เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 22
  พิมพ์  
อ่าน: 27349 ทำงานกับช้าง
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 26 มี.ค. 17, 19:28

ผมคิดว่า เมื่อปริมาณการให้ยากับคนยังคำนึงถึงเรื่องของน้ำหนักตัว   ช้างซึ่งเป็นสัตว์ตัวโต ก็ย่อมต้องกินยาในปริมาณที่มากตามน้ำหนักของตัว  ก็จึงไม่แปลกนักที่ช้างจะเป็นนักทำโป่ง เพราะมีความต้องการทางด้าน quantity  ทำให้โป่งที่ช้างทำนี้ก็น่าจะต้องเป็นแหล่งที่มีแร่ธาตุสูงทั้งในด้าน qualitative และ quantitative   ก็จึงไม่แปลกนักอีกเช่นกันที่โป่งที่มีช้างลงกินจะเป็นโป่งใหญ่ ซึ่งหมายถึงว่า มีสัตว์หลายหลายชนิดลงมาร่วมกินด้วย  ซึ่งก็แน่นอนว่าก็จะต้องมีพวกสัตว์กินเนื้อลงมาขอร่วมวงด้วย

โป่งใหญ่จึงเป็นเครื่องแสดงในทางอ้อมว่า ในป่านั้นมีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 27 มี.ค. 17, 19:09

ข้อมูลเกี่ยวกับดินของโป่งแต่ละโป่งในเชิงของ Clay mineralogy และ Geochemistry ซึ่งจะบอกถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ของแต่ละโป่งกับลักษณะของกลุ่มสัตว์ที่มาลงกินนั้น น่าจะมีอยู่ที่หน่วยงานที่ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่าที่ได้ดำเนินการมานานหลายสิบปีแล้ว   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 27 มี.ค. 17, 19:26

ดินโป่งเป็นยาสำหรับกิน  ดินฝุ่นที่ช้างใช้งวงดูดแล้วพ่นใส่ตัวจนฟุ้งกระจายดั่งการโรยแป้งทาตัวก็น่าจะต้องเป็นดินที่ยา และรวมทั้งดินโคลนในปลักโคลนที่ลงไปนอนคลุกเกลือกกลิ้งด้วย   ส่วนหนึ่งนั้นก็แน่นอนว่าเพื่อเป็นการไล่แมลง แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นก็น่าจะเพื่อการรักษาแผลและการอักเสบที่ผิวหนัง     สัตว์ที่มีขนหนาแน่นทั้งหลายมักจะใช้วิธีการคลุกฝุ่น แต่สัตว์ที่มีขนน้อยจะใช้ทั้งการคลุกโคลนและคลุกฝุ่น
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 29 มี.ค. 17, 19:31

จากประสบการณ์การเดินทำงานสำรวจในพื้นที่ป่าเขามานานกว่า 20 ปี ผมมีข้อสังเกตว่าบรรดาโป่งใหญ่ที่มีสัตว์หลากหลายชนิดลงมากินดินโป่งอย่างค่อนข้างจะหนาแน่นนั้น เกือบทั้งหมดจะอยู่ในพื้นที่ๆมีหินประเภทที่เมื่อถูกแปรเปลี่ยนไปด้วยกระบวนการทางธรณีวิทยาแล้ว ทำให้เกิดการแปรเปลี่ยนสารประกอบและโครงสร้างทางเคมีของแร่ประกอบหินซึ่งเมื่อกลายมาเป็นดินและแร่ดินแล้ว ก็จะให้แร่ธาตุที่มีความจำเป็นในกระบวนการสร้างเสริมความสมบูรณ์ต่างๆของร่างกาย     
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 29 มี.ค. 17, 20:43

น่าสนใจอยูว่า แรกเริ่มเมื่อคนต้องเดินบุกป่าหาอาหารกิน โป่งก็คือแหล่งอาหารจากเนื้อสัตว์  พอจะขยายที่ทำมาหากินก็รุกพื้นที่ไปทางใกล้โป่ง พอความเจริญเข้ามาถึงก็รุกโป่ง โป่งใหญ่ต่างๆก็เลยค่อยๆมลายหายไป  เหลือแต่ชื่อที่กลายเป็นชื่อหมู่บ้านต่างๆไป ทั้งหมดก็เนื่องมาจากคุณภาพของดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ จะปลูกอะไรก็ขึ้น ปลูกอะไรก็งาม แต่มักจะเป็นพื้นที่ค่อนไปทางแห้ง น้ำมีจำกัด

ในลักษณะคล้ายๆกัน ในพื้นที่ๆมีความชุ่มชื้นของดินค่อนข้างดี ก็จะมีพืชพวกที่มีใบมากขึ้นอยู่หนาแน่น เช่น ดงกล้วยป่า ดงไม้(ไผ่)ผาก ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของช้าง ส่วนใต้ดินก็มีรากอ่อน มีหน่อ ที่เป็นอาหารของพวกสัตว์ฟันแทะ   พื้นที่เช่นนี้ก็เหมาะสำหรับการปลูกพืชไร่ พืชสวนเช่นกัน  เมื่อมีการบุกรุกถางพงทำการเกษตร ก็จึงดูจะไม่แปลกนักที่จะมีช้างและสัตว์ฟันแทะมารบกวนเป็นครั้งคราว ซึ่งการเข้ามากวนของช้างและสัตว์ฟันแทะเหล่านั้นก็จะมาเป็นช่วงๆ ตามวงรอบของการวนเวียนกินตามแหล่งอาหาร (??) ซึ่งก็ให้บังเอิญเป็นช่วงเวลา(ฤดู)เดียวกันกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตของชาวบ้าน
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 30 มี.ค. 17, 17:58

คนชาวป่าชาวดงอาศัยด่านช้างเป็นโครงข่ายพื้นฐานของเส้นทางการคมนาคมระหว่างพื่นที่และสถานที่ต่างๆ   คนในเมืองที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับของป่าและทรัพยากรที่อยู่ในพื้นที่ป่าก็จะตัดเส้นทางสำหรับการใช้เครื่องจักรกลต่างๆโดยอาศัยด่านช้างนำทาง   เมื่อผมเดินทำงานสำรวจ ด่านช้างก็เป็นของอ้างอิงกันการหลงและใช้เป็นเส้นทางเดินกลับที่พักแรมที่รวดเร็ว เพราะว่าด่านช้างต่างๆค่อนข้างจะเป็นเส้นทางที่สั้นเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ต่างๆ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 30 มี.ค. 17, 18:24

คงพอจะเห็นภาพได้ว่า  โอกาสจะจ๊ะเอ๋กันระหว่างเรากับช้างจึงมีได้มาก  โดยเฉพาะในช่วงเวลาตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินไปตลอดทั้งคืน ซึ่งควรจะต้องหลีกเลี่ยงการเดินบนทางด่านสัตว์ทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง

ก็มีอีกสองช่วงเวลาที่อาจจะไม่จ๊ะเอ๋กับช้างบนทางด่านโดยตรง แต่อาจจะมีเขาอยู่ในพื้นที่ข้างๆกำลังมีความสุขและเพลิดเพลินกับการหักกิ่งไม้ใบไม้มากิน   คือ ตอนเช้าช่วงที่แดดกำลังเริ่มจะส่องแสงเต็มกำลัง จนถึงก่อนที่อากาศจะเริ่มรู้สึกร้อน (ประมาณ 8-10 โมงเช้า) และตอนบ่ายช่วงก่อนที่แดดใกล้จะลับสันเขา (ประมาณ 3-4 โมงเย็น) 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 30 มี.ค. 17, 18:55

สองช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ก็คือช่วงเวลาเดียวกันกับที่เรากำลังออกเดินทำงานและกำลังเดินกลับที่พัก ซึ่งเป็นช่วงที่เราอาศัยทางด่านเพื่อความรวดเร็วในการเข้าถึงบริเวณทำงานและกลับที่พัก

ช้างที่กำลังมีความสุขนั้น เขาจะไม่ระวังตัวมากนัก ไม่ระวังเสียงดังที่ตนเองทำ (จากการเหยียบไม้และการหักกิ่งไม้...) ใบหูก็พัดวีอย่างสะบายเพื่อระบายความร้อนของร่างกาย   ฝ่ายผมก็กำลังมีความสุขกับการเคาะหินตรวจสอบและผูกเรื่องราวความเป็นมาทางธรณีฯจากข้อมูลที่หินและสภาพทางกายภาพต่างๆบ่งชี้   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 30 มี.ค. 17, 19:15

เมื่อช้างได้ยินเสียงการต่อยหินหรือการพูดคุยกันของพวกผม มันก็จะหยุดนิ่ง ฟัง และไม่ทำเสียงดังใดๆ  พอผมหยุดทำเสียง นั่งและใช้เวลาประมวลข้อมูลและจดบันทึก สักพักช้างก็จะทำเสียงดังต่อไป  ช่วงที่เรากำลังเดินและมุ่งคิดอยู่กับเรื่องงานนั้น เรามักจะไม่ได้ยินเสียงไม้หักที่ช้างทำ แต่พอได้ยินเสียง สมาธิเรื่องทางวิชาการของเราก็หายไป ห้นไปสนใจว่าเสียงนั้น ดังมาแต่ใหน ไกลหรือใกล้ และอยู่ในเส้นทางหรือพื้นที่ๆเราวางไว้ว่าจะเข้าไปเดินสำรวจหรือไม่

การประมวลข้อมูลทางวิชาการก็เปลี่ยนไปเป็นการประมวลข้อมูลความเสี่ยงภัย  ประเมินความอันตรายและทางหนีทีไล่ต่างๆ

จะลุย จะถอย หรือ จะเลี่ยง  
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 31 มี.ค. 17, 18:48

ที่ตัดสินใจก็มีแต่ลุย และ เลี่ยง ไม่เคยตัดสินใจถอยเลย   ไม่ได้กล้าและบ้าบิ่นอะไรเลย แต่เป็นเพียงเพราะพอจะเข้าใจพฤติกรรมของช้างว่าเป็นอย่างไร

โดยสัญชาติญาณของสัตว์ป่า การหลบเลี่ยงภัยในโอกาสแรกนั้นเป็นวิสัยตามปรกติ ช้างก็เช่นกัน ขณะที่เขากำลังเดินกินอาหารอย่างเป็นสุขนั้น ก็คงมิใช่เรื่องที่เขาจะต้องผันให้สภาพของความสุขนั้นเปลี่ยนไปในทางเป็นทุกข์

เขาก็หยุดอยู่เงียบๆคอยฟัง เราก็หยุดอยู่เงียบๆคอยฟัง  เสียงที่ต่างคนต่างได้ยินกันนั้นคล้ายๆกับอยู่ใกล้ๆ แต่แท้จริงแล้วอยู่ไกลไปไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างน้อยๆก็ไม่น้อยกว่า 2-300 เมตร  ก็เพราะความเงียบของป่านั้นเองที่ทำให้เราได้ยินเสียงได้ไกลๆ   

พวกผมมีคำพูดเปรียบเปรยหยอกล้อกันเล่นๆว่า ใกล้ตาแต่ไกลตีน   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 31 มี.ค. 17, 19:33

ต่างคนต่างเงียบกันไปสักพัก แล้วก็ต้องมีฝ่ายหนึ่งหมดความอดทน ขยับเขยื้อนทำเสียงต่อไป ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็หาทางหลีกเลี่ยงมิให้มีการเผชิญหน้ากัน   ซึ่งส่วนมากผมจะเลือกเป็นฝ่ายหลัง ด้วยเข้าใจว่าหากเราเข้าไปใกล้เกินไป ในความรู้สึกของความเป็นเจ้าของผืนป่า(บ้าน)ของเขา เขาก็จะต้องเข้ามาไล่ให้เราออกไปพ้นๆเป็นแน่  แต่ก็มีอยู่บ่อยครั้งมากๆที่เขาจะค่อยๆเดินหากินห่างออกไปจากเรา

แต่ในบางครั้งเราก็เลือกที่จะเป็นฝ่ายไล่  อาวุธที่ใช้ก็ง่ายๆธรรมดาๆ ก็คือเสียงจากการต่อยหินด้วยฆ้อนธรณีฯ  ตรงนี้ต้องขอขยายความนิดนึง 

ในการสำรวจทางธรณีฯนั้น อุปกรณ์ประจำกายที่ใช้ในการสำรวจก็จะมี แผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1:50,000  สมุดบันทึกข้อมูล เข็มทิศ (แบบที่ใช้งานในลักษณะของกล้องรังวัด_Theodolite) และฆ้อนธรณี (เป็นฆ้อนเหล็กแข็งที่ต่อยหินแล้วไม่เยินแต่บิ่นไปเลย_Rock Pick) และบางทีก็มีภาพถ่ายทางอากาศมาตราส่วนเดียวกันกับแผนที่ติดไปด้วย (แปลความหมายทางธรณีฯจากภาพสามมิติด้วย pocket stereoscope) 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 31 มี.ค. 17, 20:12

ในระหว่างที่เดินสำรวจ ก็จะใช้ฆ้อนต่อยกะเทาะหินเพื่อดูเนื้อในที่สด แล้วก็ต่อยหินเพื่อเก็บตัวอย่างก้อนประมาณครึ่งกำปั้น เอากลับมาที่พักหรือที่ทำงาน(สำนักงาน)เพื่อตรวจสอบรายละเอียดในเรื่องต่างๆ อาทิ สิ่งบ่งชี้ถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆในอดีตกาลอันไกลโพ้น

ก็คงจะนึกภาพออกถึงเสียงฆ้อนกระทบหิน(มิใช่ทุบหินที่หลุดแยกลอยออกมาเป็นก้อนๆ)และจังหวะจะโคนที่ต่อยหินแต่ละครั้ง จะดังและมีเสียงเป็นเช่นใด  เราก็ต่อยหินทำงานไปตามปรกติ สลับกับการเงียบเสียง ช้างก็คงจะรู้ว่าเสียงนั้นมิใช่เสียงของสัตว์ตามปรกติแน่ๆ เลี่ยงๆออกไปให้ห่างก็น่าจะดีกว่า  สักพักเราก็เข้าบริเวณพื้นที่ๆที่ช้างอยู่นั้นได้   
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 01 เม.ย. 17, 18:21

แต่ถ้าเขาเงียบอย่างเดียว ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องถอย แล้วก็ต้องถอยแบบเงียบๆและต้องระวังหลังอีกด้วย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 01 เม.ย. 17, 20:11

หันมาดูเรื่องทำงานแบบอยู่ร่วมกันเป็นทีมระหว่างคนกับช้าง

ในยุคที่เรากำลังทำการปูพรมสำรวจทำแผนที่ธรณีวิทยาของประเทศไทยอย่างมีระบบ (Systematic geological mapping) อย่างจริงจัง โดยใช้ข้อมูลรายละเอียดที่ได้จากการเดินสำรวจและอื่นๆ (เช่น ภาพถ่ายทางอากาศ การวิเคราะห์ทางฟิสกส์และเคมี...ฯลฯ) นำมาประมวลใส่ลงบนแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 แล้วจึงนำข้อมูลจากแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 (24 หรือ 36 ระวางแล้วแต่ series) มาประมวลทำเป็นแผนที่มาตราส่วน 1:250,000 ครอบคลุมทั้งประเทศ นั้น เส้นทางการคมนาคมมีจำกัดมาก แม้จะใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ ก็ยังต้องใช้เวลามากกว่าจะเข้าถึงส่วนหนึ่งของพื้นที่สำรวจ ที่เหลือจากนั้นก็คือการเดิน
 
สำหรับพื้นที่ในความรับผิดชอบเกือบจะตลอดมาของผมนั้น อยู่ในพื้นที่ป่าเขาทางตะวันตกเกือบๆจะตลอดแนวชายแดนไทย-พม่า เดินอย่างเดียวเลยครับ แล้วก็มิใช่เป็นการเดินไปกลับวันต่อวัน มันถูกบังคับให้เป็นการเดินต่อเนื่องเป็นเวลาหลายๆวัน อย่างน้อยๆก็ครั้งละประมาณ 7 วัน และปักหลักทำงานอยู่ในพื้นที่เดินสำรวจก็ครั้งละประมาณเกือบๆเดือนนึง

ก็ภูมิใจนะครับ ข้อมูลที่พวกผมได้สำรวจได้ประมวลมานั้น ส่งผลให้มีการตัดสินใจทำการสำรวจหาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจบพบและขุดเจาะมาใช้งานกันจนในปัจจุบัน แล้วก็ยังคงเป็นข้อมูลพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ใช้ในการวิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆสำหรับการสำรวจหาแหล่งใหม่อื่นๆ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 01 เม.ย. 17, 20:33

เลยเถิดไปไกล ขออภัยครับ

เดินสำรวจอย่างต่อเนื่องลึกเข้าไปในป่าหลายๆวัน แบกสัมภาระต่างๆไม่ไหวแน่ๆ (เครื่องนอน เรื่องอาหาร ตัวอย่างหิน..)  จำเป็นจะต้องใช้สัตว์ต่างต่างๆ ไม่ม้า ลา ล่อ ก็ต้องช้าง

ลากับล่อนั้น ผมไม่เคยเห็นมีชาวบ้านใช้กัน เห็นมีแต่ม้าเท่านั้นที่ใช้กัน และคนที่ใช้ก็เป็นพวกกะเหรี่ยงและชาวเขาอีกด้วย  ดูเหมือนว่าคนไทยและคนพื้นราบจะไม่นิยมใช้สัตว์ต่าง หรือจะพ้นยุคไปแล้วก็มิรู้ได้   อ้อ ยังมีกองพันสัตว์ต่างของทหารอยู่ครับ   
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 22
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.081 วินาที กับ 19 คำสั่ง