เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 6121 ขอรบกวนถามคุณ นกข เกี่ยวกับการทูตค่ะ
ส้มหวาน
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 03 ก.ย. 01, 05:22

ขอโทษค่ะที่ต้องรบกวนใช้เนื้อที่บนเรือนไทยนี้ค่ะ ดิฉันเห็นว่าคำถามนี้อาจเป็นประโยชน์กับหลายๆคนในที่นี้ด้วยเนื่องจากแขกบนเรือนไทยส่วนใหญ่ก็อยู่ต่างประเทศทั้งนั้น คำถามเลยนะคะ  ถ้าเราคนไทยเปลี่ยนสัญชาติไปเป็นสัญชาติอื่นแล้วตอนหลังจะขอกลับมาถือสัญชาติไทยอีกจะได้ไหมคะ มีคำตอบมาหลายกระแสจริงๆค่ะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 28 ก.ค. 01, 01:52

ขอกลับไปเช็คข้อมูลก่อนครับ
กฏหมายสัญชาติของไทยเรามีการเปลี่ยนแปลงไปมาอยู่หลายหนเหมือนกัน จนผมไม่แน่ใจว่าอันไหนล่าสุด ตอบไปตามที่เคยรู้กลัวจะผิด
เรื่องการสละสัญชาติ การได้สัญชาติ การได้คืนสัญชาติ รวมทั้งการถือสองสัญชาติอะไรนี่ ยุ่งๆ อยู่หน่อย ขอเวลาแป๊บนะครับ

แต่ขอถามข้อเท็จจริงก่อนว่า คุณ "เปลี่ยน" ไปถือสัญชาติอื่นอย่างไร เพราะผมเข้าใจว่า การได้สัญชาติอื่นมาไม่น่าจะเป็นเหตุให้สูญเสียสัญชาติไทยโดยอัตโนมัติ คงจะต้องดูเป็นกรณี ถ้าคุณยังถือสองสัญชาติอยู่ก็แปลว่าสัญชาติไทยที่มีอยู่เดิมก็ไม่ได้หายไปไหน

แต่ถึงแม้ว่าคุณจะสละสัญชาติไทยไปแล้วจริงๆ ตามความเข้าใจผมผมว่าก็ยังน่าจะขอคืสัญชาติได้อยู่ดีแหละครับ แต่ขอเช็คก่อน ก็คนต่างชาติที่เป็นต่างชาติแท้ๆ กฏหมายยังเปิดทางให้ดำเนินการขอสัญชาติไทยได้เลยนี่นา แต่ต้องมีขั้นตอน ถ้ายังงั้นทำไมคนต่างชาติที่ที่จริงแล้วเคยเป็นคนไทย จะขอทำเรื่องขอสัญชาติไม่ได้ล่ะ

ขอเช็คนะครับ
บันทึกการเข้า
ส้มหวาน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 28 ก.ค. 01, 23:28

ขอบคุณค่ะ แล้วจะรอคำตอบนะคะ
ไม่ทราบว่ากฎหมายไทยอนุญาติให้ถือสองส้ญชาติได้หรือคะ
บันทึกการเข้า
เจ้าเปิ้ล
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 29 ก.ค. 01, 00:26

รอฟังด้วยคะ ฟังเอาไว้ได้ความรู้ดีคะ
บันทึกการเข้า
ภูมิ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 29 ก.ค. 01, 17:43

อยากรู้ให้แน่เหมือนกัน

เท่าที่เคยได้ยินมากฎหมายไทยไม่รับรองสองสัญชาติครับ


อย่างประเทศที่ไม่รับรองสองสัญชาติ ผมเข้าใจเอาเองว่า การขอสัญชาติใหม่ต้องทําเรื่องยกเลิกสัญชาติเดิมก่อน
แต่ประเทศที่รับรองน่าจะขอได้เลยทําให้ผมสงสัยว่าถ้าเราไม่แจ้งเขาจะรู้ได้อย่างไร
บันทึกการเข้า
ne sais que
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 29 ก.ค. 01, 19:16

รบกวนเรียนถามคุณนกข. ไม่ทราบว่า ประจำอยู่ประเทศอะไรหรือครับ เป็น ท่านทูต เลยหรือเปล่าครับ ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะครับท่าน อิ อิ (เผื่อเวลาไปเที่ยว)
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 21 ส.ค. 01, 23:11

ขออภัยคุณส้มหวานและทุกท่านครับ หายไปนานหน่อย

ผมรู้มาผ่านๆ เท่านั้น เลยไปสอบถามจากรุ่นพี่ท่านหนึ่งซึ่งเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฏหมายสัญชาติของกรมสนธิสัญญาและกฏหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ดังนั้นความเห็นททางกฏหมายของท่านผู้รู้ท่านนี้คงจะพอรับฟังได้

ตามที่ท่านว่า (เปิด พรบ. สัญชาติประกอบด้วย แต่ผมขอไม่ลงรายละเอียด) ขอตอบให้คุณส้มหวานสบายใจก่อนว่า สัญชาติไทยของคนไทยไม่สูญไปง่ายๆ หรอกครับ ยังไงๆ ก็ยังอยู่ กรณีเดียวที่จะเสียสัญชาติไทยคือเมื่อมีการ "แปลงชาติ" ไปเป็นชาติอื่นและมีการแสดงเจตนาอย่างชัดเจนที่จะสละสัญชาติไทย อย่างนั้นจึงจะเสียสัญชาติไทย ถ้าได้สัญชาติอื่นมาโดยวิธีการอื่น เช่น ได้มาเพราะแต่งงานแล้วได้สัญชาติตามสามี ท่านว่า เป็น การ "ได้มาซึ่งสัญชาติ"  ไม่ใช่การ "แปลงสัญชาติ"  และไม่ได้มีการ "สละสัญชาติ" อย่างนั้นก็เท่ากับคุณได้สัญชาติใหม่มาแต่สัญชาติไทยเดิมที่มีก็ไม่ได้หายไปไหน

อ้อ อีกกรณีที่คุณจะสูญเสียสัญชาติไทยได้ แต่เห็นจะไม่เกิดบ่อยหรอกครับ คือการถูกรัฐบาลไทยถอนสัญชาติคุณ แต่อย่างนั้นต้องทำความผิดเป็นการทรยศต่อชาติอย่างร้ายแรงมากๆๆๆ เช่นเป็นสปายสายลับขายชาติ ซึ่งคงเป็นกรณีหนึ่งในล้านมั้ง ไม่เข้าข่ายของคนธรรมดาๆ อย่างพวกเรา

คุณภูมิถามว่า กฏหมายไทยไม่ได้รับรองการถือสองสัญชาติ? ใช่ครับไม่ได้รับรอง แต่ก็ไม่ได้ไม่รับรองเหมือนกัน แปลว่ากฏหมายไทยเฉยๆ ไม่สนใจว่าเธอจะไปได้สัญชาติใหม่มาอีกกี่สัญชาติ ไม่ได้เป็นการแทนที่สัญชาติไทยไปโดยอัตโนมัติ แม้จะมีบทบัญญัติว่าให้เลือกเมื่ออายุเท่านั้นเท่านี้ ... แต่ไม่ได้มีการกำหนดบทลงโทษหรือไม่ได้พูดให้ชัดเจนว่าถ้าไม่ทำยังงี้แล้วจะเป็นยังงั้น ดังนั้นต้องพิจารณาให้เป็นคุณแก่คนๆ นั้น  คือ ยอมให้ถือสัญชาติไทยได้ต่อไป สัญชาติอื่นที่ถือมา ฉันไม่รับรู้

คุณภูมิเอ่ยอีกคำหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขสำคัญคือ ถ้าไม่แจ้งแล้วเขาจะรู้ได้ยังไง? ใช่เลยครับ กรณีที่ถือสองสัญชาติกันอยู่ก็เพราะว่าการจะเสียสัญชาติไทยนั้นต้องมีการผ่านขั้นตอนมากมาย ถ้ายังไม่ผ่าน ตราบใดที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนเหล่านั้นโดยสมบูรณ์ สัญชาติไทยของคุณก็ยังไม่ยอมไปไหนครับ ยังอยู่ดี ขนาดคนที่เข้าข่ายสูญเสียสัญชาติจริงๆ ที่ผมว่า คือ แปลงชาติไปแล้ว แสดงเจตนารมณ์สละสัญชาติแล้ว แต่แสดงเจตนารมณ์เฉยๆ (อาจจะแสดงต่อราชการของประเทศอื่น) แต่ทางราชการไทยยังไม่ได้รับรู้ ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน สัญชาติไทยของเขาก็ยังอยู่เลยครับ ท่านผู้รู้ท่านนั้นบอกว่าเรื่องนี้เคยมีกรณีหารือเข้าที่ประชุมใหญ่คณะกรรมการกฤษฏีกามาแล้ว กฤษฎีกาชี้ว่าการเสียสัญชาติจะมีผลก็ต่อเมื่อได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถ้ายังไม่มีประกาศ ก็ถือว่าไม่มีผล คนๆ นั้นยังเป็นคนไทยมีสัญชาติไทยอยู่เลยในสายตาของกฏหมายไทย (ส่วนเจ้าตัวเขาอาจจะไม่ได้ถือตัวเป็นคนไทยแล้วก็อีกเรื่อง) ส่วนราชการเจ้าของเรื่องนี้คือ กระทรวงมหาดไทยครับ ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังไม่ได้ลงในราชกิจจานุเบกษาว่าคุณไม่ใช่คนไทยตราบใด ตราบนั้นคุณก็ยังเป็นคนไทยอยู่แหละครับ

เห็นไหมครับว่าสัญชาติไทยไม่ใช่เสียไปง่ายๆ ที่ผมถามตั้งแต่ต้นไงครับว่า คุณเสียสัญชาติไทยไปอย่างไร บางทีสัญชาติไทยที่คุณว่าเสียไปแล้วอาจจะยังอยู่ดีก็ได้ มีชื่อคุณลงในราชกิจจานุเบกษาหรือยัง?

สมมติว่าเสียสัญชาติไทยไปจริงๆ แล้วอยากจะได้สัญชาติไทยคืน กกหมายก็เปิดช่องให้ ก็มีช่องทางการดำเนินการ คล้ายๆ กับคนต่างด้าวที่อยากแปลงสัญชาติเป็นไทยเช่นเดียวกัน ก็ต้องยื่นเรื่องตามขั้นตอน (ที่กระทรวงมหาดไทยเช่นกัน) เขาจะมีกรรมวิธีอะไรก็ไม่ทราบละ นานเท่าไหร่ผมก็ไม่รู้ละเอียด แต่ในที่สุดก็จะมีประกาศจากกระทรวงมหาดไทย ลงในราชกิจจานุเบกษาเหมือนกัน ว่า คนต่างด้าวตามบัญชีชื่อนี้ๆๆๆ ได้สัญชาติไทยแล้ว ผมไม่แน่ใจว่ามีข้อห้ามอะไรหรือคุณสมบัติข้อกำหนดอะไรบ้าง คุณต้องไปดูระเบียบที่เกี่ยวข้องอีกทีเองนะครับ แต่ผมยังเชื่ออยู่ว่าคุณยังเป็นคนไทยสัญชาติไทยอยู่ดีแหละ จนกว่าชื่อจะไปปรากฏในราชกิจจาฯ ว่าไม่ใช่  

มีคำถามอะไรอีกไหมครับ อ้อ คำถามสุดท้ายของคุณ "รู้เพียงนี้"  ผมยังไม่ได้เป็นท่านทูตหรอกครับ จะได้เป็นหรือเปล่าก็ไม่รู้ด้วยซ้ำ เล่นยกกันเองยังงี้ผมเขิน....
บันทึกการเข้า
ภูมิ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 22 ส.ค. 01, 19:19

ขอบคุณมากครับ
ไขข้อข้องใจได้ดีทีเดียว
บันทึกการเข้า
เมรี
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 23 ส.ค. 01, 21:55

ขอบคุณค่ะ คุณนกข.
ได้ความรู้เรื่องแจ่มกระจ่างทีเดียวค่ะ
บันทึกการเข้า
ส้มหวาน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 25 ส.ค. 01, 19:18

ขอบคุณจริงจริงค่ะ
บันทึกการเข้า
ส้มหวาน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 25 ส.ค. 01, 19:30

หากไม่มีชื่อในราชกิจจาฯ ก็แสดงว่าคนนั้นยังมีศักดืและสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยในประเทศไทยใช่ไหมคะ คือว่า สามารถเลือกตั้ง สามารถอยู่เมืองไทยนานๆโดยไม่ต้องใช้วีซ่าใช่ไหมคะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 27 ส.ค. 01, 17:34

ไปถามมาอีกทีแล้ว โดยทางทฤษฎีหรือหลักการ ก็ต้องถือว่าใช่ครับ
แต่ในทางปฏิบัติบางทีมันก็ยุ่งยากหน่อย

เช่นเรื่องการเข้าเมือง ถ้าคุณเข้าเมืองไทยโดยใช้หนังสือเดินทางต่างด้าวเข้ามา คุณก็เป็นต่างด้าวแหละครับ จะอยู่นานๆ เหมือนคนไทยไม่ได้ วิธีก็คือ คุณก็ต้องขอทำหนังสือเดินทางไทยเสียให้มีหนังสือเดินทางไทยติดตัวไว้ แล้วเวลากลับเข้าประเทศไทยก็ใช้หนังสือเดินทางไทย

ถ้าไม่มีหนังสือเดินทางไทยแล้ว ทำยังไง ยังมีชื่อในทะเบียนบ้านที่เมืองไทยไหมครับ หรือยังมีหนังสือเดินทางไทยฉบับเก่า หรือบัตรประจำตัวประชาชนไทยอันเก่าอยู่ไหมครับ หลักฐานเหล่านี้เท่าที่คุณจะมีหรือยังหาได้ เอาไปขอทำหนังสือเดินทางไทยที่สถานทูตไทยได้ครับ ถ้าเขาสงสัย เรื่องว่าคุณยังเป็นคนไทยอยู่หรือไม่ เขาก็อาจจะต้องทำเรื่องถามหารือเข้าไปทางกระทรวงฯ ที่กรุงเทพฯ อาจจะต้องนานหน่อยกว่าจะได้เรื่อง แต่ในหลักการคุณเป็นคนไทยก็ต้องมีสิทธิมีหนังสือเดินทางไทยสิครับ ไม่อย่างนั้นก็จะบอกว่าคุณต้องการกลับเมืองไทยแต่ไม่มีหนังสือเดินทางก็ได้ เขาก็จะออกเอกสารการเดินทางชั่วคราว เรียกว่า C.I ให้คุณใช้กลับเมืองไทยได้เท่านั้นเที่ยวเดียว แล้วค่อยไปทำเรื่องในเมืองไทยต่อ แต่กรณีที่จะออก CI นี้เจ้าหน้าที่เขาคงต้องสอบถามสอบสวนหน่อย เพราะโดยปกติเป็นกรณีฉุกเฉินเช่นว่าหนังสือเดินทางถูกขโมยในต่างประเทศอะไรอย่างนั้น อาจจะต้องการเอกสารเช่น ใบแจ้งความตำรวจเยอรมัน และเอกสารที่จะยืนยันว่าคุณเป็นคนไทยจริง คืออะไรก็ตามที่ผมกล่าวมาแล้ว สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน ฯลฯ ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าสถานทูตเขาพิจารณากรณีของคุณแล้วเขาจะออกเล่มใหม่เป็นพาสปอร์ต หรือจะออกเป็น CI หรือจะมีวิธีอื่น

เรื่องการมีสิทธิเลือกตั้งก็เหมือนกัน ในหลักการใช่ คุณมีสิทธิ แต่คุณต้องไปดำเนินการเพิ่มเติมตามขั้นตอนด้วย เช่น ต้องจัดการให้มีชื่อคุณในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง บัญชีนี้จะอิงอยู่กับทะเบียนบ้านด้วย ถ้าคุณไม่มีถิ่นที่อยู่ในเมืองไทยแล้ว ย้ายมาเยอรมันนานแล้ว ก็อาจจะยื่นคำร้องขอเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ก็ทำได้ครับ

อีกเรื่องคือเรื่องการถือครองที่ดิน ระเบียบกรมที่ดินไม่ยอมให้คนต่างชาติหรือหญิงไทยที่มีสามีต่างชาติถือครองที่ดินเกินกี่ไร่ผมก็จำไม่ได้ อันนั้นเป็นปัญหาในทางปฏิบัติครับ แต่ท่านผู้รู้คนเดิมบอกผมว่า ที่จริงระเบียบนี้มันลอยๆ ไม่มีกฏหมายรองรับนะ และจะว่าไปก็ขัดรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ ถ้าคุณเต็มใจที่จะค้าความ ซึ่งต้องเสียเวลาหน่อยละ คุณฟ้องกรมที่ดินให้ศาลมีคำพิพากษาตีความออกมาให้เป็นบรรทัดฐานได้เลยครับ กรมที่ดินแพ้แหงๆ แต่ตอนนี้ยังไม่มีใคร challenge ระเบียบตัวนั้น มันจึงยังใช้ได้อยู่ คือกรมที่ดินเขายังไม่ยอมให้คุณซื้อที่ดินเกินกำหนดอยู่ (เขากลัวว่าที่จะตกไปเป็นสินสมรสร่วม คือทำให้ต่างชาติมามีกรรมสิทธิในที่ดินไทยมากไป) ตอนหลังได้ข่าวว่าเขาอ่อนท่าทีลง ยอมให้ต่างชาติซื้อที่เพื่อการอยู่อาศัยเองได้ไม่เกินกี่ไร่ๆ แล้วก็ยอมให้หญิงไทยที่เป็นภรรยาต่างชาติซื้อที่ดินได้ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นเงินของเธอเองซื้อ คือจะได้ไม่กลายไปเป็นสินสมรสยังเป็นสินส่วนตัวอยู่ แต่ถ้ามีใครยกมรดกให้คุณเป็นที่ ก็รับมรดกได้ครับเท่าไหร่ก็ได้ ไม่ใช่ซื้อที่ดินนี่ แต่ก็นะนแหละครับ ระเบียบปฏิบัติของกรมที่ดิน (แม้ที่อ่อนลงมาแล้วนี้ก็ตาม) เขาอิงตามกฏกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้มีพื้นฐานทางกฏหมายจริงๆ รองรับอยู่เลย และว่าไปแล้วขัดรัฐธรรมนูญอย่างว่าด้วยซ้ำ ถ้าขึ้นศาลก็แพ้  แต่ยังไม่มีใครเอาขึ้นศาลเท่านั้น ว่าแต่ว่าคุณส้มหวานพร้อมจะเอาเรื่องขึ้นศาลให้เป็นคดีตัวอย่างไหมล่ะครับ ท่านผู้รู้รุ่นพี่ผมยุ แต่ผมก็เห็นใจว่ากว่าจะรู้ผลแพ้ชนะกว่าศาลท่านจะตัดสินจะเสียเวลาทำมาหากินของเราไปหลายปีเท่านั้นแหละครับ
บันทึกการเข้า
ส้มหวาน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 28 ส.ค. 01, 18:49

ขอบคุณมากค่ะ เข้าใจอะไรอะไรขึ้นตั้งเยอะค่ะ เรื่องที่เรื่องทางเห็นจะเก็บไว้ก่อนค่ะ คงจะไม่สะสมหรอกค่ะ  ว่างๆ แวะมาโซนดิฉัน จะเลี้ยงน้ำชาขอบคุณค่ะ  ยิ้ม
บันทึกการเข้า
รวงข้าว
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 29 ส.ค. 01, 13:33

ขอรบกวนถามอีกนิดนะคะคุณนกข. คำถามที่ดิฉันสงสัยคือ แล้วประชาชนคนธรรมดาอย่างเราๆ โดยเฉพาะคนไทยที่พำนักอยู่ต่างประเทศ จะตรวจสอบอย่างไรคะว่ามีชื่อของเราประกาศอยู่ในราชกิจจานุเบกษา ขอบพระคุณมากค่ะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 29 ส.ค. 01, 21:47

ขอไปค้นข้อมูลก่อนครับ ไม่ทราบครับ แฮ่ะๆ
ถ้าคุณอยู่เมืองไทยก็ไปค้นเองได้ ราชกิจจานุเบกษาหาไม่ยาก ที่สำนักนายกฯ ทำเนียบก็น่าจะได้ ที่ห้องสมุดรัฐสภาก็น่าจะได้  แต่อยู่ต่างประเทศนี้ไม่ทราบว่าจะฝากให้หน่วยงานไหนค้นได้หรือไม่ ขอไปถามๆ ก่อนครับ

แต่ว่า ... ว่าโดยตรรกะและสามัญสำนึก (= เดา) นะครับ ยังไม่ได้ค้น ถ้าคุณไม่ได้ประกอบเหตุที่จะนำไปสู่ผลว่าจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ทำให้ชื่อไปลงราชกิจจาฯ เสียตั้งแต่ต้นแล้ว ก็ไม่น่าห่วงว่าอยู่ดีๆ จะมีชื่อคุณโผล่ขึ้นมาในราชกิจจาฯ ว่าไม่มีสัญชาติไทยแล้ว

ถ้าไม่มีเหตุก็ไม่น่าจะมีผลครับ น่าจะสบายใจได้ส่วนหนึ่ง และการที่มีเหตุได้ คุณต้องเป็นคนเริ่มกระบวนการเอง คือ ไปแจ้งส่วนราชการไทยที่เกี่ยวข้องว่าฉันจะไม่เป็นคนไทยแล้วนะ  ถ้าคุณไม่ได้เริ่มทำตรงนั้น ก็คงจะไม่มีชื่อในราชกิจจาฯ หรอกครับ คุณยังเป็นคนไทยอยู่แน่ๆ ไม่น่าต้องห่วงครับ

ในกรณีถ้าคุณแจ้งราชการไทยแล้ว ขอสละสัญชาติไทย (แจ้งที่ไหนยังไงผมไม่รู้เสียด้วย - เดาว่ากองสัญชาติ กรมการกงสุล ของกระทรวงการต่างประเทศ และทางกระทรวงมหาดไทย น่าจะกรมการปกครอง) อย่างนั้นคุณก็จะรู้ดีกว่าผมแล้วแหละครับ ว่าจะตรวจสอบได้ยังไง ก็ตรวจสอบกับส่วนราชการที่คุณแจ้งเขาไปนั่นไงครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.073 วินาที กับ 17 คำสั่ง