เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 22
  พิมพ์  
อ่าน: 27481 ทำงานกับช้าง
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 02 เม.ย. 17, 19:30

ม้าต่างของชาวบ้านนั้น เมื่อครั้งยังเด็กอยู่ เคยเห็นแถว อ.แม่จัน จ.เชียงราย  เมื่อครั้งทำงานก็ยังพอจะเห็นอยู่บ้างในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน, อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี และในห้วยขาแข้ง เดินกันเป็นคาราวานครั้งละหลายๆตัว

ม้าเป็นพวกสัตว์กินพืชในวงศ์หญ้า แหล่งอาหารของมันในพื้นที่ป่าเขาจึงค่อนข้างจะมีจำกัดมาก การใช้ม้าต่างจึงจำกัดอยู่บนเส้นทางที่มีชุมชนหรือที่ๆที่มีการปลูกข้าว (ข้าวไร่) ทำไร่ (ปลูกข้าวโพด...)   ต่างกับช้างที่กินพืชผักผลไม้ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ป่าเขาได้อย่างหลากหลาย    ช้างจึงเหมาะสำหรับการใช้ในพื้นที่ๆไร้ผู้คนอยู่อาศัย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 02 เม.ย. 17, 20:34

เมื่อบอกว่าใช้ช้างในการสำรวจ หลายๆคนเข้าใจในภาพของการนั่งช้างแทนการนั่งรถ แล้วก็มีที่คิดแบบการเรียกใช้รถรับจ้างสาธารณะอีกด้วย 

การนั่งช้างกระทำได้สามจุด คือ ที่คอช้าง บนแหย่งหลังช้าง และที่โคนหางช้าง (ตามภาพวาดของช้างศึกในสมัยก่อน)   

การนั่งที่โคนหางนั้นผมไม่เคยเห็น   สำหรับการนั่งบนแหย่งหลังช้างนั้น ผมเชื่อว่ามีเป็นจำนวนมากได้เคยนั่งกัน ส่วนการนั่งที่คอช้างนั้น คงจะมีน้อยคนมากที่เคยนั่ง  แต่ไม่ว่าจะนั่ง ณ จุดใด ก็จะได้รับรู้ถึงอาการ Yaw Pitch และ Roll แถมด้วยอาการเด้งหน้าเด้งหลัง    ก็คงจะไม่แปลกนะครับ หากเมื่อนั่งช้างมานานๆแล้วจะเกิดอาการเมาช้าง แถมด้วยอาการปวดเมื่อยไปทั้งตัว   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 03 เม.ย. 17, 18:03

ผมจ้างช้างเพื่อการขนสัมภาระที่ใช้ในการเดินสำรวจเข้าป่าลึกเป็นเวลาหลายๆวัน ตามปรกติก็ประมาณ 7 วัน แต่ก็มีที่นานกว่านั้นบ่อยๆ สูงสุดก็ถึง 20 วัน
 
คนในคณะสำรวจมีระหว่าง 7-8 คน   สัมภาระที่ต้องขึ้นหลังช้างก็จะมี ผ้าใบ 3 ผืน (ผ้าเต็นท์) ถุงทะเล 3-4 ใบ (ใส่ถุงนอน ผ้าห่ม เสื้อผ้าและอื่นๆ) ปี๊บขนาด ก.40 x ย.50 x ส.40 ซม. 3 ใบ (2 ใบ สำหรับใส่เครื่องทำครัว เครื่องปรุง และส่วนประกอบอาหารแห้ง และอีกใบหนึ่งใช้เก็บเสื้อผ้า หนังสือ เอกสารทางราชการ รวมทั้งเงินค่าใช้จ่าย)  กล่องใส่ตะเกียงเจ้าพายุ  แกลลอนใส่น้ำมันก็าดขนาดประมาณ 5 ลิตร สำหรับตะเกียง  ถุงข้าวสาร ถังน้ำขนาด 20 ลิตร ตัวอย่างหินและอื่นๆ 

ปริมาณคนและสัมภาระดังกล่าวนี้ต้องใช้ช้าง 2 เชือกในการขนย้าย ซึ่งเป็นความลงตัวที่มีสภาพสมดุลย์ที่สุด   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 03 เม.ย. 17, 18:43

ความลงตัวและความสมดุลย์เป็นดังนี้ครับ

คนของคณะสำรวจที่ออกมาจากส่วนกลางนั้น มีอยู่เพียง 3 คนกับรถ 1 คัน คือ ตัวนักธรณีฯ ผู้ช่วยสำรวจ และพนักงานขับรถ   หากเป็นการเดินสำรวจในลักษณะมี Base camp หรือเดินไปไม่ไกลนักเพียงชั่วคืนหรือสองสามวัน  คนที่ออกเดินสำรวจจริงๆก็จะมีจำนวนระหว่าง 3-4 คน ก็มีนักธรณีฯ ผู้ช่วยฯ และชาวบ้านที่ต้องจ้างในลักษณะเป็นคนงานอีก 1 หรือ 2 คน หรืออาจจะมีที่ขอตามไปด้วยอีกคนหรือสองคน    ที่ต้องจ้างชาวบ้านนั้นก็เพื่อความปลอดภัยในชีวิต (เพราะทำงานอยู่ในพื้นที่อันตราย_สีแดง) เขาเป็นคนที่ผู้ใหญ่บ้านเลือกสรรมาให้ อย่างน้อยที่สุดเขาก็จะเป็นผู้ที่สามารถเล่าในรายละเอียดได้อย่างลึกกับวิธีการทำงานและลักษณะของการเดินสำรวจ   ข้อมูลข่าวสารในพื้นที่อันตรายดังกล่าวนี้ ผมว่ากระจายรวดเร็วไม่แพ้ยุคการสื่อสารด้วยระบบคอมพิวเตอร์เลยทีเดียว

ส่วนชาวบ้านที่ขอเดินตามไปด้วยนั้น ก็เพราะว่าเมื่อเดินทำการสำรวจนั้น จะเป็นการเดินไปในที่ต่างๆที่พวกชาวบ้านเขาไม่เคยเข้าไป หรือไม่กล้าเข้าไป หรือกลัวหลง พวกเขาเห็นเรามีแผนที่ มีเข็มทิศ ก็เลยมั่นใจว่าจะไม่มีทางหลงและกลับบ้านได้แน่ๆ    สำหรับตัวผมนะครับ ก็มีความพอใจที่มีชาวบ้านขอเดินตาม แสดงว่าข่าวสารในการทำงานด้วยความความบริสุทธิ์ใจของเราได้แพร่กระจายและเป็นที่ยอมรับกันไปทั่วแล้ว  แต่ก็ต้องระวัง กลัวถูกหมกป่าเหมือนกัน ปืนพกจึงต้องมีติดอยู่ที่เอวตลอดเวลา
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 03 เม.ย. 17, 19:07

เมื่อเราจะเดินไกลหลายๆวัน และคิดจะเดินด้วยการจ้างคนแบกหาม  ด้วยปริมาณสัมภาระดังกล่าว เราก็จะต้องจ้างคนอย่างน้อยก็ 10+ คน เพื่อการแบกหามโดยเฉพาะ ก็มิใช่ไม่เคยนะครับ ประเด็นสำคัญก็คือ หาคนที่จะไปกับเราจำนวนขนาดนั้นได้ยาก ด้วยไม่ยอมห่างบ้านไปไกลๆหลายๆวัน ร้อยพ่อพันแม่หลากหลายความคิด หลายปาก หลายอารมภ์ หาที่นอนก็ยาก และที่สำคัญเดินได้ไม่กี่วันเสบียงก็จะหมด  แต่ความกลัวที่สำคัญที่สุดของพวกเขาก็คือการถูกล่อลวงและถูกหมกป่า 

ต่างกับการใช้ช้าง ที่จะมีจำนวนคนน้อยกว่า ความเหนื่อยไปตกอยูที่ช้าง     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 04 เม.ย. 17, 19:17

เขียนไปว่า ความเหนื่อยไปตกอยู่ที่ช้าง  แต่ในการทำงานจริงนั้น ไม่ใช่เลย  ตัวช้างเองกลับดูจะรู้สึกว่าทำงานแบบมีความสุข เป็นงานสบายๆ ทำไปเรื่อยๆไม่เร่งร้อนและไม่ต้องใช้พละกำลังมาก 

ช้างสามารถลากของที่มีน้ำหนักได้หลายตัน และก็สามารถบรรทุกของได้ประมาณ 200-300 กก. แต่เมื่อจะใช้ในการขนของเดินทางไกลอย่างต่อเนื่อง เราก็จะต้องลดน้ำหนักบรรทุกให้เหลือประมาณ 100 กก.(+เล็กน้อย)   

ในการใช้ช้างบรรทุกของนั้น เขาจะไม่ใช้แหย่งที่ใช้เป็นที่นั่งของคนดังที่เราเคยเห็นกันทั่วๆไป  เขาจะใช้ไม้ทำเป็นโครงสำหรับใส่ของวางพาดคร่อมหลังช้างลงไปข้างลำตัว ลดน้ำหนักจากการใช้แหย่งนั่งไปไม่น้อยเลยทีเดียว       
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 04 เม.ย. 17, 20:02

นอกจากเรื่องของน้ำหนักบรรทุกแล้ว ก็จำเป็นจะต้องมีความรู้ในแง่มุมอื่นๆอีกด้วย

เรื่องแรก คือ ช้างนั้นเป็นสัตว์ตัวโตที่กินทั้งวัน  ในช่วงเวลางานที่เราใช้เขานั้น เขาไม่มีโอกาสได้กิน ทำได้ก็เพียงใช้งวงเก็บเกี่ยวใบไม้ในระหว่างที่เดินผ่าน 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 18:25

เนื่องจากพื้นที่รับผิดชอบในการสำรวจทำแผนที่ของผมนั้น ค่อนข้างจะเป็นพื้นที่ๆเกือบจะไม่มีหรือไม่เคยมีคนเดินทางเข้าไปในพื้นที่นั้นๆมาก่อน ทำให้การเดินสำรวจของผมจึงมีลักษณะเป็นการตัดสินใจว่าจะทำอะไรและอย่างไรเป็นวันต่อวัน ขึ้นอยู่กับข้อมูล สภาพและสถานะการณ์ที่ผ่านมาของแต่ละวัน 

เรื่องดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่จะจ้างใครๆให้เดินไปทำงานกับเราโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้จุดหมายปลายทาง ไม่รู้ว่าจะเจอกับอะไร ....ฯลฯ แถมยังไปกับคนประหลาด เดินไป ต่อยหินไป เอาแว่นขยาย(hand lens หรือ loupe)มาส่องดูเนื้อหิน(mineralogical composition) พลิกไปพลิกมา เดินจ้องดูและเอามือลูบหินที่ปรากฎอยู่ที่นั้น (Out crop) เอาเข็มทิศไปทาบวัดทางนั้นทีตะแคงทางนี้ที (วัด attitude_strike & dip ของหน้าระนาบต่างๆ) นั่งคิด นั่งจดบันทึก บางทีก็วาดรูป บางทีก็ถ่ายรูปหิน กระเทาะหินออกมาเป็นก้อน เอาปากกาแมจิกเขียนลงบนก้อนหินนั้น แล้วก็เก็บใส่เป้สะพายข้าง แล้วก็เดินแบกไป ทำแบบนี้เกือบทั้งวัน ตกเย็นก็เอาตัวอย่างหินมากองรวม เอามาส่องกล้องดูซ้ำอีก คัดทิ้งบ้าง แต่ส่วนมากจะเก็บ ขนกลับ 
 วันรุ่งขึ้นก็ทำแบบเดิม   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 19:22

ครั้งแรกสุด กว่าจะได้จ้างช้าง ต้องเสียเวลานั่งคุยกับกำนันอยู่สองสามวัน แถมไม่สำเร็จอีก ได้แต่คนมาเดินนำทาง(ว่าจ้าง) มาลองดูว่าเราพูดจริงหรือไม่ อาทิตย์ต่อมาจึงได้รู้ว่ากำนัน OK จะหาช้างให้สองตัวตามที่ต้องการ ยังจำชื่อควาญช้างได้เลยครับ คนหนึ่งชื่อจรูญ เจ้าของช้างพลายวัยหนุ่ม อีกคนหนึ่งชื่อ เกล้า เจ้าของช้างพังวัยสาวใหญ่ (ควาญช้างทั้งสองคนนี้อายุอ่อนกว่าผมไม่มากนัก คนหนึ่งในภายหลังได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน อีกคนหนึ่งไม่ทราบข่าวคราวเลย)  แล้วก็ยังต้องจ้างคู่หูประจำช้างแต่ละตัวอีกตัวละหนึ่งคน ที่เราเรียกว่า ตีนช้าง ??   เป็นอันว่า จ้างช้าง 2 ตัว ได้คนมา 4 คน

สำหรับอาหารนั้น เรื่องของช้างไม่ต้องห่วง แต่กลายเป็นว่าต้องมีภาระอาหารคนเพิ่มมากขึ้น  ด้วยที่ผมพอจะรู้สภาพของการเดินสำรวจ และก็ให้บังเอิญว่าคนหนึ่งที่ยอมมาเดินเป็นตีนช้างนั้น เคยเป็นควาญช้างมา แถมยังเคยปราบช้างถึง 2 ตัวที่ดุขนาดเคยฆ่าคน มาแล้ว แล้วเขาก็ยังชอบเที่ยวป่าอีกด้วย ก็เลยได้คำตอบสำหรับการจัดทีมเดินสำรวจ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 05 เม.ย. 17, 19:55

คนที่เดินเป็นตีนช้างนั้น โดยพื้นฐานของการใช้งานช้างของชาวบ้านก็คือ เป็นผู้ช่วยควาญช้างในเรื่องที่ควาญช้างทำไม่ได้เนื่องจากนั่งอยู่บนคอช้างที่สูงจากพื้นดิน   

ในภาวะการสู้รบที่เห็นภาพทหารประจำอยู่ที่ขาทั้งสี่ของช้าง ที่เรียกว่า จตุลังคบาท นั้น  ผมมีความเห็นว่า น่าจะมาจากพื้นฐานว่า หนึ่งในจุดอ่อนของช้างที่มีอยู่นั้นก็คือ บริเวณรอยต่อของหนังที่หุ้มเล็บ เช่นเดียวกับที่รอยต่อของหนังที่หุ้มบริเวณโคนงา 

ทหารทั้งสี่นายจึงมีหน้าที่ต้องป้องกันมิให้ผู้ใดสามารถเข้ามาใกล้เท้าช้างทั้งสี่ได้ ส่วนที่งวงนั้นไม่ต้องห่วง เพราะช้างเขาสามารถใช้งวงเล่นงานคนที่จะเข้ามาทำร้ายได้ด้วยตัวเอง 
บันทึกการเข้า
heha
ชมพูพาน
***
ตอบ: 174


ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 06 เม.ย. 17, 04:14

คห4
เรื่องเกี่ยวกับการพบแมวป่านี้  ทำให้ผมนึกถีงครั้งหนึ่งเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ.2515  ได้เห็นแมวตัวหนึ่งที่บริเวณชายป่าแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ช่วงเวลาเช้าประมาณ 7-8 โมงเช้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผมกำลังออกเดินลึกเข้าไปทำงานสำรวจในพื้นที่ป่า  ก็ยังสงสัยว่าเป็นแมวป่าหรือแมวบ้าน เพราะว่า ณ พื้นที่นั้นในช่วง พ.ศ.นั้น ไม่มีหมู่บ้าน ไม่มีผู้คนเลย แถมอยู่ห่างจากพื้นที่ๆมีชุมชนอาศัยอยู่นับสิบๆ กม.  จึงอาจจะเป็นเสือกระต่ายหรือแมวป่าก็ได้

นานมาแล้ว ข้างบ้านเป็นร้านขายกระสุนปืน เขาได้ขอลูกแมวป่าจากลูกค้า
ลูกแมวลายเทาดำ ยังไม่ลืมตา เวลาป้อนนมใช้ขวดนม สลับกลับยืมแมวแม่ลูกอ่อนข้างบ้านมาเป็นแม่นม
สัญชาตญาณป่าเข้มข้นเหลือหลาย ลูกแมวขู่ฟ่อทั้งที่ยังไม่ลืมตา
เลี้ยงได้ไม่กี่วันก็เบื่อ ยกให้คนอื่นต่อ
หากเลี้ยงต่อไป แมวป่าจะเคล้าแข้งเคล้าขาน่าเอ็นดูเหมือนแมวบ้านหรีอเปล่าหนอ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 06 เม.ย. 17, 18:17

ที่คุณ heha ได้บรรยายว่า "ลูกแมวลายเทาดำ ยังไม่ลืมตา" นั้น   

ลายสีเข้มที่วางพาดอยู่บนตัวลูกสัตว์ป่านั้น หากได้ติดตามดูภาพยนต์สารคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่าต่างๆ ก็เกือบจะเห็นเป็นเรื่องปรกติ ซี่งสัตว์ป่าเหล่านั้นจะเป็นพวกสัตว์สี่เท้า   ผมเคยเห็นลูกเจี๊ยบไก่ป่า ก็มีลายอยู่ข้างตัวเหมือนกัน และก็เคยเห็นงูที่มีลายดำพาดจากหัวยาวไปตามลำตัวแล้วก็ค่อยๆจางหายไปในกลุ่มเกล็ดที่เริ่มจะสะท้อนแสงจนสุดท้ายออกสีชมพูแวววับที่ส่วนปลายหาง  งูนี้มีชื่ออะไรก็ไม่ทราบ เคยพบในพื้นที่ห้วยปะชิบนเส้นทางเข้าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี

 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 06 เม.ย. 17, 19:06

สำหรับลายสีเข้มบนตัวลูกของสัตว์ป่านั้น ผมเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยว่า เป็นเรื่องของระบบการพรางตัวเมื่อประสบกับผู้ล่าที่ใช้สายตาในการหาเหยื่อ ซึ่งผมมีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้ กับลูกไก่ป่าครับ 

วันหนึ่ง ขณะเดินอยู่ในห้วยขาแข้ง ก็ได้พบกับฝูงไก่ป่า 4-5 ตัว  ไก่เหล่านั้นกำลังคุ้ยเขี่ยหาอาหารกินโดยไม่มีอาการตระหนกตกใจ ไม่หนีพวกผม เมื่อเข้าไปใกล้มากพอในระยะประมาณ 4 ม. ก็ได้เห็นลูกเจี๊ยบอยู่หลายตัว จนเดินเข้าไปถึงฝูงแล้ว ไก่ใหญ่ทั้งหลายจึงบินหนีออกไป ทิ้งบรรดาลูกเจ๊ยบใว้ เราก็ช่วยกันหาลูกเจี๊ยบเหล่านั้น เริ่มต้นก็นั่งแล้วใช้มือกวาดใบไม้ตรงจุดที่เห็นว่ามีลูกเจี๊ยบอยู่ก่อนที่แม่ของมันจะบินหนีไป ควานหาในใบไม้ที่ร่วงปิดทับถมอยู่ก็ไม่มีเสียงเจี๊ยบๆใดๆเลย ในที่สุดก็ลุกขึ้นใช้เท้ากวาดไปกวาดมา หวังว่าจะได้จับลูกเจี๊ยบมาชมสักตัวหนึ่ง เหยียบตายไปสองตัวก็เลยต้องเลิก    แสดงว่า ลายสีเข้มที่มีอยู่บนตัวของลูกสัตว์ป่านั้น ใช้ได้ผลอย่างดีเยี่ยมสำหรับการพรางตัว

สมัยที่ผมเดินทำงานอยู่นั้น สัตว์ป่าต่างๆจะไม่ตื่นหรือหนีคนในทันทีเห็น จะยืนจ้อง_มาแลดูกัน มาลันดูแก_กันสักพัก จนกว่าเราจะขยับใกล้เข้าไปจึงจะเดินหนี (ไม่ใช่วิ่งหนี)  สำหรับเราเองก็มีสัตว์บางชนิดที่เราต้องเลือกที่จะเป็นฝ่ายหลบ  ช้างนั้นแน่นอน  กระทิง หมูป่า เสือ   แล้วก็มีที่ต้องวัดใจกันคือ ลิง   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 06 เม.ย. 17, 19:15

เรื่องของจตุลังคบาท กับจุดอ่อนของช้างที่มีอยู่บริเวณรอยต่อของหนังที่หุ้มเล็บและที่รอยต่อของหนังบริเวณที่หุ้มโคนงานั้น จะขอขยายความในวันพรุ่งนี้ครับ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 07 เม.ย. 17, 18:10

ย้อนกลับไปที่ คห.132 

สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่เราต้องเลือกที่จะหลบ คือ หมี  โดยเฉพาะในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่มักจะพบเห็นเป็นคู่    เลยทำให้นึกถึงสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่จะต้องหลบเลี่ยงไปเลย คือ งูจงอาง โดยเฉพาะในช่วงเวลาประมาณเดือนเมษายน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11 ... 22
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.053 วินาที กับ 19 คำสั่ง