เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 5403 ภาพเก่าสมเด็จพระสังฆราช อัมพรมหาเถระ อันทรงคุณค่ายิ่ง
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 10 ก.พ. 17, 12:06

ขอประชาสัมพันธ์กับชาวเรือนไทยที่ยังไม่เห็นหน่อยครับ

ผมนำภาพเก่าสะสมของผมมาลงใน FB เมื่อสองวันที่แล้ว นึกไม่ถึงจริงๆว่าจะมีคนเข้ามาเห็นโพสต์ที่ว่าถึงสี่แสนกว่าคนแล้ว คนไทยมีความปิติศรัทธาต่อสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่จริงๆ
ท่านสามารถเข้าไปชมได้โดยระโยงนี้ครับ

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1351008971629464&id=1174884455908584


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 ก.พ. 17, 12:06

แล้วค่อยคุย ถามตอบกันครับ
บันทึกการเข้า
ninpaat
ชมพูพาน
***
ตอบ: 167


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 10 ก.พ. 17, 13:15

ผมดีใจมากครับ ที่ท่านอาจารย์นวรัตนได้กรุณา นำเรื่องราวอันเป็นมงคลอย่างยิ่งนี้มาบันทึกไว้ให้คนไทย ได้รับทราบโดยทั่วกัน

และ ผมขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ ทุกๆท่าน ที่ได้นำความรู้ ประสพการณ์ มาถ่ายทอดโดยสม่ำเสมอ ด้วยใจที่มีเมตตา


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 12 ก.พ. 17, 17:35

กราบค่ะ


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 14 มี.ค. 17, 14:48

คุณนวรัตนเขียนเรื่องอันเกี่ยวเนื่องระหว่างตัวท่านกับสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันไว้ใน FB ของท่าน น่าจะนำมาลงเผยแพร่ในเรือนไทย จึงขออนุญาตไว้ ณ ที่นี้

รำลึกถึงความจำดี ๆ แต่ครั้งอดีต

ผมเป็นเด็กข้างวัดมกุฏกษัตริยาราม เติบโตในบ้านคุณตาซึ่งเคยเป็นไวยาวัจกรของวัด ญาติพี่ ๆ น้อง ๆ ของผมที่เป็นหลานคุณตาคุณยายจึงล้วนใกล้ชิดพระสงฆ์องค์เจ้าโดยไม่เคอะเขิน แต่ผมพิเศษกว่าเขา เพราะท่านเจ้าคุณสาสนโสภณ (จวน อุฎฺฐายี)  เจ้าอาวาสวัดมกุฏเป็นผู้ตั้งชื่อให้ผม  ท่านเจ้าคุณสาฯได้เลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และสมเด็จพระสังฆราชในที่สุด

แต่ด้วยเหตุบังเอิญที่ในฤดูร้อนปีหนึ่งครอบครัวเราไปเที่ยวหัวหินกัน ผมและพี่สองคนได้ขึ้นไปเที่ยวเขาไกรลาศโดยพ่อแม่ของเรามิได้ไปด้วย จึงได้พบท่านพระครูวิสิษฐ์ศีลาจารย์เจ้าอาวาส แล้วท่านให้ชวนพ่อแม่ของเราขึ้นไปเที่ยวบ้าง ครั้นไปแล้วจึงได้ทราบว่าวัดเขาไกรลาสนี้ เป็นสาขาของวัดราชบพิธ มีท่านเจ้าคุณจินดา รองเจ้าอาวาสเป็นผู้มาบุกเบิกก่อสร้าง

ท่านเจ้าคุณจินดากรมุนี (ทองเจือ) ท่านเป็นพระที่มีวาทศิลป์ยอดเยี่ยม เมื่อพ่อแม่พาเราไปกราบท่านที่วัดราชบพิธ ท่านชักชวนให้เราเด็ก ๆ ทั้งสามคนบวชเณรในช่วงปิดเทอมใหญ่ พ่อแม่ก็สนับสนุนให้เราบวช  ผมอายุสักสิบปีเท่านั้นเองเมื่อบวชครั้งแรก ที่ยอมก็เพราะวัดราชบพิธไม่มีงานเผาผี ถ้าวัดมกุฏขอบาย ครั้งนั้นท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (วาสน์) เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านเจ้าคุณจินดากรมุนีเป็นพระกรรมวาจาจารย์ บวชแล้วท่านมอบหมายให้พระมหาอัมพรเป็นพระพี่เลี้ยง

ผมยังจำครั้งแรกที่ท่านมหาอัมพรพาออกบิณฑบาตได้ หลังจากบวชสองสามวันท่านเห็นว่าเดินไกล ๆ แล้วจีวรไม่หลุดรุ่ยแน่ จึงนำวนไปทางวัดสุทัศน์ มีโยมรายหนึ่งตั้งโต๊ะใหญ่มากหน้าบ้าน พระเฌรยืนล้อมวงอยู่ห่าง ๆ เพื่อผลัดกันเข้าไปรับบาตรทีละองค์ รอสักครู่หนึ่งพอเมื่อยก็ถึงคิวท่านอัมพร รับบาตรเสร็จ ผมเห็นพี่สองคนรีรออยู่ กลัวจะชักช้าก็เลยก้าวออกไปรับบาตรต่อทันที เสร็จแล้วก็เดินไปสมทบกับท่าน โดนท่านดุว่าเณรไปตัดคิวพระท่านทำไม พอผมได้สังเกตจึงเห็นว่า พระท่านยืนแยกสายกันตามใครมาซ้ายมาขวา แล้วสลับเข้ารับบาตรซ้ายทีขวาที ผมไปเบิ้ลเป็นขวา ๆ ท่านมหาอัมพรเลยต้องเดินไปขอโทษพระองค์นั้น ซึ่งท่านก็ไม่ว่าอะไร

อยู่วัดราชบพิธสักสัปดาห์เดียวก็ตามท่านเจ้าคุณจินดาไปวัดเขาไกรลาศเพื่ออยู่ต่อแล้วสึกที่นั่น ไม่กี่วันพวกเราก็มีเด็กหนองแกมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์  พาเณรเมืองกรุงเที่ยวผจญภัยไปทั่วย่าน วันหนึ่งไปไกลถึงหัวเขาตะเกียบด้านที่เป็นป่าสน แล้วลงเล่นน้ำทะเลที่นั่น สบงจีวรเปียกหมดทั้งตัว ขากลับนายพักตร์ลูกศิษย์หาไม้ไฝ่ให้คนละท่อน เอาจีวรผูกแล้วเดินชูตากแดดตากลม กะจะให้แห้งก่อนถึงวัด ถึงตีนเขาไกรลาศเดินขึ้นกระไดไปอีกร้อยกว่าขั้นเหนื่อยแทบแย่ เห็นท่านเจ้าคุณจินดาท่านยืนรออยู่แล้ว โดนหยิกที่ท้องแขนคนละทีทั้งเณรทั้งลูกศิษย์ก่อนนั่งฟังเทศนา ท่านบอกว่าไม่รักษาสมณสารูป ทำตัวเป็นลิงเป็นค่าง เอาจีวรมาทำธงเดินแห่กันมาเหมือนทหาร แลเห็นแต่ไกล

ก็ตามที่ท่านว่าแหละครับ ผมคิดอยู่ตลอดเวลาว่าบวชครั้งนั้นเป็นการไปตดรดผ้าเหลืองตามสำนวนโบราณแท้ ๆ  แต่แม่ผมก็เป็นปลื้มมากเพราะท่านจัดให้ลูก ๆ ผลัดวันกันขึ้นไปเทศน์โปรดโยม พอโตขึ้นมาหน่อยก็เอาใหม่ ขอบวชเณรอีกครั้งแบบบวชเดี่ยวเลยที่วัดราชบพิธ ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์เช่นเคย องค์นี้ต่อมาไม่นานท่านได้เป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และเป็นสมเด็จพระสังฆราชในที่สุด

บวชเณรครั้งที่ ๒ นี้ อายุประมาณสิบห้าสิบหกแล้ว ท่านเจ้าคุณจินดาท่านมอบให้ท่านมหาอัมพร พระอุปัฏฐากของท่านเป็นผู้ดูแลสั่งสอนผมเช่นเคย ความใกล้ชิดครั้งนี้มีมาก จนสังเกตได้ว่า แทบทุกเพลที่ท่านเจ้าคุณจินดาจะมาฉันเพลที่กุฏิปริยชาติของท่าน นอกจากญาติโยมสองสามคนจะเปลี่ยนหน้ามาถวายภัตตาหารแล้ว จะมีขาประจำ คือน้องชายของท่านมหาอัมพร และหญิงสาวสวยคนหนึ่งมานั่งสงบเสงี่ยมไม่พูดไม่จาอยู่ด้วย แต่เธอก็ทำตัวเรียบร้อย เวลานั่งก็จะมีผ้าพันคอผืนโต ๆ มาคลุมหัวเข่ามิดชิด ตอนแรก ๆ ผมก็นึกว่าเป็นแฟนน้องชายท่าน แต่ไม่นานก็สังเกตว่าชายหญิงทั้งสองมิได้มาด้วยกัน เวลาไปก็ไปกันคนละทาง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 14 มี.ค. 17, 14:49

ผมละนึกเป็นห่วงเสียจริง ๆ  ท่านมหาอัมพรนั้นที่เป็นพระรูปงาม ราศีเปล่งปลั่ง ใครเห็นใครนิยมมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เวลาโอภาปราศัยก็นุ่มนวล ยิ้มแย้มตลอดเวลา วันหนึ่งฉันเพลเสร็จเรียบร้อยใคร ๆ ไปกันหมดแล้ว ผมกำลังจะเดินกลับกุฏิของผม พอออกมาพ้นประตูกุฏิของท่านแลเห็นแม่หญิงคนนั้นเดินมาแต่ไกล เสียงท่านอัมพรตะโกนเรียกผมจากหน้าต่างชั้นบนว่า เณร ๆ  กลับมาก่อน ผมขึ้นมาหาท่านแล้วท่านก็บอกว่า อยู่เป็นเพื่อนกันหน่อย แล้วท่านก็ครองจีวรเรียบร้อยไปนั่งเตรียมตัวอยู่บนอาสนะของท่าน

แม่หญิงคนสวยคนนั้นก็ขึ้นมานั่งอยู่หัวกระไดแล้วกราบเบญจางคประดิษฐ์อย่างงดงาม ผมจำไม่ได้ว่าเธอพูดอะไรแล้วท่านตอบว่าอย่างไร แต่ท่านไม่แสดงสีหน้าว่าไม่พอใจที่จะรับแขก พูดไปคุยไปด้วยรอยยิ้มบนใบหน้าเหมือนกับเวลาพูดกับโยมทุกคน ผมก็ง่วงสิครับ ค่อยถอยตนเองเข้าไปในห้องนอนของท่าน ตอนแรกก็นั่งคาประตูอยู่ สักพักก็ล้มตัวลงนอนหลับตาแต่เงี่ยหูให้ได้ยินเสียงตลอด อยู่ ๆ เสียงสนทนาก็สะดุดลง แล้วเปลี่ยนเป็นเสียงของท่านที่พูดข้างหูผม “เณรนี่ บอกให้นั่งเป็นเพื่อนกันหน่อยก็ไม่ได้”

ผมทะลึ่งพรวดขึ้นทันที ท่านก็เดินกลับไปนั่งที่อาสนะเดิมห่างจากโยมสาวห้าหกเมตร แต่ยังหันมาบอกผมว่า “ออกมานั่งข้างนอกนี่” ในจังหวะที่กระอักกระอ่วนนี้เอง แม่หญิงคนงามก็กราบลาท่านด้วยความรู้สึกอย่างไรผมก็ไม่อยากเดา แล้วเธอผู้นั้นก็เดินจากออกไปจากทางโคจรของท่านเมื่อไหร่อย่างไร ผมก็ไม่ทราบอีกเลย

ในช่วงเวลาเหล่านี้ ครอบครัวของผมรู้สึกถูกจริตกับปฏิปทาของพระวัดราชบพิธมาก ทุกองค์น่ารักน่าเคารพ ไม่มากไปน้อยไป แทบจะทุกคืนหลังอาหารเย็น จะขับรถไปซื้อน้ำอ้อยที่ถนนวิสุทธิกษัตริย์ แล้วนำไปถวายเป็นน้ำปานะ สนทนากับพระพอสมควรแก่เวลาแล้วก็กราบลา

แล้วก็เลยมีเรื่องสำคัญผมอดที่จะเล่าไม่ได้

เริ่มจากญาติผู้ใหญ่ของผมคนหนึ่งได้ไปค้นพบรู้จักกับอาจารย์สมัย วงศาโรจน์ โหราจารย์ผู้โด่งดังแห่งยุค แต่ตอนนั้นเราเรียกว่าหมอหมัย หมอหมัยดูดวงแม่นมาก ปากคอสำบัดสำนวนก็ไม่เหมือนใคร เวลาฟันเปรี้ยงออกไปบางคนถึงกับผงะ หมอหมัยดูป้าของผมคนหนึ่งว่า ภายในช่วงวันนั้นวันนี้ให้ระวังอุบัติเหตุ ป้าเชื่อมากขนาดไม่ยอมออกไปไหนเลย เกือบจะพ้นช่วงนั้นอยู่แล้วก็ให้บังเอิญสะดุดขาตนเอง ตกกระไดลงมาแขนหักในบ้าน พวกเรายังล้อกันว่าป้าคงกลังว่าหมอดูจะไม่แม่น เลยโดดบันไดลงมาให้ต้องตามคำทำนาย กิตติศัพท์ของหมอหมัยไม่ทราบใครไปเล่าให้ท่านเจ้าคุณจินดาฟัง ท่านบอกว่า “เราอยากดู ช่วยพาเราไปบ้าง”

แม่และผมกับเพื่อนบ้านสนิทกันคนหนึ่ง เป็นผู้ขับรถพาท่านเจ้าคุณจินดาและท่านมหาอัมพรไปหาหมอหมัยที่บ้านซอยโปโลตามนัดในช่วงค่ำวันหนึ่ง โอภาปราศัยเสร็จแล้ว หมอหมัยก็ผูกดวงท่านเจ้าคุณ แล้วก็บอกว่า ดวงนี้อยู่ไม่สุข อยู่เฉย ๆ ไม่เป็น ชอบหางานยาก ๆ หนัก ๆ มาให้ตัวเอง ท่านก็หัวเราะแล้วถามว่า แล้วมันจะสำเร็จไหม หมอหมัยบอกพอจะสำเร็จงานหนึ่งก็ไปจับงานใหม่เข้ามาอีกอย่างนี้เรื่อยไป แล้วพูดต่อว่า ดวงของท่านนี้ ต่อไปต้องได้เป็นสมเด็จแน่ ถ้าไม่ได้เป็นก็ให้เอาตีนหมามาเหยียบหน้าผมได้ นี่ครับ หมอหมัยของแท้ต้องสำนวนอย่างนี้ ว่าแล้วก็ส่งดวงให้ "ท่านเจ้าคุณ เก็บไว้เลย ดวงของท่านไม่จำเป็นต้องดูหมอ"

พอถึงตาท่านอัมพร ดูเหมือนท่านสนใจจะถามเรื่องการศึกษาที่ดูเหมือนท่านจะต้องไปเรียนต่อที่อินเดีย หมอหมัยผูกดวงแล้วก็นิ่งไปชั่วครู่ มีแถมเพ่งพินิจโหวงเฮ้งท่านด้วยก่อนจะพูดว่า “ดวงของท่านมหา สมเด็จผมก็ว่ายังน้อยไป ผมจะไม่ดูเรื่องอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ละ ท่านเอาดวงนี้เก็บไปเลย”
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 14 มี.ค. 17, 14:50

พระทั้งสององค์หัวเราะอย่างไม่เชื่อถือ ก็มันตลกไหมล่ะนั่น อาจารย์กับลูกศิษย์มาด้วยกัน หมอดูบอกว่าจะเป็นสมเด็จด้วยกันทั้งคู่ อีกองค์หนึ่งสมเด็จก็ยังน้อยไปอีกด้วย
ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์คืนนั้นที่ยังมีชีวิตอยู่มีแค่สมเด็จอัมพรกับผม ความจำของผมส่วนฝอย ๆ อาจจะเพี้ยนไปบ้าง แต่หลัก ๆ แล้วไม่ผิดแน่ ตอนที่ท่านเจ้าคุณอัมพรได้เป็นสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ผมได้เรียนถามว่ายังจำเรื่องนี้ได้หรือไม่ ท่านบอกว่าไหนๆเขาว่าอย่างไร พอผมกราบเรียนแล้วท่านก็หัวเราะ บอกว่า เหรอ ๆ  คือผมว่าท่านไม่ได้สนใจอะไรกับคำทำนายนี้ตั้งแต่แรกแล้วละครับ เรื่องนี้จึงไม่ได้อยู่ติดสมองท่านเลย ส่วนผมนั้น ถ้าไม่เล่าก็คงจะอกแตกตาย

เรื่องราวที่ท่านจำได้แม่นก็คือ คราวที่ผมเป็นสารถีขับรถพาท่านเจ้าคุณจินดาและท่านกับพระอีกสององค์ไปวัดป่าทางอิสานนั่นแหละ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วท่านเห็นรูปยังบอกว่า ท่านเคยไปวัดป่าบ้านตาดมาครั้งหนึ่งแล้ว ปีต่อมาก็ไปกับผมเป็นครั้งที่ ๒ ได้พบครูบาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ แต่วัดถ้ำขามของท่านอาจารย์ฝั้นท่านไม่ได้พูดว่าท่านเคยไปมาก่อน เข้าใจจะเป็นตามที่ผมเคยทราบว่าท่านไปเป็นครั้งแรกและได้ฝากตนเป็นศิษย์กรรมฐานของท่านอาจารย์ฝั้นในครั้งนั้น เรื่องนี้ผมเขียนไปแล้วคงไม่ต้องเล่าซ้ำอีก

เมื่อบวชครั้งสำคัญในชีวิต ผมได้บวชนาคหลวงในพระอุโบสถวัดพระแก้ว สมเด็จพระสังฆราชวาสน์ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ไปจำพรรษาวัดบวรนิเวศวิหาร ท่านเจ้าคุณสา (เจริญ สุวฑฺฒโน) พระกรรมวาจาจารย์เป็นเจ้าอาวาส ในปีนั้นเองท่านได้เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จพระญาณสังวร และต่อมาเป็น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ในที่สุด

ออกพรรษาแล้ว ผมลาท่านไปอยู่วัดราชบพิธระยะหนึ่งก่อนลาสิกขา ได้มีโอกาสเข้าร่วมปาฏิโมกข์ ซึ่งสงฆ์จะมอบหมายให้พระองค์หนึ่งเป็นผู้สวดบาลีเป็นเวลาร่วมชั่วโมง โดยจะต้องไม่ผิดแม้แต่คำเดียว ซึ่งหน้าที่นี้เป็นของท่านอัมพรแต่ไหนแต่ไรมา ว่ากันว่าสมองและความจำของท่านเป็นเลิศกว่าพระทุกรูปในวัดราชบพิธ ผมรู้สึกเป็นบุญที่มีคุณสมบัติครบที่จะได้ร่วมในพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของสงฆ์และได้ฟังท่านอัมพรหลับตาท่องรวดเดียวไม่มีพักยก ตั้งแต่ต้นจนจบ

นั่นเป็นโอกาสสุดท้ายท่านที่ผมได้ใกล้ชิดครูบาอาจารย์องค์ปฐม หลังจากสึกออกมาทำงานทำการแล้วก็จำเป็นต้องห่างเหิน แต่ทุกครั้งที่มีงานบุญ บ้านผมก็นิมนต์พระวัดราชบพิธทุกครั้ง ท่านเจ้าคุณจินดาได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นตามลำดับ จนได้เป็นสมเด็จพุทธปาพจนบดี ส่วนท่านมหาอัมพร ครั้งสุดท้ายที่ไปกราบนั้น ท่านเป็นสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ซึ่งทั้งสององค์ท่านได้ให้ความเมตตาสม่ำเสมอจนกระทั่งชั้นลูกชั้นหลาน สิ้นสมเด็จพุทธปา สมเด็จอัมพรท่านก็เป็นหลักในทางธรรมให้พวกเราได้ยึดเหนี่ยวต่อ เวลาเรากราบท่านทุกครั้ง เราสำนึกอยู่เสมอว่าเราโชคดีที่มีสงฆ์อย่างท่านเป็นเนื้อนาบุญ นำทางชีวิตให้ตั้งแต่เด็กจนแก่ ตลอดเวลาที่ผ่านมาผมยังไม่เห็นจริยวัตรของท่านเปลี่ยน นอกจากจะงดงามขึ้น ท่านไม่เคยหลุดกิริยาวาจาอันใดเลยที่จะทำให้ใจเราสะดุดแม้แต่นิดเดียว ท่านเป็นพระที่สำนึกของเราบอกว่า พระแท้คือพระอย่างนี้

เล่าให้ใครฟังเขาก็มักจะบอกว่าผมโชคดีที่มีโอกาสใกล้ชิดพระผู้ใหญ่หลายองค์ แต่ขอเรียนว่า ทุกองค์ตั้งแต่ท่านได้เป็นสมเด็จ โอกาสที่จะผมจะได้ใกล้ชิดท่านก็ไม่เท่าเดิม สมเด็จอัมพรนั้น หากผมคิดถึงท่านก็จะต้องไปแต่เช้าตรู่ก่อนจะออกจากห้องเล็ก ๆ ที่ท่านจำวัด พอใกล้เวลาฉันเช้า โยมก็มานั่งกันหนาตาแล้ว เห็นอย่างนั้นทีไรก็สังเวช ไม่อยากเอาตัวไปเพิ่มความไร้สาระให้ท่านอีก ดังนั้น หลัง ๆ นี้ถ้าไม่มีธุระจำเป็นจริงๆ หรือท่านเรียกใช้มาก็จะไม่ไป

อยากจะถนอมสังขารของท่านให้ดำรงอยู่ นานที่สุดเท่าที่ท่านจะดำรงได้ เพื่อให้เป็นที่พึงทางใจให้ชาวพุทธคนไทย ไปอีกนานเท่านาน

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1352204618176566&id=1174884455908584
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 14 มี.ค. 17, 18:03

ขอบคุณคุณหมอเพ็ญที่กรุณาถ่ายทอดมาลงครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 15 มี.ค. 17, 16:02

บันทึกการเข้า
ธสาคร
พาลี
****
ตอบ: 248


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 19 พ.ย. 19, 02:44

รูปในศาลาอเนกประสงค์วัดป่าบ้านตาด ผมดูทีแรก ให้นึกสงสัยว่าทำไมลำดับการนั่งจึงดูสับสน ทั้งที่วัดป่าถือเคร่งครัดในเรื่องการเรียงลำดับตามอายุพรรษา
เมื่อผมไล่อ่านความเห็นต่างๆในเฟซบุ๊กแล้ว ผมจึงค่อยเก็บข้อมูลตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย มาปะติดปะต่อเข้ากับสิ่งที่ผมพอจะทราบบ้างเกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติการเรียงลำดับพรรษา
.
โดยข้อมูลที่ผมได้จากความเห็นต่างๆในเฟซบุ๊กคือ
1.รูปถ่ายชุดนี้ถ่ายเมื่อเดือนเมษยน 2508 โดยไม่ระบุวันที่
2.พระเชอรี่ ขณะนั้นยังเป็นเณร
3.พระปัญญาสังกัดมหานิกาย ต่อมาญัตติเป็นธรรมยุต เมื่อ 22 เมษายน 2508
4.เจ้าคุณจินดามีพรรษาแก่กว่าหลวงตามหาบัว
5.พระที่ไม่ทราบนาม2รูป น่าจะเป็นพระจากวัดราชบพิธ เพราะได้ร่วมคณะเดินทางต่อไปยังวัดถ้ำขาม
.
ข้อมูลที่ผมรับรู้มาสมัยผมบวชเป็นพระคือ
1.พระมหานิกายที่เข้าไปศึกษาธรรมะกับฝ่ายธรรมยุต ไม่ว่าจะมีพรรษาเท่าไร ก็จะนั่งในลำดับท้ายสุดเสมอ (ท้ายสุดของภิกษุ แต่อยู่ก่อนหน้าเณร)
2.พระอาคันตุกะ เมื่อไปถึงวัดที่เขาจัดแจงอาสนะเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะไม่แทรกอาสนะของพระอาคันตุกะลงในลำดับแถวเดิมนั้น หากแต่จะจัดแถวใหม่ไปเลย
เว้นแต่พระอาคันตุกะรูปนั้นจะเป็นพระเถระ จึงจะจัดอาสนะแทรกลงในแถวเดิมตามลำดับอายุพรรษาของพระอาคันตุกะ
.
ผมจึงวิเคราะห์รูปถ่ายได้ดังนี้ เมื่อคณะของวัดราชบพิธไปถึงวัดป่าบ้านตาด ทางวัดป่าบ้านตาดจึงเสริมอาสนะเจ้าคุณจินดาที่หัวแถว จากนั้นต่อด้วยหลวงตามหาบัว, หลวงปู่บัว(วัดหนองแซง), พระอาจารย์สิงห์ทอง(?)
แถวที่จัดขึ้นใหม่สำหรับพระอาคันตุกะคือ พระมหาอัมพร, ตามด้วยพระจากวัดราชบพิธอีก2รูป, ตามด้วยหลวงพ่อปัญญา(เพราะยังเป็นมหานิกาย จึงรั้งท้าย) ส่วนที่เห็นแต่บาตรโผล่มาหน่อยนึงจากขอบรูปนั้น น่าจะเป็นบาตรของเณรเชอรี่(ถ้าไม่มีเณรรูปอื่นอีก)
ซึ่งถ้าไม่มีพระอาคันตุกะมาเยือน แถวพิเศษนี้ก็จะมีเพียงหลวงพ่อปัญญากับเณรเชอรี่
.
รูปถ่ายชุดนี้ จึงน่าจะถ่ายในช่วงต้นเดือนเมษายน ก่อนที่หลวงพ่อปัญญาจะญัตติเป็นธรรมยุต
.
ส่วนข้อถกเถียงว่าภิกษุที่นั่งทางขวาสุดของรูปถ่ายเป็นพระอาจารย์สิงห์ทองหรือไม่ ผมว่ามีความเป็นไปได้สูง เพราะนอกจากประพิมพ์ประพายคล้ายกันแล้ว ยังใช้กระโถนมีเชิงด้วย(บ่งบอกความเป็นพระเถระ)
.
แถมนิดนึง..ถาดข้างหน้าหลวงตามหาบัว หลวงปู่บัว พระอาจารย์สิงห์ทอง เป็นถาดเปล่า แสดงว่าทั้ง3รูปนั้นถือธุดงควัตร"ฉันในบาตร" แม้จะเป็นเดือนเมษายนซึ่งไม่ใช่ฤดูกาลพรรษา


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 20 พ.ย. 19, 13:49

5.พระที่ไม่ทราบนาม2รูป น่าจะเป็นพระจากวัดราชบพิธ เพราะได้ร่วมคณะเดินทางต่อไปยังวัดถ้ำขาม


องค์หนึ่งเป็นพี่ผมครับ ชื่อ นพ.จุมพล คุ้มไพโรจน์ (สวมแว่น) สมัยยังเป็นนักศึกษาแพทย์ บวชชั่วคราวระหว่างปิดเทอมใหญ่ 
อีกองค์หนึ่งชื่อพระสุจินต์  เป็นน้องแท้ๆของท่านเจ้าคุณจินดา  อายุมากกว่าท่านมหาอัมพร แต่พรรษาน้อย บวชอยู่เกินสิบปีเหมือนกัน แต่สุดท้ายหมดบุญ

ทั้งสององค์เป็นพระวัดราชบพิธ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 20 พ.ย. 19, 13:52

ส่วนข้อถกเถียงว่าภิกษุที่นั่งทางขวาสุดของรูปถ่ายเป็นพระอาจารย์สิงห์ทองหรือไม่ ผมว่ามีความเป็นไปได้สูง เพราะนอกจากประพิมพ์ประพายคล้ายกันแล้ว ยังใช้กระโถนมีเชิงด้วย(บ่งบอกความเป็นพระเถระ)


ไม่ใช่ท่านอาจารย์สิงห์ทองครับ ผมยืนยัน  เป็นชาวบ้านละแวกนั้น เห็นว่าบวชอยู่นานแต่ไม่ถึงกับเป็นพระเถระ ภายหลังลาสึกไป แต่ก็ยังวนเวียนอยู่ระหว่างบ้านกับวัดป่าบ้านตาด 

อนึ่ง ผมไม่คิดว่าวัดป่าจะมีการจัดกระโถนถวายตามลำดับพรรษานะครับ มันไปย้ำเรื่องอัตตาอันเป็นกิเลศหยาบเห็นง่ายตัวหนึ่ง  ถ้าจะวางอะไรเป็นพิเศษให้พ่อแม่ครูอาจารย์องค์อาวุโสสุดเป็นการถวายความเคารพก็อาจจะมีครับ ไม่ไม่เสมอไป แต่ไม่น่าจะเป็นกระโถน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 20 พ.ย. 19, 14:07

แถมนิดนึง..ถาดข้างหน้าหลวงตามหาบัว หลวงปู่บัว พระอาจารย์สิงห์ทอง เป็นถาดเปล่า แสดงว่าทั้ง3รูปนั้นถือธุดงควัตร"ฉันในบาตร" แม้จะเป็นเดือนเมษายนซึ่งไม่ใช่ฤดูกาลพรรษา

ทุกองค์ไปถึงตรงนั้นแล้วก็ฉันในบาตรหมดครับ  และวัดป่าฉันก็ในบาตรตลอดไม่ว่าฤดูกาลใด

ถาดที่เห็นมีไว้สำหรับวางอาหารที่บิณฑบาตมาได้ ทุกองค์จะนำออกมาวางรวมกัน แล้วทายกจะนำมาถวายอีกครั้ง พระท่านจะเวียนถาดไปตามแถว  แต่ละองค์จะหยิบอาหารแต่พอฉันลงในบาตรของท่าน  บางถาดมีของน้อยก็อาจจะกลายเป็นถาดเปล่าไปดังที่เห็น  ส่วนอาหารบางอย่างมีมากเกินไปก็จะยังคงค้างอยู่ในถาด  ท่านก็จะเลื่อนออกมาให้โยมต่อไปไปครับ

วัดป่าบ้านตาดในสมัยนั้นมีอาหารบิณฑบาตน้อย เป็นข้าวเหนียวเกือบจะล้วนๆ ทางวัดต้องทำกับข้าวถวาย ส่วนกับที่ชาวบ้านทำซึ่งมีไม่มาก ครูบาอาจารญ์ท่านจะเมตตาหยิบลงบาตรของท่าน  วันนั้นญาติโยมจากกรุงเทำไปทำถวาย ของในถาดบางถาดจะเหลือมากหน่อย แต่เดี๋ยวเลื่อนออกมาถึงคนในวัดก็หมดครับ


บันทึกการเข้า
ธสาคร
พาลี
****
ตอบ: 248


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 21 พ.ย. 19, 01:33

เป็นพระคุณที่คุณ NAVARAT.C ช่วยชี้แจงโดยละเอียดทั้งพระจากวัดราชบพิธและกรณีพระอาจารย์สิงห์ทอง
ผมเชื่อตามคุณ NAVARAT.C ครับ เพราะผมคิดว่าพยานบุคคลตัวจริงน่าเชื่อถือกว่าการอนุมานจากเพียงรูปถ่ายครับ
(รูปถ่ายต้นฉบับพอจะเห็นใบหูมากกว่ารูปที่สแกนไหมครับ เผื่อจะอ่านรอยหยักของใบหูได้บ้าง)
.
ส่วนเรื่องกระโถน ผมไม่ได้หมายถึงขนาดที่ว่าจะมีการจัดกระโถนตามอายุพรรษาหรอกครับ
เพียงแต่พระน้อยจะสำรวมตน ไม่ใช่บริขารที่ดูดีกว่าหมู่(หมู่คือสรรพนามแทนภิกษุทั้งวัด ขออภัยครับ..ผมอธิบายเผื่อสมาชิกท่านอื่น) สมมติถ้าผมเป็นพระน้อย ผมจะไม่กล้าใช้กระโถนมีเชิง ความรู้สึกจะประมาณนี้ครับ
ผมเลยอนุมานเองว่า พระที่ใช้กระโถนมีเชิงน่าจะได้รับการ approve แล้ว
อย่างวัดที่ผมบวชอยู่ แม้จะมีกระโถนเชิงสำรองอยู่หลายใบ แต่พระลูกวัดก็ไม่มีใครกล้าหยิบกระโถนเชิงมาใช้
.
ยกเรื่องผ้าอาสนะรองนั่งอีกซักเรื่อง เวลามีงานใหญ่ ทางวัดเจ้าภาพจะจัดอาสนะที่บุฟองน้ำ(หรือเป็นพรม)ตามจำนวนพระเถระที่นิมนต์ไว้ ที่เหลือปล่อยเป็นพื้นเกลี้ยงๆไป เพื่อให้พระน้อยใช้ผ้าปูส่วนตัว(บางๆ) ปูนั่งต่อแถวกันไปเอง
ซึ่งแน่นอนว่าอาสนะพิเศษย่อมเตรียมไว้มากกว่าโควต้านิดนึง หรือพระเถระมาไม่ครบตามนิมนต์ พระน้อยก็ต้องเลื่อนลำดับขึ้นมาแทน พระน้อยเหล่านั้นก็จะม้วนอาสนะพิเศษหลบไปด้านหลังครับ
นับเป็นความเสงี่ยมความสำรวมเฉพาะตัว ไม่ได้ถือเรื่องกระโถน อาสนะ ให้เป็นแก่นสารแต่อย่างใด
.
เรื่องกระโถนกับอาสนะเป็นการยกตัวอย่างประสบการณ์ ซึ่งเป็นที่มาของชุดความคิดของผมครับ
บันทึกการเข้า
ธสาคร
พาลี
****
ตอบ: 248


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 21 พ.ย. 19, 02:18

ผมเข้าใจตามที่คุณ NAVARAT.C อธิบายมาครับ
แต่ขอขยายความเรื่อง"ฉันในบาตร" คือผมหมายถึงจะไม่มีอาหารใดๆเหลืออยู่นอกบาตรเลย ไม่เหลือวางไว้ให้เห็นเลยน่ะครับ
อยากฉันสิ่งใด ก็ต้องจัดลงไปรวมในบาตรหมด ทั้งคาวและหวาน น้ำหรือแห้ง (แต่ไม่คลุกอย่างที่บางคนเข้าใจ แค่นั้นก็ปนกันแย่แล้วครับ)
ถาดที่ยังมีอาหารเหลืออยู่จะถูกส่งออกไปให้โยมจนหมด จากนั้นจึงเริ่มให้พร
.
พอออกพรรษาแล้ว แม้ว่าจะยังฉันในบาตร แต่สามารถแยกถ้วยชามเสริมวางไว้ข้างๆบาตรได้
เช่นแยกถ้วยแกง, ก๋วยเตี๋ยวน้ำ, ขนมหวานไว้ต่างหาก พอฉันในบาตรหมดแล้วค่อยต่อด้วยก๋วยเตี๋ยวและขนมหวาน
ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ ไม่ถือเป็นธุดงควัตรฉันในบาตร
อันนี้เป็นธรรมเนียมวัดที่ผมบวชอยู่ครับ ผมจึงได้วิเคราะห์รูปถ่ายออกไปในแนวที่กล่าวไว้ตามความเห็นข้างบน
.
ส่วนเรื่องถาดเปล่า ไม่ใช่เพราะอาหารหมดแล้วปล่อยค้างเติ่งไว้ แต่ตั้งไว้เพื่อรอใส่ข้าวก้นบาตรภายหลังจากท่านฉันเสร็จครับ
ซึ่งเรื่องถาดเปล่าตั้งรอไว้นี้ผมเห็นตัวอย่างจากวัดที่สืบทอดปฏิปทาจากวัดป่าบ้านตาด
ผมไม่รับรองว่าจะเป็นเช่นนี้ทุกวัด บางวัดอาจจะอุ้มบาตรหลวงปู่หลวงพ่อออกมาเทอาหาร ณ ที่ไกลก็ได้ครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.086 วินาที กับ 19 คำสั่ง