เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 22991 ภาษาสื่อสารในยุค AEC
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 23 ต.ค. 18, 13:07

สื่อบางฉบับในยุคนี้ ไม่รู้จักคำว่า "ทั้งกลม" เสียแล้ว


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 23 ต.ค. 18, 13:08

ทั้งกลม หรือ ท้องกลม

          แฟนคอลัมน์ท่านหนึ่งถามมาที่ราชบัณฑิตยสถานว่า ตายท้องกลม หรือ ตายทั้งกลม เป็นคำที่ถูกต้อง

          พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามคำ ตายทั้งกลม ว่า ตายทั้งหมด ตายทั้งแม่ทั้งลูก เรียกหญิงที่ตายพร้อมกับลูกที่อยู่ในท้องว่า หญิงตายทั้งกลม ดังนั้น คำที่ถูกต้องก็คือ ตายทั้งกลม ไม่ใช่ ตายท้องกลม เหตุที่หลายคนใช้ผิดว่า ตายท้องกลม คือเปลี่ยนจาก ทั้ง เป็น ท้อง คงจะเนื่องมาจากโดยทั่วไปหญิงที่มีลูกอยู่ในท้อง ท้องมักจะกลมโต จึงคิดว่า ตายท้องกลม เป็นคำที่ถูกต้อง

          คำที่จะต้องอธิบายเพิ่มเติมคือคำว่า กลม ซึ่งในพจนานุกรมฯ มีหลายความหมาย ความหมายที่เกี่ยวข้องกับ ตายทั้งกลม คือความหมายที่เป็นภาษาโบราณ แปลว่า ปวง หมด สิ้น เช่น ทั้งกลม คือ ทั้งปวง หรืออีกตัวอย่างหนึ่งในประชุมจารึกสยาม ภาคที่ ๑ จารึกสุโขทัย ซึ่งศาสตราจารย์ยอช เซเดส์ ชำระและแปล ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ พ.ศ. ๒๔๖๗ มีข้อความว่า จึ่งได้เมืองแก่กูทงงกลํ ทงงกลํ ในที่นี้แปลว่า ทั้งหมด หญิงที่ตายทั้งกลมก็คือตายทั้งหมด คือตายทั้งแม่ทั้งลูก

          ความหมายอื่นของคำว่า กลม ในพจนานุกรมฯ ยังมีอีก ๓ ความหมาย ดังนี้ กลม เป็นชื่อเพลงไทยของเก่าที่ใช้เครื่องปี่พาทย์ทำตอนตัวละครรำออกจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยตัวคนเดียว จะเหาะหรือเดินก็ได้ และใช้เป็นเพลงประจำกัณฑ์สักบรรพในเวลามีเทศน์มหาชาติ กลม เป็นชื่อไม้ต้นชนิดหนึ่ง พบในป่าโปร่งทั่วไป และ กลม เป็นลักษณนามเรียกจำนวนเหล้าบางประเภทที่บรรจุในภาชนะกลม ส่วนมากเป็นขวด เช่น เหล้ากลมหนึ่ง เหล้า ๒ กลม ถ้าเป็นคำวิเศษณ์ กลม หมายถึง มีสัณฐานโดยรอบไม่เป็นเหลี่ยม ถ้าเหมือนลูกหิน เรียกว่า ลูกกลม ถ้าเหมือนเส้นที่ลากเป็นวงมาจบกัน โดยมีเส้นรัศมียาวเท่ากัน เรียกว่า วงกลม ถ้าเหมือนสตางค์ เรียกว่า กลมแบน ถ้าเหมือนกระบอกไม้ไผ่ เรียกว่า กลมยาว ถ้าเหมือนลูกโซ่ แต่หัวและท้ายเท่ากัน เรียกว่า กลมรี ถ้าเป็นภาษาปาก กลม หมายถึง อ้วน และถ้าเป็นคำที่ใช้ในบทร้อยกรอง กลม มีความหมายโดยปริยายว่า เรียบร้อยดี นอกจากนี้ กลม ยังแปลว่า กลิ้งกลอกเต็มตัว เช่น คนกลมดั่งน้ำกลอกบนใบบัว

แสงจันทร์ แสนสุภา

http://www.royin.go.th/?knowledges=%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%A1-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%A1-%E0%B9%91%E0%B9%94-%E0%B8%81
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 29 ต.ค. 18, 20:04

คำว่า กลม ที่เราใช้ในลัษณะเป็นคำวิเศษณ์หมายถึง มีสัณฐานโดยรอบไม่เป็นเหลี่ยม นั้น  ตรงกับคำในภาษาอังกฤษที่เป็นลักษณะนามหลายคำเลยทีเดียว เช่น แท่งกลม = rod  ท่อกลม = pipe  ทรงกลม = spheroid  กลมมน = round   กลมรี = ellipsoid  ลูกกลมๆ = ball  วงกลม = circular  กลมแบน = coin  โต๊ะกลมๆ = a round table

ก็มีคำภาษาอังกฤษที่คำว่า round (กลม) ใข้ในลักษะคำวิเศษณ์ เช่น round trip การเดินทางไปและกลับ, round table การพูดคุยพร้อมหน้ากัน, another round ดื่มอีกรอบหนึ่ง .....     

เดินจงกลม = walk back and forth (??)
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 29 ต.ค. 18, 20:16

เดินจงกลม = walk back and forth (??)

คำที่ถูกต้องคือ "จงกรม"


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 30 ต.ค. 18, 20:03

ขอบคุณครับที่เห็นคำที่เขียนผิด และว่าคำที่ถูกต้องจะต้องเขียนเช่นใดพร้อมที่อ้างอิงด้วย     

ทำให้นึกถึงเมื่อครั้งไปเรียนต่อ ต้องเขียนวิทยานิพนธ์หลายสิบหน้า เราทวนแล้วทวนอีก แก้คำพวกพิมพ์ผิดและที่เขียนผิดเยอะแยะไปหมด ส่งให้ Prof. อ่านก่อนส่งคณะกรรมการ ก็ยังพบ ผ่านส่งต่อไปให้คนที่รับจ้างพิมพ์ให้ถูกต้องตามแบบที่กำหนด ก็ยังพบ    กระทั่งใน Text Book และ Journal มีระดับดีก็ยังเคยเห็นมี

แต่ก่อนก็เป็นความผิดพลาดด้วยการกระทำของมนุษย์ (Human error)  บางเรื่องก็เป็นความผิดพลาดที่เกิดจากความนิยมเปลี่ยนไป  บางเรื่องก็ผิดพลาดไปเพราะกฎ ระเบียบ ใหม่   ในอนาคตอันใกล้นี้เรื่องเหล่านี้ก็คงจะหมดไปด้วย AI (ซึ่งมีอยู่ในระบบของ Word processor ที่ีมีมาน่าจะกว่า 30 ปีแล้ว แต่ไม่ค่อยจะได้ใช้กัน) ครูก็เพียงสอนให้ออกเสียงให้ถูกต้อง เด็กก็เพียงพิมพ์อักษรให้ได้ใกล้เคียงกับการออกเสียงของคำนั้นๆ ก็จะได้การเขียนคำที่ถูกต้องตามหลักภาษาศาสตร์เสมอ 
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 31 ต.ค. 18, 09:35

ระบบแก้คำอัตโนมัติ ของ Word processor นี่น่ากลัวมากนะครับ เพราะระบบไม่สามารถหยั่งรู้เจตนาที่แท้จริงของผู้เขียนได้
ท่านอาจารย์ทุกท่าน อาจจะเคยได้ยินเรื่องนี้มาแล้ว ผมขออนุญาตเล่าซ้ำ คือ

ในการทำผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนระดับข้าราชการในหน่วยงานแห่งหนึ่ง มีการลอกผลงานกัน ผลงานต้นแบบนั้น ทำหัวข้อ "การพัฒนา XXXX กรณีศึกษาเฉพาะจังหวัดแพร่" เพราะคนที่ทำผลงานเล่มนี้ เขารับราชการอยู่ในจังหวัดแพร่ ส่วนคนลอก เป็นข้าราชการในหน่วยงานเดียวกัน แต่รับราชการอยู่ในจังหวัดน่าน เขาลอกโดยการเอา File ผลงานของข้าราชการคนแรกมา แล้วให้ Word processor แทนที่คำ จากคำว่า "แพร่" เป็น "น่าน" ซึ่งก็จะได้ผลงานที่มีชื่อว่า "การพัฒนา XXXX กรณีศึกษาเฉพาะจังหวัดน่าน" เอาละพร้อมส่งผลงานได้ กรรมการตรวจผลงานเยอะแยะจำไม่ได้หรอกว่าของใครเป็นของใคร

ในตอนแรกกรรมการก็จำไม่ได้จริงๆ แต่มาผิดสังเกตตรงที่ คำว่า "เผยแพร่" ในผลงานทั้งเล่มทุกคำ ไหงกลายเป็น "เผยน่าน" หมดเลย ไหนลองไปค้นผลงานชื่อนี้ แต่เป็นจังหวัดแพร่มาดูซิว่ามีมั๊ย ก็พบว่ามี และข้อความตรงกันเด๊ะ ความจึงแตกว่าลอกกันมาเพราะเหตุนี้ 
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 31 ต.ค. 18, 09:42

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องของผมเองครับ
สมัยผมรับราชการอยู่กรมการศาสนา (สมัยนั้นสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ) ด้วยความที่ทำงานอยู่ในหน่วยงานนี้ เอกสารต่างๆ จึงมักมีคำว่า "มหาเถรสมาคม" อยู่เสมอๆ ซึ่งผมจะกลัวพลาดพิมพ์คำว่า "มหา" เป็นคำว่า "หมา" มากๆ ดังนั้น เมื่อพิมพ์เอกสารเสร็จแล้ว ผมจึงให้ Word processor แทนที่คำว่า "หมา" เป็น "มหา" ให้หมด เพราะมั่นใจว่า เอกสารราชการ ไม่มีทางมีคำว่า "หมา" ติดอยู่แน่นอน

ผลปรากฎว่า คำว่า "กฎหมาย" กลายเป็น "กฎมหาย" หมดเลย
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 31 ต.ค. 18, 21:18

เกิดนึกได้ขึ้นมาว่า พจนานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตสถานมีอยู่หลายฉบับ ผมเคยมีฉบับ พ.ศ.2493 เก็บไว้ แต่ได้เอาไปให้เด็กชาวบ้าน ตจว.ใช้กัน    สำหรับฉบับ 2525 นั้น ใช้กันในส่วนราชการยุคแผนพัฒนาเศรษกิจและสังคม(ฉบับต่างๆ)เฟื่องฟู   ที่จำได้ก็เพราะว่าต้องเขียนรายงานทางวิชาการและทำเอกสารทางราชการอยู่มากพอสมควร  จำได้ว่าในช่วงของการใช้ฉบับ 2525 นั้น ดูจะมีการกวดขันกันมากขึ้นในการใช้คำสะกดให้ถูกต้องตามพจนานุกรม ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะมีคำใหม่เกิดขึ้นมาทั้งในด้านของศัพท์บัญญัติใหม่ คำทับศัพท์ และสำนวนใหม่

การเขียนนั้น เราใช้แทนการสื่อสารในรูปแบบที่ไม่ใช้เสียง ซึ่งทำได้ทั้งในรูปแบบของตัวแทนการพูดและการออกเสียงต่างๆ กับการเขียนในลักษณะที่เป็นไปตามแบบฉบับที่ถูกต้องตามหลักของภาษาศาสตร์นั้นๆ   พจนานุกรมก็เป็นเอกสารที่รวบรวมการใช้คำและศัพท์ทางภาษาต่างๆ ซึ่งจะต้องมีอยู่สองส่วนปนกันอยู่ คือส่วนที่เป็นศัพท์หรือสำนวนที่นิยมใช้กันในการพูดกัน ณ ข่วงเวลาหนึ่งๆ และส่วนที่เป็นคำที่เขียนอย่างถูกต้องตามรากศัพท์หรืออื่นใด   ด้วยที่ภาษาพูดของเรา ตัว ร กำลังหายไปและใช้เสียงตัว ล แทน มีการใช้คำภาษาอื่นร่วมด้วยมากขึ้น สะกดด้วย ท ก็มี ด ก็มี ต ก็มี ฌ ก็มี    ทำให้ฟั่นเฟือนคิดเลยเถิดไปว่า สงสัยอีกไม่นานในพจนานุกรมอาจจะมีคำที่เปลี่ยนจากการใช้ ร ไปเป็นการใช้ ล ก็น่าจะเป็นได้  ก็ขนาดคำว่า แล ในสมัยกระโน้นยังต้องเปลี่ยนเป็น และ   คำว่า เปน ก็กลายเป็น เป็น   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 01 พ.ย. 18, 12:23

ในยุคที่โลกทั้งโลกอยู่แค่ปลายนิ้วมือ   ไม่ต้องอุ้มหนังสือพจนานุกรมหนักหลายกิโลลงจากชั้นหนังสือลงมาเปิดหาทีละหน้าอีกแล้วค่ะ
ถ้าไม่แน่ใจคำไหน  พิมพ์ถามได้เลยที่นี่

http://www.royin.go.th/dictionary/
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 01 พ.ย. 18, 19:43

ด้วยความอยากรู้ว่า คำว่า "ปทานุกรม" กับ "พจนานุกรม" ต่างกันเช่นใด  ก็เลยเข้าเว็ปของ royin ไปถามดู   ได้ความว่า

ปทานุกรม    น. หนังสือสำหรับค้นคว้าความหมายของคำที่เรียงตามสำดับบท
พจนานุกรม   [-กรม] น. หนังสือว่าด้วยถ้อยคำในภาษาใดภาษาหนึ่ง เรียงตามลำดับตัวอักษร โดยทั่วๆไปจะบอกความหมายและที่มา
                             ของคำเป็นต้นด้วย
                                แม่คำของ "พจนานุกรม" คือ พจน- พจน์ ๑

เมื่อไปพิมพ์ถามหาคำว่า "-กรม" ก็ได้คำตอบว่าไม่มีคำศัพท์ที่ต้องการค้นหา มีแต่ความหมายของคำว่า "กรม"
ลองๆไปหาคำว่า "สารานุกรม" ก็ได้คำตอบในอีกรูปแบบหนึ่ง คือไม่มีการอธิบายในรูปแบบที่เหมือนกับคำว่า "จงกรม" และ "พจนานุกรม" (คือ ใช้ [-กรม].....)  แต่ไปอธิบายในรูปแบบของคำเต็มเช่นเดียวกันกับคำว่า "ปทานุกรม"    คำว่า "อักขรานุกรม" ก็ใช้วิธีการอธิบายทั้งคำ แต่ให้ไปเปิดดูความหมายของคำว่า อักขร- อักขระ

หมายความว่า "-กรม" เป็นคำที่เป็นคำกริยา (เช่น จงกรม) เป็นคำที่เป็นคำนาม (ก็ดังที่กล่าวมา) แล้วก็เป็นคำในรูปอื่นๆอีก....
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 01 พ.ย. 18, 19:55

เมื่อไปพิมพ์ถามหาคำว่า "-กรม" ก็ได้คำตอบว่าไม่มีคำศัพท์ที่ต้องการค้นหา

คุณตั้งต้องพิมพ์หาคำว่า "อนุกรม" จึงจะได้คำตอบที่ต้องการ  ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 01 พ.ย. 18, 20:10

ด้วยความอยากรู้ว่า คำว่า "ปทานุกรม" กับ "พจนานุกรม" ต่างกันเช่นใด  ก็เลยเข้าเว็ปของ royin ไปถามดู   ได้ความว่า

ปทานุกรม    น. หนังสือสำหรับค้นคว้าความหมายของคำที่เรียงตามสำดับบท
พจนานุกรม   [-กรม] น. หนังสือว่าด้วยถ้อยคำในภาษาใดภาษาหนึ่ง เรียงตามลำดับตัวอักษร โดยทั่วๆไปจะบอกความหมายและที่มา
                             ของคำเป็นต้นด้วย
                                แม่คำของ "พจนานุกรม" คือ พจน- พจน์ ๑
พจนานุกรม และปทานุกรม  ไม่ได้มาจากคำว่า พจนานุ+กรม   และ ปทานุ+กรม ค่ะ
แต่เป็นคำสนธิของคำ 2 คำ  คือ พจน หรือ พจนา + อนุกรม   ปทา+อนุกรม
ในการสนธิ คำหลังที่ขึ้นต้นด้วย อ  ตัว อ จะหายไป   ค่ะ

เพราะฉะนั้น จึงเป็นคนละคำกับ กรม ใน จงกรม   
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 01 พ.ย. 18, 20:13

สำหรับคำว่า "จงกรม" อาจารย์ทองย้อย แสงสินชัยอธิบายไว้ดังนี้

ในภาษาบาลีมีคำว่า “จงฺกม” อ่านว่า จัง-กะ-มะ รากศัพท์มาจาก -

(๑) กม (ก้าวไป, ย่างไป) + อากม (ก้าวมา, ย่างกลับ), แปลง ก ที่ ก-(ม) เป็น จ, ลบ อา ที่ อา-(กม), แปลง ม ที่ (จ)-ม เป็นนิคหิต, แปลงนิคหิตเป็น งฺ

: กม + อากม = กมากม > จมากม > จมกม > จํกม > จงฺกม แปลตามศัพท์ว่า “การก้าวไปก้าวมา”

(๒) กมฺ (ธาตุ = ก้าวไป) + อ ปัจจัย, ซ้อน ก หน้าธาตุ (กมฺ > กกมฺ), แปลง ก เป็น จ, ลงนิคหิตอาคมที่ จ, แปลงนิคหิตเป็น งฺ

: กมฺ + อ = กม > กกม > จกม > จํกม > จงฺกม แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ก้าวไป”

“จงฺกม” มีความหมาย ๒ อย่าง คือ -

(๑) การเดินไปเดินมา, เดินจงกรม (walking up & down) = การเดินจงกรม

(๒) สถานที่ซึ่งคนเดิน, ที่เดินจงกรม (the place where one is walking, a terraced walk, cloister) = สถานที่สำหรับเดินจงกรม

ในสันสกฤตมีคำว่า “จงฺกฺรมณ” สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า -
(สะกดตามต้นฉบับ)

“จงฺกฺรมณ : (คำนาม) ‘จงกรมณ์,’ ผู้เดิรไปช้า ๆ; การไป, การเดิรไปช้า ๆ; one who goes slowly; going, proceeding slowly.”

“จงฺกม” ในภาษาไทยใช้อิงสันกฤตเป็น “จงกรม”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ บอกไว้ว่า -

“จงกรม : (คำกริยา) เดินไปมาโดยมีสติกำกับอย่างพระเดินเจริญกรรมฐาน เรียกว่า เดินจงกรม. (ส.; ป. จงฺกม).”

https://www.facebook.com/100002512387360/posts/1129061120520957/
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 01 พ.ย. 18, 20:15

ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า ปทานุกรม ต่างกับ พจนานุกรม จะต่างกันเช่นใด    เพราะดั้งเดิมครั้งกระโน้นก็ใช้คำว่า ปทานุกรม ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นการใช้คำว่า พจนานุกรม  กระนั้นก็ยังมีการใช้คำว่า ปทานุกรม กันต่อมา  
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 01 พ.ย. 18, 21:16

อ่านคำอธิบายของสองท่านอาจารย์แล้ว ก็ไม่สงสัยเลยว่าทำไมจึงอ่อนแอภาษาไทยกัน   คำอธิบายในลักษณะของท่านทั้งสองที่ว่ามานั้นคงจะหาอ่านได้ยากในเอกสารที่มีการเผยแพร่ต่างๆ     คำอธิบายอื่นๆที่จะมีก็มักจะอยู่ในรูปของคำอธิบายทางวิชาการเชิงลึก ซึ่งลึกเข้าไปจนถึงต้นตอของคำทางบาลีและสันสกฤต เป็นคำอธิบายที่เกินพอ เข้าไปในเขตของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือในระดับ post grad. เสียด้วยซ้ำไป

เรื่องราวต่างๆที่จะสอนให้คนเกิดความรู้และปัญญาขึ้นมานั้น เราใช้วิธีการเข้าถึงแบบทำเรื่องให้มันเป็นเรื่องสนุกก็ได้ ในทางเครียดก็ได้ ในทางกระตุ้นทางปรัชญาหรือตรรกะก็ได้ เป็นนิทานเหมือนไร้สาระแต่มีเนื้อหาที่ดีก็ได้ มีสารพัดวิธีการที่จะสื่อกัน   ครูบาอาจารย์ที่เก่งๆในระดับบรมครูที่แต่งเรื่องป้ากับปู่กู้อีจู้   ไม้ม้วน-ไม้มลาย 20 ม้วนจำจงดี   ปัญญา-เรณู   มานะ-มามี-ปิติ-ชูใจ  ครูในประเภทนี้ก็ยังมีอยู่มากแต่อาจจะถูกเบียดบังไปด้วยแสงที่ไม่สวยงามนัก   
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.047 วินาที กับ 19 คำสั่ง