เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 22
  พิมพ์  
อ่าน: 27346 ทำงานกับช้าง
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 21 ก.พ. 17, 19:22

สัมผัสแรกอยู่ในพื้นที่ป่าที่ครอบคลุมรอยต่อเขต 3 จังหวัด   จ.สุโขทัย (อ.ศรีสัชนาลัย) จ.แพร่ (อ.วังชิ้น และ อ.เด่นชัย) และ จ.อุตรดิตถ์ (อ.ลับแล)   

เขตต่อระหว่าง จ.สุโขทัย กับ จ.แพร่ ก็คือ ห้วยแม่สิน  หากเห็นสภาพของพื้นที่รอยต่อในปัจจุบันนี้แล้วอาจจะไม่เชื่อเลยว่า เมื่อสมัย พ.ศ. 2510+ นั้นเคยเป็นป่าที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย   บนเส้นทางรถยนต์ดั้งเดิมที่ใช้เชื่อมต่อระหว่าง อ.ศรีสัชนาลัย (บ.หาดเสี้ยว) กับ อ.เด่นชัย นั้น จะมีเพียงด่านตำรวจตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวอยู่ที่บริเวณสะพานข้ามห้วยแม่สินบนฝั่งของเขต จ.แพร่  เหนือจากหาดเสี้ยวขึ้นไป จะพบเห็นชุมชน(แบบซ่อนอยู่)อีกครั้ง ก็คือจนกระทั่งเข้าใกล้ตัว อ.เด่นชัย คือ ที่ บ.บ่อแก้ว ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนป่าไม้ (โรงเรียนป่าไม้แพร่) ซึ่งผมเข้าใจว่าในปัจจุบันนี้คงจะปิดไปแล้ว โรงเรียนนี้ได้ผลิตบุคคลากรในสายงานการป่าไม้ของไทยมาก่อนจะเข้ายุคของคณะวนศาสตร์ ม.เกษตร ฯ   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 21 ก.พ. 17, 20:12

บ.บ่อแก้ว นี้ ได้ชื่อมาจากการที่ได้มีการขุดพบพลอยนานมาแล้ว ผมไม่ทราบประวัติและเรื่องราวของการพบพลอยของที่นี่นัก  รู้อยู่แต่ว่าเป็นเรื่องจริง เพราะในพื้นที่นี้มีหิน Basalt ปกคลุมอยู่  ผมเคยเห็นพลอยที่ว่าเป็นของที่นี่อยู่สองสามครั้ง เป็นพวกพลอยไพลินสีอ่อนและเม็ดเล็กกว่าพลอยของ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี 

ท่านใดที่มีพลอยจากแหล่งนี้ ก็เก็บรักษาไว้ให้ดีนะครับ หายากเต็มที  เป็นเรื่องของความมีค่ามากกว่าเรื่องของความมีราคา ครับ     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 21 ก.พ. 17, 20:38

เขตรอยต่อระหว่าง จ.อุตรดิตถ์ กับ จ.แพร่ นั้นเป็นสันเขาสูง   หากเดินทางบนเส้นทางรถสายอุตรดิตถ์-แพร่  เส้นแบ่งเขตจังหวัดก็คือสันเขา ณ จุดที่เป็นที่ตั้งของจุดพักผ่อนหรือจุดชมวิวเขาพลึง  หากเดินตามสันเขานี้ไปทางตะวันออกก็จะถึงสันเขาแบ่งเขตตรงจุดที่เรียกว่าดอยพญาพ่อ

สมัย 2510+ นั้น ผมเดินสำรวจข้ามสันเขาบริเวณแถวๆดอยพญาพ่อนี้  สันเขาสูงเอาการอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว   ออกเดิน 6 โมงเช้าจากห้วยตีนดอยขึ้นถึงสันดอยพญาพ่อก็ 6 โมงเย็น   ต้องล่น(เดินกี่งวิ่ง)ลงไปอีกร่วม 2 ชม.จึงถึงห้วยบริเวณที่มีน้ำ จึงสามารถหยุดหุงหาอาหารและนอนค้างแรมได้

แปลกก็ตรงที่ ไม่ค่อยจะเห็นร่องรอยของช้างในป่าของเขต จ.อุตรดิตถ์ เลย แต่พอรุ่งเช้าเดินตามห้วยลงไปหา อ.เด่นชัย ของ จ.แพร่ จึงได้พบเห็นร่องรอยของช้างมากมาย และก็น่าจะเป็นช้างป่าอีกด้วย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 22 ก.พ. 17, 19:04

ที่ อ.เด่นชัย นี้ มีสถานีรถไฟซึ่งรถไฟสายเหนือทุกขบวนจะต้องจอด  ณ สถานีนี้ ในสมัยก่อนนั้น นอกจากจะเป็นเสมือนจุดเชื่อมต่อของการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่อื่นๆกับ จ.แพร่, จ.น่าน และบางส่วนของ จ.พะเยา  ก็ยังเป็นศูนย์รวมของซุงไม้สักที่จะขนโดยทางรถไฟลงสู่ภาคกลางอีกด้วย

ในสมัยนั้น การทำไม้ยังใช้กำลังของช้างช่วยในการเคลื่อนย้ายและจัดการกับไม้ซุงทั้งหลาย ที่สถานีเด่นชัยก็จึงมีประชากรช้างทำงานอยู่ไม่น้อย  เช่นเดียวกันกับอีกสถานีรถไฟหนึ่ง คือ สถานีแม่จาง ซึ่งก็เป็นอีกจุดที่สำคัญของแหล่งรวมหมอนไม้สัก 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 22 ก.พ. 17, 19:46

การส่งซุงไม้สักจากภาคเหนือลงสู่ภาคกลางนั้น คงทราบกันอยู่ตามที่ได้รับการบอกกล่าวกันว่า ในอดีตนั้นใช้วิธีการล่องมาตามแม่น้ำ  ทางฝั่งภาคเหนือด้านตะวันตกก็ใช้แม่น้ำปิงและแม่น้ำวัง ซึ่งไปบรรจบกันที่ อ.บ้านตาก จ.ตาก    ทางฝั่งภาคเหนือฝั่งตะวันออกก็ใช้แม่น้ำยมกับแม่น้ำน่าน ซึ่งไปบรรจบกันที่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์

ที่จริงแล้วมีอีกเส้นทางหนึ่งควบคู่กันที่มีการขนส่งในปริมาณที่ไม่น้อยเช่นกัน ก็คือ ทางรถไฟ ซึ่งสถานีที่เป็นจุดขึ้นของที่สำคัญก็ดูจะมีเพียงสถานีแม่จางและสถานีเด่นชัย   สำหรับสถานีอื่นๆนั้น ก็พอจะมีการขนส่งอยู่บ้างประปราย เช่น ที่สถานีเชียงใหม่ สถานีบ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ เป็นต้น

ก็เห็นช้างทำงานอยู่ในพื้นที่สถานีรถไฟเหล่านั้น (ยกเว้นที่สถานีเชียงใหม่) จนกระทั่งได้มีการยกระดับ (เอาจริงเอาจัง) กับสร้างระบบถนนลาดยางอย่างเป็นระบบทั่วประเทศ  ก็น่าจะแถวๆ พ.ศ. 2520 +/- กระมัง เครื่องจักรกลและรถลากไม้ก็เข้ามาแทนที่ช้างทั้งหมด จะยกเว้นก็แต่ในพื้นที่ป่าเขาจริงๆ ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกันที่การทำไม้เริ่มจะหันไปทำไม้ชนิดอื่นเพิ่มเติมไปจากไม้สัก โดยเฉพาะการทำไม้ยาง       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 22 ก.พ. 17, 20:54

พุดถึงสถานีรถไฟ ก็เลยนึกออกเรื่องเล็กๆน้อยๆที่อาจจะพอมีสาระอยู่บ้างครับ     ผมประมวลมาจากการสนทนากับพนักงานรถไฟรุ่นเก๋า และจากความทรงจำเมื่อสมัยยังเด็กๆ เมื่อครั้งยังต้องเดินทางด้วยรถไฟที่ลากจูงด้วยรถจักรไอน้ำ  ที่จริงแล้วก็ยังใช้บริการรถจักรไอน้ำสายกาญจนบุรี-น้ำตก (เขาพัง) ในช่วงก่อน พ.ศ. 2520 ในสมัยที่ทำงานในพื้นที่เลาะตะเข็บชายแดนไทย-พม่า    จำได้ไม่แล้วว่าหมายเลขใด คลับคล้ายคลับคลาว่ามีเลข 7 กับเลข 5 อยู่

ในการเดินทางด้วยรถไฟนั้น เราจะสังเกตเห็นว่า มีสถานีรถไฟตลอดเส้นทางอยู่เยอะมาก รถไฟวิ่งเดี๋ยวเดียวก็ถึงผ่านสถานีนึงแล้ว แล้วก็มีสถานีเป็นจำนวนมากที่อยู่โดดเดี่ยว ไม่เห็นมีหมู่บ้านหรือชุมชนเลย

เรื่องก็มีอยู่ว่า ในสมัยก่อนนั้น นอกจากจะตั้งสถานีเพื่อการคมนาคมของผู้คนแล้ว สถานีรถไฟที่ตั้งขึ้น ณ สถานที่เหล่านั้น ก็เพื่อการเติมน้ำและเติมฟืนให้กับหัวรถจักร ช่วงระยะทางระหว่างสถานีก็จะอยู่ที่ประมาณ 10 กม.
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 23 ก.พ. 17, 18:46

ที่สถานีรถไฟที่ใช้เป็นจุดขึ้นไม้ซุงเพื่อการขนส่งทางรางนั้นจะมีพื้นที่ราบค่อนข้างกว้าง ซึ่งในพื้นที่นี้จะมีหลายกิจกรรมเกิดขึ้นในแต่ละวัน เพราะเป็นที่กองรวมกันของไม้ซุงที่จะต้องมีการคัดและจัดแยกสินค้า  ไม้ที่ขนมากองรวมกันนั้นจะขนมาโดยทางรถลากซุง ส่วนการคัดจัดแยกให้เป็นหมวดหมู่ตามต้องการนั้นจะใช้แรงงานช้าง และสำหรับการยกท่อนซุงขึ้นบรรทุกบนโบกี้ขนของเปิดข้างของรถไฟนั้นจะใช้ปั้นจั่น

ในพื้นที่นี้เอง ก็จะได้เห็นภาพการทำงานต่างๆของช้างแบบ(น่าจะครบ)ทุกกระบวนท่า ทั้งยังได้เห็นความแตกต่างในด้านต่างๆของช้างและคน ทั้งในด้านความชำนาญ ความแก่วัด ความน่ารักน่าเอ็นดู  อารมณ์ ..ฯลฯ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 23 ก.พ. 17, 19:43

ภาพประทับใจของผมที่ได้เห็นในพื้นที่ดังกล่าวนี้ก็คือ การสอนช้างวัยแรกรุ่นให้ลากซุง 

ท่อนซุงที่ควาญช้างเลือกเอามาสอนนั้น ขนาดใหญ่กว่าถังแกสหุงต้มขนาดกลางไม่มากนัก ความยาวก็คงจะประมาณ 5-6 เมตร ผมคะเนว่าน้ำหนักของซุงท่อนนั้นน่าจะอยู่แถวๆประมาณ 500+ กก.  ตัวช้างนั้นสูงกว่า 2 เมตรนิดหน่อย คะเนว่า น้ำหนักก็คงจะอยู่ในเกณฑ์ระหว่าง 2-3 ตัน   เมื่อควาญช้างผู้สอนเอาโซ่ไปคล้องกับจมูกซุง ทำการตรวจตราโซ่ลากที่บริเวณหัวไหล่สองข้างของช้าง ดูถูกต้องสมบูรณ์ดีแล้ว ก็สั่งให้ลาก

ควาญช้างไม่ได้ขึ้นนั่งกำกับอยู่บนคอช้าง แต่ถือไม้เรียวอันเล็กๆขนาดต้นเข็มยาวประมาณ 70-80 ซม.ยืนสั่งการอยู่ที่บริเวณขาหน้าของช้าง  ช้างหนุ่มน้อยคงจะกลัวอยู่ไม่น้อย สังเกตได้จากอาการของตาที่กรอกเหลือกไปมา       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 23 ก.พ. 17, 20:37

ช้างหนุ่มน้อยออกแรงครั้งแรก ซุงไม่ขยับเขยื้อนเลย  ควาญช้างก็แกว่งไม้เรียวทำท่าจะเฆี่ยน ช้างก็แสดงอาการกลัวแล้วก็ดึงโซ่ลากให้ตึงพร้อมๆกับเอาเท้าทั้งสี่มารวมชิดกันไว้  โน้มตัวไปข้างหน้า งวงชี้ไปข้างหน้าพร้อมอาการออกกำลังเบ่งเต็มแรง   ด้วยน้ำหนักตัวของมัน ซุงก็ขยับเคลื่อน พร้อมๆไปกับน้ำมูกพุ่งเป็นฝอยออกจากงวง   

คงจะนึกภาพออกนะครับ เอาขามารวมกัน ตัวก็เลยดูกลม พอสูดลมออกกำลังเบ่ง ตัวก็ยิ่งกลมใหญ่ เป็นภาพที่น่าเอ็นดูเลยทีเดียว

ครับ..ก็เป็นการสอนให้รู้จักการใช้น้ำหนักของตัวเอง ลากของที่มีน้ำหนักน้อยกว่าตัวเองตั้งเยอะให้ขยับก่อนที่จะใช้กำลังขาในการลากจูงต่อไป   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 23 ก.พ. 17, 20:57

ในยุคการใช้ช้างนั้น เกือบทั้งหมดจะเป็นซุงไม้สัก จนกระทั่งประมาณ พ.ศ.2515+/- จึงเริ่มมีการตัดต้นยางและไม้มะค่ามากขึ้น การใช้ช้างก็เริ่มจะลดน้อยลงไป เพราะซุงแต่ละต้นนั้นใหญ่มาก ช้างลากไม่ไหว  

ก็พอจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้นิดหน่อยว่า สมัยซุงไม้สักนั้น ซุงแต่ละท่อนยาวประมาณระหว่าง 4-6 เมตร รถลากไม้คันหนึ่งลากซุงได้เกือบ 10 ต้น แต่ละต้นมักจะมีน้ำหนักไม่เกิน 1 ตัน   ในขณะที่ซุงต้นยางแต่ละต้นยาวประมาณระหว่าง 8-10 เมตร รถลากซุงคันหนึ่งลากได้เพียง 2 ต้น      ซุงไม้ยางขนาดใหญ่นี้ ใช้ช้างลากคู่ก็ยังไม่ไหวเลย  
บันทึกการเข้า
Anna
องคต
*****
ตอบ: 552


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 23 ก.พ. 17, 21:02

ช้างหนุ่มน้อยออกแรงครั้งแรก ซุงไม่ขยับเขยื้อนเลย  ควาญช้างก็แกว่งไม้เรียวทำท่าจะเฆี่ยน ช้างก็แสดงอาการกลัวแล้วก็ดึงโซ่ลากให้ตึงพร้อมๆกับเอาเท้าทั้งสี่มารวมชิดกันไว้  โน้มตัวไปข้างหน้า งวงชี้ไปข้างหน้าพร้อมอาการออกกำลังเบ่งเต็มแรง   ด้วยน้ำหนักตัวของมัน ซุงก็ขยับเคลื่อน พร้อมๆไปกับน้ำมูกพุ่งเป็นฝอยออกจากงวง   

คงจะนึกภาพออกนะครับ เอาขามารวมกัน ตัวก็เลยดูกลม พอสูดลมออกกำลังเบ่ง ตัวก็ยิ่งกลมใหญ่ เป็นภาพที่น่าเอ็นดูเลยทีเดียว

อาจารย์บรรยายซะเห็นภาพชัดเลยค่ะ น่ารักจริงๆ เจ้าช้างคงจะเจ็บใจนะคะ ทำมั้ย..คนตัวนิดเดียวถึงได้มีอำนาจเหนือมันได้

ครับ..ก็เป็นการสอนให้รู้จักการใช้น้ำหนักของตัวเอง ลากของที่มีน้ำหนักน้อยกว่าตัวเองตั้งเยอะให้ขยับก่อนที่จะใช้กำลังขาในการลากจูงต่อไป   
บันทึกการเข้า
ninpaat
ชมพูพาน
***
ตอบ: 167


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 24 ก.พ. 17, 10:42

พร้อมๆกับเอาเท้าทั้งสี่มารวมชิดกันไว้  โน้มตัวไปข้างหน้า



ผมพยายามหาภาพมาประกอบเรื่องช้างลากซุง ตามอ้างถึง แต่หาไม่ได้
มีที่ใกล้เคียงที่สุด ก็เพียงเท่านี้ครับ

(ขอขอบคุณ คุณ หนูหลี เจ้าของระโยง มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 24 ก.พ. 17, 18:27

ขอบคุณครับ สำหรับภาพที่น่ารัก

กำลังจะต่อเรื่อง คะมำหัวทิ่ม กับ ก้นจ้ำเบ้า อยู่พอดีเลยครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 24 ก.พ. 17, 18:41

ย้อนกลับไปที่ได้เล่าว่า ควาญช้างจะตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระหว่างโซ่ลากกับสายประคำ(ออกเสียงต่างๆกันไป แต่เมื่อฟังแล้วก็รู้ว่าหมายถึงอะไร) ก็คือจุดเชื่อมต่อสามเส้าระหว่างแถบเชือกถักที่ห้อยอยู่ใต้คอ โซ่ลาก ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จะต้องรับแรงที่จะต้องใช้หรือรับน้ำหนักของซุงที่จะต้องลาก  แล้วก็ยังเป็นจุดเชื่อมต่อของเชือกขวั้นที่พาดบนหลังคอลงมาสำหรับการช่วยประคองแถบเชือกถักและโซ่ลากให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม

หากหูของแถบเชือกถักที่ใช้ร้อยโซ่ชำรุดหรือผูกโซ่ไม่ดีพอ เกิดฉีกขาดหรือโซ่หลุด ก็คงจะนึกภาพออกนะครับ ช้างก็จะคะมำหัวทิ่มแน่นอน   ซึ่งก็คงจะเป็นด้วยเหตุผลนี้ด้วย ที่ในหลายครั้งที่ควาญช้างจะใช้วิธีเดินดินคุมช้างในการลากสิ่งของที่มีน้ำหนักมากๆ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 24 ก.พ. 17, 19:06

แน่นอนครับว่า เมื่อคะมำหัวทิ่ม ช้างก็จะโกรธ  แล้วก็จะเกิดอาการงอน กระฟัดกระเฟียด ก็มากพอที่จะสังเกตเห็นได้เลยทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องปรกติครับ   

ที่จริงแล้ว หากเราไปเที่ยวตามปางช้างต่างๆ เพียงสนใจสังเกตแบบละเอียดหน่อย ก็จะพบเห็นภาพการงอนกันไป/งอนกันมา และ การเอาใจกันไป/เอาใจกันมาระหว่างควาญช้างกับช้างที่เขาเลี้ยงดูแล น่าดูและก็น่าเอ็นดูดีครับ 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 22
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.064 วินาที กับ 19 คำสั่ง