เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 ... 22
  พิมพ์  
อ่าน: 27440 ทำงานกับช้าง
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 195  เมื่อ 28 เม.ย. 17, 19:31

ต้นบุกนั้น ก็เลือกต้นที่มีขนาดลำต้นเล็กกว่าแขนของเราหน่อย เอามาตัดเป็นท่อนๆยาวประมาณ 1 คืบ แล้วก็เอาไปหมกไฟให้สุก แบบสุกจริงๆ คือให้นิ่มคล้ายมะเขือยาวเผา     จากนั้นก็เอามาฉีกส่วนที่เป็นเปลือกออกทิ้งไป ฉีกเนื้อในออกเป็นเส้นขนาดประมาณนิ้วก้อยใส่ชาม เอามะขามเปียก (4-5 ฝัก) มาละลายน้ำนิดหน่อย ใส่ลงในชามแล้วขยำไปนวดไปสักพักหนึ่งก็พร้อมที่จะเอามากินกับน้ำพริกได้แล้ว  น้ำพริกก็ตำแบบออกเผ็ดมากหน่อย ลดรสเปรี้ยวลงไป อาจจะปรุงรสน้ำพริกให้รู้สึกว่ามีหวานบ้างก็ได้   

คำแรกๆที่กินกันก็มักจะรู้สึกแหยงๆ แต่พักเดียวเท่านั้นแหละก็จะหมดเกลี้ยงไปเลย
 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 196  เมื่อ 28 เม.ย. 17, 19:50

ในพื้นที่ตะพักลำห้วยที่มีต้นบุกขึ้นอยู่นั้น  หากในบริเวณใกล้ๆเป็นจุดที่มีน้ำห้วยไหลริน เราก็มักจะพบว่ามีต้นบอนป่าและต้นกระดาษ (ใบยาวเป็นวา กว้างเป็นแขน) ขึ้นอยู่ตามขอบห้วยในจุดที่มีน้ำไหลผ่าน      ตามเกาะแก่งและเนินทรายที่อยู่กลางห้วยก็มีต้นไคร้น้ำ ซึ่งยอดสดของมันก็เอามาจิ้มน้ำพริกกินได้เหมือนกัน ซึ่งก็อาจจะเกิดอาการคันได้เช่นกัน     จะวกเข้าไปหาเรื่องกินอีกแล้วครับ รูดซิบปาก

ก็เพียงแต่จะเล่าว่า ไม่เคยเห็นช้างเก็บกินพวกพืชคันที่ได้กล่าวถึงเลย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 197  เมื่อ 28 เม.ย. 17, 20:01

มีอยู่สองคำที่ผมได้กล่าวถึง คือ ไปปล่อยช้างในตอนเย็น (ให้มันไปหาอาหารกิน) และ ไปจับช้างในตอนเช้า (เพื่อเอาตัวมันมาทำงาน)  ซึ่งก็มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวที่น่าจะต้องขยายความ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 198  เมื่อ 29 เม.ย. 17, 17:26

จะขอประมวลข้อมูลจากเรื่องราวที่ได้เล่าผ่านมาก่อนนะครับ 

ก็มีว่า  ช้างไม่ได้กินอาหารอย่างเป็นกิจจะลักษณะทั้งวันตั้งแต่เช้าจนเย็น   เมื่อเอาของลงจากหลังช้างและปลดเครื่องแต่งตัวแล้วก็เอาช้างไปปล่อยให้หากินอย่างอิสระ   สถานที่ๆเอาช้างไปปล่อยจะอยู่ในหุบห้วยและที่เป็นห้วยที่มียังคงแอ่งน้ำ   ควาญช้างจะออกไปตามจับช้างในเวลาเช้ามืดแล้วนำกลับมาที่ตั้งแคมป์แรม เพื่ออาบน้ำแต่งตัวเตรียมพร้อมทำงาน

ก็คงจะมีข้อสงสัยตามมาว่า  ช้างทำงานทั้งวันจะมิหิวแย่หรือ   เอาไปปล่อยให้หากินอย่างอิสระ แล้วมันจะไม่หนีไปหรือ   ทำไมจึงเอามันไปปล่อยในหุบห้วยที่ยังคงมีแอ่งน้ำ   แล้วจะไปตามจับมันในตอนเช้าได้อย่างไร
   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 199  เมื่อ 29 เม.ย. 17, 17:54

เรื่องไม่ได้กินทั้งวันว่าช้างจะหิวใหม 

หิวแน่ๆครับ  แต่ในระหว่างที่เดิน ช้างก็จะใช้งวงเก็บเกี่ยวต้นไม้ใบหญ้ากินไปตลอดทาง ซึ่งควาญช้างก็มิได้ห้ามปรามประการใด ก็มีเพียงบางครั้งที่ต้องปราม  ครับ...เป็นการปรามจริงๆด้วยการใช้เสียงเอ็ด ดุด่าว่าไป    ก็น่าเห็นใจช้างอยู่นะครับ ไปพบของอร่อยเข้า จะขอเก็บกินให้สะใจหน่อยก็ไม่ได้ บางครั้งก็หักกิ่งหรือรูดใบไม้ไม่ได้อย่างที่อยาก    อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการเดินลุยไปนั้นก็เป็นเรื่องปรกติที่จะต้องมีกิ่งไม้ที่จะมาระรานสิ่งของที่บรรทุกจนอาจจะทำให้เกิดตกหล่น  ควาญช้างก็จะต้องหยุดฟันกิ่งไม้เหล่านั้น ซึ่งก็มีบ่อยครั้งมากที่จะใช้วิธีการสั่งให้ช้างเอางวงช่วยดึงกิ่งไม้เหล่านั้นลง  ช่วงเวลานี้ก็เป็นอีกช่วงเวลาสั้นๆที่ช้างจะได้หยุดกินโน่นกินนี่
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 200  เมื่อ 29 เม.ย. 17, 18:20

แล้วมีหยุดกินน้ำด้วยใหม   

มีครับแต่จะว่าเป็นการหยุดเพื่อกินน้ำจริงๆก็ดูจะไม่ใช่  มักจะเป็นการหยุดยืนเอาเท้าแช่น้ำให้รู้สึกเย็นสะบายเสียมากกว่า  งวงก็จะดูดน้ำพ่นไปที่ใต้ท้องระบายความร้อน  ส่วนหูก็จะโบกกวัดไปมาช่วยระบายความร้อนภายในตัว  ทราบว่าที่ใบหูช้างนั้นมีเส้นเลือดที่นำเลือดภายในตัวไหลเวียนมาผ่านเพื่อระบายความร้อน หูช้างก็เลยต้องโบกกระพืออยู่ตลอดเวลา

ช้างเป็นสัตว์ที่มีสมอง คิดได้ และมีความรู้สึกทางจิตใจ  และช้างก็เป็นสัตว์ที่มีนิสัยขี้เล่นอยู่ไม่น้อย   ยืนพ่นน้ำใต้ท้องตัวเองอยู่ดีๆ ก็นึกสนุกชูงวงพ่นน้ำขึ้นไปเหนือหัวให้ควาญผู้เป็นเจ้าของได้เย็นฉ่ำด้วย    เสียงตะโกนโหวกเหวกโวยวาย เสียงสั่งการก็จะดังลั่นออกมาจากควาญช้าง      แล้วค่อยไปขยายความเอาตอนช้างอาบน้ำนะครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 201  เมื่อ 30 เม.ย. 17, 18:42

การเอาช้างไปปล่อยในหุบห้วยและให้หากินอย่างอิสระนั้นก็มีเหตุผลที่สำคัญอยู่หลายประการ ซึ่งภาพต่างๆเป็นดังนี้ครับ

ห้วยที่จะนำช้างไปปล่อยนั้นจะเป็นห้วยแยกที่มีหุบค่อนข้างจะเปิดกว้าง(wide V-shaped valley) มีผนังห้วยไม่ชันนัก  ซึ่งเหตุผลพื้นฐานที่สำคัญก็คือ หุบห้วยนั้นเป็นเสมือนพื้นที่ๆมีขอบเขต (ตามแนวของสันจมูกห้วยทั้งสองฝั่ง) ซึ่งหากมีอาหารสมบูรณ์ดี ช้างก็ไม่อยากจะเดินสูงขึ้นไปบนสันจมูกห้วย ก็จะหากินอยู่ตามตลิ่งใกล้ๆร่องห้วยนั่นแหละ  ฝ่ายควาญเองก็สามารถจะไปตามจับช้างของตัวเองได้ไม่ยาก ด้วยว่าช้างก็จะหากินและนอนอยู่ในหุบห้วยนั้นๆเท่านั้น   ฝ่ายช้างเองก็ดูไม่อยากจะเดินเตลิดไปไกลๆเช่นกัน เพราะไม่คุ้นกับพื้นที่ รู้สึกโดดเดี่ยว และขาดฝูงที่จะคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามคับขัน   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 202  เมื่อ 30 เม.ย. 17, 19:32

แล้วช้างกลัวอะไร

ผมก็ไม่แน่ใจนักว่าช้างกลัวอะไรบ้าง แต่ช้างนั้นขี้ตกใจอยู่ไม่น้อย   เรื่องนี้เจอด้วยตนเองมาบ่อย เดินอยู่ดีๆก็วิ่งเตลิด บางครั้งควาญช้างก็เอาไม่อยู่ ต้องรีบกระโดดลงจากคอช้าง ของที่บรรทุกก็ถูกกิ่งไม้กวาดตกหล่น ต้องตามเก็บเอามาบรรทุกใหม่และทำการมัดใหม่ให้แน่น  ควาญเองบางครั้งก็ไม่รู้ว่าอะไรที่ทำให้ช้างวิ่งเตลิด แถมเป่าแตรอีกด้วย ก็คิดว่าน่าจะเป็นพวกแตน พวกต่อ และพวกผึ้งโพรง   

ช้างนั้นดูผิวเผินคล้ายกับว่าจะเป็นสัตว์หนังหนา แต่ก็น่าจะเป็นหนังหนาที่มีความไวต่อความรู้สึกเจ็บปวดจากของแหลมคมที่มีพิษบางอย่าง  ผมเคยต้องเดินลุยป่าที่มีเถาหนามที่มีลำต้นสี่เหลี่ยมซึ่งมีหนามบนสันเหลี่ยมตรงกันข้ามหันไปทิศทางหนึ่งและอีกคู้หนึ่งของสันเหลี่ยมหันไปในอีกทิศทางหนึ่ง  ช้างยังต้องหยุดไม่เดินลุยต่อไป ต้องยอมถอยกันทั้งคณะแล้วหาเส้นทางเดินใหม่   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 203  เมื่อ 30 เม.ย. 17, 19:54

อีกอย่างหนึ่งที่ช้างกลัวซึ่งจะว่ากลัวก็ไม่น่าจะใช่ น่าจะเป็นเรื่องของความไม่ถูกกันที่ฝังอยู่ในสายเลือดอย่างเข้มข้น ก็คือ ม้า  และซึ่งในม้าเองก็เช่นกัน    ชาวบ้านและควาญช้างเขาว่า เมื่อใดที่สัตว์ทั้งคู่จ๊ะเอ๋กันก็จะเตลิดเปิดเปิงกระเจิงกันไปคนละทิศละทางทั้งสองฝ่าย   ผมไม่เคยเห็นความโกลาหลด้วยเหตุนี้ เพียงแต่ได้เคยพบกับสถานการณ์ที่ฝ่ายม้าซึ่งเป็นขบวนม้าต่าง กับฝ่ายช้างซึ่งบรรทุกของๆคณะสำรวจของผม ต่างก็หาเส้นทางเดินเลี่ยงกันให้ห่างระยะกันมากๆและพยายามทำให้เสียงเงียบมากที่สุด    ก็ให้บังเอิญว่าในวันนั้นผมเดินล่วงหน้าช้างไปไกล ได้พบกับกะเหรี่ยงหัวหน้าขบวนม้าต่างที่ก็เดินล่วงหน้ามาเช่นกัน พอรู้ว่าเรามากับช้างเท่านั้นเอง เขาก็เดินย้อนกลับๆไปนำพาขบวนม้าเดินหลบหลีกไปเสียไกลเลย  มิฉะนั้นก็คงจะได้มีประสบการณ์กับสถานะการณ์ที่น่าจะเละเทะอยู่ไม่น้อย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 204  เมื่อ 01 พ.ค. 17, 18:31

ขอย้อนกลับไปเรื่องสัตว์ปีกที่ต่อยได้เจ็บๆอีกนิดนึงครับ 

ที่พบบ่อยๆก็ได้แก่ มิ้ม แตน(ที่ไม่รู้ว่ารังอยู่ที่ใหน) และแตนลิ้นหมา (ซึ่งมักจะเกือบเดินชนรังของมันอยู่บ่อยๆ)  สำหรับผึ้งนั้น ที่พบบ่อยก็จะเป็นพวกผึ้งโพรง ส่วนผึ้งหลวงนั้นมักจะพบห้อยอยู่ใต้กิ่งต้นยางซึ่งอยู่สูงจนต้องแหงนคอตั้งบ่ามองดู   ตัวต่อนั้นนานๆจึงจะเห็นสักครั้งหนึ่ง แล้วก็ไม่เคยเห็นรังของต่อหัวเสือในป่าเลย มีแต่เห็นอยู่ในพื้นที่ชาย(หมู่)บ้าน  ต่อหลุมก็เคยเห็นอยู่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ในการเดินทำงานเข้าไปในพื้นที่ๆไม่มีเส้นทาง เราจะต้องเดินหลบเดินมุดต้นไม้ พุ่มไม้ และกิ่งไม้ไปมา ก็จึงพบกับแตนมากที่สุด จึงเป็นเรื่องปรกติที่จะต้องถูกแตนมันต่อยเอา  ซึ่งก็เป็นเรื่องที่โชคดีอีกนะครับ เพราะแตนเป็นพวกที่ไม่ระดมพวกแห่กันออกมารุมต่อย อีกทั้งการถูกมันต่อยยังแสดงว่ามันมีรังอยู่ในบริเวณใกล้ๆนั้น จะได้ไม่เดินไปชนรังของมัน  รังของแตนลิ้นหมานั้นมักจะห้อยอยู่ในระดับศีรษะของเรา ซึ่งหากไปเดินชนรังของมัน มันก็จะช่วยกันรุมต่อย ดีแต่ที่มันไม่ตามเมื่อเรารีบหนีไป   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 205  เมื่อ 01 พ.ค. 17, 18:40

สำหรับมิ้มและผึ้งโพรงนั้น ไม่น่ากลัวและดูว่ามันจะเป็นฝ่ายกลัวเราเสียมากกว่า  พบกันเมื่อใดก็อีกไม่นานที่พวกมันก็จะได้กลิ่นควันของบุหรี่ยาเส้น ต้องรีบบินหนีทิ้งรังกัน   น้ำผึ้งและรังที่มีตัวอ่อนของมันเป็นของหวานและอาหารโปรดของชาวบ้าน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 206  เมื่อ 01 พ.ค. 17, 19:23

ทำให้นึกถึงแมลงอีกสองขนิดที่ชอบบินวนเวียนตอมอยู่ที่บริเวณตาของช้างและรอบๆตัวเรา คือ แมลงหวี่ และ แมลงชันโรง  ที่ชอบบินตอมตัวเราจนน่ารำคาญ บางครั้งมันก็มาอยู่ที่บริเวณรูจมูก ต้องคอยใช้ลมหายใจสั่งมันออกไป ช้างก็รำคาญเช่นกัน   

แมลงหวี่นั้นน่ารำคาญแต่เราทำอะไรมันไม่ได้  แต่สำหรับแมลงชันโรงนั้น เนื่องจากที่อยู่ของมันในโพรงไม้จะเต็มไปด้วยของเหนียวๆสีดำที่เราเรียกว่า ขี้ชันโรง ซึ่งเอามาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง  โดยลักษณะง่ายๆแล้ว ขี้ชันโรง ก็คือ กาว คล้ายๆกับกาว epoxy ที่ยังไม่แข็งตัว   ก้อนสีดำๆที่แปะอยู่บนผิวหน้ากลอง แปะอยู่ใต้ลูกระนาดของรางระนาด หรือที่ลูกฆ้องของฆ้องวง และที่เครื่องดนตรีอื่นๆ เช่น แคน  เพื่อการปรับเสียงของเครื่องดนตรีเหล่านั้น นั้นล้วนเป็นขี้ชันโรงทั้งสิ้น   ชาวบ้านป่าก็เก็บขี้ชันโรงเอาไว้ใช้ประโยชน์อื่นๆหลากหลายเช่นกัน เช่น กับแร้วดักสัตว์  กับหน้าไม้ กับลูกดอก อุดรู หรือรอยรั่วซึมต่างๆ ...
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 207  เมื่อ 01 พ.ค. 17, 20:25

ชักจะแยกเข้าซอยไปไกล พอนะครับ    กลับมาต่อเรื่องของการปล่อยช้างให้หากินอย่างอิสระ

เรื่องที่ทั้งช้างและควาญช้างกลัวพอๆกันก็คือ เสือ

บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 208  เมื่อ 02 พ.ค. 17, 18:40

ช้างจะกลัวเสือจริงหรือไม่นั้น ผมไม่รู้มากพอที่จะกล่าวถึง   ภาพที่เคยเห็นในวีดีโอสารคดีชีวิตสัตว์ต่างๆนั้น ได้เห็นอยู่สองภาพ เป็นภาพของความไม่กลัวแต่ก็ยกระดับการของการระวัง และภาพของเสือกระโดดขึ้นไปบนหลังช้างซึ่งเป็นลูกช้าง ซึ่งช้างจะตกใจมากแต่ฝูงก็ไม่ได้แสดงถึงการเข้าไปทำการช่วยเหลืออย่างจริงจัง

ก็มีอยู่วันหนึ่งช่วงเวลาประมาณสองทุ่ม กำลังนั่งล้อมวงคุยกัน ได้ยินเสียงช้างร้อง ควาญช้างทั้งสองคนก็ลุกขึ้นคว้ามีดและปืนลูกซองในทันทีแล้วรีบเดินไปหาช้างที่นำไปปล่อยให้หากิน จนดึกมากแล้วจึงกลับมาที่แคมป์    รุ่งเช้าจึงได้ถามถึงเรื่องราว ซึ่งได้คำตอบว่าไม่รู้ว่าร้องด้วยเหตุใด  ซักไปคุยไปจึงได้ความรู้มาว่า ตามปกติแล้วช้างจะไม่ร้อง เหตุที่รีบไปดูช้างก็เพราะว่าช้างอาจจะถูกเสือกระโดดขึ้นหลัง ซึ่งมันจะช่วยตัวเองไม่ได้
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 209  เมื่อ 02 พ.ค. 17, 19:29

การปล่อยช้างให้หากินอย่างอิสระนี้ ก็มีอีกเรื่องหนึ่งคือ บางทีช้างก็จะเดินหากินไปเรื่อยๆจนห่างไกลจากจุดที่ปล่อยออกไปมาก  มีอยู่หลายครั้งที่กว่าจะจับช้างนำกลับมาถึงแคมป์ได้ก็เป็นเวลาสายมาก  แล้วก็มีอยู่วันหนึ่งที่กลับมาถึงเอาใกล้เที่ยง วันนั้นจึงต้องหยุดอยู่กับที่ ไม่ถอนแคมป์ และต้องรื้อของใช้ที่เก็บเรียบร้อยเตรียมบรรทุกช้าง เอาออกมาใช้ใหม่

การเดินช้างก็จึงต้องระวังเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย มิใช่ว่า ตื่นแต่เช้า แล้วรีบออกเดิน โดยคิดว่าจะได้พบกับแคมป์ในพื้นที่ๆนัดพบ  ซึ่งอาจจะไม่ได้พบกัน เพราะการเคลื่อนย้ายขบวนอาจจะยังทำไม่ได้ หรือขบวนอาจจะมาไม่ถึงพื้นที่ๆนัดพบด้วยมืดค่ำเสียก่อน...  เมื่อไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์การสื่อสารใดๆ ก็จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะต้องรอจนเห็นตัวช้างมาถึงแคมป์ในตอนเช้าเสียก่อนจึงจะเริ่มออกเดินแยกไปทำงานได้  อย่างน้อยก็รู้ว่าทุกอย่างพร้อมสำหรับการเคลื่อนตัวตามปกติ    เครื่องมือที่จะใช้ตามจนเจอตัวกันจากนี้ไปก็คือการแกะรอยเท้า
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 12 13 [14] 15 16 ... 22
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.084 วินาที กับ 19 คำสั่ง