดแก็ส Acetylene (ที่ช่างซ่อมปะผุพ่นสีรถใช้กัน)  ไฟจาก Spotlight  และไฟจากไฟฉายปกติ   

ไฟจากการจุดแกสนั้น แม้จะไม่สว่างมากนักและส่องไปไม่ไกลมากนัก แต่ก็มีแสงสีนวลที่สัตว์ไม่รู้สึกว่าเป็นการรบกวน จึงมักจะหยุดพิจารณามากกว่าที่จะขยับเคลื่อนที่  ในปัจจุบันนี้ไฟแกสได้เลิกใช้กันหมดแล้ว กลายเป็นของเก่าที่น่าสะสม   ส่วนไฟส่องกบนั้นยังพอจะมีการใช้กันอยู่บ้าง       ไฟจาก Spotlight มีความสว่างมาก สัตว์อาจจะรู้สึกบอดมองไม่เห็นไปชั่วขณะ แต่หากมันเห็นแสงแต่ไกลมันก็จะเดินหนี      ไฟจากไฟฉาย ส่วนมากจะใช้ในการหาสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น ไก่ป่า กบ ปลา เม่น ตัวนิ่ม หรือบางครั้งก็อาจได้อีเห็น ... 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 19 20 [21] 22
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 19 คำสั่ง