เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 18 19 [20] 21 22
  พิมพ์  
อ่าน: 27474 ทำงานกับช้าง
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 285  เมื่อ 30 พ.ค. 17, 20:26

อีกเรื่องหนึ่งของความกล้าของพรานช้างซึ่งผมได้ยินมาจากชาวบ้านในหลายพื้นที่ ก็เป็นเรื่องของการล่าเพื่อเอางาเช่นกัน  ง่ายๆเลย เมื่อได้ตามดูและรู้แล้วว่ามีโขลงช้างที่มีงา พรานก็จะติดตามโขลงช้างนั้น เมื่อสบโอกาสในช่วงเวลาดึกแก่ๆในขณะที่ช้างกำลังหยุดพักผ่อนหรือหลับ พรานก็จะย่องเข้าไปในโขลงเข้าถึงตัวที่มีงา เข้าทางด้านหลังแล้วใช้เท้าเตะขาหลังช้าง เมื่อช้างก็หันหัวมาดู ก็จะใช้ปืนยิงเข้าไปบริเวณหลังกราม   

ที่พรานเขาต้องทำเช่นนี้ก็เพราะว่า ปืนของชาวบ้านนั้นเป็นปืนทำเองที่เรียกว่าปืนแก็ป ขนาดของลูกกระสุนและความแรงนั้นไม่มากพอที่จะยิงช้างได้ในระยะไกล และซึ่งกระสุนก็คงจะไม่สามารถจะเจาะผ่านกะโหลกเขาไปได้  ก็จึงจำเป็นจะต้องใช้วิธีจ่อยิงแบบเผาขน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 286  เมื่อ 31 พ.ค. 17, 18:40

ยิงแล้วไม่จะถูกช้างทั้งโขลงหันมากระทืบเอาหรือไร   

ผมเข้าใจว่าพรานช้างเขาไม่กลัวถูกช้างรุมกระทืบก็เพราะช้างมีลักษณะนิสัยอย่างหนึ่งคือ เมื่อตกใจก็จะวิ่งหนีก่อนแล้วจึงจะย้อนกลับมาจัดการกับต้นเหตุ  ดังนั้นเมื่อช้างเตลิดไปด้วยเสียปืนแล้ว พรานก็จะใช้ช่วงเวลานั้นรีบหลบหนีไป  ในช่วงเวลาที่มืดมีแสงน้อยนั้นช้างก็มองไม่ค่อยจะเห็นพอๆกับคน   

สำหรับผลของการยิงนั้น พรานจะตามมาดูในภายหลัง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติในการล่าสัตว์ใหญ่ด้วยปืนขนาดเล็กในกรณีที่กระสุนขนาดนั้นไม่สามารถจะล้มสัตว์ตัวนั้นได้ในทันใด พรานก็จะใช้วิธีค่อยๆแกะรอยตามไปยังจุดที่มันไปล้มเสียชีวิต  ทิ้งเวลาไว้สักสองสามชั่วโมง หรือจนถึงข้ามวันก็มี กระทั่งเดินกลับมาบ้านเพื่อมาตามคนไปช่วยกันแกะรอยตามสัตว์ตัวที่ถูกยิงนั้นก็มี และรวมทั้งช่วยกันถลกหนัง ชำแหละเนื้อ แล้วช่วยกันขนเนื้อที่ชำแหละนั้นกลับบ้าน 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 287  เมื่อ 31 พ.ค. 17, 19:19

หากได้พบชาวบ้าน 7-8 คนเดินเข้าป่าลึกที่ยังมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ เดินไปยังบริเวณชายป่าที่โอบรอบทุ่งหญ้าเล็กๆ แต่ละคนไม่พกมีดพร้าแต่พกมีดชำแหละเนื้อ (มีดลาบ) แถมบางคนมีกระชุไม้ไผ่สานสะพายหลังไปด้วย  ก็เกือบจะบอกได้เลยว่ากำลังเดินเข้าไปช่วยกันชำแหละสัตว์ที่ได้ยิงตายไว้  และก็พอจะเดาได้อีกเหมือนกันว่า (หากมีความรู้เกี่ยวกับลักษณะของป่าและชนิดของสัตว์ที่อยู่ร่วมกัน) สัตว์ที่จะไปชำแหละนั้นน่าจะเป็นอะไร ซึ่งตามปกติก็มักจะเป็นกวาง  กระทิงนั้นจะมีในบางพื้นที่  หมูป่า เก้งและสัตว์อื่นๆนั้นใช้คน 1-3 คนก็พอ     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 288  เมื่อ 31 พ.ค. 17, 19:44

เนื้อช้างก็มีการชำแหละเอาไปกินเช่นกัน  เท่าที่ทราบ เนื้อช้างจะถูกทำเป็นเนื้อแห้งด้วยการตากแดดหรือรมควัน (ย่างไฟอ่อนๆ) แล้วนำไปขายในตลาดชุมชนโดยบอกว่าเป็นเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น เนื้อหมูป่า เนื้อกระทิง เนื้อกวาง   คนที่ไม่เคยกินเนื้อของสัตว์ดังที่กล่าวมาก็จะแยกไม่ออกว่าของจริงหรือของปลอม  ทั้งนี้ แม้ว่าเนื้อช้างมีความหยาบมาก ผู้ที่นำมาขายเขาก็ใช้วิธีทุบให้เส้นใยเนื้อแตกย่อยลงไปเป็นเส้นเล็กๆคล้ายกับเนื้อสัตว์อื่นๆ

ตีนข้างก็มีการเอามากินเช่นกัน กะเหรี่ยงที่เป็นคนงานของคณะสำรวจบอกว่า  เขาตัดที่ข้อเท้าแล้วเอามาตั้งหมกในกองไฟอ่อนๆจนสุก แล้วเอาส่วนในของอุ้งเท้ามากินกัน มีลักษณะคล้ายวุ้น
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 289  เมื่อ 31 พ.ค. 17, 20:25

สำหรับงาช้างนั้น จะดึงออกมายากมาก  พรานเขาใช้วิธีทิ้งใว้ให้เนื้อหนังทั้งหลายเน่า แล้วจึงค่อยมาถอนงาออก 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 290  เมื่อ 01 มิ.ย. 17, 19:20

ผมเคยพบหัวกะโหลกช้างในป่าอยู่สองครั้ง มีแต่หัวกะโหลกแต่ไม่มีเศษกระดูกอื่นใดเหลือให้เห็นอยู่เลย ดูไม่ออกหรอกครับว่าถูกยิงเพื่อเอางาหรือตายเอง แต่เมื่อพิจารณาจากลักษณะของสถานที่และผืนป่าที่พบกะโหลกแล้วก็น่าจะเป็นเรื่องของการตายเอง

ในสมัยนั้นมีเรื่องที่กล่าวถึงสุสานช้าง ในทำนองว่าช้างทุกตัวในผืนป่าใหญ่นั้นๆจะต้องไปตาย ณ สถานที่แห่งหนึ่ง เป็นสุสานรวมของพวกมัน ผู้ใดได้พบสุสานนั้นก็จะได้ร่ำรวยกันเพราะว่าจะมีงาช้างสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก    เมื่อทำงานที่ต้องเดินป่าจริงๆ ก็รู้แต่แรกเลยว่ามันเป็นเรื่องไม่จริง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 291  เมื่อ 01 มิ.ย. 17, 20:11

ก็คงจะมีคำถามว่า แล้วกระดูกช้างหายไปใหนหมด  คำตอบคือชาวบ้านเขามาขนเอากลับไปบ้าน เอาไปขายครับ เป็นของมีราคา

แล้วผู้ซื้อเขาซื้อเอาไปทำอะไร  ก็เอาไปทำเครื่องประดับ (แหวน จี้...) เครื่องตกแต่ง (เครื่องใช้ เครื่องดนตรี....)  และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ (ตะเกียบ ลวดลายฝังโต๊ะเก้าอี้....) ที่บอกกันว่าทำมาจากงาช้างนั่นเอง    ก็คงพอจะนึกออกแล้วนะครับว่า ก็คงจะต้องมีการใช้กระดูกสัตว์อื่นๆมาหลอกต่อว่าเป็นงาช้างหรือกระดูกช้าง เพราะปริมาณงาช้างคงจะไม่พอใช้ในตลาด   ถึงตรงนี้ก็คงจะพอเห็นภาพต่อไปว่า การล่าช้างนั้น งาเป็นส่วนของมูลค่าเพิ่มที่สูงมาก แต่ไม่มีงาก็ไล่ล่าได้ ได้เงินเหมือนกัน 

เขี้ยวของตัว Walrus ดูจะไม่ต่างกันไปมากนัก 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 292  เมื่อ 02 มิ.ย. 17, 18:56

ก็ยังมีวิธีการในการหยุดช้าง จะเพื่อการจำกัดรัศมีของการเคลื่อนที่ หรือจะเพื่อการโค่นช้าง(ล่า)ก็ตาม ก็คือการทำให้มันเกิดอาการเจ็บปวดเมื่อเวลาก้าวขาเดิน   

วิธีการนี้ก็ได้ยินมาจากปากของควาญช้างที่ผมจ้างช้างของเขาทำงาน เป็นวิธีการอย่างหนึ่งของเจ้าของช้างหรือควาญช้างในการจัดการกับช้างที่มีพฤติกรรมที่มีความอันตรายมากๆในช่วงที่มันกำลังตกมัน   ก็คือ การใช้เสี้ยนที่ทำจากไม้บางชนิด ปักเข้าไปที่ตะโพกหรือโคนขา เสี้ยนนั้นจะขยายตัวและทำให้เกิดอาการอักเสบเจ็บปวดอยู่ชั่วคาบเวลาหนึ่ง (หลายวัน) แล้วอาการเจ็บปวดก็จะหายเอง ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต   ส่วนวิธีการปักเสี้ยนนั้น เขาใช้วิธีการเป่าลูกดอกหรือใช้หน้าไม้    (เดินป่ามานานหลายปี ในหลายท้องที่ และหลายกลุ่มชนเผ่า ไม่เคยเห็นคันธนูและมีการใช้ธนูกันเลย มีแต่หน้าไม้ที่มีการใช้ในทุกชนเผ่า) 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 293  เมื่อ 02 มิ.ย. 17, 19:41

ขอแยกเข้าซอยนิดนึงเกี่ยวกับหน้าไม้ ครับ

คิดว่า ที่ชนเผ่าต่างๆไม่ใช้ธนูแต่ใช้หน้าไม้นั้น ก็เพราะว่า คันธนูกับลูกธนูนั้นมี dimension ที่จำเพาะ จึงจะมีประสิทธิภาพทั้งระยะการยิงความแม่นยำ และอำนาจการทำลาย  การใช้ธนูนั้นเหมาะกับเป้าหมายที่อยู่ไกลและในที่โล่ง การยิงธนูให้เข้าเป้านั้นอยู่ที่การประเมินวิถีของลูกธนู     

สำหรับหน้าไม้นั้น ในประสบการณ์ที่เคยเห็นและเคยเล่นมาตั้งแต่เด็ก แม้รูปทรงของหน้าไม้จะดูเกะกะเก้งก้างไปบ้าง แต่ก็ทำได้ในหลายๆขนาด ตั้งแต่ขนาดของโกร่งประมาณ 1 ศอก ไปจนถึงประมาณ 1 แขน  โกร่งขนาดสั้น (ประมาณ 1 ศอกนั้น) ก็คล้ายๆกับปืนพก ใช้ยิงนก กะรอก ...ได้   ในสมัยก่อนนั้น (ก่อน พ.ศ. 2500 ) ชนเผ่าต่างๆที่เดินทางเข้าเมืองจะพกพาหน้าไม้ขนาดโกร่งประมาณ 1 ศอก ในขณะที่บ้านของเขานั้นจะใช้หน้าไม้โกร่งขนาดประมาณ 1 แขน เพื่อการล่าสัตว์ต่างๆในป่า (เสมือนปืนยาว)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 294  เมื่อ 03 มิ.ย. 17, 19:24

จับช้างได้มาแล้วก็เอามาผ่านกรรมวิธีทำให้มันลืมฝูงและหันมาเชื่อฟังคำสั่งของคน  การแยกลูกช้างออกจากอ้อมอกแม่ก็ใช้วิธีการเช่นเดียวกันนี้

สถานที่ๆใช้ทำกรรมวิธีจะต้องอยู่ใกล้กับห้วยที่มีน้ำไหล ยิ่งอยู่บนหาดในห้วยก็ยิ่งดี  พื้นที่จะต้องโปร่งแต่ก็ต้องมีร่มไม้บังแดดได้ดี  ช้างจะถูกตีปลอกที่ข้อเท้าทั้งเท้าคู่หน้าและคู่หลัง ถูกจัดให้ยืนแล้วผูกข้อขาทั้งสี่ไว้กับเสาไม้ 4 ต้นที่ขุดปักไว้ ในตำแหน่งขนาบติดกับขาทั้งสี่ข้างของช้าง  โดยนัยก็คือช้างอยู่ในพันธนาการท่ายืน ถูกบังคับมิให้สามารถขยับตัวได้ยกเว้นส่วนหัวและหาง 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 295  เมื่อ 03 มิ.ย. 17, 19:53

จุดประสงค์พื้นฐานของกรรมวิธีนี้ก็คือ การทำให้ช้างยอมให้คนขึ้นไปนั่อยู่บนคอ และการรับรู้คำสั่งพื้นฐานบางอย่าง เป็นกรรมวิธีทีใช้เวลาไม่นาน ประมาณหนึ่งสัปดาห์ (+/-)   ควาญช้างที่เป็นผู้ฝึกจะอยู่กับช้างตลอดเวลา ก็คือช้างจะเห็นตัวคนผู้ฝึกสอนในทุกเวลาที่ลืมตา    ผู้ฝึกจะนอนอยู่กับช้าง ไม่กลับไปนอนบ้านจนกว่าจะชนะช้าง จะดูแลให้น้ำให้อาหาร อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายให้ สุมไฟไล่แมลง ฯลฯ (นั่นคือเหตุที่ต้องใช้พื้นที่ริมห้วยที่มีน้ำไหล) 

ทั้งหมดโดยสรุปก็คือ การสร้างมิตรภาพ การสร้างสหายคู่ชีวิตใหม่ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ....   เมื่อช้างยอมรับแล้วจึงก้าวไปสู่ขั้นตอนการฝึกเรียนการทำงานและฝึกทักษะต่างๆ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 296  เมื่อ 04 มิ.ย. 17, 17:56

ภาพที่เล่ามาดูคล้ายกับการทารุณกรรม  แต่ในความเป็นจริงที่ผมได้เห็น ได้นั่งดูและได้คุยกับควาญผู้ฝึก มันเป็นภาพของการกระทำที่มีแต่ความนุ่มนวล ไม่มีการเฆี่ยนตี การแกล้งหรือการทารุณกรรมใดๆ เว้นแต่การถูกบังคับให้อยู่ในท่ายืนนิ่งเท่านั้นเอง ผู้ฝึกจะคอยเอาให้น้ำกิน จะมีถังน้ำวางอยู่ให้ดื่มกินหรือดูดพ่นเล่น อนุญาตให้ดูดฝุ่นพ่นทรายใส่ตัว ช่วยทำความสะอาดปัดฝุ่น ช่วยไล่แมลง....
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 297  เมื่อ 04 มิ.ย. 17, 18:42

การขึ้นไปนั่งขี่อยู่บนคอช้างได้ หรือขี่อยู่บนหลังสัตว์ใดๆได้ ก็เป็นเครื่องแสดงว่าสัตว์ตัวนั้นยอมอยู่ใต้บังคับของคน   ทั้งนี้ สำหรับพวกสัตว์อื่นๆที่นำมาใช้งานทั้งหลาย นอกจากจะใช้เสียงสั่งการแล้วก็จะต้องมีสายตะพายเพื่อใช้ในการบังคับให้หยุด ให้เดิน ให้เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา แถมยังมีไม้เรียว ปฏัก ฯลฯ เข้ามาเป็นอุปกรณ์ร่วมใช้อีกด้วย   

แต่สำหรับช้างนั้น ไม่มีการใช้สายตะพายใดๆ มีแต่การใช้เท้าสีที่ข้างหู ใช้เสียงสั่งการในบางเรื่อง(เช่น ให้ถอยหลังหรือให้ยกขาขึ้นมารับเมื่อควาญช้างจะลงจากคอ) และอุปกรณ์ที่มักจะต้องมีเมื่อขึ้นบังคับช้างก็คือมีดหรือตะขอช้าง 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 298  เมื่อ 04 มิ.ย. 17, 19:11

คำสั่งช้างที่จะได้ยินบ่อยๆก็ในตอนเช้าในช่วงเวลาของการเตรียมช้างให้พร้อมก่อนที่จะทำงาน เช่นให้เดินตามมา (อิ๊ ในภาษากะเหรี่ยง) หรือให้ถอยหลังไป (โช๊ะ ในภาษากะเหรี่ยงเช่นกัน) 

เลยนึกออกถึงวิธีการจูงช้างโดยใช้เชือกกระสอบเส้นเล็กๆ มีปลายข้างหนึ่งผูกติดกับลวดที่ดัดทำเป็นทรงตะขอที่มีขนาดกว้างพอที่จะคล้อง(เกี่ยว)กับโคนหูของช้าง   เมื่อเอาห้อยเกี่ยวไว้ที่โคนหูของช้างแล้วก็จะสามารถเดินจูงช้างไปใหนมาใหนก็ได้ เป็นจุดที่ช้างมันเจ็บไม่แพ้จุดที่บริเวณหนังหุ้มเล็บหรือโคนงา (ที่ใช้เพียงไม้เรียวเล็กๆก็พอ)   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 299  เมื่อ 05 มิ.ย. 17, 18:00

ผู้คนจำนวนมากที่เมื่อรู้ว่าผมจ้างช้างทำงานในป่า ต่างก็มักจะคิดกันว่าผมจะต้องขึ้นไปนั่งอยู่บนหลังช้าง เสมือนหนึ่งกับการใช้รถยนต์ในการทำงานที่ขับๆหยุดๆขึ้นๆลงๆตามจุดต่างๆที่ต้องการ    หากเราต้องขึ้นลงช้างบ่อยๆคงไม่ไหวแน่ๆ เพราะต้องขึ้นทางคอช้าง ให้ช้างยกขาหน้าให้เราเหยียบแล้วยกส่งให้เราตะเกียกตะกายปีนขึ้นไปบนคอ ก่อนที่จะเข้าไปนั่งบนแหย่ง 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 18 19 [20] 21 22
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.059 วินาที กับ 19 คำสั่ง