เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 16 17 [18] 19 20 ... 22
  พิมพ์  
อ่าน: 27345 ทำงานกับช้าง
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 255  เมื่อ 19 พ.ค. 17, 19:31

ควาญช้างจะขัดล้างผิวหนังของช้างมากที่สุดในบริเวณสันหลังของช้าง (ทั้งสองข้างของแผ่นหลัง) บริเวณข้างตัวที่เป็นแนวของแถบเชือกรัดแหย่ง (ที่รัดรอบตัวบริเวณรักแร้ของช้าง) ที่บริเวณคอที่ควาญช้างนั่ง และที่บริเวณโหนกหัว (คงจะเกี่ยวกับการทำความสะอาดแผลจากตะขอหรือมีด)   

เมื่อขัดสีฉวีวรรณเสร็จแล้ว ควาญช้างก็จะปล่อยให้ช้างได้นอนแช่น้ำอีกสักพักหนึ่งก่อนที่จะให้ลุกขึ้นไปแต่งตัว   น่าเอ็นดูดีนะครับ อยู่กันด้วยความเข้าใจความต้องการซึ่งกันและกัน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 256  เมื่อ 20 พ.ค. 17, 18:54

ว้นใหนที่เส้นทางเดินค่อนข้างจะง่าย คือเดินตามทางด่านสัตว์   ก็มีอีกภาพหนึ่งที่น่าดู แทนที่ควาญช้างจะนั่งอยู่บนคอในลักษณะที่เอาเท้าแนบไว้ที่ข้างหูช้าง ก็จะนั่งในอีกท่าหนึ่งคือเอาเท้าห้อยไว้ที่โหนกหัวของช้าง ปล่อยให้ช้างเดินไปตามทางเองโดยไม่ต้องมีการบังคับ ช้างเองก็รู้ว่าต้องเดินไปทางนั้น ไม่ต้องเดินออกนอกทางจนกว่าจะได้รับการสั่งการจากควาญช้าง
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 257  เมื่อ 20 พ.ค. 17, 19:19

แล้วก็มีภาพที่น่าดูผนวกเข้าไปอีก   เมื่อทั้งช้างและคนอยู่ในอารมณ์ที่ผ่อนคลาย ควาญช้างก็ยังเอาวิทยุมาเปิดเสียงดังฟังข่าวสารและเพลงบนคอช้างอีกด้วย 

ในสมัยนั้นมีวิทยุทรานซิสเตอร์คลื่น AM ที่ผลิตโดยบริษัทของไทยอยู่ยี่ห้อหนึ่ง (หนึ่งเดียวในสมัยนั้นและในปัจจุบันก็ยังมีผลิตขายอยู่)  เสียงดังฟังชัดในพื้นที่ป่าเขาทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดและ ณ จุดใดก็ตาม  ดีกว่าวิทยุมีชื่อที่นำเข้ามาขายเสียอีก ที่เกือบจะเป็นใบ้ รับคลื่นใดๆเกือบจะไม่ได้เอาเสียเลย พอจะรับฟังได้บ้างก็ในข่วงเวลาเย็นที่อากาศมีความหนาแน่นมากขึ้น   

วิทยุ Made in Thailand เครื่องนี้ มีความแข็งแรงทนทานมาก ตกหล่นอย่างไรก็ยังเปิดฟังได้  ผมเคยต้องเปลี่ยนตัวเครื่องซึ่งตกแตกจนไม่น่าดูแล้ว ย้ายเครื่องในซึ่งมีอยู่ไม่กี่ชิ้น เอามาใส่ในแกลลอนน้ำมันเครื่องของรถยนต์  กลายเป็นวิทยุประจำหน่วยที่พกพาไปทั่วทุกป่าที่เข้าไปทำงาน ก็ยังใช้ได้ต่อมาอีกหลายปีโดยไม่ต้องกลัวตกแตก อึดจริงๆครับ     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 258  เมื่อ 22 พ.ค. 17, 18:37

ที่เอาวิทยุเข้าป่าไปด้วย มิใช่เรื่องเพื่อความสุขนะครับ แต่เพื่อจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากภายนอกบ้าง เป็นการสื่อสารแบบ one way communication เป็นสื่อเดียวที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ทุกที่  แต่ก็น่าเสียดายที่สาระที่ส่งกระจายเสียงออกมาทั้งวันเกือบทั้งหมดนั้นมีอยู่สองเรื่องหลักๆ คือ เพลง และโฆษณาขายของ   รายการที่เป็นสาระทางความรู้มีน้อย และที่มีก็ยังเหมาะสำหรับคนในเมือง    ก็ยังดีที่ชาวบ้านยังนิยมเปิดฟังข่าวของสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยในตอนเย็น ส่วนข่าวเช้านั้นส่วนใหญ่จะฟังรายการของนายหนหวย   สำหรับในช่วงเวลาสายๆและบ่ายๆ ก็จะมีรายการกระจายเสียงที่พอจะแยกออกได้เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มละครวิทยุซึ่งชาวบ้านในเขตเมืองจะนิยมฟังกัน ส่วนชาวบ้านป่าก็จะฟังรายการเพลง ซึ่งน่าจะเป็นรายการโฆษณาสลับเพลงเสียมากกว่ารายการเพลง... เรียกว่าฟังแก้ง่อม คือฟังไปงั้นแหละ ใช้เสียงเป็นเพื่อน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 259  เมื่อ 22 พ.ค. 17, 19:33

สภาพในปัจจุบันนี้ก็ดูจะไม่ต่างไปจากสมัยนั้น แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าอย่างมากมายทางเทคโนโลยีและทางวิทยาการของสื่อ 

สถานีวิทยุการในปัจจุบันนี้เกือบทั้งหมดกระจายเสียงด้วยระบบ FM ซึ่งมีข้อจำกัดในด้านพื้นที่ครอบคลุมและอุปสรรคที่ขวางกั้นการกระจายของคลื่น  ต่างกับคลื่นในระบบ AM ที่เกือบจะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ครอบคลุมและอุปสรรคขวางกั้น แต่มีสถานีออกอากาศเหลืออยู่ในปัจจุบันนี้น้อยมาก
   
สาระที่ต่างๆที่ออกอากาศในระบบ FM ต่างๆ จะว่าไปแล้วก็อยู่บนพื้นฐานของการโฆษณาและเพลงเป็นหลักเช่นเดียวกันกับสมัยก่อน แม้ว่าจะมีสถานีที่เน้นสาระทางข่าวสาร แต่ด้วยความจำกัดของพื้นที่ครอบคลุมก็จึงมีประโยชน์ในวงจำกัด  ชาวบ้านห่างไกลก็ยังคงต้องฟังวิทยุแบบมีแต่โฆษณากับเพลงอยู่เช่นเดิม แถมในหลายพื้นที่ก็ยังรับฟังได้แบบขาดๆวิ่นๆอีกด้วย   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 260  เมื่อ 22 พ.ค. 17, 20:38

ประเด็นของเรื่องก็เพียงจะบอกว่า ข้อมูลข่าวสารที่น่าจะกระจายได้ในวงกว้างตามพัฒนาการทางเทคโนโลยี วิทยาการและสื่อ ดูจะกลับกลายเป็นว่ามีวงจำกัดแคบลงไปมากกว่าสมัยก่อน   ข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหลายจะมีอยู่ในเฉพาะพื้นที่หนึ่งเท่านั้น เมื่อเริ่มห่างออกไปจากพื้นที่นั้นๆ ข้อมูลข่าวสารก็จะเริ่มแปรเปลี่ยนไป มีทั้งใส่ไข่ ใส่สี ตีความ ขยายความ จนสุดท้ายกลายเป็นข่าวลม เกิดเป็นข่าวลือ เกิดเป็นข่าวที่มีความจริงอยู่เพียงนิดเดียว นี๊ดเดียวจริงๆ

ข่าวสารที่ออกอากาศจากสถานีใน กทม. จะครอบคลุมพื้นที่ของ กทม.และปริมณฑลเท่านั้น เมื่อออกนอกเขตปริมณฑลก็ขาดหายไป รับฟังไม่ได้อีกต่อไป จะต่อข่าวได้อีกครั้งก็เป็นข่าวเล่าต่อเลียแล้ว ยิ่งห่างจากออกไปข่าวก็ยิ่งเปลี่ยนไป   แล้วชาวบ้านที่อยู่ไกลปืนเที่ยงจะได้ฟังหรือได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงครบถ้วนได้อย่างไร    ผมขับรถออกต่างจังหวัดบ่อยๆจากกรุงเทพถึงเชียงรายโดยเฉพาะในช่างที่มีการชุมนุมต่างๆ จากที่มีข่าว(วิทยุ)หลากหลาย  ค่อยๆกลายเป็นเกือบจะไม่มีข่าวอะไรเลยเพียงพ้นเขตกรุงเทพฯไปเท่านั้นเอง แล้วก็ถึงระดับที่คุยกับคนท้องถิ่นแบบคนละเรื่องเดียวกัน     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 261  เมื่อ 23 พ.ค. 17, 19:37

ท่านทั้งหลายที่ชอบออกต่างจังหวัด หรือชอบท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าเขา  ผมมีความเห็นว่า ท่านควรจะต้องมีวิทยุพกพาที่สามารถรับฟังคลื่น AM ได้ติดตัวไปด้วย  ควรจะลองเปิดหาคลื่นแล้วฟังดู และก็ควรจะบันทึกคลื่นความถี่ที่รับฟังได้นั้นไว้ด้วย   วิทยุติดรถยนต์ต่างๆก็สามารถรับฟังวิทยุในระบบนี้ได้  ลองเปิดฟังดูนะครับ มีอยู่อย่างน้อยก็

สถานีวิทยุที่ยังคงกระจายเสียงด้วยคลื่นวิทยุในระบบ AM นี้ โดยลึกๆแล้วก็คือระบบสำรองสำหรับการกระจายข้อมูลข่าวสารในสภาวะที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด  ในภาพง่ายๆก็คือ เสาส่งต้นเดียว สามรถรับฟังได้หลายจังหวัดเกือบจะครอบคลุมได้ทั้งภูมิภาคเลย ต่างกับระบบ FM ที่จะต้องใช้เสาส่งหลายต้นและต้องใช้ระบบ Repeater หรือจะต้องมีเจ้าหน้าที่ช่วยดำเนินการถ่ายทอดสัญญาณ   

ในปัจจุบันนี้ก็มีอยู่ไม่น้อยสถานีที่มีคุณภาพไม่เป็นรองพวกสถานี FM  เน้นสาระที่ประเทืองความรู้แบบ positive approach 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 262  เมื่อ 23 พ.ค. 17, 20:29

วิทยุที่เอามาเปิดฟังเสียงดังลั่นป่านั้นก็มีเหตุผลแฝงอยู่ด้วยเรื่องหนึ่ง คือ

ในสมัยนั้น เป็นช่วงของการต่อสู้ทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครอง  เมื่อเดินไปใหนมาใหนในป่า พบชาวบ้านเมื่อใดก็จะได้รับคำถามบ่อยมากว่า มีวิทยุใหม แรกสุดก็มีความสงสัยกับคำถามนี้ว่าถามไปทำไม   แล้วก็ถึงบางอ้อโดยเร็ว ก็คงเข้าใจนะครับว่าเขาถามไปทำไม   เราก็เลยเอาวิทยุออกมาเปิด ได้ยินเสียงไปไกล เพื่อเป็นการแสดงว่ามาทำงาน มิใช่มาเพื่อการล่าสัตว์ มาแบบเปิดเผย มิใช่มาแบบแอบๆซ่อนๆมีลับลมคมใน    เมื่อถูกถามว่ามีวิทยุใหม เราก็ชี้ไป บนหัวช้างนั่งไง  ก็ทำให้ความแครงใจทั้งหลายได้หายไปเกือบหมด     เล่ามาเพียงเท่านี้ก็คงพอจะเห็นภาพได้นะครับ ว่าอิทธิพลทางความคิดที่แพร่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆในสมัยนั้นเป็นเช่นใด 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 263  เมื่อ 24 พ.ค. 17, 17:35

แล้วก็ที่ผมต้องจ้างช้างและชาวบ้านซึ่งนอกจากจะเพื่องานแล้ว ก็เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพวกผมเอง การจ้างก็มิใช่ผมจะเป็นผู้เลือกได้ว่าจะจ้างผู้ใด เป็นเรื่องของสุดแท้แต่หัวหน้าชุมชุน (กำนัน สารวัตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน)จะจัดให้ว่าจะเป็นผู้ใด ซึ่งจะต้องมี 2 คนเป็นอย่างน้อย อย่างว่าแหละครับ คนเดียวหัวเดียวกระเทียมลีบ เขาก็กลัวถูกหมกป่าเช่นกัน    กรณีจ้างช้าง 2 ตัวนี้ก็คือการจ้างชาวบ้านรวมกัน 4 คน แต่แรกนั้นเขาจะให้จ้างรวม 5 คนด้ายซ้ำไป แต่เราต่อรองได้เหลือเพียง 4 คน

ที่หัวหน้าชุมชนขอเป็นฝ่ายเลือกคนให้เรานั้น หนึ่งในคนที่เขาเลือกให้นั้นจะเป็นคนสนิทของเขา เหตุผลลึกๆมีอยู่หลายเรื่อง แต่ที่สำคัญคือ การสืบหาข่าว ติดตามความเคลื่อนไหว พิสูจน์ทราบการมาปรากฎตัวและการทำงานของเรา และได้รู้จักสถานที่และพื้นที่ใหม่ๆที่ไม่เคยเข้าไป   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 264  เมื่อ 24 พ.ค. 17, 18:13

มันเป็นเรื่องของกระบวนการรู้เขารู้เรา ด้วยวิธีการเข้าให้ถึงต้นตอของข้อมูลที่ต้องการจะทราบ คนของเขาจึงต้องเข้าถึงตัวผม ส่วนผมเองไม่มีความจำเป็นถึงขนาดนั้น
   
นั่นแหละ เลขานุการ....ทั้งหลายจึงได้รับการปฎิบัติที่ดีและได้รับความเป็นกันเองจากผู้ที่เข้ามาติดต่อและประสานงานเสมอ 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 265  เมื่อ 24 พ.ค. 17, 18:45

วกกลับเข้ามาต่อเรื่องช้าง

คงจะได้เคยเห็นภาพว่า ในขณะที่ช้างกำลังทำงานนั้น จะมีควาญช้างหรือคนที่เป็นตีนข้างยืนอยู่ติดๆกับขาหน้าซ้ายของช้าง บางทีก็เห็นดึงมีดออกจากฝักที่เหน็บอยู่ที่เอวมาถือไว้ ทำท่าคล้ายกับว่ากำลังจะฟันอะไรสักอย่างหนึ่ง สักประเดี๋ยวก็เก็บเข้าฝัก 

ก็เป็นภาพของช้างที่กำลังจะดื้อ จะไม่ยอมทำตามคำสั่ง  มีดที่เขาดึงออกมาจากฝักนั้นเป็นการขู่ว่า หากไม่ทำก็จะโดนสันมีดเคาะที่โคนเล็บหรือโคนงา(หรือขนาย)ตรงบริเวณที่มีหนังปิดอยู่  เป็นจุดอ่อนของช้าง เจ็บมากและกลัวมาก    ก็คงไม่ต่างไปจากคนเราและสัตว์อื่นๆที่เมื่อโดนอะไรที่โคนเล็บแล้วจะรู้สึกเจ็บปวดมากๆ   

แล้วช้างจะเจ็บมากเพียงใด ??  ก็มากพอที่หยุดการกระทำใดๆในขณะที่กำลังทำร้ายคน   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 266  เมื่อ 24 พ.ค. 17, 19:20

เท่าที่เคยเห็นมา จุดที่คนยืนกำกับช้างจะอยู่ที่บริเวณขาหน้าซ้ายเสมอ ไม่เคยเห็นยืนอยู่ที่บริเวณขาหน้าขวา  และก็แน่นอนว่าคงไม่มีผู้ใดไปยืนกำกับอยู่ที่บริเวณขาหลัง

ควาญช้างเอง จะขึ้นคอ/ลงคอช้าง ก็ขึ้น/ลงทางด้านขาซ้าย ให้ช้างใช้ยกขาซ้ายช่วยส่งและช่วยรับ   

ก็คงจะเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรที่น่าจะสนใจมากนัก ไม่ต่างไปจากภาพของการขึ้น/ลงและจอดจักรยาน  หรือขึ้น/ลงและจอดมอเตอร์ไซด์   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 267  เมื่อ 24 พ.ค. 17, 19:37

เป็นเรื่องของคนถนัดขวาทั้งนั้น 

ผมคิดว่าช้างก็จะถนัดขวาเช่นกันกับเรา ?? ตัวผมเองไม่มีความรู้และไม่มีข้อเท็จจริงใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้   เพียงแต่มีข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆ(ดังที่ได้เล่าผ่านมาแล้ว)ว่า เมื่อช้างลงน้ำมันจะเริ่มด้วยการนอนตะแคงไปทางขวา  ดูลักษณะอาการคล้ายๆกับคนที่ถนัดขวาซึ่งจะเอนตัวลงนอนไปทางขวาก่อนที่จะพลิกตัวไปด้านอื่น (??)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 268  เมื่อ 25 พ.ค. 17, 18:54

แล้วช้างหลับยังไง  ยืนหลับ หรือ หมอบหลับ ?

ผมไม่เคยเห็นช้างในขณะที่มันกำลังหลับ  แต่ก็เชื่อว่าน่าจะมีทั้งสองลักษณะ    การยืนหลับนั้น อนุมานได้จากคำบอกเล่าของควาญช้างที่ได้เล่าว่า เคยตามไปดูช้างที่ปล่อยให้หากินหลังจากที่ตนเองได้ดื่มเหล้าจนพอเมา ว่าได้นั่งหลับพิงขาช้าง ช้างก็ยืนนิ่งๆให้นั่งพิงหลับไปนาน  และในอีกภาพหนึ่งที่บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นการยืนหลับก็คือ ช้างในสวนสัตว์ต่างๆ ที่ถูกล่ามโซ่ไว้ที่ข้อเท้า ซึ่งน่าจะต้องเป็นการยืนหลับมากกว่าจะเป็นการนั่งหลับ  แต่..
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 269  เมื่อ 25 พ.ค. 17, 19:21

แต่ที่ในตะพักลำห้วยแม่กะสา ในป่าแม่วงก์ จ.นครสวรรค์  

รุ่งเช้าวันหนึ่งในช่วงต้นปีซึ่งมีอากาศหนาวเย็น ได้เดินไปตามห้วยเพื่อไปทำงาน ก็พบรอยเท้าช้าง เมื่อเดินตามไปก็ได้พบหญ้าราบเป็นวงๆอยู่ 6 วง ยังเห็นไออุ่นได้อย่างชัดเจน ซึ่งแสดงว่าช้างเพิ่งจะลุกเดินออกไป  แสดงว่าช้างคงจะนอนหลับในลักษณะของการหมอบหลับ   เสียววูบขึ้นมาในทันทีเลย อาจจะซวย หากเดินมาถึงจุดนั้นเร็วกว่านี้ก็อาจจะถูกช้างไล่เตลิดเปิดเปิงไปแล้ว หรือไม่ก็อาจจะเป็นความโชคดีที่ช้างโขลงเล็กๆนี้ได้ยินเสียงของเราและเลือกที่จะเดินหลบไป

ตอนเดินไปตามรอยช้างนั้น ก็ได้พิจารณาแกะรอยดู รู้ว่าเป็นรอยใหม่ พบว่ามีตัวเมียแน่ๆและก็มีลูกช้างด้วย แต่ไม่รู้ว่ามีกันทั้งหมดกี่ตัว เพราะช้างที่เดินตามกันจะเหยียบซ้ำรอยเท้าเดิมของตัวที่เดินนำหน้าถัดไป    ที่ต้องให้ความสนใจแกะร่องรอยเท้าช้างนั้น เหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือ เพื่อจะดูว่าจะเป็นรอยของเจ้าสีดอหรือไม่ เจ้าตัวอันตรายที่ไล่ทำร้ายเราได้เกือบจะทุกเมื่อที่จ๊ะเอ๋กัน  
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 16 17 [18] 19 20 ... 22
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.162 วินาที กับ 19 คำสั่ง