เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 17 18 [19] 20 21 22
  พิมพ์  
อ่าน: 27423 ทำงานกับช้าง
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 270  เมื่อ 25 พ.ค. 17, 19:31

ต้องขออภัยหากจะผิดพลาดว่าป่าแม่กะสาและป่าแม่วงก์นั้นอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดใด ระหว่าง จ.กำแพงเพชร กับ จ.นครสวรรค์  และอาจจะมีบางส่วนที่เข้าไปอยู่ในเขตของของ จ.ตาก 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 271  เมื่อ 25 พ.ค. 17, 19:46

โดยพื้นฐานแล้ว รอยเท้าช้างตัวเมียจะมีขนาดใหญ่และออกไปทางรูปทรงกลม รอยเท้าช้างตัวผู้ค่อนข้างจะมีขนาดเล็กกว่าของตัวเมียและเป็นออกไปทางทรงรีและมีรอยเล็บที่ยอดของวงรอยเท้า   เมื่อมันเดินตามกันแบบเหยียบซ้ำรอยกัน รอยเท้าที่เด่นที่สุดก็จะเป็นของตัวเมีย ยิ่งถ้ามันเดินตามหลังปิดท้ายขบวน

สำหรับเจ้าสีดอนั้น นอกจากจะมีรอยเท้าเป็นวงรีแล้ว ก็จะต้องหาทางพิจารณาต่อไปด้วยว่า มันเป็นเจ้าตัวที่ดูจะเกเรหรือไม่  ก็จะต้องดูทั้งรอยเท้า ลักษณะการเดิน และร่องรอยที่ปรากฎอยู่ตามต้นไม้...ฯลฯ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 272  เมื่อ 26 พ.ค. 17, 17:43

การพบรอยเท้าช้างที่ห้วยแม่กะสานั้น นอกจะเป็นกังวลกับเจ้าสีดอแล้ว ก็ยังเป็นกังวลกับเจ้าลูกช้างตัวน้อยอีกด้วย เพราะความหวงลูกอาจจะทำให้แม่มันหันมาสนใจกับกลิ่นประหลาดของเราที่โชยไป ทำให้มันนึกจะเดินตามมาดูต้นตอของกลิ่นนั้น   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 273  เมื่อ 26 พ.ค. 17, 18:35

เคยรู้สึกระทึกกับเจ้าสีดอมาครั้งหนึ่งในพื้นที่ห้วยบ้องตี้ล่าง (ซึ่งเป็นพื้นที่คนละฝั่งกับพื้นที่ตั้ง อ.ไทรโยค)  ครั้งนั้นไปกันเป็นทีมใหญ่เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาทางวิชาการธรณีฯบางเรื่อง ไปรวมกัน 11 คน  เข้าไปค้างแรมอยู่คืนหนึ่ง จุดที่ค้างแรมเป็นที่ราบของตะพักลำน้ำ ก็มีกอไผ่ใหญ่ที่ส่วนกลางของกอถูกทำให้โล่งเป็นที่สำหรับนอน พิจารณาดูแล้วก็เข้าใจในทันทีว่าเพื่อความปลอดภัยจากสัตว์ในขณะนอนหลับ เข้าไปนอนได้เพียงสองสามคน ที่เหลือก็ต้องก่อไฟนอนอยู่ด้วนนอก   

เป็นปกติที่เราจะต้องเดินออกไปสำรวจตรวจสอบพื้นที่รอบๆสถานที่ๆเราจะนอน เพื่อจะได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรและรู้ทางหนีทีไล่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน  ก็ได้พบรอยช้างรอยเดียวเป็นทางแต่ค่อนข้างจะไม่เป็นเส้นตรงเหมือนปกติของทางด่านสัตว์ แล้วก็มีต้นไม้เอนและถูกหัก มีโคนต้นไม้เป็นแผลถูกถาก มีดินติดอยู่ที่ข้างต้นไม้สูงพอที่จะต้องมองสูง    เป็นเจ้าสีดอแน่นอน และดูท่าจะออกไปทางเกเรเสียด้วย     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 274  เมื่อ 26 พ.ค. 17, 18:54

มิน่าเล่า ชาวบ้านเขาถึงมุดเข้าไปนอนอยู่ในกลางกอไผ่   

แล้วคืนนั้นเจ้าสีดอก็มาจริงๆ ได้ยินเสียงหักไม้แต่ไกล แต่มันก็ไม่เข้ามายุ่งย่ามด้วย จะเป็นเพราะว่ามาเดี่ยวตัวเดียว หรือเพราะกองไฟ หรืออะไรก็ไม่ทราบ กระนั้นก็ตามก็นอนไม่ค่อยจะหลับกันนัก ต้องคอยสุมไฟให้ติดแดงอยู่ตลอดไม่ให้มอดลงไปในตอนดึกๆ ตะเกียงรั้วก็เอาไปแขวนห่างจากจุดที่เรานอน เพื่อจะได้มีแสงพอที่จะเห็นอะไรๆได้ไกลพอรอบๆจุดที่เรานอน 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 275  เมื่อ 26 พ.ค. 17, 19:12

รุ่งเช้าก็เดินทางกลับออกมาเพื่อไปยังที่อื่นต่อไป แล้วก็กลับเข้ากรุงเทพฯ   

แต่หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ ก็ปรากฎว่า 8 คนในทีมที่ไปด้วยกันนั้นป่วยเป็นไข้มาลาเรีย  โชคดีที่ผมและพรรคพวกที่รับผิดชอบทำงานอยู่ในพื้นที่ย่านนั้นมิได้ป่วยไปกับเขาด้วย ทั้งๆที่ 8 คนนั้นกินยาป้องกันมาลาเรียตามเกณฑ์กำหนด แต่พวกผมไม่ได้กินยาป้องกันๆเลย ใช้วิธีป้องกันจากประสพการณ์ที่ได้พบและเรียนรู้กันมา (ซึ่งพวกผมก็ไม่เคยมีใครเป็นไข้มาลาเรียกันอีกเลย)   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 276  เมื่อ 26 พ.ค. 17, 20:10

ชื่อ "บ้องตี้" นี้  ผมคิดว่าทุกท่านคงจะต้องเคยได้ยิน 

ในทางภูมิศาสตร์ ชื่อนี้เป็นชื่อของลำธารที่เรียกว่า ห้วยบ้องตี้   เป็นชื่อของหมู่บ้านเล็กๆที่เรียกว่า บ.บ้องตี้บน และ บ.บ้องตี้ล่าง  ลักษณะเด่นของห้วยบ้องตี้คือเป็นห้วยที่น้ำไหลไปในทางทิศเหนือ

ในทางประวัติศาสตร์ บ้องตี้เป็นชื่อเรียกของพื้นที่ส่วนหน้าในเขตอำนาจของไทย ในสมัยที่ยังมีการรบกับพม่ากันอยู่ เรียกกันว่าด่านบ้องตี้ ใต้ลงไป(ทิศใต้)จากด่านบ้องตี้ก็จะเป็นด่านมะขามเตี้ยและอื่นๆลงไป  ก็เป็นเส้นทางเดินทัพของพม่าข้ามเขตทิวเขาตะนาวศรีเข้ามาตีไทยในสมัยสงครามเก้าทัพ

ชื่อของสถานที่ต่างๆตลอดสองฝั่งของแควน้อยตั้งแต่เจดีย์สามองค์ลงมาล้วนแต่น่าสนใจทั้งสิ้น แม้กระทั่งข้ามแดนเข้าไปในพม่าในพื้นที่ตั้งแต่เมือง เย ลงมาตลอดแนวฝั่งอ่าวมะตะบันจนถึง จ.ระนอง ก็น่าสนใจ มีทั้งคนไทยและชื่อสถานที่ๆเป็นไทยอยู่ไม่น้อย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 277  เมื่อ 27 พ.ค. 17, 18:25

ครั้งหนึ่งก็เคยพบคนไทยที่มีถิ่นฐานอยู่ในพม่า เข้ามารับจ้างทำงานอยู่แถว บ.วังปาโท่ ในพื้นที่ของ อ.ทองผาภูมิ   แต่งตัวนุ่งโสร่งและใส่หมวกทรงหมวกเงี้ยว ซักถามกันก็เลยได้รู้ว่าเขาเป็นคนไทยที่อยู่ในพม่า ซึ่งมีอยู่หลายหมู่บ้าน พวกเขามิใช่พวกเงี้ยว (ไทยใหญ่) พวกเขายังใช้ภาษาไทยในการสื่อสารกัน (เช่น ข้อยเฮียนหนังสือบ่แตกสาน)  และก็ทราบว่า จากด่านสิงขร ที่ จ.ประจวบฯ ลึกเข้าไปในพม่าก็มีหมู่บ้านคนไทยเช่นกัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 278  เมื่อ 27 พ.ค. 17, 18:57

ในพื้นที่ บ.วังปาโท่ ลีกเข้าไปทาง บ.ห้วยเขย่ง ของ อ.ทองผาภูมิ นั้น    ในสมัยก่อนที่น้ำในอ่างน้ำของเขื่อนเขาแหลมจะท่วม ก็มีโขลงช้างขนาดใหญ่อยู่โขลงหนึ่งเดินหากินอยู่ในพื้นที่นั้น  ผมไม่เคยได้เห็นด้วยตาของตนเอง แต่รู้จากชาวบ้านว่ามีช้างอยู่ประมาณ 32 ตัว 

ผมเคยพยายามจะขอดูให้เห็นด้วยตาของตนเองครั้งหนึ่ง  วันหนึ่งก็มีโอกาสดี ไปพักอยู่ที่บ้านสารวัตรกำนัล แล้วก็ได้ทราบว่า เจ้าช้างโขลงนั้นได้ลงมากินและทำลายไร่กล้วยและไร่งาของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้ๆกับหมู่บ้าน และก็เป็นคืนที่พระจันทร์กำลังส่องแสงกำลังดี (จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็จำไม่ได้ แต่อยู่ที่ประมาณ 8 ค่ำ)   ว่าเจ้าช้างคงจะลงมาระรานเช่นเดิม  ก็เลยตัดสินใจเดินเข้าไปในพื้นที่นั้นกับชาวบ้านสองสามคนในลักษณะของการส่องสัตว์  ก็กลัวอยู่นะครับ แต่ก็เชื่อในประสพการณ์และความสันทัดของชาวบ้านว่าน่าจะนำพาหลีกเลี่ยงอันตรายต่างๆได้     คืนนั้น ช้างไม่ลงมา
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 279  เมื่อ 27 พ.ค. 17, 19:37

รุ่งสาย ออกเดินไปทำงานผ่านไร่ของชาวบ้านที่ช้างได้ลงมาอาละวาด   ไร่งานั้นราบเรียบดั่งถูกรถเหยียบทับ ราบเรียบไปหมด ต้นงาถูกถอนเอาไปสุมไว้ที่ชายไร่  ห้างไร่ถูกพังราบ ถูกเอาไปกองรวมกัน กะละมังถูกเหยียบจนแบน ช้อนสังกะสีก็ยังถูกทำให้แบน

ผ่านไปที่ไร่กล้วย ไม่เหลือต้นกล้วยเลยสักต้น ทั้งกินและทั้เหยียบให้แบนราบติดดินไปเลย

เมื่อเขื่อนเขาแหลมสร้างเสร็จและน้ำในอ่างเอ่อท่วมพื้นที่ต่างๆในแถบนั้น ผมเชื่อว่าช้างโขลงนั้นคงจะอพยพไปหากินอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำของห้วยบีคลี่ (หนึ่งในห้วยหลักที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำแควน้อย) ถึงพื้นที่ด้านทิศเหนือของเขาช้างเผือกของหมู่เหมืองปิล๊อก (พื้นที่ๆเรียกกันว่า ปิเต่ง)    ที่เดาเช่นนี้ก็เพราะว่า โขลงช้างจะขยับไปในทางทิศใดก็ลำบากด้วยถูกล้อมรอบไปด้วยกิจกรรมของคน ทางทิศใต้ ก็หมู่บ้านห้วยเขย่งและเส้นทางรถไปเหมืองปิล๊อก ทางทิศเหนือ ก็พื้นที่อพยพคนออกจากพื้นที่ๆน้ำในอ่างท่วม ซึ่งก็คือที่ตั้งใหม่ของตัวอำเภอสังขละบุรี   อีกช่องทางของการอพยพของช้างโขลงนี้ ก็คือข้ามน้ำแควน้อยเข้าไปอยู่ในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 280  เมื่อ 28 พ.ค. 17, 18:44

เคยมีความสงสัยว่า ชาวบ้านจะเพิ่มจำนวนประชากรช้างในเพียงพอสำหรับการนำมาใช้งานในพื้นที่ได้เช่นใด 

ทางแรกก็คือ การได้มาจากการตกลูก 
 
ชาวบ้านเองมีความสามารถในการเลี้ยงช้างได้ตัวเดียว มากไปกว่านี้ก็คงจะหาเลี้ยงไม่ไหว  ดังนั้น หากจะเพิ่มประชากรด้วยวิธีการตกลูก ก็จะต้องหาคู่ให้มัน ซึ่งกว่าจะหาคู่ได้ก็คงจะต้องใช้เวลาอยู่ไม่น้อยเลย  ทุกคนเห็นว่าการเลี้ยงช้างตัวเมียจะได้เปรียบมากกว่า เพราะยังขายลูกของมันได้ด้วย ประชากรช้างเลี้ยงตัวเมียก็เลยมีมากกว่าช้างเลี้ยงตัวผู้ การหาตัวผู้ก็เลยยาก ที่เหมาะใจเราก็ยากขึ้นไปอีก และหากจะเหมาะใจช้างก็คงจะยุ่งยากขึ้นไปอีกไม่น้อยเลยทีเดียว   

ช้างตั้งท้องนานเกือบ 2 ปี ตกลูกครั้งละ 1 ตัว เกิดมาแล้วก็ต้องเลี้ยงให้โตจนอายุประมาณ 20+ ปี จึงจะนำมาใช้งานได้ดั่งหนุ่มสาววัยฉกรรจ์  ดังนั้น กว่าจะได้ประชากรแรงงานช้างเพิ่มขึ้นมาจึงต้องใช้เวลามาก 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 281  เมื่อ 28 พ.ค. 17, 19:23

ทางที่สองก็คือ การจับช้างป่า (การคล้องช้าง)

ในกรณีนี้ เราคงจะนึกถึงภาพแสดงการคล้องช้างในสมัยโบราณที่ใช้วิธีการต้อนโขลงช้างเข้าเพนียด เป็นมหกรรมที่มีทั้งสิ่งก่อสร้างและผู้คนมากมาย (ฝ่ายคนดู ฝ่ายพิธีกรรม และฝ่ายปฏิบัติการ) 

ชาวบ้านคงจะกระทำดังภาพเช่นนั้นไม่ได้  การดำเนินการของชาวบ้านนั้นเป็นไปในอีกรูปแบบหนึ่งเลย   ผมไม่เคยเห็นการปฎิบัติการในช่วงเวลาของการจับช้าง เพียงแต่เห็นเครื่องมือและอุปกรณ์เท่านั้น  แต่เคยเห็นกรรมวิธีในช่วงเวลาของการทำให้ช้างเชื่องและเชื่อฟังคำสั่ง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 282  เมื่อ 28 พ.ค. 17, 19:39

อุปกรณ์ในการจับช้างก็มีเพียง เชือกที่ทำจากหนังสัตว์ทำเป็นบ่วงบาศ 4 เส้น แต่จะยาวเท่าไหร่ไม่ทราบ  ก็น่าจะยาวพอที่ปลายด้านหนึ่งจะใช้มัดข้อเท้า อีกปลายหนึ่งจะใช้ถือหรือมัดกับสิ่งใดบนหลังช้างได้ 

อุปกรณ์ในการทำให้ช้างเชื่องและเชื่อฟังคำสั่งก็มีเพียงเสา 4 ต้น (เพนียด) ปลอกข้อเท้าและข้อเข่าที่ทำจากหวาย และไม้เรียว
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 283  เมื่อ 29 พ.ค. 17, 19:43

สำหรับวิธีการจับช้างป่านั้น  เจ้าของบ่วงบาศหนัง 4 เส้นกับเพื่อนคู่หูของเขาที่ออกจับช้างด้วยกันเล่าให้ฟังว่า  การจับช้างป่านั้นเขาจะเลือกจับช้างที่กำลังเข้าสู่วัยหนุ่มสาว โดยการใช้ช้างที่เขาเลี้ยงและฝึกมาสองตัวช่วยกัน นักจับช้างทั้งสองคนจะไสช้างเข้าไปขนาบตัวช้างน้อย ใช้เชือกหนังคล้องคอ แล้วค่อยๆกันให้แยกออกจากโขลง พาไปยังหาดในห้วยที่มีแอ่งน้ำเพื่อทำกระบวนการตัดความสัมพันธ์กับโขลงและญาติ

ดูแล้วเหมือนจะไม่มีเรื่องอะไรซับซ้อนเลย แต่มันก็น่าจะมีเรื่องที่ซ่อนอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว  เรื่องแรกก็คือ จะต้องมีการติดตามและเฝ้าดูโขลงช้างในละแวกพื้นที่นั้นๆว่ามีการตกลูกหรือไม่ ดูพฤติกรรมการเคลื่อนที่ไปใหนมาใหนของโขลงช้างนั้นๆ  ดูลักษณะนิสัยและสันดานของการกระทำเรื่องต่างๆ ซึ่งก็คือเรื่องของการ "รู้เขา"  ดูสถานที่ต่างๆที่จะใช้ประโยชน์และที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์...ฯลฯ

เรื่องต่อมาก็คือ การทำให้คนมีความกลมกลืนไปกับช้าง ก็มีเรื่องของกลิ่นเป็นสำคัญ เลยข้อพึงหรือข้อต้องปฎิบัติเช่น ไม่นอนกับภรรยา ไม่อาบน้ำ ขลุกอยู่กับช้างระยะเวลาหนึ่ง ด้วยการแยกตัวออกไปนอนอยู่นอกบ้านสองสามวัน ซึ่งในระหว่างนี้ก็จะมีพิธีบวงสรวง ไหว้เจ้าที่เจ้าทางเทพยดาฟ้าดินเทพาอารักษ์และสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวง  ในระหว่างนี้ภรรยาจะนำอาหารมาส่งให้   ก็คือเรื่องในส่วนของการ "รู้เรา"  ทำจิตใจให้แข็งแกร่งและมีสมาธิในการทำงาน     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 284  เมื่อ 30 พ.ค. 17, 19:21

เรื่องของความกล้าของพรานกับช้างนี้  ท่านที่เคยอยู่ในภาคเหนืออาจจะเคยได้ยินเรื่องเล่าอยู่บ้าง  ซึ่งเรื่องที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆก็คือเรื่องของการขโมยตัดงาของช้างเลี้ยงในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่     เรื่องนี้น่าจะมีความจริง  ช้างที่ผมเคยจ้างทำงานนั้น ตัวหนึ่งมีขนายยาวประมาณ 1+ศอก เมื่อเข้าไปในบางพื้นที่ เมื่อทานอาหารเย็นที่แคมป์แรมเรียบร้อยแล้ว ควาญช้างก็จะไปนอนเฝ้าช้างที่ได้นำไปปล่อยให้หากินอาหาร เพราะกลัวว่าจะถูกขโมยงา

สำหรับท่านที่ไปเที่ยวปางช้างที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอาจจะได้เคยเห็นช้างงากุด ที่เห็นนั้นเป็นการตั้งใจตัดให้กุดเพราะว่าช้างตัวนั้นดุและเคยทำร้ายคน     
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 17 18 [19] 20 21 22
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 19 คำสั่ง