เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5
  พิมพ์  
อ่าน: 15790 ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 25 ม.ค. 17, 17:08

คุณหนุ่มคงหมายถึงราชนาวีสโมสร   ราชนาวิกสภาอยู่ฟากตรงข้ามของแม่น้ำเจ้าพระยาค่ะ
เห็นจะต้องหาโอกาสไปกินข้าวที่นั่น  รำลึกว่าเมื่อเกือบ 200 ปีก่อน กวีเอกอยู่ตรงนี้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 02 ก.พ. 17, 14:53

  พระยาปริยัติฯ บอกว่าสุนทรภู่มีภรรยาหลายคน   แต่ที่เอ่ยชื่อ เท่าที่ท่านได้หลักฐานคือ จันท์ กับ นิ่ม    ตามความเห็นของท่าน  นิราศพระบาทแต่งเป็นเรื่องแรก  นิราศเมืองแกลงเป็นเรื่องที่สอง
   ส่วนแม่นิ่ม ท่านเข้าใจว่าเป็นชาวบ้านอยู่บางกรวย และเป็นมารดาของหนูตาบ    ลูกๆ มีชื่อว่า พัด  ตาบ(หรือน้อย)  นิล กลั่นและชุบ  กลั่นและชุบ สองคนหลังนี้เป็นบุตรบุญธรรม

   ในรัชกาลที่ 2 มีการไต่สวนเรื่องการตกหนังสือในพระบรมมหาราชวัง    สุนทรภู่อยู่ในข่ายต้องสงสัยด้วย  เวลานั้นท่านติดคุกอยู่

    การตกหนังสือที่ว่านี้ ไม่รู้ว่าหมายถึงเหตุการณ์ไหน   เพราะมี 2 เหตุการณ์ใหญ่ๆในรัชกาลที่ 2  เหตุการณ์แรกคือกบฎเจ้าฟ้าเหม็นในต้นรัชกาล
     " ครั้น ณ วัน เดือน ๙ แรม ๑๑ ค่ำ ปีมแสงศก มีกาคาบกระดาษหนังสือมาทิ้งลงริมพระที่นั่งดุสิดามหาปราสาท ตำรวจในล้อมวงรักษาพระองค์ได้เห็นเปนอันมาก จึงนำเอาหนังสือไปแจ้งแก่พระยาอภัยรณฤทธิ พระยาอนุชิตราชาจางวางพระตำรวจปฤกษาด้วยเสนาบดีนำเอาหนังสือขึ้นทูนเกล้าฯ ถวาย"
      เมื่อพระยาอนุชิตราชาได้หนังสือแล้วจึงนำหนังสือ นี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย รัชกาลที่ ๒ รุ่งขึ้นจึงโปรดให้จับกุมเจ้าฟ้าเหม็นมาสอบสวน ผู้ที่ทำการจับกุมก็คือพระยาอนุชิตราชานั่นเอง
      เหตุการณ์การจับกุมนี้ มีพระราชวิจารณ์ของรัชกาลที่ ๕ ในจดหมายเหตุกรมหลวงนรินทรเทวีว่า
     " จับที่ประตูสองชั้นนี้เปนการกึกกักกันมาก ว่าปล่อยให้เสลี่ยงเข้ามาในประตูสองชั้น แล้วปิดประตูทั้งสองข้าง เมื่อเวลาจับนั้นเจ้าฟ้าเหม็นเอามือตบขา พูดติดอ่างว่าจะจับข้าไปข้างไหน     
      ส่วน เจ้าจอมมารดาสำลี จำเลยอีกคนหนึ่งนั้น ทรงเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระนามว่าพระองค์เจ้าหญิงสำลี วรรณ เป็นเจ้าจอมในกรมหลวงเสนานุรักษ์ ซึ่งต่อมาก็คือวังหน้าในรัชกาลที่ ๒ เหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุนั้น หลวงพิสูจน์พาณิชยลักษณ์ (ม.ล.เพิ่มยศ อิศรเสนา) ได้นิพนธ์ไว้ว่า
       " ในวันจันทร์ วันเดียวกันนั้น เจ้าจอมมารดาสำลีตัดผมใหม่ พระองค์ชายพงศ์อิศเรศร์ ชันษา ๙ ปี พระองค์หญิงนฤมล ชันษา ๖ ปี สามคนแม่ลูกนั่งเล่นกันอยู่ที่พระตำหนักในพระนิเวศนเดิม (ราชนาวิกสภา) สมเด็จฯ กรมหลวงเสนานุรักษ์เสด็จกลับจากพระบรมมหาราชวัง รับสั่งถามเจ้าจอมมารดาสำลีว่า กรมขุนกษัตรานุชิตเป็นขบถ เขาว่าเจ้ารู้เห็นเป็นใจด้วยจริงหรือ คุณสำลีตอบเป็นทำนองว่า จะหาว่าเป็นขบถก็ตามใจ พ่อเขาก็ฆ่า พี่น้องเขาจะเอาไปฆ่า ตัวเองจะอยู่ไปทำไม รับสั่งให้เรียกตำรวจเข้ามาคุมตัวไป คุณสำลีก็ผลักหลังลูกสองคนว่า นี่ลูกเสือลูกจระเข้ แล้วก็ลุกขึ้นตามตำรวจออกไป"
        นอกจากนี้ยังมีพระราชโอรส ของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีอีกพระองค์หนึ่งที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้คือนายหนู ดำ หรือพระองค์เจ้าชายอรนิภา อีกพระองค์หนึ่ง  ทุกพระองค์ถูกสำเร็จโทษ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 02 ก.พ. 17, 14:58

          ส่วนอีกเหตุการณ์หนึ่งคือ กรณีกรมหมื่นศรีสุเรนทร์        ดังมีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารว่า
          "ในเดือน ๑๒ ป็ชวดอัฐศก (พ.ศ. ๒๓๕๙) นั้น มีโจทก์ฟ้องว่า พระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) วัดมหาธาตุ รูป ๑ พระญาณสมโพธิ (เค็ม) วัดนาคกลางรูป ๑ พระมงคลเทพมุนี (จีน) วัดหน้าพระเมรุกรุงเก่ารูป ๑ ทั้ง ๓ รูปนี้ประพฤติผิดพระวินัยบัญญัติข้อสำคัญ ต้องเมถุนปาราชิกมาช้านาน จนถึงมีบุตรหลายคน โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นรักษ์รณเรศ กับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพิจารณาได้ความเป็นสัตย์สมดังฟ้อง จึงมีรับสั่งเอาตัวผู้ผิดไปจำไว้ ณ คุก"
            พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคันธรส กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ทรงเป็นศิษย์เอกในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ทรงโกรธในการกระทำอันเกินกว่าเหตุของเจ้านาย 2 พระองค์มาก (และว่ากันว่าอาจะเป็นการกลั่นแกล้งเพื่อไม่ให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นสมเด็จพระสังฆราช) จึงทรงเขียนบัตรสนเท่ห์ ดังนี้
              ไกรสรพระเสด็จได้            สึกชี
           กรมหมื่นเจษฎาบดี              เร่งไม้
           พิเรนทรแม่นอเวจี               ไป่คลาด
           อาจพลิกแผ่นดินได้             แม่นแม้น เมืองทมิฬ

           พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ โปรดฯให้ค้นหาตัวผู้ทิ้งหนังสือ จนได้ตัวกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 2 เล่าไว้ว่า
            "ครั้งนั้นกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ซึ่งเป็นศิษย์นายสี พุทธโฆษาจารย์ไม่เห็นด้วย ก็ทิ้งหนังสือเป็นคำโคลงหยาบช้าต่อตระลาการกระทบกระทั่งถึงพระเจ้าแผ่นดินด้วย จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพิจารณาหนังสือทิ้ง กรมพระราชวังได้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์ กับนักปราชญ์ที่รู้กาพย์ กลอนโคลง พิจารณาก็ลงเนื้อเห็นว่าเป็นสำนวนฝีโอษฐ์กรมหมื่นศรีสุเรนทร์แน่แล้ว จึงรับสั่งให้หากรมหมื่นศรีสุเรนทร์มาซักถามก็ไม่รับ จึงให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนถามจึงได้รับเป็นสัตย์ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ทนอาชญาไม่ได้ ก็สิ้นชีพในทิม แล้วมิได้บาดหมายให้ถอดชื่อเหมือนอย่างหม่อมเหม็น ข้าราชการเพ็ดทูลลางคนก็ออกพระนามว่า พระองค์เจ้าคันธรศบ้าง ออกพระนามว่ากรมหมื่นศรีสุเรนทร์บ้าง"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 02 ก.พ. 17, 15:10

         สุนทรภู่รอดราชภัยไปได้  เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย   ก็เห็นได้ว่ายังติดคุกอยู่ คงจะออกไปร่วมมือไม่ได้อยู่ดี      ท่านไม่ได้ออกจากคุกเพราะเหตุนี้  แต่ออกเพราะสามารถต่อกลอนพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงติดขัดอยู่
คือตอนบรรยายรถทรงของทศกัณฐ์ ที่ในเรื่องจะต้องแต่งให้โอฬารยิ่งกว่ารถพญายักษ์อื่นๆ

         พระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๒ บรรยายไว้ว่า
              "รถเอยรถที่นั่ง                    บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
            กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาล     ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
            ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง          เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
            สารถีขับขี่เข้าดงแดน               พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ"
           แค่นี้ยังสั้นไป   ไม่พอที่จะบรรยายความยิ่งใหญ่ของรถทรง   กวีขุนนางทั้งหลายก็พากันติดขัดต่อไม่ถูก  จึงทรงมีรับสั่งถึงสุนทรภู่   ปรากฏว่าเป็นคนเดียวต่อได้ ว่า
               นทีตีฟองนองระลอก                    คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลค่นขุ่น
           เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน             อานนท์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
           ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท              สุธาวาสไหวหวั่นลั่นเลื่อน
           บดบังสุริยันตะวันเดือน                      คลาดเคลื่อนจัตุรงค์ตรงมา

           ก็โปรดมาก  สุนทรภู่จึงหลุดจากคุก ได้เข้ารับราชการ เป็นที่สุนทร   พระยาปริยัติฯสันนิษฐานว่าเป็นขุนสุนทรโวหาร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 02 ก.พ. 17, 15:21

       ส่วนที่ไม่มีในประวัติที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเรียบเรียงไว้ คือคำบอกเล่าของผู้หญิงชื่อพิณ  แม่พิณบอกเล่าเองหรือว่าลูกหลานคนรู้จักของแม่พิณจดจำไว้บอกเล่าให้พระยาปริยัติฯฟังก็ตาม    ได้ความว่า ในรัชกาลที่ 3   สุนทรภู่ออกจากราชการ ลงเรือลอยเที่ยวอยู่     มีเด็กหญิงคนหนึ่งชื่อพิณ   เดิมเป็นชาวบางกอกน้อย   บ้านอยู่แถววัดดงมูลเหล็ก   ยังเล็ก มารดามอบให้เป็นบุตรีบุญธรรมของท่านสุนทรภู่ ซึ่งมาจอดเรืออยู่ที่หน้าบ้าน
       คำบอกเล่าก็คือ เรือของท่านเป็นรูปเรือเป็ดกว้างยาวเรือเหนือ   มีเด็กเป็นศิษย์เล่าเรียนหนังสืออยู่ด้วยหลายคน    แม่พิณก็เรียนอยู่ด้วย
      ลักษณะเรือของสุนทรภู่ที่บรรยายข้างบนนี้เป็นอย่างไร ก็จนปัญญา ไม่เคยเห็นเรือเป็ด    ต้องพึ่งคุณหนุ่มสยามหรือท่านอื่นๆในเรือนไทยตามเคย
       แต่ดูๆแล้ว  ถึงออกจากราชการ  สุนทรภู่น่าจะมีฐานะไม่อัตคัดขัดสน   เพราะสามารถรับเด็กชาวบ้านมาอุปการะได้    นอกจากนี้  รับสอนหนังสือ ก็คงได้สตางค์จากพ่อแม่เด็กไว้เลี้ยงชีพ
      แม่พิณจำได้ว่าสุนทรภู่มีความรู้ในคัมภีร์โหราศาสตร์   รับดูหมอดูด้วย   มีคนมาหาให้ดูชะตาและให้แต่งหนังสือ ไม่ขาดสาย      ข้อนี้คงเป็นรายได้ที่ไม่เลวนัก    ท่านแต่งเรื่อง พระสมุท ขณะดำรงชีพอยู่ในเรือ     รวมทั้งเพลงยาวที่แม่พิณจำได้ท่อนหนึ่งว่า
      คิดจะชวนนวลน้องไปครองคู่              ก็เกรงชู(น่าจะเป็นชู้) พวกนั้นมันจะหึง
      ทั้งพวกเพื่อนเขาจะลือกันอื้ออึง           ใช่ว่าบึงบัวงอกแต่ดอกเดียว
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 02 ก.พ. 17, 16:21

ประตูสองชั้น ในปัจจุบันคือ ประดูพิมานไชยศรี จะเป็นประตูวังซ้อนกันสองชั้นปิดกั้นระหว่างเขตพระราชฐานชั้นนอกกับชั้นกลาง ระหว่างประตูก็ยังมีพื้นที่พออยู่บ้างในการเกิดเหตุดังกล่าว

ที่มาภาพ คุณ mod


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 06 ก.พ. 17, 16:55

     จากข้อมูลเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ที่พระยาปริยัติฯรวบรวมด้วยการสัมภาษณ์เก็บความจากผู้ที่รู้จักสุนทรภู่  หรืออย่างน้อยก็ทันได้ยินคำบอกเล่าจากผู้รู้จัก   สุนทรภู่ในรัชกาลที่ 2  มักจะเข้าๆออกๆเป็นชาวคุกอยู่หลายครั้ง      พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงเป็นผู้ส่งกวีเอกเข้าคุกไปเอง   สาเหตุหนึ่งคือมารดาของสุนทรภู่ไปทูลฟ้องความประพฤติของลูกชาย ว่าใช้วาจาหยาบช้าต่อมารดา 

      การติดคุกสมัยนั้นเห็นทีจะเหมือนเรื่องขุนช้างขุนแผน  คือไม่มีกำหนดว่าติดนานเท่าไหร่  แล้วแต่จะโปรดเกล้าฯให้เข้าหรือให้ออก      จึงมีคำบอกเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงติดบทกลอนทีไร  ก็ให้คนไปถาม หรือไม่สุนทรภู่ก็ต่อให้เอง   เป็นที่ถูกพระทัย ก็ได้ออกจากคุกมาเป็นขุนนาง

          ...เล่าว่า เมื่อรัชกาลที่ 2 นั้น  ครั้งท้ายท่านสุนทรต้องโทษอยู่   พระเป็นเจ้าเคยทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนอย่างสำราญพระทัย   แต่จะเล่นกับใครก็ไม่ทรงสนุก  ทรงพระกระทู้ต้นบทไว้ว่า กะรุ่งกะริ่ง  กะฉุ่งกะฉิ่ง แล้วให้ใครต่อก็ไม่ออก ไม่รู้หนเหนือหนใต้ว่าจะต่อไปทางไหน จึงรับสั่งให้เอาไปให้สุนทรภู่ ซึ่งก็ต่อกลอนมาว่า "เข็ดแล้วจริงๆ ไม่ทำต่อไป" อ่านรวมว่า "กะรุ่งกะริ่ง กะฉุ่งกะฉิ่ง เข็ดแล้วจริงๆ ไม่ทำต่อไป" ครั้นนำทูลเกล้าถวาย ก็ทรงพระราชทานโทษให้หลุดจากเวรจำแต่วันนั้นตามขอ ...

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 12 ก.พ. 17, 11:29

     อีกเรื่องที่เล่าไว้ในเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย แต่ไม่มีในประวัติสุนทรภู่ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเรียบเรียงไว้ คือลักษณะรูปร่างหน้าตาของสุนทรภู่
    ว่าครั้งหนึ่ง    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์เรื่องว่าด้วยรถของสหัสสเดชะ    ความพรรณนาว่า รถนั้นใหญ่โตเกินประมาณที่จะใช้พาหนะใดให้พารถเดินไปได้    นัยว่าทรงประชุมจินตกวีหลายนาย    แล้วไม่มีใครต่อให้รถวิ่งไปได้    จึงรับสั่งว่าจะมีใครอีกบ้างไหม    มีท่านข้าราชการผู้หนึ่งกราบทูลว่า  ยังมีอีกคนหนึ่งชื่อ นายภู่  เป็นศิษย์พระอยู่วัดมหาธาตุ    ก็รับสั่งให้ไปพาตัวมาเฝ้า    พอทอดพระเนตรเห็นเข้า รับสั่งว่า  ฮึ รูปร่างมันเป็นครกกระเบือดินอยู่นี้พ่อเฮย    เอาไหนๆมาแล้วก็ลองให้แก้ดูที
     ครกกระเบือดินคืออะไร
     ครกกระเบือดินคือครกดินเผา   เป็นครกดั้งเดิมในสังคมไทย มีอยู่ประจำในครัวชาวบ้าน   มีทั้งสีน้ำตาลและดำ  ใช้คู่กับสากซึ่งทำจากไม้เนื้อแข็ง    เรียกว่าสากกระเบือ
     หน้าตาเป็นอย่างนี้ค่ะ
   


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 12 ก.พ. 17, 13:21

    สุนทรภู่เคยพูดถึงตัวเองในทำนองน้อยใจว่า เป็นคนรูปไม่งาม  หัวก็ล้าน  ในนิราศพระบาทบรรยายไว้เมื่อเห็นนกตะกรุม  ว่า

      ศีรษะเตียนเลี่ยนโล่งหัวล้านเลื่อม           เหนียงกระเพื่อมร้องแรงแสยงขน
     โอ้หัวนกนี่ก็ล้านประจานคน                    เมื่อยามยลพี่ยิ่งแสนระกำทรวง

     ทำให้คิดว่าท่านคงเป็นคนศีรษะล้านมาแต่หนุ่มๆ   ส่วน "ครกกระเบือดิน"  ทำให้คิดว่าน่าจะเตี้ย ล่ำ และดำ    สรุปว่าไม่หล่อเอาเลย  แต่เป็นคนมีฝีมือ  จึงเป็นที่โปรดปราน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 12 ก.พ. 17, 16:29

    ในรัชกาลที่ ๓  สุนทรภู่พ้นจากราชการ   ได้บวชเป็นพระ   เข้าใจว่าพักอยู่หลายวัดด้วยกัน คือ วัดราษฎรบูรณะ  วัดเทพธิดาราม   วัดเชตุพน  วัดอรุณ วัดระฆัง และวัดสระเกษ
    แม้เมื่อบวชพระแล้ว    พระภู่ก็คงจะไม่ละทิ้งความเคยชินของกวี   จึงมีคำบอกเล่าของพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น) ว่าในสมัยรัชกาลที่ ๓ การเล่นอักษรกลอนสดที่วัดเลียบ ค่อนข้างเอิกเกริกเซ็งแซ่   แสดงว่าวัดนั้นเป็นถิ่นจินตกวีแห่งหนึ่งในพระนคร
    พระภู่ได้สั่งศิษย์บางคนไว้ว่า  ต่อไปภายหน้าจะหาผู้เล่นกลอนกลได้น้อยตัว     เมื่อสิ้นท่านลงเสียคนหนึ่ง  ก็เห็นแต่มีพระครูกล่ำ วัดหมู(หมายถึงวัดอัปสรสวรรค์)อีกรูปหนึ่ง ที่ใครขัดข้องติดขัดเรื่องกลอนกล  ให้ไปไต่ถามท่าน
   
    (หมายเหตุ กลอนกลที่ว่านั้น  ไม่พบในผลงานของสุนทรภู่  มีแต่โคลงแบบต่างๆที่พบในนิราศสุพรรณ  น่าจะสูญหายไปหมดแล้ว  น่าเสียดาย)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 12 ก.พ. 17, 16:44

      ในรัชกาลที่ ๔  สุนทภู่กลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ประจำอยู่วังหน้าในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว    เป็นที่พระสุนทรโวหาร  จางวางกรมพระอาลักษณ์
      ตามคำบอกเล่าของพระอมรสินธพ  ซึ่งเมื่อครั้งเป็นหนุ่มอายุ ๑๖  เข้ารับราชการอยู่ในห้องอาลักษณ์วังหน้า   ได้เห็นสุนทรภู่ซึ่งขณะนั้นชราอายุ ๗๐ เศษ    เวลาเดินต้องอาศัยหลานชายคอยประคอง    คุณพระยังจำได้ถึงบาญชีเบี้ยหวัดจางวางว่าเป็นเงิน ๒ ชั่ง
      เจ้ากรมพระอาลักษณ์ในขณะนั้นคือหลวงลิขิตปรีชา   ท่านผู้นี้เจ้ายศเจ้าศักดิ์ถือความมั่งมีภาคภูมิแบบขุนนางโบราณ  ไปไหนมีบ่าวไพร่ ถือร่มค้างคาว  ถือกล้องยาแดง กาน้ำ ตามไปด้วย   สุนทรภู่เป็นจางวางก็จริง แต่ไม่อวดเบ่งกับเจ้ากรม     จะเดินจะนั่งถ่อมตน ยอมเป็นอันดับสอง ไม่ตีตนเสมอ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 13 ก.พ. 17, 11:41

    ถ้าอ่านจากประวัติของสุนทรภู่ที่เรารู้จักกันดี   จะได้ภาพว่าในรัชกาลที่ 3  สุนทรภู่ตกยาก   ตามที่ท่านเองคร่ำครวญเอาไว้ในนิราศหลายเรื่องด้วยกัน    แต่ตามที่พระยาปริยัติฯรวบรวมจากคนที่ทันรู้จักสุนทรภู่   กวีเอกของเรามีอาชีพเสริม ที่ทำเงินให้มากมาย  คืออาชีพแต่งเพลงยาวขาย
    เพลงยาวเป็นที่นิยมของหนุ่มสาวในสมัยนั้น   ความจริงมีมาแต่โบราณแล้ว  ในสมัยปลายอยุธยาก็มีวรรณคดีกลอนกลบททั้งเรื่อง  สืบทอดความนิยมมาถึงรัตนโกสินทร์    ชายหนุ่มอยากเกี้ยวสาวก็ส่งเพลงยาวไปให้   แต่งเองไม่เป็นก็ต้องมาจ้างกวีเอกแต่ง   ฝ่ายหญิงได้รับเพลงยาวจากฝ่ายชาย   อยากจะตอบแต่เขียนไม่เป็นก็ต้องมาจ้างให้แต่งตอบ    เป็นอันว่าสุนทรภู่ได้ค่าจ้างทั้งขึ้นทั้งล่อง
ถึงขั้นเล่าว่า
    "ท่านสุนทรจึงรุ่มรวยหาสู้อัตคัดเงินทองใช้สอยไม่    ถึงไม่ได้ทำเรือกสวนไร่นาค้าขายอะไรก็จริง   แต่มีของกินของใช้เงินทองอัฐลดติดพกติดมืออยู่เสมอ   เพราะว่ามีผู้นับถือบูชาคำนัลอยู่ไม่ขาด"
บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 18 ก.พ. 17, 12:12

จินตนาการไปว่า ในยุครุ่งเรืองของท่านสุนทร คงได้เข้าเฝ้าแต่งกลอนถวายล้นเกล้ารัชกาลที่ 2 ณ พระที่นั่งสนามจันทร์ (ในหมู่พระมหามณเฑียร) แห่งนี้


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 18 ก.พ. 17, 19:12

   มองเห็นภาพตามไปด้วยเลยค่ะ

   ทั้งๆสุนทรภู่เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนต่อขุนนางอื่น  แต่ท่านก็มีอหังการ์ของกวีอยู่เต็มตัว     ตามที่พระยาปริยัติฯเก็บความจากพระยาสโมสร ฯ  ว่า
    ครั้งหนึ่งสุนทรภู่ออกไปนมัสการพระปฐมเจดีย์  ยุคนั้นวัดพระปฐมเจดีย์มีพระครูรูปหนึ่งได้ชื่อว่าเป็นกวีสำคัญในถิ่นนั้น ทั้งชำนาญภาษามคธ(บาลี)   เมื่อรู้ว่าจะพบสุนทรภู่  ท่านพระครูก็อยากจะลองว่าสุนทรภู่รู้แต่เฉพาะกาพย์กลอนหรือว่ารู้ภาษาบาลีด้วย   จึงคิดลองเล่นเพลงมคธกับกวีเอกจากเมืองหลวง
    เมื่อมาเยี่ยมเยียน  ท่านพระครูก็ลองเชิงว่า
   ฯ สุนทรา อาคเต  เมปุจ์ฉา
    อหกิรวจน ฝูงชนา
    ปสสาศุภสาร สะท้านดิน
    แล้วส่งสำเนาให้สุนทรภู่อ่าน
     ถ้าใครแม่นฉันทลักษณ์กลอน คงอ่านได้ว่านี่คือกลอนบาทที่สอง สามและสี่  เป็นภาษาบาลีปนไทย   
 
    สุนทรภู้รู้ดีว่าอีกฝ่ายมาลองเชิง     ก็เลยเขียนตอบเปรี้ยงลงไปว่า
    "ถึงเป็นปราชญ์ก็เป็นปราชญ์นอกประเทศ
     เป็นเชื้อเปรตมิใช่ปราชญ์ราชฐาน"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 18 ก.พ. 17, 19:15

     พระยาสโมสรฯมิได้เล่าต่อว่าท่านพระครูทำอย่างไรต่อไป  แต่พระยาปริยัติฯเดาว่าท่านก็คงถอยกลับวัดไปตามระเบียบ  ในเมื่อเจอศอกกลับเข้าแบบนี้
     เรื่องนี้ทำให้เดาได้อีกอย่างว่า สุนทรภู่คงไม่ได้ร่ำเรียนภาษาบาลีจนแตกฉาน     ที่เคยเรียนมาในวัดคงจะเรียนอ่านเขียนภาษาไทยเป็นหลัก     เมื่อเจอท่านพระครูซึ่งคงเป็นมหาเปรียญ มาทดสอบความรู้ทางบาลี  ท่านก็คงจะต้องยุติการปะทะเสียแต่แรกเริ่ม   ดีกว่าจะสู้กันต่อไป
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 19 คำสั่ง